เทคนิคปลูกฝังระเบียบวินัยตามวัยของลูก
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 มีนาคม 2555 21:35 น.
“ลูกเล่นเกมจนดึก ทำให้ตื่นสายไปโรงเรียนไม่ทัน”
“ข้าวของหายเป็นประจำ พอหาไม่เจอก็พาลคุณพ่อคุณแม่”
“กินข้าวไม่เป็นเวลา นึกอยากจะกินขึ้นมาพ่อแม่รีบหาให้แทบไม่ทัน”
หากไม่ต้องการให้เจ้าตัวน้อยที่บ้าน มีพฤติกรรมอย่างที่กล่าวมานี้ คุณพ่อคุณแม่คงต้องเร่งฝึกระเบียบวินัยให้เหมาะสมตามวัยของเจ้าตัวเล็กเสียแล้ว
คำถามส่วนใหญ่ที่คาใจคุณพ่อคุณแม่คือ ฝึกวินัยจะเคร่งเครียดเหมือนฝึกทหารหรือไม่ เราจะเริ่มปลูกฝังวินัยให้ลูกได้ตั้งแต่เมื่อไรดี?
พญ.ปราณี เมืองน้อย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวไว้ว่า “ระเบียบวินัยเป็นโครงสร้างที่ผู้ใหญ่กำหนดขึ้นสำหรับเด็กเพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่เขาสามารถทำได้ภายใต้เงื่อนไข ขอบเขตในการแสดงพฤติกรรมให้เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น เป็นพื้นฐานการฝึกให้เด็กเรียนรู้หน้าที่ความรับผิดชอบ พัฒนาทักษะการควบคุมตนเอง เรียนรู้สิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น ทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและอยู่ในโลกของความเป็นจริงได้อย่างมีความสุข”
นอกจากนี้พญ.ปราณี ยังได้แนะนำผู้ปกครองในการเกี่ยวกับเรื่องระเบียบวินัยซึ่งสามารถสร้างได้ตั้งแต่ขวบปีแรกว่า เด็กในวัยนี้ต้องการการตอบสนองตามธรรมชาติ ร้องไห้เมื่อหิว หรือเมื่อรู้สึกไม่สบาย พ่อแม่จึงควรตอบสนองลูกอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันก็ค่อยๆ จัดกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของลูก ควรสังเกตว่าลูกจะร้องไห้หิวนมทุกกี่ชั่วโมง แล้วค่อยๆ ปรับตารางการให้นมลูกอย่างเหมาะสม ส่วนกิจวัตรอื่นๆ เช่น อาบน้ำ พาเดินเล่น ก็ควรทำในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวันซึ่งจะช่วยให้การฝึกวินัยเด็กในช่วงวัยต่อไปทำได้ง่ายขึ้น
เด็กวัยเตาะแตะ อายุ 1-3 ปี
เด็กวัยนี้เหมาะที่จะเริ่มฝึกวินัยเป็นเรื่องเป็นราวโดยเด็กจะเริ่มมีส่วนร่วม เนื่องจากพูดสื่อสารได้ดีขึ้น เด็กวัยนี้จะกลายเป็นเจ้าหนูช่างสงสัย ชอบสำรวจ เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ดูแล้วเหมือนจะเริ่มขัดขืนคำห้ามของพ่อแม่ จนพ่อแม่มักเข้าใจผิดว่าลูกเป็น “เด็กดื้อ” แท้จริงแล้วนั่นไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เป็นสิ่งที่ควรยินดีที่ลูกพัฒนาความคิดไปอีกก้าวหนึ่ง พ่อแม่วัยนี้จึงต้องมีความเข้าใจลูกมากๆ คอยสร้างสมดุลระหว่างการให้อิสระลูกในการสำรวจเรียนรู้กับการควบคุมลูกให้อยู่ในระเบียบวินัย
ในการฝึกคุณพ่อคุณแม่ควรยึดการทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ จากการที่ลูกวัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเอง ในการฝึกวินัยจึงควรมีความยืดหยุ่นบ้าง พร้อมกับเปิดโอกาสให้ลูกได้เลือกทำในสิ่งที่เหมาะสม เพื่อลดการต่อต้านที่มักเกิดขึ้นในวัยนี้ เช่น หากลูกไม่ยอมอาบน้ำ อาจเสนอทางเลือกว่าจะเล่นน้ำฝักบัว แช่น้ำในกะละมัง หรืออยากใช้ขันตักอาบ (แต่สุดท้ายคือต้องอาบน้ำ) เป็นต้น
หนูน้อยก่อนวัยเรียน 3-5 ปี
เป็นวัยที่เข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์มากขึ้น เรื่องที่ควรฝึกในวัยนี้คือระเบียบวินัยการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ได้แก่ การต่อคิว การรอคอย และการแบ่งปัน การสอนลูกโดยแสดงให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างจะช่วยให้เด็กวัยนี้เรียนรู้ได้ดีกว่าการสอนแกมบังคับ
การมีระเบียบวินัยตั้งแต่เด็ก ช่วยสร้างความพยายามและอดทนจึงเอื้ออำนวยให้เด็กวัยเรียน มีประสิทธิภาพในการเรียนมากขึ้น เด็กวัยนี้พูดคุยใช้เหตุผลได้ดีขึ้น จึงควรให้เด็กมีส่วนร่วมในการตั้งกฎกติกาต่างๆ ที่เป็นที่ยอมรับทั้งตัวเด็กและพ่อแม่ เมื่อลูกโตเป็นวัยรุ่นความคิดซับซ้อนขึ้นร่วมกับมีความเป็นตัวเองมากขึ้น ชอบคิดและทำด้วยตัวเอง พ่อแม่ก็ยังต้องมีกติกาที่ชัดเจน ไปพร้อมๆ กับการให้อิสระเด็กในการคิดตัดสินใจบ้าง การคุมระเบียบวินัย ของพ่อแม่อาจคอยดูห่างๆ ให้โอกาสลูกลองผิดลองถูกหากเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง แต่หากเป็นเรื่องที่อาจเกิดความเสียหายต่อไป พ่อแม่ต้องชวนลูกพูดคุย วิเคราะห์ผลดีผลเสียของการกระทำ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหา
ปัญหาที่มักพบบ่อย ๆ ในการฝึกวินัย ก็คือ พ่อแม่ไม่มีความสม่ำเสมอในการฝึก ทำ ๆ หยุด ๆ หรือเปลี่ยนกฎบ่อย ๆ แท้จริงแล้วการสร้างระเบียบวินัย ไม่ใช่เรื่องยาก เป็นเพียงการเลี้ยงลูกที่ทำอยู่ทุกวัน แต่ใส่เงื่อนไขต่างๆ ในการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่อาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้และความสม่ำเสมอในการฝึกฝน การปลูกฝังลูกตั้งแต่ขวบปีแรกจะช่วยให้การฝึกในช่วงวัยต่อๆ มา ทำได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องยอมเหนื่อยในช่วงต้น แต่ผลลัพธ์ในตอนท้ายย่อมคุ้มค่า เพราะระเบียบวินัยเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ พญ.ปราณีก เมืองน้อย กล่าวสรุป
///////////////////////////////////
นอกจากนี้ ทางทีมงานของสถาบันสุขภาพเด็กฯ ยังฝากอีเมลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สนใจหรือมีปัญหาในการฝึกวินัยลูก สามารถปรึกษาหรือเขียนคำถามมาได้ที่ pr_qsnich@hotmail.com (อีเมลของทางสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีค่ะ)
.
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000030865.