ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนของฮวงโป :บันทึกวาน-ลิง  (อ่าน 8647 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
คำสอนของฮวงโป :บันทึกวาน-ลิง
« เมื่อ: กันยายน 19, 2012, 05:42:40 pm »




คำสอนของฮวงโป :บันทึกวาน-ลิง
พุทธทาสภิกขุ แปล เรียบเรียง

     ๑.การปลุกจิต
      ถาม   ในบรรดาคนที่ชุมนุมกันอยู่ประมาณ ๔-๕ ร้อยคนบนภูเขานี้ มีสักกี่คน ที่ได้เข้าใจในคำสอนของท่านอาจารย์ อย่างเต็มที่ ?
       ตอบ   จำนวนที่ว่านั้นไม่อาจจะทราบได้ ทำไม ? เพราะว่า ทาง ของอาตมา เป็นไปในทางการปลุก จิต ให้ตื่นออกมา มันจะถูกถ่ายออกมาเป็นคำพูดได้อย่างไรกัน ? คำพูดจะมีผลได้บ้างก็ต่อเมื่อพูดใส่หูเด็ก ๆ ที่ยังไม่เคยได้รับคำสั่งสอนอะไรมาก่อนเท่านั้น


      ๒.พุทธะ
      ถาม  พุทธะ (ซึ่งหมายถึงสิ่งสูงสุด) นั้นคืออะไร ?
      ตอบ   จิต คือ พุทธะ ในเมื่อการสิ้นสุดลงแห่งความคิดปรุงแต่ง เป็น ทาง พอสักว่า เธอหยุดการปลุกเร้าความคิดปรุงและการคิดค้น ในเรื่องอันว่าด้วยความมีอยู่และ ความไม่มีอยู่ ความยาวและความสั้น คนอื่นหรือตัวเอง ผู้ทำหรือผู้ถูกทำ และเรื่องอื่นทำนองนี้เสียให้จบสิ้นเท่านั้น เธอจะพบว่า จิต ของเธอเป็น พุทธะ โดยแท้จริง และว่าจิตเป็นสิ่งที่คล้ายกับความว่าง เพราะฉะนั้น จึงมีคำจารึกไว้ว่า ธรรมกาย อันแท้จริงนั้น คล้ายกับความว่าง

      จง อย่าแสวงหาสิ่งอื่นใด นอกไปจากสิ่งนี้ มิฉะนั้นแล้วการแสวงหาของพวกเธอจะจบลงด้วยความเศร้า แม้พวกเธอจะบำเพ็ญบารมีทั้งหกตลอดกัปเป็นอันมาก เท่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา รวมทั้งวัตรปฏิบัติอย่างอื่นที่จะทำให้ได้ตรัสรู้อีกทั้งหมดทั้งสิ้นก็ตาม เธอก็ยังอยู่ไกลจากจุดหมายปลายทางอยู่นั่นเอง

      ทำไมเล่า ? เพราะว่าการทำเช่นนั้นเป็นการสร้างกรรมไม่มีหยุด และเมื่อกุศลกรรมที่ได้สร้างขึ้นนั้น หมดอำนาจลงพวกเธอก็จะกลับไปกำเนิดในภูมิอันต่ำอีก ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคำจารึกไว้อีกว่า “สัมโภคกาย นั้น ไม่ใช่พุทธะที่แท้จริง หรือผู้ประกาศธรรมะก็ไม่ใช่”

       เพียง แต่เธอรู้จักธรรมชาติแท้แห่งจิตของเธอเองเท่านั้น ซึ่งในธรรมชาตินั้นไม่มีตนเองไม่มีผู้อื่น แล้วเธอก็จะเป็นพุทธะองค์หนึ่งจริง ๆ

       ๓.ความคิด
     ถาม   เมื่อยอมรับว่า คนรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ซึ่งหยุดความคิดปรุงแต่งของตนเสียได้ คือ พุทธะ ดังนี้แล้ว ก็คนที่ยังโง่อยู่เล่า เมื่อหยุดคิดอย่างปรุงแต่งเสียหมดแล้ว จะมิกลายเป็นคนหลงลืมไม่มีสมปฤดีไปหรือ ?
      ตอบ   ไม่มีคนรู้แจ้งเห็นจริง ไม่มีคนมี่ยังโง่อยู่ และไม่มีแม้ความหลงลืมไม่มีสมปฤดี ถึงกระนั้นก็เถอะ แม้ว่าโดยหลักทั่วไป สิ่งทุกสิ่งจะปราศจากความมีอยู่อย่างเป็นวัตถุตัวตนก็ตาม พวกเธอก็ต้องไม่คิดไปในทำนองที่ว่า ไม่มีสิ่งใดที่มีอยู่ และแม้ว่าสิ่งทั้งหลายมิใช่เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ พวกเธอก็ต้องไม่ไปคิดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีอยู่

      ความคิดว่า “มีอยู่” ก็ตาม ความคิดว่า “ไม่มีอยู่” ก็ตาม ทั้งสองอย่างล้วนแต่เป็นความคิดที่เคยตัว ไม่ดีอะไรไปกว่าสิ่งซึ่งเป็นมายาทั้งหลาย ดังนั้นจึงมีคำจารึกไว้ว่า “สิ่ง ใดก็ตามที่เข้าใจเอาเองตามความรู้สึกทางอายตนะ ย่อมเป็นเหมือนกับมายา ข้อนี้หมายถึงทุกสิ่งนับตั้งแต่ สิ่งที่เป็นเพียงความคิดไปจนถึงสิ่งที่ มีชีวิตเป็นอยู่จริง ๆ”

      ท่าน อาจารย์ผู้ก่อกำเนิดนิกายเซ็นของเรา ไม่ได้สอนอะไรให้แก่สาวกของท่านเลย นอกจากการทำให้ว่างไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่การเพิกถอนเสียซึ่งความรู้สึกต่าง ๆ ทางอายตนะ ในการทำให้ว่างไปโดยสิ้นเชิงนี่เอง ทาง ของพวกพุทธะทั้งหลายได้เป็นไปอย่างรุ่งเรือง และในขณะเดียวกันนั้นเอง จากการเที่ยวแยกออกไปว่านั่นเป็นนั่น นี่เป็นนี่ อย่างตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ นั่นแหละ ฝูงปีศาจร้ายก็รุ่งเรืองโชติช่วงขึ้นมา



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของฮวงโป (ยานเดียว , สภาพที่เป็นจริง)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 19, 2012, 08:26:43 pm »


   ๔.ยานเดียว

   ถาม   ถ้า จิต กับ พุทธะ เป็นของสิ่งเดียวกันโดยเนื้อแท้แล้ว เราจะต้องปฏิบัติต่อไปในปารมิตาทั้งหก และการปฏิบัติอื่น ๆ ดังที่กล่าวไว้ในแบบฉบับเพื่อการตรัสรู้นั้น ๆ หรือไม่เล่า ?
   ตอบ   การตรัสรู้ ย่อมโพล่งออกมาจากจิตโดยตรง ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการบำเพ็ญปารมิตาทั้งหกและข้อปฏิบัติอื่นใด ๆ ของพวกเธอเลย การปฏิบัติบำเพ็ญทำนองนี้ ทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นเพียงอุบายสำหรับกุมเอาประโยชน์ทางวัตถุ อันเนื่องอยู่กับปัญหาชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง

   ถึงแม้ การตรัสรู้ก็ตาม สิ่งสูงสุดก็ตาม ภาวะแห่งสัจจะก็ตาม การบรรลุฉับพลันก็ตาม ธรรมกาย และอื่น ๆ ทั้งหมดลงไปจนถึงภูิมิแห่งการก้าวหน้าทั้งสิบก็ตาม อริยผลทั้งสี่ อริยภาวะ และมรรคญาณ ก็ตาม ทุกอย่างล้วนแต่เป็นเพียงคิดเอาด้วยความคิด เพื่อช่วยประคับประคองเราไประหว่างสังสารวัฏเท่านั้น ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่ต้องทำเกี่ยวกับจิตที่เป็นพุทธะแต่ประการใดเลย

   เนื่องจาก จิต คือ พุทธะ วิธีที่ฉลาดเพื่อลุถึงสิ่ง ๆ นี้ก็คือการเพาะให้ พุทธะ-จิต นั้น ผลิออกมาให้เห็นเท่านั้นเอง เพียงแต่เธอทำมันให้ว่างจากความคิดปรุงแต่งต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่นำไปสู่การเกิดและการดับอยู่ตลอดกาล และนำไปสู่ความทุกข์เดือดร้อนใจของสัตว์โลกและโลกอื่น ๆ เพ่อให้สิ้นเชิงเท่านั้น พวกเธอก็จะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีปฏิบัติเพื่อการตรัสรู้และอะไร ทำนองนั้น นานาชนิดเลย
   ฉะนั้นจึงมีคำจารึกไว้ว่า ...

   คำสอนของพุทธะทั้งหมด มีวัตถุประสงค์ข้อนี้เพียงข้อเดียว
   คือ พาพวกเราข้ามขึ้นให้พ้นเสียจากภูมิแห่งความคิด
   บัดนี้ ถ้าข้าพเจ้าหยุดความคิดของข้าพเจ้าได้สำเร็จแล้ว
   ประโยชน์อะไรด้วยธรรมทั้งหลายที่พุทธะได้สอนไว้ ?


   นับตั้งแต่พระพุทธะโคตมะ ลงมาจนตลอดสายของพระสังฆปริณายกทั้งหลาย กระทั่งถึงท่านโพธิธรรมเป็นที่สุด ไม่มีใครเคยสอนว่ามีอะไร นอกจาก จิตหนึ่ง นี้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสิ่งที่รู้กันอยู่ว่า ได้แก่ยานแห่งความรอดเพียงยานเดียว ดังนั้น แม้พวกเธอจะเที่ยวแสวงหากันให้ตลอดสากลจักวาล เธอก็จะไม่พบยานอื่นใดเลย ไม่มีที่ไหนดอก ที่โอวาทข้อนี้จะแตกหน่อแยกกิ่งออกไปได้มากหลาย คุณภาพเพียงอย่างเดียวของมัน คือ จริงตลอดกาล ดังนั้น จึงเป็นคำสอนที่รับเอาได้ยาก

   เมื่อท่านโพธะรรมได้มาสู่ประเทศจีน จนลุถึงอาณาจักรเหลียงและอาณาจักรเว่ย ก็มีแต่ท่านสาธุคุณ โก องค์เดียวเท่านั้น ที่ได้รับการเห็นแจ้งอย่างไม่ต้องเอ่ยปากพูดสักคำเดียวต่อจิต ของท่านเอง ในทันทีที่มีการอธิบายแก่ท่าน ท่านเข้าใจได้ว่า จิต คือ พุทธะ และว่า ใจและกายของแต่ละคนนั้นไม่เป็นอะไรเลย คำสอนนี้เรียกว่ามหายาน เนื้อแท้ของมหายานนั้น คือ ความว่างสิ้นเชิงจากของที่ตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ ท่านโพธิธรรมได้มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นในการ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเนื้อหาอันแท้จริงของสากลจักรวาลในชีวิต ทัน ตาเห็นนี้ !

   จิตกับ “เนื้อหา” อันนี้ไม่มีความแตกต่างกันเลยแม้แต่นิดเดียว คือว่า “เนื้อหา นั่น แหละ คือ จิต สิ่งทั้งสองนี้ไม่สามารถแยกกันได้เลย เพราะเหตุที่ท่านอาจารย์ได้เปิดเผยความข้อนี้เอง ท่านจึงได้รับสมญาตำแหน่งสังฆปริณายกแห่งนิกายของเรา และเพราะเหตุนั้น จึงมีคำจารึกไว้ว่า “ขณะที่มีการเห็นแจ้งต่อความ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของ จิต และ เนื้อหา อันนั้น ซึ่งก่อให้เกิดมีหลักสัจจธรรมขึ้นมานั่นแหละ เป็นขณะที่อาจกล่าวได้อย่างแท้จริงว่า ขณะแห่งการเลิกล้างการพร่ำพูดการบรรยายกันเสียที


   ๕.สภาพที่เป็นจริง

   ถาม   พระพุทธเจ้าทรงช่วยสัตว์โลกทั้งหลายให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏได้อย่างแท้จริงหรือ ?
   ตอบ   ตามสภาพที่เป็นจริงนั้น หามีสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ต้องรับการปลดปล่อยโดยพระตถาคตไม่เลย ถ้าเมื่อตนเองก็มิได้มีสภาพที่เป็นตัวตนอันแท้จริงอย่างใดแล้ว คิดดูเถิด สิ่งอื่นนอกไปจากตน จะเป็นสิ่งที่มีสภาพแห่งความเป็นตัวตน น้อยลงไปอีกสักเท่าไรเล่า ดังนั้น จึงไม่มีทั้งพุทธะ ไม่มีทั้งสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ตั้งอยู่โดยสภาพที่เป็นตัวตนอันแท้จริงเลย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: คำสอนของฮวงโป :บันทึกวาน-ลิง (๖.ลักษณะ)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 25, 2012, 02:30:16 pm »


   ๖.ลักษณะ

   ถาม   ถึงอย่างไรก็ยังมีคำจารึกไว้ว่า “ใครก็ตาม ที่ประกอบอยู่ด้วยพุทธะลักษณะ ๓๒ ประการ ย่อมเป็นผู้สามารถปลดปล่อยสัตว์โลกทั้งหลาย จากสังสารทุกข์” ท่านอาจารย์จะปฏิเสธความข้อนี้ได้อย่างไร ?

   ตอบ   สิ่งใด ๆ ที่ประกอบอยู่ด้วยลักษณะใด ๆ ล้วนแต่เป็นมายาทั้งสิ้น ต่อเมื่อรู้ชัดแจ้งว่า ลักษณะทุกลักษณะหาใช่ลักษณะไม่ นั่นแหละ พวกเธอจึงจะรู้จักพระตถาคตเจ้า
   พระพุทธเจ้าก็ดี สัตว์โลกทั้งหลายก็ดี ทั้งสองอย่างนี้เป็นเพียงความคิดปรุงขึ้นมาอย่างผิด ๆ ในจิตของเธอเองนานาชนิดเท่านั้น เป็นเพราะพวกเธอไม่ได้รู้จัก จิตจริงแท้ พวกเธอจึงได้ลวงตัวเองด้วยความคิดปรุงแต่งในทางความมีตัวมีตนทำนองนั้น

   ถ้าเธอยังจะถือว่ามีพุทธะอยู่ เธอก็จะถูกปิดกั้นเสียด้วยพุทธะนั้น นั่นเอง และเมื่อเธอยังจะถือว่า มีสัตว์โลกทั้งหลายอยู่ เธอก็จะถูกปิดกั้นเสียด้วยสัตว์โลกทั้งหลายเหล่านั้น นั่นเอง ความคิดปรุงแต่งที่เป็นคติทวินิยม เช่นเห็นว่ามี “สัตว์ที่ยังโง่หลง” หรือ “สัตว์ที่ตรัสรู้แล้ว” มี “บริสุทธิ์” หรือ “ไม่บริสุทธิ์” ดังนั้นเป็นต้นก็ตาม นั่นแหละคือสิ่งกีดกั้นปิดบังไม่ให้เห็นแจ้ง

   มันเป็นเพราะจิตของพวกเธอ ถูกปิดกั้นเสียด้วยสิ่งเหล่านั้น นั่นเอง ธรรมจักรจึงยังจำเป็นที่จะต้องหมุนไป ๆ มันเหมือนกับลิงที่ขว้างอะไรลงไปแล้วหยิบมันขึ้นมาอีก ขว้างอะไรลงไปแล้วหยิบมันขึ้นมาอีก ดังนี้เรื่อยไปไม่มีหยุด นี้ฉันใด พวกเธอและการศึกษาของพวกเธอก็เป็นฉันนั้น
   ทั้งหมดเท่าที่เธอควรปรารถนานั้น มันมีแต่หยุด “การศึกษา” ของเธอเสีย เลิกล้างความคิดว่า โง่หรือฉลาด บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น เสียให้สิ้นเชิง ตัดความยึดมั่นถือมั่น และหยุดการกระทำกรรมเสียอย่างเด็ดขาดเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เป็นเพียงสิ่งที่เพิ่มความลำบากให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกนิดหน่อยเท่านั้น หรือเป็นเพียงเครื่องประดับประดา (ที่ไม่จำเป็น) ภายใน จิตหนึ่ง นั้นเท่านั้น

   อาตมาได้ยินว่าพวกเธอเคยได้ศึกษาสูตรต่าง ๆ แห่งตรียานทั้งสิบสองหมวด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด เป็นเพียงข้อคิดที่เขาระบายกันออกไปพล่อย ๆ ตามที่เคยประสบ เพราะเคยปากเท่านั้น พวกเธอจะต้องสลัดออกไปเสียให้หมดจริง ๆ
   ดังนั้น พวกเธอจงสลัดเสียให้ได้ทุกสิ่งที่เคยเรียนเข้าไว้ ซึ่งมันไม่มีอะไรมากไปกว่าผ้าปูนอนที่เขาปูให้เธอเมื่อคราวเจ็บไข้เท่านั้น

   มันเป็นได้เฉพาะต่อเมื่อพวกเธอ ได้สลัดความรู้สึกสำคัญมั่นหมายต่าง ๆ เสียทั้งหมด จนไม่มีอะไรเหลืออยู่ในสภาพที่เป็นตัวตนให้ยึดถืออีกต่อไป และเฉพาะต่อเมื่อปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่แวดล้อมเธอ ไม่สามารถสกัดกั้นปิดบังเธอได้อีกเลย และเฉพาะต่อเมื่อ พวกเธอได้พรากตัวเองออกมาเสียจากความคิดอย่างคติทวินิยมได้ตลอดแนว ไม่มีเหลือให้รู้สึกว่า มีคนที่ “ยังโง่” และคนที่ “ตรัสรู้แล้ว” อีกต่อไปจริง ๆ เท่านั้น ที่พวกเธอจะนำตนขึ้นสู่สมญาว่า พุทธะผู้อยู่เหนือโลกได้ในที่สุด

   ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงมีคำจารึกไว้ว่า “การ เชื่ออย่างหมอบราบคาบแก้วของพวกเธอนั้นเป็นสิ่งที่ไร้ผล อย่าปลงความเชื่อลงไปในพิธีรีตองต่าง ๆ ทำนองนั้น รีบหนีไปเสียโดยเร็ว จากความเห็นผิดเชื่อผิดทำนองนั้น
   เนื่องจาก จิต เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกให้เป็นนั่นเป็นนี่ได้เลย เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่ปรากฏแก่เธอก็ต้องไม่ถูกแยกเป็นชนิดนั้นชนิดนี้ ตามคติทวินิยม โดยเท่าเทียมกัน
   เนื่องจาก จิต เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการกระทำกรรมทั้งปวง ดังนั้น ปรากฏการณ์ทั้งหลายก็ต้องเป็นเช่นนั้นด้วย

   ปรากฏการณ์ ทุกอย่างตามที่ปรากฏแก่เราอยู่นี้เป็นสิ่งสร้างสรรค์ขึ้นของความคิด เพราะฉะนั้น อาตมาจึงต้องการเพียงให้ทำจิตของเธอให้ว่าง เพื่อจะได้พบความจริงว่าทุกสิ่งทั้งหมดนั้นเป็นของว่างจริง ๆ วัตถุหรืออารมณ์ต่าง ๆ ที่รู้สึกกันอยู่ทางอายตนะทั้งหลายก็ล้วนแต่เป็นอย่างเดียวกันกับปรากฏการณ์ ทั้งหลายที่กล่าวแล้ว ไม่ว่ามันจะอยู่ในจำพวกไหน สักกี่หมื่นกี่แสนจำพวกก็ตาม

   ความว่างอันใหญ่หลวงที่ครอบงำสิ่งทั้งปวงอยู่ทุกทิศทุกทางนั้น เป็นเนื้อแท้อันเดียวกันกับ จิต นั้น และเนื่องจาก จิต นั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกออกเป็นส่วน ๆ ได้ ตามธรรมชาติในตัวมันเอง ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ ทุกสิ่งจึงต้องเป็นเช่นนั้นด้วย


   ความมีความเป็นนานาชนิด ที่ปรากฏแก่พวกเธอว่ามันต่าง ๆ กันนั้น มันเป็นเพราะความสำคัญมั่นหมายของเธอเองต่างหากที่ต่างกันอยู่ในตัวมัน แล้วไปทำให้รู้สึกต่อของข้างนอกว่าต่างกันนานาชนิด ทำนองเดียวกันแท้กับสีสันต่าง ๆ ของอาหารทิพย์ของพวกเทวดา ที่เขากล่าวกันว่ามีต่าง ๆ กัน ตามควรแก่บุญกุศลของพวกเทวดาองค์หนึ่ง ๆ ซึ่งเสวยมัน

   อนุตตรสัมมาสัมโพธิ นั้น เป็นชื่อของการเห็นแจ้งว่า บรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ในสากลจักรวาลนั้น ตามความจริงแล้ว ท่านมิได้มีลักษณะแห่งความเป็นพระพุทธเจ้าอะไร ๆ โดยเฉพาะที่เราอาจจะแบ่งแยกออกมาให้เห็นได้แม้แต่น้อยเลย มีอยู่ก็แต่ จิตหนึ่ง เท่านั้น

   ตามที่จริงแล้ว ไม่มีความทวีตัวเป็นความอเนกอนันต์แห่งรูปทั้งหลาย ไม่มีความรุ่งเรืองอย่างสวรรค์ ไม่มีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์ หรือไม่มีการยอมจำนนต่อผู้ชนะ เนื่องจากไม่มีใครมีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์ ดังนั้นจึงไม่อาจมีการได้สมัญญาตามแบบฉบับว่าใครได้เป็นพุทธะสักองค์หนึ่ง และเนื่องจากไม่มีการพ่ายแพ้ จึงไม่อาจมีการได้สมัญญาตามแบบฉบับนั้น ๆ ว่าใครเป็นสามัญสัตว์ ไปได้เลย


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๗.เดินผิดทาง
   ถาม   แม้ว่า จิต นั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปลักษณะ แต่ท่านอาจารย์อาจปฏิเสธได้อย่างไรว่าไม่มีพุทธลักษณะ ๓๒ ประการ หรือไม่มีอุดมภาพ ๘๐ ประการ ซึ่งสัตว์อาศัยข้ามฟากแห่งสังสารวัฏได้ ?
   ตอบ   ลักษณะ ๓๒ ประการ ก็เป็นเพียงสักว่าลักษณะของรูป สิ่งใดก็ตามที่มีรูป สิ่งนั้นเป็นมายา อุดมภาพ ๘๐ ประการนั้น ก็ยังตกอยู่ในวงของสสาร (วัตถุ) อยู่นั่นเอง
   ผู้ใดก็ตาม สำคัญว่าตัวตนมีอยู่ในสสาร ก็เป็นผู้ที่กำลังเดินผิดทาง ดังนี้เขาจึงไม่สามารถเข้าใจเรื่องของพระตถาคตเจ้าได้อย่างถูกต้องเลย


   ๘.พุทธยาน
   ถาม   เนื้อหาอันแท้จริงของพระพุทธเจ้า ต่างจากเนื้อหาอันแท้จริงของสามัญสัตว์ทั้งปวงโดยสิ้นเชิง หรือว่าเป็นอันเดียวกัน ?
   ตอบ   เนื้อหาอันแท้จริง ย่อมไม่มีทางที่จะไปเป็นความเป็นอันเดียวกันหรือเป็นของต่างกันกับสิ่งใด ๆ เลย

   ถ้าพวกเธอ ไปรับเอาคำสอน
ตามแบบฉบับของพวกตรียานมาศึกษาให้เห็นความแตกต่างระหว่างพุทธ ภาวะ กับสภาวะของสามัญสัตว์ทั้งหลายอยู่ พวกเธอก็จะต้องสร้างกรรมแห่งตรียานขึ้นสำหรับตัวเอง ครั้นแล้วความเป็นสิ่งเดียวกัน หรือความแตกต่างกันนานาชนิดก็จะเกิดมีขึ้นมา ในฐานะที่เป็นผลของการทำเช่นนั้น

   แต่ถ้าพวกเธอถือตามคำสอนแห่งพุทธยาน ซึ่งถ่ายทอดให้โดยท่านโพธิธรรม เธอจะไม่มีการพูดถึงสิ่งเหล่านี้เลย เธอจะเพ่งตรงไปยัง จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ปราศจากความเป็นอันเดียวกันหรือความแตกต่างกัน ปราศจากความเป็นเหตุและความเป็นผล (เป็นต้น)

   ด้วยเหตุดังนั้น จึงมีคำจารึกไว้ว่า “มี หนทางแต่ทางเดียวของพวกเอกยานเท่านั้น ไม่มีทางที่สอง ทางที่สาม เว้นเสียแต่ทางหลาย ๆ แบบ ที่พระพุทธเจ้าท่านใช้แต่เพียงในฐานะเป็นอุบายล้วน ๆ เพื่อปลดเปลื้องสัตว์ที่ยังจมอยู่ในความหลงผิดเต็มที่เท่านั้น”


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๙.ความพลาดอันน่าทุเรศ
   ถาม   ทำไมพระโพธิสัตว์แห่งอนันตภาวะ จึงไม่สามารถมองเห็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์ที่มงกุฎแห่งเศียรของพระพุทธเจ้าเล่า ?
   ตอบ   สำหรับท่านไม่มีอะไรเลยที่จะเห็นได้จริง ๆ ทำไม ? เพราะพระโพธิสัตว์แห่งอนันตภาวะนั้นคือพระตถาคต ทั้งยังแถมอีกว่า ความประสงค์ที่จะดู ย่อมไม่เกิดขึ้นเลย

   คำอุปมานั้น มุ่งหมายที่จะ
ป้องกันพวกเธอเสียจากการคิดว่า พุทธะและสามัญสัตว์ ทั้งหลายนั้น มีตัวมีตนอยู่มากมายแล้ว เธอก็ตกลงไปสู่ความหลงผิด แห่งความมีอยู่อย่างแตกต่างกันเป็นพิเศษนั่นเอง
   ข้อนี้เป็นคำเตือนที่ต่อต้านความคิดที่ว่า ตัวตนมีอยู่หรือไม่มีอยู่ และเพราะคิดเช่นนั้นจึงตกลงไปสู่ความผิดพลาดแห่งความคิดว่ามีอยู่อย่างแตกต่างกันเป็นพิเศษ และทั้งเพื่อต่อต้านความคิดที่ว่ามีบุคคลที่ยังโง่หลงอยู่ และบุคคลที่ตรัสรู้แล้ว ซึ่งเพราะคิดเช่นนั้น จึงได้ตกลงไปสู่ความหลงผิดชนิดเดียวกับที่กล่าวแล้ว

   มีได้แต่คนที่สามารถเปลื้องตนออกมาเสียจากความคิดทำนองนั้นโดยสิ้นเชิงเท่านั้น ที่จะสามารถมี กายแห่งอนันตภาวะได้  ความคิดปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวง เรียกได้ว่า ความเห็นผิด
   ผู้ถือลัทธิผิด ๆ เช่นนั้น
ย่อมยินดีในการทวีความคิดปรุงแต่ง แต่พระโพธิสัตว์ยังคงนิ่งเงียบ อยู่ในท่ามกลางฝูงคนจำพวกนี้ทั้งหมด

   คำว่า “ตถาคต” หมายถึงตถาตา (คือความเป็นตามที่เป็นจริง ๆ ) ของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่ปรากฏให้เราเห็น เพราะฉะนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า “พระเมตไตรย ก็เป็นเช่นนี้ มุนีและปราชญ์ทั้งหลายก็เป็นเช่นนี้
   ตถาตา มิได้มีอยู่ในสิ่งที่อาจเกิดขึ้น หรืออาจสลายลง ตถาตา มิได้มีอยู่ในสิ่งซึ่งมองเห็นได้ หรือฟังได้ยินได้ มงกุฏแห่งพระเศียรของพระตถาคตนั้น เป็นเพียงความคิดที่ผู้กล่าวได้เล็งถึงภาวะแห่งความสมบูรณ์ชนิดที่พวกเธอจะ รู้สึกต่อมันได้โดยทางอายตนะ ฉะนั้นพวกเธออย่าได้ตกลงไปสู่ความคิดปรุงแต่ง เรื่องความสมบูรณ์ ตามความคิดว่ามีตัวตนเลย

   ยิ่งกว่านั้นมันยังมีอีกว่า พุทธกายหรือสิ่งสูงสุดนั้นย่อมอยู่เหนือการกระทำทั้งปวง ซึ่งเป็นไปในทางการก่อรูปต่าง ๆ เพราะฉะนั้น พวกเธอต้องระวังการหลงทำความแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ เป็นนั่นเป็นนี่คู่กันอย่างนั้นอย่างนี้ ในบรรดาสิ่งทั้งหลายนับด้วยหมื่นแสน ซึ่งมีรูปต่าง ๆ กัน
   สังขารธรรมทั้งปวง เกิดขึ้นตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วดับไปดังนี้ เทียบได้กับความไม่มีอะไรล้วน ๆ ส่วนมหาศุนยตา หรือ ความว่างอันใหญ่หลวง นั้น เป็นภาวะแห่งความสมบูรณ์ซึ่งในนั้นไม่มีทั้งความพร่องและความล้น เป็นความสงบเงียบอย่างมีระเบียบ ซึ่งในนั้นการกระทำทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง

   พวกเธออย่าขืนไปคิดว่า อาจจะมีส่วนอื่น ๆ ซึ่งอยู่นอกออกไปจาก มหาศุนยตา นี้ การดันทุรังไปเช่นนั้น จะนำพวกเธอไปสู่การคิดแบ่งแยกสิ่งต่าง ๆ เป็นพวก ๆ โดยไม่มีทางทีจะหลีกเลี่ยงได้เลย ฉะนั้น จึงมีคำจารึกไว้ว่า “ภาวะแห่งความสมบูรณ์นั้น คือมหาสมุทรแห่งญาณ ส่วนสังสารวัฏนั้น คือความสับสนที่หมุนเชี่ยวอยู่
   เมื่อเราพูดกันว่า ความรู้ที่ “ฉัน” ได้รับ การศึกษาที่ “ฉัน” ได้กระทำ ความเข้าใจอันลึกซึ้ง “ของฉัน” ความหลุดพ้นจากการเวียนเกิด “ของฉัน” วิถีชีวิตในทางธรรม “ของฉัน” ดังนี้นั้น ความสำเร็จของเราย่อมทำให้ความคิดเหล่านี้ รู้สึกเป็นสุขแก่เราเป็นที่สุด แต่ความพลาดของเราทำให้มันดูน่าทุเรศไป ทั้งหมดนั้น จะเป็นประโยชน์อะไรที่ไหนกัน ?

   ฉันขอตักเตือนพวกเธอ ให้คงสภาพสงบเงียบ อยู่อย่างมีระเบียบและอยู่เหนือกรรมทั้งปวง อย่าลวงตนเองด้วยความคิดปรุงแต่งของตนเอง และอย่าเที่ยวมองหาสัจจธรรมในที่ใด ๆ เลย เพราะว่าทั้งหมดที่เราประสงค์นั้น คือการเว้นขาดจากการยอมให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น
   มันเป็นสิ่งที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า ความคิดต่าง ๆ ภายในใจและความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดจากอารมณ์ภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เดินผิดทางได้โดยเท่ากัน และว่า
ทางแห่งพุทธะทังหลายก็เป็นอันตรายแก่เธอเช่นเดียวกับทางแห่งมารทั้งหลาย ดังนั้นเมื่อพระโพธิสัตว์มัญชุศรี ได้หลงพลัดเข้าไปสู่คติทวินิยมชั่วคราว ท่านพบตัวเองว่าถูกบีบ ให้เตี้ยแคระโดยภูเขาเหล็กสองลูกซึ่งปิดกั้นโดยไม่มีทางออก

   แต่พระมัญชุศรีมีความเข้าใจที่แท้จริง ในเมื่อพระสมันตภัทรมีแต่ความรู้ชั่วแล่น แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อความเข้าใจอันแท้จริงกับความรู้ชั่วแล่น ได้เข้าผสมกันอย่างเหมาะส่วนเป็นอันเดียวกันแล้ว ก็ปรากฏว่าทั้งสองอย่างนั้นมิได้มีอยู่อีกต่อไป มีอยู่ก็แต่ จิตหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ทั้งพุทธะและทั้งสัตว์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะว่าใน จิตหนึ่ง นั้นมิได้มีคติทวินิยมเช่นนั้น

   ในทันทีที่พวกเธอมีความคิดว่า พุทธะ ขึ้นมา เธอก็ต้องถูกบังคับให้มีความคิดว่า สามัญสัตว์ทั้งหลายตามขึ้นมา หรือให้คิดเป็นความคิดรวบยอด และความคิดไม่รวบยอด ความคิดกว้างขวาง และความคิดขี้เหร่ขึ้นมา ซึ่งมันจะจองจำเธอไว้ในระหว่างภูเขาเหล็กสองลูกนั้นอีกโดยแน่นอน

   ในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เกิดขึ้นมาจากการคิดค้นอย่างคติทวินิยมนั้น ท่านโพธิธรรมแนะให้แก้ไขด้วยการที่ท่านเพียงแต่ชี้ตรงไปยัง จิต และ เนื้อหาอันแท้จริง ดั้งเดิมของเราในฐานะซึ่งตามความจริงแท้แล้ว เป็นพุทธะอยู่แล้วทั้งหมด ท่านมิได้มอบวิธีการผิด ๆ ในการทำตนเองให้สมบูรณ์มาให้เลย ท่านมิได้เป็นพวกนิกายแบบที่มีการบรรลุอย่างค่อยเป็นค่อยไป

   หลักคำสอนของท่าน ไม่ยอมรับว่ามีสิ่งที่มีคุณลักษณะอันทำให้ได้ชื่อว่า
สว่างและมืด เมื่อสิ่งนั้น ไม่ใช่ความสว่าง ก็จงดูให้เห็นว่าไม่มีความสว่างอะไรที่ไหน เมื่อสิ่งนั้นไม่ใช่ความมืด ก็จงดูให้เห็นว่านั่นมันไม่มีความมืดอะไรที่ไหน ! ดังนั้นจึงมีผลตามมาว่า ไม่มีความมืดหรือปลายสุดของความมืด

   ใครก็ตาม ที่เข้ามาสู่ประตูแห่งนิกายของเรา เขาต้องจัดการกับทุก ๆ สิ่ง ด้วยอำนาจของสติปัญญาล้วน ๆ เท่านั้น ความรู้สึกด้วยใจจริงชนิดนี้เท่านั้น ที่เรียกว่า ธรรมะ เมื่อธรรมะถูกรู้อย่างประจักษ์แล้ว เราย่อมพูดถึงพุทธะได้ ครั้นรู้ประจักษ์ต่อไปว่า โดยความจริงแล้ว ไม่มีทั้งธรรมะ ไม่มีทั้งพุทธะ นั่นเรียกว่าเข้าถึงสังฆะ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า “บรรพชิตผู้อยู่เหนือกรรมทั้งปวง” นั่นเอง

   แล้วผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดอาจเรียกได้ว่า ตรีรัตนะ หรือเพชรพลอยสามชนิดในเนื้อหาอันเดียวกัน
   บรรดาพวกที่แสวงหาสัจจธรรม เขาต้องไม่แสวงหาจากพุทธะ จากธรรมะ หรือจากสังฆะ เขาจะต้องไม่แสวงหาจากที่ใดเลย เมื่อพุทธะไม่ถูกแสวงหา ก็ไม่มีพุทธะที่จะต้องพบ ! เมื่อธรรมะไม่ถูกแสวงหา ก็ไม่มีธรรมะที่จะต้องพบ ! เมื่อสังฆะไม่ถูกแสวงหา ก็เป็นอันว่าไม่มีสังฆะเลย !


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๑๐.จิตถึงจิต
   ถาม   ท่านอาจารย์เอง ก็เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งอยู่ในสังฆะ ในบัดนี้ และเป็นที่เห็นชัดกันอยู่แล้วว่า ท่านอาจารย์กำลังง่วนอยู่กับการประกาศธรรมะ แล้วท่านอาจารย์ประกาศออกมาว่าไม่มีทั้งสังฆะ ไม่มีทั้งธรรมะ ได้อย่างไรกัน ?
   ตอบ   ถ้าพวกเธอสำคัญไปว่ามีธรรมะที่ต้องประกาศ เธอก็จะขอร้องอาตมาให้แสดงมัน แต่ถ้าเธอเรียกร้องหา “อาตมา” ชนิดที่เล็งถึงความมีอยู่อย่างพิเศษอีกชนิดหนึ่งแล้ว ! ธรรมะนั้นหาใช่ธรรมะที่เธอกำลังขอร้องไม่ มันคือ จิตหนึ่ง โน้น !

   เพราะเหตุนั้นเอง ท่านโพธิธรรม จึงกล่าวไว้ว่า ...
   แม้เราได้ถ่ายทอดให้แล้ว ซึ่งธรรมะแห่ง จิต
   ธรรมะก็จะเป็นธรรมะไปได้อย่างไรกัน ?

   เพราะว่า ไม่ใช่ทั้งธรรมะ ไม่ใช่ทั้ง จิต
   ที่สามารถมีอยู่อย่างมีความเป็นตัวเป็นตน
   เข้าใจข้อนี้เท่านั้น เธอจึงจะเข้าใจ
   ธรรมะ ซึ่งถ่ายทอดด้วย จิต ถึง จิต


   ความที่รู้อยู่ว่า ในสัจจธรรมนั้น ไม่มีอะไรเลยแม้สักอย่างเดียวที่ดำรงอยู่ ซึ่งอาจยึดถือเอาได้ เข้าถึงได้ บรรลุได้ ตรัสรู้ได้ หรือเสวยผลได้ ! นั่นแหละคือการนั่งอยู่ในโพธิมณฑล
   โพธิมณฑล คือภาวะซึ่งอยู่ในนั้น ไม่มีความคิดเกิดขึ้นเป็นรูปต่าง ๆ
ในนั้นแหละที่พวกเธอจะได้ลืมตาต่อความว่างอันแท้จริงของสิ่งทั้งปวงที่ปรากฏ แก่มนุษย์
และเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความว่างอย่างยิ่งยวด แห่งตถาคตครรภ์

   ไม่มีอะไรเลยสักสิ่งเดียวที่มีอยู่
   ดังนั้นฝุ่นสกปรกจะจับได้ที่ตรงไหน ?
   ถ้าท่านเข้าใจถึงหัวใจของความจริงเรื่องนี้
   ทำไมจะต้องพร่ำถึงความสุขชั้นเลิศด้วยเล่า ?


   ๑๑.โพธิ
   ถาม   “ถ้าไม่มีอะไรเลยสักสิ่งเดียว ที่มีอยู่” ดังนี้แล้ว เราจะเอ่ยถึงปรากฏการณ์ทั้งหลาย ในฐานะที่มิได้เป็นสิ่งที่มีอยู่ ได้อย่างไรหรือ ?
   ตอบ   คำว่า “มิได้มีอยู่” ก็เป็นคำพูดที่ผิดเช่นเดียวกับคำตรงข้ามที่ว่า “มีอยู่โพธินั้น หมายถึงความไม่มีแห่ง “ความคิด ว่ามีอยู่หรือมิได้มีอยู่

   ๑๒.จิตนั้นแหละคือพุทธะ
   ถาม   พุทธะ คืออะไร ?
   ตอบ   จิต ของเธอ คือพุทธะ พุทธะคือ จิต จิต กับพุทธะ เป็นสิ่งที่ไม่แยกจากกันได้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำจารึกไว้ว่า “สิ่งซึ่งได้แก่ จิต นั่นแหละ คือ พุทธะ” ถ้ามันเป็นสิ่งอื่นนอกไปจาก จิต มันก็เป็นสิ่งอื่นนอกไปจาก พุทธะ โดยแน่นอน


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๑๓.ความเป็นอันหนึ่งอันเีดียว
   ถาม   ถ้าจิตของเราเองก็เป็นพุทธะ ท่านโพธิธรรมเมื่อมาจากอินเดียท่านถ่ายทอดธรรมะของท่านไว้อย่างไร ?
   ตอบ   เมื่อท่านโพธิธรรมมาจากอินเดีย ท่านถ่ายทอดแต่ จิต-พุทธะ เท่านั้น ท่านเพียงแต่ชี้ความจริงในข้อที่ว่า จิตของพวกเราทุกคนเป็นอันเดียวกับพุทธะมาแล้ว แต่แรกเริ่มเดิมทีเดียว และไม่มีทางที่จะแยกกันได้แต่อย่างใดเลย นั่นแหละคือข้อที่ว่าทำไมเราจึงเรียกท่านว่า สังฆปริณายกของเรา

   ใครก็ตาม เข้าใจความจริงข้อนี้ได้ทันที เขาก็อยู่เหนือการนำของพระอรหันต์ทั้งหลาย และอยู่เหนือคำสอนอันถนัดปากและถนัดมือของพวกยานทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นยานใด ได้ทั้งหมดในทันทีอีกเหมือนกัน
   พวกเธอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับพุทธะ มาตลอดเวลา ดังนั้นอย่าเที่ยวลวงใคร ๆ ว่าเธอลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวนี้ได้ด้วย
การปฏิบัตินานาชนิด



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๑๔.บทบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
   ถาม   ถ้าเป็นดังนั้นจริง ธรรมะอะไรกันเล่าที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้ทรงนำมาสอน ในเมื่อพระองค์เสด็จมาปรากฏต่อโลก ?

   ตอบ   เมื่อพุทธะทั้งหลาย มาปรากฏพระองค์ในโลกนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงประกาศอะไรเลย นอกจาก จิตหนึ่ง นี้เท่านั้น ดังนั้นพระพุทธะโคตมะ จึงได้ถ่ายทอดธรรมให้แก่ พระมหากาศยปะอย่างเงียบกริบว่า จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของสิ่งทุกสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่แผ่กว้างควบคู่เป็นเนื้อเดียวกันไปกับ ความว่าง และบรรจุเต็มอยู่ทั่วในทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในโลก นี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่าบทบัญญัติของพระพระพุทธเจ้าทั้งปวง

   พวกเธอจงวิพากษ์วิจารณ์ดูตามที่เธอจะทำได้กันเถิด แล้วพวกเธอจะไม่สามารถแม้แต่หวังว่าจะเข้าถึงสัจจะอันนี้ได้โดยทางคำสอนได้ อย่างไรกัน ? หรือว่ามันจะเป็นสิ่งที่รู้โดยประจักษ์ได้โดยวิธีของนามธรรมหรือรูปธรรม ได้อย่างไรกัน ?
   เมื่อเป็นดังนี้ ความเข้าใจอย่างเต็มที่ จะมาสู่พวกเธอได้ก็แต่โดยทางหรือวิธีที่ลี้ลับไม่อาจอธิบายได้เท่านั้น

   วิธีที่จะเข้าถึงจิต จิตหนึ่ง นี้ให้ได้จริง ๆ นั้นเรียกว่า ปากทางแห่งความนิ่งเงียบเหนือกรรมทั้งปวง ถ้าพวกเธออยากจะเข้าใจก็จงรู้ไว้ว่าความรู้ประจักษ์ต่อสิ่ง ๆ นี้ โดยฉับพลันนั้น จะมีมาต่อเมื่อจิตถูกชำระล้างแล้วอย่างสิ้นเชิง จากใยยุ่งของมโนกรรมที่เป็นความคิดปรุงแต่ง และที่แบ่งแยกสิ่งทั้งปวงเป็นพวก ๆ คู่ ๆ ตามแบบคติทวินิยม เท่านั้น
   พวกที่แสวงหาสัจจธรรมนี้ โดยวิธีของการใช้สติปัญญาและการศึกษานั้น
มีแต่จะถอยห่างออกไปจากมันทุกที ๆ เท่านั้นเอง

   จนกว่าเมื่อไร ความคิดของเธอหยุดแตกกิ่งแตกก้านทางโน้นทางนี้เสียทุก ๆ ทาง จนกว่าเมื่อไร พวกเธอจะสลัดความคิดในการแสวงหาอะไรบางอย่าง เสียได้ทุก ๆ ทาง และจนกว่าเมื่อไร จิตของพวกเธอจะหยุดการเคลื่อนไหวเสียได้ราวกะว่า มันเป็นท่อนไม้หรือก้อนหินเท่านั้น ที่พวกเธอจะเดินถูกทางไปสู่ ปากประตู ที่กล่าวนั้นได้


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๑๕.ความคิดกับสิ่งต่างๆ
   ถาม   แม้ในขณะนี้แท้ ๆ ความคิดผิด ๆ นานาชนิด ก็กำลังไหลพล่านอยู่ในใจของพวกเรา แล้วท่านอาจารย์กล่าวได้อย่างไรกัน ว่าพวกเราจะไม่มีมันเล่า ?

   ตอบ   ความคิดผิดเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงผลิตผลที่พวกเธอคิดมันขึ้นมาเอง และพวกเธอรู้ว่า จิต คือพุทธะและว่า จิต นั้น โดยพื้นฐานแล้วเป็นสิ่งปราศจากความคิดผิด เมื่อใดความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้น พวกเธอจะเห็นได้โดยประจักษ์ว่า ความคิดเหล่านั้นแหละ เป็นอะไร ๆ ทั้งหมดที่ทำให้ความคิดผิดเกิดขึ้น ถ้า พวกเธอห้ามกันความคิดปรุงแต่งเสียได้ทุกคราวและทำกระแสแห่งความคิดให้หยุด ไหลเสียได้ ก็ย่อมไม่มีความคิดผิดใด ๆ เหลืออยู่ที่พวกเธอได้เองโดยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีคำกล่าวไว้ว่า “เมื่อความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้น สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อความคิดต่าง ๆ ดับหายไป สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด ก็ต้องดับหายไป


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


   ๑๖.ความตระหนัก
   
   ถาม   เมื่อความคิดผิด ๆ ทั้งหลายกำลังเกิดอยู่ในใจของพวกเรา ในขณะนั้น พุทธะไปอยู่เสียที่ไหน ?
   ตอบ   ในขณะนั้น พวกเธอกำลังตระหนักแน่ ต่อความคิดอันผิดเหล่านั้น ความตระหนักของพวกเธอนั่นเอง คือพุทธะยังไงล่ะ บางทีพวกเธออาจเข้าใจได้กระมังว่า ถ้าพวกเธอเพียงแต่เปลื้องกระแสแห่งความคิด ซึ่งล้วนแต่เป็นมายาทุกกระแส ออกไปเสียให้หมดเท่านั้น มันก็ไม่มีพุทธะพุทเธอะอะไรที่ไหนกัน

   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเล่า ? เพราะว่า เมื่อใดพวกเธอยอมให้พฤติแห่งจิตของเธอไปผลิตผลออกมาเป็นความคิดว่า พุทธะ เมื่อนั้นชื่อว่าเธอกำลังไปนำเอาความมีความเป็นฝ่ายรูปธรรมอย่างใดอย่าง หนึ่งซึ่งสามารถเอามาทำให้เป็นผู้ตรัสรู้ได้นั้นมาปั้นให้เป็นตัวเป็นตนขึ้น มาเอง

   โดยทำนองเดียวกัน ความคิดปรุงใด ๆ ของสัตว์ทั้งหลายที่กำลังกระหายต่อความหลุดพ้น ย่อมสร้างภาวะแห่งความเป็นเช่นนั้น ขึ้นเป็นเป้าหมายชนิดที่พวกเธอกำลังเล็งถึงกันอยู่ในบัดนี้ กรรมวิธีทางสติปัญญาและการเคลื่อนไหวของความคิดทั้งหมดทุกชนิด เป็นผลเกิดมาจากความคิดปรุงแต่งของพวกเธอเอง ซึ่งไปจับฉวยเอานั่นนี่มาคิดให้เป็นตัวเป็นตนขึ้นมา

   ถ้าพวกเธอเว้นขาดจากการคิดปรุงแต่งเสียอย่างสิ้นเชิง แล้วพุทธะจะมีที่ตั้งอยู่ที่ไหนกัน ? พวกเธอกำลังอยู่ในสภาพเข้าตาจนเหมือนโพธิสัตว์มัญชุศรี ผู้ซึ่งพอสักว่าได้ยอมตนให้เกิดความคิดว่ามีพระพุทธเจ้าในฐานะที่มีตัวตน อย่างรูปธรรม ก็กลายเป็นคนแคระและตกอยู่ในที่บีบอัดของภูเขาเหล็กสองลูกอยู่ทุกทิศทุกทาง