ปืนลั่น !! เลือกปืน ใช้ปืน ให้ปลอดอุบัติเหตุ
-http://www.dailynews.co.th/article/117526/151285-
วันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555 เวลา 01:23 น
เราใช้คำว่า ’ปืนลั่น“ ในความหมายว่า ปืนที่บรรจุกระสุนพร้อมอยู่นั้น ลั่นออกไปโดยไม่ตั้งใจ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ’Unintentional Discharge” หรือ ’Accidental Discharge” เป็นอุบัติเหตุที่ป้องกันได้ แต่ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยจะเป็นข่าวบ้างก็ต่อเมื่ออุบัติเหตุปืนลั่นนั้นทำอันตรายเจ้าของหรือคนรอบข้างอย่างสาหัส หรือถึงชีวิต
ต้นเหตุของปืนลั่น อาจแยกแยะได้ว่า เกิดเพราะความบกพร่องของตัวปืน หรือคนที่จับถือปืนนั้น ความบกพร่องของตัวปืน แยกต่อไปเป็นความบกพร่องตั้งแต่ออกแบบไม่ดี ใช้วัสดุไม่ดี หรือเกิดสึกหรอชำรุดจากการใช้งาน ส่วนในด้านคน อาจเกิดจากความไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจการทำงานของปืน หรือประมาท เกือบทุกกรณีของปืนลั่นจะเกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่ละสาเหตุมีส่วนมากบ้างน้อยบ้าง
ปืนที่ผลิตจากโรงงานมาตรฐาน แต่ละแบบจะมีระบบป้องกันปืนลั่นแตกต่างกันไป กลุ่มที่ถือว่าปลอดภัยสูงสุด คือปืนลูกโม่แบบนกใน เช่น สมิธฯ โมเดล 642, 649, รูเกอร์ LCR, เทารัส 850 เป็นต้น ปืนลูกโม่นกในไม่มีหงอนนกให้ง้างยิงแบบซิงเกิล การยิงแต่ละนัดต้องเหนี่ยวไกลากยาว เพื่อให้นกง้างแล้วจึงสับลงท้ายเข็มแทงชนวน แรงต้านของสปริงนกสับทำให้ต้องใช้แรงเหนี่ยวไกค่อนข้างมาก ประมาณ 10 ถึง 12 ปอนด์ ตัวปืนในสภาพพร้อมใช้งานแม้จะมีกระสุนบรรจุอยู่ก็มีระบบป้องกันไม่ให้นกสับกระทบท้ายเข็มหากไม่เหนี่ยวไก สำหรับปืนลูกโม่นกในนี้ โดยส่วนตัวไม่เคยได้ยินว่าเป็นต้นเหตุปืนลั่นเลย
ถัดจากลูกโม่นกใน ก็คือลูกโม่ดับเบิลแอ๊คชัน จะเหนี่ยวไกยิงโดยนกสับอยู่ในตำแหน่งชิดโครงก็ได้ เหมือนลูกโม่นกใน แต่มีหงอนนกให้ง้างนกยิงแบบซิงเกิลแอ๊คชันได้ด้วย เมื่อง้างนกแล้วไกเบา เหลือเพียง 3-4 ปอนด์ เทียบกับไม่ง้างนก 10-12 ปอนด์ จึงนิยมใช้ในการยิงประณีตซึ่งส่วนใหญ่ก็คือยิงเป้ากระดาษ
การจะเกิดเหตุปืนลั่นสำหรับกลุ่มลูกโม่ดับเบิลนี้ มักเป็นเพราะคนยิงพยายามง้างนกด้วยนิ้วโป้ง โดยนิ้วชี้แตะอยู่ที่ไก ด้วยความไม่ถนัด หรือนิ้วลื่น ปืนก็จะลั่นโดยไม่ตั้งใจ ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของผู้ใช้ มีหน่วยงานตำรวจในสหรัฐหลายแห่ง แก้ปัญหานี้โดยตัดหงอนนกของปืนดับเบิลทิ้ง ทำให้ง้างนกไม่ได้ การทำงานปลอดภัยเต็มที่เหมือนปืนลูกโม่นกในโดยปริยาย
ในกลุ่มปืนกึ่งอัตโนมัติ เริ่มจากปืนโคลท์ .45 หรือ 1911 ยอดนิยม การทำงานเป็นซิงเกิล นกต้องง้างอยู่ก่อนจึงจะเหนี่ยวไกยิงได้ มีระบบความปลอดภัยสามชั้น หนึ่งคือคันนิรภัยที่โครงปืน สองคือ “หลังอ่อน” ที่ด้าม ถ้าไม่บีบด้ามส่วนนี้เข้าไป ไกจะไม่ทำงาน สามคือร่องรับนกตก ถ้านกสับลงโดยไม่มีการเหนี่ยวไก ชิ้นส่วนภายในจะหยุดนกไว้ครึ่งทาง ไม่ให้สับลงถึงท้ายเข็มแทงชนวน ในปืน 1911 ยุคใหม่ยังเพิ่มตัวล็อกเข็มแทงชนวน ป้องกันปืนลั่นกรณีทำหล่นกระทบพื้นแข็ง เสริมความปลอดภัยอีกขึ้นหนึ่ง ปืนแบบนี้ ถ้าชิ้นส่วนสึกหรอ หรือมีการดัดแปลงที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อกดคันนิรภัยลงปืนอาจลั่นได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เหนี่ยวไก
กลุ่มที่สองของปืนกึ่งอัตโนมัติ คือพวกที่ใช้นกสับ ไกดับเบิล ยิงได้จากตำแหน่งลดนกชิดโครง นอกจากคันนิรภัยด้านนอกแล้ว มักมีระบบความปลอดภัยภายในคือสลักกั้นเข็มแทงชนวน ต้องเหนี่ยวไกจึงจะเปิดทางให้เข็มเดินหน้าไปจุดชนวนได้ ปัญหาของปืนในกลุ่มนี้คือ คันห้ามไกที่ทำงานแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ บ้างก็ลดนกให้โดยอัตโนมัติ (เช่น เบเร็ตต้า) บ้างก็ปล่อยให้นกง้างค้าง (เช่น ซีแซด) บางแบบเมื่อลดนกแล้วคันนิรภัยดีดกลับ พร้อมยิง (เรียกว่า “คันลดนก”) ผู้ที่ครอบครองปืนหลายๆ กระบอกต้องทำความคุ้นเคย และใช้ความระมัดระวังอย่างสูง อย่าสับสนกับการทำงานที่แตกต่างกันไป
ในกลุ่มสุดท้าย ที่เป็นปืนสมัยใหม่ล่าสุด มักออกแบบอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สูงสุด ไม่ต้องกังวลเรื่องง้างนก ลดนก เข้าห้ามไก ปลดห้ามไก เริ่มจากปืนกล็อก ที่ใช้เข็มพุ่ง ไม่มีนกให้ง้าง การยิงแต่ละนัดต้องเหนี่ยวไกลากยาว ถ้าไม่เหนี่ยวไกจะมีสลักขวางทางเดินเข็มไม่ให้พุ่งเข้าถึงจอกชนวน ซึ่งดูแล้วน่าจะเป็นระบบที่ปลอดภัยที่สุด แต่ปัญหาคือ แรงเหนี่ยวไกของปืนกลุ่มนี้ เบากว่าลูกโม่ดับเบิลมาก คือประมาณ 5-6 ปอนด์ พบปัญหาปืนลั่นขณะพยายามเหน็บปืนเข้าซองพก คือมีเสื้อผ้าหรือวัสดุอื่นขวางหน้าไก เมื่อเจ้าของกดด้ามจะให้ปืนเข้าซองมันก็จะลั่น จุดนี้ป้องกันได้ด้วยความรอบคอบระมัดระวังของเจ้าของเช่นเดียวกัน
โดยสรุปปืนลั่น ป้องกันได้ เจ้าของต้องศึกษาทำความเข้าใจ ฝึกฝนให้ช่ำชอง และใช้ความระมัดระวังเสมอเมื่อจับถือปืน ห้ามหยอกล้อด้วยปืนอย่างเด็ดขาด โดยถือว่าปืนทุกกระบอกมีกระสุนบรรจุอยู่เสมอ อย่าชี้ลำกล้องไปในทิศทางที่ไม่ต้องการยิง และอย่าเก็บปืนหละหลวมให้เด็กเล็กลูกหลานนำมาเล่นได้.
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช
.
http://www.dailynews.co.th/article/117526/151285.