ผู้เขียน หัวข้อ: น้อมคารวะ อมตกวี 26 มิถุนายน " วันสุนทรภู่ "  (อ่าน 8066 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สิงหไกรภพ+นิราศเมืองเพชร
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มกราคม 29, 2015, 10:48:56 am »
สิงหไกรภพ

นิทานคำกลอนที่ขึ้นชื่อลือชาอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ที่เด็กๆ สมัยนี้ต่างนิยมชมชอบ เนื่องจากได้มีผู้นำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง สิงหไกรภพ ออกแพร่ภาพจนเด็กๆ ติดกันงอมแงม นับว่าสุนทรภู่สามารถผูกนิทานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวรองลงมาจากเรื่องพระอภัยมณี คือมีความ ยาว ๑๕ เล่มสมุดไทย บางคนกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เพื่อประชันกับเรื่องไกรทองพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗) เพื่อถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (ขณะนั้นยังทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์อยู่) แล้วมาแต่งต่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เรื่องค้างอยู่ แต่งไม่จบ

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า ท้าวอินณุมาศครองเมืองโกญจา มีนางจันทรเป็นมเหสี ไม่มีโอรสหรือธิดา ต่อมาเอาลูกโจรมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่าคงคาประลัย คงคาประลัยชิงราชสมบัติของท้าวอินณุมาศ พระอินทร์ช่วยอุ้มท้าวอินณุมาศและนางจันทรมาอยู่ป่า สองกษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ไปอาศัยอยู่กับพรานป่าชื่อเพิก จนกระทั่งนางจันทรคลอดโอรส แล้วโอรสองค์นี้ถูกพราหมณ์เทพจินดาขโมยไปเลี้ยงไว้ ยักษ์พินทุมารจับพราหมณ์เทพจินดาและพระโอรสนั้นได้เอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อพระโอรสว่าสิงหไกรภพ เมื่อโตขึ้นพราหมณ์เทพจินดาและสิงหไกรภพขโมยยาวิเศษของยักษ์ แล้วพากันหนีจากไปพราหมณ์เทพจินดาพาสิงหไกรภพไปอยู่ที่บ้านตน สิงหไกรภพทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ก็หนีพราหมณ์เทพจินดาออกตามหาบิดามารดา ได้นางสร้อยสุดาธิดาของท้าวจตุรพักตร์ กษัตริย์แห่งเมืองมารันเป็นชายา จนนางตั้งครรภ์แล้วพากันหนีมา ท้าวจตุรพักตร์ตามมาชิงนางสร้อยสุดาคืนไป พราหมณ์เทพจินดาตามสิงหไกรภพกลับไปครองเมืองโกญจา ท้าวจตุรพักตร์ยกทัพมาตีเมือง โกญจา ถูกสิงหไกรภพฆ่าตาย สิงหไกรภพรับนางสร้อยสุดามาอยู่ด้วยกันที่เมืองโกญจนา แล้วให้พราหมณ์เทพจินดาครองเมืองมารันต่อมารามวงศ์โอรสของสิงหไกรภพซึ่งอยู่กับยายที่เมืองมารันเติบโตขึ้นได้ลายายมาเยี่ยมสิงหไกรภพ แต่หลงทางเข้าไปในเมืองยักษ์ ได้นางแก้วกินรีแล้วพลัดพรากจากกัน สิงหไกรภพออกติดตามรามวงศ์ ได้นางเทพกินราเป็นชายา ต่อมานางเทพกินราทำเสน่ห์เพื่อให้สิงหไกรภพหลงใหลตน พราหมณ์เทพจินดาแก้เสน่ห์ให้ ต่อจากนี้รามวงศ์ได้ติดตามหาสิงหไกรภพ แต่ไม่ทันได้พบกัน และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นนิทานเรื่องนี้ว่า

ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง
แต่ปางหลังยังมีบุรีเรือง    ชื่อว่าเมืองโกญจาสถาวร
นามพระองค์ซึ่งดำรงอาณาราษฎร์    อินณุมาศบพิตรอดิศร
พระนามนางเกศสุรางคนิกร        ชื่อจันทรแก้วกัลยาณี
แสนสนมหมื่นประนมประณตน้อม    ดังดาวล้อมจันทราในราศี
ทั้งเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวี    อัญชุลีเพียงพื้นพระโรงเรียง
สำราญรอบขอบคันนิคมเขต        ทั่วประเทศพิณพาทย์ไม่ขาดเสียง
สองพระองค์ทรงธรรมไม่ต่ำเอียง    ไร้แต่เพียงบุตราธิดาดวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙)

ตอนโหรทำนายฝันของนางจันทร แล้วกล่าวว่าท้าวอินณุมาศและนางจันทรจะสูญเสียราช¬สมบัติ ท้าวอินณุมาศปลงตก คิดได้ว่า

เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา    อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง    รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย
กลับคนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย        ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก        โหราทักทุกข์แทบจะผุยผง
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง            เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๕)

สุนทรภู่บรรยายความทุกข์ยากลำบากของนางจันทรขณะอยู่กับพรานเพิกว่า

น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย    ฉวยกระบายโกยเข้าลงใส่ครก
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด        ออกพรุดพราดเรี่ยรายกระจายหก
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก    แล้วใส่ครกกลับตำนั้นร่ำไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๔)

ตอนนางจันทรคลอดพระโอรส สุนทรภู่บรรยายให้เห็นความเศร้าโศกของท้าวอินณุมาศ และนางจันทรที่โอรสมาคลอดกลางป่าว่า

ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์    พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว    เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา
นางจันทรว่าแม้นก่นพ่อเกิดมา    พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์        จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง        พระพี่เลี้ยงเฒ่าแก่จะแจจัน
พระปิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว    ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน    ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า    กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ    อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย    เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย    มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง
สองกษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง    อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดงค์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๗)

สิงหไกรภพให้คำมั่นสัญญาแก่นางสร้อยสุดาว่า“ถึงม้วยดินสินฟ้าสุราลัย ไม่จากไกลกลอยสวาทแล้วชาตินี้” (พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ,, นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๘)

ตอนสิงหไกรภพอุ้มนางสร้อยสุดาหนียักษ์ผู้เป็นบิดา สุนทรภู่บรรยายถึงความว้าเหว่ของสิงหไกรภพขณะที่เหาะไปในท้องฟ้าว่า

จะแลซ้ายสายเมฆวิเวกจิต                ให้หวาดหวิดว้าเหว่ในเวหา
จะเหลียวกลับลับปราสาทหวาดวิญญา        จะแลขวาขวัญหายไม่วายครวญ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๗๗)

พราหมณ์เทพจินดาเตือนสิงหไกรภพให้รีบไปหาบิดามารดาก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาชิงนางสร้อยสุดาคืน โดยให้เหตุผลว่า

พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง        ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย        ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก        กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย
นางไปอยู่บุรีไม่มีภัย        มาเมื่อไรคงพบประสบกัน
ขอเชิญพ่อหน่อเนื้อในเชื้อแถว    ไปกรุงแก้วโกญจามหาสวรรย์
พระบิตุราชมาตุรงค์เผ่าพงศ์พันธุ์    จะนับวันคอยหาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๓)
ตอนสิงหไกรภพชมธรรมชาติแล้วระลึกถึงนางสร้อยสุดา สุนทรภู่เล่นคำได้ดี คือบรรยายว่า

เห็นธารน้ำรำลึกเมื่อเล่นธาร        เริงสำราญหรือรกร้างให้ห่างกัน
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองหลบ    เหมือนแลพบพักตร์ยุพินเมื่อผินผัน
หอมลูกอินกลิ่นระคนปนลูกจันทน์        เหมือนกลิ่นขวัญเนตรรื่นชื่นอารมณ์
นางแย้มงามยามเยื้อนเหมือนเบือนยิ้ม    ให้เชยชิมชื่นชิดสนิทสนม
ดอกเล็บนางอย่างเล็บพระเก็บชม    แต่ไม่คมข่วนเจ็บเหมือนเล็บนาง
รสสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด    มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง
อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนที่ร้างมาห่างกัน    ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างกัน        ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนเมื่อเคยเชยกลิ่นอบ    หอมตระหลบอบกลิ่นไม่สิ้นหอม
พยอมเอ๋ยเคยใจมิใคร่ยอม    ให้ต้องออมอกช้ำทุกค่ำเช้า
เห็นโศกออกดอกอร่ามเมื่อยามโศก    แสนวิโยคโศกทรวงให้ง่วงเหงา
ถึงดอกงามยามโศกเหมือนโรคเรา        มีแต่เศร้าโศกซ้ำนั้นร่ำไป
เห็นยมโดยโดยดิ้นถวิลโหย        เหมือนดิ้นโดยดังจะพาน้ำตาไหล
โอ้ระกำเหมือนกรรมในน้ำใจ    ด้วยมาไกลกลืนช้ำระกำตรม
เห็นกลอยออกดอกดวงเป็นพวงห้อย    เหมือนกลิ่นกลอยใจคิดสนิทสนม
เสน่หาอาวรณ์ร้อนอารมณ์        จะแลชมอื่นๆ ไม่ชื่นใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๗)

เมื่อสิงหไกรภพมีสารมาถึงนางสร้อยสุดา ก็ยํ้าถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของพระองค์ที่มีต่อนางว่า

จนม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดเสน่หาจนอาสัญ
ถึงตัวไปใจคิดเป็นนิรันดร์    ที่รับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(พ. ณประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๑๓)

เมื่อสิงหไกรภพฆ่าท้าวจตุรพักตร์ มเหสีและนางสร้อยสุดาผู้เป็นธิดารวมทั้งญาติอื่นๆ ได้คร่ำครวญอาลัยรักดังนี้

มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก    โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล    จะตามทูนกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน
พระธิดาว่าโอ้พระปิตุเรศ    เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน    ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ
พระวงศาว่าทูนกระหม่อมแก้ว    นิพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ    เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย
นางพระยาว่าพระคุณมาสูญเสีย    เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย
จะโศกช้ำร่ำรับแต่อับอาย    จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน
พระธิดาว่าพระคุณทูนกระหม่อม    เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน        ไปรอนราญจนสวรรคครรไล
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข    จะรับทุกข์ทุกเวลาน้ำตาไหล
สนมนางต่างว่านับจะลับไป        จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร    ให้สงสารวิโยคโศกสลด
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด    ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

บรรดาสาวสนมกำนัลของสิงหไกรภพ    เมื่อรู้ว่าสิงหไกรภพไม่สนใจพวกตนก็พากันเล่นเพื่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี    ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง
ประไพพักตรลักษณะพระวิลาศ    ดูผุดผาดล้ำเลิศประเสริฐหญิง
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง    เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง    ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน    เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

เรื่องสิงหไกรภพค้างอยู่เพียงท้าวกาลเนตรตายเท่านั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งไว้จนจบเรื่อง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด
http://www.silpathai.net/สิงหไกรภพ/
***********************************

นิราศเมืองเพชร

นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศที่เป็นปริศนา สำหรับนักศึกษางานของท่านสุนทรภู่ ด้วยไม่ทราบว่าท่านแต่งนิราศเรื่องนี้เมื่อใด และท่านไปเมืองเพชรด้วยเหตุใด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความเห็นว่า ท่านสุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้เมื่อครั้งกลับเข้ารับราชการ อยู่ในพระอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านน่าจะออกเดินทางในหน้าหนาว ปีพ.ศ.๒๓๘๘ โดยอาสาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้ามานั่นเอง และนิราศเรื่องนี้คงเป็นเรื่องสุดท้ายของท่าน เรื่องธุระของท่านนั้นค่อนข้างแน่ ความตอนหนึ่งในนิราศกล่าวถึงธุระของท่านเพียงสองวรรคเท่านั้น คือ

"ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์"

นอกจากเรื่องที่ท่านจะไปเมืองเพชรด้วยเหตุใดแล้ว ยังมีกรณีที่น่าสนใจที่ท่านอาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว แห่งวิทยาลัยครูเพชรบุรี ได้นำเสนอว่า สุนทรภู่น่าจะมีบรรพบุรุษเป็นชาวเมืองเพชรอีกด้วย

การเดินทางไปเมืองเพชรครั้งนี้ คงเป็นครั้งที่สองของท่าน ตามที่ผู้จัดทำเชื่อว่า ท่านน่าจะเคยหนีความเศร้ามาจากกรุงเทพฯ เมื่อครั้งยังหนุ่ม ด้วยในคราวนี้ ท่านได้พรรณนาถึงความหลังไว้หลายแห่งด้วยกัน เช่นเมื่อเสร็จธุระแล้ว ท่านยังไม่อยากกลับกรุงเทพฯ โดยบอกว่า

"จะกลับหลังยังมิได้ดังใจชั่ว ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก"
"เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก เขารับรักรู้คุณกรุณา"


เมื่อหนีมาหลายปี สงบจิตใจได้แล้ว ท่านจึงได้กลับไปกรุงเทพฯ อีกครั้ง ดังนี้

"แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย"

น่าจะเป็นปีระกา พ.ศ.๒๓๕๖ ก่อนท่านเข้ารับราชการสามปี ซึ่งท่านได้เข้าร่วมกับคณะละครนายบุญยัง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 15, 2015, 10:00:06 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: นิราศเมืองเพชร
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: มกราคม 29, 2015, 10:59:10 am »
นิราศเมืองเพชร

    ๏ โอ้รอนรอนอ่อนแสงพระสุริย์ฉาย
ท้องฟ้าคล้ำน้ำค้างลงพร่างพราย   พระพายชายชื่นเชยรำเพยพาน
อนาถหนาวคราวอาสาเสด็จ   ไปเมืองเพชรบุรินที่ถิ่นสถาน
ลงนาวาหน้าวัดนมัสการ   อธิษฐานถึงคุณกรุณา
ช่วยชุบเลี้ยงเพียงชนกที่ปกเกศ   ถึงต่างเขตของประสงค์คงอาสา
จึงจดหมายรายทางกลางคงคา   แต่นาวาเลี้ยวล่องเข้าคลองน้อยฯ
    
๏ ได้เห็นแต่แพแขกที่แปลกเพศ   ขายเครื่องเทศเครื่องไทยได้ใช้สอย
ถึงวัดหงส์เห็นแต่หงส์เสาธงลอย   เป็นหงส์ห้อยห่วงธงใช่หงส์ทอง
ถึงวัดพลับลับลี้เป็นที่สงัด   เห็นแต่วัดสังข์กระจายไม่วายหมอง
เหมือนกระจายพรายพลัดกำจัดน้อง   มาถึงคลองบางลำเจียกสำเหนียกนาม
ลำเจียกเอ๋ยเคยชื่นระรื่นรส   ต้องจำอดออมระอาด้วยหนาหนาม
ถึงคลองเตยเตยแตกใบแฉกงาม   คิดถึงยามปลูกรักมักเป็นเตย
จนไม่มีที่รักเป็นหลักแหล่ง   ต้องคว้างแคว้งคว้าหานิจจาเอ๋ย
โอ้เปลี่ยวใจไร้รักที่จักเชย   ชมแต่เตยแตกหนามเมื่อยามโซ
ถึงบางหลวงล่วงล่องเข้าคลองเล็ก   ล้วนบ้านเจ๊กขายหมูอยู่อักโข
เมียขาวขาวสาวสวยล้วนรายโป   หัวอกโอ้อายใจมิใช่เล็ก
ไทยเหมือนกันครั้นว่าขอเอาหอห้อง   ต้องขัดข้องแข็งกระด้างเหมือนอย่างเหล็ก
มีเงินงัดคัดง้างเหมือนอย่างเจ๊ก   ถึงลวดเหล็กลนร้อนอ่อนละไมฯ
    
๏ ถึงวัดบางนางชีมีแต่สงฆ์   ไม่เห็นองค์นางชีอยู่ที่ไหน
หรือหลวงชีมีบ้างเป็นอย่างไร   คิดจะใคร่แวะหาปรึกษาชี
ก็มืดค่ำอำลาทิพาวาส   เลยลีลาศล่วงทางกลางวิถี
ถึงวัดบางนางนองแม้นน้องมี   มาถึงที่ก็จะต้องนองน้ำตา
ตัวคนเดียวเที่ยวเล่นไม่เป็นห่วง   แต่เศร้าทรวงสุดหวังที่ฝั่งฝา
ที่เห็นเห็นเป็นแต่ปะได้ประดา   ก็ลอบรักลักลาคิดอาลัย
จะแลเหลียวเปลี่ยวเนตรเป็นเขตสวน   มะม่วงพรวนหมากมะพร้าวสาวสาวไสว
พฤกษาออกดอกลูกเขาปลูกไว้   หอมดอกไม้กลิ่นกลบอบละอองฯ
    
๏ โอ้รื่นรื่นชื่นเชยเช่นเคยหอม   เคยถนอมนวลปรางมาหมางหมอง
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง   ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์ราม
สาธุสะพระองค์มาทรงสร้าง   เป็นเยี่ยงอย่างไว้ในภาษาสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม   โอรสราชอารามงามเจริญ
มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก   กุฏิตึกเก๋งกุฏิ์สุดสรรเสริญ
ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน   จนเรือเดินมาถึงทางบางขุนเทียน
โอ้เทียนเอ๋ยเคยแจ้งแสงสว่าง   มาหมองหมางมืดมิดตะขวิดตะเขวียน
เหมือนมืดในใจจนต้องวนเวียน   ไม่ส่องเทียนให้สว่างหนทางเลยฯ
    
๏ บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต   พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย   ได้พิงเขนยนอนอุ่นประทุนบังฯ
    
๏ ถึงคลองขวางบางระแนะแวะข้างขวา   ใครหนอมาแนะแหนกันแต่หลัง
ทุกวันนี้วิตกเพียงอกพัง   แนะให้มั่งแล้วก็เห็นจะเป็นการฯ
    
๏ ถึงวัดไทรไทรใหญ่ใบชอุ่ม   เป็นเซิงซุ้มสาขาพฤกษาศาล
ขอเดชะพระไทรซึ่งชัยชาญ   ช่วยอุ้มฉานไปเช่นพระอนิรุธ
ได้ร่วมเตียงเคียงนอนแนบหมอนหนุน   พออุ่นอุ่นแล้วก็ดีเป็นที่สุด
จะสังเวยหมูแนมแก้มมนุษย์   เทพบุตรจะได้ชื่นทุกคืนวันฯ
    
๏ ถึงบางบอนบอนที่นี่มีแต่ชื่อ   เขาเลื่องลือบอนข้างบางยี่ขัน
อันบอนต้นบอนน้ำตาลย่อมหวานมัน   แต่ปากคันแก้ไขมิใคร่ฟังฯ
    
๏ ถึงวัดกกรกร้างอยู่ข้างซ้าย   เป็นรอยรายปืนพม่าที่ฝาผนัง
ถูกทะลุปรุไปแต่ไม่พัง   แต่โบสถ์ยังทนปืนอยู่ยืนนาน
แม้นมั่งมีมิให้ร้างจะสร้างฉลอง   ให้เรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ด้วยที่นี่ที่เคยตั้งโขลนทวาร   ได้เบิกบานประตูป่าพนาลัยฯ
    
๏ โอ้อกเอ๋ยเลยออกประตูป่า   กำดัดดึกนึกน่าน้ำตาไหล
จะเหลียวหลังสั่งสาราสุดาใด   ก็จนใจด้วยไม่มีไมตรีตรึง
ช่างเป็นไรไพร่ผู้ดีก็มิรู้   ใครแลดูเราก็นึกรำลึกถึง
จะปรับไหมได้หรือไม่อื้ออึง   เป็นที่พึ่งพาสนาพอพาใจ
โอ้นึกนึกดึกเงียบยะเยียบอก   เห็นแต่กกกอปรงเป็นพงไสว
ลดาวัลย์พันพุ่มชอุ่มใบ   เรไรไพเราะร้องซ้องสำเนียง
เสียงกรอดเกรียดเขียดกบเข้าขบเขี้ยว   เหมือนกรับเกรี้ยวกรอดกรีดวะหวีดเสียง
หริ่งหริ่งแร่แม่ม่ายลองไนเรียง   แซ่สำเนียงหนาวในใจรำจวน
เหมือนดนตรีปี่ป่าประสายาก   ทั้งสองฟากฟังให้อาลัยหวน
ดังขับขานหวานเสียงสำเนียงนวล   เมื่อโอดครวญคราวฟังให้วังเวงฯ
    
๏ ถึงศีรษะกระบือเป็นชื่อบ้าน   ระยะย่านยุงชุมรุมข่มเหง
ทั้งกุมภากล้าหาญเขาพานเกรง   ให้วังเวงวิญญาณ์เอกากาย
ถึงศิษย์หามาตามเมื่อยามเปลี่ยว   เหมือนมาเดียวแดนไพรน่าใจหาย
ถึงศีรษะละหานเป็นย่านร้าย   ข้างฝั่งซ้ายแสมดำเขาทำฟืน
ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไต่ถาม   โคกมะขามดอกมิใช่อะไรอื่น
ไม่เห็นแจ้งแคลงทางเป็นกลางคืน   ยิ่งหนาวชื้นช้ำใจมาในเรือ
ถึงย่านซื่อสมชื่อด้วยซื่อสุด   ใจมนุษย์เหมือนกระนี้แล้วดีเหลือ
เป็นป่าปรงพงพุ่มดูครุมเครือ   เหมือนซุ้มเสือซ่อนร้ายไว้ภายใน
ถึงบ้านขอมลอมฟืนดูดื่นดาษ   มีอาวาสวัดวาที่อาศัย
ออกชะวากปากชลามหาชัย   อโณทัยแย้มเยี่ยมเหลี่ยมพระเมรุฯ
    
๏ ข้างฝั่งซ้ายชายทะเลเป็นลมคลื่น   นภางค์พื้นเผือดแดงดังแสงเสน
แม่น้ำกว้างว้างเวิ้งเป็นเชิงเลน   ลำพูเอนอ่อนทอดยอดระย้า
หยุดประทับยับยั้งอยู่ฝั่งซ้าย   แสนสบายบังลมร่มรุกขา
บรรดาเรือเหนือใต้ทั้งไปมา   คอยคงคาเกลื่อนกลาดไม่ขาดคราว
บ้างหุงต้มงมงายทั้งชายหญิง   บ้างแกงปิ้งปากเรียกกันเพรียกฉาว
เสียงแต่ตำน้ำพริกอยู่กริกกราว   เหมือนเสียงส้าวเกราะโกร่งที่โรงงานฯ
    
๏ เห็นฝูงลิงวิ่งตามกันสอสอ   มาคอยขอโภชนากระยาหาร
คนทั้งหลายชายหญิงทิ้งให้ทาน   ต่างลนลานล้วงได้เอาไพล่พลิ้ว
เวทนาวานรอ่อนน้อยน้อย   กระจ้อยร่อยกระจิริดจิดจีดจิ๋ว
บ้างเกาะแม่แลโลดกระโดดปลิว   ดูหอบหิ้วมิให้ถูกตัวลูกเลยฯ
    
๏ โอ้พ่อแม่แต่ชั้นลิงไม่ทิ้งบุตร   เพราะแสนสุดเสน่หานิจจาเอ๋ย
ที่ลูกอ่อนป้อนนมนั่งชมเชย   กระไรเลยแลเห็นน่าเอ็นดู
แต่ลิงใหญ่อ้ายทโมนมันโลนเหลือ   จนชาวเรือเมินหมดด้วยอดสู
ทั้งลิงเผือกเทือกเถามันเจ้าชู้   ใครแลดูมันนักมันยักคิ้ว
บ้างกระโดดโลดหาแต่อาหาร   ได้สมานยอดแสมพอแก้หิว
เขาโห่เกรียวประเดี๋ยวใจก็ไพล่พลิ้ว   กลับชี้นิ้วให้ดูอดสูตาฯ
    
๏ ได้ชมเล่นเห็นแต่นกวิหคกลุ้ม   เที่ยวดุ่มดุ่มเดินดินกินมัจฉา
กลางสมุทรผุดโผล่ล้วนโลมา   ดูหน้าตาแต่ละตัวน่ากลัวเกรง
ล้วนหัวบาตรวาดหางไปกลางคลื่น   ศีรษะลื่นเลี่ยนโล่งดูโจ่งเหม่ง
ดูมากมายหลายอย่างยิ่งวางเวง   จนน้ำขึ้นครื้นเครงเป็นคราวเรือ
บ้างถอนหลักชักถ่อหัวร่อร่า   บ้างก็มาบ้างก็ไปทั้งใต้เหนือ
บ้างขับร้องซ้องสำเนียงจนเสียงเครือ   ต่างเลี้ยวเรือลงหน้าบ้านท่าจีน
เป็นประมงหลงละโมบด้วยโลภลาภ   ไม่กลัวบาปเลยช่างนับแต่ทรัพย์สิน
ตลิ่งพังฝั่งชลาล้วนปลาตีน   ตะกายปีนเลนเล่นออกเป็นแปลงฯ
    
๏ ในลำคลองสองฟากล้วนจากปลูก   ทะลายลูกดอกจากขึ้นฝากแฝง
ต้นจากถูกลูกชิดนั้นติดแพง   เขาช่างแปลงชื่อถูกเรียกลูกชิด
ถึงบ้านบ่อกอจากมิอยากสิ้น   เหมือนจากถิ่นท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิต
อันใบจากรากกอไม่ขอคิด   แต่ลูกชิดชอบใจจะใคร่ชมฯ
    
๏ ถึงคลองที่อีรำท่าแร้งเรียก   สุดสำเหนียกที่จะถามความปฐม
เขาทำน้ำทำนาปลาอุดม   เป็นนิคมเขตบ้านพวกพรานปลา
ที่ปากคลองกองฟืนไว้ดื่นดาษ   ดูเกลื่อนกลาดเรียงรายทั้งซ้ายขวา
ถึงบางขวางข้างซ้ายชายชลา   ไขคงคาขังน้ำไว้ทำเกลือ
หรือบ้านนี้ที่เขาว่าตำราร่ำ   ช่างปั้นน้ำเป็นตัวน่ากลัวเหลือ
ดูครึ้มครึกพฤกษาลดาเครือ   ล้วนรกเรื้อรำเริงเป็นเซิงซุ้ม
ตะบูนต้นผลห้อยย้อยระย้า   ดาษดาดังหนึ่งผูกด้วยลูกตุ้ม
เป็นคราบน้ำคร่ำคร่าแตกตารุม   ดูกระปุ่มกระปิ่มตุ่มติ่มเต็ม
ลำพูรายชายตลิ่งดูกิ่งค้อม   มีขวากล้อมแหลมรายดังปลายเข็ม
เห็นปูเปี้ยวเที่ยวไต่กินไคลเค็ม   บ้างเก็บเล็มลากก้ามครุ่มคร่ามครัน
โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ   เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน
ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน   เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา
แม้นเมียออกลอกคราบไปคาบเหยื่อ   เอามาเผื่อภรรยาเมตตาเขา
ระวังดูอยู่ประจำทุกค่ำเช้า   อุตส่าห์เฝ้าฟูมฟักเพราะรักเมีย
ถึงทีผัวตัวลอกพอออกคราบ   เมียมันคาบคีบเนื้อเป็นเหยื่อเสีย
จึงเกิดไข่ไร้ผัวเที่ยวยั้วเยี้ย   ยังแต่เมียเคลื่อนคล้อยขึ้นลอยแพ
สมเพชสัตว์ทัศนาพฤกษาสล้าง   ล้วนโกงกางกุ่มแกมแซมแสม
สงัดเหงาเปล่าเปลี่ยวเมื่อเหลียวแล   เสียงแอ้แจ้จักจั่นหวั่นวิญญาณ์ฯ
    
๏ ถึงคลองนามสามสิบสองคดคุ้ง   ชะวากวุ้งเวียนซ้ายมาฝ่ายขวา
ให้หนูน้อยคอยนับในนาวา   แต่หนึ่งมาถ้วนสามสิบสองคด
อันคดอื่นหมื่นคดกำหนดแน่   เว้นเสียแต่ใจมนุษย์สุดกำหนด
ทั้งลวงล่องอเงี้ยวทั้งเลี้ยวลด   ถึงคลองคดก็ยังไม่เหมือนใจคนฯ
    
๏ ถึงปากช่องคลองชื่อสุนัขหอน   ทั้งเรือแพแลสลอนเสลือกสลน
ต่างแข็งข้อถ่อค้ำที่น้ำวน   คงคาข้นขุ่นตื้นแต่พื้นเลน
เข้ายัดเยียดเสียดแทรกบ้างแตกหัก   บ้างถ่อผลักอึดอัดขัดเขมร
บ้างทุ่มเถียงเสียงหญิงขึ้นเกนเกน   ล้วนโคลนเลนเปื้อนเปรอะเลอะทั้งตัว
ที่น้อยตัวผัวเมียลงลากฉุด   นางเมียหยุดผัวโกรธเมียโทษผัว
ด้วยยากเย็นเข็นฝืดทั้งมืดมัว   พอตึงตัวเต็มเบียดเข้าเสียดแซะ
ทั้งยุงชุมรุมกัดปัดเปรียะประ   เสียงผัวะผะพึบพับปุบปับแปะ
ที่เข็นเรียงเคียงลำขยำแขยะ   มันเกาะแกะกันจริงจริงหญิงกับชายฯ
    
๏ จนตกทางบางสะใภ้ครรไลล่อง   มีบ้านช่องซ้ายขวาเขาค้าขาย
ปลูกทับทิมริมทางสองข้างราย   ไม่เปล่าดายดกระย้าทั้งตาปี
บ้างดิบห่ามงามงอมจนค้อมกิ่ง   เป็นดอกติ่งแตกประดับสลับสี
บ้างแตกร้าวพราวเม็ดเพชรโนรี   เขาขายดีเก็บได้ใส่กระเชอ
มาตั้งขายฝ่ายเจ้าของไม่ต้องถือ   เห็นเรือล่องร้องว่าซื้อทับทิมเหนอ
จะพูดจาคารวะทั้งคะเออ   เสียงเหน่อเหน่อหน้าตาน่าเอ็นดู
นึกเสียดายหมายมั่นใคร่พันผูก   ไว้เป็นลูกสะใภ้ให้เจ้าหนู
พอนึกหยุดบุตรเราก็เจ้าชู้   อุตส่าห์รู้ร้องต่อจะขอชิม
เขาอายเอียงเมียงเมินทำเดินเฉย   ไม่เกินเลยลวนลามงามหงิมหงิม
ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม   พอแย้มยิ้มเฮฮาประสาชายฯ
    
๏ ถึงแม่กลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน   น่าสำราญเรือนเรือดูเหลือหลาย
บ้างย่างปลาค่าเคียงเรียงเรียงราย   ดูวุ่นวายวิ่งไขว่กันใหญ่น้อย
ขายสำเร็จเป็ดไก่ทั้งไข่พอก   กระเบนกระบอกปลาทูทั้งปูหอย
ลูกค้ารับนับกันเป็นพันร้อย   ปลาเล็กน้อยขมงโกรยโกยกระบุง
นางแม่ค้าปลาเค็มก็เต็มสวย   กำไรรวยรวมประจบจนครบถุง
บ้างเหน็บท้องป่องปุ่ยตุ่ยตุ่ยตุง   ต่างบำรุงรูปร่างสำอางตาฯ
    
๏ พอออกช่องล่องลำแม่น้ำกว้าง   บ้านบางช้างแฉกแชไปแควขวา
ข้างซ้ายตรงลงทะเลพอเวลา   พระสุริยามืดมัวทั่วแผ่นดิน
ดูซ้ายขวาป่าปะโลงหวายโป่งเป้ง   ให้วังเวงหวั่นไหวฤทัยถวิล
เวลาเย็นเห็นนกวิหคบิน   ไปหากินแล้วก็พากันมารัง
บ้างเคียงคู่ชูคอเสียงซ้อแซ้   โอ้แลแลแล้วก็ให้อาลัยหลัง
แม้นร่วมเรือนเหมือนนกที่กกรัง   จะได้นั่งแนบข้างเหมือนอย่างนก
นี่กระไรไม่มีเท่ากี่ก้อย   โอ้บุญน้อยนึกน่าน้ำตาตก
ต้องลมว่าวหนาวหนังเหมือนคั้งคก   จะได้กกกอดใครก็ไม่มี
จนเรือออกนอกอ่าวดูเปล่าโว่ง   ทะเลโล่งแลมัวทั่ววิถี
ไม่เห็นหนสนธยาเป็นราตรี   แต่ลมดีดาวสว่างกระจ่างตา
สำรวลรื่นคลื่นราบดังปราบเรี่ยม   ทั้งน้ำเปี่ยมป่าแสมข้างแควขวา
ดาวกระจายพรายพร่างกลางนภา   แสงคงคาเค็มพราวราวกับพลอย
เห็นปลาว่ายกายสล้างกระจ่างแจ่ม   แลแอร่มเรืองรุ่งชั้นกุ้งฝอย
เป็นหมู่หมู่ฟูฟ่องขึ้นล่องลอย   ตัวน้อยน้อยนางมังกงขมงโกรย
ชื่นอารมณ์ชมปลาเวลาดึก   หวนรำลึกแล้วเสียดายไม่วายโหย
แม้นเห็นปลาวารินจะดิ้นโดย   ทั้งลมโชยเฉื่อยชื่นระรื่นเย็น
จะเพลินชมยมนาเวหาห้อง   เช่นนี้น้องไหนเลยจะเคยเห็น
ทะเลโล่งโว่งว่างน้ำค้างกระเซ็น   ดูดาวเด่นดวงสว่างเหมือนอย่างโคม
จะเปรมปรีดิ์ดีใจมิใช่น้อย   น้องจะพลอยเพลินอารมณ์ด้วยชมโฉม
โอ้อายจิตคิดรักลักประโลม   ทรวงจะโทรมตรงช่องปากคลองโคน
ด้วยมืดค่ำสำคัญที่นั่นแน่   เรียกแสมตายห่าพฤกษาโกร๋น
ลำพูรายชายเลนดูเอนโอน   วายุโยนยอดระย้าริมสาคร
หิ่งห้อยจับวับวามอร่ามเหลือง   ดูรุ่งเรืองรายจำรัสประภัสสร
เหมือนแหวนก้อยพลอยพรายเมื่อกรายกร   ยังอาวรณ์แหวนประดับด้วยลับตาฯ
    
๏ ถึงคลองช่องล่องเลียบเงียบสงัด   เห็นเมฆกลัดกลางทะเลบนเวหา
เสียงโครมครื้นคลื่นกระทั่งฝั่งชลา   ลมสลาตันตึงหึ่งหึ่งฮือ
นาวาเหเซหันให้ปั่นป่วน   ต้องแจวทวนท้ายหันช่วยกันถือ
ถึงสี่แจวแล้วเรือยังเหลือมือ   ลมกระพือพัดโงงดูโคลงเคลง
ทั้งคลื่นซ้ำน้ำซัดให้ปัดปั่น   โอ้แต่ชั้นคลื่นลมยังข่มเหง
น่าอายเพื่อนเหมือนคำเขาทำเพลง   มาเท้งเต้งเรือลอยน่าน้อยใจ
ยิ่งแจวทวนป่วนปั่นยิ่งหันเห   ลมทะเลเหลือจะต้านทานไม่ไหว
เสียงสวบเสยเกยตรงเข้าพงไพร   ติดอยู่ใต้ต้นโกงกางแต่กลางคืน
พอจุดเทียนเซี่ยนขันน้ำมันคว่ำ   ต้องวิดน้ำนาวาไม่ฝ่าฝืน
เสื่อที่นอนหมอนนวมน้ำท่วมชื้น   เหลือแต่ผืนผ้าแพรของแม่น้อง
ได้กันลมห่มหนาวเมื่อเช้าตรู่   ยังรักรู้จักคุณการุญสนอง
ลมรินรินกลิ่นกลบอบละออง   ได้ปกครองคุมเครือเมื่อเรือค้างฯ
    
๏ เขาหลับเรื่อยเหนื่อยอ่อนนอนสนิท   พี่นี้คิดใคร่ครวญจนจวนสว่าง
เสียงนกร้องซ้องแซ่ครอแครคราง   ทั้งลิงค่างครอกโครกละโอกโอย
เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน   วิเวกหวานหวัวหวัวผัวผัวโหวย
หวิวหวิวไหวได้ยินยิ่งดิ้นโดย   ชะนีโหยหาคู่ไม่รู้วาย
เหมือนวิตกอกน้องที่ตรองตรึก   เหลือรำลึกอาลัยมิใคร่หาย
จะเรียกบ้างอย่างชะนีก็มีอาย   ต้องเรียกสายสวาทในใจรำจวน
จนรุ่งแจ้งแสงสว่างนภางค์พื้น   ต้องค้างตื้นติดป่าพากันสรวล
จะเข็นค้ำล้ำเหลือเป็นเรือญวน   พอเห็นจวนน้ำขึ้นค่อยชื่นใจ
ต้นแสมแลดูล้วนปูแสม   ขึ้นไต่แต่ต้นกิ่งวิ่งไสว
เขาสั่นต้นหล่นผอยผ็อยผ็อยไป   ลงมุดใต้ตมเลนเห็นแต่ตาฯ
    
โอ้เอ็นดูหนูน้อยร้องหอยเหาะ   ขึ้นไปเกาะกิ่งตลอดยอดพฤกษา
ล้วนจุ๊บแจงแผลงฤทธิ์เขาปลิดมา   กวักตรงหน้าเรียกให้มันได้ยิน
จุ๊บแจงเอ๋ยเผยฝาหาข้าวเปียก   แม่ยายเรียกจะให้ไปกฐิน
ทั้งงวงทั้งงาออกมากิน   ช่วยปัดริ้นปัดยุงกระทุงราย
เขาร่ำเรียกเพรียกหูได้ดูเล่น   มันอยากเป็นลูกเขยทำเงยหงาย
เยี่ยมออกฟังทั้งตัวกลัวแม่ยาย   โอ้นึกอายด้วยจุ๊บแจงแกล้งสำออย
เหมือนจะรู้อยู่ในเล่ห์เสน่หา   แต่หากว่าพูดยากเป็นปากหอย
เปรียบเหมือนคนจนทุนทั้งบุญน้อย   จะกล่าวถ้อยออกไม่ได้ดังใจนึก

พอลอยลำน้ำมากออกจากป่า   ได้แอบอาศัยแสมอยู่แต่ดึก
ในดงฟืนชื่นชุ่มทุกพุ่มพฤกษ์   ผู้ใดนึกฟันฟาดให้คลาดแคล้ว
แล้วเคลื่อนคลาลาจากปากคลองช่อง   ไปตามร่องน้ำหลักปักเป็นแถว
ข้ามยี่สานบ้านสองพี่น้องแล้ว   ค่อยคล่องแคล่วเข้าชะวากปากตะบูน
น้ำยังน้อยค่อยค้ำพอลำเลื่อน   ไม่มีเพื่อนเรือประหลาดช่างขาดสูญ
ในคลองลัดทัศนายิ่งอาดูร   เป็นดินพูนพานจะตื้นแต่พื้นโคลน
ป่าปะโลงโกงกางแกมแสม   แต่ล้วนแต่ตายฝอยกรองกร๋อยโกร๋น
ตลอดหลามตามตลิ่งล้วนลิงโลน   อ้ายทโมนนำหน้าเที่ยวคว้าปู
ครั้นล้วงชุดสุดอย่างเอาหางยอน   มันหนีบนอนร้องเกลือกเสือกหัวหู
เพื่อนเข้าคร่าหน้าหลังออกพรั่งพรู   ลากเอาปูออกมาได้ไอ้กะโต
ทั้งหอยแครงแมงดามันหาคล่อง   ฉีกกระดองกินไข่มิใช่โง่
ได้อิ่มอ้วนท้วนหมดไม่อดโซ   อกเอ๋ยโอ้เอ็นดูหมู่แมงดา
ให้สามีขี่หลังเที่ยวฝั่งแฝง   ตามหล้าแหล่งเลนเค็มเล็มภักษา
เขาจับเป็นเห็นสมเพชเวทนา   ทิ้งแมงดาผัวเสียเอาเมียไป
ฝ่ายตัวผู้อยู่เดียวเที่ยวไม่รอด   เหมือนตาบอดมิได้แจ้งตำแหน่งไหน
ต้องอดอยากจากเมียเสียน้ำใจ   ก็บรรลัยแลกลาดดาษดา
แม้นเดี๋ยวนี้มีหญิงไม่ทิ้งผัว   ถึงรูปชั่วฉันจะรักให้หนักหนา
โอ้อาลัยใจอย่างนางแมงดา   แต่ดูหน้าในมนุษย์เห็นสุดแลฯ
    
๏ จนออกช่องคลองบางตะบูนใหญ่   ล้วนป่าไม้ตีนเป็ดเสม็ดแสม
นกกะลางยางกรอกกระรอกกระแต   เสียงซ้อแซ้สองข้างทางกันดารฯ
    
๏ ถึงที่วังตั้งประทับรับเสด็จ   มาทรงเบ็ดปลากะโห้ไม่สังหาร
ให้ปล่อยไปในทะเลเอาเพดาน   แต่โบราณเรียกว่าองค์พระทรงปลา
แต่เดี๋ยวนี้ที่วังก็รั้งร้าง   เป็นรอยทางทุบปราบราบรุกขา
ยังแลเลี่ยนเตียนดีที่พลับพลา   นึกระอาอนิจจังไม่ยั่งยืน
เดิมเป็นป่ามาเป็นวังตั้งประทับ   แล้วก็กลับไปเป็นป่าไม่ฝ่าฝืน
เหมือนมียศลดลงไม่คงคืน   นึกสะอื้นอายใจมาในเรือฯ
    
๏ ถึงบางหอหอใครที่ไหนหนอ   มาปลูกหอเสน่หาในป่าเสือ
อันย่านนี้ที่บนบกก็รกเรื้อ   ทั้งทางเรือจระเข้ก็เฉโก
ถึงเจ้าสาวชาวสวรรค์ฉันไม่อยู่   จะโศกสู้เอกาอนาโถ
ด้วยพรั่นตัวกลัวเสือก็เหลือโซ   เห็นแต่โพธิ์ทะเลจระเข้ลอย
ทั้งเหลืองดำคร่ำคร่าล้วนกล้าแกล้ว   จนเรือแจวจวนใกล้มิใคร่ถอย
ดูน่ากลัวตัวใหญ่มิใช่น้อย   ต่างคนคอยภาวนาอุตส่าห์สำรวม
เห็นนกบินกินปลาล้วนน่ารัก   นกปักหลักลงน้ำเสียงต้ำป๋วม
นกกระเต็นเต้นตามนกกามกวม   กับเหี้ยต้วมเตี้ยมต่ายตามชายเลนฯ
    
๏ ไปครู่หนึ่งถึงเขาตะคริวสวาท   มีอาวาสวัดวามหาเถร
มะพร้าวรอบขอบที่บริเวณ   พอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญ
กับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้   จะขึ้นไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐาน
เขานับถือลืออยู่แต่บุราณ   ใครบนบานพระรับช่วยดับร้อน
ขึ้นลานวัดทัศนาดูอาวาส   ศิลาลาดเลียบเดินเนินสิงขร
พฤกษาออกดอกช่ออรชร   หอมขจรจำปาสารภี
ต้นโพธิ์ไทรไม้งอกตามซอกหิน   อินทนิลนางแย้มสอดแซมสี
เหล่าลั่นทมร่มรอบขอบคิรี   สุมาลีหล่นกลาดดูดาษดิน
ได้ชมเพลินเดินมาถึงหน้าโบสถ์   สมาโทษถือเทียนเวียนทักษิณ
เคารพสามตามกำหนดหมดมลทิน   กับหนูนิลหนูพัดเข้ามัสการ
ได้สรงน้ำชำระพระสัมฤทธิ์   ถวายธูปเทียนอุทิศพิษฐาน
ขอเดชะพระสัมฤทธิ์พิสดาร   ท่านเชี่ยวชาญเชิญช่วยด้วยสักครั้ง
ให้ได้แหวนแทนทรงสักวงหนึ่ง   กับแพรซึ่งหอมห่มให้สมหวัง
แม้นได้ของสองสิ่งเห็นจริงจัง   จะแต่งตั้งบายศรีมีละคร
ทั้งเทียนเงินเทียนทองของเสวย   เหมือนเขาเคยบูชาหน้าสิงขร
สาธุสะพระสัมฤทธิ์ประสิทธิ์พร   ให้ได้นอนฟูกฟูเหมือนชูชกฯ
    
๏ แล้ววันทาลาเลียบลงเหลี่ยมเขา   พอบังเงาแดดร่มทั้งลมตก
ออกนาวามาทางบ้านบางครก   มะพร้าวดกดูสล้างสองข้างคลอง
มีส้มสูกลูกไม้เหมือนในสวน   ตลอดล้วนเรียงรายเรียกขายของ
เขาเลียนล้อต่อถามตามทำนอง   ไม่ยิ้มย่องนิดหน่อยอร่อยใจ
จนเรือออกนอกชะวากปากบางครก   ต้องเลี้ยววกไปตามลำแม่น้ำไหล
เป็นถิ่นฐานบ้านนาป่ารำไร   เขาทำไร่ถั่วผักปลูกฟักแฟง
แต่ฟักทองร้องเรียกว่าน้ำเต้า   ฟักเขียวเล่าเรียกว่าขี้พร้าแถลง
ล้วนเลี้ยงวัวทั่วถิ่นได้กินแรง   แต่เสียงแปร่งเปรี้ยวหูไม่รู้กลัว
เจ้าสำนวนชวนตีแต่ฝีปาก   พูดด้วยยากชาวบางกอกจนกลอกหัว
แสนแสงอนค้อนว่าค่อนด่าวัว   เขาตัดหัวแขนห้อยร้อยประการ
ล้วนแช่งซ้ำล้ำเหลืออ้ายเสือขบ   ลำเลิกทบทวนชาติเสียงฉาดฉาน
อ้ายวัวเฒ่าเขาล้มคือสมภาร   มันขี้คร้านทดข้าวเขาจึ่งแทงฯ
    
๏ ถึงบ้านใหม่ไถ่ถามตามสงสัย   ว่ายังไกลอยู่หรือบ้านท่านขุนแขวง
ไม่บอกก่อนย้อนถามเป็นความแคลง   จะพายแรงหรือว่านายจะพายเบา
ถ้าพายหนักสักครู่หนึ่งก็ถึงดอก   สำนวนนอกน้ำเพชรแล้วเข็ดเขา
บ้างโห่ฉาวกราวเกรียวเกี่ยวข้าวเบา   บ้างตั้งเตาเคี่ยวตาลพานอุดมฯ
    
๏ ถึงบางกุ่มหนุ่มแก่สาวแซ่ซ้อง   มีบ้านสองฟากข้ามนามประถม
ข้างซ้ายมือชื่อบ้านสะท้านยายนม   น่าใคร่ชมชื่นจิตคิดรำพึง
อย่างไรหรือชื่อเช่นนั้นขันหนักหนอ   หรือแกล้งล้อจะให้นึกรำลึกถึง
ถึงบ้านโพธิ์โอ้นึกไปลึกซึ้ง   เคยมาพึ่งพักร้อนแต่ก่อนไร
กับขุนรองต้องเป็นแพ่งตำแหน่งพี่   สถิตที่ทับนาพออาศัย
เป็นคราวเคราะห์เพราะนางนวลมากวนใจ   จึงจำใจให้หมองหมางเพราะขวางคอ
นึกชมบุญขุนรองร้องท่านแพ่ง   เธอซ่อมแปลงปลูกทับกลับเป็นหอ
จนผู้เฒ่าเจ้าเมืองนั้นเคืองพอ   เพราะล้วงคอเคืองขัดถึงตัดรอนฯ
    
๏ โอ้สงสารท่านรองเคยครองรัก   เมื่อมาพักบ้านโพธิ์สโมสร
เคยร่วมใจไหนจะร่วมนวมที่นอน   ทั้งร่วมร้อนร่วมสุขสนุกสบาย
แต่เดือนสี่ปีระกานิราร้าง   ไปอยู่บางกอกไกลกันใจหาย
เห็นถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่อนหญิงชาย   แสนเสียดายดูหน้านึกอาลัยฯ
    
๏ ถึงต้นตาลบ้านคุณหม่อมบุนนาค   เมื่อยามยากจนมาได้อาศัย
มารดาเจ้าคราวพระวังหลังครรไล   มาทำไร่ทำนาท่านการุญ
เมื่อเจ็บป่วยช่วยรักษาจะหาคู่   จะขอสู่ให้เป็นเนื้อช่วยเกื้อหนุน
ยังยากไร้ไม่มีของสนองคุณ   ขอแบ่งบุญให้ท่านทั่วทุกตัวตน
ทั้งนารีที่ได้รักลักรำลึก   เป็นแต่นึกลับหลังหลายครั้งหน
ขอสมาอย่าได้มีราคีปน   เป็นต่างคนต่างแคล้วแล้วกันไป
แต่ปรางทองน้องหญิงยังจริงจิต   แนบสนิทนับเชื้อว่าเนื้อไข
จะแวะหาสารพัดยังขัดใน   ต้องอายใจจำลากลัวช้าการฯ
    
๏ ถึงอารามนามที่กุฎีทอง   ดูเรืองรองรุ่งโรจน์โบสถ์วิหาร
ริมอารามข้ามน้ำทำตะพาน   นมัสการเดินมาในวารี
ถึงคุ้งเคี้ยวเลี้ยวลดชื่อคดอ้อย   ตะวันคล้อยคล้ำฟ้าในราศี
ค่อยคล่องแคล่วแจวรีบถึงพริบพรี   ประทับที่หน้าท่าพลับพลาชัย
ด้วยวัดนี้ที่สำหรับประทับร้อน   นรินทรท้าวพระยามาอาศัย
ขอเดชะอานุภาพช่วยปราบภัย   ให้มีชัยเหมือนเช่นนามอารามเมือง
ดูเรือแพแซ่ซ้องทั้งสองฟาก   บ้างขายหมากขายพลูหนวกหูเหือง
นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง   ดูนองเนืองนาวาบ้างมาไปฯ
    
๏ ได้เยี่ยมเยือนเรือนบ้านท่านขุนแพ่ง   มาปลูกแปลงแปลกกว่าเมื่ออาศัย
ด้วยศึกลาวคราวนั้นเธอบรรลัย   ไม่มีใครครอบครองจึ่งหมองมัว
แสนสงสารท่านผู้หญิงมิ่งเมียหลวง   เฝ้าข้อนทรวงเสียใจอาลัยผัว
ทั้งเมียน้อยอ้อยอิ่งหญิงคนครัว   พากันมัวหมองคล้ำระกำตรอม
เมื่อมาเรือนเยือนศพได้พบพักตร์   ไม่หมองนักคราวนี้รูปช่างซูบผอม
เพราะครวญคร่ำกำสรดสู้อดออม   เหมือนแก่งอมหงิมเงียบเซียบสำเนียง
โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้   ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง   เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ
โอ้คิดคุณขุนแพ่งเสียแรงรัก   ไม่พบพักตร์พลอยพาน้ำตาไหล
ได้สวดทั้งบังสุกุลแบ่งบุญไป   ให้ท่านได้สู่สวรรค์ชั้นวิมานฯ
    
๏ แล้วอำลาอาลัยใจจะขาด   จำนิราศแรมร้างห่างสถาน
ลงเรือจอดทอดท่าหน้าตะพาน   แสนสงสารศิษย์หาออกมาอึง
เห็นหน้าน้องทองมีอารีรัก   ครั้นจะทักเล่าก็กลัวผัวจะหึง
ได้เคยเห็นเป็นฝีมือมักดื้อดึง   จะตูมตึงแตกซ้ำระยำเยิน
ทั้งที่ปรางค์นางใหญ่ได้ให้ผ้า   เมื่อครั้งมาสอนบุตรสุดสรรเสริญ
ได้ห่มหนาวคราวระกำจงจำเริญ   ยังเชื้อเชิญชวนชักรักอารมณ์ฯ
    
๏ แล้วไปบ้านท่านแพ่งตำแหน่งใหม่   ยังรักใคร่ครองจิตสนิทสนม
ที่ธุระจะใคร่ได้ใจนิยม   เขารับสมปรารถนาสามิภักดิ์
จะกลับหลังยังมิได้ดั่งใจชั่ว   ต้องไปทั่วบ้านเรือนเพื่อนรู้จัก
เมื่อเป็นบ้ามาคนเดียวเที่ยวสำนัก   เขารับรักรู้คุณกรุณา
ที่ไหนไหนไมตรียังดีสิ้น   เว้นแต่อินวัดเกศของเชษฐา
ช่างตัดญาติขาดเด็ดไม่เมตตา   พอเห็นหน้าน้องก็เบือนไม่เหมือนเคย
โอ้คิดแค้นแหวนประดับกับแพรเพลาะ   เป็นคราวเคราะห์เพราะเป็นบ้านิจจาเอ๋ย
จนรักตายกลายตอเป็นกอเตย   ไม่เห็นเลยว่าจะเป็นไปเช่นนั้นฯ
    
๏ โอ้คิดถึงพึ่งบุญท่านขุนแพ่ง   ไปหน้าแล้งรับแขกแรกวสันต์
ตำข้าวเม่าเคล้าน้ำตาลทั้งหวานมัน   ได้ช่วยกันคั้นขยำน้ำกะทิ
เขาไปเที่ยวเกี่ยวข้าวอยู่เฝ้าห้อง   เหมือนพี่น้องนึกโอ้อโหสิ
เนื้อเอ๋ยเนื้อเหลือเจ็บจนเล็บลิ   ยังปริปริปริ่มพร้อยเป็นรอยราย
ครั้นไปเยือนเรือนหลานบ้านวัดเกาะ   ยังทวงเพลาะแพรดำที่ทำหาย
ต้องใช้สีทับทิมจึ่งยิ้มพรายฯ   วิลาสลายลอยทองสนองคุณฯ
    
๏ แล้วไปบ้านตาลเรียงเคียงบ้านไร่   ที่นับในน้องเนื้อช่วยเกื้อหนุน
พอวันนัดชัดน้ำเขาทำบุญ   เห็นคนวุ่นหยุดยั้งยืนรั้งรอ
เขาว่าน้องของเราเป็นเจ้าสาว   ไม่รู้ราวเรื่องเร่อมาเจอหอ
เหมือนจุดไต้ว่ายน้ำมาตำตอ   เสียแรงถ่อกายมาก็อาภัพ
จะแทนบุญคุณมาประสายาก   ต้องกระดากดังหนึ่งศรกระดอนกลับ
ได้ฝากแต่แพรผ้ากับป้าทรัพย์   ไว้สำรับหนึ่งนั้นทำขวัญน้อง
ไปปีหนึ่งครึ่งปีเมื่อมีลูก   จะมาผูกมือบ้างอย่าหมางหมอง
แล้วมาเรือเหลือรำลึกเฝ้าตรึกตรอง   เที่ยวฉลองคุณท่านทุกบ้านเรือนฯ
    
๏ แค้นแต่ขำกรรมอะไรไฉนน้อง   เฝ้าท้องท้องทุกทุกปีไม่มีเหมือน
ช่างกระไรใจจิตไม่บิดเบือน   จะไปเยือนเล่าก็รู้ว่าอยู่ไฟ
จึงฝากคำทำกลอนไว้สอนสั่ง   เมื่อมิฟังพี่ห้ามตามวิสัย
พอวันพระศรัทธาพากันไป   เที่ยวแวะไหว้พระอารามตามกำลัง
พระพุทธเจ้าหลวงสร้างแต่ปางหลัง   สาธุสะพระนอนสิงขรเขา
ยี่สิบวาฝากั้นเป็นบัลลังก์   ดูเปล่งปลั่งปลื้มใจกระไรเลย
พระเนตรหลับทับพระบาทไสยาสน์เหยียด   อ่อนละเมียดอาสนะพระเขนย
พระเจ้างามยามประทมน่าชมเชย   ช่วยรำเพยพัชนีนั่งวีลม
แล้วนึกว่าหน้าหนาวมาคราวนี้   ถึงแท่นที่พระสถิตสนิทสนม
ยังมีแต่แพรหอมถนอมชม   ได้คลี่ห่มหุ้มอุระพระประธาน
อุทิศว่าผ้านี้ของพี่น้อง   ฝ่ายเจ้าของขาดรักสมัครสมาน
มาห่มพระจะให้ผลดลบันดาล   ได้พบพานภายหน้าสถาพร
ทั้งรูปงามทรามประโลมโฉมแฉล้ม   ขอให้แก้มสองข้างอย่างเกสร
ทั้งเนื้อหอมพร้อมสิ้นกลิ่นขจร   คนแสนงอนให้มาง้อมาขอชิม
หนึ่งผ้าข้าได้ห่มประทมพระ   ขอทิฏฐะจงเห็นเป็นปัจฉิม
ให้มีใหม่ได้ดีสีทับทิม   ทั้งขลิบริมหอมฟุ้งปรุงสุคนธ์
ทั้งศิษย์หาผ้ามีต่างคลี่ห่ม   คลุมประทมพิษฐานการกุศล
ขอเนื้อหอมพร้อมกันเหมือนจันทน์ปน   ได้เยาะคนขอจูบรักรูปเราฯ
    
๏ แล้วลดเลี้ยวเที่ยวไปบันไดอิฐ   ต่างเพลินพิศเพิงผารุกขาเขา
จิกจันทน์แจงแทงทวยกรวยกันเกรา   โมกข์แมงเม่าไม้งอกซอกศิลา
เหล่าลั่นทมยมโดยร่วงโรยกลิ่น   ระรวยรินรื่นรื่นชื่นนาสา
โบสถ์วิหารลานวัดทัศนา   ล้วนศิลาแลสะอาดด้วยกวาดเตียน
มีกุฎีที่พระสงฆ์ทรงสถิต   พฤกษาชิดชั้นไผ่เหมือนไม้เขียน
น่าสนุกรุกขชาติดาษเดียร   เที่ยวเดินเวียนวงรอบขอบคีรีฯ
    
๏ พอแดดร่มลมชายสบายจิต   เที่ยวชมทิศทุ่งทางกลางวิถี
ทั่วประเทศเขตแคว้นแดนพริบพรี   เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล
ที่พวกทำน้ำโตนดประโยชน์ทรัพย์   มีดสำหรับเหน็บข้างอย่างทหาร
พะองยาวก้าวตีนปีนทะยาน   กระบอกตาลแขวนกันคนละพวง
แต่ใจดีที่ว่าใครเข้าไปขอ   ให้กินพออิ่มอุทรบห่อนหวง
ได้ชื่นฉ่ำน้ำตาลหวานหวานทรวง   ขึ้นเขาหลวงเลียบเดินเนินบันได
ดูเย็นชื่นรื่นร่มพนมมาศ   รุกขชาติช่อดอกออกไสว
บ้างหล่นร่วงพวงผกาสุมาลัย   ต่างเด็ดได้เดินดมบ้างชมดวง
ภุมรินบินว่อนเที่ยวร่อนร้อง   เหมือนเสียงฆ้องหึ่งหึ่งล้วนผึ้งหลวง
เวียนประเวศเกษราบุปผาพวง   ได้เชยดวงดอกไม้เหมือนใจจงฯ
    
๏ โอ้อกน้องท่องเที่ยวมาเปลี่ยวจิต   ไม่มีมิตรที่จะชมสมประสงค์
กับหนูน้อยพลอยเพลินเที่ยวเดินวง   ขึ้นถึงองค์พระเจดีย์บนคีริน
ต่างเหนื่อยบอบนอบน้อมอยู่พร้อมพรั่ง   บ้างหยุดนั่งเอนนอนกับก้อนหิน
เห็นประเทศเขตแคว้นในแดนดิน   มีบ้านถิ่นทิวไม้ไรไรราย
คีรีรอบขอบเขื่อนดูเหมือนเมฆ   แลวิเวกหวาดหวั่นยิ่งขวัญหาย
เห็นทะเลเคหาหน้าหาดทราย   ดูเรียงรายเรี่ยเรี่ยเตี้ยติดดิน
ได้ชมเพลินเมินมุ่งดูทุ่งกว้าง   มีแถวทางเถื่อนท่าชลาสินธุ์
ฝูงวิหคนกกาเที่ยวหากิน   บ้างโบยบินว้าว่อนบ้างร่อนเรียง
ที่ไร้คู่อยู่เดียวก็เที่ยวร้อง   ประสานซ้องสกุณาภาษาเสียง
กินปลีเปล้าเขาไฟจับไม้เรียง   กรอดเคียงคู่กรอดแล้วพลอดเพลิน
รอกกระแตแลโลดกระโดดแล่น   กระต่ายเต้นตามลำเนาภูเขาเขิน
ที่ทุ่งกว้างกลางหนเห็นคนเดิน   หาบน้ำตาลคานเยิ่นหยอกเอินกัน
ทั้งล้อเกวียนเดียรดาษดูกลาดเกลื่อน   ทุกถิ่นเถื่อนทุ่งแถวแพ้วจังหัน
โสมนัสทัศนาจนสายัณห์   แล้วพากันเข้าในถ้ำน่าสำราญฯ
    
๏ มีพระไสยาสน์พระบาทเหยียด   คนมันเบียดเบียนขุดสุดสงสาร
พระทรวงพังทั้งพระเพลาก็ร้าวราน   โอ้ชาวบ้านช่างไม่สร้างขึ้นบ้างเลย
ทั้งผนังพังทับอยู่กับถ้ำ   โอ้นึกน้ำตาตกเจียวอกเอ๋ย
ดูว้างเวิ้งเชิงพนมน่าชมเชย   ต่างแหงนเงยชมชะง่อนก้อนศิลา
เป็นลดหลั่นชั้นช่องมีห้องหับ   แลสลับเลื่อมคล้ายลายเลขา
กลางคิรินหินห้อยย้อยระย้า   ดาษดาดูดูดังพู่พวง
ฉะเช่นนี้มีฤทธิ์จะคิดช้อน   เอาสิงขรเข้าไปตั้งริมวังหลวง
เห็นหนุ่มสาวชาวบุรินสิ้นทั้งปวง   จะแหนหวงห้องหับถึงจับกุม
เขาตั้งอ่างกลางถ้ำมีน้ำย้อย   ดูผ็อยผ็อยเผาะลงที่ตรงหลุม
เป็นไคลคล้ำน้ำแท่งกลับแข็งคุม   เป็นหินหุ้มอ่างอิฐสนิทดีฯ
    
๏ แล้วเดินดูภูผาศิลาเลื่อม   บ้างงอกเงื้อมเงาระยับสลับสี
เป็นห้องน้อยรอยหนังสือลายมือมี   คิดถึงปีเมื่อเป็นบ้าเคยมานอน
ชมลูกจันกลั่นกลิ่นระรินรื่น   จนเที่ยงคืนแขนซ้ายกลายเป็นหมอน
เห็นห้องหินศิลาน่าอาวรณ์   เคยกล่าวกลอนกล่อมช้าโอ้ชาตรี
พอจวนรุ่งฝูงนกวิหคร้อง   เรไรซ้องเสียงจังหรีดดังดีดสี
คิดคะนึงถึงตัวกลัวต้องตี   ต่อช้าปีจึงค่อยวายฟายน้ำตา
โอ้ยามยากจากบุรินมาถิ่นเถื่อน   ไม่มีเรือนแรมอยู่ในคูหา
เดือนสว่างต่างไต้เมื่อไสยา   แผ่นศิลาต่างฟูกกระดูกเย็น
ยังรินรินกลิ่นกลั่นจันทน์กระแจะ   เหมือนจะแนะนำจิตให้คิดเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น   โอ้จำเป็นเป็นกรรมจึงจำไกล
มาเห็นถ้ำน้ำตาลงพรากพราก   แต่เพื่อนยากยังไม่เห็นว่าเป็นไฉน
จะไปเรือนเยือนเยี่ยมก็เจียมใจ   ขอสั่งไว้เถิดถ้ำที่ช้ำทรวง
อันถ้ำนี้ที่มนุษย์หยุดกินน้ำ   มิใช่ถ้ำของอิเหนาถ้ำเขาหลวง
เขาช่วยเล่าเถิดว่าเขาไม่ล่อลวง   แต่เขาหวงเขาห้ามต้องขามใจ
จึงเขียนกลอนนอนค้างไว้ต่างพักตร์   หวังประจักษ์มิ่งมิตรพิสมัย
จะภิญโญโมทนาให้อาภัย   อย่าน้อยใจเลยถ้ำขออำลาฯ
    
๏ แล้วลัดออกนอกลำเนาภูเขาหลวง   ดูเด่นดวงเดือนสว่างกลางเวหา
โอ้เย็นฉ่ำน้ำค้างที่กลางนา   เสียงปักษาเพรียกพลอดบนยอดตาล
มาตามทางหว่างโตนดลิงโลดจิต   แต่พวกศิษย์แสนสุขสนุกสนาน
เห็นกระต่ายไล่โลดโดดทะยาน   เสียงลูกตาลกรากตึงตะลึงแล
ต่างชิมชมดมเดินเจริญรื่น   เที่ยวชมชื่นเขตแขวงด้วยแสงแข
ต่างลดเลี้ยวเที่ยวเด็ดดอกแคแตร   ได้เห็นแต่นกน้อยต้อยตีวิด
สักสองยามตามทักล้วนปักษา   เสียงแจ้วจ้าจ้อยเจี๋ยวเตี๋ยวเตี๋ยวติด
โอ้ฟังฟังหวังสวาทไม่ขาดคิด   ช่างไม่ผิดเสียงสาวชาวพริบพรีฯ
    
๏ แล้วเลี้ยวลงตรงหน้าวัดพระธาตุ   พอเดือนคลาดคล้อยจำรัสรัศมี
ดูพระปรางค์กลางอารามก็งามดี   แต่ไม่มีเงาบ้างเป็นอย่างไร
สาธุสะพระมหาตถาคต   ยังปรากฏมิได้เสื่อมที่เลื่อมใส
พอไก่ขันวันทาลาครรไล   ลงเรือใหญ่ล่องมาถึงธานีฯ
    
๏ จึงจดหมายรายความตามสังเกต   ถิ่นประเทศแถวทางกลางวิถี
ให้อ่านเล่นเป็นเรื่องเมืองพริบพรี   ผู้ใดมีคุณก็ได้ไปแทนคุณ
ทั้งผ้าหอมย้อมเหลืองได้เปลื้องห่ม   พระประทมที่ลำเนาภูเขาขุน
กุศลนั้นบรรดาที่การุญ   รับส่วนบุญเอาเถิดท่านที่อ่านเอยฯ

ผลงาน
หนังสือบทกลอนที่สุนทรภู่เเต่งมีมากมาย ที่ได้ยินเเต่ชื่อเรื่องยังหาฉบับไม่พบก็มี ที่หายสาบสูญไปเเล้วไม่ได้ยินชื่อเรื่องก็มี เเต่เรื่องที่ยังมีต้นฉบับอยู่ในปัจจุบันมี ๒๔ เรื่อง คือ
- นิราศ ๙ เรื่อง ได้เเก่ นิราศเมืองเเกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระเเท่นดงรัง นิราศพระปฐม เเละนิราศเมืองเพชรบุรี
- นิทาน ๕ เรื่อง ได้เเก่ โคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ เเละ สิงหไตรภพ
- สุภาษิต ๓ เรื่อง ได้เเก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท เเละสุภาษิตสอนหญิง
- บทละคร ๑ เรื่อง คือ เรื่องอภัยนุราช
- บทเสภา ๒ เรื่อง ได้เเก่ ขุนช้างขุนเเผน ตอนกำเนิดพลายงาม เเละเรื่องพระราชพงศาวดาร
- บทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้เเก่ เห่เรื่องจับระบำ เห่เรื่องกากี เห่เรื่องพระอภัยมณี เเละเห่เรื่องโคบุตร

ผู้สืบสกุลของสุนทรภู่ ใช้นามสกุล "ภู่เรือหงษ์"
- http://www.toursabuy.com/soontornpoo/petch.asp

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รำพันพิลาป
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: มกราคม 29, 2015, 11:05:46 am »
รำพันพิลาป

ปี พ.ศ.๒๓๘๕ พระสุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาราม ท่านได้ประพันธ์บทกลอนเชิงนิราศเรื่อง "รำพันพิลาป" ขึ้น เนื่องจากเกิดนิมิตฝันอันเป็นลางร้าย ว่าจะต้องถึงแก่ชีวิต ในฝันนั้นท่านว่าได้พบเห็นนางฟ้านางสวรรค์มากมาย รวมถึงนางมณีเมขลา มาชักชวนให้ท่านละชมพูทวีป แล้วไปอยู่สวรรค์ด้วยกัน เรื่องนางสวรรค์นี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าน่าจะหมายถึง กรมหมื่นฯ อัปสรสุดาเทพ นัยว่าท่านสุนทรภู่มีจิตพิศวาสอยู่ จะเป็นจริงเช่นไร ท่านผู้อ่านต้องลองอ่านบทกลอนของท่านสุนทรภู่เอง สำหรับข้าพเจ้าเองเห็นว่า น่าจะหมายถึงนางฟ้าจริงๆ มิได้มีความหมายอื่น ด้วยท่อนหนึ่งในนิราศบทนี้ ท่านยังอ้อนวอนนางมณีเมขลา ว่าให้แก้วแล้ว ขอประโยชน์โพธิญาณถึงพระนิพพานเถิด เช่นเดียวกับที่ท่านได้เคยแสดงความปรารถนาพุทธภูมิไว้ในนิราศหลายๆ เรื่อง

การเกิดฝันเช่นนี้ เมื่อท่านตื่นขึ้นจึงได้รีบแต่ง "รำพันพิลาป" นี้ขึ้น แสดงความในใจและประวัติชีวิตของท่านในหลายๆ ส่วน รวมถึงประเพณีเทศกาลต่างๆ ที่ได้ประสบพบผ่านมา ซึ่งในส่วนนี้เองทำให้เราทราบว่า ยังมีนิราศของท่านอีกหลายเรื่องที่ท่านแต่งไว้ แต่เรายังไม่มีโอกาสได้อ่าน เพราะปลวกขึ้นกุฏิของท่าน ทำให้ต้นฉบับบทกลอนที่มีค่ายิ่งสูญสลายไปอย่างน่าเสียดาย เว้นเสียแต่จะมีผู้พบต้นฉบับคัดลอกจากที่อื่น

เมื่อข้าพเจ้าอ่าน "รำพันพิลาป" จบ ข้าพเจ้าอยากให้ผู้คนทั้งหลายที่เคยคิดว่า สุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ สุนทรภู่เป็นคนขี้เมา ได้มาอ่านนิราศเรื่องนี้ด้วย ตลอดช่วงชีวิต ๖๙ ปีของท่าน ได้มีห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ เมื่อครั้งรับราชการในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพียง ๘ ปี ช่วงเวลาที่เหลือในชีวิตของท่านเป็นเช่นไร ขอท่านได้โปรดอ่าน "รำพันพิลาป" จนจบ และตรองดูเถิด

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: รำพันพิลาป
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: มกราคม 29, 2015, 11:09:39 am »

    ๏ สุนทรทำคำประดิษฐ์นิมิตฝัน
พึ่งพบเห็นเป็นวิบัติมหัศจรรย์   จึ่งจดวันเวลาด้วยอาวรณ์
แต่งไว้เหมือนเตือนใจจะได้คิด   ในนิมิตเมื่อภวังค์วิสังหรณ์
เดือนแปดวันจันทวาเวลานอน   เจริญพรภาวนาตามบาลี
ระลึกคุณบุญบวชตรวจกสิณ   ให้สุขสิ้นดินฟ้าทุกราศี
เงียบสงัดวัดวาในราตรี   เสียงเป็ดผีหวี่หวีดจังหรีดเรียง
หริ่งหริ่งเรื่อยเฉื่อยชื่นสะอื้นอก   สำเนียงนกแสกแถกแสกแสกเสียง
เสียงแมงมุมอุ้มไข่มาใต้เตียง   ตีอกเพียงผึงผึงตะลึงฟัง
ฝ่ายฝูงหนูมูสิกกิกกิกร้อง   เสียวสยองยามยินถวิลหวัง
อนึ่งผึ้งซึ่งมาทำประจำรัง   ริมบานบังบินร้องสยองเย็น
ยิ่งเยือกทรวงง่วงเหงาซบเซาโศก   ยามวิโยคยากแค้นสุดแสนเข็ญ
ไม่เทียมเพื่อนเหมือนจะพาเลือดตากระเด็น   เที่ยวซ่อนเร้นไร้ญาติหวาดวิญญาณ์ฯ
    
๏ แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ   บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
เหมือนลอยล่องท้องชะเลอยู่เอกา   เห็นแต่ฟ้าฟ้าก็เปลี่ยวสุดเหลียวแล
ดูฟากฝั่งหวังจะหยุดก็สุดเนตร   แสนเทวษเวียนว่ายสายกระแส
เหมือนทรวงเปลี่ยวเที่ยวแสวงทุกแขวงแคว   ได้เห็นแต่ศิษย์หาพยาบาล
ทางบกเรือเหนือใต้เที่ยวไปทั่ว   จังหวัดหัวเมืองสิ้นทุกถิ่นฐาน
เมืองพริบพรีที่เขาทำรองน้ำตาล   รับประทานหวานเย็นก็เป็นลม
ไปราชพรีมีแต่พาลจังทานพระ   เหมือนไปปะบระเพ็ดเหลือเข็ดขม
ไปขึ้นเขาเล่าก็ตกอกระบม   ทุกข์ระทมแทบจะตายเสียหลายคราวฯ
    
๏ ครั้งไปด่านกาญจน์บุรีที่กะเหรี่ยง   ฟังแต่เสียงเสือสีห์ชะนีหนาว
นอนน้ำค้างพร่างพนมพรอยพรมพราว   เพราะเชื่อลาวลวงว่าแร่แปรเป็นทอง
ทั้งฝ่ายลูกถูกปอบมันลอบใช้   หาแก้ได้ให้ไปเข้ากินเจ้าของ
เข้าวัสสามาอยู่ที่สองพี่น้อง   ยามขัดข้องขาดมุ้งริ้นยุงชุม
ทุกเช้าค่ำลำบากแสนยากยิ่ง   เหลือทนจริงเจ็บแสบใส่แกลบสุม
เสียงฉู่ฉู่หวู่ว่อนเวียนร่อนรุม   เป็นกลุ่มกลุ่มกลุ้มกัดนั่งปัดยุง
โอ้ยามยากอยากใคร่ได้เหล็กไหลเล่น   ทำทองเป็นปั้นเตาเผาถลุง
ลองตำราอาจารย์ทองบ้านจุง   จดเกลือหุงหายสูญสิ้นทุนรอนฯ
    
๏ คราวไปคิดปริศนาตามตาเถร   เขากาเพนพบมหิงส์ริมสิงขร
มันตามติดขวิดคร่อมอ้อมอุทร   หากมีขอนขวางควายไม่วายชนม์
เดชะบุญคุณพระอนิสงส์   ช่วยดำรงรอดตายมาหลายหน
เหตุด้วยเคราะห์เพราะว่าไว้วางใจคน   จึ่งจำจนใจเปล่าเปลืองข้าวเกลือฯ
    
๏ โอ้ยามอยู่สุพรรณกินมันเผือก   เคี้ยวแต่เปลือกไม้หมากเปรี้ยวปากเหลือ
จนแรงโรยโหยหิวผอมผิวเนื้อ   พริกกับเกลือกลักใหญ่ยังไม่พอ
ทั้งผ้าพาดบาตรเหล็กของเล็กน้อย   ขโมยถอยไปทั้งเรือไม่เหลือหลอ
เหลือแต่ผ้าอาศัยเสียใจคอ   ชาวบ้านทอถวายแทนแสนศรัทธาฯ
    
๏ คิดถึงคราวเจ้านิพพานสงสารโศก   ไปพิศีโลกลายแทงแสวงหา
ลงหนองน้ำปล้ำตะเข้หากเทวดา   ช่วยรักษาจึ่งได้รอดไม่วอดวาย
วันไปอยู่ภูผาเขาม้าวิ่ง   เหนื่อยนอนพิงเพิงไศลหลับใจหาย
ครั้นดึกดูงูเหลือมเลื่อยเลื่อมลาย   ล้อมรอบกายเกี้ยวตัวกันผัวเมีย
หนีไม่พ้นจนใจได้สติ   สมาธิถอดชีวิตอุทิศเสีย
เสียงฟู่ฟู่ขู่ฟ้อเคล้าคลอเคลีย   แลบลิ้นเลียแล้วเลื้อยแลเฟือยยาว
ดูใหญ่เท่าเสากระโดงผีโป่งสิง   เป็นรูปหญิงยืนหลอกผมหงอกขาว
คิดจะตีหนีไปกลัวไม้เท้า   โอ้เคราะห์คราวขึ้นไปเหนือเหมือนเหลือตายฯ
    
๏ เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม   เจียนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย
ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย   แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน
แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก   ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ
ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ   มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น
โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน   สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น
ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น   เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันท์ฯ
    
๏ จะสึกหาลาพระอธิษฐาน   โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ   เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น
อยู่มาพระสิงหะไตรภพโลก   เห็นเศร้าโศกแสนแค้นสุดแสนเข็ญ
ทุกค่ำคืนฝืนหน้าน้ำตากระเด็น   พระโปรดเป็นที่พึ่งเหมือนหนึ่งนึก
ดังไข้หนักรักษาวางยาทิพย์   ฉันทองหยิบฝอยทองไม่ต้องสึก
ค่อยฝ่าฝืนชื่นฉ่ำดั่งอำมฤก   แต่ตกลึกเหลือที่จะได้สบายฯ
    
๏ ค่อยเบาบางสร่างโศกเหมือนโรคฟื้น   จะเดินยืนยังไม่ได้ยังไม่หาย
ได้ห่มสีมีหมอนเสื่ออ่อนลาย   ค่อยคลายอายอุตส่าห์ครองฉลองคุณ
เหมือนพบปะพระสิทธาที่ปรารภ   ชุบบุตรลพเลี้ยงเหลือช่วยเกื้อหนุน
สนอมพักตร์รักษาด้วยการุญ   ทรงสร้างบุญคุณศีลเพิ่มภิญโญ
ถึงยากไร้ได้พึ่งหมือนหนึ่งแก้ว   พาผ่องแผ้วผิวพักตร์ขึ้นอักโข
พระฤๅษีที่ท่านช่วยชุบเสือโค   ให้เรืองฤทธิ์อิศโรเดโชชัย
แล้วไม่เลี้ยงเพียงแต่ชุบช่วยอุปถัมภ์   พระคุณล้ำโลกาจะหาไหน
ช่วยชี้ทางกลางป่าให้คลาไคล   หลวิชัยคาวีจำลีลา
แต่ละองค์ทรงพรตพระยศยิ่ง   เป็นยอดมิ่งเมืองมนุษย์นี้สุดหา
จงไพบูลย์พูนสวัสดิ์วัฒนา   พระชันษาสืบยืนอยู่หมื่นปีฯ
    
๏ เป็นคราวเคราะห์ก็ต้องพรากจากวิหาร   กลัวพวกพาลผู้ร้ายจำย้ายหนี
อยู่วัดเทพธิดาด้วยบารมี   ได้ผ้าปีปัจจัยไทยทาน
ถึงยามเคราะห์ก็เผอิญให้เหินห่าง   ไม่เหมือนอย่างอยู่ที่พระวิหาร
โอ้ใจหายกลายกลับอัประมาณ   โดยกันดารเดือดร้อนไม่หย่อนเย็น
ได้พึ่งพระปะแพรพอแก้หน้า   สองวัสสาสิ้นงามถึงยามเข็ญ
คิดขัดขวางอย่างจะพาเลือดตากระเด็น   บันดาลเป็นปลวกปล่องขึ้นห้องนอน
กัดเสื่อสาดขาดปรุทะลุสมุด   เสียดายสุดแสนรักเรื่องอักษร
เสียแพรผ้าอาศัยไตรจีวร   ดูพรุนพรอนพลอยพาน้ำตาคลอ
ถึงคราวคลายปลายอ้อยบุญน้อยแล้ว   ไม่ผ่องแผ้วพักตราวาสนาหนอ
นับปีเดือนเหมือนจะหักทั้งหลักตอ   แต่รั้งรอร้อนรนกระวนกระวายฯ
    
๏ ถึงเดือนยี่มีเทศน์สมเพชพักตร์   เหมือนลงรักรู้ว่าบุญสิ้นสูญหาย
สู้ซ่อนหน้าฝ่าฝืนสะอื้นอาย   จนถึงปลายปีฉลูมีธุระ
ไปทางเรือเหลือสลดด้วยปลดเปลื้อง   ระคางเคืองข้องขัดสลัดสละ
ลืมวันเดือนเขียนเฉยแกล้งเลยละ   เห็นแต่พระอภัยพระทัยดี
ช่วยแจวเรือเกื้อหนุนทำบุญด้วย   เหมือนโปรดช่วยชูหน้าเป็นราศี
กลับมาถึงผึ้งมาจับอยู่กับกระฎี   ทำรังที่ทิศประจิมริมประตู
ต้องขัดเคืองเรื่องราวด้วยคราวเคราะห์   จวบจำเพาะสุริยาถึงราหู
ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู   แม้นขืนอยู่ยากเย็นจะเห็นใคร
เครื่องกระฎีที่ยังเหลือแต่เสื่อขาด   เข้าไสยาสน์ยุงกัดปัดไม่ไหว
เคยสว่างกลางคืนขาดฟืนไฟ   จะโทษใครเคราะห์กรรมจึ่งจำจนฯ
    
๏ โอ้อายเพื่อนเหมือนเขาว่ากิ่งกาฝาก   มิใช่รากรักเร่ระเหระหน
ที่ทุกข์สุขขุกเข็ญเกิดเป็นคน   ต้องคิดขวนขวายหารักษากาย
ได้พึ่งบ้างอย่างนี้เป็นที่ยิ่ง   สัจจังจริงจงรักสมัครหมาย
ไม่ลืมคุณพูนสวัสดิ์ถึงพลัดพราย   มิได้วายเวลาคิดอาลัยฯ
    
๏ จะลับวัดพลัดที่กระฎีตึก   สุดแต่นึกน้ำตามาแต่ไหน
เฝ้านองเนตรเช็ดพักตร์สักเท่าไร   ขืนหลั่งไหลรินร่ำน่ารำคาญ
คิดอายเพื่อนเหมือนเขาเล่าแม่เจ้านี่   เร่ไปปีละร้อยเรือนเดือนละร้อยบ้าน
เพราะบุญน้อยย่อยยับอัประมาณ   เหลือที่ท่านอุปถัมภ์ช่วยบำรุง
ต่อเมื่อไรไปทำทองสำเร็จ   แก้ปูนเพชรพบทองสักสองถุง
จะผาสุกทุกสิ่งนอนกลิ้งพุง   กินหมูกุ้งไก่เป็ดจนเข็ดฟัน
ขอเดชะพระมหาอานิสงส์   ซึ่งรูปทรงสัจศีลถวิลสวรรค์
จะเที่ยวรอบขอบประเทศทุกเขตคัน   ขอความฝันวันนี้บอกดีร้ายฯ
    
๏ แล้วร่ำภาวนาในพระไตรลักษณ์   ประหารรักหนักหน่วงตัดห่วงหาย
หอมกลิ่นธูปงูบระงับหลับสบาย   ฝันว่าว่ายสายชะเลอยู่เอกา
สิ้นกำลังยังมีนารีรุ่น   รูปเหมือนหุ่นเหาะเร่ร่อนเวหา
ช่วยจูงไปไว้ที่วัดได้ทัศนา   พระศิลาขาวล้ำดังสำลี
ทั้งพระทองสององค์ล้วนทรงเครื่อง   แลเลื่อมเหลืองเรืองจำรัสรัศมี
พอเสียงแซ่แลหาเห็นนารี   ล้วนสอดสีสาวน้อยนับร้อยพัน
ล้วนใส่ช้องป้องพักตร์ดูลักขณะ   เหมือนนางสะสวยสมล้วนคมสัน
ที่เอกองค์ทรงศรีฉวีวรรณ   ดั่งดวงจันทร์แจ่มฟ้าไม่ราคี
ทั้งคมขำล้ำนางสำอางสะอาด   โอษฐ์เหมือนชาดจิ้มเจิมเฉลิมศรี
ใส่เครื่องทรงมงกุฎดังบุตรี   แก้วมณีเนาวรัตน์จำรัสเรือง
รูปจริตพิศไหนวิไลเลิศ   เหมือนหุ่นเชิดโฉมแช่มแฉล้มเหลือง
พอแลสบหลบชะม้ายชายชำเลือง   ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
ลำพระกรอ่อนชดประณตน้อม   แลละม่อมเหมือนหนึ่งเขียนวิเชียรโฉม
หรือชาวสวรรค์ชั้นฟ้านภาโพยม   มาประโลมโลกาให้อาวรณ์
แปลกมนุษย์ผุดผ่องละอองพักตร์   วิไลลักษณ์ล้ำเลิศประเสริฐสมร
ครั้นปราศรัยไถ่ถามนามกร   ก็เคืองค้อนขามเขินสะเทินที
ขืนถามอีกหลีกเลี่ยงหลบเมียงม่าย   เหมือนอายชายเฉยเมินดำเนินหนี
นางน้อยน้อยพลอยตามงามงามดี   เก็บมาลีเลือกถวายไว้หลายพรรณ
แล้วชวนว่าอย่าอยู่ชมพูทวีป   นิมนต์รีบไปสำราญวิมานสวรรค์
แล้วทรงรถกลดกั้นนางทั้งนั้น   นั่งที่ชั้นลดล้อมน้อมคำนับ
ที่นั่งทิพย์ลิบเลื่อนคล้อยเคลื่อนคล้าย   พรรณรายพรายเรืองเครื่องประดับ
ประเดี๋ยวเดียวเฉียวฉิบแลลิบลับ   จนลมจับวับใจอาลัยลานฯ
    
๏ ซึ่งสั่งให้ไปสวรรค์หรือชันษา   จะมรณาในปีนี้เป็นปีขาล
แม้นเหมือนปากอยากใคร่ตายหมายวิมาน   ขอพบพานภัคินีของพี่ยา
ยังนึกเห็นเช่นโฉมประโลมโลก   ยิ่งเศร้าโศกแสนสวาทปรารถนา
ได้แนบชมสมคะเนสักเวลา   ถึงชีวาม้วยไม่อาลัยเลย
อยู่หลัดหลัดพลัดพรากไปฟากฟ้า   ให้ดิ้นโดยโหยหานิจจาเอ๋ย
ถึงชาตินี้พี่มิได้บุญไม่เคย   ขอชื่นเชยชาติหน้าด้วยอาวรณ์
แม้นรู้เหาะก็จะได้ตามไปด้วย   สู้มอดม้วยมิได้ทิ้งมิ่งสมร
เสมอเนตรเชษฐาเวลานอน   จะกล่าวกลอนกล่อมประทับไว้กับทรวง
สายสุดใจไม่หลับจะรับขวัญ   ร้องโอดพันพัดชาช้าลูกหลวง
ประโลมแก้วแววตาสุดาดวง   ให้อุ่นทรวงไสยาสน์ไม่คลาดคลาย
ยามกลางวันบรรทมจะชมโฉม   ขับประโลมข้างที่พัดวีถวาย
แม้นไม่ยิ้มหงิมเหงาจะเล่านิยาย   เรื่องกระต่ายตื่นตูมเหลือมูมมาม
ไม่รู้เหาะก็มิได้ขึ้นไปเห็น   แม้นเหมือนเช่นชาวสุธาภาษาสยาม
ถ้ารับรักจักอุตส่าห์พยายาม   ไปตามความคิดคงได้ปลงทองฯ
    
๏ นี่จนใจไม่รู้จักที่หลักแหล่ง   สุดแสวงสวาทหมายไม่วายหมอง
เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง   เดือนหงายส่องแสงสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา   ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์   พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงส์องค์นี้อยู่ชั้นฟ้า   ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้   เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด   มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร   จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียงฯ
    
๏ สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว   แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง
ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง   จึ่งหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย
เหมือนบุปผาปาริกชาติชื่น   สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย
ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย   ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง
มิให้เคืองเปลื้องปลดเสียยศศักดิ์   สนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง
แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง   หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเคียงฯ
    
๏ คิดจนตื่นฟื้นฟังระฆังฆ้อง   กลองหอกลองทึ้มทึ้มกระหึ่มเสียง
โกกิลากาแกแซ่สำเนียง   โอ้นึกเพียงขวัญหายไม่วายวัน
วิสัยเราเล่าก็ไม่สู้ใฝ่สูง   นางฟ้าฝูงไหนเล่ามาเข้าฝัน
ให้เฟือนจิตกิจกรมพรหมจรรย์   ฤๅสาวสวรรค์นั้นจะใคร่ลองใจเรา
ให้รักรูปซูบผอมตรมตรอมจิต   เสียจริตคิดขยิ่มง่วงหงิมเหงา
จะได้หัวเราะเยาะเล่นทุกเย็นเช้า   จึงแกล้งเข้าฝันเห็นเหมือนเช่นนี้
แม้นนางอื่นหมื่นแสนแดนมนุษย์   นึกกลัวสุดแสนกลัวเอาตัวหนี
สู้นิ่งนั่งตั้งมั่นถือขันตี   อยู่กระฎีดั่งสันดานนิพพานพรหม
รักษาพรตปลดปละสละรัก   เพราะน้ำผักต้มหวานน้ำตาลขม
คิดรังเกียจเกลียดรักหักอารมณ์   ไม่นิยมสมสวาทเป็นขาดรอนฯ
    
๏ แต่ครั้งนี้วิปริตนิมิตฝัน   เฝ้าผูกพันมั่นหมายสายสมร
สาวสวรรค์ชั้นฟ้าจงถาวร   เจริญพรพูนสวัสดิ์กำจัดภัย
ซึ่งผูกจิตพิศวาสหมายมาดมุ่ง   มักนอนสะดุ้งด้วยพระขวัญจะหวั่นไหว
เสวยสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย   ช่วยเลื่อมใสโสมนัสสวัสดีฯ
    
๏ ขอเดชะพระอุมารักษาสวาท   ให้ผุดผาดเพียงพักตร์พระลักษมี
วิมานแก้วแววฟ้าฝูงนารี   คอยพัดวีแวดล้อมอยู่พร้อมเพรียงฯ
    
๏ ขอเดชะพระอินทร์ดีดพิณแก้ว   ให้เจื้อยแจ้วจับใจแจ่มใสเสียง
สาวสุรางค์นางรำระบำเรียง   คอยขับกล่อมพร้อมเพรียงเคียงประคอง
ขอพระจันทร์กรุณารักษาศรี   ให้เหมือนมณีนพเก้าอย่าเศร้าหมอง
เหมือนหุ่นเชิดเลิศล้วนนวลละออง   ให้ผุดผ่องผิวพรรณเพียงจันทราฯ
    
๏ ขอพระพายชายเชยรำเพยพัด   ให้ศรีสวัสดิ์สว่างจิตขนิษฐา
หอมดอกไม้ในทวีปกลีบผกา   ให้หอมชื่นรื่นวิญญาณ์นิทรารมณ์ฯ
    
๏ ขอเดชะพระคงคารักษาสนอม   อย่าให้มอมมีระคายเท่าปลายผม
ให้เย็นเรื่อยเฉื่อยฉ่ำเช่นน้ำลม   กล่อมประทมโสมนัสสวัสดีฯ
    
๏ ด้วยเดิมฉันฝันได้ยลวิมลพักตร์   สุดแสนรักลักประโลมโฉมฉวี
ถวิลหวังตั้งแต่นั้นจนวันนี้   ขออย่ามีโทษโปรดยกโทษกรณ์
ด้วยเกิดเป็นเช่นมนุษย์บุรุษราช   มาหมายมาดนางสวรรค์ร่วมบรรจถรณ์
ขอษมาการุญพระสุนทร   ให้ถาพรภิญโญเดโชชัยฯ
    
๏ อนึ่งโยมโฉมยงพระองค์เอก   มณีเมขลามาโปรดปราศรัย
จะให้แก้วแล้วอย่าลืมที่ปลื้มใจ   ขอให้ได้ดั่งประโยชน์โพธิญาณ
จะพ้นทุกข์สุขสิ้นมลทินโทษ   เพราะพระโปรดโปรยปรายสายสนาน
ให้หน้าชื่นรื่นรสพจมาน   เหมือนนิพพานพ้นทุกข์เป็นสุขสบาย
บวชตะบึงถึงตะบันน้ำฉันชื่น   ยามดึกดื่นได้สังวรอวยพรถวาย
เหมือนพระจันทร์กรุณาให้ตายาย   กับกระต่ายแต้มสว่างอยู่กลางวง
เหมือนวอนเจ้าสาวสวรรค์กระสันสวาท   ให้ผุดผาดเพิ่มผลาอานิสงส์
ได้สมบูรณ์พูนเกิดประเสริฐทรง   ศีลดำรงร่วมสร้างพุทธางกูร
อันโลกีย์วิสัยที่ในโลก   ความสุขโศกสิ้นกายก็หายสูญ
เป็นมนุษย์สุดแต่ขอให้บริบูรณ์   ได้เพิ่มพูนผาสุกสนุกสบาย
ขอบุญพระจะให้อยู่ชมพูทวีป   ช่วยชุบชีพชูเชิดให้เฉิดฉาย
ไม่ชื่นเหมือนเพื่อนมนุษย์ก็สุดอาย   สู้ไปตายตีนเขาลำเนาเนินฯ
    
๏ โอ้ปีนี้ปีขาลบันดาลฝัน   ที่หมายมั่นเหมือนจะหมางระคางเขิน
ก็คิดเห็นเป็นเคราะห์จำเพาะเผอิญ   ให้ห่างเหินโหยหวนรำจวนใจ
จึงแต่งตามความฝันรำพันพิลาป   ให้ศิษย์ทราบสุนทราอัชฌาสัย
จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน   ก็กลัวภัยให้ขยาดพระอาชญา
จึ่งเอื้อมอ้างนางสวรรค์ตามฝันเห็น   ให้อ่านเล่นเป็นเล่ห์เสน่หา
ไม่รักใครในแผ่นดินถิ่นสุธา   รักแต่เทพธิดาสุราลัยฯ
    
๏ ได้ครวญคร่ำร่ำเรื่องเป็นเครื่องสูง   พอพยุงยกย่องให้ผ่องใส
ทั้งสาวแก่แม่ลูกอ่อนลาวมอญไทย   เด็กผู้ใหญ่อย่าเฉลียวว่าเกี้ยวพาน
พระภู่แต่งแกล้งกล่าวสาวสาวเอ๋ย   อย่าถือเลยเคยเจนเหมือนเหลนหลาน
นักเลงกลอนนอนฝันเป็นสันดาน   เคยเขียนอ่านอดใจมิใคร่ฟัง
จะฝากดีฝีปากจะฝากรัก   ด้วยจวนจักจากถิ่นถวิลหวัง
ไว้อาลัยให้ละห้อยจงคอยฟัง   จะร่ำสั่งสิ้นสุดอยุธยาฯ
    
๏ โอ้ยามนี้ปีขาลสงสารวัด   เคยโสมนัสในอารามสามวัสสา
สิ้นกุศลผลบุญการุณา   จะจำลาเลยลับไปนับนาน
เคยเดินเล่นเย็นลมเลียบชมรอบ   ริมแขวงขอบเขตที่เจดีย์ฐาน
พระปรางค์มีสี่ทิศพิสดาร   โบสถ์วิหารการเปรียญล้วนเขียนทอง
ที่หน้าบันปั้นอย่างเมืองกวางตุ้ง   ดูเรืองรุ่งรูปนกผกผยอง
กระเบื้องเคลือบเหลือบสลับเหลี่ยมรับรอง   ศาลาสองหน้ารอบขอบกำแพง
สิงโตจีนตีนตัวน่ากลัวกลอก   ขยับขยอกแยกเขี้ยวเสียวแสยง
ที่ตึกก่อช่อฟ้าใบระกาแดง   ริมกำแพงตะพานขวางเคียงข้างคลอง
เป็นพลับพลาพาไลข้างในเสด็จ   เดือนสิบเอ็ดเคยประทานงานฉลอง
เล่นโขนหนังฟังปี่พาทย์ระนาดฆ้อง   ละครร้องเรื่องแขกฟังแปลกไทย
ประทานรางวัลนั้นไม่ขาดคนดาษดื่น   ทั้งวันคืนครื้นครั่นเสียงหวั่นไหว
จะวายเห็นเย็นเยียบเหงาเงียบใจ   โอ้อาลัยแลเหลียวเปลี่ยววิญญาณ์ฯ
    
๏ เคยอยู่กินถิ่นที่กระฎีก่อ   เป็นตึกต่อต่างกำแพงฝากแฝงฝา
เป็นสองฝ่ายท้ายวัดวิปัสสนา   ข้างโบสถ์บาเรียนเรียงเคียงเคียงกัน
เป็นสี่แถวแนวทางเดินหว่างกุฎิ์   มีสระขุดเขื่อนลงพระสงฆ์ฉัน
ข้างทิศใต้ในจงกรมพรหมจรรย์   มีพระคันธกุฎีที่บำเพ็ง
ศาลากลางทางเดินแลเพลินจิต   ประดับประดิษฐ์ดูดีเป็นที่เก๋ง
จะเริดร้างห่างแหสุดแลเล็ง   ยิ่งพิศเพ่งพาสลดกำสรดทรวงฯ
    
๏ หอระฆังดังทำนองหอกลองใหญ่   ทั้งหอไตรแกลทองเป็นของหลวง
ปลูกไม้รอบขอบนอกเป็นดอกดวง   บ้างโรยร่วงรสรื่นทุกคืนวัน
ชมพู่แลแต่ละต้นมีผลลูก   ดูดั่งผูกพวงระย้านึกน่าฉัน
ทรงบาดาลบานดอกรีบออกทัน   เก็บทุกวันเช้าเย็นไม่เว้นวายฯ
    
๏ เห็นทับทิมริมกระฎีดอกยี่โถ   สะอื้นโอ้อาลัยจิตใจหาย
เห็นต้นชาหน้ากระไดใจเสียดาย   เคยแก้อายหลายครั้งประทังทน
ได้เก็บฉันวันละน้อยอร่อยรส   ด้วยยามอดอัตคัดแสนขัดสน
จะซื้อหาชาจีนทรัพย์สินจน   จะจากต้นชาให้อาลัยชาฯ
    
๏ โอ้ชาตินี้มีกรรมเหลือลำบาก   เหมือนนกพรากพลัดรังไร้ฝั่งฝา
โอ้กระฎีที่จะจากฝากน้ำตา   ไว้คอยลาเหล่านักเลงฟังเพลงยาว
เคยเยี่ยมเยือนเพื่อนเก่าเมื่อเราอยู่   มาหาสู่ดูแลทั้งแก่สาว
ยืมหนังสือลือเลื่องถามเรื่องราว   โอ้เป็นคราวเคราะห์แล้วจำแคล้วกันฯ
    
๏ ฤดูร้อนก่อนเก่าทำข้าวแช่   น่าชมแต่เครื่องกับสำรับฉัน
ช่างทำเป็นเช่นดอกจอกเป็นดอกจันทน์   งามจนชั้นกระชายทำเหมือนจำปา
มะม่วงดิบหยิบดูจึ่งรู้จัก   ทำน่ารักรูปสัตว์เหมือนมัจฉา
จะแลลับกลับกลายสุดสายตา   เคยไปมามิได้เห็นจะเว้นวายฯ
    
๏ ตรุษสงกรานต์ท่านแต่งเครื่องแป้งสด   ระรื่นรสราเชนพุมเสนกระสาย
น้ำกุหลาบอาบอุระแสนสบาย   ถึงเคราะห์ร้ายหายหอมให้ตรอมทรวง
เหมือนแสนโง่โอ้เสียแรงแต่งหนังสือ   จนมีชื่อลือเลื่องทั้งเมืองหลวง
มามืดเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มดวง   ต้องเหงาง่วงทรวงเศร้าเปลี่ยวเปล่าใจ
จำจากเพื่อนเหมือนจะพาน้ำตาตก   ต้องระหกระเหินหาที่อาศัย
โอ้แสนอายปลายอ้อยเลื่อนลอยไป   เจ็บเจ็บใจไม่รู้หายซังตายทนฯ
    
๏ ที่อารีมีคุณการุญรัก   ได้เห็นพักตร์พบปะปีละหน
เข้าวัสสามาทั่วทุกตัวตน   ถวายต้นไม้กระถางต่างต่างกัน
ดูกิ่งใบไม้แซมติดแต้มแต่ง   ลูกดอกแฝงแกล้งประดิษฐ์ความคิดขยัน
พุ่มสีผึ้งถึงดีลิ้นจี่จันทน์   ต้นแก้วกรรณิการ์มีสารพัด
ทำรูปพราหมณ์งามพริ้มแย้มยิ้มเยือน   กินนรเหมือนนางกินนรแขนอ่อนหยัด
ดูนางนั่งปลั่งเปล่งดูเคร่งครัด   หน้าเหมือนผัดผ่องผิวกรีดนิ้วนาง
รูปนกหกผกผินกินลูกไม้   บ้างจับไซ้ขนพลิกพลิ้วปีกหาง
นกยางเจ่าเซาจกเหมือนนกยาง   รูปเสือกวางกบกระต่ายมีหลายพรรณ
ทำแปลกแปลกแขกฝาหรั่งทั้งเจ้าเงาะ   หน้าหัวเราะรูปร่างคิ้วคางขัน
สุกรแกะแพะโผนเผ่นโดนกัน   ล้วนรูปปั้นต่างต่างเหมือนอย่างเป็น
จะแลลับนับปีครั้งนี้หนอ   ที่ชอบพอเพื่อนสำราญจะนานเห็น
ด้วยโศกสุมรุมร้อนไม่หย่อนเย็น   จงอยู่เป็นสุขสุขทุกทุกคน
ขอแบ่งบุญสุนทรถาวรสวัสดิ์   ให้บริบูรณ์พูนสมบัติพิพัฒน์ผล
เกิดกองทองกองนากอย่ายากจน   เจริญพ้นภัยพาลสำราญเริงฯ
    
๏ โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง   เคยมาลวงหลงเชื่อจนเหลือเหลิง
ไม่รู้เท่าเจ้าทั้งนั้นเสียชั้นเชิง   เชิญบันเทิงเถิดนะหลานปากหวานดี
ได้ฉันลมชมลิ้นเสียสิ้นแล้ว   ล้วนหลานแก้วหลอกน้าต้องล่าหนี
จะนับเดือนเลื่อนลับไปนับปี   อยู่จงดีได้เป็นหม่อมให้พร้อมเพรียงฯ
    
๏ โอ้เดือนอ้ายไม่ขาดกระจาดหลวง   ใส่เรือพ่วงพวกแห่เซ็งแซ่เสียง
อึกทึกครึกโครมคบโคมเคียง   เรือรายเรียงร้องขับตีทับโทน
บ้างเขียนหน้าทาดำยืนรำเต้น   ลางลำเล่นงิ้วหนังมีทั้งโขน
พวกขี้เมาเหล่าประสกตลกโลน   ร้องโยนโหยนโย้นฉับรับชาตรี
ล้วนเรือใหญ่ใส่กระจาดย่ามบาตรพร้อม   ของคุณหม่อมจอมมารดาเจ้าภาษี
ทั้งขุนนางต่างมาด้วยบารมี   ปี่พาทย์ตีเต้นรำทุกลำเรือ
ของขนมส้มสูกทั้งลูกไม้   หมูเป็ดไก่กุ้งแห้งแตงมะเขือ
พร้าวอ่อนด้วยกล้วยอ้อยนับร้อยเครือ   จนล้นเหลือเกลือปลาร้าสารพัน
แล้วเราได้ไตรดีแพรสีแสด   สบงแปดคืบจัดเป็นสัตตขันธ์
โอ้แต่นี้มิได้เห็นเหมือนเช่นนั้น   นับคืนวันปีเดือนจะเลื่อนลอย
เหลืออาลัยใจเอ่ยจะเลยลับ   เหลืออาภัพพูดยากเหมือนปากหอย
ให้เขินขวยด้วยว่าวาสนาน้อย   ต้องหน้าจ๋อยน้อยหน้าระอาอาย
ออกวัสสาผ้าสบงกระทงเข้า   พระองค์เจ้าจบพระหัตถ์จัดถวาย
ไม่แหงนเงยเลยกลัวเจ้าขรัวนาย   สำรวมกายก้มหน้าเกรงบารมี
สวดมนต์จบหลบออกข้างนอกเล่า   ปะแต่เหล่าสาวแซ่ห่มแพรสี
สู้หลับตามาจนสุดถึงกุฎี   เหมือนไม่มีตาตัวด้วยกลัวตายฯ
    
๏ ตั้งแต่นี้มิได้หลบไม่พบแล้ว   จงผ่องแผ้วพักตร์เหมือนดั่งเดือนหงาย
จะเงียบเหงาเช้าเย็นจะเว้นวาย   โอ้ใจหายหมายมาดเคลื่อนคลาดคลา
เหมือนใบศรีมีงานท่านสนอม   เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา
พอเสร็จการท่านเอาลงทิ้งคงคา   ต้องลอยมาลอยไปเป็นใบตอง
เหมือนตัวเราเล่าก็พลอยเลื่อนลอยลับ   มิได้รับไทยทานดูงานฉลอง
โอ้ทองหยิบลิบลอยทั้งฝอยทอง   มิได้ครองไตรแพรเหมือนแต่เดิมฯ
    
๏ พระสิงหะพระอภัยพระทัยจืด   ไม่ยาวยืดยกยอชะลอเฉลิม
เมื่อกระนั้นจันทน์และกระแจะเจิม   ได้พูนเพิ่มเหิมฮึกอยู่ตึกราม
ครั้นเหินห่างร้างเริดก็เกิดทุกข์   ไพรีรุกบุกเบียนเป็นเสี้ยนหนาม
สู้ต่ำต้อยน้อยตัวเกรงกลัวความ   ด้วยเป็นยามยากจนจำทนทานฯ
    
๏ ขอเดชะพระสยมบรมนาถ   เจ้าไกรลาศโลกามหาสถาน
ทรงงัวเผือกเงือกหงอนสังวรสังวาล   ถือพัดตาลตาไฟประลัยกัลป์
ประกาศิตอิทธิเวทวิเศษประเสริฐ   ให้ตายเกิดสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
ตรัสอย่างไรไปเป็นเหมือนเช่นนั้น   พระโปรดฉันเชิญช่วยอำนวยพร
เผื่อว่าจักรักใคร่ที่ไหนมั่ง   ให้สมหวังดังจำนงประสงค์สมร
ทรงเวทมนตร์ดลประสิทธิ์ฤทธิรอน   เจริญพรภิญโญเดโชชัย
ที่หวังชื่นกลืนกลั้นกระสันสวาท   อย่าแคล้วคลาดเคลือบแคลงแหนงไฉน
มิตรจิตขอให้มิตรใจไป   ที่มืดไม่เห็นห้องช่วยส่องเทียนฯ
    
๏ ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร   พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร
มังกรกอดสอดประสานสังวาลเวียน   สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี
ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ   เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี
ขอมหาอานุภาพปราบไพรี   อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย
ที่คนคิดริษยานินทาโทษ   พระเปลื้องโปรดปราบประยูรให้สูญหาย
ศัตรูเงียบเรียบร้อยจะลอยชาย   ไปเชยสายสุดสวาทไม่ขาดวันฯ
    
๏ ขอเดชะพระมหาวายุพัด   พิมานอัศวราชเผ่นผาดผัน
ทรงสีเหลืองเครื่องไฟประลัยกัลป์   กุมพระขรรค์กรดกระหวัดพัดโพยม
ขอเดชาวายุเวกจะเสกเวท   พอหลับเนตรพริบหนึ่งไปถึงโฉม
จะสอพลอฉอเลาะปะเหลาะประโลม   เหมือนกินโสมโศกสร่างสว่างทรวง
สุมามาลย์บานแบ่งแมลงภู่   ขอสิงสู่สมสงวนไม่ควรหวง
จะเหือดสิ้นกลิ่นอายเสียดายดวง   จะหล่นร่วงโรยรสต้องอดออมฯ
    
๏ โอ้อกเอ๋ยเชยอื่นไม่ชื่นแช่ม   เชยที่แย้มยิ้มพรายไม่หายหอม
แต่หัสนัยน์ตรัยตรึงส์ท่านถึงจอม   ยังแปลงปลอมเปลื้องปลิดไพจิตรา
ได้บุตรีที่รักยักษ์อสูร   สืบประยูรอยู่ถึงดาวดึงสา
เราเป็นมนุษย์สุดรักต้องลักพา   เหมือนอินทราตรึงส์ตรัยเป็นไรมีฯ
    
๏ อย่าประมาทชาติหมู่แมงภู่ผึ้ง   ประสงค์ซึ่งเสน่หาสร้อยสาหรี
ดูดอกไม้ในจังหวัดปัฐพี   ดวงใดดีมีกลิ่นรวยรินรส
พอบานกลีบรีบถึงลงคลึงเคล้า   ฟุบแฝงเฝ้าเฟ้นฟอนเกสรสด
สัจจังจริงมิ่งขวัญอย่ารันทด   ถ้ากลิ่นใกล้ได้รสเหลืออดออม
อันโกสุมพุ่มพวงดอกดวงนี้   สร้อยสาหรีรำเพยระเหยหอม
ภมรมาดปรารถนาจึงมาตอม   ต้องอดออมอกตรมระทมทวี
แม้นรับรักหักว่าเมตตาตอบ   เมื่อผิดชอบผ่ายหน้าจะพาหนี
เหมือนอิเหนาเขาก็รู้ไม่สู้ดี   แต่เพียงพี่นี้ก็ได้ด้วยง่ายดาย
อย่าหลบหลู่ดูถูกแต่ลูกยักษ์   เขายังลักไปเสียได้ดั่งใจหมาย
เหมือนตัวพี่นี้ก็ลือว่าชื่อชาย   รู้จักฝ่ายฟ้าดินชินชำนาญ
ถึงนัทีสีขเรศขอบเขตแขวง   ป้อมกำแพงแหล่งล้อมพร้อมทหาร
เดชะฤทธิ์วิทยาปรีชาชาญ   ช่วยบันดาลได้สมอารมณ์ปองฯ
    
๏ จริงจริงนะจะไปอุ้มเนื้อนุ่มน่วม   ลงนั่งร่วมเรือกลพยนต์ผยอง
อยู่ท้ายพระจะได้เรียงเคียงประคอง   ครรไลล่องลอยชะเลเหมือนเภตรา
พอลมดีพี่จะให้ใช้ใบแล่น   ไปตามแผนที่ประเทศเพศภาษา
แสนสบายสายสมุทรสุดสายตา   เห็นแต่ฟ้าน้ำเขียวเปล่าเปลี่ยวทรวง
ในสายชลวนลึกโครมครึกคลื่น   สุดจะฝืนฝ่าชะเลหลวง
เห็นฝูงปลานาคินสิ้นทั้งปวง   เกิดในห้วงห้องมหาคงคาเค็ม
แขกฝาหรั่งมังค่าพวกพาณิช   สังเกตทิศถิ่นทางต้องวางเข็ม
เข้าประเทศเขตแดนเลียบแล่นเล็ม   เขาไปเต็มตามทางกลางนัที
ถ้าแม้นว่าปลาวาฬผุดผ่านหน้า   เรือไม่กล้าใกล้เคียงหลีกเลี่ยงหนี
แนวชลาน่าชมน้ำลมดี   ดูเร็วรี่เรือเรื่อยไม่เหนื่อยแรง
เย็นระรื่นคลื่นเรียบเงียบสงบ   มหรรณพพริบเนตรในเขตแขวง
แม้นควันคลุ้มกลุ่มกลมเป็นลมแดง   เป็นสายแสงเสียงลั่นสนั่นดัง
บัดเดี๋ยวคลื่นครื้นครึกสะทึกโถม   ขึ้นสาดโทรมดาดฟ้าคงคาขัง
เสียงฮือฮืออื้ออึงตูมตึงตัง   ด้วยกำลังลมกล้าสลาตันฯ
    
๏ แต่เรือเราเบาฟ่องถึงต้องคลื่น   ก็ฝ่าฝืนฟูสบายแล่นผายผัน
แม่เห็นคลื่นครื้นเครงจะเกรงครัน   จะรับขวัญอุ้มน้องประคองเคียง
จะเขียนธงลงยันต์ปักกันคลื่น   ให้หายรื่นราบเรียบเงียบเซียบเสียง
จะแย้มสรวลชวนนั่งที่ตั่งเตียง   ให้เอนเอียงแอบอุ่นละมุนทรวง
จะแสนชื่นรื่นรสแป้งสดหอม   เห็นจะยอมหย่อนตามไม่ห้ามหวง
เหมือนได้แก้วแววฟ้าจินดาดวง   ไว้แนบทรวงสมคะเนทุกเวลาฯ
    
๏ ออกลึกซึ้งถึงที่ชื่อสะดือสมุทร   เห็นน้ำสุดสูงฟูมดั่งภูมผา
ดูพลุ่งพลุ่งวุ้งวงหว่างคงคา   สูดนาวาเวียนวนไม่พ้นไป
เรือลูกค้าพาณิชไม่ชิดเฉียด   แล่นก้าวเสียดหลีกลำตามน้ำไหล
แลชะเลเภตราบ้างมาไป   เห็นไรไรริ้วริ้วเท่านิ้วมือ
แม้นพรายน้ำทำฤทธิ์นิมิตรูป   สว่างวูบวงแดงดั่งแสงกระสือ
ต้องสุมไฟใส่ประโคมให้โหมฮือ   พัดกระพือเผาหนังแก้รังควานฯ
    
๏ แต่ตัวพี่มีอุบายแก้พรายผุด   เสกเพลิงชุดเช่นกับไฟประลัยผลาญ
ทิ้งพรายน้ำทำลายวอดวายปราณ   มิให้พานพักตร์น้องอย่าหมองมัว
ดูปลาใหญ่ในสมุทรผุดพ่นน้ำ   มืดเหมือนคล้ำคลุ้มบดสลดสลัว
พุ่งทะลึ่งถึงฟ้าดูน่ากลัว   แต่ละตัวตละโขดนับโยชน์ยาว
จะหยอกเย้าเฝ้ายั่วให้หัวเราะ   ชวนชมเกาะกะเปาะกลมชื่อนมสาว
สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว   ดูเรือชาวเมืองใช้ใบไปมา
เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย   ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา
น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา   ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย
เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน   ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย
ตัวคนได้ไม่ล้างให้วางวาย   เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไปฯ
    
๏ โดยหากว่าถ้าไปปะเรือสลัด   ศรีสวัสดิ์แพรวจะพรั่นประหวั่นไหว
จะอุ้มวางกลางตักสะพักไว้   โบกธงชัยให้จังงังกำบังตา
แล้วจะใช้ใบเยื้องไปเมืองเทศ   ชมประเภทพวกแขกแปลกภาษา
ทั้งหนุ่มสาวเกล้ามวยสวยโสภา   แต่งกายาอย่างพราหมณ์งามงามดี
ล้วนนุ่งห่มโขมพัสตร์ถือสัจศิล   ใส่เพชรนิลแนมประดับสลับสี
แลพิลึกตึกตั้งล้วนมั่งมี   ชาวบุรีขี่รถบทจรฯ
    
๏ จะเชิญแก้วแววเนตรขึ้นเขตแคว้น   จัดซื้อแหวนเพชรรัตน์ประภัสสร
ให้สร่างทรวงดวงสุดาสถาวร   สว่างร้อนรับขวัญทุกวันคืน
จะระวังนั่งประคองเคียงน้องน้อย   ให้ใช้สอยสารพัดไม่ขัดขืน
กลืนไว้ได้ในอุระก็จะกลืน   ให้แช่มชื่นชมชะเลทุกเวลาฯ
    
๏ แล้วจะชวนนวลละอองตระกองอุ้ม   ให้ชมเพลินเนินมะงุมมะงาหรา
ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา   วงศ์อสัญแดหวาน่าหัวเราะ
จมูกโด่งโง้งงุ้มทั้งหนุ่มสาว   ไม่เหมือนกล่าวราวเรื่องหูเหืองเจาะ
ไม่เพริศพริ้งหญิงชายคล้ายคล้ายเงาะ   ไม่มีเหมาะหมดจดไม่งดงาม
ไม่แง่งอนอ้อนแอ้นแขนไม่อ่อน   ไม่เหมือนสมรเสมอภาษาสยาม
รูปก็งามนามก็เพราะเสนาะนาม   จะพาข้ามเข้าละเมาะเกาะมาลากา
เดิมของแขกแตกฝาหรั่งไปทั้งตึก   แลพิลึกครึกครื้นขายปืนผา
เมื่อครั้งนั้นปันหยีอุ้มวียะดา   ชี้ชมสัตว์มัจฉาในสาครฯ
    
๏ แม้นเหมือนหมายสายสุดใจไปด้วยพี่   จะช่วยชี้ชมตลิ่งเหล่าสิงขร
ประคองเคียงเอียงเอกเขนกนอน   ร้องละครอิเหนาเข้ามาลากา
แล้วจะใช้ใบบากออกจากฝั่ง   ไปชมละเมาะเกาะวังกัลพังหา
เกิดในน้ำดำนิลดั่งศิลา   เหมือนรุกขาขึ้นสล้างหว่างคีริน
ชะเลรอบขอบเขาเป็นเงาง้ำ   เวลาน้ำขึ้นกระเพื่อมถึงเงื้อมหิน
เห็นหุบห้องปล่องชลาฝูงนาคิน   ขึ้นมากินเกยนอนชะอ้อนเนิน
ภูเขานั้นวันหนึ่งแล่นจึ่งรอบ   เป็นเขตขอบเทพเจ้าจอมเขาเขิน
จะชื่นชวนนวลละอองประคองเดิน   เลียบเหลี่ยมเนินเพลินชมพนมนิล
จริงนะจ๊ะจะเก็บทั้งกัลพังหา   เม็ดมุกดาคลื่นสาดกลางหาดหิน
เบี้ยอี้แก้แลรอบขอบคีริน   ระรื่นกลิ่นไม้หอมมีพร้อมเพรียง
สะพรั่งต้นผลดอกออกไม่ขาด   ศิลาลาดลดหลั่นชั้นเฉลียง
จะค่อยเลียบเหยียบย่องประคองเคียง   เป็นพี่เลี้ยงเพียงพี่ร่วมชีวา
จำปาดะองุ่นหอมกรุ่นกลิ่น   ก้าแฝ่ฝิ่นสินธุต้นบุหงา
ด้วยเกาะนี้ที่ทำเลเทวดา   แต่นกกาก็มิได้ไปใกล้กรายฯ
    
๏ แล้วจะใช้ใบไปดูเมืองสุหรัด   ท่าคลื่นซัดซึ้งวนชลสาย
ตั้งตึกรามตามตลิ่งแขกหญิงชาย   แต้มผ้าลายกะลาสีพวกตีพิมพ์
พื้นม่วงตองทองช้ำยำมะหวาด   ฉีกวิลาศลายลำยองเขียนทองจิ้ม
ทำที่อยู่ดูพิลึกล้วนตึกทิม   เรียบเรียงริมฝั่งสมุทรแลสุดตา
จะตามใจให้เพลินเจริญเนตร   ชมประเภทพราหมณ์แขกแปลกภาษา
ได้แย้มสรวลชวนใช้ใบลีลา   ไปมังกล่าฝาหรั่งระวังตระเวณ
กำปั่นไฟใหญ่น้อยออกลอยเที่ยว   ตลบเลี้ยวแลวิ่งดั่งจิ้งเหลน
ถ้วนเดือนหนึ่งจึงจะผลัดพวกหัศเกน   เวียนตระเวณไปมาทั้งตาปีฯ
    
๏ เมืองมังกล่าฝาหรั่งอยู่ทั้งแขก   พวกเจ๊กแทรกแปลกหน้าทำภาษี
แลพิลึกตึกรามงามงามดี   ตึกเศรษฐีมีทรัพย์ประดับประดา
ดูวาวแววแก้วกระหนกกระจกกระจ่าง   ประตูหน้าต่างติดเครื่องรอบเฝืองฝา
ล้วนขายเพชรเจ็ดสีมีราคา   วางไว้หน้าตึกร้านใส่จานราย
แล้วตัวไปไม่นั่งระวังของ   คนซื้อร้องเรียกหาจึ่งมาขาย
ด้วยไม่มีตีโบยขโมยขมาย   ทั้งหญิงชายเช้าค่ำเขาสำราญ
นอกกำแพงแขวงเขตประเทศถิ่น   เป็นสวนอินทผาลัมทับน้ำหวาน
รองอ่างไว้ใช้ทำแทนน้ำตาล   ห้องแต่งงานขันหมากเหลือหลากจริง
ถึงขวบปีมีจั่นทำขวัญต้น   แต่งเหมือนคนขอสู่นางผู้หญิง
แม้นถึงปีมีลูกใครปลูกทิ้ง   ไม่ออกจริงจั่นหล่นลำต้นตาย
บ้านตลาดกวาดเลี่ยนเตียนตะล่ง   ถึงของหลงลืมไว้ก็ไม่หาย
ไปชมเล่นเช่นฉันว่าประสาสบาย   บ้านเมืองรายหลายประเทศต่างเพศพันธุ์ฯ
    
๏ จะพาไปให้สร้างทางกุศล   ขึ้นสิงหลเห็นจะได้ไปสวรรค์
ไหว้เจดีย์ที่ทำเลเวฬุวัน   พระรากขวัญอันเป็นยิ่งเขาสิงคุตร์ฯ
    
๏ คิดจะใช้ใบข้ามไปตามเข็ม   เขียนมาเต็มเล่มแล้วจะสิ้นสมุด
เหมือนหมายทางต่างทวีปเรือรีบรุด   พอสิ้นสุดสายมหาอารณพ
เหมือนเรื่องรักจักประเวศประเทศถิ่น   มิทันสิ้นสุดคำก็จำจบ
แม้นขืนเคืองเปลื้องปลิดไม่คิดคบ   จะเศร้าซบโศกสะอื้นทุกคืนวัน
เหมือนยักษีที่สิงขรต้องศรกก   ปักตรึงอกอานภาพซ้ำสาปสรร
อยู่นพบุรีที่ตรงหว่างเขานางประจัน   เสียงไก่ขันขึ้นนนทรีคอยตีซ้ำ
แสนวิตกอกพระยาอุณาราช   สุดหมายมาดไม่มีที่อุปถัมภ์
ศรสะเทือนเหมือนอุระจะระยำ   ต้องตีซ้ำช้ำในฤทัยระทมฯ
    
๏ ถึงกระไรได้อุตส่าห์อาสาสมัคร   ขอเห็นรักสักเท่าซีกกระผีกผม
พอชื่นใจได้สร่างสว่างอารมณ์   เหมือนนิยมสมคะเนเถิดเทวัญ
ถวิลหวังสังวาสสวาทแสวง   ให้แจ่มแจ้งแต่งตามเรื่องความฝัน
ฝากฝีปากฝากคำที่สำคัญ   ชื่อรำพันพิลาปล้ำกาพย์กลอน
เปรียบเหมือนกับขับกล่อมสนอมเสน่ห์   สำเนียงเห่เทวัญริมบรรจถรณ์
เสวยสวัสดิ์วัฒนาสถาวร   วานฟังกลอนกลอยแก่เถิดแม่เอยฯ

- soontornpoo/rampanpilap.asp

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
สิงหไกรภพ

นิทานคำกลอนที่ขึ้นชื่อลือชาอีกเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ที่เด็กๆ สมัยนี้ต่างนิยมชมชอบ เนื่องจากได้มีผู้นำมาทำเป็นบทภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง สิงหไกรภพ ออกแพร่ภาพจนเด็กๆ ติดกันงอมแงม นับว่าสุนทรภู่สามารถผูกนิทานได้ยอดเยี่ยมจริงๆ

สิงหไกรภพ เป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวรองลงมาจากเรื่องพระอภัยมณี คือมีความ ยาว ๑๕ เล่มสมุดไทย บางคนกล่าวว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เพื่อประชันกับเรื่องไกรทองพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวว่าสุนทรภู่เริ่มแต่งนิทานเรื่องนี้ ตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๖๗) เพื่อถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ (ขณะนั้นยังทำหน้าที่ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าอาภรณ์อยู่) แล้วมาแต่งต่อในสมัยรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่าแต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ แต่เรื่องค้างอยู่ แต่งไม่จบ

เนื้อหาของนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า ท้าวอินณุมาศครองเมืองโกญจา มีนางจันทรเป็นมเหสี ไม่มีโอรสหรือธิดา ต่อมาเอาลูกโจรมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่าคงคาประลัย คงคาประลัยชิงราชสมบัติของท้าวอินณุมาศ พระอินทร์ช่วยอุ้มท้าวอินณุมาศและนางจันทรมาอยู่ป่า สองกษัตริย์ปลอมพระองค์เป็นคนสามัญ ไปอาศัยอยู่กับพรานป่าชื่อเพิก จนกระทั่งนางจันทรคลอดโอรส แล้วโอรสองค์นี้ถูกพราหมณ์เทพจินดาขโมยไปเลี้ยงไว้ ยักษ์พินทุมารจับพราหมณ์เทพจินดาและพระโอรสนั้นได้เอาไปเลี้ยงไว้ ตั้งชื่อพระโอรสว่าสิงหไกรภพ เมื่อโตขึ้นพราหมณ์เทพจินดาและสิงหไกรภพขโมยยาวิเศษของยักษ์ แล้วพากันหนีจากไปพราหมณ์เทพจินดาพาสิงหไกรภพไปอยู่ที่บ้านตน สิงหไกรภพทราบว่าตนเป็นลูกกษัตริย์ก็หนีพราหมณ์เทพจินดาออกตามหาบิดามารดา ได้นางสร้อยสุดาธิดาของท้าวจตุรพักตร์ กษัตริย์แห่งเมืองมารันเป็นชายา จนนางตั้งครรภ์แล้วพากันหนีมา ท้าวจตุรพักตร์ตามมาชิงนางสร้อยสุดาคืนไป พราหมณ์เทพจินดาตามสิงหไกรภพกลับไปครองเมืองโกญจา ท้าวจตุรพักตร์ยกทัพมาตีเมือง โกญจา ถูกสิงหไกรภพฆ่าตาย สิงหไกรภพรับนางสร้อยสุดามาอยู่ด้วยกันที่เมืองโกญจนา แล้วให้พราหมณ์เทพจินดาครองเมืองมารันต่อมารามวงศ์โอรสของสิงหไกรภพซึ่งอยู่กับยายที่เมืองมารันเติบโตขึ้นได้ลายายมาเยี่ยมสิงหไกรภพ แต่หลงทางเข้าไปในเมืองยักษ์ ได้นางแก้วกินรีแล้วพลัดพรากจากกัน สิงหไกรภพออกติดตามรามวงศ์ ได้นางเทพกินราเป็นชายา ต่อมานางเทพกินราทำเสน่ห์เพื่อให้สิงหไกรภพหลงใหลตน พราหมณ์เทพจินดาแก้เสน่ห์ให้ ต่อจากนี้รามวงศ์ได้ติดตามหาสิงหไกรภพ แต่ไม่ทันได้พบกัน และเรื่องก็จบเพียงเท่านั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นนิทานเรื่องนี้ว่า

ข้าบาทขอประกาศประกอบเรื่อง
แต่ปางหลังยังมีบุรีเรือง    ชื่อว่าเมืองโกญจาสถาวร
นามพระองค์ซึ่งดำรงอาณาราษฎร์    อินณุมาศบพิตรอดิศร
พระนามนางเกศสุรางคนิกร        ชื่อจันทรแก้วกัลยาณี
แสนสนมหมื่นประนมประณตน้อม    ดังดาวล้อมจันทราในราศี
ทั้งเสนาพฤฒามาตย์ราชกระวี    อัญชุลีเพียงพื้นพระโรงเรียง
สำราญรอบขอบคันนิคมเขต        ทั่วประเทศพิณพาทย์ไม่ขาดเสียง
สองพระองค์ทรงธรรมไม่ต่ำเอียง    ไร้แต่เพียงบุตราธิดาดวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙)

ตอนโหรทำนายฝันของนางจันทร แล้วกล่าวว่าท้าวอินณุมาศและนางจันทรจะสูญเสียราช¬สมบัติ ท้าวอินณุมาศปลงตก คิดได้ว่า

เป็นทุกขังอนิจจังอนัตตา    อันเกิดมาเป็นบุคคลไม่พ้นตาย
สุขกับโศกเหมือนหนึ่งโรคสำหรับร่าง    รำพึงพลางหักให้พระทัยหาย
กลับคนเข้าแท่นสุวรรณพรรณราย        ตรัสสอนสายสุดสวาทนาฏอนงค์
สงวนครรภ์ขวัญเนตรเถิดน้องรัก        โหราทักทุกข์แทบจะผุยผง
เรายึดยุดพุทธคุณให้มั่นคง            เป็นทางตรงตราบสิ้นชีวาลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๕)

สุนทรภู่บรรยายความทุกข์ยากลำบากของนางจันทรขณะอยู่กับพรานเพิกว่า

น่าสงสารทรามวัยพระทัยหาย
ภูษาทรงโจงกระหวัดรัดพระกาย    ฉวยกระบายโกยเข้าลงใส่ครก
ไม่เคยตำก็ถลำถลากพลาด        ออกพรุดพราดเรี่ยรายกระจายหก
ไม่ทันแตกเอาขึ้นหัตถ์ฝัดกระทก    แล้วใส่ครกกลับตำนั้นร่ำไป
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๔)

ตอนนางจันทรคลอดพระโอรส สุนทรภู่บรรยายให้เห็นความเศร้าโศกของท้าวอินณุมาศ และนางจันทรที่โอรสมาคลอดกลางป่าว่า

ดูลูกรักวรพักตร์เพียงเพ็ญจันทร์    พระทรงธรรม์กอดลูกแล้วโศกา
นฤบาลว่าสงสารพระลูกแก้ว    เกิดมาแล้วเมื่อพ่อขาดวาสนา
นางจันทรว่าแม้นก่นพ่อเกิดมา    พระวงศาก็จะล้อมอยู่พร้อมเพรียง
พระบิดาว่าแม้นเมื่อได้ฤกษ์        จะเอิกเกริกแตรสังข์ประดังเสียง
พระชนนีว่าจะมีแม่นมเคียง        พระพี่เลี้ยงเฒ่าแก่จะแจจัน
พระปิตุเรศว่าประเทศทุกไทท้าว    ถ้ารู้ข่าวก็จะรีบมาทำขวัญ
พระมารดาว่าพ่อนอนเมื่อกลางวัน    ฝูงกำนัลก็จะเห่ดังเรไร
พระบิดาว่าโอ้มาคลอดเจ้า    กระท่อมเท่ารังกาได้อาศัย
พระมารดาว่าสงสารสายสุดใจ    อู่ก็ไม่มีรองพระองค์เลย
พระทรงฤทธิ์ว่าคิดแล้วใจหาย    เอาหนังควายต่างฟูกเถิดลูกเอ๋ย
พระมารดาว่าขวัญเข้าเจ้าทรามเชย    มาเสวยถันเต้าแม่เต็มทรวง
สองกษัตริย์โทมนัสด้วยลูกน้อย    ยิ่งเศร้าสร้อยคิดคะนึงถึงวังหลวง
แล้วแข็งขืนกลืนโศกไว้ในทรวง    อาทิตย์ล่วงเลยลัดอัสดงค์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๒๗)

สิงหไกรภพให้คำมั่นสัญญาแก่นางสร้อยสุดาว่า“ถึงม้วยดินสินฟ้าสุราลัย ไม่จากไกลกลอยสวาทแล้วชาตินี้” (พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ,, นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๖๘)

ตอนสิงหไกรภพอุ้มนางสร้อยสุดาหนียักษ์ผู้เป็นบิดา สุนทรภู่บรรยายถึงความว้าเหว่ของสิงหไกรภพขณะที่เหาะไปในท้องฟ้าว่า

จะแลซ้ายสายเมฆวิเวกจิต                ให้หวาดหวิดว้าเหว่ในเวหา
จะเหลียวกลับลับปราสาทหวาดวิญญา        จะแลขวาขวัญหายไม่วายครวญ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๗๗)

พราหมณ์เทพจินดาเตือนสิงหไกรภพให้รีบไปหาบิดามารดาก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาชิงนางสร้อยสุดาคืน โดยให้เหตุผลว่า

พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง        ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย        ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
พระบิดามารดานั้นหายาก        กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย
นางไปอยู่บุรีไม่มีภัย        มาเมื่อไรคงพบประสบกัน
ขอเชิญพ่อหน่อเนื้อในเชื้อแถว    ไปกรุงแก้วโกญจามหาสวรรย์
พระบิตุราชมาตุรงค์เผ่าพงศ์พันธุ์    จะนับวันคอยหาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๓)
ตอนสิงหไกรภพชมธรรมชาติแล้วระลึกถึงนางสร้อยสุดา สุนทรภู่เล่นคำได้ดี คือบรรยายว่า

เห็นธารน้ำรำลึกเมื่อเล่นธาร        เริงสำราญหรือรกร้างให้ห่างกัน
เห็นกวางทองย่องเยื้องชำเลืองหลบ    เหมือนแลพบพักตร์ยุพินเมื่อผินผัน
หอมลูกอินกลิ่นระคนปนลูกจันทน์        เหมือนกลิ่นขวัญเนตรรื่นชื่นอารมณ์
นางแย้มงามยามเยื้อนเหมือนเบือนยิ้ม    ให้เชยชิมชื่นชิดสนิทสนม
ดอกเล็บนางอย่างเล็บพระเก็บชม    แต่ไม่คมข่วนเจ็บเหมือนเล็บนาง
รสสุคนธ์เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด    มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง
อบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนที่ร้างมาห่างกัน    ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนพี่ชวนเจ้านวลนาง    ออกจากปรางค์มาในห้องหิมวันต์
เห็นสาวหยุดสุดคะนึงคิดถึงสาว    หอมเช้าๆ ชื่นใจเมื่อไก่ขัน
โอ้เต่าร้างเหมือนพี่ร้างมาห่างกัน        ทุกคืนวันวายชมให้ตรมตรอม
หอมอบเชยเหมือนเมื่อเคยเชยกลิ่นอบ    หอมตระหลบอบกลิ่นไม่สิ้นหอม
พยอมเอ๋ยเคยใจมิใคร่ยอม    ให้ต้องออมอกช้ำทุกค่ำเช้า
เห็นโศกออกดอกอร่ามเมื่อยามโศก    แสนวิโยคโศกทรวงให้ง่วงเหงา
ถึงดอกงามยามโศกเหมือนโรคเรา        มีแต่เศร้าโศกซ้ำนั้นร่ำไป
เห็นยมโดยโดยดิ้นถวิลโหย        เหมือนดิ้นโดยดังจะพาน้ำตาไหล
โอ้ระกำเหมือนกรรมในน้ำใจ    ด้วยมาไกลกลืนช้ำระกำตรม
เห็นกลอยออกดอกดวงเป็นพวงห้อย    เหมือนกลิ่นกลอยใจคิดสนิทสนม
เสน่หาอาวรณ์ร้อนอารมณ์        จะแลชมอื่นๆ ไม่ชื่นใจ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๙๗)

เมื่อสิงหไกรภพมีสารมาถึงนางสร้อยสุดา ก็ยํ้าถึงความซื่อสัตย์ต่อความรักของพระองค์ที่มีต่อนางว่า

จนม้วยดิ้นสิ้นฟ้ามหาสมุทร        ไม่สิ้นสุดเสน่หาจนอาสัญ
ถึงตัวไปใจคิดเป็นนิรันดร์    ที่รับขวัญเช้าเย็นไม่เว้นวาย
(พ. ณประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๑๓)

เมื่อสิงหไกรภพฆ่าท้าวจตุรพักตร์ มเหสีและนางสร้อยสุดาผู้เป็นธิดารวมทั้งญาติอื่นๆ ได้คร่ำครวญอาลัยรักดังนี้

มเหสีตีทรวงเสียงฮักฮัก    โอ้ปิ่นปักปัถพินมาสิ้นสูญ
จะเสียวงศ์พงศ์ยักษ์ศักดิ์ตระกูล    จะตามทูนกระหม่อมม้วยเสียด้วยกัน
พระธิดาว่าโอ้พระปิตุเรศ    เคยปกเกศชุบย้อมถนอมขวัญ
ให้ผาสุกทุกเวลาทิวาวัน    ยังไม่ทันแทนพระคุณมาสูญลับ
พระวงศาว่าทูนกระหม่อมแก้ว    นิพานแล้วมืดเหมือนดังเดือนดับ
นางห้ามแหนแสนอาลัยว่าไปทัพ    เคยคอยรับหรือมาร้างถึงวางวาย
นางพระยาว่าพระคุณมาสูญเสีย    เหมือนศอเมียขาดกระเด็นไม่เห็นหาย
จะโศกช้ำร่ำรับแต่อับอาย    จะสู้ตายให้พ้นทนทรมาน
พระธิดาว่าพระคุณทูนกระหม่อม    เคยถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกหลาน
แต่ครั้งนี้มีโทษไม่โปรดปราน        ไปรอนราญจนสวรรคครรไล
พระวงศาว่าแต่นี้ไม่มีสุข    จะรับทุกข์ทุกเวลาน้ำตาไหล
สนมนางต่างว่านับจะลับไป        จะมิได้เฝ้าองค์พระทรงยศ
ทั้งเสนาข้าเฝ้าเหล่าทหาร    ให้สงสารวิโยคโศกสลด
แต่สองนางอย่างจะม้วยระทวยทด    ทรงกำสรดโศกาด้วยอาวรณ์
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๒๓-๑๒๔)

บรรดาสาวสนมกำนัลของสิงหไกรภพ    เมื่อรู้ว่าสิงหไกรภพไม่สนใจพวกตนก็พากันเล่นเพื่อน ดังที่สุนทรภู่บรรยายว่า

เห็นโฉมสร้อยสุดามารศรี
ดังเดือนเพ็งเปล่งฟ้าไม่ราคี    ถึงทั้งมีลูกเต้ายังเพราพริ้ง
ประไพพักตรลักษณะพระวิลาศ    ดูผุดผาดล้ำเลิศประเสริฐหญิง
ที่เหิมฮึกนึกไว้อายใจจริง    เหลือจะชิงชมชิดทำบิดเบือน
แต่ลูกสาวท้าวพระยาพวกข้าหลวง    ทุกกระทรวงห้ามแหนไม่แม้นเหมือน
ต่างเมินหมางห่างแหทำแชเชือน    เที่ยวเล่นเพื่อนพิศวาสละราชการ
(พ. ณ ประมวญมารค, “สิงหไกรภพ” นิทานคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๑๓๓-๑๓๔)

เรื่องสิงหไกรภพค้างอยู่เพียงท้าวกาลเนตรตายเท่านั้น เข้าใจว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งไว้จนจบเรื่อง

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด
http://www.silpathai.net/สิงหไกรภพ/

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ถอดรหัสหลักธรรม จากวรรณกรรม ‘สุนทรภู่’
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: มิถุนายน 27, 2015, 12:43:48 am »
ถอดรหัสหลักธรรม จากวรรณกรรม ‘สุนทรภู่’
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

        เนื่องจากวันที่ ๒๖ มิถุนายน เป็น ‘วันสุนทรภู่’ มหากวี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้สร้างผลงานวรรณกรรมไทยไว้มากมาย จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้แต่องค์การ ศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)ก็ได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก ในวาระครบรอบ ๒๐๐ ปีเกิด เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙
       
          ในวรรณกรรมของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ มักมีหลักธรรมในพระพุทธศาสนา สอดแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะขอถอดรหัสแห่งหลักธรรมในวรรณกรรมทั้งหลายเหล่า นั้นมาแสดงไว้บางส่วน เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณูปการที่มหากวีเอกของโลกได้มีต่อวงการวรรณกรรมไทย
       
       • หลักกรรม       
          ขอเริ่มต้นด้วยหลักกรรม เพราะพระพุทธศาสนาถือการกระทำเป็นสำคัญ การกระทำดีก็เป็นผลกรรมที่ดี การกระทำชั่วก็เป็นผลกรรมที่ชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่วไม่มีใครมาดลบันดาลให้แก่ใครได้ นอกจากตัวผู้กระทำเท่านั้นจะเป็นผู้รับผลเอง
       
          ท่านสุนทรภู่ นับว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นอยู่ในหลักกรรมอย่างยิ่ง จะเห็นได้ดังความต่อไปนี้
          “ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพลาย   
          จึงแยกย้ายปิตุราชญาติกา
          มาพบพ่อทันใจด้วยไกลแม่   
          ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
          ชนนีอยู่ศรีอยุธยา   
          บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร”
          นิราศเมืองแกลง
          
          “กุศลบุญหนุนบุญส่งประจงช่วย
          ทำอย่างไรก็ไม่ม้วยอย่ามั่นหมาย
          ไม่ถึงกรรมทำอย่างไรก็ไม่ตาย   
          ถ้าถึงกรรมทำลายต้องวายปราณ”
          นิราศวัดเจ้าฟ้า
          
          ที่ยกมากล่าวเข้าทำนองตามหลักธรรมว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
       
       • ความกตัญญู       
          ในมงคลสูตร ได้กล่าวถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาว่าเป็นมงคลอันสูงสุด เพราะบิดามารดา นั้น เป็นผู้ให้กำเนิดแก่บุตร ให้การอบรมบ่มนิสัย ปกป้องคุ้มครองภัย เป็นผู้ที่แสดงโลกนี้ให้ปรากฏแก่บุตร เป็นครู อาจารย์ คนแรกของลูก เป็นเทวดาคุ้มครองลูก เป็นพรหมของลูก อันลูกพึงตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยความกตัญญูกตเวที
       
          ท่านสุนทรภู่ กล่าวถึงการเลี้ยงดูบิดามารดาไว้ ดังนี้
          “ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ   
          ได้การุญเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
          อุ้มอุทรป้อนข้าวมาเท่าไร   
          หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง
          ถ้าเราดีมีจิตคิดอุปถัมภ์   
          กุศลล้ำเลิศเท่าภูเขาหลวง
          จะปรากฏยศยิ่งสิ่งทั้งปวง   
          กว่าจะลุล่วงถึงซึ่งพิมาน
          เทพไทในห้องสิบหกชั้น   
          จะช่วยกันสรรเสริญเจริญสาร
          ว่าสตรีนี้เป็นยอดยุพาพาล   
          ได้เลี้ยงท่านชนกชนนี”
          สุภาษิตสอนหญิง
       
          “พระชนกชนนีเป็นที่ยิ่ง   
          ไม่ควรทิ้งทอดพระคุณให้สูญหาย
          ถึงลูกเมียเสียไปแม้นไม่ตาย   
          ก็หาง่ายดอกพี่เห็นไม่เป็นไร
          พระบิดามารดานั้นหายาก   
          กำจัดจากแล้วไม่มีที่อาศัย”
          สิงหไกรภพ
       
          “อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที   
          ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
          ทรลักษณ์อักตัญญูตาเขา
          เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน”
          พระอภัยมณี
       
       • ความรัก          
          พระพุทธเจ้า ตรัสว่า “ที่ใดมีความรักที่นั่นมีโศก ที่ใดมีความรักที่นั่นมีภัยร้าย เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว โศกภัยก็ไม่มี”
       
          ท่านสุนทรภู่ได้กล่าวความแสดงผลของความรักที่สอดคล้องกับพุทธพจน์ ดังกล่าวว่า
          “อกอะไรจะเหมือนอกที่รกรัก   
          อกจะหักเสียด้วยใจอาลัยหา
          ไม่เห็นพักตร์รักสิ้นในวิญญาณ์   
          จะเป็นบ้าเสียเพราะรักสลักทรวง”
          พระอภัยมณี
       
          “แต่ทุกข์รักก็หนักถนัดอก   
          ถึงสักหกเจ็ดเกวียนก็เวียนเหลือ
          แต่โศกรักมากจนหนักในลำเรือ   
          เฝ้าเติมเจือไปทุกคุ้งรำคาญครัน”
          นิราศภูเขาทอง
                 
       • โลกธรรม 8 ประการ       
          ในพระพุทธศาสนาสอนว่า การนินทา สรรเสริญ นั้น เป็นธรรมคู่กับโลก คือ เกี่ยวข้องกับโลก หรือเป็นไปกับโลก จึงเรียกว่าโลกธรรม มี ๘ ประการ คือ มีนินทา มีสรรเสริญ มีสุข มีทุกข์ มียศ มีเสื่อมยศ มีลาภ มีเสื่อมลาภ เป็นธรรมที่มนุษย์ต้องพานพบ หนีไม่พ้น จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในธรรม ๘ ประการนี้
       
          ท่านสุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
          “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ   
          ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน
          แม้องค์พระปฏิมายังราคิน   
          คนเดินหรือจะสิ้นคนนินทา”
          พระอภัยมณี          
       
       • ปิยวาจา       
          ในมงคลสูตร กล่าวว่า การกล่าววาจาสุภาษิต เป็นมงคลอันสูงสุด คำสุภาษิตนั้น พระพุทธองค์ ตรัสว่า “สัตบุรุษกล่าวคำเป็นสุภาษิตว่าสูงสุด ภิกษุพึงกล่าวคำเป็นธรรม ไม่พึงกล่าวคำไม่เป็นธรรม นั้นเป็นข้อที่ ๒ พึงกล่าวคำเป็นที่รัก ไม่พึงกล่าวคำไม่เป็นที่รัก นั้นเป็นข้อที่ ๓ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงกล่าวคำเหลาะแหละ นั้นเป็นข้อที่ ๔”
       
          ท่านสุนทรภู่กล่าวความสอดคล้องกับพระพุทธพจน์ว่า
          “เป็นมนุษย์สุดนิยมที่ลมปาก   
          จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
          แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา   
          จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ”
          สุภาษิตสอนหญิง
       
          “ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์   
          มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
          แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร   
          จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา”
          นิราศภูเขาทอง
       
          “อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก   
          แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย”
          เพลงยาวถวายโอวาท
                 
       • ไตรลักษณ์       
          พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเรื่องไตรลักษณ์ หรือสามัญลักษณะ 3 ได้แก่     
          1.อนิจจตา ความไม่เที่ยง คือมีความผันแปร หรือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง เช่น จากเด็กเล็ก เป็นหนุ่มสาว เป็นคนแก่ แล้วเปลี่ยนไปเป็นคนตาย       
          2.ทุกขตา ความเป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ไม่ได้ คือไม่สามารถดำรงอยู่ในภาวะเดิมๆ ต่อไปได้ เพราะมีสภาพบีบคั้น ขัดแย้ง หรือภาวะเป็นทุกข์ เช่น ไม่สามารถจะดำรงอยู่ในอิริยาบถใด อิริยาบถหนึ่งได้นานๆ เพราะเป็นทุกข์ด้วยความปวดเมื่อย เป็นต้น       
          3.อนัตตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน เช่น ความเป็น สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ล้วนสมมติขึ้นมาเรียก แต่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ไม่สามารถปรารถนาได้ เช่น ปรารถนาให้เป็นหนุ่มเป็นสาว ตลอดไป ก็ไม่ได้ดังปรารถนา เป็นต้น
       
          ในไตรลักษณ์นี้ สุนทรภู่ ท่านนำไปกล่าวไว้หลายที่ เช่น
          “.............................   
          เข้าห้องตรองตรึกระลึกถึง   
          พระไตรลักษณ์หักประหารการรำพึง   
          คิดตัดซึ่งห่วงใยในสันดาน   
          หวังประโยชน์โพธิญาณการกุศล   
          จะให้พ้นกองทุกข์สนุกสนาน”
          พระอภัยมณี
       
          “จงปลงจิตคิดในพระไตรลักษณ์   
          จงประจักษ์มั่นคงในองค์สาม
          นิราศทุกข์สุขาพยายาม   
          คงมีความวัฒนาในสามัญ”
          พระอภัยมณี
       
       • เรื่องโลกียะ       
          พระพุทธองค์ตรัสไว้ในเอกนิบาต อังคุตรนิกายว่า “ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสใด จะสามารถครอบงำจิตใจของผู้ชายได้มั่นคงเท่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของผู้หญิง” และ “ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสใด จะสามารถครอบงำจิตใจของผู้หญิงได้มั่นคงเท่า รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสของผู้ชาย”
       
          แสดงว่า หญิงและชายนั้นย่อมถวิลโหยหากันเป็นธรรมชาติธรรมดา ในสัจธรรมข้อนี้ ท่านสุนทรภู่ ได้กล่าวว่า
          “ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย   
          ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
          ถึงร้อยรสบุปผาสุมาไลย   
          จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย”
          พระอภัยมณี
       
          การที่ท่านสุนทรภู่กล่าวถึงความรักระหว่างชายกับหญิงนั้น ท่านมิได้มีจิตโน้มเอียงไปในด้านกามารมณ์ แต่แสดงให้เห็นว่าท่านมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง แล้วนำมากล่าวไว้เพียงสองสามบรรทัด อันเป็นข้อ ความที่กินใจ และเป็นสัจธรรม
       
          อย่างไรก็ตาม ท่านสุนทรภู่ก็ยังชี้ให้เห็นตามหลักธรรมว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนั้น ไม่เป็นแก่นสารอันใดที่ควรเข้าไปติดยึดลุ่มหลง
          “แล้วทรงเดชเทศนาภาษาไทย
          ด้วยความนัยโลกีย์สี่ประการ
          คือรูปลักษณ์กลิ่นเสียงเคียงสัมผัส   
          ที่คฤหัสถ์หวงแหนไม่แก่นสาร
          ครั้นระงับดับขันธสันดาน   
          ย่อมสาธารณ์เปื่อยเน่าเสียเปล่าดาย
          อย่าลุ่มหลงจงอุตส่าห์รักษาศีล   
          ให้เพิ่มภิญโญไปดังใจหมาย”
          พระอภัยมณี
       
       • ศีล ๕       
          หนึ่งในศีล ๕ คือละเว้นจากการดื่มสุรา ซึ่งในพระพุทธศาสนากล่าวถึงโทษของการดื่มสุราไว้ดังนี้ ๑.เสียทรัพย์ ๒.ก่อการวิวาท ๓.เกิดโรค ๔.ถูกติเตียน ๕.ไม่รู้จักอาย คือ ประพฤติกิริยาน่าอดสู ๖.ลดทอนกำลังปัญญา       
          โทษ ๖ สถานนี้ ไม่มีข้อไหนจะคัดค้านได้เลยว่าไม่เป็นความจริง และในปัจจุบัน ก็มี การรณรงค์ไม่ดื่มน้ำเมากันมากขึ้น       
          ในคัมภีร์พระมาลัย ได้กล่าวความไว้ว่า ผู้ดื่มน้ำเมาตายไปจะตกนรก ต้องไปกินน้ำทองแดงที่ร้อนสุดแสนทรมาน
       
          ท่านสุนทรภู่ จึงกล่าวถึงการดื่มเหล้าที่สอดคล้องกับความในพุทธศาสนาว่า
          “ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง   
          มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
          โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา   
          ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย”
          นิราศภูเขาทอง
       
          นอกจากนี้ท่านสุนทรภู่ ยังได้ให้ข้อคิดเพิ่มเติมไว้ว่า คนเราไม่ได้เมาเหล้าอย่างเดียว แต่เมารักนั้นหนักกว่าเมาเหล้าเป็นไหนๆ แต่ที่หนักไปกว่านั้น ก็คือเมาใจของตนเอง
          “ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก   
          สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
          ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป   
          แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน”
          นิราศภูเขาทอง
       
          ใจที่เมานั้น คือ เมาในอำนาจวาสนา เมาในความรู้ความสามารถที่มีอยู่ เป็นเหตุให้ฮึก เหิมใจ สำคัญว่าใหญ่กว่าคนอื่น เมาในวัย ในความไม่มีโรค ฯลฯ นี่ต่างหากที่มีผลมากกว่า เมาเหล้า คนที่ขึ้นสู่อำนาจสูงสุดแล้วกลับตกต่ำลง ก็เพราะเมาใจนี่แหละเป็นตัวการสำคัญ
       
          ส่วนเรื่องการผิดศีลข้อ ๓ ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ท่านสุนทรภู่ กล่าวไว้ว่า
          “อันกาเมสุมิจฉานี่สาหัส   
          จะฝากวัดไว้กะพระสละถวาย
          อันคู่เขาเราหนอไม่ขอกราย   
          แต่แม่หม้ายจำจะคิดสิทธิ์แก่ตัว”
          นิราศเมืองเพชร
       
          “งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม   
          ดังขวากแซมเสี้ยมแทรกแตกไสว
          ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย   
          ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง”
          นิราศภูเขาทอง
       
          และในศีลข้อ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ได้สอนว่า
          “อย่าฆ่าสัตว์ตัดชีวิตคิดอุบาย   
          จะจำตายตกนรกอเวจี”
          พระอภัยมณี
       
       • ความเชื่อ
       
          ในหลักธรรมคำสอนเรื่องศรัทธา คือ ความเชื่อ ต้องเชื่ออย่างมีเหตุผล อย่าเชื่ออย่างงมงาย ในทุกที่ที่กล่าวถึงศรัทธา ความเชื่อ จะต้องมีธรรมะ คือ ปัญญาเป็นตัวกำกับอยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้วยังสอนไม่ให้เชื่อตามหลักกาลามสูตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ ๑๐ ประการ
       
          ท่านสุนทรภู่ก็ได้กล่าวถึงความเชื่อ หรือการไว้วางใจว่าไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ดังคำกล่าว ที่ว่า   
          “แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์   
          มันแสนสุดลึกล้ำเหนือกำหนด
          ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด   
          ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
          มนุษย์นี้มีที่รักอยู่สองสถาน   
          บิดามารดารักมักเป็นผล
          ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน   
          เกิดเป็นคนคิดเห็นจึงเจรจา
          แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ   
          ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
          รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา   
          รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
          พระอภัยมณี
       
          นอกจากจะสอนไม่ให้ไว้วางใจใครแล้ว ยังสอนให้รักมารดาบิดา และหลักการพึ่งตนเอง ตามหลักธรรมในพุทธภาษิตที่ว่า ‘อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ’ คือ ตนเท่านั้น เป็นที่พึ่งของตน ผู้จะบรรลุธรรม หรือความสำเร็จนั้นต้องพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ไม่มีใครช่วยใครได้ แม้จะมีคนช่วย ตนเองก็ต้องช่วยตน พึ่งตนเองให้ได้ก่อน
       
          ส่วนข้อที่พูดและวิจารณ์กันมากก็คือ คำว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” หลายคนออก มาบอกว่า เป็นการสอนที่ทำให้คนคิดเอาตัวรอด ไม่คำนึงถึงคนอื่น หรือการอยู่ร่วมกันของ คนในสังคม
       
          แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า คนที่ตำหนิสุนทรภู่ ว่าสอนให้คนเอาตัวรอดนั้น ทุกคนก็ล้วนปฏิบัติตามสุนทรภู่ คือ เป็นนักเอาตัวรอดกันทุกคน
       
          ส่วนพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ท่านกล่าวว่า “รู้รักษาตัวรอด เป็นยอดดี” คือหมาย ความว่า ทางปฏิบัติที่จะทำให้เรามีความสุข คือ ทำแต่พอดี พอเอาตัวรอด ไม่ทำอะไรให้ เด่นขึ้นมา สุนทรภู่ตกระกำลำบาก ก็เพราะความเด่นของตน
       
          ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ทุกคนล้วนรักตัวเองมากกว่าคนอื่น คนที่บอกว่ารักคนอื่นนั้นไม่จริง ถ้าอยากรู้ว่ามนุษย์จะรักตนกว่าคนอื่นหรือไม่ ก็ให้คนเหล่านั้นนั่งใกล้ๆ กับคนที่ตนรัก มีมารดาบิดาบุตรภรรยา เป็นต้น แล้วคีบถ่านไฟที่สุกแดงวางไปบนศีรษะของคนเหล่านั้น คนพวกนั้นทั้งหมดจะปัดถ่านไฟลงจากศีรษะของตนก่อน แล้วจึงจะไปปัดถ่านไฟให้คนอื่น ก็คือมนุษย์ทุกคนเป็นนักเอาตัวรอด แต่พุทธศาสนาไม่ได้หยุดคำสอนไว้เพียงนั้น แต่สอนเลยไปอีกว่า เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นที่รักแห่งตน ตนรู้สึกเกลียดทุกข์ รักสุข ฉันใด คนอื่น สัตว์อื่น ก็เกลียดทุกข์ รักสุข ฉันนั้น มนุษย์จึงไม่ควรเบียดเบียนคนอื่น เพราะมีตนเป็นเครื่องอุปมา ก็ทำให้คนสนใจเลิกละการเบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มากกว่าการไปสอนตรงให้คนเลิกเบียดเบียนกัน ใครจะสนใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่ใครก็พูดได้สอนได้
          
       • หลักธรรมเพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน       
          พุทธศาสนากล่าวถึงประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง คือ       
          ๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยหมั่น ในการประกอบการเลี้ยงชีพในการศึกษาเล่าเรียน และการทำหน้าที่การงานของตน       
          ๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์ที่หามาได้ด้วยความหมั่น ไม่ให้เป็นอันตราย รักษาการงานของตนไม่ให้เสื่อมเสีย       
          ๓.กัลยาณมิตตตา ความมีเพื่อนเป็นคนดี       
          ๔.สมชีวิตา เลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ที่หามาได้ ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ไม่ฟุ่มเฟือยนัก
       
          นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงหน้าที่ที่ภรรยาพึงปฏิบัติต่อสามี คือ จัดการงานดี สงเคราะห์คนข้างเคียง สามีดี ไม่ประพฤตินอกใจสามี รักษาทรัพย์ที่สามีหามาได้ไว้ และขยันไม่เกียจ คร้านในกิจการทั้งปวง
       
          ในเรื่องดังกล่าวมานี้ ท่านสุนทรภูก็ได้นำมากล่าวไว้ในวรรณกรรมของท่านว่า
          “มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท   
          อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
          มีน้อยใช้น้อยค่อยบรรจง   
          อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
          ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ   
          ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน”
          สุภาษิตสอนหญิง
       
          คำที่กล่าวมานี้ ท่านสุนทรภู่ ประสงค์ให้ทุกคนรู้จักออมทรัพย์ ค่อยสะสมทรัพย์ทีละน้อย มิได้ประสงค์ให้ใครไม่ใช้สอยทรัพย์ จนกลายเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว จนกลายเป็น คนมีน้ำใจคับแคบ แต่ให้รู้จักจ่ายทรัพย์ในฐานะที่ควร คือ อะไรที่มีความจำเป็นต้องใช้ สอยในครัวเรือน ขาดตกบกพร่องต้องซื้อหามาให้ครบถ้วน เช่น จะแกงเผ็ดก็ต้องมีพริก หอม กระเทียม เป็นต้น จึงจะแกงได้ ถ้าไม่มีส่วนที่ว่านี้ ก็ถือว่าขาดสิ่งของต้องประสงค์ ส่วนอื่นที่มีอยู่แล้วและมีพอความจำเป็น ก็ไม่ต้องซื้อหามาให้สิ้นเปลืองเงิน ก็นับว่าเป็นคำสอนที่ดีมากไม่เฉพาะในยุคของท่านเท่านั้น แม้ในยุคปัจจุบัน ก็ต้องมีการออมทรัพย์กันอย่างจริงจัง จึงจะมีชีวิตอยู่รอดอย่างผาสุก และพอเพียง
       
       • พระนิพพาน          
          สุดท้ายนี้ จะขอนำคำเทศนาของพระอภัยมณี เกี่ยวกับพระนิพพาน มากล่าวไว้เป็นปัจฉิมวจนะว่า
          “ทรงแก้ไขในข้อพระปรมัตถ์   
          วิสัยสัตว์สิ้นภพล้วนศพมี
          ย่อมสะสมถมจังหวัดปัถพี   
          ไพร่ผู้ดีที่เป็นคนไม่พ้นตาย
          พระนิพพานเป็นสุขสิ้นทุกข์ร้อน   
          เปรียบเหมือนนอนหลับไม่ฝันท่านทั้งหลาย
          สิ้นถวิลสิ้นทุกข์สุขสบาย   
          มีร่างกายอยู่ก็เหมือนเรือนโรคา
          ทั้งแก่เฒ่าสาวหนุ่มย่อมลุ่มหลง   
          ด้วยรูปทรงลมเล่ห์เสน่หา
          เป็นผัวเมียเคลียคลอครั้นมรณา   
          ก็กลับว่าผีสางเหินห่างกัน
          จงหวังพระปรมาศิวาโมกข์   
          เป็นสิ้นโศกสิ้นสุดมนุษย์สวรรค์
          เสวยสุขทุกเวลาทิวาวัน   
          เหลือจะนับกัปกัลป์พุทธันดร”
          พระอภัยมณี
       
       ประวัติสุนทรภู่       
       ประวัติ
          พระสุนทรโวหาร มีนามเดิมว่าภู่ เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๓๒๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาเป็นพระนมของพระธิดาในกรมพระราชวังหลัง
       
          ในช่วงเยาว์วัย มารดาได้พาสุนทรภู่ไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดารามในปัจจุบัน) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนในกรมพระคลังสวน ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนสุนทรโวหาร ระหว่างรับราชการต้องถูกจำคุกเพราะเมาสุราอาละวาดทำร้ายญาติผู้ใหญ่ของตน ภายหลังพ้นโทษได้เป็นพระอาจารย์ถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒
       
          สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่ได้ออกจากราชการ และไปบวชที่วัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)และเดินทางไปจำพรรษาตามวัดในหัวเมืองต่างๆ อยู่ระยะหนึ่ง แล้วลาสิกขา ต่อมาไม่นานก็ได้กลับมาบวชใหม่ และได้เข้ามาอยู่ที่วัดราชบูรณะ วัดอรุณราชวราราม วัดพระเชตุพน กระทั่งสุดท้ายมาพำนักอยู่วัดเทพธิดาราม ระหว่างพ.ศ.๒๓๘๓-๒๓๘๕ ก็ลาสิกขา ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นี้สุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้านายหลายพระองค์ อาทิพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
       
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนา เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวรในปี พ.ศ.๒๓๙๔ สุนทรภู่รับราชการต่อมาอีก ๔ ปี ก็ถึงแก่กรรมใน พ.ศ.๒๓๙๘ อายุได้ ๗๐ ปี
       
       ผลงาน       
          ปัจจุบัน บทกวีนิพนธ์ของพระสุนทรโวหาร(ภู่) ทั้งหมดเท่าที่พบ มีอยู่ ๒๕ เรื่อง ดังนี้
       
          ประเภทนิราศ ๙ เรื่อง ได้แก่ นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชร นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระแท่นดงรัง และนิราศเมืองสุพรรณ (เป็นเรื่องเดียวที่แต่งเป็นโคลง )
       
          ประเภทนิทาน/นิยาย ๕ เรื่อง ได้แก่ เรื่องโคบุตร พระอภัยมณี พระไชยสุริยา ลักษณวงศ์ และสิงหไกรภพ
       
          ประเภทเสภา ๒ เรื่องได้แก่ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และเรื่อง พระราชพงศาวดาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นงานนิพนธ์ชิ้นสุดท้ายของสุนทรภู่
       
          ประเภทสุภาษิต ๓ เรื่อง ได้แก่ สวัสดิรักษา เพลงยาวถวายโอวาท และสุภาษิตสอนหญิง       
          ประเภทบทละคร ๑ เรื่อง ได้แก่ เรื่องอภัยนุราช       
          ประเภทบทเห่กล่อม ๔ เรื่อง ได้แก่ เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร       
          ประเภทบทรำพัน ๑ เรื่อง คือ รำพันพิลาป
       
       (จากหนังสือพิมพ์ธรรมลีลา ฉบับที่ 79 มิ.ย. 50 โดย มหานาลันทา)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9500000066480
http://astv.mobi/AlgoSaV

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: น้อมคารวะ อมตกวี 26 มิถุนายน " วันสุนทรภู่ "
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: มิถุนายน 27, 2015, 12:56:34 am »


ชีวิตการทำงาน ที่รุ่งเรือง แสนจะตกอับ
และเรื่ิิองราวกับผู้หญิงของสุนทรภู่

    เมื่อเริ่มเป็นหนุ่มท่านสุนทรภู่ได้เป็นเสมียนนาย
ระวาง กรมพระคลังสวน ซึ่งมีหน้าที่เก็บอากรสวน
และวัดระวาง ทำได้อยู่ระยะหนึ่ง แต่ใจไม่ชอบทำ
งานอื่นเหมือนแต่งกลอน ในที่สุดก็กลับมาอยู่ที่
พระราชวังสถานภิมุขอย่างเดิม เพราะเหตุที่อยู่ที่นั่น
จึงทำให้รู้จักมักคุ้นกับสาว ๆ ชาววัง จนกระทั่งเกิดลอบรัก
กับหญิงข้าราชบริพารชื่อ #จัน
ความทราบถึงสมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
ทั้งท่านสุนทรภู่และแม่จัน ก็ถูกลงอาญาจองจำไว้ สำหรับ
ตัวสุนทรภู่นั้นถูกเฆี่ยนหนักเจียนตาย ด้วยมีหลักฐาน
ในนิราศเมืองแกลงตอนหนึ่งว่า
     #น้ำก็นองอยู่ในท้องชลาสินธุิ์
     #จะกอบกินเค็มขมไม่สมหวัง
     #เหมือนไร้คู่อยู่ข้างกำแพงวัง
     #จะเกี้ยวมั่งก็จะเฆี่ยนเอาเจียนตาย

     *สุนทรภู่หรือพ่อภู่ของเรา* ได้แม่จันเป็นภรรยา เรื่องนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าว
ไว้ว่า เหตุผลอยู่ตรงที่ เจ้าครอกข้างใน (ทองอยู่) ที่
เป็นพระอัครชายาของกรมพระราชวังหลังทรงยก
แม่จันประทาน มีหลักฐานจากคำกลอนนิราศวัดเจ้าฟ้าว่า เมื่อพ่อภู่มีบุตรชาย เจ้าครอกข้างในทรงรับไป
เลี้ยงดู แต่ชีวิตคู่ของสุนทรภู่ไม่ราบรื่น อาจจะเป็น
เพราะท่านชอบดื่มสุราเมามายเป็นประจำ ทำให้แม่จันโกรธเคืิองและขอแยกทางเดิน
     แต่อีกสาเหตุหนึ่งเล่ากันว่า สุนทรภู่เดือดเนื้อร้อนใจ
รีบเดินทางไปเมืองแกลง เนื่องจาก เวลานั้น มีชายผู้สูงศักดิ์ผู้หนึ่งหมายปองแม่จัน ดังข้อความในนิราศ
เมืองแกลงว่า
      ด้วยเกิดความลามถึงเพราะหึงหวง
      คนทั้งปวงเขาคิดริษยา
      จึงหลีกตัวกลัวบุญคุณบิดา
      ไปแรมป่าปิ้มชีวันจะบรรลัย

#ส่วนชีวิตที่เริ่มรุ่งเรืองของพ่อภู่
       หลังจากที่พ่อภู่เลิกร้างกับแม่จันแล้ว ได้เดินทางไปต่างจังหวัด คือ เมืองเพชร ที่นั่นพ่อภู่ได้รับอุปการะจากหม่อมบุนนาค ซึ่งเป็นหม่อมห้ามในกรม
พราะราชวังสถานพิมุข  ท่านได้ไปทำไร่อยู่ที่นั่นอยู่
หลายปี ต่อมาได้มีโอกาสกลับกรุงเทพฯ ได้มีโอกาสเข้ารับราชการในวังในสมัยรัชกาลที่ ๒ พ่อภู่เป็น
ปฎิภาณกวี แต่งกลอนเป็นที่พอพระราชหฤทัยในหลวง รัชกาลที่ ๒ อยู่เสมอ เช่น เม่ื่อครั้งที่พระองค์ทรงติดขัดในกระบวนกลอนเรื่องรามเกียรติิ์
ตอนนางสีดาผูกคอตาย
กลอนของรัชกาลที่ ๒
 ..เอาภูษาผูกศอให้มั่น     แล้วพันกับกิ่งโศกใหญ่
   หลับเนตรจำนงปลงใจ  อรไทก็โจนลงมา
  ...บัดนั้น                        วายุบุตรวุฒิไกรใจกล้า
  ครั้นเห็นองค์อัครกัลยา  ผูกศอโจนมาก็ตกใจ
  ตัวสั่นเพียงสิ้นชีวิต        ร้อนจิตดังหนึ่งเพลิงไหม
 โลดโผนโจนลงตรงไป  ด้วยกำลังว่องไวทันที

รัชกาลที่ ๒ ทรงติว่าบทเก่าชักช้า จึงทรงแก้ไขใหม่ว่า
#จึงเอาผ้าผูกพันกระสันรัด #เกี่ยวกระหวัดกับกิ่งโศกใหญ่
แล้วจนพระทัยจะแต่งต่อให้หนุมานมาช่วยนางสีดาอย่างไร จึงโปรดเกล้าให้พ่อภู่แต่งต่อโดยเร็ว สุนทรภู่แต่งต่อดังนี้
#ชายหนึ่งผูกศออรไท   #แล้วทอดองค์ลงไปจะให้ตาย 
#บัดนั้น     #วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย 
พ่อภู่ของเราจะแต่งกลอนสนองพระเดชพระคุณ
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนถูกพระราชหฤทัยอยู่หลายครั้งหลายหน จึงได้รับ
พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น #ขุนสุนทรโวหาร  กวีที่ปรึกษาในกรมอาลักษณ์ ชีวิตช่วงนี้รุ่งเรืองมาก
    #เกียรติยศยศพ่อภู่เจิดจ้า เทียบได้กับกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
( พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)
และกรมหลวงพิทักษ์มนตรี ซึ่งเป็นยอดในทางนาฏศาสตร์ ยามชีวิตที่รุ่งเรืองของพ่อภู่ จึงมีเพื่อนฝูงมากมาย รวมทั้ลูกศิษย์ลูกหาก็ไม่ใช่น้อย เช่น กวีหญิง ชื่อคุณพุ่ม ได้กล่าวถึงครูภู่ของเธอไว้ว่า
ครั้งแผ่นดินปิ่นอยุธพระพุทธเลิศ
ช้างเผือกเกิดกับสยามถึงสามสาร
เป็นหาหนะพระที่นั่งอลังการ
เกิดอาจารย์ท่านภู่ครูสุนทร

    #ชีวิตที่แสนจะตกอับ  เมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต
เจ้าฟ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสวยราชสมบัติต่อมา
สุนทรภู่ก็ออกผนวช นัยว่าหลีกเลี่ยงราชภัย เพราะรัชกาลที่ ๓
ทรงขัดเคืองสุนทรภู่มาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ แล้ว เรื่อง
พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงรับแต่งกลอน
เรื่องอิเหนา ตอนบุษบาเล่นธาร และให้สุนทรภู่ตรวจแก้
พ่อภู่บอกว่าดีแล้ว แต่พอถึงต่อหน้าพระพักตร์
สมเด็จพระราชบิดา สุนทรภู่กลับขอแก้ว่า
#น้ำใสไหลเย็นแลเห็นตัว 
#ปลาแหวกกอบัวอยู่ไหวไหว 
แก้ใหม่เป็น
#น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา
#ว่ายแหวกปทุมาอยู่ไหวไหว 
ซึ่งรัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดตามที่สุนทรภู่แก้ไข ทำให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กริ้ว
ทำให้พระองค์อับอายต่อหน้าชุมนุมกวี

#พ่อภู่กับเรื่องผู้หญิง
      ปกติผู้หญิงนั้นย่อมมีอิทธิพลดลใจในการสร้างผลงานชิ้นเอก
ของกวีและศิลปิน ชีวิตของพ่อภู่ก็เช่นกัน ผู้หญิงมีบทบาทต่อวรรณกรรม
ของท่านเป็นอย่างมาก  และมีผู้หญิงมาเกี่ยวข้องกับท่านมากมาย
มีข้อสังเกตว่าพ่อภู่ของเราอยู่กับใครก็ไม่ยืด ไม่หย่าร้างก็ตายจากไป
นี่แหละ วิถีชีวิตของกวี สมัยรัชกาลที่ ๒ ชีวิตพ่อภู่มีความรุ่งเรืองนั้น
พ่อภู่มีภรรยายถึง ๒ คน คนหนึ่งอยู่กันได้ ๙ ปีก็ตายจากกัน

ดังปรากฎในนิราศพระประธมว่า
#ถึงคลองขวางบางกรวยระทวยจิต 
#ไม่ลืมคิดนิ่มน้องน้อยละห้อยหา
#เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา 
#โอ้สิ้นอายุเจ้าได้เก้าปี 

       อนึ่งมีเสียงตำหนิว่าสุนทรภู่เป็นคนเจ้าชู้ มีเมียมาก และเหลวไหล
ในชีวิตครอบครัว แท้จริงแล้ว ชีวิตของท่านก็เหมือนกับศิลปินโดยทั่วไป
พูดถึงความดีของพ่อภู่ท่านไม่เคยทิ้งเมีย มีแต่เมียทิ้ง แถมยังทิ้งลูก
ให้เลี้ยงดูอีกด้วย เมื่อเราได้ศึกษาวรรณกรรมต่าง ๆ ของท่าน ก็พอจะสรุปได้
ว่าท่านเป็นคนดีมีคุณธรรมพอสมควร ใครดี ดีตอบ ใครชั่ว ชั่วตอบ

ดังข้อความนิราศพระประธมว่า
#หนึ่งน้องหญิงมิ่งมิตรพิศวาส 
#ซึ่งสิ้นชาติสิ้นภพจบสมัย 
#ขอคุณอานิสงส์ช่วยส่งไป 
#ถึงห้องไตรตรึงส์สถานพิมานแมน 
#ที่ยังอยู่คู่เคยไม่เชยอื่น 
#จงปรากฎยศยืนกว่าหมื่นแสน 
#มั่งมีมิตรพิศวาสไม่ขาดแคลน 
#ให้หายเคืองเคืองทั่วทุกตัวตน 
#นารีใดที่ได้รักแต่ลักลอบ 
#เสน่ห์มอบหมายรักเป็นภักดิ์ผล 
#เผอิญขัดพลัดพรากเพราะยากจน 
#แบ่งกุศลส่งสุดาทุกนารี 

ชีวิตบั้นปลายของท่าน
       ครั้นสมัยรัชกาลที่ ๔ ดาวประจำตัวของกวี
สุนทรภู่ก็เจิดจ้าอีกครั้งหนึ่ง ทรงโปรดเกล้าสุนทรภู่ เป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายบวรราชวัง
        สุนทรภู่ หรือ พ่อภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร เป็นกวีแก้วของไทยยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น
ได้ครองตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ อันเป็นเกียรติยศนานถึง ๕ ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรม รวมอายุ ๖๙ ปี ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านยังไม่เสื่อมคลาย ยังเป็นที่พิศวงหลงใหลของคนไทยทั้งชาติ
อยู่ตลอดไป จึงควรที่จะยกย่องเทิดทูนท่านไว้ ณ
โอกาสนี้ครับ

อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว
ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว
เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว
เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร

กลอนสุนทรภู่ บางตอนจาก "เพลงยาวถวายโอวาท"

ขอบคุณ   :       รศ.ประทีป  วาทิกทินกร
                          รศ.กุหลาบ  มัลลิกะมาส

ขอบคุณที่อ่านจนจบ พิมพ์ผิดพลาดบ้าง
ขออภัยนะครับ คืนนี้ พระรัตนตรัยคุ้มครอง
ราตรีสวัสดิ์ครับกัลยาณมิตรทุกท่าน

เพจ G+บูชา ธรรมาภิบาล​​​
๒๖  มิถุนายน  ๒๕๕๘