ผู้เขียน หัวข้อ: นิทานเซน : หลักการของระหัดวิดน้ำ  (อ่าน 1158 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


นิทานเซน : หลักการของระหัดวิดน้ำ

       อาจารย์เซนอู๋เซียง เดินทางจาริกธรรมไปทั่วทุกสารทิศ วันหนึ่งระหว่างการเดินทางเกิดกระหายน้ำขึ้นมา จึงได้มองหาแหล่งน้ำ เมื่อพบเข้าก็ปรากฏว่ามีชายหนุ่มผู้หนึ่งกำลังทำหน้าที่ควบคุมระหัดวิดน้ำอยู่ในบริเวณนั้น อาจารย์เซนอู๋เซียงจึงเอ่ยปากขอน้ำดื่ม
       
       ชายหนุ่มผู้นั้น เมื่อพบเห็นอาจารย์เซน ก็ใช้สายตามอง พร้อมทั้งเอ่ยปากว่า "อาจารย์เซน หากวันหนึ่งข้าละทางโลกก็จะออกบวชเช่นกัน แต่เมื่อถึงวันนั้นข้าจะเสาะหาที่เร้นกาย ตั้งใจนั่งสมาธิศึกษาธรรม ไม่มีทางออกเดินทางเร่ร่อนไปเรื่อย เหมือนท่านในตอนนี้"
       
       อาจารย์เซนจึงถามชายหนุ่มผู้นั้นกลับไปว่า "แล้วเมื่อใดกันเล่าที่เจ้าจะละทางโลกได้"
       
       ชายหนุ่มตอบว่า "นับคนรุ่นเดียวกัน มีเพียงข้าที่ทราบหลักการทำงานของระหัดวิดน้ำอย่างทะลุปรุโปร่ง จึงทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการจ่ายน้ำคนเดียวของหมู่บ้าน หากวันใดวันหนึ่งปรากฏผู้มารับช่วงต่อหน้าที่นี้แทนข้า ถึงตอนนี้ข้าก็จะหมดภาระและสามารถออกบวชได้"
       
       อาจารย์เซนยังคงถามต่อไปว่า "เจ้าบอกว่าเจ้าแม่นในหลักการของระหัดวิดน้ำที่สุด อย่างนั้นเราถามเจ้า หากระหัดวิดน้ำจมลงไปในน้ำทั้งหมด หรือไม่ก็ไม่กระทบถูกน้ำเลยแม้แต่ส่วนเดียว จะเกิดอะไรขึ้น?"
       
       ชายหนุ่มตอบโดยไม่ต้องคิดว่า "การทำงานของระหัดวิดน้ำย่อมต้องให้ครึ่งหนึ่งอยู่ในน้ำ ครึ่งหนึ่งอยู่เหนือน้ำ หากจมลงไปในน้ำทั้งหมดนอกจากจะไม่สามารถหมุนได้แล้วยังจะหักพังไหลไปตามน้ำ ในทางกลับกันหากระหัดวิดน้ำไม่มีส่วนไหนจมน้ำเลย ก็ไม่สามารถวิดน้ำขึ้นมาได้"
       
       เมื่อชายหนุ่มกล่าวจบ อาจารย์เซนจึงบอกว่า "ความสัมพันธ์ของระหัดกับสายน้ำ ก็เหมือนความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก หากคนผู้หนึ่งคลุกคลีจมจ่อมอยู่ในโลกิยะอย่างเต็มตัวย่อมถูกเกลียวคลื่นแห่งโลกีย์พัดพาไปอย่างง่ายดาย แต่ในทางกลับกัน ชีวิตที่ขาวสะอาดปราศจากการข้องแวะกับเรื่องราวความเป็นไปทางโลกก็คล้ายดั่งไร้ราก เพราะเมื่อไม่รู้จักไม่เข้าใจว่าทางโลกเป็นอย่างไร ก็ยากที่จะหลุดพันจากความทุกข์หรือกิเลสตัณหาได้"
       
       
       ที่มา : หนังสือ 《一日一禅》, 东方闻睿 เรียบเรียง,
       สำนักพิมพ์ 中国电影出版史, 2004.8, ISBN 7-106-02204-7
       -http://manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9550000003734