"จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา" พระราชปณิธานสมเด็จพระราชินี
"จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา" พระราชปณิธานสมเด็จพระราชินี
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313120181&grpid=01&catid=&subcatid=-
นับตั้งแต่ทรงเข้าสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็น "สมเด็จพระบรมราชินี" เมื่อปี 2493 พระราชกรณียกิจต่อประชาชน ชาวไทยในฐานะ "พระคู่บารมี" แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานตลอดกว่า 60 ปี
สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเยี่ยมราษฎรตั้งแต่ปี 2498 โดยมีราษฎรยากจนและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเป็นจุดหมาย
ในหนังสือ ด้วยพลังแห่งรัก ได้กล่าวถึงพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2515 เกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ว่า
"การ เยี่ยมราษฎรตามภาคต่างๆ เหมือนกับการได้ไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่อยู่ห่างไกล ราษฎรทุกคนพูดกับเราได้ทุกอย่าง อย่างคล่องแคล่ว ไม่เก้อเขิน เรื่องการใช้ราชาศัพท์ไม่เคยเกิดเป็นปัญหาเลย ส่วนมากเขาเรียกพระเจ้าอยู่หัวและข้าพเจ้าว่า คุณพ่อ คุณแม่ หรือท่าน พวกชาวเขาเผ่าต่างๆ ก็เรียก พ่อ แม่ การไปเยี่ยม ราษฎรทุกครั้งทำให้เราทั้งสองมีความสุข และชุ่มชื่นในไมตรีจิต ของประชาชน"
สิบ ปีต่อมา ทั้งสองพระองค์ยังทรงงานพร้อมเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมราษฎรโดยมิได้ขาด บรรยากาศระหว่างชาวบ้านกับพระเจ้าแผ่นดินและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ยังคงอบอุ่นใกล้ชิด ดังจะเห็นได้จากพระราชดำรัสในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาเมื่อ 11 สิงหาคม 2525 ณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต
"เป็นพระราชินีตั้งแต่อายุ 17 จนอายุ 50 ไปที่ไหน แม้แต่อายุ 17-18 ประชาชนก็ยังเรียกคุณแม่ ทีแรกก็ตกใจ เอ๊ะ...คนเรียกเราดูเขาแก่กว่าเรา ทีหลังก็สำนึกได้ว่า คำว่า ′แม่′ นี้เป็นคำศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งที่สุด การที่ใครเรียกคนคนหนึ่งว่าแม่ บุคคลที่ถูกเรียก จะต้องคิดและสำนึกในเกียรติยศอันนี้ และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด"
ประชาชนมาก่อนอื่นใด
ไม่ ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่ไหน ทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะ ทรงปฏิบัติพระองค์ให้ "ประชาชนมาก่อนสิ่งอื่นเสมอ"
ท่านผู้หญิงสมสุข ศรีวิสารวาจา เล่าถึงบรรยากาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงไปเยี่ยมราษฎรเมื่อหลายสิบปีก่อนว่า
"เรื่อง ความวิริยอุตสาหะของพระองค์ พวกเราข้าราชบริพารต้องยอมแพ้เลย ส่วนใหญ่เวลาเสด็จพระราชดำเนินจะทรงไปในที่ทุรกันดารทั้งนั้น ทั้งไกล ทั้งลำบาก แต่ก็ทรงมุ่งมั่นที่จะเสด็จฯไป ไม่ว่าจะเสด็จฯทางรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน เรือพาย เรือยนต์ ทรงช้าง ทรงม้า ทรงพร้อมเสมอ บางแห่งรถเข้าไม่ถึง ถนน หนทางไม่มี ต้องบุกป่าฝ่าดงเข้าไป ทรงพระดำเนินตั้งครึ่งค่อนวัน ขึ้นเขาเป็นลูกๆ พอทรงเห็นพวกเราเดินตามไม่ทัน ก็จะทรงชะลอ ไม่ทรงเหน็ดเหนื่อยเพราะทรงรู้ว่าประชาชนกำลังรอพระองค์อยู่ข้างหน้า ไม่เคยมีใครได้ยินพระองค์ทรงบ่น ไม่ทรงแสดงอาการเหนื่อยล้า พระพักตร์แจ่มใสเสมอ บางครั้งกว่าจะเสด็จฯถึง ทรงเยี่ยมราษฎรเสร็จ พระอาทิตย์ก็ตกมืดแล้ว
"ยิ่ง เวลาเสด็จออกเยี่ยมราษฎร พระองค์จะไม่ค่อยเสวย บางทีทรงงานอยู่จนมืดค่ำตีหนึ่งตีสอง ทรงงานไปเรื่อยๆ ด้วยความเพลิดเพลิน เรื่องเสวยนี่ไม่สำคัญเลย แล้วยังสามารถทรงงานได้ทุกแห่งทุกที่ สามารถทรงพระอักษรได้อย่างไม่ต้องเป็นกิจจะลักษณะ โต๊ะเก้าอี้ก็ไม่โปรดนัก โปรดประทับกับพื้น ทรงนั่งได้ครั้งละนานๆ ทรงจดจ่ออยู่กับงาน ทรงไต่ถามทุกข์สุขประชาชน
"สมัยก่อนอย่าได้ทูลพระองค์เชียวนะ ว่าถึงเวลาเสด็จฯกลับ ไม่ทรง ยอมหรอก ทรงอยากจะช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด ไม่ทรงคิดถึงพระองค์เอง ทรงห่วงประชาชนมากกว่า สำหรับพระองค์ท่านแล้ว ประชาชนต้องมาที่หนึ่ง"
ทรง′เคียงคู่′กัน ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
จาก เมื่อก่อนที่ "พระพลานามัย" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงสมบูรณ์แข็งแรงดี ทุกปีทั้ง 2 พระองค์ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา จะเสด็จฯแปรพระราชฐานตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ราษฎร ตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่มีตำหนักที่ประทับ ก็จะประทับ ณ สถานที่ที่ทางราชการจัดเตรียมถวาย จนกระทั่งสร้างพระตำหนักในภูมิภาคต่างๆ แล้วเสร็จ จึงประทับที่พระตำหนักซึ่งเปรียบเสมือน "ศูนย์กลางการทรงงาน" ในแต่ละภูมิภาค
ราวเดือนสิงหาคม-กันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงเวลาที่ทั้ง 2 พระองค์จะเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ณ ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ครั้น ถึงเดือนพฤศจิกายน จะประทับ ณ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์-มีนาคม ประทับ ณ ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานด้านการชลประทาน การเกษตร โปรดเกล้าฯให้จัดหาแหล่งน้ำและจัดการให้ราษฎรมีน้ำไว้ ใช้ในการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทรงปรึกษาหารือกับชาวบ้านและผู้นำชุมชน พร้อมกล้องถ่ายภาพคล้องพระศอ แผนที่ในพระหัตถ์มีรายละเอียดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการชลประทานและการ เกษตร เพราะทรงตระหนักว่า น้ำคือต้นกำเนิดของชีวิต และเป็นต้นทางของ วิถีเกษตร ซึ่งเป็นวิถีที่แท้จริงของราษฎรในชนบทไทย พระองค์มี พระราชปฏิสันถาร พระราชทานแนวพระราชดำริ และพระบรม ราชานุเคราะห์ในทุกทางเพื่อให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะทรง ใช้เวลากับราษฎร ผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ พระราชทานงานศิลปาชีพ ทรงตรวจ "การบ้าน" ที่พระราชทานไว้เมื่อปีกลาย พร้อมกับไถ่ถามทุกข์สุข ทรงรับฟังเรื่องราวทุกข์ใจของชาวบ้าน และบางครั้งก็ทรงสอนหนังสือเด็กๆ
พระ ราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติ "เคียงคู่" กันทั้งสองพระองค์ ช่วยให้ชาวชนบทผู้อยู่ห่างไกลโอกาสทางการศึกษา การสาธารณสุข การอาชีพ และห่างไกลโอกาสต่างๆ ในชีวิต ได้ผ่านช่วงเวลาทุกข์เข็ญ มานักต่อนัก
2 ปีที่ศิริราช...ไม่ทรงแยกจากกัน
แม้ ในระยะ 2 ปีมานี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะมิได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรเฉกเช่นแต่ก่อน ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้ารับการรักษาและฟื้นฟูพระวรกายที่โรง พยาบาลศิริราช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรง อยู่ด้วยตลอด ไม่เสด็จฯไปไหนไกลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลย
ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญ หลวงเทพนิมิต รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้ถวายงานมาตลอด 38 ปี เล่าว่า
"ตั้งแต่ 19 กันยายน 2551 ก็ไม่ได้เสด็จฯไปไหนเลย ประทับ อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอด แม้ จะมีครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ เสด็จฯไปรักษาพระอาการประชวรที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปตรวจรักษาพระเนตรที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน"
ทรงงานตลอดเวลา
แม้ เราจะไม่ได้เห็นภาพที่พระองค์ประทับนั่งพื้นหน้าโต๊ะเตี้ยๆ นานนับ 4-5 ชั่วโมง เพื่อทรงงานกับชาวบ้านที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันเข้ามา ทีละคนทีละกลุ่ม โดยไม่ทรงลุกไปไหน หรือภาพทรงคุกพระชานุอย่างไม่ทรงรังเกียจ ว่าพื้นดินจะเปียก จะแห้ง หรือเป็นฝุ่น ก็มิได้หมายความว่า พระองค์จะทรงละเลยความเดือดร้อนของราษฎร
"ทั้ง 2 พระองค์ยังคงทรงงานอยู่ตลอด แม้ไม่ได้เสด็จออกไปยี่ยม ราษฎร ก็จะทรงสั่งงาน แต่คนไม่ค่อยรู้ และบางครั้งก็ทรงงานโดย ผ่านสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไป ทำให้ ทอดพระเนตรให้และก็กลับมาถวายรายงาน" ท่านผู้หญิง สุภรภ์เพ็ญเล่า
ด้าน ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ บอกเสริมว่า พระองค์ทรงทำงานอยู่ทุกวันแม้ตลอด 2 ปี จะไม่ได้เสด็จฯเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่างๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา เพราะพระองค์ต้องถวายการดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ที่โรงพยาบาล ศิริราช แต่ก็ทรงงานอยู่ทุกวันในการติดตามความคืบหน้าของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ อยู่เสมอ มีรับสั่งให้กองราชเลขานุการในพระองค์ฯ ลงไปติดตามการทำงานในด้านต่างๆ แล้วทำรายงานมาถวายพระองค์ ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานคำแนะนำในการดำเนินงานลงมาอยู่เสมอ
พระอุปนิสัยเป็นไทยแท้
ท่าน ผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญเล่าว่า ทั้งสองพระองค์ ทรงมีพระอุปนิสัยเป็นไทยแท้ คือจะไม่โอ้อวด ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ จะทรงเป็นกุลสตรีไทยแท้ ไม่โอ้อวด ไม่อะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลาทรงทำอะไร ที่ผ่านมา พระองค์จะไม่ให้โฆษณาเลย เมื่อก่อนพวกเราออกมาพูดอย่างนี้ไม่ได้ ไม่ทรงอนุญาต
"พระองค์รับสั่งว่า จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ความดีทำไปเถอะ ไม่ต้องไปบอกใคร เพราะความดีก็คือความดี คนเขาเห็นเอง
"ฉะนั้น สิ่งที่ทำทั้งหมด พระองค์ไม่เคยโฆษณาเลย พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำโครงการพระราชดำริมา 3,000-4,000 โครงการ พระองค์ไม่เคยโฆษณาเลย มีเพียงราษฎรในพื้นที่เท่านั้น ที่รู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระ บรมราชินีนาถ ทรงทำตรงโน้น ตรงนี้ให้ แต่คนกรุงเทพฯ หรือไม่ใช่คนในพื้นที่ก็จะไม่รู้"
อย่างผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ ทรงใช้อยู่ทุกวันนี้ ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญบอกว่า ทุกชิ้น ที่ทรงใช้ทรงซื้อจากมูลนิธิศิลปาชีพฯ ทั้งหมด
"ของที่ทรงใช้อยู่ ทั้งกระเป๋าย่านลิเภา หรือพระภูษาทรงมัดหมี่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ พระองค์ซื้อจากศิลปาชีพทั้งหมด แม้จะทรงก่อตั้งโรงฝึกศิลปาชีพ หรือปัจจุบันคือสถาบันสิริกิติ์ ก็ทรงต้องซื้อของ ที่พระราชทานประมุขต่างๆ เหมือนคนทั่วไป รับสั่งว่า ไม่ได้ตั้ง โรงฝึกศิลปาชีพขึ้นมาเพื่อผลิตของให้พระองค์เอง
"เวลามี แขกต่างประเทศมา เช่น สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระราชินีโซเฟีย แห่งสเปน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ของพระราชทานต่างๆ ที่พระราชทานให้เป็นที่ระลึก ก็ทรงซื้อจาก มูลนิธิ รับสั่งว่า ของเหล่านี้ต่อไปจะถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่ต่างประเทศ เพราะประธานาธิบดีเมื่อหมดวาระแล้ว ไม่สามารถเอาเป็นของส่วนตัวได้ ต้องเข้าเป็นของรัฐทั้งหมด ซึ่งเราก็เคยเห็นมาก่อน เวลาตามเสด็จฯไปอเมริกา รัสเซีย ของพระราชทานจากรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 เขาก็นำมาจัดแสดง และเขียนว่า ของขวัญจาก คิง ออฟ ไทยแลนด์
"พระองค์ตรัสว่า งานศิลปะเหล่านี้ ถ้าใครมาเห็น เขาจะได้รู้ ว่า คนไทยเป็นยังไง เราไม่ต้องไปบอกว่า ฉันเก่งนะ เพราะเขา ดูปั๊บเขาก็รู้เลยว่า คนไทยเป็นยังไง เป็นคนประณีต ละเอียดอ่อน มีความสามารถ มีความอดทน รับสั่งว่า ที่ทำอยู่นี้เพื่อลูกหลาน ต่อไป ให้ยืนอยู่ได้บนผืนแผ่นดินไทยอย่างสง่าผ่าเผย และยืนอยู่ได้อย่างเป็นหนึ่ง ไม่เป็นที่สองรองใคร
"ยังรับสั่งอีกว่า การที่มีเงินเยอะมากแค่ไหน ถ้าเราไม่อยู่ใน แผ่นดินของเราเอง ต่อให้เป็นมหาเศรษฐีขนาดไหน แต่ต้องไปอาศัยอยู่ประเทศอื่น เขาก็ดูถูก เป็นประชาชนชั้น 2 ชั้น 3 ไม่ เท่าเทียมประชาชนของเขา
"ฉะนั้น ผืนดินที่เราอยู่สำคัญมาก ทุกคนต้องรักษาแผ่นดินให้ ลูกหลานเหมือนที่บรรพบุรุษในอดีตรักษามาให้เราจนถึงปัจจุบัน อันนี้เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องทำ ไม่มีแผ่นดิน ต่อไปลูกหลานก็ไม่มีที่อยู่ ลูกหลานก็ทำมาหากินไม่ได้ เขาดูถูกไปหมด ทรงย้ำว่าหน้าที่ นี้สำคัญมาก" ท่านผู้หญิงสุภรภ์เพ็ญกล่าว
61 ปีที่พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นคู่พระบารมีที่เปี่ยมล้นด้วย น้ำพระราชหฤทัยในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับพสกนิกรทุกคน
หน้า 24,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม 2554
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313120181&grpid=01&catid=&subcatid=-
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313120181&grpid=01&catid=&subcatid=.