ผู้เขียน หัวข้อ: มารดาของท่านพุทธทาส :ตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่  (อ่าน 1992 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
                 

มารดาของท่านพุทธทาส
:ตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่


มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ เคลื่อน พานิช เกิดที่อำเภอท่าฉาง ตาของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อเล่ง มียศเป็นขุนสิทธิสาร ปกครองหัวเมืองกระแดะ หรืออำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน ครอบครัวของตายายมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา และมีการปฏิบัติสมาธิภาวนากันภายในบ้านเรือน ทำให้มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งความศรัทธาในพระพุทธศาสนานี้ได้ส่งต่อมาที่บุตร และหล่อหลอมให้เด็กชายเงื่อม พานิช กลายเป็นท่านพุทธทาสภิกขุในเวลาต่อมา

มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุมีอุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด และความละเอียดลออในการใช้จ่าย ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า

ถ้าจะให้บอกว่ามีอะไรมาจากโยมหญิงบ้าง เห็นจะเป็นเรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย เพราะว่าถูกสอนให้ประหยัดแม้แต่น้ำที่จะล้างเท้า ห้ามใช้มาก แม้แต่น้ำกินจะตักมากินนิดหนึ่งแล้วสาดทิ้งไม่ได้ แม้แต่ใช้ฟืนก็ต้องใช้พอดี ไม่ให้สิ้นเปลือง ถ้ายังติดไม่หมดต้องดับ เก็บเอาไว้ใช้อีก ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ต้องประหยัด มันมากเหมือนกัน ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ ไอ้ทางที่จะประหยัดเพื่อประโยชน์ มองเห็นอยู่ว่าต้องทำอย่างไร[1]

นอกจากนี้ มารดาของท่านพุทธทาสภิกขุยังได้อบรมสั่งสอน และเป็นแบบอย่างให้ท่านพุทธทาสภิกขุในอีกหลายเรื่อง ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวไว้ในธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า

จะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันละเอียดให้แก่ลูก เช่น ในความเรียบร้อย แม่กวดขันให้ล้างจานข้าวให้สะอาดเรียบร้อยและเก็บให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องเรียบร้อย ปูที่นอนต้องเรียบร้อย ล้างมือล้างเท้าสะอาด...
แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใครๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด
แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา...
แม่อบรมนิสัยให้รักน้องให้รักเพื่อน แม่สอนว่าน้องเอาเปรียบพี่ได้ แต่พี่เอาเปรียบน้องไม่ได้... แม่สอนว่าให้ดูว่าไก่ไม่มีเห็บเพราะมันช่วยจิกให้กันและกัน ลูกไก่เล็กๆ ยังช่วยจิกเห็บให้ลูกไก่ตัวใหญ่ เห็บที่มันอยู่ตามหน้าตามหงอนซึ่งมันจิกเองไม่ได้ แต่ไก่ก็ไม่มีเห็บ เพราะมันปฏิบัติหน้าที่เพื่อนของกันและกัน...
แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็กๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มากก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ก็ยังดี เหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้...

ให้ปลูกฝังคือว่าให้ใช้เวลาว่าง ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกตะไคร้ ดอกมะลิ ดอกราตรี แม้แต่สับปะรด กล้วย ก็ยังสอนให้ปลูก แล้วยังสอนคาถากันขโมยให้ด้วยว่า ถ้านกกินเป็นบุญ ถ้าคนกินเป็นทาน อาตามายังจำได้อยู่กระทั่งบัดนี้ ว่าถ้านกกินให้ถือว่าเราเอาบุญ ถ้าคนมันขโมยเอาไปก็ถือว่าให้ทาน แล้วมันก็จะไม่ถูกขโมยเลยจนตลอดชีวิต มันกลายเป็นให้ทานไปเสียทุกที ถ้าสัตว์มากินก็เอาบุญ ก็ไม่ต้องฆ่าสัตว์ไม่ต้องยิงสัตว์[2]
ท่านพุทธทาสภิกขุมีน้องสองคน ซึ่งมีอายุห่างจากท่านพุทธทาสภิกขุ 3 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ น้องคนโตเป็นชาย ชื่อ ยี่เกย พานิช ซึ่งภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธรรมทาส พานิช และได้เป็นกำลังหลักของคณะธรรมทานในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสนองงานของท่านพุทธทาสภิกขุ ส่วนน้องสาวคนสุดท้องของท่านพุทธทาสภิกขุชื่อ กิมซ้อย พานิช ซึ่งภายหลังแต่งงานไปอยู่บ้านดอน[3] และใช้นามสกุลสามีว่า เหมะกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ





ท่านได้กล่าวถึงโยมทั้งสองของท่าน ในหนังสือไว้ว่า
..

โยมชายมีหัวทางช่างไม้ ซึ่งผมก็ชอบ ถ้าได้รับการอบรมคงจะดีมาก
คือว่าชอบ ทำมาก หลายๆอย่าง ในสวนโมกข์นี่เราทำกันเอง
ด้วยมือ ที่ติดมาอีกอย่างหนึ่งคือ แต่งกลอน แต่งโคลง
มีวิญญาณกวี ทำให้เราชอบมีหัวทางนี้
...

และท่านได้กล่าวถึง
โยมมารดา ของท่านไว้ว่า

" ถ้าจะให้บอกว่า มีอะไรมาจากโยมหญิงบ้าง เห็นจะจะเป็น
เรื่องประหยัด เรื่องละเอียดลออในการใช้จ่าย เวลาทำอะไร
โยมมักจะเตือนให้ทำในสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าทำอะไรหยาบๆ
มักถูกทักท้วง โยมชายไม่ค่อยอยู่บ้าน โยมหญิง
อยู่ตลอดเวลา ผมจึงสนิทกับโยมหญิงมากกว่า "


http://www.oknation.net/blog/roungkaw/2010/10/23/entry-4

แม่ ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณแม่
ท่านสาธุชนผู้มีความสนใจในธรรมทั้งหลาย

การบรรยายปาฐกถาธรรมในวันนี้ อาตมาจะบรรยายในหัวข้อว่า "ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณของแม่" บางคนอาจะจนึกสงสัยว่า นี่เป็นการแทรกแซงของการบรรยายเกี่ยวกับ "อิทัปปัจจยตา" หรืออย่างไร อาตมารู้สึกว่าไม่เป็นการแทรกแซงเพราะว่าถ้ารู้จักปฏิบัติเกี่ยยวกับแม่ ให้ถูกต้อง มันก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กฎของ "อิทัปปัจจยตา" อยู่นั่นเอง แต่เนื่องจากมีผู้ขอร้องให้พูดเรื่องเกี่ยวกัย แม่ อาตมาก็ต้องยอมรับ เรียกว่าเกรงใจก็ได้ เพราะเรามันทำงานร่วมกัน

และคิดดูอีกทีหนึ่งก็รู้สึกว่า เราก็เป็นคนมี แม่ แม้จะเป็นเด็กหัวหงอกแล้วก็ยังมี ใคร ๆ ก็ยังมีแม่ แม่ยังจำเป็นอยู่ แม้แต่เด็กหัวหงอกที่ต้องรับรู้ ขอให้นึกอย่างนี้กันทุกคน ถ้าเป็นเด็กหัวหงอกแล้วยังสนองคุณของแม่ไม่ได้ก็ดูกระไรอยู่ จึงเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาสำหรับเป็นตัวอย่างแก่เด็กที่ยังไม่นุ่งผ้าเลยทีเดียว

ทีนี้เราก็ต้องพิจารณากันถึงคำว่า "แม่" สิ่งแรกที่สุดคือจะต้องพิจารณาก็คือว่า ทำไมภาษาบาลีซึ้งใข้กันอยู่เป็นหลักนี่มีคำว่า "มาตาปิตา" คือแม่พ่อ ไม่เหมือนกับภาษาไทยที่พูดว่าพ่อแม่ ทั้งที่ประเทศอินเดียเป็นแม่แบบวัฒนธรรมของไทยเราทุกอย่างทุกประการ ภาษาอินเดียใช้คำว่า "แม่พ่อ" แต่เราก็ยังมาใช้กลับกันว่า "พ่อแม่" ข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาว่าทำไมภาษาบาลีโดยเฉพาะจึงใช้คำว่า "แม่พ่อ"

อาตมาเห็นว่า เพราะ "แม่" มาก่อนถึงก่อน หรือสอนแก่ลูกก่อนแก่ลูกเล็ก ๆ นั้น ทำให้นุกถึง "แม่" ก่อน "พ่อ" หรือจะดูอีกทีว่าเด็กทารกเขาจะออกเสียงว่า "แม่" ได้ง่ายกว่า "พ่อ" คือออกเสียงคำว่า "ม่ะ" ได้ง่ายกว่า "ป้ะ" ออกเสียง ม.ง่ายกว่าออกเสียงป. เด็กคงจะพูดคำว่า "แม่" ได้ดีกว่าคำว่า "พ่อ"ก็ได้ และเมื่อดูพฤติการณ์ทั่วไปแล้ว แม่มาก่อนพ่อ สรุปความแล้วก็อาจจะได้เป็นว่า พ่อสร้างชีวิต แม่สร้างวัญญาณ ข้อนี้ขอให้สนใจกันสักหน่อยว่า "แม่" สร้างวิญญาณของลูกได้อย่างไร

เราได้มรดกจากแม่ในเรื่องมรรยาทหรือการเป็นอยู่มากกว่าพ่ อจะขอยกตัวอย่างที่แม่ได้ทำหน้าที่ของแม่ในการสร้างนิสัยอันรละเอียดให้แก่ลูก เช่น ในความเรียบร้อย แม่กวดขันให้ล้างจานข้าวให้สะอาดให้เรียบร้อยและเก็บให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องเรียบร้อย ปูที่นอนต้องเรียบร้อย ล้างมือล้างเท้าสะอาด

แม่สอนให้ประหยัด เกิดนิสัยประหยัดแม่บังคับให้ใช้น้ำล้างเท้าอย่างประหยัด ใช้น้ำอาบอย่างประหยัด ใช้ฟืนอย่างประหบัด เชือกผูกของ กระดาษห่อของ เศษกระดาษที่พอจะทำเชื้อไฟได้สักนิดหนึ่งก็ยังต้องประหยัด

แม่สร้างนิสัยอ่อนน้อมถ่อมตน แม่สอนว่ายอมแพ้นั้นไม่ถือว่าเป็นการเสียเกียรติ เพราะให้เรื่องมันระงับไป แต่ก็ไม่ต้องเสียหายอะไรเนื่องจากว่าต้องยอมแพ้ มันเป็นการปลอดภัย และใคร ๆ ก็รักคนที่ยอมแพ้ไม่ให้เรื่องเกิด

แม่สอนให้เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม่สอนว่าให้ลูกแมวได้กินข้าวก่อน แล้วคนจึงกิน สัตว์เดรัจฉานเป็นเพื่อนของเรา คนขอทานเป็นเพื่อนของเรา คนไร้ญาติขาดมิตรมาตายอยู่ตามท่าน้ำเราก็ต้องเอื้อเฟื้อ ถ้าเรากินเองมันก็ถ่ายออกหมด ถ้าเราให้เพื่อนกินมันอยู่ในหัวใจของเขายาวนานนัก

แม่อบรมนิสัยให้รักน้องให้รักเพื่อน แม่สอนว่าน้องเอาเปรียบพี่ได้ แต่พี่เอาเปรียบน้องไม่ได้ น้องโกงพี่ได้แต่พี่โกงต้องไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

แม่สอนให้ดูว่าไก่ไม่มีเห็บเพราะมันช่วยจิกให้กันและกันลูกไก่เล็ก ๆ ยังช่วยจิกเห็บให้ลูกไก่ตัวใหญ่ เห็บที่มันอยู่ตามหน้าตามหงอนซึ่งมันจิกเองไม่ได้ แต่ไก่ก็ไม่มีเห็บ เพราะมันปฎิบัติหน้าที่เพื่อนของกันและกัน แม้แต่ลิงมันก็หาเหาให้แก่กันและกัน สุนัขมันก็ยังกัดหมัดให้แก่กันและกันตรงที่ที่มันกัดเองไม่ได้ เราจึงต้องมีเพื่อน

แม่อบรมนิสัยกตัญญูรู้คุณ ให้เด็กเล็ก ๆ ช่วยทำงานให้แม่บ้าง ทำอะไรไม่ได้มาก ก็เพียงแต่ช่วยตำน้ำพริกแกงให้ด็ยังดีเหยียบขาให้แม่หายเมื่อย เอาใจใส่แม่เมื่อเจ็บไข้ นี้ปฏิบัติกันมาจนเป็นนิสัย เคารพคนแก่คนเฒ่าพระเจ้ากระสงฆ์ประนมมืออยู่ตลอดเวลา

ให้ปลูกฝังคือว่าให้ใช้เวลาว่าง ปลูกพริก ปลูกมะเขือ ปลูกตะไคร้ ดอกมะลิ ดอกราตรี แม้แต่สับปะรด กล้วย ก็ยังสอนให้ปลูก แล้วยังสอน คาถากันขโมย ให้ด้วยว่า "ถ้านกกินเป็นบุญ ถ้าคนกินเป็นทาน" อาตมายังจำได้อยู่กระทั่งบัดนี้ ว่าถ้านกกินให้ถือว่าเราเอาบุญ ถ้าคนมันขโมยเอาไปก็คือว่าให้ทาน แล้วมันก็จะไม่ถูกขโมยเบยจนตลอดชีวิตมันกลายเป็นให้ทานไปเสียทุกที ถ้าสัตว์มากืนก็เอาบุญ ก็ไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ไม่ต้องไปยิงสัตว์

แม่อบรมนิสัยห้ามเล่นการพนัน แม้แต่หมากรุกก็ไมได้ เรื่องดนตรี เราชอบต้องแอบเล่น เรื่องชนไก่จับปลานั้นไม่ต้องพูด เรื่องเหล้า เรื่องบุหรี่ นี้มันเกลียดเอง แม่ไม่ต้องห้าม พ่อและอาก็ไม่เคยแตะต้องสิ่งเหล่านี้ เด็ก ๆ เป็นเด็ก เห็นคนสูบกัญชาสูบยาดองด้วยกล้องไม้ไผ่เสียงโคลก ๆ นั่น รู้สึกว่าเขาเป็นวีรบุรุษ แต่เราก็ไม่กล้าลอง

ทั้งหมดนี้ได้อุปนิสัยมาจากแม่ที่คอยจ้ำจี้จ้ำไช ว่ากล่าวอยู่เสมอ นี่ดูเถอะ แม่สร้างอุปนิสัยสร้างดวงใจ พร้อมๆ กับที่พ่อช่วยสร้างชีวิต โดยส่วนใหญ่หรือโดยส่วนรวม แม่อยู่วงในพ่ออยู่วงนอก

ควรดูต่อไปถึงปัญหาว่าเดี๋ยวนี้ในบ้านเมืองเรามีปัญหาเด็ก ๆ ไม่เคารพไม่รัก ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ชวนกันเป็นอันธพาลมากขึ้น เพราะเขาไม่รู้เรื่องแม่ ปัญหากำลังขยายตัวเพราะเด็กไม่รู้ว่า "แม่" นั้นคืออะไร แม่บางคนเสียอีกก็ไม่รู้ว่าความป็นแม่คืออะไร นี้ก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้ไม่รู้ว่าการทำให้พ่อแม่ร้อนใจน้ำตาตกในนั้นเป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวง เขาจึงยังกระทำกันอยู่ ดังนั้นเราจะต้องสอนให้เขารู้ว่า "แม่" คืออะไร

แม่คืออะไร เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ และรู้โดยปรมัตถ์ชั้นลึกซึ้ง ด้วยความลึกซึ้ง โดยปรมัตถ์แล้วเราต้องกล่าวว่า แม่เป็นผู้สร้างโลก โลกจะดีหรือเลวก็เพราะคนในโลลกมันดีหรือเลว คนในโลวมันจะดีหรือเลวก็เพราะว่า แม่ได้สร้างอุปนิสัยคนเหล่านั้นมาอย่างไร ถ้าสร้างมาดี คนมันดี โลกนี้มันก็ดี ถ้าสร้างมาไม่ดีโลกนี้มันก็ไม่ดี จึงเห็นได้ว่า "แม่" อยู่ในฐานะเป็นผู้สร้างโลกราวกับว่าเป็นพระเจ้า แม่เป็นผู้สร้างดวงวิญญาณของลูก

แม่ต้องไม่ไปทำหน้าที่ "พ่อ" ถ้าทำหน้าที่พ่อ พ่อก็จะว่างงานแล้วโลกก็จะเลวลง ไม่มีใครกล่อมเกลาดวงวิญญาณบางพวกเขาแก้ตัวว่ารายได้ไม่พอ แม่ต้องไปช่วยทำงานหารายได้ นั่นมันหลับตาพูด เพราะมันไม่มองดูว่า มันเป็นการเสียหายมากกว่าได้ ถ้าแม่จะต้องช่วยพ่อทำงานก็ต้องไม่ให้เสียหน้าที่ของแม่ คือทำงานชนิดที่ดูแลลูกไปพลางก็ยังได้ คนบางพวกเขายังเอาลูกสะพายหลังไปด้วย เพื่อว่าไม่อยู่ห่างจากลูก

แม่อบรมความเก่งในบ้าน พ่ออบรมความเก่งนอกบาน ในสังคมที่กว้างกว่า แต่แล้วแม่ก็สร้างอุปนิสัยลูกมากกว่าพ่อ เราได้รับมรรยาทอุปนิสัยต่างๆ นานาติดเนื้อติดตัวมาจนถึงกระทั่งวันนี้ อุปนิสัยประหยัดก็ดี สุภาพก็ดี ขัยนขันแข็งก็ดี มาจากแม่โดยตรง เรียกว่าเป็นเนื้อเป็นตัวมาเพราะการอบรมของแม่

เรายอมรับว่า พ่อช่วยให้เรามีอาหารกินให้ปลอมดภัยแต่แม่ก็ยังคงช่วยสร้างดวงวิญญาณของเราอยู่ พ่อรักเราอยู่วงนอก แต่แม่รักเราอยู่กับอก ถึงกับว่ากินเลือดในอกแม่ กินนมของแม่ เรียกว่ามีการถ่ายพันธุ์ อุปนิสัยมากที่สุด นักเลงผสมไก่ ผสมปลากัดเขาบอกให้ฟังว่า การเลือกพันธุ์ผสมนั้นเขาเลือกตัวเมียมากกว่าตัวผู้ เขาจะเลือกพันธุ์ตัวเมียที่ดีที่สุดมาเป็นแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ไม่ค่อยสำคัญนัก อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าฟัง

ทีนี้ก็จะดูไปถึงการอบรม อบรมลูกบางคนสอนลูกไม่ให้ไหว้ใครเพราะกลัวจะเป็นทาสความคิดความเห็นของใคร บางคนสอยให้ลูกไหว้ใครจนไม่ต้องดูอะไรเลย อย่างนี้มันผิดทั้งสองอย่าง อาตมาคิดว่าเราควรจะสอนลูกให้รู้จักเลือกไหว้ใครเสียดีกว่า ดีกว่าที่จะไหว้ไปตะพึด ดีกว่าที่จะไม่ไหว้เสียเลย ลูกจะรู้จักเลือกไหว้ จะรู้จักผิดชอบชั่วดีในการรู้จักเลือกไหว้ เป็นการดีกว่าที่จะไม่ให้ไหว้ใครเสียเลย

วันแรกของโรงเรียนอนุบาล เด็ก ๆ ควรจะเรียนกันแต่ว่า "แม่คือใคร" อย่างนี้ดีกว่าเรียนหนังสือ ไม่ต้องอุตริให้เรียนภาษาต่างประเทศไปตั้งแต่ชั้นอนุบาล โตแล้วก้ไม่รู้ว่าแม่นี่คืออะไร แม่มีบุญคุณอย่างไหรก็ไม่รู้

แม่ควรอบรมนิสัยจิตใจ ให้ลูกมันมีความรู้สึกสูง แม่ควรจะพาลูกไปร้านอาหารที่อร่อย ๆ ของเล่นของแต่งตัวที่มีราคาแพง แล้วก็บอกลูกว่า "ทั้งหมดนี้เขามีไว้สำหรับทำให้เราโง่" เด็ก ๆ จะรู้จักคิดไปตั้งแต่เล็ก ๆ ว่า ทั้งหมดนี้มันมีไว้ สำหรับทำให้เราโง่อย่างไน ของแต่งตัวสวย ๆ ของกินอร่อย ๆ ของเล่นตุกตาที่น่ารักอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้แม่จะบอกว่ามีไว้สำหรับทำให้เราโง่ แล้วลูกมันจะคิดอย่างไร มีเหตุมีผลอย่างไรก็ค่อยรู้กันเอง

สอนให้ลูกรู้ว่าเราจะต้องทำอย่างไรเราควรมีอะไรร ควรกินอะไร ควรใช้อะไร ควรบูชาอะไร ควรทนุถนอมอะไร ถึงจะเป็นการถูกต้องที่สุด บอกให้ลูกรู้ว่า เรื่องกินก็ดี เรื่องกามก็ดี เรื่องเกียรติก็ดี มันมีลักษณะเหมือนกับดาบสองคม ใช้ไปทางหนึ่งก็วินาศ ใช้ไปทางหนึ่งก็เจริญเด็ก ๆ ควรจะรู้ปรมัตถ์เรื่อง "ตัวกู-ของกู" ดีอย่างไร เสียหายอย่างไร ทีละเล็กทีละน้อยขึ้นมาตามสมควร ตามความเหมาะสม

เด็ก ๆ จะต้องรู้จักอดทน เสียสละเพื่อแม่ ให้สมกับความเจ็บปวดที่แม่ได้รับเมื่อคลอดเรามา ให้เด็ก ๆ เขารู้จักมีอะไร เพื่อจะได้ทำหน้าที่ถูกต้องเป็นผาสุก ไม่ใช่เพื่อยึดมั่นถือมั่น ลูกควรจะรู้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร จะปฏิเสธความเกิดมานี้ ไม่ได้ เพราะมันเกิดมาแล้ว มันมีแต่ว่าต่อไปต้องทำอะไร

ทีนี้จะดูถึงข้อที่ว่า แม่พ่อจะต้องส่งเสริมลูกอย่างไร คือส่งเสริมสัญชาตญาณอย่างไร เด็ก ๆ ทารกมีสัญชาตญาณแห่งการรักดี ดูเถอด พอเราบอกว่า "ดี-ดี" เขาก็ดีใจ ตบพุงแป๊ะ ๆ แป๊ะ ๆ เด็ก ๆ ก็ชอบทำงาน ชอบขอมาทำงาน บอกว่านี่หนูทำเอง นี่หนูทำเอง ก็ต้องส่งเสริมสัญชาตญาณแห่งการชอบทำงานนี้ให้ยิ่งขึ้ไปตลอดชีวิต

เด็ก ๆ จะต้องรู้จักรักผู้อื่น รู้จักสังคมกับผู้อื่น เราจะต้องช่วยเพื่อน เราจะต้องมีเพื่อน ถ้าเราไม่ช่วยเพื่อน เราก็อยู่ไม่ได้ แล้วเราก็กลายเป็นคนมีนิสัยที่เลว เด็ก ๆ ทำงานให้สนุกรู้จักเป็นสุขเมื่อกลังทำงาน ที่รู้สึกว่าเป็นการถูกต้อง เป็นสุขที่แท้จริง ไม่ต้องใช้เงิน เด็กนี้โตขึ้นก็จะรู้จักแสวงหาความสุขใจโดยไม่ต้องใช้เงิน ชีวิตกับการงานนั้นต้องสิ่งเดียวกันไปเสียเลยงานคือเกียรติยศสูงสุดของคน การทำงานให้สนุกนี้เป็นหลักสำคัญที่สุด คือการเดินทางถูกต้องตามกฎของ "อิทัปปัจจยตา" ใครทำงานสนุก คนนั้นเดินตามกฎ "อิทัปปัจจยตา" อย่างยิ่ง

ทีนี้ลูกโตแล้ว ลูกโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้ว ควรจะชี้ให้เห็นในส่วนที่ลึกขึ้นไป ในฐานะที่เป็นปรมัตถ์ ให้รู้ว่ากามารมณ์กับการสืบพันธุ์นั้นเป็นคนละเรื่องกัน กามารมณ์เป็นเรื่องของกิเลส มีผลคือบ้าลูกเดียว บ้าลูกเดียว เป็นเรื่องของกามารมณ์ อย่าไปหลงเป็นทาสมัน แต่เรื่องสิบพันธุ์นั้นเป็นหน้าที่ของมนุษย์ ต้องประพฤติกระทำอย่างถูกต้อง เดี๋ยวนี้คนหนุ่มสาวเอาเรื่องกามารมณ์ไปปนกับเรื่องการสืบพันธุ์ แล้วปฏิบัติผิด มันก็เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะเกิดมาเป็นทาสของกามารมณ์ ใครเขาจะหลงใหลก็ตามใจเขาเราไม่เอา

ไม่ต้องแต่งงานสมรสเพราะกิเลสตัณหา แต่ต้องแต่งงาน เพราะความรู้สึกผิดชอบชั่วด ีว่าเราต้องมีหน้าที่สิบพันธุ์ไว้สิบพันธุ์มนุษย์ไว้ ให้มนุษย์เดินทางไปถึงนิพพายให้จงได้ ช่วงคนนี้ไปไม่ถึง ช่วงคนหน้าก็ไปให้ถึง การแต่งงานเพื่อแบ่งภาระกันให้มนุษย์ได้ทำหน้าที่ของมนุษย์สมบูรณ์ สะดวก โดยเร็วและโดยง่าย การแต่งงานเพื่อเป็นคู่คิด เพื่อช่วยกันให้เกิดความง่ายในการก้าวไปข้างหน้า เพื่อความสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ แม้จะพูดว่าเป็นเพื่อนเดินทางไปสู่นิพพานก็ไม่ผิด แต่คนเขาจะหัวเราะเยาะ นั่นมันคนโง่ ไม่ต้องไปสนใจ

การสมรสการแต่งงานเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระความยากความลำบากของความเป็นมนุษย์ให้มันง่ายเข้า ไม่ใข่เพื่อมาหลงใหลในการฃมารมณ์ เหมือนที่เขาทำกันอยู่โดยมาก เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแพงมาก เพื่อการสมรสและแต่งงานแต่เพื่อกามารมณ์ไม่ได้เพื่อการก้าวหน้าไปของความเป็นมนุษย์ สู่จุดหมายปลายทางของความเป็นมนุษย์ ระวังให้ดี การพูดอย่างนี้ มันถูกด่าทุกที มีผู้เอาไปพูด แต่ก็ยังไม่พ้นจากการถูกด่า แต่อาตมาก็ยังขอพูดอยู่อย่างนี้ แม่จะสอนให้ลูก ๆ ให้รู้ว่า ชีวิตคืออะไร การสมรสคืออะไร ใครจะด่าก็ตามใจ เราจะทนทำไปเพื่อการบูชาคุณของแม่เองนั้นก็ยังได้

แม่ทั้งหลายล้วนแต่ต้องการให้ลูกรอด และต้องการให้ลูกไปได้ไกลกว่าพ่อแม่ด้วยกันทั้งนั้น

ทีนี้วันแม่ สรุปความวันนี้เป็น วันแม่ ต้องพูดกันถึงหน้าที่ของแม่ ต้องพูดกันถึง พระคุณแม่ ในแง่ที่เป็นปรมัตถวิจารณ์ คือพินิจพิจารณากันในส่วนลึกของความหมาย เรียกว่า ปรมัตถวิจารณ์ การพูดอย่างนี้ก็ยังคงอยู่ในชุดของการบรรยาย เรื่องประมัตถธรรมกลับมา เพื่อเป็นรากฐานของศีลธรรม การปฏิบัติให้ถูกต้องต่อแม่พ่อ หรือแม่พ่อปฏิบัติถูกต้องต่อลูกนี้ก็เป็นเรื่องศีลธรรมที่เว้นไมได้ ที่จะเป็นที่สุด เพราะการที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องโดยแท้จริงนั้น ต้องมีความรู้ในส่วนปรมัตถธรรม คือในส่วนลึกที่สุด ที่มองเห็นยาก

ต้องใช้สติปัญญาพิจารณาว่าความเป็นพ่อคืออะไร ความเป็นแม่คืออะไร ความเป็นลูกคืออะไรกระทั่งความเป็นหลานเหลนสืบ ๆ ไป คืออะไร เขาก็จะปฏิบัติได้ถึงความหมายในส่วนลึก จะได้รับประโยชน์ในส่วนลึก มิใช่สักว่า เกิดมาแล้วก็หลงใหลในกามารมณ์ อย่างดีก็สืบพันธุ์ในลักษณะเหมือนกับที่สัตว์เดรัจฉานสืบพันธุ์ ไม่มีความม่งหมายอะไรมาหไปกว่านั้นนี่ก็เพราะว่า ไม่รู้ว่าแม่คืออะไร ไม่รู้ว่าแม่คือผู้สร้างดวงวิญญาณของลูก ตั้งแต่วันแรกที่ลูกเกิดมา

แม่ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง พ่อทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ถ้าแม่ไปทำหน้าที่ของพ่อ โลกนี้ก็จะไม่มีแม่แล้วมันจะเป็นอย่างไร มันจะไม่มีสิ่งผู้พันอันลึกซึ้งในเรื่องความรักในเรื่องความกตัญญูมันไม่สมกับที่ว่าคำว่า "แม่" นี้มาก่อนคำว่า "พ่อ" ในภาษาธรรมะภาษาบาลีภาษาศษสนาจะพูดว่า "มาตาปิตา" ว่า "แม่พ่อ"ไม่ได้พูดว่า "ปิตามาตา"ไม่เคยพบเลย เพราะ "แม่" มีความสัมพันธ์ในส่วนที่ว่ามาก่อน ลูกจะเรียก "แม่" ชัดก่อนที่เรียก "พ่อ" คำว่า "แม่" ออกเสียงง่าย สำหรับลูกเด็กทารกอย่างนี้เป็นต้น

ขอให้สนใจว่า แม่จะนำหน้าที่ในการสร้างอุปนิสัยชีวิตวิญญาณในด้านลึกของลูก เราจึงควรพิจารณากันในลักษณะที่ว่าเป็นปรมัตถวิจารณ์ ปรมัตถธรรมอย่างนี้มาแล้วศีลธรรมก็จะมีรากฐานที่มั่นคงจะก้าวหน้าถูกต้องและลึกซึ้ง มันเป็นกฎของอิทัปปัจจยตา "อย่างนี้เอง" ชีวิตทุกก้าวย่าง ต้องเดินตามกฎของอิทัปปัจจยตา ไม่ว่าจะอยู่เป็นชาวนา หรือว่าจะบรรลุนิพพานมันเป็นกฎที่เฉียบขาดว่า เราทุกคนจะต้องเดินให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติอันเฉียบขาด เหมือนกับพระเป็นเจ้า

แม่ก็มีหน้าที่สร้างโลกเหมือนกับพระเป็นเจ้า เพราะเกิดมาก็สร้างอุปนิสัยของเด็กทุกคนในโลก จนโตขึ้นมาแล้วก็จะได้เป็นพลโลกที่ดี แม่ก็สร้างโลกนี้เหมือนกับที่พระเจ้าสร้างโลก และก็โดยกฎของพระเจ้าผู้สร้างโลก คือกฎของอิทัปปัจนยตานั่นเอง จะเดินตามกฎของอิทัปปัจยตา ไม่ว่าจะอยู่เป็นชาวนาหรีอว่าจะบรรลุนิพพานพูดอย่างนี้ก็หมายความว่าให้มันหมดจดสิ้นเชิงถ้าจะอยู่กันในระดับต่ำ เป็นขาวนาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องมันก็ต้องเดินตามกฎของอิทัปปัจยตา แม่ของชาวนาก็ต้องเป็นแม่ที่ถูกต้อง เป็นแม่ที่เป็นอาจารย์ของลูกที่ดี เป็นพระพรหมของลูกที่ดี เป็น "อาหุเนยยบุคคล" ของลูกที่ดี ไม่มีอะไรดีไปกว่าแม่ ในแง่นี้ของลูกแต่ละคน ๆ จึงว่าแม้จะอยู่เป็นชาวนาก็ต้องเดินตามกฎของอิทัปปัจยตา

ทีนี้ถ้าจะก้าวหน้าหรือจะบรรลุนิพพานอันสูงสุด ก็ยิ่งต้องเดินตามกฎของอิทัปปัจยตาให้ถูกต้องทุกกระเบียดนิ้วเป็นลำดับ ๆ ไป มันก็จะไม่เหลือวิสัยที่คนเราจะบรรลุนิพพานคือ มีชีวิตอันเหยือกเย็น ต้องได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้ ตายแล้วก็ไม่ต้องสงสัย เรียกว่ามีชีวิตเยือกเย็นทีนี่และเดี๋ยวนี้ จะได้รับประโยชน์กว่า ถ้าที่นี่เดี๋ยวนี้ได้รับ ตายแล้วก็ไม่ต้องสงสัยไม่ต้องเป็นห่วงต่อเรื่องตายแล้ว ขอแต่ให้ทำให้ถูกต้องที่นี่และเดี๋ยวนี้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ จะเป็นการรับประกันตลอดไป

นี่แม่จะต้องปลูกฝังความรู้อันนี้ให้แก่ลูก ลูกก็จะเดินถูกทาง มันก็เลยพร้อมที่จะเป็นแม่ที่ดีเป็นพ่อที่ดีสืบต่อๆ กันไปในอนาคต ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า "ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณของแม่" ดูพระคุณของแม่ในด้านลึก แล้วก็จะได้เคารพรักกตัญญูเชื่อฟังพ่อแม่กันอย่างสูงสุด เพื่อเตรียมตัวเป็นพ่อแม่ที่ดีสืบไปในเมื่อถึงรอบเวรของตนเข้า

ปรมัตถวิจาณณ์นี้ ขอให้เป็นที่สนใจแก่บุคคลทั้งหลายที่เป็นพ่อเป็นแม่ เป็นความรู้ที่ต้องใช้ทั้งแก่เด็กที่กำลังอมมือและแก่เด็กที่หัวหงอกแล้ว อย่าได้มีอะไรผิดพลาดในเรื่องหน้าที่ของแม่และลูกต่อไปอีกเลย หวังว่าพ่อแม่และลูกหลายทั้งหลายจะมีความรู้เรื่องนี้อย่างเพียงพอ ปฏิบัติแล้วไม่บกพร่องในหน้าที่ของตน ๆ จะได้ประสบความสุขในฐานะที่เป็นมนุษย์อยู่ทุกทิพาราตรีกาลเป็นแน่นอน

ขอให้ความหวังอันนี้จงสำเร็จสมควรปรารถนาเพราะว่าเรามีความเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริง มีความเชื่อถูกต้องมีความพากเพียรถูกต้อง มีความกล้าหาญอย่างถูกต้อง แล้วเป็นอยู่ด้วยความถูกต้องนั้น เป็นสุขอยู่ทุกทิพาราตรีกาลเทอญ

http://www.buddhadasa.org/วาทะพุทธทาส/แม่-ปรมัตถวิจารณ์เกี่ยวกับพระคุณแม่.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 29, 2015, 03:53:01 pm โดย ฐิตา »