ผู้เขียน หัวข้อ: อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)  (อ่าน 2447 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)

วันหนึ่งหลวงปู่หล้าได้วิสัชนาขึ้นว่า
“อารมณ์วู่วามนั้น
หากบุคคลใดรู้ตัวก็ต้องถือว่าเป็นคนมีปัญญาแล้ว
และหากถ้ามันเห็นว่าไม่มีประโยชน์มันก็จะวางไปเอง
แต่ถ้าหากเห็นว่ามีประโยชน์มันก็วางไม่ได้

อย่างไรก็ตาม มันจะถึงกับฆ่าหรือตีเขาหรือไม่
ข้อนี้ก็เป็นส่วนที่จะต้องรู้อีก
ถ้ามันหมายจะฆ่าจะตีเขาก็ส่อแสดงให้เห็นว่ามันยังมีกิเลสมากอยู่
เรื่องนี้เราต้องพิจารณา”

“ใครๆ ในโลกนี้ก็เหมือนกัน
ถ้าหากเห็นว่าโลภ โกรธ หลง
มันเป็นของอร่อยอยู่ มันก็ลดละไม่ได้

มันต้องไปสังเวยเป็นอาหารของกิเลสต่อไป
เรื่องความวู่วามโผงผางนี้
พระบรมศาสดากล่าวว่า เป็นตามนิสัยก็มี
เพราะบางคนอุปมาเหมือนน้ำใสกลางขุ่นขอบ
คือมารยาทไม่งามพูดจาโผงผาง แต่จิตใจเป็นธรรมอยู่

บางคนเหมือนน้ำใสทั้งขอบทั้งกลาง
หมายความว่าจิตใจก็เป็นธรรม มารยาทก็เป็นธรรม

ส่วนบางคนที่เหมือนน้ำขุ่นทั้งกลางทั้งขอบ
ก็หมายความว่าจิตใจก็ไม่เป็นธรรม คำพูดก็ไม่เป็นธรรม”

“เรื่องของธรรมะของพระพุทธศาสนา
ความจริงแล้วเราควรจะต้องปฏิบัติให้ควบคู่กับอารมณ์ของเราไป
ดีกว่าที่จะปล่อยให้อารมณ์ไหวไปทางอื่น”

“ยกอุทาหรณ์
คนเราจะสะอาดหรือไม่สะอาดขาดตัวก็ตาม
แต่ก็ต้องได้อาบน้ำอยู่นั่นเอง
ถ้าไม่อาบน้ำก็ยิ่งไปใหญ่
เข้าสังคมใดๆ ก็ไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ถ้าเราไม่ประพฤติศีลประพฤติธรรมแล้ว
ไม่มีอะไรจะมาล้างหัวจิตหัวใจให้สะอาดได้”

ที่มา...(คัดลอกจากหนังสือหลวงปู่สอนธรรม: หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต”)


-http://phobkrit.exteen.com/page/4

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 09, 2013, 01:56:27 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Re: อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 20, 2013, 02:05:16 pm »

 อัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ๑๒
วัดบรรพตคีรี ( ภูจ้อก้อ ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร

 



โลกุตตรจิต โลกุตตรธรรม

ผู้มีศรัทธาความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ มีวิริยะในสิ่งที่ควรเพียร มีสติในสิ่งที่ควรระลึกได้ มีสมาธิในสิ่งที่ควรตั้งมั่น มีปัญญาในสิ่งที่ควรรอบรู้ เป็นกองทัพธรรมสมดุลกันแล้ว ย่อมเป็นช้างสารมหากำลังใหญ่ ความหลงที่เรียกว่าอวิชชา จะตั้งกองพลเข้ามาทางประตูใด ความหลงย่อมอยู่ใต้อำนาจของธรรมแท้ ใจแท้ ศรัทธาแท้วิริยะแท้ สติแท้ สมาธิแท้ ปัญญาแท้ เพราะธรรมเหล่านี้ขึ้นสู่โลกุตรแล้ว ไม่มีเทวดา มาร พรหมและมนุษย์ใด ๆ จะปลดเกษียณให้ลงสู่โลกีย์ได้

โลกุตรจิต-โลกุตรธรรม มิใช่ธรรมลวงโลก มิใช่ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ยายทวด ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ลวงโลก เพราะข้ามปุถุชนโคตรไปแล้วไกล ไม่อาลัยว่าจะลวงตนจะลวงโลก เหมือนโลกีย์วิสัยที่หนักไปในทางอามิสสรณัง คัจฉามิ ที่เที่ยวกวาดต้อนผู้อยู่ในระดับเดียวกันเข้า ให้เป็นพรรค ตามกรรมนิยม กรรมบันดาล เหนี่ยวรั้งตั้งเจตนาและความหวัง ก็เป็นไปตามโลกีย์ ไกลจากโลกุตระจนมองไม่เห็น จะเห็นกันได้ง่าย ๆ ก็เพียงกายและความประพฤติเป็นบางส่วนเท่านั้น เว้นไว้แต่จำพวกพระอริยะ จำพวกเจโตปริยญาณเท่านั้น เหลือนั้นก็เดาด้นคาดคะเนผิดบ้างถูกบ้าง แต่ต้องผิดนั้นแหละเป็นส่วนมาก

ผู้เห็นภัยอย่างเต็มที่ในสงสารทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันนั้น กับผู้สนใจในทางปฏิบัติอย่างเต็มที่ก็ดี

กับ ผู้ไม่ประมาทนอนใจนั้นก็ดี

กับ ผู้สนใจในธรรมเพื่อหลุดพ้นนั้นก็ดี

กับ ผู้เชื่อมรรค ผล นิพพานนั้นก็ดี

กับ ผู้ไม่ตีตนตายก่อนไข้นั้นก็ดี

กับ ผู้เลือกเฟ้นธรรม เลือกเฟ้นใจ ในธรรมที่ควรเลือก ในใจที่ควรเลือก

นั้นก็มีความหมายอันเดียวกัน

ส่วนท่านผู้เห็นภัยในสงสารอย่างเต็มที่ และผู้ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรมอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงอย่างเต็มที่นั้นก็ดี

กับท่านผู้พ้นจากผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี แล้วไม่ติดข้องอยู่ทั้งผู้รู้ในอดีต ผู้รู้ในอนาคต ผู้รู้ในปัจจุบันนั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในนิมิตฝ่ายรูปขันธ์ก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอรูปคือนามขันธ์นั้นก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธาตุทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพธรรมทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพจิตทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสรรพอนัตตาทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสูญ ๆ สาญ ๆ ทั้งปวงก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในสมมุติและวิมุติก็ดี

กับผู้ไม่ติดอยู่ในได้ในเสีย

กับผู้ไม่ติดอยู่ในอุปาทานก็ดี เป็นต้น

เหล่านี้ย่อมมีรสชาติและความหมายอันเดียวกัน เหลือวิสัยที่จะบัญญัติและสมมุติไปแล้ว ไม่เป็นธรรมที่ชาวโลกจะเอามาซื้อมาขายมาขายในตลาดโลกได้ เพราะมิใช่ธรรมลิเก ละคร และกีฬา และฉายหนังภาพยนตร์โทรทัศน์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ผู้เขียนก็เขียนไปตามจิตสังขาร ท่านผู้อ่านผู้ฟังก็ต้องอ่านต้องฟังไปตามจิตสังขาร ปัญหาก็หากจบไปเอง

เจตนาผิดปิดทางหลุดพ้น

ยุคของผู้เขียนมาพักชั่วคราวอยู่ภูจ้อก้อนี้ สนุกฟังเทศน์ทั้งภายนอกภายในมากมายนัก

ที่ว่า พักอยู่ชั่วคราว ก็หมายความว่า ที่สมมุติกันว่าวินาทีหนึ่งก็ดี นาทีหนึ่งก็ดี ชั่วโมงหนึ่งก็ดี วันหนึ่งคืนหนึ่งก็ดี เดือนหนึ่งก็ดี สองพันห้าร้อยยี่สิบสี่ก็ดี เป็นเวลาน้อยนัก ไม่หยุดยั้ง ล่วงไป ๆ

จะว่าวันเวลาล่วงไปก็ถูก จะว่าชีวาล่วงไปตามสมมุติก็ถูก แต่ปรมัตถ์มิใช่สัตว์ มิใช่ชีวิต ไม่มีใคร ๆ ล่วงไปไหน ส่วนวันคืนก็ไม่ล่วงไปไหน เอกรัตตินทิวัง มีแต่กลางคืนกับกลางวัน เท่านั้น

พูดกลับไปกลับมา เพื่อมิให้ติดอยู่ในการพูดกลับไปกลับมา ทั้งสมมุติและปรมัตถ์ แต่ก็ตรงกันข้าม สิ่งที่ติดก็คอยแต่จะติด เช่นยางขนุนและยางมะตอยเป็นต้น สิ่งที่ไม่ติดก็ไม่ค่อยอยากติด เช่นน้ำค้างบนใบบัว ปลายเหล็กแหลมไม่เก็บพันธุ์เมล็ดผักกาดไว้ นกบินในอากาศไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำไม่มีแผล

ธรรมะในทางพระพุทธศาสนาเป็นธรรมลุ่มลึกและสูงยิ่งกว่าศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ผูกขาดอยู่ทุกกาล ไม่ได้พูดเข้าข้างตัว พูดเข้าข้างธรรมะตามเป็นจริงของธรรม มิได้พูดเข้าข้างตัวตามความสำคัญว่าตัวเป็นเจ้าธรรม ยอมยกธงขาว ยอมให้ธรรมอยู่เหนือตัวเสมอ ๆ ไม่ตีตนเสมอธรรมเลย

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงยอมเคารพธรรม ถือว่าธรรมทรงอยู่ก่อนพระองค์ ถ้าธรรมไม่ทรงมีอยู่ก่อนพระองค์แล้ว พระองค์ก็ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ ศาสนาอื่น ๆ รู้ได้ปฏิบัติได้เพียงแต่เหตุผล แต่มิใช่ทางเหตุผลไปทางโลกุตระ มีแต่ตามความประสงค์ของกิเลส ไปทางวัตถุนิยม เป็นอัตตาธิปไตย เข้าข้างตนเข้าข้างกิเลสอย่างลึกบ้าง อย่างโลดโผนสุกเอาเผากิน เจอก้างเต็มโลก

ฉะนั้นสมณะทั้ง ๔ จึงไม่มีในศาสนาอื่น ๆ นอกจากศาสนาพุทธ คือ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ แต่พากันบัญญัติเอาแบบเข้าใจผิดบ้าง แบบหัวดื้อหัวแข็งสารัมภะแข่งดีบ้าง ประมาทบ้าง

ฉะนั้นในมหาปรินิพพานสูตร พระบรมศาสดาจึงยืนยันตามธรรมาธิปไตยว่า สมณะในที่อื่นนอกจากพุทธศาสนาแล้ว ไม่มีสมณะทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้นเลย

เพราะศาสนาอื่นประพฤติพรตมุ่งลาภอามิสที่ตนหวัง ข้อวัตรปฏิบัติทั้งปวงจะเด็ดเดี่ยวสักเพียงไรก็ตาม เจตนาไม่นอกเหนือไปจากมุ่งลาภภายนอกที่ตนหวัง จึงปิดหนทางอันจะออกจากชาติ ชรา พยาธิ มรณะไปได้เสียแล้ว

เพราะผู้ต้นศาสนาทั้งหลายเหล่านั้น ศีล สมาธิ ปัญญาเป็นไปได้เพียงโลกิยวิสัย อย่างสูงก็พรหมโลกเท่านั้น ด้วยกำลังฌานโลกีย์ ไม่สามารถเป็นธรรมเบื่อหน่ายคลายเมา คลายกำหนัดได้ พอได้เป็นนิสัยได้เท่านั้น

แม้ผู้ถือศาสนาพุทธ แต่เจตนาเป็นเจ้าเรือน มุ่งปัจจัยสี่เป็นเจ้าใหญ่นายโตของเจตนา เป็นเจ้าเป็นจอมอยู่ ก็ไม่สามารถจะบรรลุพรหมจรรย์เบื้องต้นได้ในปัจจุบันชาติ คือพระโสดาบันได้เลย จะเดินจงกรมภาวนาตลอดคืนตลอดวัน อดข้าวอดอาหารจนขุมผมขุมขนหล่นก็ตาม ไม่ขึ้นถึงโสดาได้

ทั้งนี้เพราะเหตุใดเล่า

เพราะเหตุมุ่งลาภมุ่งอามิสภายนอกปิดประตูแล้ว แต่(จะ)พอเป็นนิสัยในชาติภพต่อ ๆ ไปนั้นได้อยู่

ข้อนี้นักปฏิบัติควรโอปนยิโก น้อมเข้ามาในใจตน ตรวจดูเจตนาตนให้แยบคายทั้งนั้น เว้นไว้แต่ไม่ต้องการพระอริยะในชาตินี้ ชั้นใดชั้นหนึ่ง หรือจนถึงที่สุดโดยด่วนเท่านั้น ผู้ไม่ต้องการโลกุตระกับผู้น้อยใจในสงสาร กับผู้หวังอามิสเป็นเจ้าหัวใจ ก็อันเดียวกัน

สติ ปัญญา เป็นอาจารย์

อนึ่ง อดีต อนาคตย่อมเป็นเมืองขึ้นของปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นผู้ส่งส่ายเอามาใช้ให้รู้ความหมาย เมื่อปัจจุบันเป็นโลกิยวิสัย อดีตอนาคตก็พลอยเป็นโลกิยวิสัยไปด้วย แต่อดีตอนาคตไม่มี มีแต่ชื่อและบัญชี เพราะล่วงไปแล้ว เพราะยังไม่มาถึง ดีก็ดีไปแล้ว ชั่วก็ชั่วไปแล้ว อนาคตเล่า ถ้าจะดี ก็ยังไม่มาถึง ถ้าจะชั่ว ก็ยังไม่มาถึง ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม เท่านั้น จะละเว้นได้ในทางที่ไม่ชอบ และก็จะปฏิบัติได้ในทางที่ชอบ ถ้าหากว่าคอยไปบดเอื้องอยู่แต่อดีต อนาคตเท่านั้น ก็ลืมโอปนยิโกมาในปัจจุบัน จิตใจก็ห่างเหินจากสมาธิและปัญญา

ผู้กำลังเดินมรรคภาวนายังไม่หลุดไม่พ้นจากความหลงของเจ้าตัวโดยสิ้นเชิงแล้ว ก็สงสัยลังเลในปฏิปทาของตน จับต้นชนปลายอยู่มั่วสุม เดี๋ยวก็กล่าวตู่ตน ว่ากรรมฐานแบบนั้นดี แบบนี้ดีอยู่อย่างนั้น

อุบายกรรมฐานวิธีใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่เคารพรักใคร่ปฏิบัติอาจารย์สติ อาจารย์ปัญญาในปัจจุบันแล้ว ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย เว้นไว้แต่ท่านผู้พ้นไปแล้ว เพราะปัญญาองค์ท่าน แก่กล้าเหนือความหลงไปแล้ว ย่อมไม่ติดอยู่ในเงื่อนทั้ง ๓ ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบันด้วย เพราะขาดจากอุปาทานในเงื่อนทั้ง ๓ ไปแล้ว ถึงจะเอามาใช้ตามชาวโลกนิยมพูดกัน ก็ใช้แบบไม่มีพิษเลย นกบินในอากาศวันยังค่ำไม่มีรอย มีดเฉือนน้ำวันยังค่ำไม่มีรอย

อดีต อนาคต ปัจจุบันเมื่อมีผู้เข้าไปสอดแทรกยึดถือเอาเป็นเจ้าของ ย่อมเป็นโทษในธรรมสุดท้ายของพระพุทธศาสนาทั้งนั้น เพราะมีวิญญาณปฏิสนธิสัมปยุตกันอยู่ มีทั้งเหตุ กรรม วิบาก สมดุลกันอยู่ในตัว ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง

ผู้ไม่หนักในอานาปานสติพร้อมกับเจตสิกที่นึกคิดและผู้รู้ในขณะเดียวกันแล้ว จะเห็น จะรู้ตามเป็นจริงได้ยาก และจะไม่ยอมเชื่อได้ง่าย ๆ ในธรรมตอนนี้ เพราะเป็นธรรมอันละเอียดมากมายนัก จะเห็นจะรู้ได้บ้างแบบมัว ๆ เมา ๆ ก็เพียงแต่รูปขันธ์อันหยาบ ๆ เท่านั้น (ถ้า)ตายคารูปขันธ์ที่กำลังพิจารณาอยู่ มิได้ส่งลงถึงไตรลักษณ์ให้แจ้งชัดด้วยสติปัญญาอันชอบแท้ อย่างสูงก็ไปเกิดเป็นพรหมที่มีรูปเท่านั้น

จะอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีญาณอันถ่องแท้รู้ปฏิบัติ รู้ชัด รู้ชอบในอนัตตาจิต อนัตตาธรรม อนัตตาผู้รู้รู้แล้วในขณะเดียว โดยมิได้ส่งส่ายหาแล้ว จะเบื่อ จะหน่าย จะคลาย จะหลุด จะพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิงย่อมเป็นไปไม่ได้

แต่การพิจารณาเลยครูเลยเถิดไป จนเห็นดิ่งลงไปว่าสูญไปหมดโดยมิได้ไว้หน้า ไม่มีขอบเขตเกินความเป็นจริงของธรรมแท้แล้ว ก็ย่อมตกนรกเป็นทิฏฐิมานะขุมดิ่ง ก็ไม่มีศาสดาใด ๆ จะสอนได้อีกละ เพราะคำว่าปัจจัตตัง ย่อมเอามาอ้างได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระทั้งนั้น คำว่าอกาลิโกก็เหมือนกัน

อกาลิโกและปัจจัตตังของพระอรหันต์ เป็นธรรมอันไม่มีกิเลสสิง ต่ำกว่านั้นลงมาก็อ้างอกาลิโกและปัจจัตตังตามภูมิของตนได้ทั้งนั้น แม้ผู้เขาถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพาน อกาลิโกของเขา เขาก็อ้างได้ว่าไม่มีบาป ไม่มีมรรค ไม่มีผลอยู่ทุกกาล ตลอดถึงปัจจัตตังเขาก็อ้างได้ว่าเห็นและรู้เฉพาะตนเองอยู่ว่า ไม่มีบาป ไม่มีบุญ ไม่มีมรรค ผล นิพพานเลยดังนี้ ฉะนั้นการอ้างบาลีจึงเอาเป็นประมาณได้ยากนัก

เขาเอาทองเก๊ไปลวงคนโง่ว่าเป็นทองแท้ก็ได้ แต่ไม่อาจลวงผู้ที่รู้จักทองแท้ได้ง่าย ๆ เลย ธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาแท้ มิได้ลวงโลก โลกลวงโลกต่างหาก กิเลสลวงกิเลสต่างหาก ขี้ขโมยลวงขี้ขมาย เวรสนองเวร ภัยสนองภัย ศีลสนองศีล สมาธิสนองสมาธิ ปัญญาสนองปัญญา นิพพิทาสนองนิพพิทา วิราคะสนองวิราคะ วิมุตสนองวิมุต วิสุทธิสนองวิสุทธิ นิพพานสนองนิพพาน (ไม่ต้องสงสัยในการสนองเลย) หลับตาเข้าก็สนองมืด ปรารภชั้นสูงชั้นต่ำปะปนกัน แกงหม้อใหญ่หรือเล็กผู้ฉลาดย่อมไม่รับกลืนทั้งก้างและกระดูก ย่อมเลือกรับเอา

ผู้น้อมธรรมบูชากิเลส

เมื่อวัยชะแรแก่เรามาเท่าใดใกล้สิ้นลมปราณก็สนุกฟังเทศน์แห่งกองรูป นามขันธ์วิบาก แก่ เจ็บ ตายก็ไม่ลงธรรมาสน์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ไม่ลงธรรมาสน์ อนิจจตา ทุกข์ตา อนัตตตาก็ไม่ลงธรรมาสน์

อกาลิโกมีอยู่ทุกกาล เทศนอยู่ทุกกาล อริยสัจธรรมทั้ง ๔ ก็เทศน์อยู่ทุกกาล

ผู้ฟังเทศน์ตามเป็นจริง ปฏิบัติและพิจารณาตามเป็นจริง รู้ตามเป็นจริง พ้นจากความสงสัยตามเป็นจริงไปเป็นชั้น ๆ ก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ที่ถึงที่สุขทุกข์โดยชอบก็มีอยู่ทุกกาล

ตรงกันข้ามผู้ไม่อยากฟังเทศน์เสียเลยก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ยอมฟังเทศน์แต่น้อมธรรมลงมาบูชากิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล เช่น น้อมลงมาผูกเอาเลขเอาผา อันเห็นผิดเป็นชอบ เข้าข้างกิเลสของตัวก็มีอยู่ทุกกาล

ผู้ให้ทานรักษาศีลภาวนาเพื่อโลกีย์ก็มีอยู่ทุกกาล

ดอกบัว ๔ เหล่าก็มีอยู่ทุกกาล

อกาลิโกย่นลงมาโดยย่อมี ๒ โลกิยะหนึ่ง โลกุตระ ๑ ปัจจัตตังก็ย่นลงมาเป็น ๒ มีความหมายอันเดียวกัน สฺวากฺขาโต ภควตา ธัมโม ก็เหมือนกัน ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณากล่าวดีแล้ว ทั้งโลกิยะ และโลกุตระ กล่าวตามชั้นปฏิปทาของมนุษย์และเทวดา มาร พรหมผู้ปฏิบัติอันเป็นฝ่ายเหตุฝ่ายผลของผู้ปฏิบัติ อันจะได้รับตามเหตุผลเท่าที่ตนสร้างขึ้นในมโนภาพ

อรหัตผล กับกรรมเก่า

ส่วนอรหัตผลเป็นผลขาดตอน มิได้โยงถึงเหตุ เพราะเหนือเหตุไปไกลแล้ว จะโยงคืนมาคลุกเคล้ากับเหตุมิได้ เพราะตัดสะพานกับเหตุอยู่ในตัวสิ้นเชิงไปแล้ว เหลือวิสัยไม่เป็นฐานะจะโยงคืนมาอาศัยเหตุ

อรหัตมรรค และต่ำกว่านั้นลงมา ยังอาศัยเหตุอยู่ แต่เหตุอรหัตมรรคเป็นเหตุละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ส่วนผลอันขาดตอนกับเหตุในอรหัตผลเล่า ก็เป็นผลอันละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ไม่เป็นหน้าที่จะมาเดาด้นคาดคะเนให้เป็นธรรมมัจฉากัจฉ้อ ตาดำตาแดงใส่กันเลย ผลของการปราศจากโลภ โกรธ หลงโดยสิ้นเชิงนี้เป็นปัจจัตตังและสันทิฏฐิโก สุดท้ายของพระพุทธศาสนา

ธรรมดามนุษย์ เทวดา มาร พรหม จิตใจและสติปัญญาอยู่ในระดับโลก ก็ยืนยันความเห็นของตนอยู่ในระดับนั้น จะปรารภออกมาหรือ ไม่ปรารภออกมา ก็ไม่เป็นปัญหา

แต่พระบรมศาสดามิได้รับรองโดยถ่ายเดียว ว่าบุคคลจะบริสุทธิ์ด้วยความรู้และความเห็น แต่ท่านผู้ใดปราศจากโลภ โกรธ หลงแล้ว ท่านผู้นั้นแหละเป็นผู้บริสุทธิ์โดยแท้

แต่โดยมากมักจะเอาความรู้และความเห็นของตน อันยังมีกิเลสอยู่ มาเป็นความบริสุทธิ์โดยสิ้นเชิง บาลีท่านยังมิได้อริยมรรค อริยผลชั้นใดชั้นหนึ่งเลยเถียงเอาก็มี เถียงเอาในทางตรงและทางอ้อมก็มี เพราะอยากได้ แต่ยังไม่ได้เลย แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรรมและผลของกรรมอีกละ

กรรมและผลของกรรมเป็นของละเอียดมากนักหนาแท้ ๆ แม้พระอรหันต์(จะ)มีผลกรรมเก่าตามมาก็จริง แต่ปัจจุบันกรรมและอนาคตกรรมไม่มี ผลของกรรมเก่าตามมาถึง ก็พบแต่เรือนร้าง คือขันธ์ ๕ ล้วน ๆ และก็ไม่มีกิเลสยึดถือเอาเป็นเจ้าของอยู่ในเรือนว่างเปล่า คือขันธ์ ๕ นั้น เพราะเป็นขันธ์ที่ไม่มีเจ้าของหลง เพราะทอดบังสุกุลไปแล้ว คล้ายกับเอาไฟไปเผา น้ำลายที่เทออกจากกระโถนแล้ว เจ้าของน้ำลายย่อมไม่เดือดร้อนและไม่ผูกเวรผูกภัย

ผู้ไม่ต้องระวังใจ

ผู้เขียนอยู่นี้ล่ะเป็นอย่างไรเล่า

ตอบว่า เขียนตามกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร จะเอาการเขียนการอ่านมาเป็นเครื่องบริสุทธิ์ หรือไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ เพราะความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ต้องอยู่ฟากการเขียนการอ่านย้อนหลังคืนมา มิได้ข้ามฟากไปหาอนาคต และอดีต แล้วแต่ศาลธรรมในปัจจุบันตรวจดู จะตรวจผิดตรวจถูก ก็ขึ้นอยู่กับศาลธรรมในปัจจุบันเท่านั้น ศาลอดีตก็ล่วงไปแล้ว ศาลอนาคตก็ยังไม่มาถึง ศาลปัจจุบันเท่านั้นจึงจะตัดสินได้ ถ้าหากว่าศาลปัจจุบันไม่ลำเอียงก็ตัดสินพอดีพองาม ถ้าหากว่าลำเอียงแล้วก็ตัดสินหย่อนบ้างเกินบ้าง ลำเอียงหมายความว่ากิเลสยังหลายอยู่ ปรมาณูของกิเลสย่อมดึงดูดไปไม่รู้ตัว

ธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นธรรมอันลุ่มลึกละเอียดมากกว่าศาสนาใด ๆ ทั้งสิ้น ผู้มีอำนาจวาสนาน้อย อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ยังอ่อนอยู่ ย่อมเป็นไปได้ยาก

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ นั้นท่านกล่าวไว้ว่า ธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ประการให้สมดุลกันคือ

ศรัทธา เชื่อสิ่งที่ควรเชื่อเช่น เชื่อว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าบาปมีบุญมี มรรค ผล นิพพานมี เป็นต้น เชื่อว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีลมาในพระปาฏิโมกข์ หรือพุทธบัญญัติ และอภิสมาจาร ย่อมเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้รักษาและประพฤติได้ ย่อมเป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ต้องขึ้นอยู่กับแต่ละรายของบุคคลตามเหตุผลเฉพาะส่วนตัวเป็นราย ๆ ไป แม้ศรัทธาเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อก็เหมือนกัน เป็นได้ทั้งโลกีย์และโลกุตระ ขึ้นอยู่แต่ละรายของบุคคลอีก

วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ก็เหมือนกัน ที่เอาศีลมาแทรกเข้านี้เป็นโวหารพิเศษ ความหมายของพระพุทธศาสนาโดยมากถ้ากล่าวถึง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วจะถือเป็นกฎเกณฑ์เบื้องต้นของพระพุทธศาสนาได้ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระโสดาบันเป็นต้นไป เพราะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา เข้าสู่โลกุตร ก้าวหน้า ไม่ถอยหลัง ไม่วนเวียนเหมือนศีลสมาธิ ปัญญาของโลกียวิสัยเพราะข้ามโคตรโลกิยะแล้ว ไม่สงสัยในปฏิปทาทางดำเนินของตน

มีปัญหาว่าพระอรหันต์เล่า จัดเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ได้หรือไม่

ตอบแบบติดไม่คาว่า จัดเป็นมหาวิมุตติศีล มหาวิมุตติสมาธิ มหาวิมุตติปัญญา แต่มิได้เรียงแบบ กลมกลืนกันอยู่ในขณะเดียวทุกอิริยาบถของจิตใจ มิได้รักษาลำบากเหมือนผู้คุมคุมนักโทษ เพราะเจอของที่ไม่มีโทษเจือเลยแม้แต่นิดเดียว ผู้เตรียมระวังอยู่ กับ ผู้ยังมีโทษอยู่ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้มีใจที่ไม่มีโทษแล้วจะระวังใจทำไม แต่เมื่อยังไม่ถึงพระอรหันต์ก็ต้องระวังใจอยู่ ถ้าไม่ระวังมันก็ผิดจริง ๆ ไม่น้อยก็มาก

ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่สำคัญเท่าใดนัก เพราะเป็นหน้าที่ส่งเมล์เข้ามาสู่เมืองใจ ใจผู้ตรวจเมล์เป็นตัวสำคัญ เมื่อรับทราบแล้ว ใจโอนเอียงไปทางไหนเล่า ใจต้องตรวจดูใจทั้งเหตุผลโดยเฉพาะใจให้แยบคาย ใจอย่าตื่นว่าเป็นเมล์ใหม่ก็แล้วกัน คือเมล์เก่าเรื่องเก่าที่เคยส่งเข้ามาประจำเป็นนิจวัตรนั้นเอง

ถ้าใจต่ำ รับเมล์แล้ว ก็รักบ้าง ชังบ้าง เฉยบ้าง คำว่า เฉย แปลว่าเมล์ที่ไม่น่ารัก เมล์ที่ไม่น่าชัง

ใจชั้นสูงก็เป็นแต่สักว่ารู้ เป็นแต่สักว่าเห็น (รู้ในที่นี้หมายความว่ารู้ด้วยปัญญา เห็นในที่นี้หมายความว่าเห็นด้วยปัญญา)

ส่วนใจชั้นกลาง สติปัญญาชั้นกลางก็สารพัดจะน้อมลงสู่ตามสติปัญญาของตน ๆ ตามอิสระเท่าที่เห็นสมควร เพราะนานาจิตตัง นานาธัมมัง

ท่านผู้ไม่ติดอยู่ในจิต ไม่ติดอยู่ในธรรม ไม่ติดอยู่ในผู้รู้นั้นคือพระอรหันต์ เพราะรู้เท่าจิต รู้เท่าธรรม รู้เท่าผู้รู้โดยแท้จริงแล้วจิตก็ดี ธรรมก็ดี ผู้รู้ก็ดี จึงไม่มีพิษ ไม่เป็นปัจจัยส่งต่ออะไร ๆ ให้เป็นไปในอนันตรเหตุ อนันตรผลอันเป็นสหชาติให้วนเวียนในสังสารวัฏ

อวิชชาตัวโง่ ๆ หลง ๆ ถูกทำลายไปด้วยมรรคปัญญาญาณอันถ่องแท้ เป็นมหาสัมมาวิมุตติ เป็นมหาสัมมาญาณสามัคคี กลมเกลียวดึงดูดกันทันเวลาในขณะเดียวโดยมิได้ส่งส่ายร้องเรียกหา ชนะสงครามโลกหลงด้านภายในที่เคยดองขันธสันดานมาไม่มีประตูไม่มีเวลาจะขบถคืนได้ เรียกว่าชนะสงครามอวิชชาก็ได้ไม่ผิด

สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส ไม่ต้องกล่าวพรรณนาเรียงแบบไปก็ได้ ไม่ต้องสาวไป ไม่ต้องสาวกลับ เป็นอนุโลมเป็นปฏิโลมก็ได้ เพราะตัดในระหว่างไหน ๆ (ถ้า)ขาดแล้ว(เป็น)ใช้ได้ทั้งนั้นแหละ เพราะเหตุว่าเป็นเชือกเส้นเดียวกัน เป็นบ่วงอันเดียวกัน เป็นลูกโซ่อันเดียวกัน ที่เกี่ยวข้องติดโยงกันเป็นวงกลม ตัดขาดที่ไหนใช้ได้ทั้งนั้น แก้ได้ทั้งนั้น หลุดไปได้ทั้งนั้น พ้นไปได้ทั้งนั้น ไม่สงสัย


ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Re: อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 20, 2013, 02:08:22 pm »
ยินดีในปัจจุบัน คือ ปฏิบัติถูกทาง

บางท่านกล่าวว่า ข้าพเจ้าเบื่อชอบแล้ว หน่ายชอบแล้ว พ้นชอบแล้ว ในเรื่องอดีต อนาคตนี้ แต่ทุกวันนี้อาศัยอยู่แต่ในปัจจุบันเท่านั้นดังนี้ก็มี

แต่ข้าพเจ้าผู้เขียนเข้าใจว่า ผู้ยินดีในปัจจุบัน แปลว่าเป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง เดินมรรคภาวนาถูกทาง แต่ยังมิได้หลุดพ้นถึงขั้นอรหันต์ เป็นเพียงเดินมรรคใดมรรคหนึ่งอยู่เท่านั้น และได้รับผลใดผลหนึ่งอยู่ในตัวเท่านั้น ยังมิใช่อรหัตผล เป็นเพียงได้ดื่มปีติความอิ่มใจที่พอใจในสมถะและวิปัสสนาในปัจจุบัน แล้วหลงยึดถือเอาปัจจุบันเป็นพระนิพพาน

ปัจจุบันมิได้เป็นพระนิพพาน เป็นเพียงทางเดินเข้าสู่พระนิพพานเท่านั้นเอง ด้วยอำนาจมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีกับศีล สมาธิ ปัญญารวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ในชั้นติดอยู่ในปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมนี้ มิใช่เดินทางถึงปลายทางแล้ว เป็นเพียงใช้คำว่าเดินถูกทางเฉย ๆ

ท่านผู้ถึงอรหัตผลแล้วมิได้ติดข้องอยู่ในอดีต อนาคตหรือปัจจุบันหรือสูญ ๆ สาญ ๆ หรือไม่สูญไม่สาญหรืออะไร ๆ ใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าหากว่าติดอยู่เงื่อนใดเงื่อนหนึ่งแห่งปัจจุบันแล้ว วิญญาณปฏิสนธิก็มีเกิดมีตายอยู่ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมนั้นเอง

ความทะเยอทะยานในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม เป็นสมุทัยและตัณหาอันละเอียดมาก เมื่อเป็นตัณหามันละเอียดก็เป็น อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ อันละเอียดอยู่ในตัวด้วยไม่ต้องจำกล่าวไปใยก็ได้

เหตุไฉนจึงติดอยู่ในปัจจุบัน จนลืมตัว จนสำคัญตนว่าตนพ้นไปแล้วโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่า สำคัญตนเป็นปัจจุบัน และ สำคัญปัจจุบันว่าเป็นตน ใน ๒ แง่นี้ แล้วก็แตกแยกออกไปอีกเป็นอีก ๒ แง่รวมเป็น ๔ คือ สำคัญว่า ผู้อื่นเป็นปัจจุบัน สำคัญว่า ปัจจุบันเป็นผู้อื่น

เมื่อสำคัญว่าตนมีอยู่ในปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน แล้วจะไม่หลงไปยึดถืออดีต อนาคตว่าเป็นตัวตนเราเขาสัตว์บุคคลนั้นเป็นไม่มีเลย เป็นเพียงสติปัญญาไม่กล้า แล้วก็เข้าใจผิดฟิตตัวขึ้นว่าละได้แล้วเรื่องอดีตอนาคต ความสำคัญตัวย่อมเป็นรากเหง้าของกิเลสอยู่โดยตรง ๆ แล้ว จะปฏิเสธไปไหนก็ไม่รอดได้เลย

อดีต อนาคต ปัจจุบันก็คล้าย ๆ กับปลาตัวเดียวกัน แต่หัวและหางไม่กิน เพราะไม่อร่อย แต่เป็นยาเสพติด มากินพุงของมันที่ตรงกลางตัวแล้วจะยืนยันว่าเราไม่กินปลาตัวนั้นดอก ดังนี้ก็ไม่พ้นตกอยู่แบบฉลาดแต่แกมโกงซึ่ง ๆ หน้า ท่านผู้ทรงคุณปัญญาคมคายชำแรกกิเลส ย่อมรู้ได้ไม่ต้องดำดินบินบน เหมือนนกและปลาไหล ก็รู้ได้ไม่ค่อยผิด

ปัญญาย่อมเป็นนายหน้าของธรรมทุกประเภท ทั้งที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ ทางโลกีย์หยาบ ๆ ที่เป็นนายหมวด นายพรรคนายพวก นายพัน นายพลเป็นต้น ต้องเอาผู้ฉลาดเป็นหัวหน้า ทางพุทธศาสนาว่าบัณฑิต ปัณฑิตา ปรินายกา บัณฑิตเท่านั้นจึงควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา คือใจที่ประกอบด้วยปัญญา นัตถิพาลา ปรินายกา คนพาลมิควรเป็นหัวหน้า ใจที่เป็นพาลไม่ควรเป็นหัวหน้าของกาย วาจา นี้น้อมเข้ามาในฝ่ายปฏิบัติทางธรรมปรมัตถ์ เพื่อให้รู้ชัดปฏิบัติสะดวกเป็นโอปนยิโกไม่ส่งส่ายหนีหลักเดิม

การนึกคิดทั้งปวงออกไปจากคอกใจ ต้องกลับเข้าคอกใจ ใครเป็นเจ้าของใจ ใจที่มีกิเลสย่อมยึดถือเอาใจเป็นตน ตนเป็นใจ ใจที่ไม่มีกิเลสสิงจะบัญญัติและไม่บัญญัติก็มิได้ติดอยู่ในเงื่อนใด ๆ ทั้งสิ้น นี่ธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งเพียงใดเล่าโลกาเอ๋ย เหตุนั้นพระบรมศาสดาตรัสรู้ใหม่ ๆ จึงใช้กิริยาระอา(ที่)จะสั่งสอนโลก และเป็นธรรมเนียมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องใช้กิริยาอย่างนั้นก่อน จึงเป็นเหตุให้พรหมได้อาราธนาตามธรรมเนียม


ธรรมเนียม กับ ธรรมวินัย

ธรรมเนียม อ่านว่าธรรมเนียม ธรรมเนียมนี้ว่าโดยย่อแบ่งออกเป็น ๒ เป็นโลกิยธรรมเนียม เป็นโลกุตรธรรมเนียม

สัมมาสัมพุทธธรรมเนียม ปัจเจกพุทธธรรมเนียม สาวกธรรมเนียม สาวิกาธรรมเนียม โสดาปัตติมรรคโสดาปัติติผลธรรมเนียม สกทาคามิมรรคสกทาคามิผลธรรมเนียม อนาคามิมรรคอนาคามิผลธรรมเนียม อรหัตมรรคอรหัตผลธรรมเนียม จะธรรมเนียมใด ๆ ก็มีธรรมวินัยเป็นประมาณขอบเขตไม่เลยเถิด เพราะอยู่ระดับธรรมวินัยเป็นชั้น ๆ ของภูมินั้น ๆ ไม่ได้เอากิเลสเป็นนายหน้านายกของธรรมเนียมเพราะเข้าสู่โลกุตรธรรมเนียมแล้ว

โลกิยธรรมเนียมนั้นเอาเป็นประมาณไม่ได้ หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี หมู่มากลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมถูกก็มี หมู่น้อยลากไปทางธรรมเนียมผิดก็มี เพราะทางโลกิยวิสัยเลือกเฟ้นธรรมวินัยมาเป็นอาจารย์ยังไม่สันทัด ยังบกพร่องทางเหตุผลอยู่

บางทีเหตุชั่วแท้ ๆ บัญญัติเอาดื้อ ๆ ว่าเหตุดีก็มี เช่น เหตุแห่งอบายมุขทุกประเภทเป็นต้น เป็นเหตุแห่งฉิบหายโต้ง ๆ ไม่มีศาลอุทธรณ์เลยในทางธรรมวินัย แล้วบัญญัติเอาดื้อ ๆ ว่าเป็นทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ ก็ไม่ผิดแปลกจากบัญญัติว่า กงจักรเป็นดอกบัว แล้วเอื้อมมือเข้าไปจับ มือก็ขาด แล้วก็ไม่รู้ตัวเลยว่ามือขาด เพราะเข้าใจผิดว่ากงจักรเป็นดอกบัว โลกิยวิสัยย่อมเป็นกันอยู่อย่างนี้เป็นส่วนมาก

ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงลงทุนลงแรงสร้างบารมีมาในสงสารอเนกปริยาย เพื่อขนรื้อเอาสัตว์ออกจากความเข้าใจผิด ที่เห็นผิดเป็นชอบ เพื่อให้เห็นชอบเป็นชอบตรงกับเหตุตรงกับผล ด้วยทรงพระเมตตาอันหาประมาณมิได้ ด้วยทรงพระมหากรุณาดังสาครอันหาประมาณมิได้เลย ถึงกระนั้นก็รื้อได้ขนได้เท่าเขาโคเท่านั้น ส่วนขนโคนั้นรื้อไม่ได้ มอบไว้ให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคตต่อไปตามกรรมและผลของกรรมของสัตว์โลกแต่ละรายเป็นยุค ๆ และสมัย

ทำดี ทำชั่ว ไม่ล้าสมัย

เขียนทั้งต่ำ ทั้งสูง ทั้งลึก ทั้งตื้นปะปนกันไป เมื่อมีเวลาชีวาทรงอยู่ ก็เขียนซะซ้ำซากตามประสาของผู้รู้งู ๆ ปลา ๆ ล้าสมัย แต่ก็ไม่มีท่านผู้ใดล้าสมัยเลยในโลกนี้ ถ้าทำดีก็ไม่ล้าสมัยในทางดี ถ้าทำชั่วก็ไม่ล้าสมัยในทางชั่ว ถ้าพ้นจากกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วก็ไม่ล้าสมัยจากพระอรหันต์ ไม่ล้าสมัยทั้งเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยการไม่ล้าสมัย ก็ไปจบกันในที่นั้น ต่ำกว่านั้นลงมา การไม่ล้าสมัยขึ้นอยู่กับเหตุผลทางดีและทางชั่วที่สร้างขึ้น

หันย้อนคืนมาปรารภเจตนาของผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาย่นลงมามี ๒ เจตนา คือ เจตนาโลกิยะหนึ่ง เจตนาโลกุตระหนึ่ง

เจตนาก็ดี ความประสงค์ก็ดี ความต้องการก็ดี ความหมายก็ดี ความอธิษฐานก็ดี ความหวังก็ดี ก็มีความหมายแห่งใจความและรสชาติอันเดียวกัน จะผิดกันบ้างก็แต่ต้องการช้าหรือเร็วเท่านั้นแหละ

เจตนาโลกุตระก็แจกออกไปหลายประเภท

ประเภทที่ ๑ เจตนาพุทธภูมิ ออกปากบ้างไม่ออกปากบ้าง ได้รับลัทธพยากรณ์บ้าง ยังมิได้รับบ้าง ตามเหตุผลที่ได้สร้างมาน้อยและมากในปุเรชาติ

เป็นศรัทธาธิกะบ้าง ปัญญาธิกะบ้าง วิริยาธิกะบ้างตามเจตนาที่ชอบของตน พุทธภูมิจำพวกที่ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วจึงเป็นการแน่นอนได้ ไม่มีเจตนาเปลี่ยนแปลงไปทางอื่น ต่ำกว่านั้นลงมาในพวกปรารถนาพุทธภูมินี้สามารถเปลี่ยนแปลงเจตนาของตนไปทางอื่นได้ เช่น เจตนาเปลี่ยนแปลง ลงมาเป็นปัจเจกภูมิ หรือสาวกภูมิก็อาจเป็นได้ ไม่แน่นอนได้เลย

บางจำพวกเมื่ออุปสมบทแล้ว ออกปฏิบัติเบื้องต้นก็เจตนาว่าจะปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาตินี้ แต่เมื่อปฏิบัติไป ๆ ก็คลายออกเพราะเห็นว่าคงไปไม่รอด แล้วพลิกใจใหม่ว่าจะปรารถนาพุทธภูมิดังนี้ก็มี แล้วลาสิกขามาสู่ฆราวาสก็มี และไม่ลาก็ยังเป็นเพศบรรพชิตอยู่ จำพวกนี้ข้าพเจ้ายังไม่เข้าใจดี พิจารณายาก ขอฝากไว้ให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายอธิบายให้ฟังแล

ผู้จะพ้นทุกข์ในปัจจุบัน

จำพวกที่ปรารถนาพระปัจเจกภูมิ ปัญญาธิกะ ศรัทธาธิกะ วิริยาธิกะเหล่านี้ก็มีมากมายนัก ได้รับลัทธพยากรณ์แล้วก็มี ไม่ทันได้รับลัทธพยากรณ์ก็มี ตามความยิ่งและหย่อนที่ได้ลงทุนลงแรงที่แสวงมา จำพวกที่ปรารถนาเป็นสาวกซ้ายขวาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอนาคตก็ยังมีมากมายนัก จำพวกปรารถนาสาวกฝ่ายเอตทัคคะและสุกขวิปัสสโก เตวิชโช ฉฬภิญโญ ปฏิสัมภิทัปปัตโตก็ยังมีมากมายเป็นอเนกอนันต์หาประมาณมิได้ ทุก ๆ จำพวกที่ปรารถนาโลกิยสมบัติก็ดี หรือยังไม่รู้จักปรารถนาอะไรก็ดี ทำดีเรื่อยไป ทำตัวเรื่อยไป ก็ไม่สามารถจะพรรณนาได้

เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องส่งนอก วิจัยท่านผู้อื่นทั้งนั้น ไม่ถือว่าเป็นของจำเป็นสำคัญอะไรนัก ถ้าไม่เขียนก็คะนองมือเพื่อแก้ง่วง ท่านผู้อ่านอ่านมาพบเข้า ขี้เกียจอ่านก็เปิดข้ามไปซะ หรือไม่อ่านเลยสักวรรคสักตอนก็ได้ เพราะมันไม่มีรูปเหมือนหนังสือพิมพ์ประจำวันประจำสัปดาห์ การอ่านการเขียนการนึกการคิดก็อยู่ในวิธีของกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร เกิดแล้วแปรดับไปเป็นระยะ ๆ ติดต่ออยู่ ต้องขึ้นอยู่กับผู้รู้ตามเป็นจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริงเท่านั้น

จำพวกที่เจตนาพ้นทุกข์ในปัจจุบันชาติและก็ไม่แอบกินอยู่แต่ความปรารถนาและเจตนาอย่างเดียว เตือนคนด้วยตนเอง ปลุกตนด้วยตนเอง อยู่ในข้อวัตรปฏิบัติไม่ปีนเกลียว เรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุขภายนอกหรือคราวเสื่อมลาภ เสื่อมยศ เสื่อมสรรเสริญเยินยอ เสื่อมสุขอิงอามิสภายนอกไม่ถือว่าเป็นเสี้ยนเป็นหนามต่อเจตนาที่ตั้งไว้ ไม่เสียหายและไม่อาลัยว่าจะพลิกเจตนาและปรารถนาใหม่ ท่านจำพวกนั้นสร้างบารมีเต็มตื้นมาแล้ว และบางท่านก็พ้นไปแล้วจากบ่วงทั้งปวงสิ้นเชิง

และบางท่านก็โชกโชนถ่อ พาย แจวอยู่ภายในด้านจิตใจด้วยสติปัญญาอยู่ ไม่ได้ไว้ใจไม่ร้อนใจเลย แม้กายจะนอนอยู่ก็ตาม ยังไม่หลับเพียงไรก็มีสมถะและวิปัสสนากลมกลืนกันอยู่เพียงนั้น ไม่เรียงแบบไม่ส่งส่ายไม่สงสัย มีสติปัญญาเป็นกุญแจอยู่ในมือสติ มือปัญญา เปิดประตูข้ามหลงอยู่ในตัวแล้ว

มรรคจิต มรรคใจ มรรคสติ มรรคปัญญารวมพลเข้าเป็นเกลียวเดียวกัน ไม่มีอันใดก่อนไม่มีอันใดหลัง ผลจิต ผลใจ ผลสติ ผลปัญญาก็รวมพลกันในขณะเดียวกันไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลังพร้อมกันทันกาล ย่อมดับความหลงในสงสารเฉพาะส่วนตัวได้ไม่ขบถคืน ไม่ขบถตนคืนมาหลงอีก

ข้ามห้วยหนองคลองบึงบาง ทะเลมหาสมุทรภายนอกได้ตลอดถึงข้ามประเทศนอกได้ล้าน ๆ มหาประเทศ ล้าน ๆ มหาสมุทรก็ดี ด้วยเครื่องยนต์กลไกภายนอกไม่เท่าข้ามความหลงของตนได้ด้วยพระมหาปัญญาญาณอันถ่องแท้อันทรงสัมมาญาณบริบูรณ์ในปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรมซึ่งหน้าแลนา

หน้าสติปัญญา กับหน้าหนังหุ้มหน้าผาก เป็นคนละวัตถุต่างกัน แต่ถ้าไม่หลงหนังหุ้มหน้าผาก ก็กลายเป็นหน้าสู้ หน้าปัญญา อยู่ในตัวอีกแล้ว เรียกว่าข้ามทะเลหลงหนังทั้งปวงได้แล้ว ทั้งทะเลหนังอดีต ทั้งทะเลหนังอนาคต ทั้งทะเลหนังปัจจุบันด้วยวัตถุอันอื่น ๆ ไม่กล่าวอีกก็ได้ไม่เป็นไร

วิญญาณมีจริงหรือ

ต่อไปมีเรื่องอะไรก็เขียนลงไปก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ตามประสาของกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขารเพราะพระนิพพานมิได้มาเขียนมาอ่านด้วย

บาลีท่านถามว่า วิญญาณมีจริงหรือ

ผู้เขียนก็ต้องตอบว่า ผู้ถามก็เอามโนวิญญาณถาม ผู้ตอบก็เอามโนวิญญาณตอบ ผู้เป็นกรรมการก็เอามโนวิญญาณเป็นกรรมการ ผู้ถามก็ไม่ควรถาม ผู้ตอบก็ไม่ควรตอบ ผู้กรรมการก็ไม่ควรเป็นกรรมการ เพราะคล้าย ๆ กับคนขี้เมาสุราถามและตอบกัน คล้าย ๆ กับคนขี้เมาสุรามาเป็นกรรมการอีก จะกลายเป็นสภานกเค้าแมว เพราะมีลูกตาโตเสมอกันแล้ว

และก็ จักขุวิญญาณ วิญญาณทางดวงตา โสตวิญญาณ วิญญาณทางหู ฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก ชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น กายวิญญาณ วิญญาณทางกาย มโนวิญญาณ วิญญาณทางใจ วิญญาณทั้งหลายเป็นเมืองขึ้นของมโนวิญญาณ แล้วโทรเลขด่วน หรือโทรศัพท์ด่วนลงถึงมโนวิญญาณ แล้วทั้งอดีตที่ล่วงไปแล้วด้วย ทั้งอนาคตที่ยังไม่มาถึงด้วย ทั้งปัจจุบันที่กำลังเป็นอยู่ซึ่งหน้าด้วย ถ้าหากว่าไม่รู้เท่าวิญญาณแล้วก็เป็นวิญญาณปฏิสนธิตะพึดตะพือ เป็นอนันตรปัจจัย เป็นอนันตรเหตุ เป็นอนันตรผล เป็นอนันตรกิเลส เป็นอนันตรกรรม เป็นอนันตรวิบาก เป็นอนันตรชาติ เป็นอนันตรภพ หรือจะว่าเป็นอนันตรภพ อนันตรชาติ ก็ได้

ในห้วงของปัจยาการปฏิจจสมุปบาทที่เกี่ยวข้องกันเป็นสายโซ่, โลภ โกรธ หลง เป็นสายโซ่หรือไม่ และต่างกันอย่างไรกับปัจยาการ

ตอบว่าเป็นสายโซ่อยู่โดยตรง ๆ แล้วและไม่ต่างกันกับปัจยาการเลย มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ที่ไม่รู้เท่าปัจยาการ ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ไม่รู้เท่า โลภ โกรธ หลง ก็มีความหมายอันเดียวกัน ไม่แปลกเลย ผู้ไม่รู้เท่าอดีต อนาคตและปัจจุบัน ก็มีความหมายอันเดียวกัน ผู้ไม่รู้เท่ากองนามรูป ก็มีความหมายอันเดียวกันนั้นแล ผู้ไม่รู้เท่าไตรลักษณ์ก็มีความหมายอันเดียวกันอีก

คำว่ารู้เท่าในที่นี้มิได้หมายความว่า รู้ตามสัญญาความจำมา เคยหูก็หันปากว่าไปเหมือน แก้วเจ้าขา กินข้าวกับกล้วย เลย หมายความว่ารู้ตามเป็นจริงแห่งความหลุดพ้นโดยถ่องแท้ เป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณะ มิใช่มิจฉาวิมุตติ มิใช่มิจฉาญาณะ

ผลย่อมสมควรแก่เหตุ

จะขอถามสักคำว่า ผู้เขียนอยู่เดี๋ยวนี้ล่ะ อยู่ระดับใดเล่า

ตอบว่า ไม่เป็นฐานะจะทุ่มเถียงกันก่อนศาลธรรมอันเป็นปัจจัตตัง และศาลธรรมสันทิฏฐิโก อันเป็นสิทธิท่านผู้พ้นและไม่พ้นแต่ละรายจะรู้ตัวเองเอาเทอญ จึงเป็นธรรมอันไม่นอกเหนือ ถ้านอกเหนือไปกว่านี้แล้ว คงเป็นธรรมย้อมแฝงแปลงมายา จะเอาเป็นประมาณมิได้

สันทิฏฐิโกและปัจจัตตังในทางพระพุทธศาสนาคงจะมีขอบเขต คงหมายเอาแต่พรหมจรรย์เบื้องต้นไป คือ พระโสดาบัน ไปจนถึงพระอรหันต์ มิฉะนั้นแล้วจะฟั่นเฝือเอาเป็นกฎเกณฑ์ไม่ได้ จะกล่าวให้พิสดารแล้ว โลกิยวิสัยผู้เขาทำดีทำชั่วตอนไหน ๆ เขาก็รู้เขาอยู่ เว้นไว้แต่ผู้ไม่รู้จักดีจักชั่วเอาเสียเลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นปัจจัตตังและสันทิฏฐิโกอีก เพราะเหตุว่า จำพวกที่เขาถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญ เขาก็รู้ตัวเขาว่า เราถือว่าไม่มีบาปไม่มีบุญเลยดังนี้ ฉะนั้นจึงตีความหมายได้ทั้งโลกิยะและโลกุตระ ได้มอบไว้เป็นสิทธิของเจ้าตัวแต่ละรายเท่านั้นเอง

คิดเห็นอะไรก็เขียนไปก๊อกแก๊ก ตามประสาผู้ล้าสมัย แต่ แก่เจ็บ ตาย มิได้ล้าสมัยไปทางใดเลย มีอยู่ทุกกาล

สังขารธรรมทั้งปวงก็ทรงอยู่ทุกกาล

ธรรมอันปราศจากสังขารก็ทรงอยู่ทุกกาล

หนทางปฏิบัติเพื่อพ้นไปจากสังขารธรรมก็มีอยู่ทรงอยู่ทุกกาล

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีสิ่งที่ล้าสมัย ไม่ว่าทางดีหรือทางชั่ว ทำเอาเวลาใดได้ทั้งนั้น ขอแต่เหตุวางลงไป ผลแม้ไม่ประสงค์ ก็ได้รับตามส่วนควรค่าแก่เหตุที่สร้างขึ้นน้อยและมาก จะไปทางดีทางชั่วแล้วแต่เหตุเป็นเกณฑ์ เจ้าเหตุเจ้าผลก็คือใจ (ยกเว้นพระอรหันต์เสีย) เพราะพระอรหันต์ไม่มีอุปาทานจะมาคอยรับได้รับเสียกับเหตุกับผล มิได้เป็นเจ้าเหตุเจ้าผลหรืออะไร ๆ ทั้งนั้น เพราะได้ส่งเหตุส่งผลคืนให้สังขารทั้งปวงแล้ว มิได้กลับมาจี้ปล้นอีก เป็นธรรมทรงอยู่เหนือเหตุเหนือผลไปแล้ว

เหตุใจ ผลใจ เหตุธรรม ผลธรรม ก็มีความหมายและรสชาติอันเดียวกัน พระอรหันต์มิได้ติดอยู่ในรสใจส่วนนี้ และก็มิได้ติดอยู่ในรสธรรมส่วนนี้ด้วย เพราะใจส่วนอาศัยเหตุ ๆ ผล ๆ ก็ดี ธรรมอันอาศัยเหตุ ๆ ผล ๆ ก็ดี เป็นใจเป็นธรรมอันยังไม่ทันหลุดพ้นจากความหลงโดยสิ้นเชิง ใจที่ยังอาศัยหลักเหตุ ๆ ผล ๆ อยู่ก็ดี ธรรมที่ยังอาศัยหลักเหตุ ๆ ผล ๆ อยู่ก็ดี อย่างสูงก็เพียงพระอนาคามีเท่านั้น นัยนี้มิได้ปรารภข่มขี่พระอนาคามีแต่ประการใดเลย ปรารภตามธรรมชั้นสูง

เหตุใจผลใจอยู่ที่ไหน เหตุธรรมผลธรรมก็อยู่ที่นั้น สัมปยุตกันอยู่เกือบจะแยกไม่ออกได้ ไม่มีอันใดก่อน อันใดหลัง เปรียบเหมือนของหยาบ ๆ เช่น หลับตาและลืมตา ผลของมืดและผลของสว่างย่อมมีในขณะเดียวกันกับหลับและลืมตา โยงถึงกันไปเป็นระยะ ๆ ถี่ยิบ แม้เหตุของเจตสิกที่นึกคิดของจิตเล่า โยงถึงกันถี่ยิบไปเป็นซ้อน ๆ เป็นสันตติ ติดต่ออยู่ไม่ขาดวรรคไม่ขาดตอน เกิดดับเร็วอีกด้วย เมื่อมีผู้เข้าไปสอดแทรกยึดถือเอาเป็นเจ้าของแล้วยิ่งไม่มีเงื่อนต้น ยิ่งไม่มีเงื่อนปลาย เป็นมหาสังสารจักร เป็นมหาสังสารวัฏ เป็นมหาอนันตรปัจจัย เป็นมหาอนันตรเหตุ เป็นมหาอนันตรผล เป็นมหาอนันตรภพ เป็นมหาอนันตรชาติ เป็นมหาอนันตรอวิชชา ไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ง่าย ๆ และไม่พ้นความสงสัยในธรรมตอนนี้อีกด้วย และก็ไม่เห็นชัดแจ้งในไตรลักษณ์อีกด้วย จะเห็นได้บ้างก็ในกายหยาบ ๆ เท่านั้น

แต่ก็ยังดีกว่าที่ไม่เห็นกายบ้างเสียเลย เมื่อรู้ตามเป็นจริงของกายชัดแล้ว สิ่งอื่น ๆ ก็พลอยรู้ตามเป็นจริงไปเอง แต่ต้องเข้าใจ ว่ากายมิได้เป็นเจ้าเหตุเจ้าผลของบาปบุญคุณโทษ อยู่ต้นเหตุต้นผล เป็นเพียงรับใช้จิตเจตสิกและกิเลสเท่านั้น (ยกเว้นพระอรหันต์เสียเพราะไม่มีกิเลสจะมาปลอมแอบใช้ด้วย)

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Re: อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 20, 2013, 02:09:00 pm »

จิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้ว

ท่านผู้ต้องการพ้นทุกข์โดยด่วนในปัจจุบันชาติ ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรมแล้ว จะไม่เอื้อเฟื้อ ไม่อาลัย ไม่รัก ไม่ปฏิบัติเนือง ๆ ยิ่ง ๆ ในพระอานาปานสติลมหายใจออกเข้า แล้วนั่งคอยนอนคอยปรารถนาอยู่เฉย ๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก และลมออกเข้ายาวหรือสั้นจะไม่ใช่กายอย่างไร ก็กายานุปัสสนานั่นเอง และก็ธาตุดินน้ำไฟลมที่สมดุลกันอยู่นั้นเอง จึงพอหายใจออกเข้าได้

ลมหายใจออกเข้า บางทีเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง อุเบกขาบ้าง ก็เวทนานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นจิตที่เศร้าหมองหรือผ่องแผ้วหรือกลาง ๆ ก็จิตตานุปัสสนานั้นเอง

ลมหายใจออกเข้า เห็นความไม่เที่ยงแห่งกายสังขาร จิตสังขารก็ธรรมานุปัสสนานั้นเอง

(ไม่เรียงแบบก็ได้ไม่เป็นไรดอก )

แล้วกายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ยกขึ้นสู่เมืองขึ้นของไตรลักษณ์ให้กลมกลืนกันเป็นเชือกสามเกลียว เป็นเป้าอันเดียวกันไม่ต้องแยก ไม่ต้องเรียง ไม่ต้องขยาย เห็นอยู่ ณ ซึ่งหน้าสติ ซึ่งหน้าปัญญา พร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลัง ติดต่ออยู่ พิจารณาอยู่ไม่ขาดสาย

ความเพลินความเมาความดิ้นรนในโลกทั้งปวง ทั้งอดีตอนาคตมันจะรวมพลมาจากประตูใด เพราะปัจจุบันมีอำนาจเหนือโลกอดีต เหนือโลกอนาคตแล้ว มิหนำซ้ำจะได้โต้ตอบกับปัจจุบันว่า ปัจจุบันเป็นเมืองขึ้นของใคร และใครมายึดถือเอาเป็นเจ้าของ จะได้ตะลุมบอนหั่นแหลกกันในปัจจุบันนั้น แต่อย่าได้ลืมลมออกเข้า เพราะลมออกเข้าเป็นแม่เหล็กอาจารย์เดิม ลมจะละเอียดสักเพียงใดอย่าได้ลืมเลย เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเป็นว่าวเชือกขาด จะเป็นช่างเหล็กที่ตีเหล็กไม่ถูกทั่ง เหล็กจะกระเด็นใส่หน้า ข้อนี้สำคัญมากนักหนา

นักหลบมิใช่นักรบ

แต่นักภาวนากำหนดลมออกเข้า มักจะไปเสวยอยู่แต่ลมละเอียดเข้า ละเอียดแล้ว ลมหายไป ไม่ปรากฏว่ามีลมเลย เมื่อหมดกำลังแล้วถอนออกมาไม่ค่อยจะได้ความอะไรเฉพาะตน ได้ความแค่เพียงว่าสบายกายสบายใจชั่วคราว เลยกลายเป็นนักหลบมิใช่นักรบ ปัญหาของจิตใจยังค้างแขวนอยู่อักโข

แท้จริง(การ)เข้าไปแบบนั้น(ก็)เพียงให้รู้รสชาติเท่านั้น จะติดอยู่เพียงแค่นั้น ก็ไปไม่รอดอีก ถ้าไม่พักแบบนั้นก็ไม่ได้ แต่หมั่นพักบ่อยก็ไม่ได้งานอีก เพราะงานยังไม่เสร็จ และเวลาของชีวาแต่ละชาติละชาติก็มีน้อย และคำว่าชาติใหญ่ ๆ หมายถึงชั่วขณะลมออกเป็นชาติหนึ่ง ลมเข้าเป็นชาติหนึ่ง ๆ ของส่วนกายสังขาร ส่วนจิตสังขารนั้นเป็นชาติอันละเอียด เร็วนัก เกิดดับติดต่อกันเร็วนัก

อนิจจาอันละเอียดมากมายแท้ ๆ เมื่ออนิจจาละเอียดเข้าสักเพียงไรก็ดี ทุกขา อนัตตา ก็ละเอียดเข้าเป้าเดียวกัน ขณะเดียวกัน ถ้าส่งส่ายไปทางอื่น ก็ยิ่งตื่น ไม่เห็นชัดได้ เชื่อตนเองไม่สนิทได้ ย่อมขบถตนคืนอีก

ผู้ที่ทิ้งกรรมฐานเดิมที่ตนตั้งไว้ ย่อมไปตามนิมิตภายนอกต่าง ๆ นานา นิมิต แปลว่าเครื่องหมาย สารพัดจะรู้ จะหมายไป

หมายกับเหมือนก็พอเหมือน ๆ หมาย ๆ นี้เอง มิใช่ตัวจริงดอก ได้เพียงแค่นั้นแหละ และผู้ติดนิมิต อิงกับอุปจารภาวนาไม่ค่อยลงคนได้ง่าย ๆ นะ มิหนำซ้ำกล่าวตู่ในใจให้ผู้เทศน์ว่า คนภาวนาไม่ดีเท่าเขาแล้วมากุมเทศน์เขา อ้ายที่แท้นั้น เขาได้ตกนรกมาก่อนในตอนนี้แล้วและได้พ้นไปแล้ว และไม่ว่าใคร ๆ ในโลกถ้าไปติดอยู่ในชั้นใด ๆ แล้วแกะยาก เพราะเป็นของบ่งให้กันไม่ได้เหมือนหนาม เว้นไว้แต่เห็นโทษตนเองในชั้นนั้น จึงจะกลับตัวได้เอง บางรายพอกลับตัวได้ก็บ่ายค่ำไปเสีย บ่ายก็คือแก่มากไปแล้ว ค่ำก็คือตายไปเสียแล้วแต่เนิ่นนานวัน

อานาปานสติเป็นกรรมฐานในพระพุทธศาสนาชั้นที่หนึ่ง เป็นยอดแห่งกรรมฐานทั้งปวงด้วย ผู้เจริญชำนาญแล้ว จะดึงกรรมฐานและวิปัสสนาภาวนาปัญญามารวมเข้าก็ได้ ไม่ขัดข้อง ไม่แสลงเลย เช่น นิโรธความดับตัณหา เป็นธรรมอันละเอียด จะดึงเข้ามาให้เห็นพร้อมกับลมออกเข้าก็ได้ทั้งนั้น

ยาขนานเดียวแก้โรคได้ทั้งล้าน ๆ อย่าง ก็คือพระอานาปานสตินี้ สามารถบรรเทาและแก้สรรพกิเลส สรรพตัณหาได้ ตามเหตุผลของท่านผู้เจริญน้อยและมากได้โดยตรง ๆ ไม่อ้อมค้อมเลย ขอแต่ทุ่มเท ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาลง ให้สมดุลกันติดต่อไม่ขาดสาย นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายเมาในความหลง อันดองขันธสันดานมานมนาน ก็จะปรากฏเป็นสัมมาวิมุตติ เป็นสัมมาญาณะโดยแน่แท้ ไม่ต้องสงสัยเลย อย่าตีตนตายก่อนไข้ก็แล้วกัน อย่ากล่าวตู่ตนว่ามรรคผลนิพพานหมดไปแล้ว มุ่งกล่าวตู่พระพุทธศาสนา แต่ถูกกล่าวตู่ตนไม่รู้ตัวอีกด้วย

ผู้ไม่แยบคายในอานาปานสติแล้ว ไฉนจะเห็นเจตสิกที่เกิดดับได้ง่าย ๆ เล่า เพราะตามลมเข้าออกไม่ถึงจิตและเจตสิก เมื่อไม่เห็นความเกิดดับได้ละเอียด ไฉนจะเห็นไตรลักษณ์ละเอียดเล่า นิพพิทาความเบื่อหน่ายคลายหลงจะเปิดประตูและหน้าต่างช่องใดให้ปรากฏแก่ตา ปัญญาญาณเล่าย่อมเป็นไปไม่ได้ ทั้งโลกอดีต ทั้งโลกอนาคต ทั้งโลกปัจจุบันด้วย พระบรมศาสดาเทศนาสั่งสอนด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณอันหาประมาณมิได้ จนครบ ๔๕ พระพรรษา ก็หนักเน้นลงในไตรลักษณ์มากกว่าพระพุทธภาษิตอื่น ๆ เพราะเป็นธรรมอันจะหลุดพ้นได้ง่าย

เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นล่ำไม่เป็นสันและก็เป็นเรื่องที่ควรเขียนบ้าง บางทีมีผู้ชอบอ่านการขีดเขียนในสำนักปฏิบัติและก็เป็นหัวหน้าด้วยในสำนัก ก็ต้องได้สนใจอยู่มิใช่น้อยเลย บรรดาภิกษุสามเณรผู้มาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อปฏิบัติธรรม ต่างก็มีสิทธิสังเกตทุกแง่ทุกมุมในสำนักนั้น ๆ สิ่งที่ไม่เหมาะสมอันเกินพอดี แม้จะไม่จับเอาไปพระนิพพานด้วยก็จริง แต่ก็ต้องได้พิจารณาอยู่นั้นเอง เพราะคนแต่ละคนย่อมมีอิสระพิจารณาทุก ๆ ด้าน มิฉะนั้นแล้วก็จะเป็นคนฉลาดไม่ได้

หัวหน้าของหมู่ในสังคมหนึ่ง ๆ เป็นของสำคัญมาก ย่อมเป็นเป้าสายตาของคนทั่วไปอยู่โดยตรง ๆ การติชมกาเลเทน้ำเป็นของมีอยู่ประจำโลกก็จริง แต่ก็ต้องรักษาในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย การรักษากับการปฏิบัติก็คงมีความหมายอันเดียวกัน เพราะรักษาในสิ่งที่ควรรักษา ปฏิบัติในสิ่งที่ควรปฏิบัติ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ตรงต่อเวลาในสิ่งที่ควรตรงต่อเวลา ปฏิบัติบรรจงในสิ่งที่ควรปฏิบัติบรรจง ทรงตัวและก้าวหน้าหาธรรมชั้นสูง

ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม

การปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน เพื่อทดสอบให้ตนและอนุชนรุ่นหลังนี้ ย่อมไม่นิยมกาลเวลาของวัยอ่อน ปานกลาง หรือแก่ชรา แม้ถึงจะเดินไม่ได้ ไปไม่เป็น นอนคาที่ ก็ต้องมีธรรมเป็นเครื่องคำนึง ด้วยใจอันพอพึงเท่าที่ควรแก่ตน

ข้อวัตรของใจภายใน กับธรรมภายในนี้ ถ้าห่างเหินกันแล้วย่อมเหลิงเจิ้ง เวลาของกายเป็นเวลาภายนอกก็ว่าได้ไม่ผิด เวลาของใจกับธรรมเป็นเวลาภายใน สังสรรค์กันอยู่อย่างละเอียดลึกซึ้ง สติปัญญาแก่กล้าจึงจะมองตามเห็นได้ จึงจะรู้จักเลือกเฟ้นสิ่งที่ควรและไม่ควรอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนได้ สติปัญญาอันชอบจึงจะเลือกใจเลือกธรรมที่ชอบได้ โดยเฉพาะของส่วนใจ ของส่วนกรรมที่ชอบ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลืนทั้งกระดูกและก้างแบบไม่มีการเลือก

การเฟ้นและการใคร่ครวญ ก็มีความหมายอันเดียวกัน คือเลือกเฟ้นใจ เลือกเฟ้นธรรม ใคร่ครวญใจ ใคร่ครวญธรรม ไม่ว่าสิ่งใด ๆ ในโลก หรือในธรรม ถ้าเอาธรรมเป็นแว่นใคร่ครวญลงมิให้ ปีนเกลียวของธรรมหลาย ๆ รอบแล้ว ไม่ค่อยผิดพลาดในตอนนั้น ๆ แม้จะผิดพลาดบ้างก็มีประตูแก้

ที่ผิดไม่มีประตูแก้นั้น เพราะขาดการพิจารณาก่อนลงมือทำ การลงมือทำมิได้หมายแต่เฉพาะมือภายนอก อันเป็นมือเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น หนัง หมายเอามือสติปัญญา อันสมดุลกับใจกับธรรม การพิจารณา จะตัดสินใจเอาตามอัตโนมติไป โดยไม่มองดูธรรมแท้ของพระองค์ที่กล่าวไว้ดีแล้วก็ไม่ได้ ถ้ากิเลสเจ้าตัวยังหนาแน่นอยู่ ความตกลงใจจะตัดสินเอาเองก็เข้าข้างกิเลสอีกไม่รู้ตัวด้วย

แว่นส่องทางส่องใจ

ผู้ที่จะใคร่ครวญตัดสินใจ ตัดสินธรรม ส่วนตัวเองได้ ไม่ค่อยจะพลาดมาก ก็คือท่านผู้มีกิเลสขาดจากสันดานไปโดยเอกเทศ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์ในทางพระพุทธศาสนา มีพระโสดาบันเป็นเกณฑ์ขึ้นไป ต่ำกว่านั้นลงมาย่อมสุ่มสี่สุ่มห้า และก็มักจะตีตนสูงเกินภูมิจิต เกินภูมิธรรมของตน เท่าที่มีอยู่ ทรงอยู่

ในปัจจุบันทันตามักจะเป็นจิต (ของ) กาธรรมดา ที่ไปเก็บเอาขนหางและขนหงอนของนกยูงที่ร่วงหล่นอยู่ตามป่า มาแทรกแซงขนของตัว เพื่อให้วิเศษกว่ากาทั้งหลาย ย่อมเป็นของเทียม ของแท้ยังไม่ได้ เป็นเพียงของปลอมอยู่โดยตรง ๆ นั้นเอง

แม้สมัยโลกปัจจุบันเขาทำดาวเทียมได้ แต่เขาก็บอกล่วงหน้าอยู่แล้วว่า ดาวเทียม มิใช่ดาวจริง เขาเอาโขนสวมหัวเขาพอดีพองาม พอเหมาะกับหัวเขาอยู่แล้ว และก็ จะเป็นดาวเทียม ดาวจริงก็ตาม มันมิใช่กิเลสดอก ผู้ไม่รู้เท่าดาวเทียมดาวจริงแล้วติดอยู่ในคำว่าดาว ๆ นั้นจึงเป็นกิเลสเพราะติดสมมุติอันนอก ๆ

มันนอกออกจากใจแท้ ออกมาจากสังขารธรรมแท้ฝ่ายวัตถุ ที่จิตปรุงแต่งขึ้น เพื่อเป็นเครื่องสังเวยบูชาพระอนิจจัง สรรพไตรโลกธาตุเป็นเมืองขึ้นของธรรมอนิจจัง ธรรมฝ่ายสังขารก็หมายอันเดียวกัน เมื่อสังขารเต็ม ยัดเยียด เบียดเสียด อยู่ในสรรพไตรโลกธาตุ ก็เป็นหน้าที่จะได้อาศัยปุญญาภิสังขารเป็นปัจจัย อาศัยปฏิบัติเพื่อเป็นเสบียงเดินทาง

คือคำว่าบุญ ๆ ในเบื้องต้นของพรหมจรรย์แห่งพุทธศาสนา อันเป็นโลกุตรบุญที่มีขอบเขตกฎเกณฑ์ มีโสดาบันบุญเป็นต้นไป บุญต่ำกว่านั้นลงมาเป็นโลกิยบุญ เป็นบุญที่ไม่แน่นอน เพราะมีหลายบางที บางทีก็ก้าวหน้า บางทีก็ทรงตัว บางทีก็ต่ำลง

ไม่เหมือน ภูมิบุญ ภูมิใจ ของพระโสดาบัน ภูมิจิต ภูมิใจ ภูมิบุญ ภูมิธรรม ของพระโสดาบัน เป็นมหาภูมิที่ก้าวหน้าโดยถ่ายเดียว ไม่มีคติภูมิจะตกต่ำเลย ข้ามปุถุชนคนหนาไปแล้ว ปิดอบายภูมิทั้ง ๔ มีนรกเปรตทุก ๆ จำพวก พร้อมทั้งสัตว์เดรัจฉานทุก ๆ จำพวกแล้ว สุปฏิปันโน ปฏิบัติดี เว้นส่วนหยาบ ๆ เหล่านี้ไปโดยสวัสดิภาพแล้ว ไม่เสียหาย ไม่อาลัยว่าจะล่วงละเมิด เป็นผู้มีแว่นส่องทางส่องใจแบบไม่มัว มองเห็นความสุขอันแท้จริงได้ อันตั้งอยู่ข้างหน้าเป็นระยะ ๆ จึงมีเงื่อนไขไม่เสียดาย ไม่อาลัยว่าจะถอยหลัง

โสวนโสเวียนในโลกสงสาร

บางท่านศีล ๕ ยังไม่บริบูรณ์เลย การเลี้ยงชีวิตก็ยังสุ่มสี่สุ่มห้า ยังขายรูปขายเหรียญถือวันจมวันฟู ตลอดถึงอบายมุขทุก ๆ ประเภทไม่ละเว้น

การค้าขายก็ค้าขายเครื่องประหัตประหาร ค้าขายสัตว์เป็น และเนื้อสัตว์ที่ตัวฆ่าเพื่อเป็นอาหาร ค้าขายน้ำเมา ค้าขายยาพิษบ้าง

และยังถือมงคลตื่นข่าวนานาอเนก เช่น ตื่นข่าวว่าเลขจะออกตัวนั้นตัวนี้ วิชาไสยศาสตร์ต่าง ๆ

คบปาปมิตร คบมิตรปฏิรูป คนเทียมมิตรมิใช่มิตรแท้ คบมิตรชักชวนในทางฉิบหาย คบมิตรชักชวนดื่มน้ำเมา ชักชวนเที่ยวกลางคืน ชักชวนเที่ยวดูการเล่นและให้มัวเมาในการเล่น ชักชวนเล่นการพนัน

ไม่ถึงพร้อมด้วยศรัทธาในพุทธ ธรรม สงฆ์พอ ไม่เชื่อผลศีลผลทานพอ พร้อมทั้งสติปัญญาก็ยังอ่อนอยู่มาก บางคราวบวงสรวงผีสางเทวดา มีใจอาฆาตพยาบาทผูกเวร ด่าแช่งสัตว์ให้ถึงความพินาศ นึกในใจ หรือจนออกปาก ขี้หึงหรือริษยาทั้งหลายเหล่านี้เป็นต้น

แต่...แต่...แต่...สำคัญตนว่าเป็นพระโสดาบัน

ความสำคัญอันนั้นก็เป็นโมฆะโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย พระโสดาบันแบบนี้ควรให้คะแนนว่า พระโสเดา โสดัน โสเมา โสมัว โสขุ่นจนเป็นตม โสวนโสเวียนในโลกสงสาร ไม่มีคิวเลย

ผู้เขียนเองปล่อยความฟุ้งซ่านออกไปถวายต่อพระอนิจจัง ผู้ท่านนั่งบัลลังก์เฝ้าสรรพไตรโลกาอันเป็นนายหน้าของกองพลไตรลักษณ์ ถ้ารู้ประจักษ์แจ้งอยู่บ้างแล้วคงไม่คลาดแคล้วในธรรม

ความดีมิใช่มาจาก ดิน ฟ้า อากาศ

การขีด ๆ เขียน ๆ เป็นเอกสารและตำรา ดีหรือชั่วขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นพิจารณาเอง กฎของการข่มเหงให้ยอมเชื่อไม่มีในทางธรรมของพระพุทธศาสนา แม้จะยอมเชื่อด้วยการแก้รำคาญก็ไม่นานย่อมขบถคืน จิตใจก็ไม่ชื่นเหมือนศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นเอง

มนุษย์จะเป็นผู้บริสุทธิ์เป็นชั้น ๆ ของจิตใจได้ก็ด้วยใจอันเห็นชอบ ปฏิบัติชอบ ประกอบกรรมอันดีเป็นลำดับ สูงส่งขึ้นไป ความดีและไม่ดี ไม่มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกที่ชาวโลกแสวง ถ้าหากว่า มาจากดินฟ้าอากาศภายนอกแล้ว ปีไหนฟ้าฝนแล้งหรือท่วม พระอริยเจ้าก็ต้องลดตำแหน่งมาเป็นปุถุชนคนหนาก่อน ปีไหนฟ้าดีฝนดี จึงสวมมงกุฎเป็นพระอริยเจ้า

เมื่อไม่เล่าไม่ว่ากลอนกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขารก็พาไป พาเขียน วน ๆ เวียน ๆ กันอยู่อย่างนี้ ท่านผู้ที่ทรงพระสติปัญญาย่อมสนุกดื่มอุเบกขา แต่ถ้าติดอยู่แต่อุเบกขาในขั้นต่ำหรือชั้นวิปัสสนาแล้ว ก็จะกลายเป็นอุเบกขวาง เพราะจะขวางทางอุเบกขาของอรหันต์ ย่อมเป็นหน้าที่ของท่านผู้ต้องการเรียนจบ ปฏิบัติจบ พ้นจบจะโอปนยิโก-ยิกะทั้งนั้น

ปรารภเรื่องใหม่ต่อไป แต่ก็เป็นเรื่องเก่า เพราะจิตสังขารอันเก่า ธรรมก็อันเก่า มิได้อันใหม่มาจากไหน ๆ เอส ธัมโม สนันตโน พระธรรมเป็นของเก่า คำว่าของเก่า มีทั้งดีทั้งชั่วปะปนกันอยู่ ต้องขึ้นอยู่กับท่านผู้เลือกเฟ้นเอา แต่บางท่านว่าจะเลือกเอาทองดีไปถูกทองเก๊ก็มี เลือกเอาผักดี แต่ไปถูกผักมีตัวบุ้งก็มี เลือกเอาของดีไปถูกของดีก็มีมากมาย และคำว่าอรหันต์ก็เป็นศัพท์เก่า คำว่าปุถุชนก็เป็นศัพท์เก่า มืดกับสว่างก็เป็นของเก่า ผู้ดื่มสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ผู้เว้นจากสุราก็มีมาแต่เก่าแก่ ก็หายโต้แย้งในที่ว่าของเก่าแล้วละ

เมื่อหายโต้แย้งในเรื่องของเก่าแล้ว ก็หายโต้แย้งในเรื่องของใหม่ การยืนยันว่าเป็นของเก่า เป็นฝ่ายธรรมปรมัตถ์ การยืนยันว่ามีทั้งเก่าทั้งใหม่ เป็นฝ่ายสมมุติ เพราะสมมุติมีการหมายความตื้นกว่าปรมัตถ์ (คล้ายกับน้ำลึกตื้นและใสสะอาด และจืดและเย็นดีต่างกันไป) ถ้าหากจะโต้แย้งได้ แต่ไม่มีประโยชน์ แย้งว่าถ้าไม่มีของเก่า ของใหม่แล้ว ทำไมจึงไม่ไปกินอาหารที่บูดราเสียเล่า ทำไมจึงไม่ไปเอาผ้าขี้ริ้วมาปะกันนุ่งห่มเล่า เอาผ้าใหม่มาใช้ทำไม และผู้กล่าวว่าเป็นของเก่านั้น เป็นธรรมอันลุ่มลึกมาก ไม่ใช่ว่าผู้ยืนยันว่าของเก่านั้นเขาจะไม่รู้ของใหม่ตามสมมุติเลย พูดเพื่อให้ชวนสำเหนียกด้านปัญญาเป็นอุบายเพื่อมิให้หลงของใหม่และของเก่าอยู่ในตัว

ธรรมดาคนมีกิเลสมาก ชอบจะตั้งอยู่ในของที่สมมุติว่าใหม่ ๆ ล้าน ๆ เปอร์เซ็นต์ เมื่อหลงและติดของใหม่ ก็หลงและติดของเก่าอยู่ในตัว เมื่อหลงสมมุติ ก็ต้องหลงวิมุตติ เมื่อหลงได้ก็ต้องหลงเสีย เมื่อหลงหนังก็ต้องหลงกระดูก เมื่อไม่หลงหนัง ก็ไม่หลงกระดูกเลย ไม่ต้องกล่าวไปไยในตอนนี้ก็ได้ เรื่องหลง ๆ ใหล ๆ หลำ ๆ นี้ย่อมไม่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายอวิชชา ถ้าหากข้ามทะเลหลงด้วยพระสติพระปัญญาอันถ่องแท้โดยสิ้นเชิงได้แล้ว ชั่วลัดนิ้วมือเดียวก็ข้ามโลกได้ จะเอาเครื่องยนต์กลไก หรือเหาะไป บินไป ภายนอกเร็วเท่าใด สิ้นเวลาล้าน ๆ ปีก็ข้ามโลกไม่ได้เลย


ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
Re: อารมณ์วู่วาม... (หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มกราคม 20, 2013, 02:09:34 pm »
ผู้หลงผู้รู้

มีคำถามว่า การข้ามหลงจะข้ามด้วยวิธีไหนได้หนอ

ตอบย่อ ๆ พอฟังได้ง่าย ๆว่า

ข้ามผู้รู้รู้ได้โดยมิได้ยึดถือว่า ผู้รู้เป็นเรา เขา สัตว์ บุคคล ตัวตนในขณะจิตใด ๆ เลย แล้วได้เรียกว่าเราข้ามความหลงได้โดยสิ้นเชิง โดยประการทั้งปวง

ถามต่อไปว่า ผู้รู้รู้ กับสังขารต่างกันอย่างไร

ผู้รู้รู้ ก็คือสังขาร อันละเอียด อันประณีตนั้นเอง เพราะเกิดอย่างละเอียด ดับอย่างละเอียดมาก เกิดขึ้นแปรดับพร้อมกันในขณะเดียวกัน ไม่มีอันใดก่อน ไม่มีอันใดหลังเลย ติดต่อกันเป็นพืด (ถ้า)สติปัญญาไม่แนบสนิทอยู่กับผู้รู้รู้แล้ว ก็ยากจะรู้ได้โดยถ่องแท้ว่าเกิดดับเป็น เมื่อผู้รู้รู้เกิดดับเป็นอย่างว่องไวละเอียดลออแล้ว จะไปเป็นทิฏฐิบัญญัติว่าผู้รู้เป็นพระนิพพานนั้น ก็ย่อมเป็นงูกินหางตนอยู่นั้นเอง ย่อมเป็นไปไม่ได้ พระนิพพานมิได้มาเป็นลูกน้องของผู้รู้ มิได้มาสังสรรค์กับผู้รู้อีกด้วย และมิได้มาบัญญัติว่าสูญหรือไม่สูญ เอาโขนสวมหัวใส่ตนอันใดเลย เป็นเรื่องของผู้รู้ไม่รู้เท่าเงาของตัวต่างหาก จึงกล่าวเป็นภพเป็นชาติอย่างละเอียดไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ธรรมที่ถูกถามตอบกัน เป็นธรรมหมู่ ธรรมคู่ ที่สังสรรค์ต่างหาก มีรสชาติอันอิงผู้รู้อยู่เป็นเครื่องหมาย มิฉะนั้นก็ไม่มีเงื่อนไขจะอธิบายโต้ตอบและถามได้ ต้องอาศัยขันธวิบากและผู้รู้ตอบถามกันเป็นธรรมาสน์ พระนิพพานแท้มิได้มาตอบถามกับท่านผู้ใด ยกอุทาหรณ์หยาบ ๆ ดินฟ้าอากาศมิได้มาตอบถามกับผู้รู้และไม่รู้ฉันใด พระนิพพานก็ฉันนั้น พระนิพพาน มิได้มากล่าวชีวประวัติตนเองและผู้อื่นให้เป็นคัมภีร์อะไรเลย ผู้รู้เมื่อรู้ถูก ปฏิบัติถูก ก็เป็นเพียงทางเดินเข้าไปสู่พระนิพพานเท่านั้น มิได้เป็นเนื้อธรรมนิพพานแท้

ถ้าหากว่าตายคาผู้รู้รู้ มีอุปาทานอยู่ในผู้รู้และจิตใจอันเด่นดวง ก็ไปเกิดในพรหมโลกที่ไม่มีรูป ยังไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะได้แท้ นักปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผู้หวังพ้นทุกข์ในสงสารโดยด่วนแน่แท้ มักจะคาอยู่ที่นี้เป็นส่วนมากนัก แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีท่านผู้พ้นไปจากนี้ได้ เป็นเพียงมีมากน้อยกว่ากันเท่านั้น เขาโคกับขนโคแม้อรหันตาขีณาสวา เข้าสู่พระนิพพานไปแล้ว มากกว่าเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทร ๔ หรือ ๕ มหาสมุทร หรือมากกว่านั้นก็จริง บรรดาที่ยังเหลืออยู่นั้น จะกี่อสงไขยมหาสมุทรเล่า เพราะเขาโคกับขนโคดังปรารภมาแล้วนั้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ

บัดนี้ เราจะดูเราตาย

ย้อนคืนหลังในยุควัดป่าบ้านหนองผือที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนั้น ในตอนที่ข้าพเจ้าป่วย ถ่ายเป็นเลือด ก่อนที่ข้าพเจ้าจะป่วยถ่ายเป็นเลือดนั้น ข้าพเจ้าแบกฟืนหนักเกินกำลังไปที่ลานวัด ขณะนั้นเป็นฤดูฝน ข้าพเจ้าหลบขุมปลวกล้มลง คุกเข่าทัน พร้อมทั้งทิ้งฟืนทันด้วย กระทบกระเทือนหัวใจ แต่ก็ไม่ได้รักษาพยาบาลอะไร อยู่มาไม่กี่วันก็หายเจ็บหายปวด

แต่อยู่ต่อมาอีกประมาณกึ่งเดือน ก็ถ่ายเป็นเลือด ออกเป็นลิ่ม ๆ เท่านิ้วมือ ในขณะที่ถ่ายนั้นไม่ได้ปวดท้องอันใดเลย แต่ถ่ายวันหนึ่ง ๆ หลาย ๆ ครั้ง ถ้ารวมการถ่ายเป็นเลือดเป็นแท่งออกนั้น ก็คงจะได้ประมาณครึ่งกระโถน

ข้าพเจ้าก็รู้สึกเหนื่อยมาก ในวันที่ถ่ายนั้นเองก็นอนลงที่กุฏิของตน นอนตะแคงข้างขวาเอาเท้าซ้อนกัน เอามือขวายกขึ้นแนบกับหมอน แล้วเอาแก้มลงทับมือ มือซ้ายเหยียดตรงตามร่างกาย นึกในใจว่าเราเห็นแต่ท่านผู้อื่นตาย เราไม่เคยเห็นเราตาย บัดนี้เราจะจ้องดูเราตาย มันจะตายพร้อมกับลมออกหรือลมเข้า

ข้าพเจ้าจึงตั้งสติไว้ในที่ลมมากระทบออกเข้า แล้วก็บริกรรมพร้อมกับลมออกเข้า บริกรรมว่าตาย ๆ ติดต่ออยู่ไม่ขาดสาย ประมาณ ๑๕ นาที แล้วพลิกจิตว่า ธรรมของพระองค์จะตายไปที่ไหน จะแตกตายเป็นก็แต่สังขารเท่านั้น แล้วก็พลิกบริกรรมใหม่ว่า ไม่ตาย ไม่ตายพร้อมกับลมออกเข้า ไม่มีอันใดก่อนอันใดหลัง ติดต่ออยู่ไม่ขาดสายประมาณ ๒๐ นาที จิตใจก็รวมพึ่บลง แล้วปรากฏว่าทะลุหลังคากุฏิขึ้นไปบนอากาศสูงแล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศนั้น

ตอบตนเองในขณะนั้นว่า นี่แหละสมาธิ เราไม่ต้องสงสัยดอก จะตั้งอยู่ในที่อากาศนานเท่าใดก็กำหนดไม่ได้ ครั้นหมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา การถอนออกมาก็รู้สึกว่าเหมือนกิริยาที่เข้าไป แล้วก็มาเห็นลมออกลมเข้าเบา ๆ ร่างกายก็เบาที่สุดในขณะนั้น การไปถ่ายเป็นเลือดก็จบลงเพียงนั้น และการที่จิตถอนออกมานั้น การนอนตะแคงข้างขวาก็อยู่ตามเดิมหาได้เคลื่อนที่ไม่

ในขณะนั้นเป็นเวลาสายัณห์ตะวันเย็น ประมาณ ๔ โมงกว่า ๆ แล้ว หลวงปู่มั่นกำลังสรงน้ำ และตามธรรมดาก็ไม่ไกลจากกุฏิข้าพเจ้า คงประมาณ ๒๐ วา ธรรมดาองค์หลวงปู่พูดเสียงดัง หลวงปู่ก็พูดขึ้นว่า

“วันนี้ไม่เห็นท่านหล้ามา เธอไปไหนไม่ทราบ”

มีพระองค์หนึ่งตอบขึ้นว่า “ท่านป่วย ถ่ายเป็นเลือดครับ”

พอท่านทราบอย่างนั้น องค์ท่านก็พูดดัง ๆ ขึ้นว่า

“เอา ดูดู๊ ๆ บัดนี้เธอเข้าจนมุมแล้ว จะภาวนาได้ความอย่างไร ก็จะเห็นกันในคราวนี้”

ครั้นต่อมาเป็นวันใหม่ถึงเวลาสรงน้ำข้าพเจ้าก็ไปทำข้อวัตรกับหมู่เพื่อนได้

องค์ท่านและหมู่เพื่อนก็ถามว่า “หายแล้วหรือจึงมา”

ข้าพเจ้าจึงตอบว่า “หายแล้วครับ แต่ว่านอนหลับตาภาวนา ก็ปรากฏว่าเหาะขึ้นไปบนอากาศ นอนตะแคงข้างขวาอยู่บนอากาศ ไม่รู้ว่านานเท่าใดจำไม่ได้ แล้วก็ถอนออกมา เห็นลมหายใจเข้าออกแบบเบา ๆ”

หลวงปู่มั่นตอบว่า “นั้นไม่ใช่นอนหลับดอก จิตร่วมในชั้นอุปจารสมาธิ”

จาระ แปลว่า ไปตามปีติที่ปรากฏว่าเหาะขึ้นกลางอากาศขวางอยู่

ไม่ว่าแต่เท่านี้ ในยุคที่อยู่กับหลวงปู่มั่น นิมิตของข้าพเจ้าโลดโผนมาก บางทีเดินจงกรมในอากาศ บางทีขัดสมาธิในอากาศ บางทีตีลังกาในอากาศ บางทีเหาะไปทางนอน สารพัดจะเป็นไป แต่ก็ไม่สำคัญตัวว่าเป็นผู้ประเสริฐ หมดกำลังแล้วก็ถอนออกมา พิจารณาลงสู่ไตรลักษณ์ ก็เห็นประจักษ์แจ้งไม่สงสัย

ในยุคสมัยหลวงปู่มั่น พระภิกษุสามเณรทั้งหลายที่อยู่ในสำนักนั้น ต่างก็พิถีพิถันประชันขันแข่งกันทำความเพียร ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน แม้จะคุยกันซุบ ๆ ซิบ ๆ อยู่ที่ไหน ไม่ใช้เสียงก็ดี ปรารภกันแต่เรื่องภาวนาเป็นส่วนมาก เป็นของหาได้ยากมากในสมัยโลกดาวเทียมปัจจุบันนี้

อนึ่ง ข้อวัตรปฏิบัติขององค์หลวงปู่มั่น เฉพาะส่วนตัวองค์ท่านการบริหารตนเองเป็นขั้นที่ ๑ ลูกศิษย์ที่ขอนิสัยเป็นชั้นที่ ๒ โยมอุบาสิกาเป็นชั้นที่ ๓ องค์ท่านตรงต่อเวลาขององค์ท่านมากในเวลากลางวันและกลางคืน แต่ละมื้อ แต่ละวัน

การที่ข้าพเจ้านำมาเขียนนี้เอง ก็เพราะเกิดสงสัยว่ายังไม่ได้เขียนไว้ในยุคนั้น ๆ หรือหากว่าซ้ำ ๆ ซาก ๆ เบื่อหูก็ขออภัยแก่ท่านผู้อ่านด้วย

อนึ่ง ยุคภูจ้อก้อนี้ให้เข้าใจว่าปรารภแต่เรื่อง ๒๕๒๔ คืนหลังลัก ๆ ลั่น ๆ ไม่พิสดารนัก แต่พอมาเขียนเพิ่มเดี๋ยวนี้มันก็เป็นเวลาพุทธศักราชล่วงมา ๒๕๓๐ นี้

ต่อจาก ๒๕๒๔ มาในยุคภูจ้อก้อบานหน้าขึ้นมาก เพราะมีพระและเณรจำพรรษามาก คำว่ามากก็ ๓๐ กว่า ๆ และก็มีญาติโยมท่านผู้ใจบุญมาจากต่างทิศเช่น พระนครหลวงเป็นต้น มาก่อ ๆ สร้าง ๆ เป็นต้นว่าไฟฟ้า หนทางขึ้นภูเขาและน้ำประปาและศาลาโรงธรรม ตลอดทั้งห้องน้ำคอนกรีตและห้องน้ำไม้บริบูรณ์พอควร จะถือว่าให้ความสะดวกเหนือวาสนาของข้าพเจ้าก็อาจเป็นได้ แต่ไม่ได้ออกชื่อลือนามของท่านเหล่านั้น และก็หวังว่าท่านเหล่านั้นไม่ชอบหน้าชอบตา คงจะชอบแต่กุศลผลบุญเท่านั้น แต่ก็คงจะรู้ได้ดีเพราะความลับไม่มีในโลก จึงขอจบเพียงเท่านี้แล



คำแถลง

อัตตโนประวัติของพระคุณเจ้าหลวงปู่เล่มนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอเรียนเพื่อความเข้าใจในการจัดพิมพ์ ต่อท่านผู้อ่านและท่านผู้รู้ว่า มิได้เกิดจากความประสงค์ใด ๆ ของ “องค์หลวงปู่ท่าน” ที่เราทั้งหลายกราบเคารพบูชา ด้วยความเทิดทูนไว้เหนือเศียรเกล้าโดยประการใดทั้งสิ้น แต่เป็นเพราะองค์ท่านไม่อาจขัดต่อคำรบเร้ากราบวิงวอน ขออนุญาตจัดพิมพ์จากคณะศิษย์

เนื่องจากคณะศิษย์ได้ทราบมาว่า ท่านได้เมตตาเขียนอัตตโนประวัติขึ้น ตามคำเรียนขอ ของท่านอาจารย์อินทร์ถวาย ที่ได้บวชอยู่กับท่านถึง ๙ พรรษา ในช่วงยุคต้นของวัดภูจ้อก้อ ซึ่งได้อ่านแล้วเห็นประโยชน์และคุณธรรมอันวิเศษสุดประมาณ ในแนวทางปฏิบัติและข้อวัตรต่าง ๆ “สมัยถวายการปฏิบัติต่อองค์หลวงปู่มั่น” พร้อมทั้งประวัติการเดินธุดงค์เร่งความเพียร ซึ่งแลกด้วยชีวิต จึงกราบเรียนขอโอกาสพิมพ์ถวาย แต่องค์ท่านไม่ประสงค์จะให้พิมพ์ เพราะพิจารณาแล้ว เกรงว่าจะถูกตำหนิว่า “อวดเด่นและอยากดัง”

ข้าพเจ้าและคณะกราบเรียนวิงวอนท่านว่า

หลวงปู่เจ้าคะ “ ‘อัตตโนประวัติ’ เล่มนี้หลวงปู่เขียนจากประสบการณ์ และความจริงทุกประการใช่ไหมเจ้าคะ”

ท่านเมตตาตอบว่า “ใช่”

ข้าพเจ้าจึงกราบเรียนท่านว่า

“หลวงปู่เจ้าคะ พระพุทธองค์ท่านทรงยกย่องว่า ให้ธรรมเป็นทาน ชนะทานทั้งปวง ขอโอกาสให้ลูก ๆ ได้จัดพิมพ์เผยแผ่ธรรมนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรรุ่นลูก ๆ หลาน ๆ และผู้ใฝ่ปฏิบัติธรรมทั้งหลายด้วยเถิด

เมื่อท่านได้อ่านแล้ว ธรรมข้อใดเป็นประโยชน์ แนะแนวทางให้เกิดความพากเพียร และมีกำลังใจให้มุ่งเคร่งครัดปฏิบัติธุดงควัตร เพื่อให้พบคุณธรรมอันวิเศษ มีศีลาจารวัตรงดงาม เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป ดังบทธรรมที่ว่า เอหิปัสสิโก ธรรมเป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด”

เมื่อองค์ท่านได้ฟังกราบเรียน และพิจารณาแล้ว จึงย้ำข้าพเจ้าว่า “หนังสือนี้ไม่อนุญาตให้ตีพิมพ์ในนิตยสารเพื่อการค้านะ ขอสงวนสิทธิ์ให้พิมพ์เพื่อเป็นธรรมหานเท่านั้น”

ฉะนั้นหากเกิดความผิดพลาดประการใดที่มีขึ้นในหนังสือนี้ ข้าพเจ้าและคณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์ ขอน้อมรับความผิดพลาดทั้งหลายเหล่านั้น ส่วนธรรมทั้งหลายเหล่าใด ที่ดีมีประโยชน์ ข้าพเจ้าขอถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และน้อมถวายบูชาหลวงปู่ท่าน ที่เมตตาอนุญาตให้จัดพิมพ์เผยแผ่ถึงคุณธรรมขององค์ท่าน ซึ่งเปี่ยมล้นด้วยกุศโลบายในหนังสือเล่มนี้

คณะศิษย์ผู้จัดพิมพ์

 
คำปรารภ

คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือชีวประวัติครั้งที่ ๑๒ มีความเห็นว่า ควรที่จะแยกเรื่อง ความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือจากคณะศิษย์ หรือ คณะศรัทธาในการพิมพ์ ออกมาจากส่วนของเรื่องชีวประวัติที่องค์หลวงปู่เป็นผู้เขียน มาไว้ในส่วนของท้ายเล่ม ต่างหากจากข้อเขียนที่เกิดขึ้นจากองค์หลวงปู่ จะเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะไว้หน้าเล่ม เป็นคำนำ เหนือข้อเขียนองค์หลวงปู่ท่าน ที่ใช้ว่า “คำแถลง” และให้เป็นการสอดคล้องกับข้อเขียนเพิ่มเติมขององค์หลวงปู่ท่านที่เขียนว่า “คำนำเพิ่มเติมใหม่” ซึ่งองค์หลวงปู่ท่านให้เพิ่มลงไปในส่วนของหน้าเล่ม

แต่เหนือเหตุผลอื่นใดก็คือ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้ปฏิบัติให้พบให้เห็นอยู่แล้วทุกวัน ว่าควรจะทำเช่นไรที่จะได้บุญอันสมบูรณ์ยิ่ง คณะผู้จัดพิมพ์หนังสือครั้งนี้ ใคร่กราบขออภัยเป็นอย่างสูง ควรมิควรประการใดก็ขอได้โปรดเมตตาให้อภัย ที่ได้เปลี่ยนแปลงสารบัญ ของคำนำมาเป็นคำแถลง และคำแถลงมาเป็นคำนำ แล้วนำคำแถลงของคณะศิษย์ผู้ที่เป็นเหมือนดวงประทีปส่องนำทางให้คณะผู้จัดพิมพ์เข้าพบพานอันแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา จากปฏิทาข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมอันสูงสุดขององค์หลวงปู่ ยังผลให้เกิดความสุขสงบ โดยเหตุจากท่านและคณะเป็นผู้ริเริ่มอย่างมิหวังชื่อเสียงอื่นใดไปยิ่งกว่า บุญกุศลนี้เกิดขึ้นจากการขออนุญาตองค์หลวงปู่ท่านแล้ว จัดสารบัญรูปเล่ม จนมาพิมพ์เป็นหนังสือชีวประวัติครั้งแรก ประมาณปลายปี ๒๕๓๐ ณ โรงพิมพ์วัดสังฆทาน จำนวน ๕,๐๐๐ เล่มนั้น มาไว้ท้ายเล่มที่เห็นอยู่ในหนังสือเล่มนี้

คณะผู้จัดพิมพ์
ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-lah/lp-lah-hist-12.htm