หนี้อ่วมท่วมคนไทย วิกฤติสะสม “ถอน – จ่าย – รูด – กู้” !
-http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000134888-
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน
4 พฤศจิกายน 2555 20:59 น.
เสียบบัตรเข้าตู้ เงินสดก็ออกมา ชีวิตมีความสุข นั่นคือสิ่งที่เกิดในโฆษณาส่งเสริมสินเชื่อมากมาย หากทว่าความจริงกลับไม่เป็นแบบนั้น เมื่อความสุขในตอบจบของโฆษณาเหล่านั้น แท้จริงแล้วกลับเป็นความทุกข์ใหญ่หลวงที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ในรูปแบบของนรกอันไม่มีที่สิ้นสุดของการเป็นหนี้!
มาถึงตอนนี้เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปน.) ออกรายการถึงแนวโน้นการค้างชำระหนี้ของภาคครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 สูงขึ้ยอย่างน่าเป็นห่วง
พร้อมหลายฝ่ายด้านเศรษฐกิจออกมาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัญหาหนี้ในประเทศไทยว่า กำลังเดินไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเข้าไปทุกที
วัฒนธรรมซื้อเงินผ่อนที่นำเงินในกระเป๋าจากอนาคตของผู้บริโภคออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมีมากขึ้น จนวัฒนธรรม “ออมก่อนซื้อ” กลายเป็น “ซื้อก่อนออม”
การส่งเสริมการค้าขายที่ป่าวประกาศกันว่า “เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน” นั้นเร่งเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั่ง หากแต่มันจะส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นจริงหรือ? ไลฟ์สไตล์ชีวิตติดหนี้ของคนรุ่นใหม่นั้นส่งผลต่อภาพอนาคตอย่างไร? หลายคำถามบนวิถีปากท้องถูกถามไถ่ และต้องการคำตอบชัดเจนในเร็ววันนี้...เพราะดูเหมือนว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ระหว่างเส้นทางเศรษฐกิจที่มุ่งไปสู่ความวิกฤติเข้าไปทุกที
“กับดักหนี้ “ นรกแห่งการชำระหนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
นานมาแล้ววังวนชีวิตของคนเป็นหนี้นั้นต้องอยู่กับการใช้หนี้ที่ไม่วันจบสิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นชนชั้นล่าง อาจมาจากการกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยโหด ทว่าในปัจจุบันกลุ่มคนเป็นหนี้นั้นมีมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้มีการศึกษาหรือชนชั้นกลาง
เมื่อสินเชื่อขออนุมัติง่าย ได้เงินเร็ว ทันใจการบริโภค ถูกขับเคลื่อนด้วยสินค้ากระแสแรง ไม่ว่าจะเป็นมือถือ, แท็ปเล็ป ไม่เว้นแม้แต่แพกเกจทัวร์ก็มีให้ซื้อขายกันแบบผ่อนชำระ สิ่งเหล่านี้มาพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจที่ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นทุกที จึงไม่แปลกที่จะส่งผลให้คนยุคใหม่มีไลฟ์สไตล์ชีวิตแบบติดหนี้ ทำให้วัฒนธรรมออมก่อนใช้ กลายเป็นใช้ก่อนออม
ไพโรจ โคสุพัฒน์ หนึ่งในกรรมการชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เอ่ยถึงสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันว่า ตอนนี้การเป็นหนี้ของคนในประเทศอยู่ในขั้นวิกฤติ ทั้งจำนวนที่มากขึ้น และการชำระหนี้ที่พบกับความยากลำบากของกับดักหนี้ที่ดอกเบี้ยผุดงอกจากเงินต้นเสียจนหลายต่อหลายราย ต้องพบกับภาวะหนี้ทับเงินเดือน ชนิดที่ว่า พอเงินออกต้นเดือนก็ชำระหนี้หมดเสียแล้ว ทำให้ต้องไปกู้วงเงินใหม่เพื่อมาใช้ดำรงชีวิต เป็นหนี้ทับหนี้พอกพูนไปไม่มีวันจบ และจะยิ่งทวีดอกเบี้ยค้างชำระขึ้นเรื่อยๆ
“หลายคนมีการศึกษานะ มีเงินเดือนหมื่นเก้าแล้ว แต่ยังเป็นหนี้ทั้งที่เงินเดือนขนาดนี้มันควรจะมีเงินเก็บสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้ แต่กลับต้องเอาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย จ่ายหนี้ต่างๆ บางคนก็มีตำแหน่งที่เขาไม่สามารถที่จะเสียเครดิตได้ เขาก็ต้องไปกู้วงเงินที่อื่นมาแปะเป็นหนี้ซ้ำซ้อน”
โดยการเป็นหนี้นั้น ไพโรจตั้งข้อสังเกตจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหนี้หลายคนพบว่า โดยมากนั้นแรกเริ่มของการเป็นหนี้จะเริ่มเมื่อคนเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน เริ่มมีเงินเดือน สถาบันการเงินหรือบริษัทที่ทำงานด้านสินเชื่อจะมายื่นข้อเสนอให้ทำบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อมีการชำระเงินไม่ทัน หรือหากเป็นบัตรเงินสดก็จะมีค่าธรรมเนียมกดเงินสดเพิ่มขึ้นมาอีก 3 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นกับดักหนี้ที่ผู้ก่อหนี้มองไม่เห็นจำนวนเงินตั้งแต่คราวแรก
“บางครั้งก็เขียนไว้สวยๆ ว่า ค่าใช้จ่ายอันควรแก่เหตุ ซึ่งมันก็เป็นค่าใช้จ่ายที่กลายเป็นหนี้เหมือนกัน ตอนนี้หนี้ส่วนบุคคลก็รวมไปถึงพวกธุรกิจขนาดย่อมด้วย เพราะไม่มีความรู้ทางด้านการเงิน เมื่อธนาคารใช้คำว่า อัตราดอกเบี้ยคงที่ แม้ว่าจะดอกเบี้ยน้อย แต่เมื่อคำนวณออกมาแล้ว ดอกเบี้ยเงินรวมจะมากกว่า”
คดีในชั้นศาลที่ฟ้องร้องเรื่องหนี้สินตอนนี้มีอยู่เยอะมาก ไพโรจน์เผยว่า มากจนตอนนี้ศาลต้องเปิดในวันเสาร์เพื่อพิจารณาคดีประเภทนี้ และเมื่อถามถึงการทวงหนี้ก็มีการละเมิดเป็นเรื่องปกติ โดยความรุนแรงนั้นหนี้นอกระบบหรือในระบบก็เหมือนกัน จากที่บริษัทด้านการเงินในระบบจ้างบริษัทรับทวงหนี้เหมือนกับเจ้าหนี้นอกระบบ
“การโทร.มาข่มขู่ ละเมิดมันก็มีอยู่แล้ว มีหลายครั้งโทร.เข้ามือถือครั้งหนึ่ง ยังไม่ทันรับก็ตัดสายไปก่อนจะโทร.เข้ามาที่บริษัท แล้วก็คิดเป็นค่าทวงหนี้ กลายเป็นหนี้เพิ่มอีกชั้นหนึ่ง”
มาถึงตรงนี้สิ่งที่ไพโรจมองในมุมของคนเป็นหนี้จึงเป็นการที่รัฐบาลไม่มีระบบที่รัดกุมในการปกป้องผู้เป็นหนี้ การให้คิดค่าบริการต่างๆ พร้อมทั้งการให้มีดอกเบี้ยที่สูง
“คนกลุ่มนี้รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือด้วย แต่ที่ผ่านมานั้นมีแต่การให้เพิ่มดอกเบี้ยได้ มีการอนุญาตให้เปิดกิจการเกี่ยวกับการเงินได้มากขึ้น ไม่มีการควบคุม ที่ผ่านมานั้นจึงไม่มีมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้เลย ซึ่งทุกวันนี้ก็เดือดร้อนมาก อยากให้มีการลดดอกเบี้ย กำหนดเพดานดอกเบี้ย ไม่อย่างนั้น ใช้หนี้ทั้งชาติก็ไม่มีวันหมด”
คิดก่อนใช้อย่างถี่ถ้วนที่สุด
ปัจจัยการทำให้สถานการณ์หนี้เดินมาถึงขั้นวิกฤติเกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยข้อมูลที่บอกถึงแนวโน้นสู่วิกฤตินั้น ดร.เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เผยถึงตัวเลขที่น่าสนใจว่า ตั้งแต่ปี 43-52 หนี้สินครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 52 นั้นมีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1 หมื่น 4 แสนบาทต่อครัวเรือน ซึ่งคำนวณตามแนวโน้มที่ควรจะเป็นแล้ว หนี้สินครัวเรือนในปี 54 ควรจะเท่ากับ 1 หมื่น 6 แสนบาท แต่ทว่าผลสำรวจกลับแสดงตัวเลขก้าวกระโดดไปถึง 2 แสน 4 หมื่นบาท !!
“มากกว่าแนวโน้มก่อนหน้านี้ถึง 50-60 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในช่วงนี้แน่นอน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าจะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายปีด้วย”
ตัวเลขอีกตัวที่น่าสนใจคือรายได้กับรายจ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้คนมีอัตรารายได้สูงกว่ารายจ่าย ส่วนนี้ในทางจิตวิทยาแล้ว เมื่อผู้บริโภคมีรายได้มากกว่ารายจ่ายติดกันระยะหนึ่ง จะทำให้มีความมั่นใจว่าสามารถก่อหนี้ได้
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งของบริษัทการเงิน ดร.เกียรติอนันท์ก็เผยว่า ตลาดหนี้ระดับสูงที่เป็นหนี้นำไปประกอบธุรกิจนั้นเริ่มอิ่มตัว ทำให้ธนาคารหรือบริษัทด้านการเงินจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งก็คือกลุ่มผู้เป็นหนี้รายย่อยในปัจจุบันนั่นเอง ทำให้เกิดบัตรเครดิตมากมายหลายรูปแบบขึ้นมา สังเกตได้จากแนวโน้มในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินพยายามจะสร้างหนี้ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยมากกว่าที่มีรายได้เยอะ
“เราจะเห็นว่าด้านหนึ่งคนไทยรู้สึกว่าสามารถจะกู้ได้ ขณะที่อีกด้านสถาบันการเงินก็ตอบสนองข้อนี้ด้วยการให้วงเงินสินเชื่อที่กู้ง่าย จ่ายน้อย ผ่อนนาน แต่ดอกเบี้ยสูง ตอนนี้เราเห็นแล้วว่า คนซื้อก็อยากจะสร้างหนี้ คนที่พร้อมจะให้เงินก็อยากจะให้เงิน มันกลายเป็นข้อตกลงกันซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แม้แต่ในประเทศอื่นที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา โครงสร้างการก่อหนี้แบบนี้ เมื่อคนมีรายได้มากขึ้น หนี้เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องปกติ”
แต่สิ่งที่น่ากลัว ดร.เกียรติอนันท์เผยถึงข้อสังเกตว่า สัดส่วนหนี้ที่คนกู้มาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ใน 3 คือการกู้เพื่อซื้อบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรจะเป็น แต่ทว่าอีก 1 ใน 3 ของการกู้นั้นคนกลับนำไปใช้อุปโภคบริโภค คือการซื้อของ ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือเอาไปผ่อนสิ่งฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่นมือถือ หรือแพกเกจทัวร์ และมีเพียง 2.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่นำไปลงทุนด้านการศึกษา
“มันชี้ให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของหนี้ มันลงไปในส่วนที่ไม่เกิดผลประโยชน์ระยะยาวของคนที่เป็นหนี้ มันเป็นการใช้จ่ายเพื่อตอบสนองความสุขความต้องการชั่วคราวเท่านั้น ตามหลักพื้นฐานทางการบริหารจัดการเงินส่วนบุคคล คนที่มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ไม่ควรจะมีหนี้ผ่อนชำระเกิน 8 - 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้”
ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันคือหลายคนที่มีเงินเดือนอยู่ที่หมื่นต้นๆ กลับผ่อนโทรศัพท์ที่ส่วนมากจะผ่อนได้นาน 10 เดือนที่มีราคาสูงถึง 2 หมื่นบาท ทำให้ต้องผ่อนเดือนละ 2000 บาทซึ่งมากกว่าตัวเลขที่ควรจะเป็นที่ 1000 บาทถึง 2 เท่า
“แล้วโทรศัพท์พวกนี้ไม่ได้ช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้เขาได้เลย มันเป็นการตอบสนองความต้องการระยะสั้น มันสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของคนไทยโดยรวมว่า เริ่มใช้จ่ายเกินตัวและเริ่มสร้างหนี้ในส่วนที่ไม่เกิดผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งวันหนึ่งปัญหาพวกนี้มันจะปะทุขึ้นมา และมันจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้มาก”
ข้อสังเกตอีกอย่างคือ ตอนนี้คนที่มีรายได้น้อยมักเช่าคอนโดฯ อพาร์ตเมนต์อยู่อาศัย แทนที่จะลงทุนซื้อบ้าน ในด้านของจิตวิทยาผู้บริโภค เมื่อผู้บริโภคไม่มีรายได้พอจะสร้างความมั่นคงระยะยาว ก็จะมองอะไรเป็นระยะสั้นไปทั้งหมด ในระยะยาวมันส่งผลต่อโครงสร้างคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนไทย และจะส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างแน่นอน
“ตอนนี้เราก่อหนี้โดยมีสมมติฐานว่าเศรษฐกิจเราจะไปได้ แต่มันจะกลายเป็นระเบิดเวลาครั้งใหญ่ เพราะเศรษฐกิจไทยตอนนี้สัญญาณเศรษฐกิจมหภาคไม่ดีอยู่แล้ว ยอดส่งออกที่ต่ำกว่าเป้า เศรษฐกิจโลกที่คลุมเครือ มันเป็นสัญญาณกว้างระดับโลกที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในความเสี่ยง ตอนนี้คนกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางก็สร้างหนี้เยอะขึ้น และเป็นหนี้ที่ไม่ได้สร้างความมั่นคงในชีวิต หากเกิดเศรษฐกิจตกต่ำขึ้นมาในช่วง 2 - 5 ปีข้างหน้า คนกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบเยอะที่สุด ภาพวิกฤติในปี 40 จะกลับมา และมาพร้อมภาระหนี้สินส่วนบุคคลที่สูงกว่าเมื่อ 15 ปีก่อน”
ว่าง่ายๆ คือยุ่งแน่ ทว่าสิ่งที่ทำได้ก่อนวิกฤติมาถึงนั้นไม่ยาก แม้ในมุมของลูกหนี้การชำระหนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่าย ในมุมกลับการก่อหนี้ก็ไม่เกิดจากการถูกบังคับ แต่เกิดจากผู้เป็นหนี้สร้างหนี้ให้กับตัวเอง รายละเอียดของความรู้ในการกู้เงิน หรือระเบียบวินัยทางการเงิน เป็นที่ทุกคนต้องรู้ และพึงตระหนักก่อนตัดสินใจสร้างหนี้สิน
“ถ้าธนาคารเลือกที่จะทำให้มันเข้าใจยากมันก็จะยาก แต่คนเราจะก่อหนี้ทั้งที มันต้องคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ ทีเวลาซื้อบ้าน เราดูสัญญา เรากู้เงินไปซื้อรถเราคิดหนัก จริงแล้วเราต้องใช้มาตรฐานเดียวกับตอนที่เรากู้ระยะสั้น ประกอบกับดอกเบี้ยที่สูง ยิ่งต้องบอกว่า การกู้หนี้ระยะสั้น ต้องกู้ไปเพื่อให้มันคุ้มค่าจริงๆ”
การเป็นหนี้นั้นผู้ก่อหนี้ก็มีส่วนผิดแม้ว่าบริษัทการเงินจะปล่อยสินเชื่อง่ายและคิดดอกเบี้ยสูงเพียงใดก็ตาม แต่หลายกรณีของผู้ก่อหนี้ก็มาจากเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ กลุ่มคนรายได้น้อยที่มีปัญหากับค่าครองชีพถือเป็นกรณีที่ต้องแก้ไข
“กลุ่มแรกนั้นเราคงต้องเตือนสติเขาไม่ให้ก่อหนี้โดยไม่จำเป็น ซึ่งก็ทำได้แค่นั้น เขายินยอมเป็นหนี้เอง ตรงนั้นเราช่วยไม่ได้ แต่อีกกลุ่มที่เป็นผู้มีรายได้น้อย และต้องกู้เงินมาใช้ในยามวิกฤติจริงๆ นั้น แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากความจนซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นก็จำเป็นต้องมีการศึกษาถึงรากเหง้าของความจน เพื่อแก้ไขปัญหาตามกลุ่มคนจนที่มีอยู่ เช่น กลุ่มคนงานก่อสร้างอายุ 40 ก็ต้องใช้วิธีแก้ไขความจนต่างจากชาวไร่อายุ 40”
การระมัดระวังในเรื่องของการใช้จ่ายเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยุคที่อะไรก็ต่อมิอะไรก็สามารถจับจ่ายมาได้โดยไม่ต้องใช้เงินที่อยู่ในกระเป๋า เพียงรูดบัตร หรือเอาเงินมาจากอนาคตเพื่อจับจ่ายในสิ่งที่ต้องการ อีกทั้งสิ่งของที่หลอกล่อให้อยากมีอยากได้ก็มากล้น คำถามของการใช้เงินหากฐานะทางการเงินยังไม่มั่นคงพอก็คือ เงินที่ใช้ไปนั้นคุ้มค่าหรือเปล่า มันสร้างรายได้หรือเปล่า ถ้ามันเป็นความสุขระยะสั้น ใช้จ่ายได้บ้างแต่อย่าให้เกินตัว และพึ่งระลึกไว้เสมอว่า เมื่อใดก็ตามที่คุณเลือกจะตอบสนองอารมณ์ชั่ววูบด้วยการเอาเงินในอนาคตมาใช้...วันหนึ่งอนาคตจะไล่ทันคุณ!
.