พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
19975.พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
ประวัติและปฏิปทา
พระธรรมธีรราชมหามุนี
(โชดก ญาณสิทฺธิ)
วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กทม.
๏ ชาติภูมิ
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) มีนามเดิมว่า “หนูค้าย นามโสม” ภายหลังท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ) แห่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “โชดก” เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๑ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ณ บ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
โยมบิดาชื่อ “นายเหล้า นามโสม” โยมมารดาชื่อ “นางน้อย นามโสม” มีพี่น้องร่วมตระกูลทั้งหมดรวม ๑๐ คน เป็นพี่สาว ๘ คน และน้องชาย ๑ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ คุณปู่ของท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน ชื่อขุนวงษ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านติดต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย มีฐานะความเป็นอยู่ดี ส่วนโยมบิดาของท่านเป็นชาวนา แต่มีความรู้พิเศษเป็นหมอชาวบ้าน-ช่างไม้-ช่างเหล็ก ประจำหมู่บ้าน
๏ การศึกษาเบื้องต้น
พ.ศ. ๒๔๗๒ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี
๏ การบรรพชาและอุปสมบท
วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เมื่ออายุ ๑๕ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโพธิ์กลาง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยมีพระครูเลิ่ง เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กลาง เป็นพระอุปัชฌาย์ และย้ายไปเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดกลาง ในตัวเมืองขอนแก่น สอบนักธรรมตรีได้จากวัดนี้ และย้ายไปอยู่วัดยอดแก้ว ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเรียนนักธรรมชั้นโทและบาลีมูลกัจจายน์ และสอบนักธรรมชั้นโทได้
พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยครั้งแรกได้อยู่ที่วัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ สอบ ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔ และนักธรรมชั้นเอกได้ในสำนักนี้
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ)
พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้ย้ายมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ โดยขุนวจีสุนทรรักษ์เป็นผู้นำมาฝาก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถระ) ขณะดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “พระพิมลธรรม” ได้เมตตารับไว้ให้พำนักอยู่คณะ ๑ วัดมหาธาตุฯ
๏ วุฒิการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๗ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ณ สำนักเรียนวัดโพธิ์กลาง ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๗๘ สอบได้นักธรรมชั้นโท ณ สำนักเรียนวัดกลาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๑ สอบได้นักธรรมชั้นเอก, ป.ธ. ๓-ป.ธ. ๔ ณ สำนักเรียนวัดเทพธิดาราม แขวงสำราญราษฏร์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ
พ.ศ. ๒๔๘๒-๒๔๙๔ สอบได้ ป.ธ. ๕-ป.ธ. ๙ ณ สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ในสมัยสอบ ป.ธ. ๙ ได้เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๙๔ นับเป็นผู้สอบได้เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
พ.ศ. ๒๔๘๖-๒๔๙๒ ไปปฏิบัติศาสนกิจ ณ จังหวัดขอนแก่น โดยครั้งแรกเปิดสอนพระปริยัติธรรม ทั้งแผนกนักธรรม-บาลี ที่วัดสว่างวิทยา อำเภอเมือง ประมาณ ๑ ปี แล้วย้ายมาอยู่วัดศรีนวล ในเขตเทศบาลเมืองขอนแก่น ปรากฏว่าได้ส่งเสริมการศึกษาในสำนักพระปริยัติธรรมแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีพระภิกษุสามเณรสอบนักธรรมและบาลีได้มากทุกปี ต่อมาท่านได้ลาออกจากตำแหน่งสาธารณูปการจังหวัด เพื่อกลับมาอยู่วัดมหาธาตุฯ สำนักเดิม
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ)
๏ การปฏิบัติศาสนกิจ
พ.ศ. ๒๔๙๓ ย้ายกลับเข้ามาอยู่วัดมหาธาตุฯ ในสมัยท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “พระพิมลธรรม” เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้อยู่ที่คณะ ๕ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ และประจำอยู่ที่คณะ ๕ ตลอดมาจนมรณภาพ
๏ งานด้านวิปัสสนาธุระ
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ ถึง ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔ รวมเวลา ๗ เดือน ๑๙ วัน โดยพระภาวนาภิรามเถระ (สุข) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นอาจารย์สอน
พ.ศ. ๒๔๙๕ ไปดูงานการพระศาสนาที่ประเทศพม่า และได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ สำนักศาสนายิสสา เมืองแรงกูน ประเทศพม่า เมื่อสำเร็จการศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ได้เดินทางกลับประเทศไทย พร้อมกับพระอาจารย์ด้านวิปัสสนากรรมฐาน ๒ รูป ที่รัฐบาลไทยขอจากรัฐบาลพม่า เพื่อมาสอนวิปัสสนากรรมฐาน ประจำอยู่ในประเทศไทย พระวิปัสสนาจารย์ ๒ รูปนั้น คือ ท่านอาสภเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ และท่านอินทวังสะ ธัมมาจริยะ กัมมัฏฐานาจริยะ
เมื่อท่านกลับมาประเทศไทยแล้ว ท่านได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่ออีก ๔ เดือน ในสมัยนั้น ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ “พระพิมลธรรม” ได้ประกาศตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานแห่งประเทศไทย ขึ้นที่วัดมหาธาตุฯ และได้แต่งตั้งท่านครั้งเป็นพระมหาโชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙ ให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นรูปแรก ท่านจึงได้รับภาระหนักมาก เพราะเป็นกำลังสำคัญของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในการวางแผนขยายสำนักสาขาไปตั้งในที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จัดทำหลักสูตรวิปัสสนากรรมฐาน คัดเลือกพระวิปัสสนาจารย์ไปสอนประจำอยู่ตามสำนักสาขาที่ตั้งขึ้น และจัดไว้สอนประจำที่วัดมหาธาตุฯ พระวิปัสสนาจารย์ทั่วประเทศส่วนมากเป็นศิษย์ของท่าน
อนึ่ง ในครั้งนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้จัดตั้งกองการวิปัสสนาธุระขึ้นเป็นศูนย์วิปัสสนากรรมฐานที่คณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ และได้แต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้อำนวยการกองการวิปัสสนาธุระ ในความอำนวยการของท่านมีกิจการเจริญก้าวหน้ามาก มีผลงานปรากฏดังนี้
๑. จัดพิมพ์วิปัสสนาสาร ซึ่งเป็นวารสารราย ๒ เดือน (ออกปีละ ๖ เล่ม) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ และได้ออกติดต่อตลอดมาถึงบัดนี้ มีสมาชิกให้การอุดหนุนวารสารนี้มีมากพอสมควร
๒. จัดการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานขึ้นที่คณะ ๕ โดยจัดสร้างห้องปฏิบัติขึ้นรับผู้ประสงค์จะเข้าปฏิบัติ หรือผู้มีปัญหาชีวิตเข้าปฏิบัติได้ทุกเวลา ทั้งประเภทอยู่ประจำและไม่ประจำ (คือมารับพระกรรมฐานจากอาจารย์ไปปฏิบัติที่บ้านแล้วมารับสอบอารมณ์ หรือมาปฏิบัติในเวลาว่าง แล้วกลับไปพักที่บ้าน)
๓. อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ และคณะศิษย์ของท่านได้ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ ตึกมหาธาตุวิทยาลัย ตึกธรรมวิจัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทุกวันพระ และวันอาทิตย์
๔. ให้ความอุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐานอื่นที่เป็นสาขาอีกหลายสำนัก เช่น สำนักวิเวกอาคม อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักวิปัสสนาภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น และสำนักบางกระสอ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙)
ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุดมวิชาญาณเถร ได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐาน
แด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี)
ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐาน ณ วัดมหาธาตุฯ เป็นเวลาถึง ๑ เดือน
พระธรรมธีรราชมหามุนี ได้อุทิศชีวิตอบรมและเผยแพร่วิปัสสนากรรมฐานติดต่อมาเป็นเวลายาวนานประมาณ ๔๐ ปี จึงมีศิษยานุศิษย์และมีผู้เคารพศรัทธาเลื่อมใสมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และบุคคลผู้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีทุกระดับชั้น ทุกฐานะอาชีพ เช่น ในช่วง พ.ศ. ๒๔๙๘ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระอุดมวิชาญาณเถร ได้เป็นพระอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (ปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ซึ่งได้เสด็จมาสมาทานพระกรรมฐาน เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๘ เวลา ๑๙.๐๐ น. ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ วัดมหาธาตุฯ
ในโอกาสนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ “พระพิมลธรรม” ได้ถวายศีล แล้วพระอุดมวิชาญาณเถรเป็นผู้ถวายพระกรรมฐาน และถวายสอบอารมณ์พระกรรมฐานด้วย เป็นประจำทุกวัน ณ พระมณฑปพระบรมธาตุ เวลา ๑๙.๐๐ น. รวมเวลาที่ทรงปฏิบัติพระกรรมฐาน เป็นเวลา ๑ เดือน และทรงได้รับผลจากการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอย่างดี
นอกจากนั้น ได้เป็นอาจารย์ถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่ท่านเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร) วัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระอาจารย์มีเกียรติคุณในด้านสมถกรรมฐาน (วิชาธรรมกาย) ที่มีชื่อเสียงมากในประเทศไทย โดยท่านไปถวายวิปัสสนากรรมฐานแด่หลวงพ่อสด จนฺทสโร ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตลอดเวลา ๑ เดือนครบหลักสูตร และต่อมาหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มาฟังเทศน์ลำดับญาณ ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุฯ โดยพระอุดมวิชาญาณเถร ได้ถวายเทศน์ลำดับญาณ
พระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อสด จนฺทสโร)
ปรากฏว่าหลวงพ่อวัดปากน้ำได้ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างดี เพราะท่านได้นำสมถกรรมฐานมาต่อวิปัสสนากรรมฐาน พิจารณาไตรลักษณ์ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ หลวงพ่อได้มอบภาพของท่านไว้เป็นที่ระลึกแก่สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุฯ และได้เขียน บันทึกใต้ภาพยกย่องว่า “สำนักวิปัสสนาวัดมหาธาตุฯ เป็นสำนักที่สอนวิปัสสนาถูกต้องร่องรอยในมหาสติปัฏฐานทุกประการ”
๏ หน้าที่การงานเกี่ยวกับการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๘๓-๒๕๓๐
- เป็นครูสอนปริยัติธรรมทั้งนักธรรม-บาลี ในมหาธาตุวิทยาลัย ได้เป็นครูสอนบาลีไวยากรณ์ชั้นมูล ๓ ได้นิตยภัตตั้งแต่เดือนละ ๖ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ จนกระทั่งสอน ป.ธ. ๗-๘-๙
- เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรม-บาลี สนามหลวง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๗ ตลอดมาจนมรณภาพ
- เป็นผู้อำนายการแผนกบาลี สำนักเรียนวัดมหาธาตุฯ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็นต้นมา
๏ หน้าที่เกี่ยวด้วยพระไตรปิฎก
พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ในแผนกตรวจสำนวน
พ.ศ. ๒๕๒๔ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจทานพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง
พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการปาลิวิโสธกะ พระอภิธรรมปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐
พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานบรรณกรในการพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับสังคายนา พ.ศ. ๒๕๓๐
๏ หน้าที่เกี่ยวกับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๕๓๐
- ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการชำระหนังสือธัมมปทัฏฐกถา ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- เป็นอาจารย์บรรยายวิชาพระพุทธศาสนาในชั้นอุดมศึกษา
- เป็นกรรมการบริหารกิจการ
- เป็นกรรมการพิจารณาหลักสูตรบาลีสำหรับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
- เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย
๏ หน้าที่เกี่ยวกับการบริหารคณะสงฆ์
พ.ศ. ๒๔๘๘-๒๕๓๐
- ได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการกรรมการสงฆ์จังหวัดขอนแก่น
- กรรมการสาธารณูปการจังหวัดขอนแก่น
- เจ้าคณะภาค ๑๐
- เจ้าคณะภาค ๙
- พระอุปัชฌาย์ประจำวัดมหาธาตุฯ
- รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุฯ
- รองประธานกรรมการสงฆ์บริหารวัดมหาธาตุฯ รูปที่ ๑
๏ หน้าที่งานพิเศษ
- ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๓
- เป็นหัวหน้าผู้อำนวยการ งานพระธรรมทูตสายที่ ๖
- เป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อร่วมพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาวัดที่ว่างเจ้าอาวาสเพื่อหาข้อมูล
๏ งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา
- เป็นพระธรรมกถึกทั้งเทศน์คู่และเทศน์เดี่ยว
- เป็นองค์ปาฐกแสดงปาฐกถาธรรม
- องค์บรรยายธรรม
- บรรยายธรรมทางวิทยุเป็นประจำหลายสถานี
- บรรยายธรรมทางสถานีโทรทัศน์
นับว่าท่านเป็นพระสงฆ์มีความเชี่ยวชาญในการบรรยายธรรม ได้รับความนิยมมากจากผู้ฟังทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชน ประชาชน เป็นอย่างดี
๏ งานสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) มีผลงานด้านสาธารณูปการและสาธารณสงเคราะห์ ปรากฏอย่างกว้างขวางทั้งภายในวัดมหาธาตุฯ และภายนอก ดังมีหลังฐานปรากฏตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘-๒๕๓๐ ดังนี้
๑) งานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุฯ
- จัดหาทุนสร้างห้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนในวัดมหาธาตุฯ
- จัดหาเงินสมทบทุนมูลนิธิวิปัสสนากรมฐาน
- สร้างตึกอุดมวิชาในคณะ ๕ วัดมหาธาตุฯ
- เป็นประธานกรรมการหาทุนก่อสร้างตึกมหาธาตุวิทยาลัยอาคารทรงไทย ๔ ชั้น
- เป็นประธานกรรมการหาทุนบูรณะโรงเรียนธรรมมหาธาตุวิทยาลัย และสร้างโรงครัวครูปริยัติธรรม
- เป็นประธานกรรมการจัดหาทุน และก่อตั้งมูลนิธิศรีสรรเพชญ์
- ร่วมสมทบบูรณะคณะ ๘ วัดมหาธาตุฯ
- บริจาคร่วมสร้างพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- เป็นประธานกรรมการจัดหาทุนสร้างพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- เป็นกรรมการอุปถัมภ์จัดหาทุนสร้างโรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
รวมงานสาธารณูปการภายในวัดมหาธาตุที่ได้ดำเนินการมา เป็นเงินประมาณ ๑๔,๓๒๕,๐๐๐ บาท (สิบสี่ล้านสามแสนสองหมื่นห้าพันบาท)
๒) งานสาธารณูปการภายนอกวัด
- งานก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดสว่างพิทยา บ้านหนองหลุบ ซึ่งเป็นถิ่นบ้านเกิด
- จัดหาทุนสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมวัดธาตุ จังหวัดขอนแก่น ๒ หลัง
- จัดหาทุนสร้างอุโบสถวัดโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่น
- จัดหาทุนสร้างโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองหลุบ ๒
- เป็นประธานจัดหาทุนสร้างวัดพุทธประทีปในระยะเริ่มแรก
- อุปถัมภ์สร้างอาคารเรียน ในโรงเรียนประชาบาลบ้านหนองบัว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
- เป็นประธานจัดหาทุนสร้างตึกสงฆ์อาพาธสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) ในโรงพยาบาลขอนแก่น
- บริจาคสร้างตึงสยามินทร์ โรงพยาบาลศิริราช
- อุปถัมภ์สำนักวิปัสสนากรรมฐาน ภูระงำ อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น
- หาทุนสร้างสำนักวิเวกอาคม ตำบลบางขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
รวมงานสาธารณูปการภายนอกวัด เป็นเงินประมาณ ๑๓,๔๕๖,๐๐๐ บาท (สิบสามล้านสี่แสนห้าหมื่นหกพันบาท) รวมเงินที่จัดหาในงานสาธารณูปการ ทั้งภายในวัดมหาธาตุฯ และภายนอกวัด เป็นเงิน ประมาณ ๒๗,๐๘๑,๐๐๐ บาท (ยี่สิบเจ็ดล้านแปดหมื่นหนึ่งพันบาท)
๏ งานต่างประเทศ
พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๒๘
- ไปดูงานการพระศาสนาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศพม่า
- ไปสอนวิปัสสนากรรมฐาน ณ ประเทศอังกฤษ ตามคำอาราธนาของคณะสงฆ์สมาคมแห่งประเทศอังกฤษ
- เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตประจำประเทศอังกฤษ
- ริเริ่มสร้างวัดไทยในประเทศอังกฤษ ปัจจุบันได้สร้างเป็นวัดไทยโดยสมบูรณ์ ชื่อว่า “วัดพุทธประทีป” โดยท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดพุทธประทีปรูปแรก
- เป็นกรรมการอำนวยการฝึกอบรมพระธรรมทูตที่จะไปต่างประเทศ
- ไปสอนวิปัสสนากรมฐานที่วัดไทย ในประเทศสหรัฐอเมริกา
- รับชาวต่างชาติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่วัดมหาธาตุฯ และให้ได้บรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดมหาธาตุฯ
แด่พระเดชพระคุณพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพสิทธิมุนี เมื่อวันที่ ๓ พ.ย. ๒๕๒๘ เวลา ๑๖.๐๐ น.
๏ งานนิพนธ์
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) เป็นพระมหาเถระที่เชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก และมีความทรงจำเป็นเลิศ สามารถบอกเรื่องราวต่างๆ ว่าอยู่ในเล่มใด และบางครั้งบอกหน้าหนังสือเล่มนั้นด้วย และท่านยังเป็นนักประพันธ์ที่นิพนธ์เรื่องทางศาสนาได้รวดเร็ว และได้นิพนธ์ไว้มากมายหลายเรื่อง เฉพาะที่หาข้อมูลได้ แยกบทนิพนธ์ของท่านเป็นประเภท ดังนี้
๑) ประเภทวิปัสสนากรรมฐาน มีหนังสือประมาณ ๒๑ เรื่อง เช่น เรื่องความเป็นมาของวิปัสสนากรรมฐาน, คำบรรยายวิปัสสนากรรมฐาน จำนวน ๙ เล่ม ฯลฯ
๒) ประเภทพระธรรมเทศนา มีหนังสือประมาณ ๔ เรื่อง เช่น เรื่องเทศน์คู่อริยสัจ ฯลฯ
๓) ประเภทวิชาการ มีหนังสือประมาณ ๘ เรื่อง เช่น อภิธัมมัตถสัคหะปริเฉทที่ ๑-๙ ฯลฯ
๔) ประเภทสารคดี มีหนังสือประมาณ ๒๐ เรื่อง เช่น เรื่องพระมาลัยโปรดสัตว์นรก ฯลฯ
๕) ประเภทตอบปัญหาทั่วไป มีหนังสือประมาณ ๕ เรื่อง เช่น ตอบปัญหา เรื่องบุญบาปและนรกสวรรค์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีคำขวัญ คำอนุโมทนา คติธรรม เพื่อลงตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ต่างๆ ที่มีผู้ขอมา
๏ สมณศักดิ์
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ (อายุ ๓๖ พรรษา ๑๕) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ (สป.วิ) ในพระราชทินนามที่ “พระอุดมวิชาญาณเถร”
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ (อายุ ๔๔ พรรษา ๒๓) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระราชสิทธิมุนี ศรีปิฎกโกศล วิมลปัสสนาจารย์ อุดมวิชาญาณวิจิตร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ (อายุ ๕๒ พรรษา ๓๑) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระเทพสิทธิมุนี สมถวิธีธรรมาจารย์ วิปัสสนาญาณโสภณ ยติคณิศสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ (อายุ ๖๙ พรรษา ๔๘) ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในพระราชทินนามที่ “พระธรรมธีรราชมหามุนี คัมภีรญาณวิมล โสภณธรรมานุสิฐ ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”
๏ อวสานชีวิต
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) ได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ในอิริยาบถนั่งเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขณะไปทำการสอนวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านโยมอุปัฏฐาก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๑ เวลา ๑๕.๐๐ นาฬิกา รวมสิริอายุได้ ๗๐ ปี ๒ เดือน ๑๕ วัน นำความเศร้าโศกแสนเสียดายอาลัยมาสู่คณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง ขออำนาจบุญกุศลทั้งปวงได้โปรดดลบันดาลให้พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ ป.ธ. ๙) ประสบสันติสุขในสัมปรายภพทุกประการ ดังสุนทรโวหารที่ท่านได้นิพนธ์ในสุดท้ายแห่งชีวิต ดังนี้
“เตรียมสร้างทางชอบไว้ หวังกุศล
ตัวสุขส่งเสริมผล เพิ่มให้
ก่อนแต่มฤตยูดล เผด็จชีพ เทียวนา
ตายพรากจากโลกได้ สถิตด้าว แดนเกษม”
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทฺธิ)
.............................................................
คัดลอกมาจาก ::
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13026&start=0&postdays=0&postorder=asc&highlight=&sid=9f6f59aeccf0bdb042c48d2b9eec6924.