ความรู้การลงทุน Gold Futures
ที่มา :
www.tfex.co.thอ้างอิงจาก:
ข้อควรระวังในการซื้อขาย Gold Futures
โกลด์ฟิวเจอร์สใช้เงินทุนน้อย เนื่องจากผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินทั้งจำนวนในการซื้อขาย ผู้ลงทุนเพียงแค่วางเงินประกันแค่ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญา ดังนั้น หากผู้ลงทุนได้กำไร ก็จะเป็นอัตราส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับเงินลงทุน แต่หากขาดทุนก็จะเป็นอัตราส่วนที่สูงเช่นเดียวกัน
การเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำและอัตราแลกเปลี่ยน ก็เป็นปัจจัยที่ผู้ลงทุนควรคำนึงในการซื้อขาย โดยปกติแล้วราคาทองคำจะเคลื่อนไหวสวนทางกับอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ลงทุนควรติดตามให้ความสนใจ
นอกจากนี้ ฟิวเจอร์สมีอายุจํากัด ซึ่งแตกต่างจากหุ้นและทองคำจริงที่ไม่มีวันหมดอายุ หากผู้ลงทุนถือโกลด์ฟิวเจอร์สไปจนถึงวันครบอายุสัญญา ก็จะมีการปิดสถานะของสัญญาให้ผู้ลงทุนโดยอัตโนมัติ ผู้ลงทุนจะได้กำไรขาดทุนเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาที่ซื้อหรือขายฟิวเจอร์สไว้ และราคาที่ใช้ชำระราคาวันสุดท้าย ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรรู้จักระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ก่อนตัดสินใจลงทุน และควรติดตามสถานะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ
Gold Futures
Gold Futures (โกลด์ฟิวเจอร์ส) หรือ สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า เป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ทำกำไรได้ตามความคาดการณ์ที่มีต่อราคาทองคำได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้นและราคาทองขาลง ด้วยคุณลักษณะเด่นที่สามารถซื้อก่อนขายหรือขายก่อนซื้อก็ได้ และใช้เงินลงทุนน้อยประกอบกับราคาทองคำมีการเคลื่อนไหวที่ไม่สัมพันธ์กับราคาหุ้น โกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการทำกำไรและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุน ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก ผ่านระบบซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดอนุพันธ์ (TFEX ) โดยมีบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) เป็นผู้ประกันการชำระราคาจากการซื้อขาย และมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานของ ตลาดอนุพันธ์และบริษัทสมาชิก ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าในทุก ๆ การซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้
กำไรสองทาง ทั้งทองขึ้นทองลง
โกลด์ฟิวเจอร์สช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับผู้ลงทุน ทําให้สามารถซื้อขายทำกำไรได้ทั้งในภาวะราคาทองขาขึ้น และราคาทองขาลง โดยในการซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะไม่มีการส่งมอบทองคำจริงระหว่างคู่สัญญา แต่ใช้วิธีจ่ายชำระเงินตามส่วนต่างกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น เรียกว่า “การชำระราคาเป็นเงินสด” (Cash settlement) ผู้ลงทุนสามารถ “ ซื้อก่อนขาย” หรือ “ขายก่อนซื้อ” ก็ได้ โดยกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจะเท่ากับส่วนต่างระหว่างราคาขายและราคาที่ซื้อเอาไว้ เช่น หากผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ก็สามารถซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ก่อน และเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้น ก็สามารถขายโกลด์ฟิวเจอร์สในภายหลัง ทำให้ได้กำไรเท่ากับส่วนต่างของราคาซื้อและขาย หรือในกรณีที่ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองจะปรับตัวลดลง ก็สามารถสั่งขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้เลย แม้ว่าไม่เคยซื้อ โกลด์ฟิวเจอร์สมาก่อน และเมื่อราคาทองปรับตัวลดลง ก็ค่อยซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สในภายหลัง ทำให้ได้กำไรตามส่วนต่างของราคาขายและราคาซื้อ
ทุกภาวะตลาด ทุกความคาดการณ์ คือโอกาสทำกำไร
การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส คือ การซื้อขายทองคำล่วงหน้า ราคาของโกลด์ฟิวเจอร์สจึงเป็นราคาทองที่ผู้ลงทุนคาดการณ์ในอนาคต จึงอาจจะแตกต่างจาก ราคาทองที่มีการซื้อขายและส่งมอบกันในปัจจุบัน (Gold Spot Price) ความคาดการณ์ราคาทองที่แตกต่างกันนี้ คือ โอกาสในการซื้อขายเพื่อทำกำไรจากโกลด์ฟิวเจอร์ส เช่น ในภาวะทองราคาขึ้น ราคาทองในปัจจุบันอาจอยู่ที่ 15,000 บาท แต่ราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดในอีก 6 เดือนข้างหน้า อาจซื้อขายอยู่ที่ 15,500 บาท สำหรับผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สไว้ ก็คือ ผู้ที่คาดว่าราคาทองคำในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะสูงกว่า 15,500 บาท จึงซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สโดยหวัง ส่วนต่างราคาในกรณีที่ทองคำปรับตัวสูงขึ้น สำหรับผู้ขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ก็คือ ผู้ที่คาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 15,500 บาท ในอีก 6 เดือนข้างหน้าและรอซื้อกลับเมื่อราคาถูกลง ราคาซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สจะปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนซื้อขายทำกำไรได้ตามความคาดการณ์
กำไรเหนือกว่า ด้วยต้นทุนต่ำกว่า
การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สต่างจากการซื้อขายหุ้น และซื้อขายทองคำ ตรงที่โกลด์ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ลงทุนจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ทั้งจำนวน ผู้ลงทุนแค่เพียงวางเงินส่วนหนึ่งซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 ใน 10 ของมูลค่าสัญญาทั้งจำนวน ไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ก่อนส่งคำสั่งซื้อขายเพื่อเป็นเงินมัดจำ เรียกว่า เงินหลักประกันขั้นต้น (Initial Margin) ซึ่งการซื้อขายที่ใช้เงินลงทุนน้อยนี้ ทำให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้อัตราผลตอบแทนสูงเมื่อเทียบกับเงินทุน เช่น ผู้ลงทุนคาดว่าราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จึงลงทุนซื้อทองคำน้ำหนัก 50 บาท ที่ราคาบาทละ 14,000 บาท เพื่อเก็งกำไร โดยต้องใช้เงินทุนซื้อทองทั้งหมดรวม 700,000 บาท แต่หากผู้ลงทุนซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส จะใช้เงินทุนเพื่อวางเป็นหลักประกันขั้นต้นประมาณ 50,000 บาท (โบรกเกอร์จะเป็นผู้กำหนด) ซึ่งหากราคาทองคำสูงขึ้นจริง ผู้ลงทุนที่ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สก็มีโอกาสได้รับอัตราผลกำไรสูงกว่าการซื้อทองคำ
ในกรณีราคาทองขาลง ผู้ลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากทองคำและมีทองคำอยู่ในมืออยู่แล้ว ก็สามารถเร่งขายทองคำในช่วงที่ราคาทองยังสูง และค่อยซื้อทองคำกลับคืนหลังจากราคาทองปรับตัวลดลง แต่สำหรับ ผู้ที่ไม่มีทองคำอยู่ในมือก็จะไม่สามารถใช้วิธีนี้สร้างทำกำไรได้ โกลด์ฟิวเจอร์สช่วยเพิ่มโอกาสทำกำไรโดยใช้ต้นทุนต่ำได้ เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถวางเงินแค่หลักประกันขั้นต้น ก็สามารถทำการขายโกลด์ฟิวเจอร์สก่อน เพื่อทำกำไรในตลาดขาลง
เพิ่มทางเลือก กระจายการลงทุน
ราคาซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส มาจากความคาดการณ์ราคาทองคำในอนาคตของผู้ลงทุน แม้ว่าจะไม่ใช่ราคาเดียวกับราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบในปัจจุบัน แต่ก็มีการเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยผลจากการศึกษาทางสถิติ (ข้อมูลในช่วง ก.พ. 2541 – มิ.ย. 2550) พบว่า ราคาทองคำมีทิศทางการ เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับหลักทรัพย์ชนิดอื่น ๆ โดยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือนพบว่าทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ติดลบสูงสุดเท่ากับ -0.24 และเมื่อเทียบกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index ) ทองคำมีค่าสหสัมพันธ์ติดลบเท่ากับ -0.09 โกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการกระจายการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีพอร์ตการลงทุนในหุ้นอยู่ นอกจากนี้ ราคาทองคำยังมักเคลื่อนไหวในทิศทาง เดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคและราคาน้ำมัน การซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกใน การกระจายการลงทุนที่เรียกว่า การลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จากภาวะเงินเฟ้อได้ (Inflation Hedge)
ซื้อขายง่าย สภาพคล่องสูง ราคาโปร่งใส
การซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สตามความคาดการณ์ได้ตลอดเวลาทำการของ TFEX เพียงแค่ โทรศัพท์สั่งซื้อขายผ่านโบรกเกอร์อนุพันธ์ที่มีสาขารวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ หรืออาจใช้วิธีส่งคำสั่งซื้อขายด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่โบรกเกอร์ อนุพันธ์ให้บริการ จากนั้นโบรกเกอร์อนุพันธ์จะเป็นตัวแทนส่งคำสั่งซื้อขายของผู้ลงทุนเข้ามาในระบบการซื้อขายอิเล็กทรอนิกส์ของ TFEX เพื่อรอจับคู่คำสั่งกับผู้ลงทุนอีกฝั่งหนึ่ง ดังนั้น การเดินทางจึงไม่ใช่อุปสรรคของการซื้อขายอีกต่อไป ผู้ลงทุนจึงสามารถซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์สได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว นอกจากนี้ การซื้อขายใน TFEX ยังมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถติดตามการเคลื่อนไหวของราคาโกลด์ฟิวเจอร์สได้ตลอดเวลาจากหลากหลายช่องทาง ทั้งทางเว็บไซต์ โทรทัศน์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และช่องทางอื่น ๆ ที่บริษัทสมาชิกเปิดให้บริการ ทำผู้ลงทุนให้มีโอกาสในการทำกำไรได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ
เชื่อถือได้ ทุกครั้งที่ซื้อขาย
บริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX เป็นศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้รับการจัดตั้งอย่างเป็นทางการภายใต้ พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุน และดูแลการซื้อขายให้ถูกต้อง โปร่งใส และยุติธรรม นอกจากนี้ ทุกๆ การซื้อขายใน TFEX จะมี บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด (TCH) ทำหน้าที่รับประกันการจ่ายชำระเงินระหว่างคู่สัญญา หากคู่สัญญาฝ่ายที่ขาดทุนบิดพลิ้วไม่ยอมจ่ายชำระเงินให้ฝ่ายที่ได้กำไร สำนักหักบัญชีก็จะค้ำประกันการจ่ายชำระเงินนั้นให้ก่อน ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าหากได้กำไรจากการซื้อขายก็จะได้รับเงินส่วนกำไรนั้นอย่างแน่นอน
สำหรับการกำกับดูแลนั้น คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานสำคัญที่คอยดูแลการดำเนินงานของ TFEX และโบรกเกอร์อนุพันธ์เพื่อให้การซื้อขายโปร่งใสและเชื่อถือได้ ผู้ลงทุนจึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถซื้อขายในราคาที่เป็นธรรม
ปรับยอดเงินทุกวัน กลไกสำคัญในการช่วยติดตามสถานะการซื้อขาย
ผู้ลงทุนที่มีสถานะซื้อหรือสถานะขายโกลด์ฟิวเจอร์สอยู่ จะได้รับปรับยอดเงินในบัญชีหลักประกันให้ทุกสิ้นวัน แม้ว่าจะยังถือสัญญาไว้ก็ตาม โดยในการ ซื้อขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ผู้ลงทุนจะต้องวางเงินหลักประกันขั้นต้น ( Initial Margin) ไว้กับโบรกเกอร์อนุพันธ์ก่อนส่งคำสั่งซื้อขาย และเมื่อซื้อหรือขายโกลด์ฟิวเจอร์ส ไปแล้ว ทุกสิ้นวันโบรกเกอร์จะปรับยอดเงินในบัญชีของผู้ลงทุน โดยจะคำนวณว่าในวันนั้นๆ ผู้ลงทุนได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร และจะนำยอดกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้น มารวมกับเงินในบัญชีของผู้ลงทุน เช่น หากผู้ลงทุนได้กำไร ก็จะได้รับโอนเงินส่วนกำไรจากคู่สัญญาฝ่ายที่ขาดทุนเข้ามารวมในบัญชีหลักประกัน โดยในทางกลับกัน หากผู้ลงทุนขาดทุน ก็จะถูกโอนเงินส่วนขาดทุนออกจากบัญชีหลักประกันไปให้คู่สัญญาฝ่ายที่ได้กำไรเช่นกัน
ในกรณีที่ผู้ลงทุนขาดทุนจนทำให้เงินในบัญชีที่วางไว้ลดลงจนต่ำกว่าระดับหลักประกันที่โบรกเกอร์กำหนด หรือที่เรียกว่า หลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) โบรกเกอร์ก็จะเรียกให้ผู้ลงทุนนำเงินมาวางเพิ่มเติม (Margin Call) ให้ระดับเงินในบัญชีกลับไปอยู่ที่ระดับหลักประกันขั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง การคำนวณกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันนี้ เรียกว่า Mark to Market ซึ่งเป็น กลไกสำคัญที่ช่วยผู้ลงทุนในการติดตามสถานะการซื้อขายของตน หากเกิดภาวะขาดทุน ก็สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การซื้อขายได้อย่างทันท่วงที
ตัวอย่างการซื้อขาย
หากปัจจุบันคือวันที่ 1 มีนาคม 2552 ราคาทองคำที่ซื้อขายและส่งมอบในปัจจุบันอยู่ที่บาทละ 14,000 บาท นาย A คาดว่าอีก 2 เดือนข้างหน้า ราคาทองจะปรับขึ้นเป็น 14,500 บาท จึงเข้าไปตรวจสอบราคาโกลด์ฟิวเจอร์สและพบว่าราคาโกลด์ฟิวเจอร์สที่ครบกำหนดปลายเดือนเมษายน 2552 พบว่าซื้อขายอยู่ที่ 14,300 บาท
ในมุมมองของนาย A คิดว่าราคาโกลด์ฟิวเจอร์สต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงตัดสินใจซื้อโกลด์ฟิวเจอร์สครบกำหนดเดือนเมษายน ที่ราคา 14,300 บาท สมมติให้โบรกเกอร์กำหนดระดับหลักประกันขั้นต้นที่ 50,000 บาทต่อสัญญา และหลักประกันรักษาสภาพที่ 35,000 บาทต่อสัญญา (ในทางปฏิบัติระดับเงิน ประกันจะเปลี่ยนแปลงไปตามความผันผวน ของภาวะตลาด)
อ้างอิงจาก:
+ วันที่ 1 มี.ค.
ในวันที่ 1 นาย A ซื้อโกลด์ฟิวเจอร์ส ที่ 14,300 บาท จำนวน 1 สัญญา พอสิ้นวัน โบรกเกอร์คำนวณกำไรขาดทุนในบัญชีของนาย A โดยใช้ราคาที่ใช้ชำระราคา (Settlement Price ) ซึ่งสำนักหักบัญชีจะประกาศให้ทราบทุกสิ้นวัน เท่ากับ 14,380 บาท นาย A จึงได้กำไรคิดเป็นเงิน 4,000 บาท (14,380 - 14,300 ) x 50 (โกลด์ฟิวเจอร์ส 1 สัญญา มีมูลค่าเท่ากับทองคำน้ำหนัก 50 บาท) ดังนั้น โบรกเกอร์ก็จะโอนเงินกำไรนี้เข้าบัญชีของนาย A
ทำให้ยอดเงินในบัญชี ของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 4,000 = 54,000 บาท
อ้างอิงจาก:
+ วันที่ 2 มี.ค.
ในวันที่ 2 ราคา ณ สิ้นวัน เท่ากับ 14,100 บาท นาย A จึงขาดทุน ( 14,100 – 14 ,380) x 50 = -14,000 บาท เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โบรกเกอร์จึง โอนเงินออกจากบัญชีของนาย A
ทำให้เงินประกันของนาย A ลดลงเหลือ 54,000 - 14,000 บาท = 40,000 บาท
อ้างอิงจาก:
+ วันที่ 3 มี.ค.
ในวันที่ 3 ราคา ณ สิ้นวัน เท่ากับ 13,940 บาท นาย A จึงขาดทุน (13,940 – 14,100) x 50 = - 8,000 บาท เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โบรกเกอร์จึงโอนเงินออกจากบัญชีของนาย A
ทำให้เงินประกันของนาย A ลดลงเหลือ 40,000 - 8,000 = 32,000 บาท
ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ ที่โบรกเกอร์กำหนดไว้ (ที่ระดับ35,000 บาท) นาย A จึงต้องนำเงินไปวางในบัญชีเพิ่มให้เงินกลับไปที่ระดับ หลักประกันขั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง ( ที่ระดับ 50,000 บาท)
ดังนั้น นาย A ต้องวางเงินเพิ่ม 50,000 – 32,000 = 18,000 บาท
อ้างอิงจาก:
+ วันที่ 4 มี.ค.
นาย A นำเงินไปวางในบัญชีเพิ่มเติม 18,000 บาท และพอสิ้นวัน ราคาที่ใช้ชำระราคาเท่ากับ 14,100 ทำให้ นาย A ได้กำไร (14,100 - 13,940 ) x 50 = 8,000 บาท
ทำให้ยอดเงินในบัญชีของนาย A เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 + 8,000 = 58,000 บาท
อ้างอิงจาก:
+ วันที่ 5 มี.ค.
นาย A มีความคาดการณ์เปลี่ยนไป และต้องการปิดสถานะของสัญญา จึงส่งคำสั่งขายโกลด์ฟิวเจอร์สที่ราคา 14,200 บาท นาย A จึงได้กำไรเพิ่มขึ้นจาก วันก่อนหน้า (14,200 - 14,100) x 50 = 5,000 บาท และได้เงินคืนรวมทั้งหมด 58,000 + 5,000 = 63,000 บาท
กำไร / ขาดทุนที่เกิดขึ้น
จากตัวอย่างข้างต้น นาย A ขาดทุนทั้งสิ้น = ราคาขาย - ราคาซื้อ
= (14,200 - 14,300) x 50
= - 5,000 บาท
จะเห็นว่ามีค่าเท่ากับเงินกำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการ Mark to Market ในแต่ละวัน คือ 4,000 - 14,000 - 8,000 + 8,000 + 5,000 = - 5,000 (สำหรับเงินจำนวน 18,000 บาท ที่ นาย A ถูกเรียกมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม ไม่ใช่เงินส่วนกำไรขาดทุน จึงไม่นำมารวม) ดังนั้นการปรับกำไรขาดทุนทุกสิ้นวันเป็นเสมือน กระบวนการที่นำกำไรขาดทุนทั้งก้อนมาแบ่งทยอยรับ ทยอยจ่ายในแต่ละวัน เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสติดตามสถานะและประเมินผลกำไรขาดทุนของตนที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
ในกรณีที่ นาย A ไม่ต้องการปิดสถานะก่อนสัญญาครบกำหนดอายุ นาย A สามารถถือสัญญาไปจนสัญญาหมดอายุลง ซึ่งโบรกเกอร์ก็จะคำนวณกำไร ขาดทุนให้ นาย A ทุกวัน จนเมื่อถึงวันครบอายุสัญญา สัญญาก็จะปิดโดยอัตโนมัติ
อ้างอิงจาก:
นาย A จะได้กำไรขาดทุน = (ราคาที่ใช้ชำระราคาวันสุดท้าย - ราคาที่ซื้อไว้) x 50
โดย นาย A ก็จะได้รับเงินที่วางไว้กับโบรกเกอร์คืนทั้งก้อน
http://www.goldhips.com/board/viewtopic.php?t=1021.