รักษาใจไว้ดีกว่า“ใจ”
มีธรรมชาติที่อ่อนไหว ปรวนแปรและล่องลอยไปในทุกๆ ที่ได้ง่ายแสนง่าย แม้แต่ช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย ใจ…ก็อาจจะล่องลอยไปไกลจนตามไม่ทัน ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจ ปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ จึงมีชีวิตที่สับสนวุ่นวาย อาจเป็นอันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้
พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนเรื่องนี้ โดยตรัสเล่าถึงภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้เคยมีชีวิตที่ล่อแหลมต่อเพศพรหมจรรย์ เพราะมัวปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน แต่ในที่สุดก็สามารถพลิกชีวิตให้พบความสุขได้ เมื่อหันมารักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้
ที่เมืองสาวัตถี มีชายหนุ่มคนหนึ่งไปขอบวชกับพระสังฆรักขิตเถระผู้เป็นลุงของตน พอบวชแล้วก็ลาหลวงลุงไปจำพรรษาที่วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
ต่อมาภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้รับจีวรมา ๒ ผืน ผืนหนึ่งยาว ๗ ศอก อีกผืนหนึ่งยาว ๘ ศอก ตัวท่านเองเก็บผืนที่ยาว ๗ ศอกไว้ใช้ ส่วนผืนที่ยาว ๘ ศอก ท่านตั้งใจจะนำไปถวายหลวงลุงผู้เป็นอุปัชฌาย์
พอออกพรรษา ท่านจึงเดินทางไปเยี่ยมหลวงลุง พร้อมกับนำผ้าจีวรผืนนั้นไปถวาย แต่หลวงลุงเป็นพระอรหันต์มีความมักน้อยสันโดษ จึงบอกกับพระหลานชายไปว่า “ฉันมีผ้าพอใช้แล้ว เธอจงเก็บไว้ใช้เองเถิด”
ภิกษุหนุ่มจึงกราบเรียนว่า “ผมตั้งใจจะถวายหลวงลุงขอให้หลวงลุงเป็นเนื้อนาบุญด้วย” แต่หลวงลุงก็ยังยืนยันคำเดิม คือให้พระหลานชายเก็บจีวรไว้ใช้เองเมื่ออ้อนวอนไม่สำเร็จ ภิกษุหนุ่มจึงคิดน้อยใจว่า “หลวงลุงคงไม่รักเราเสียแล้ว เราจะอยู่เป็นพระไปทำไม สู้สึกไปครองเรือนดีกว่า”
ขณะนั่งฟุ้งซ่านอยู่นั้น ภิกษุหนุ่มก็หยิบเอาพัดใบตาลขึ้นมาพัดให้หลวงลุง มือพัดไปใจก็ยังคงคิดไปอีกว่า
“เมื่อสึกแล้ว เราจะหาเลี้ยงชีพด้วยการนำผ้าจีวรผืนนี้ไปขายเป็นต้นทุน เมื่อได้เงินแล้วจะไปซื้อแม่แพะสักตัวเพราะแพะมีลูกง่าย เมื่อมีลูกแพะ เราก็จะขายได้เงินทอง แล้วก็จะหาภรรยามาสักคนหนึ่ง ต่อมาก็จะมีลูก เมื่อเราได้ลูกชายเป็นเด็กที่น่ารัก เราก็จะพาครอบครัวกลับมาเยี่ยมหลวงลุง โดยอาศัยเกวียนน้อยเดินทาง ให้ภรรยาเป็นคนอุ้มลูก ส่วนเราจะเป็นคนขับเกวียน”
“เมื่อภรรยาเมื่อย เราจะอุ้มลูกแทน แต่นางกลับไม่ยอม ลูกจึงพลัดจากมือนาง ตกลงไปถูกล้อเกวียนทับตายเราโกรธมากจึงตีนางด้วยด้ามปฏัก”
“โป๊ก!”
สิ้นเสียงนั้นภิกษุหนุ่มก็ได้สติรู้ตัวว่า ตนได้เอาด้ามพัดฟาดหัวหลวงลุงเข้าอย่างจังเข้าเสียแล้ว
ฝ่ายหลวงลุงก็รู้ด้วยเจโตปริยญาณว่า พระหลานชายกำลังใจลอยคิดไปไกลว่า จะตีภรรยาจึงเผลอเอาด้ามพัดมาฟาดศีรษะของท่าน ท่านจึงพูดขึ้นว่า “เธอตีไม่ถูกภรรยา ไพล่มาตีเราแล้วพระแก่ไปทำผิดอะไรเล่า”
พระหนุ่มรู้ว่าหลวงลุงรู้วาระจิต ทั้งอายทั้งกลัวความผิดจึงลนลานวิ่งหนีไป แต่ถูกพระเณรในวัดช่วยจับไว้ แล้วพาตัวไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ ทรงเมตตาปลอบโยนภิกษุหนุ่มนั้นว่า
“เธอบวชในศาสนาของเรา ได้ชื่อว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า เธออย่าคิดวิตกกังวลให้มากไปเลย ธรรมชาติของใจนั้นชอบรับอารมณ์ ชอบเที่ยวไปไกล เธอเป็นภิกษุควรพยายามรักษาใจของตนให้พ้นจากบ่วงแห่งมารเถิด”
แล้วตรัสพระคาถาว่า “ใจอยู่ในร่างกาย ไม่มีรูปร่าง ชอบเที่ยวไปไกลตามลำพัง ผู้ใดควบคุมได้ ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมารคือกิเลส”
ภิกษุหนุ่มน้อมนำใจ ปฏิบัติธรรมตามเสียงของพระบรมศาสดา เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด
แม้ว่าใจคนเราจะอ่อนไหวปรวนแปร และล่องลอยไปง่ายแสนง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกหัดให้หยุดนิ่งได้ด้วยการปฏิบัติธรรม หากเราหมั่นดูแลรักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรมบ่อยๆ เราก็จะพบกับความสงบสุขและปลอดภัย ปราศจากภัยอันตรายใดๆ ในชีวิต
พระภาคิไนยสังฆรักขิตเถระ : พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท,มมร. เล่ม ๔๐ หน้า ๔๑๒
www.facebook.com/ThanavuddhoStory .. ขอน้อมจิต
ขอกราบขอบพระคุณ+ร่วมอนุโมนาที่มาทั้งหมดจาก :
FB พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ มา ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ
~
..
. .
❤ ☺ . .