พิภพมัจจุราช
โดย หลวงตาแพรเยื่อไม้
จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงบุรพจริยา (ความเป็นมาแต่อดีต) ของพระองค์ ขออัญเชิญมาถอดใจความ ตามประสาของข้าพเจ้าดังนี้ :-
ในกาลอันล่วงมาแล้วนานไกล พระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า มฆเทว ครองนครมิถิลา วิเทหรัฐ มีพระราชจริยาเป็นที่นิยมเลื่อมใสของปวงชน จนสามารถกลายมาเป็นประเพณีของราชวงศ์ เพราะอนุชนผู้เกิดภายหลังยึดถือเอาเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต ทรงรับสั่งกับเจ้าพนักงานกัลบกผู้มีหน้าที่เจริญพระเกศา (ตัดผม) ไว้ว่า เมื่อพบว่าเส้นผมบนพระเศียรเปลี่ยนสี (หงอก) เส้นแรกเมื่อใด จงทูลให้พระองค์ทรงทราบ
ครั้นกาลต่อมา เมื่อช่างกัลบกถอนผมเส้นแรกที่หงอกถวายให้ ทรงทอดพระเนตรผมเปลี่ยนสี ภายใต้เส้นผมคือสมอง ก็พลอยเปลี่ยน ทรงสลดสังเวช ดวงพระทัยกระทบกับอนิจจังลักษณะอย่างรุนแรง เห็นความไม่เที่ยงไม่แน่นอนของชีวิต เห็นความไม่น่าไว้วางใจของความสมบูรณ์พูนสุข ทรงรางวัลแก่กัลบกและประชุมโอรสธิดา รับสั่งเป็นบาทคาถา ซึ่งต่อมาภายหลังมีชื่อว่า คาถาหัวหงอกออกบวช
อุตฺตมงฺครุหา มยฺหํ อิเม ชาตา วโยหรา
ปาตุภูตา เทวภูตา ปพฺพชฺชาสมโย มมํ
“ผมหงอกงอกขึ้นบนหัวของพ่อแล้ว มันนำความหนุ่มของพ่อไป แต่ก็เป็นสิ่งที่นำความสว่างมามอบให้ (เทวทูต) จึงเป็นสมัยที่พ่อจะออกบวช.....”
ถ้าเป็นสมัยนี้ ปัญหาเรื่องหัวหงอก ก็คงจะแก้กันด้วยวิธีหาซื้อยามาย้อม เพราะอะไร ก็เพราะภายใต้เส้นผม (สมอง) ที่เปลี่ยนสียังไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิดนั่นเอง ส่วนพระเจ้ามฆเทว ทรงเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิต ถอดถอนพระองค์จากความเป็นผู้ทรนงว่าทรงมีอำนาจ ความเป็นกษัตริย์ ถูกสลัดเปลี่ยนมือ เลิกถือเลิกกุม เพราะผมหงอกเส้นนั้นมันทำให้สะดุ้งวิตกดุจเห็นความตาย มาตีตราเตือนตัวอยู่บนหน้าผาก
ความรู้สึกสำนึกตัว ก่อให้เกิดความเสงี่ยมเจียมใจ ความเสงี่ยมทำให้ลดความอหังการ และเป็นหนทางให้ควบคุมความประพฤติ มิให้ก่อกรรมทำกิจในทางที่จะเกิดความเดือดร้อนแก่เพื่อนร่วมแผ่นดิน ความดีอันใดที่จะเกิดจากกายซึ่งกำลังเสื่อมอยู่ทุกขณะ จะถูกปรารภกระทำ เพราะค่าที่สำนึกเกรงว่าจะสายเกินกาล หัวหงอกแบบพระเจ้ามฆเทว ก่อให้เกิดคุณานุคุณแก่แผ่นดินอย่างมหามหัศจรรย์นักแล
พระจริยาวัตรของมฆเทวราช เป็นที่ประทับใจของอนุราชกษัตริย์ (ผู้สืบวงศ์ดำรงยศต่อมา) กษัตริย์แห่งวงศ์มฆเทวราชเมื่อพบว่า เส้นพระเกศาเส้นแรกบนเศียรหงอกเป็นต้องสละราชสมบัติปลงพยศลดมานะออกบวชทุกพระองค์ จนได้ชื่อว่า “วงศ์บรรพชิต”
สำหรับมฆเทวราชบรมกษัตริย์องค์แรก เมื่อสิ้นชีพก็ทรงอุบัติเป็นพรหม เมื่อทอดพระเนตรดูโลกโดยเฉพาะผู้สืบสายวงศ์กษัตริย์พบว่าทุกพระองค์ยังมั่นคงในการดำรงราชประเพณีสืบต่อกันมาก็ทรงชื่นชม
แม้กษัตริย์ต่อมาเมื่อสิ้นชีพสวรรคตแล้ว ก็อุบัติในสุคติภพพรหมโลก ประชาชนซึ่งตั้งตนตามพระโอวาทของกษัตริย์ ก็ประสบสวรรคสมบัติเมื่อสิ้นชีวิตลง ทำให้เทพยดาทวีจำนวน เมื่อเข้าสู่เทพสภาต่างสนทนาซักถามกันว่า ท่านได้สวรรค์สมบัติเพราะอาศัยใคร ทุกท่านตอบตรงกันว่าอาศัยมฆเทว จึงต่างยอมรับว่ามีอาจารย์เดียวกัน ต่างเทิดทูนยกย่องมฆเทวด้วยอำนาจกตัญญู เพราะต่างก็รู้กันอยู่ทั่วไปว่า พระองค์ทรงชี้ทางสวรรค์ให้แก่ตนๆ
ต่อมา มฆเทวพรหม ทรงจินตนาปริวิตกว่า อนาคตข้างหน้าวงศ์บรรพชิตของพระองค์ จักสืบต่อไปได้สักเพียงไหน ? ทราบด้วยญาณวิสัยว่า ประเพณีจักขาดตอนเมื่อสืบไปถึงกษัตริย์องค์ที่ ๘๓๙๙๘ (หย่อน ๘๔๐๐๐ สององค์) เพราะอัธยาศัยคนจะจืดจางจากความดี เหยียบย่ำประเพณีดูหมิ่นผู้ทรงศีลธรรม ไม่ยอมรับนับถือภูมิปัญญาของนักบวช หันไปนิยมแบบแผนขนบธรรมเนียมของคนนอกลัทธิศาสนา เด็กจักไม่เคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่จักเลิกทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี หัวหงอกจะเลิกออกบวช แต่จะขวนขวายหาอุบายอำพราง
พรหมไม่อาจวางอุเบกขาตามพรหมวิสัยได้ หวั่นไหวสังเวชเพราะกรุณาทรงสละพรหมสุข ลงปฏิสนธิในครรภ์มเหสีกษัตริย์มิถิลา เพื่อหวังสืบวงศ์กษัตริย์แม้เพียงชั่วรัชสมัยก็ยังดี ได้รับขนานพระนามว่า เนมิกุมาร ก็ทรงรับช่วงเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๘๓๙๙๙ ทรงดำเนินกุสโลบายขจัดกวาดล้างความคิดเห็นนิยมผิดๆ ของวิตถารชน และส่งเสริมฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอีกวาระหนึ่ง ช่วยให้คนมีใจสะอาด มีหิริโอตตัปปะอายชั่วกลัวบาป พระเจ้าพระสงฆ์ซึ่งมีทีท่าว่าจะหมดความหมายค่อยมีราคาขึ้นบ้าง เศรษฐีคหบดีมีใจกว้างด้วยเมตตาการุณย์
อีกวาระหนึ่ง ซึ่งปวงเทพเสพสังสันทนาการรำลึกถึงคุณผู้ยกระดับฐานะแห่งตนๆ ใคร่จะได้เห็นองค์มฆเทวซึ่งอวตารลงบริหาร กลียุคแห่งโลกสันนิวาสในนามว่าเนมิราช พากันวิงวอนท้าวสักกะให้ช่วยนำพาเนมิราชขึ้นมาสู่สวรรค์ เพื่อจะได้โอกาสถวายคารวะด้วยกตัญญู องค์อินทรเทพก็ทรงอนุโลมด้วยโมทนจิต รับสั่งให้มาตลีเทพสารถีนำเวชยันตราราชรถลงไปรับพระเจ้าเนมิราช ณ กรุงมิถิลา
ก่อนจากพิภพมนุษย์สู่เทวโลกทิพยสถาน เนมิราชทรงประสาธน์โอวาทแก่ประชาชน มิให้ประมาท ตลอดเวลาที่ทรงจากไปนี้ ขอให้ทุกคนวางตนเหมือนทารกกำพร้า เสงี่ยมสังวรอย่าระเริงเหลิงสุข ประสบทุกข์แล้วจะเป็นเหมือนเด็กน้อยที่ไม่มีคนปลอบประโลม หมู่ชนที่ขาดผู้นำที่ตั้งอยู่ในศีลธรรมก็ฉันเดียวกัน แต่หากได้ผู้นำที่อสัตย์แล้วไซร้ จะวิบัติรวดเร็วยิ่งกว่าทารกกำพร้าอนาถาเสียอีก
เมื่อมาตลีเทพสารถีชักเทวรถทยานเข้าสู่กรรมวิถีถึงทางสองแพร่ง ไม่แน่ใจว่าเนมิราชจักสมัครพระทัยเสด็จทางใด จึงหันมาทูลถามว่า “ทางหนึ่งไปสู่สถานที่ของคนบาป ส่วนอีกทางหนึ่งไปสู่ถิ่นสำนักของคนใจบุญ ข้าพเจ้าจะนำพระองค์เสด็จทางใดสุดแต่จะโปรด พระเจ้าค่ะ !”
เนมิราชทรงจินตนาว่า เทวโลกเราต้องไปอยู่แล้ว ควรจะถือโอกาสดูแดนนรกเป็นผลพลอยได้ จึงตรัสตอบมาตลีว่า “เราจะดูนรกอันเป็นที่อยู่แห่งเหล่าชนผู้มีกรรมเป็นบาปสถาน ที่อยู่แห่งเหล่าสัตว์มีกรรมหยาบร้ายกาจ แลคติแห่งเหล่าชนผู้มีศีลอันโทษประทุษร้ายแล้ว คือผู้ทำบาปด้วยอำนาจอกุศลกรรมบถ ๑๐ ก่อน”
แม่น้ำ “นรก” เวตรณี
เทพสารถี แสดงแม่น้ำเวตรณี ซึ่งเป็นด่านแรกของเมืองนรก แม่น้ำนรกนี้ข้ามยากเต็มไปด้วยมหาภัยคอยซัดสาดทุกข์โทษอันแสบเผ็ด แก่ผู้ตกไปสู่ห้วงกระแสของมัน ตามสำนวนโวหารของคัมภีร์ ที่ปราชญ์ทางภาษาท่านแปลไว้อ่านแล้วยากที่จะเข้าใจ สำนึกว่าทั้งผู้เขียนและผู้อ่านต่างก็เป็นคนธรรมดา ด้วยกันมิใช่ปราชญ์ จึงขอปรับปรุงภาษาเพื่อให้เกิดภาพพจน์ง่ายๆ ดังนี้
แม่น้ำ “นรก” เวตรณี นอกจากจะมีสายน้ำอันเผ็ดร้อนเป็นพิษเป็นภัยแล้ว ยังเต็มอยู่ด้วยเถาไม้น้ำปกแผ่ไปทั่วแผ่นผิวนที เครือเถาไม้มีหนามงอกออก เห็นแล้วน่าเสียวสยอง ขนาดหนามโตเท่าหอกใบพาย ประกายคมเป็นเปลวเพลิง สัตว์นรกตกไปสู่ห้วงนทีนี้จำนวนมาก กระแสน้ำพัดพาร่างไปกระทบหนามไม้เลื้อยถูกคมหนามกรีดขาดจากกัน เป็นท่อนเป็นตอน และยังมีเปลวไฟแลบรนซ้ำอีก
บางแห่งจะมีหลาวเหล็กโตเท่าลำตาล โผล่จากท้องน้ำลุกโพลง คอยเสียบแทง รับร่างสัตว์นรกที่พากันป่ายปีนเครือเถาเพื่อให้พ้นจากการเผาต้มของน้ำร้อน และตกหล่นลงยังคมหอกดุจปลาที่ถูกเสียบด้วยไม้แหลมแล้วย่างไฟ ต่ำจากดงหลาวเหล็กลงไปมีใบบัวเหล็ก ขอบใบแหลมคมดุจมีดโกน สัตว์ดิ้นรนหล่นจากการถูกทรมานของหลาวหอก แล้วยังต้องตกลงสัมผัสกับคมขอบใบบัว ปรากฏเห็น ดังเฉือนเชือดอวัยวะออกเป็นชิ้นๆ หยาดเลือดพร่างพรูจากร่างส่งกลิ่นคาวคลุ้ง มีแต่ควันและเปลวเพลิงคลุ้มตลบอยู่ชั่วนิจนิรันดร์
เนมิราชพักตร์ซีดด้วยความกลัว รับสั่งถามถึงสาเหตุที่สัตว์นรกต้องมาถูกธรรมชาติ เหนือแม่น้ำเวตรณีลงโทษเช่นนี้นั้นเพราะกระทำอะไรมา สารถีทูลว่า สัตว์เหล่านั้นครั้งที่เป็นมนุษย์ประพฤติ แต่บาปหยาบคาย เบียดเบียนข่มเหงผู้ที่ต่ำต้อยกว่า จ้องหาโอกาสแต่จะเอาเปรียบผู้อื่น ใจของเขาปราศจากเมตตาการุณย์ ไม่เคยเห็นใจใคร
จากนั้นเวชยันตรถก็พาเข้าสู่แดนสัตว์ร้าย เนมิราชทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามอีก ฝูงหมา มีทั้งด่าง แดง ฝูงนกร้าย มีทั้งแร้งแลกามากมาย มีรูปลักษณะน่ากลัวนัก สีหน้าอาการแสดงความดุร้ายคุกคามอยู่ตลอดเวลา สัตว์เหล่านี้กำลังพากันเคี้ยวและจิกทึ้งสัตว์นรกอยู่ นั่น (สัตว์นรก) เขาทำบาปอันใด ?
ทูลว่า พวกนี้เห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ มิเคยเอื้อเอ็นดูใคร ด่าว่าแม้กระทั่งสมณะ เบียดเบียนผู้ทรงศีลทรงธรรม คุกคามผู้มีปกติไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใครๆ คือพระเจ้า พระสงฆ์ ถูกเปรียบเปรยด้วยคารมและกระทบกระแทก ด้วยกรรมอันทารุณ เขาพากันเสวยผลบาป ถูกแร้งกาและหมู่หมานรกเคี้ยวกิน น่าอนาถกรรมของสัตว์
อีกแห่งหนึ่ง ที่เวชยันตรถผ่านไปถึงพื้นที่ สัตว์เหยียบยืนและย่างเดิน เป็นแผ่นเหล็กลุกรุ่งด้วยเปลวร้อน มีนายนิรยบาลควบคุมบังคับต้อนให้ฝูงสัตว์ผ่านไป จะหลีกเลี่ยงก็ไม่ได้ เพราะถูกนายนิรยบาลเอาท่อนเหล็กเคาะแข้งและหวดโบยอย่างไม่ปรานี สัตว์เหล่านี้เมื่อเป็นมนุษย์ชอบทรมานสัตว์ ทั้งเล็กและใหญ่ ด้วยเห็นเป็นความสนุกหาความสุข บนความทุกข์ของผู้อื่น จึงต้องเดินบนแผ่นเหล็กแดง ทุรกันดารเหลือ ใครก็ช่วยเขาไม่ได้ เขาทำของเขาเอง
สัตว์นรกร่ำไห้ มีกรัชกายไหม้เกรียมด้วยพิษเพลิง เสียงครวญครางราวกะพายุสะบัดพัดป่า สัตว์พวกนี้ขี้โกงเป็นหนี้แล้วหาทางหลีกเลี่ยง โกงเพื่อนได้ก็ชอบใจชมตัวเองว่าฉลาด ฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นหนี้ประชาชน บ้างก็เรี่ยรายทรัพย์เพื่อบุญกุศล แต่ยักยอกเสพสุขส่วนตน อนาถนัก
หม้อเหล็กใหญ่ ลุกโพลงด้วยไฟแสนร้อน สัตว์นรกบางจำพวกถูกจับโยนใส่ ถูกต้ม ถูกเคี่ยว ชั่วกาลนาน เพราะบาปเบียดเบียนประทุษร้ายสมณพราหมณ์ผู้มีศีล จึงตกโลหกุมภี นายนิรยบาลผูกคอสัตว์นรกด้วยโซ่เหล็กแดง กดคอให้หน้าก้ม รั้งดึงเส้นโซ่ทรมานแล้วสับคอด้วยมีดใหญ่โยนใส่กะทะทองแดง พวกนี้เป็นพรานนิยมการฆ่าว่าเป็นกีฬา จนแทบจะทำให้สัตว์ป่าสูญพันธุ์ แม้วิหคปักษาจะบินหลบภัยมาอาศัยร่มไม้ในอาราม ก็หาพ้นจากพวกพรานใจบาปเหล่านี้ไม่ สมแล้ว
แม่น้ำแห่งนี้น่ารื่นรมย์นัก มีท่าสะอาดขึ้นลงสะดวกมองเห็นสายน้ำฉ่ำชื่นปริ่มฝั่ง ผู้สัญจรจากถิ่นไกลเห็นแล้วน่าโผลงดื่มอาบระงับร้อน สัตว์นรกพวกนี้ถูกต้อนให้เดินฝ่าแดนเพลิงมาไกลแสนไกล พอถึงฝั่งน้ำก็ตะลีตะลานโผลงดับร้อน แต่ก็กลายเป็นล้มตัวลงคลุกฝุ่นทรายอันระอุ ที่ตั้งใจดื่มน้ำที่กอบด้วยฝ่ามือก็กลายเป็นแกลบกลืนไม่ลง ผิดหวัง พวกนี้มีอาชีพไม่บริสุทธิ์หากินทางหลอกลวง เอาฝุ่นทรายและแกลบปนลงในข้าวเปลือก ด้วยตั้งใจจะเอากำไรมากๆ เขาถูกคิดบัญชีในนรก ฯลฯ
สัตว์บางพวกถูกนายนิรยบาลตัดเฉือนร่างออกเป็นชิ้นๆ บางจำพวกดื่มกินมูตร (เยี่ยว) คูถ (ขี้) เคี้ยวกินบุพโพ (น้ำเหลือง) โลหิต (เลือด) บางพวกถูกจับแผ่ลงยังพื้น แล้วเอาขออันคมสับดึงลากทรมาน บางพวกถูกเบ็ดเกี่ยวลิ้นดึงเข้าๆ ออกๆ มีน้ำลายไหลเยิ้ม ฯลฯ
เปล่าเลย นายนิรยบาลมิได้ทำเล่นตามอำเภอใจ แต่ได้รับการยินยอมจากความเลวของเขาเอง
เทพประชุม
ในคัมภีร์ได้ประมวลภาพแลเหตุการณ์ในนรกมากล่าวไว้ว่าด้วยนิรยาบาย ยังมีรายละเอียดพิสดารมาก ว่าแดนอบายนิรยภพ เป็นแดน เป็นภพ สำหรับรองรับสนองผลอันแสบเผ็ดแก่สัตว์ผู้ประมาท ประกอบกรรม บาปทุจริต ในสมัยเป็นมนุษย์ซึ่งไม่เลือกว่าเขาจะเป็นคนชั้นไหน ยากดีมีจน สูงศักดิ์ หรือน้อยวาสนา ผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงอำนาจหรือไพร่ หากทำความชั่วแล้วเสมอกันในนรก
จากนั้นเนมิราชก็ถูกนำไปสู่เทวโลก พลางชมสมบัติเมืองสวรรค์ ท่านพรรณนาไว้ มีทั้งเทพบุตรเทพธิดา ทำให้จิตใจซึ่งสลดหดหู่มาตลอดเวลาที่ผ่านเรื่องเมืองนรก ค่อยแช่มชื่นขึ้น สรรพสิ่งบำเรอสุขที่ปรากฏอยู่ในมนุษย์ประการใดๆ ถูกประมวลพรรณนาไว้อย่างไม่บกพร่อง ซ้ำยังวิจิตรประณีตกว่าสมบัติมนุษย์ เทพบุตรเทพธิดาแต่ละตนล้วนแต่มีอดีตอันดีงามมาด้วยวิธีต่างๆ กันไป ทิพยสมบัติก็หยาบและประณีตผิดแผกกันไปตามเหตุ เช่น เทวธิดา ชื่อวารุณี มีวิมานปราสาท ๕ ยอด ล้วนแล้วไปด้วยแก้วอลงกรณ์งามบวรเกินเปรียบ ในอดีตนางมีความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ผู้ทรงศีลาจารวัตร มีคุณสมบัติของอุบาสิกาสมบูรณ์ เทพบุตร ชื่อโสณทินนะฯ มีวิมานทองถึง ๗ องค์ อดีตกาลเขาผู้นี้สร้างวิหารถวายอุทิศต่อบรรพชิต และมีปกติบริจาคทานเนืองๆ รักษาอุโบสถศีลทุกวันอุโบสถ หากจะประยุกต์ตามกาลสมัย ก็ได้แก่ทำประโยชน์แก่สังคม
สวรรค์แดนแห่งความสุข ทวยเทพต่างตื่นเต้นต้อนรับเนมิราชกษัตริย์ แห่งมิถิลานคร แม้ท้าวสักกะจอมสวรรค์ก็ตรัสเชื้อเชิญ มอบดาวดึงส์ให้เป็นสิทธิ์ ขอพระองค์เสด็จอยู่ในหมู่เทพเจ้าผู้สำเร็จด้วยทิพยกามทั้งมวล เสวยทิพยกามารมณ์ในหมู่เทพยดาชาวดาวดึงส์ เนมิราช ทรงตอบรับไมตรีของจอมเทพด้วยบาทคาถาที่น่าฟัง ขอยกมาแสดงไว้ด้วย ฯลฯ
“สิ่งอันใดได้มาเพราะผู้อื่นให้ สิ่งนั้นสมบูรณ์เหมือนยืมยานพาหนะเขาใช้ หรือทรัพย์ที่ได้ด้วยการหยิบยืมผู้อื่น หม่อมฉันไม่ปรารถนาสมบัติที่ผู้อื่นให้ สมบัติของหม่อมฉันควรจะเกิดจากบุญซึ่งหม่อมฉันได้ลงมือกระทำเอง จึงควรอิ่มใจในสิทธิแห่งทรัพย์นั้น หม่อมฉันจักกลับไปบำเพ็ญกุศลให้มาก ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริจาคทาน ประพฤติสม่ำเสมอด้วยไตรทวาร อันฝึกแล้วด้วยศีล และฝึกอินทรีย์ ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดแห่งความสุข และไม่ตามเดือดร้อนหวั่นไหวภายหลัง”
การเสด็จสู่นรก – สวรรค์ ของเนมิราช เป็นผลดีแก่มวลมนุษย์ในยุคนั้นสมัยนั้นยิ่งนัก เพราะพระองค์ได้นำออกเป็นเนื้อหาแห่งพระโอวาท ประกาศเตือนสอนสั่งประชาชนให้ตั้งตนอยู่ในศีลธรรม ความดีแม้จะทำยากลำบากเพียงใด ก็ควรมีความอดทน ไม่ละทิ้ง ประกอบไปจนกว่าจะสำเร็จ ส่วนความเลวแม้จะสนุกสนานบานชื่นอย่างไรขณะทำ ก็พึงสังวรอย่าผ่อนตาม เพราะปลายทางของมันเสมือนยาพิษที่มีรสหวาน ฉะนั้นเมื่อสรุปพระโอวาทเนมิราช ก็มีความดังนี้
สัตว์ทั้งปวงตั้งอยู่ในอธรรมก็ตกนรกเบื้องต่ำ สัตว์ทั้งปวงย่อมหมดจดพิเศษเพราะประพฤติธรรมสูงสุด ความดีกับความชั่ว หามีผลเสมอเหมือนกันไม่ ความชั่ว (อธรรม) นำไปนรก ส่วนความดี (ธรรม) ส่งไปสวรรค์
มวลมนุษย์ยุคนั้น พากันมอบทิฐิ (ความเห็น) ศรัทธา (ความเชื่อ) ไว้ในพระโอวาทของเนมิราช บรมกษัตริย์แห่งวงศ์บรรพชิต จรรยามนุษย์ อันเป็นบาปทุจริตใดๆ ไม่มีปรากฏเป็นมลทินแก่โลกสันนิวาส นับว่าโลก ถูกนำดำเนินโดยการประคองของพระ เกิดสันติสุข สันติภาพ อันเป็นยอดปรารถนาของสังคม เนมิราช ทรงนำโลกด้วยธรรมอยู่ชั่วระยะหนึ่ง จากนั้นเมื่อเส้นพระเกศาบนเศียรหงอก ก็ทรงปลงภาระหลีกจากฆราวาสวิสัยเข้าสู่ไพรพฤกษ์ ประพฤติพรหมจรรย์ มีความวิเวกเป็นสหายที่สนิท กษัตริย์องค์ที่ ๘๔๐๐๐ มิได้ดำเนินตามรอยบาทของราชบรรพบุรุษจึงสิ้นสุดวงศ์สมณะแต่เพียงนั้น
โลกก็เริ่มวุ่นวายด้วยความฉลาดแกมโกงของมวลมนุษย์ ของเก่า ธรรมเก่า แบบแผนธรรมเนียมเดิม ถูกกล่าวหาว่าคร่ำครึ มนุษย์ที่สำคัญตัวเองว่าฉลาดก็พากันรื้อถอนโค่นล้าง ทำลายให้เสื่อมและสูญ แม้กระทั่งความเชื่อที่เคยมอบไว้กับนรก – สวรรค์มาชั่วกาลนานก็พลอยพินาศ จึงมีหิริโอตตัปปะ ความชั่วกลัวบาปกันเฉพาะในที่แจ้งเท่านั้น อนิจจา !
(ถอดความจากมหานิบาตชาดก ส.อ.ส.)
.......................... เอวัง ..........................
โพสโดยคุณamai ลานธรรมจักร
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=687