อิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบใจ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์พิเศษที่ทุกคนมีความต้องการเป็นอย่างมาก ทุกคนพากันแสวงหาเพื่อให้ได้มาตามใจชอบ เป็นอารมณ์ที่ทำให้ใจเกิดความร่าเริงสนุกสนานเบิกบานใจ ไม่มีความเครียดอึดอัดใจ มีแต่ความโล่งโปร่งสุขใจสบายใจ เป็นอารมณ์ที่ทำให้เกิดรอยยิ้มภายในใจอยู่ตลอดเวลา หารู้ไม่ว่าเป็นอารมณ์ที่อาบด้วยยาพิษ ดังคำว่า ปิยโต ชายเต โสโก ความโศกเศร้าเสียใจ ความทุกข์ใจ ความตรอมใจ ความอาลัยอาวรณ์นอนไม่หลับ กินไม่ได้ย่อมเกิดจากอารมณ์ประเภทนี้ ถึงจะมีความสุขอย่างมหันต์ แต่ก็จะเกิดความทุกข์อย่างอนันต์เป็นผลตอบแทนได้เช่นกัน
ฉะนั้นความใฝ่ฝัน ความต้องการของคนเราในโลกนี้ มีจุดหมายในอารมณ์ที่สุขกายสุขใจ เหมือนกัน หารู้ไม่ว่านี้คืออารมณ์เรียกน้ำตา ถ้ามีความรักมาก ก็มีความสุขมาก แต่อย่าลืมว่านี้คืออารมณ์แห่งความสุข ที่จะให้เกิดความทุกข์มากเช่นกัน ความสุขเกิดจากอะไร ความทุกข์ก็เกิดจากความสุขนั้นๆ ตามปกติของใจจะคิดฟุ้งไปหาอารมณ์ที่จะให้เกิดความสุข นั้นคืออารมณ์ของสมมติและสังขาร
คำว่าสังขารคือ การปรุงแต่ง ก็เพื่อให้ถูกใจตัวเอง เหมือนการปรุงอาหารจะทำให้เกิดรสชาติออกมาอย่างไร ก็ปรุงเอาเอง จะแต่งลักษณะสีสันลวดลายให้เกิดความสวยงามอย่างไรก็แต่งเอง จะให้เกิดความสุขใจสบายใจอย่างไรก็ทำเองทั้งหมด นี้ฉันใด อารมณ์ใดที่จะปรุงแต่งเพื่อให้เกิดความสุขใจสบายใจ ก็ส่งใจฟุ้งไปในอารมณ์นั้นๆ เพื่อให้เกิดความรัก ให้เกิดความยินดีพอใจในสิ่งนั้นๆ เรียกว่ายั่วยุใจให้เกิดอารมณ์นั้นเอง
สังขารการปรุงแต่ง ถ้าไม่มีมูลเหตุก็ปรุงแต่งไม่ได้ เหมือนปากกามีในมือ ถ้าไม่มีกระดาษมารองรับให้เขียน ก็จะไม่เป็นตัวหนังสือให้อ่านได้ นี้ฉันใด การปรุงแต่ง ถ้าไม่มีสมมติมาเป็นตัวรองรับ ก็ปรุงแต่งอะไรไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้นจึงสร้างสมมติขึ้นมาเป็นตัวรองรับเพื่อจะใช้ความคิดปรุงแต่งได้ เหมือนกับอาหารหวานอาหารคาว พ่อครัวแม่ครัวจะปรุงอาหารประเภทไหนก็ขึ้นอยู่กับเครื่องปรุงที่มี จะปรุงรสจัด รสจืดหวานมากหวานน้อยอย่างไร ต้องปรุงให้ถูกใจตัวเอง นี้ฉันใด สมมติในเรื่องใดขึ้นมาก็ปรุงแต่งไปตามสมมตินั้นๆ ไปให้ถูกกับวัยของตัวเอง ถ้าวัยเด็กก็คิดฟุ้งไปตามวัยเด็ก ถ้าวัยหนุ่มสาวก็คิดฟุ้งไปตามวัยหนุ่มสาว รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะคิดปรุงไปตามใจชอบให้กลมกลืนไปตามความอยากของตน ชอบในสิ่งใด จะคิดฟุ้งไปได้ทั้งวันทั้งคืน ถ้าวัยที่มีครอบครัวก็จะคิดปรุงฟุ้งไปในการสร้างฐานะเพื่อให้มีความร่ำรวย ถ้าวัยแก่ ก็จะคิดปรุงไปในการรักษาดูแลไม่ฟุ่มเฟือยในการจับจ่ายใช้สอย เห็นลูกหลานใช้จ่ายมากไปหรือไม่เก็บรักษา ก็จะคิดฟุ้งไปบ่นไปจุกจิกจู้จี้ คิดห่วงคนนั้นห่วงคนนี้ว่า เขาจะอยู่กันอย่างไร ใจก็จะคิดฟุ้งไปในเรื่องความเป็นห่วงในสิ่งนั้นๆ อีกมากมาย
ฉะนั้น ความรุนแรงที่ฟุ้งไป จะอยู่ในวัยที่มีราคะตัณหา ราคะตัณหานี้เองจะเป็นพลังส่งพลังหนุนให้เกิดความฟุ้งไปจนลืมตัว จึงเรียกว่าตัณหาหน้ามืด ก็หมายถึงใจมืดบอดนั้นเอง จึงไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร เมื่อใจถูกราคะตัณหาครอบคลุมอยู่ก็จะเกิดความรัก ความกระสันดิ้นรนให้เป็นไปตามใจชอบ ไม่มีหิริความละอายใจ ไม่กลัวบาปอกุศลใดๆ ไม่มีสติปัญญาแก้ปัญหาให้แก่ใจจึงฟุ้งไปอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้นการฟุ้งไปในสมมติสังขารนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ในผู้ปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ถ้าผู้ไม่มีสติปัญญาที่ดี ก็จะปล่อยใจให้คิดไปตามราคะตัณหานี้อย่างไม่มีขอบเขต ยังหลงต่อไปว่าตัวเองมีความสุขอยู่กับราคะตัณหานี้ดีอยู่แล้ว มีแต่ความเพลิดเพลินร่าเริงอยู่กับความฟุ้งปรุงแต่งในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อย่างหน้าตาเฉย ไม่คิดว่าจะเกิดทุกข์ โทษภัยให้แก่ตัวเองแต่อย่างใด มีแต่ความชอบใจใฝ่ฝันอยู่ในการฟุ้งปรุงแต่งกับสมมติอยู่ตลอดเวลา ไม่มีคำว่าเบื่อหน่ายรำคาญใจแต่อย่างใด
ฉะนั้น ผู้ภาวนาปฏิบัติต้องมีสติปัญญาระวังใจอย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจได้ ถ้าเกิดขึ้นมาก็ต้องใช้สติปัญญาสอนใจอยู่เสมอ ให้ได้รู้เห็นทุกข์โทษภัยในความหลงใหลในอารมณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ใจมีความเศร้าหมองขุ่นมัว ต้องแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์ ถ้าปล่อยไว้นานจะเกิดเป็นอารมณ์สะสมทับถมใจมากขึ้น เหมือนกระจกที่ใสสะอาด ถ้าปล่อยให้ฝุ่นละอองเกาะติดอยู่บ่อยๆ ย่อมทำให้กระจกมืดมัวไปได้ จะมองไม่เห็นหน้าตัวเอง หรือเหมือนกับผ้าที่ถูกคราบสกปรก ก็ให้รีบซักฟอกเช็ดถูให้หมดไป นี้ฉันใด ใจเมื่อมีอารมณ์ที่สกปรกก็เริ่มใช้สติปัญญามาชำระสะสาง อย่าให้อารมณ์ที่สกปรกนี้ติดค้างอยู่ภายในใจได้ ให้มีความระวังสำรวมรักษา อย่าให้อารมณ์ประเภทนี้เกิดขึ้นที่ใจอีก จึงนับได้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติที่ดีมีความฉลาดรอบรู้ในการรักษาใจและฉลาดรอบรู้ในอุบายวิธีแก้ปัญหาให้หมดจากใจไปได้
ฉะนั้นการภาวนาปฏิบัติ ต้องศึกษาหลักการและวิธีการให้เข้าใจ ตีความในปริยัติให้ถูกกับความหมายให้เข้าใจในคำว่า สมถะ ให้เข้าใจในคำว่า วิปัสสนา เพราะแต่ละอุบายนั้นมีความแตกต่างกัน
คำว่าสมถะ ก็คือการทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความตั้งมั่นและมีความสงบ คำว่าวิปัสสนา ก็หมายถึงปัญญาที่พิจารณาให้เป็นไปตามความเป็นจริงในหมวดธรรมนั้นๆ แต่ละอุบายมีความหมายที่แตกต่างกันอยู่ก็ตาม เมื่อนำมาปฏิบัติจะเป็นอุบายเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นอย่างดี จึงเป็นแนวทางปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ มิใช่ว่าจะทำสมาธิเพื่อให้ใจมีความสงบตามแบบฉบับของหมู่ดาบสฤๅษีดังที่เห็นกันในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การเจริญวิปัสสนาแต่ไม่ให้ความสนใจ ไม่ยอมฝึกความคิด ไม่ยอมฝึกปัญญาให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง อย่างมากก็เพียงไปศึกษาในหลักปริยัติ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาตามหลักปริยัติไปเท่านั้น จะเข้าใจว่าได้เจริญในวิปัสสนาแล้วในลักษณะอย่างนี้หาใช่ไม่ นี้เป็นเพียงใช้ปัญญาพิจารณาไปตามสัญญาในหมวดปริยัติเท่านั้น ยังไม่เป็นการเจริญวิปัสสนาอย่างสมบูรณ์
การเจริญวิปัสสนาหมายถึง ใช้ความสามารถสติปัญญาของตัวเองเป็นหลัก ไม่จำเป็นจะให้ถูกตามประโยคข้อความในปริยัติไปเสียทั้งหมด มิใช่ว่าจะยกเอาปริยัติมาพิจารณาให้ถูกต้องทุกประโยคทุกข้อความไป ประโยคข้อความนั้นเป็นปัญญาของนักปราชญ์ท่านเขียนไว้เพียงเป็นแนวทางเท่านั้น ส่วนประโยคข้อความของปัญญาเรา ถึงจะใช้สำนวนข้อคิดที่แตกต่างกันกับปริยัติไปบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่ทำให้เกิดความเสียหาย หลักที่สำคัญนั้นคือ ความหมายให้ถูกต้องตรงกันกับหลักปริยัตินั้นๆ เพราะปฏิภาณโวหารในการใช้อุบายในการพิจารณาไม่เหมือนกัน ฉะนั้นการฝึกวิปัสสนาหรือฝึกปัญญา อย่าเอาตามตำราและอย่าทิ้งตำราแล้วกัน
http://agaligohome.com/index.php?topic=4827.new#new