พระพิฆเนศในเอเชียแปซิฟิก
จาก หนังสือตรีเทวปกรณ์
การนับถือพระคเณศนั้นมีอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตั้งแต่ภายหลังพุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา แต่ที่ยังคงสืบทอดมาจนปัจจุบันก็อยู่รอบ ๆ บ้านเรานั่นเอง
ดังเช่น พม่า แม้จะมีการนับถือศาสนาพุทธเป็นหลักมาแต่โบราณ แต่ก็มีคติการนับถือพระคเณศสอดแทรกอยู่ ชาวพม่าโบราณมักเรียกพระองค์ว่า มหาพินายปุรหา (Maha Pinay Purha) ได้มีการค้นพบเทวรูปขนาดเล็กของพระองค์เป็นจำนวนมากที่พุกาม ปนอยู่กับพระพุทธรูปในพระธาตุต่าง ๆ ก็มี มีทั้งทำด้วยหิน หินปูน สำริด ไมกา ดินเผาและปูนปลาสเตอร์
การสร้างเทวรูปพระคเณศไว้ตามศาสนสถานต่างๆ ก็พอมีให้เห็นบ้าง เช่นที่ เจดียชเวซันดอว์ (Shwehsandaw) ซึ่ง พระเจ้าอนุรุทมหาราช ทรงสร้างในพุกามตอนเหนือเมื่อราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ มีเทวรูปพระคเณศปรากฏอยู่ตามมุมเจดีย์ร่วมกับเทพอื่นๆ ในฐานะ เทพอารักษ์พุทธสถาน นอกจากนี้ก็ทรงปรากฏร่วมกับพระควัมปติ เช่นที่ เจดีย์กุธนลน (Kuthonlon) ที่เมืองกโยกโสก ใกล้กับพุกามนั้นเอง
และที่น่าสังเกตคือ เมื่อพระควัมปตินั้นเป็นพระปิดตา พระคเณศซึ่งอยู่ร่วมกับพระองค์นี้ในลักษณะประทับนั่งหันหลังชนกันก็ปิดตาด้วย พระคเณศปิดตาของพม่านี้เอง ที่เป็นต้นแบบสำหรับเครื่องรางชุด พระเครื่องปิดตา ที่มีผู้สร้างกันอย่างแพร่หลายในเมืองไทยนี่เอง
เทวรูปของพระองค์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในพม่านั้นประดิษฐานอยู่บน ยอดเขาโปปา (Popa) เป็นเทวรูปที่สร้างขึ้นตามศิลปะแบบอินเดีย
ใน เขมร มีการนับถือพระพิฆเนศมาตั้งแต่สมัยก่อนสร้างเมืองพระนคร มีจารึกกล่าวสรรเสริญพระพิฆเนศเช่นที่ ปราสาทไพรกุก และมีเทวาลัยสำหรับพระองค์โดยเฉพาะตั้งแต่พุทธศตวรรพี่ 12
เทวฐานะของพระพิฆเนศในอารยธรรมขอมโบราณนั้นสูงส่งมาก เพราะเป็นเทพองค์สำคัญของฝ่าย ไศวนิกาย (นับถือพระศิวะเป็นใหญ่) ซึ่ง เป็นศาสนาที่นิยมนับถือกันอยู่ ดังนั้นเทวรูปของพระองค์จึงปรากฏอยู่ในเทวสถาน หรือปราสาทหินทุกแห่งที่สร้างขึ้นสำหรับศาสนาฮินดูนิกายไศวนิกาย ซึ่งเจริญสูงสุดในพุทธศตวรรที่ 14 กล่าวได้ว่านอกจากในอินเดียแล้ว เทวรูปพระพิฆเนศที่งามที่สุดในโลกก็มีอยู่ในเขมรนี่เอง
Krishna-Ganesh by Yadupati พระพิฆเนศในคติของเขมรยังปรากฏร่วมกับเทพฝ่ายอื่นๆ อีก เช่น เทพนพเคราะห์ และคณะเทวีสัปตมาตฤกาด้วย พอหลังจากพุทธศตวรรษที่ 16 ก็มักปรากฏพระองค์ในลักษณะของเทพแห่งการรจนาคัมภีร์ต่างๆ ทั้งคัมภีร์มหาภารตะและคายะตรีตันตระ
เทวรูปพระพิฆเนศในศิลปะขอมมีขนาดและรูปแบบที่หลากหลาย แต่ที่รู้จักกันมากมักจะมี 2 พระกรวางอยู่บนพระชานุ ประทับนั่งขัดสมาธิราบหรือขัดสมาธิเพชร ถ้าประทับยืนก็จะมี 4 พระกร
เทวรูปพระพิฆเนศองค์สำคัญๆ ในศิลปะขอมในปัจจุบันมีอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงพนมเปญ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย พิพิธภัณฑสถานใหญ่ๆ ของโลกเช่นที่ กีเมต์ (Guimet) ของ ฝรั่งเศส เป็นต้น ล้วนแต่มีเป็นจำนวนมากจนไม่อาจจะกล่าวได้ครอบคลุมทั้งหมด
image from photobucket.com
ใน สิงคโปร์ ซึ่งมีชุมชนอินเดียขนาดใหญ่อยู่ มีเทวปกรณ์เกี่ยวกับพระพิฆเณศไม่เหมือนกับในปุราณะต่างๆ ของทางอินเดีย แต่กลับคล้ายคลึงกับคติไทยเรามาก...
ดังเล่ากันว่าสมัยหนึ่ง มีพญายักษ์ตนหนึ่ง เกิดขึ้นมามีพละกำลังและอิทธิฤทธิ์จนสั่นสะเทือนไปทั้งสามโลก และผู้เดียวที่จะสังหารยักษ์ตนนี้ได้ คือโอรสของพระศิวะและพระอุมาเท่านั้น พญายักษ์ก็รู้ความจริงข้อนั้นเช่นกัน จึงแอบเข้าไปตัดเศียรกุมารที่อยู่ในครรภ์ของพระอุมาเสียก่อน เมื่อมีพระประสูติกาลพระกุมารจึงไม่มีพระเศียร พระศิวะจึงสังหารอสูรที่มีหัวเป็นช้างตนหนึ่ง โดยสัญญาว่าจะรักษานามของอสูรนั้นให้ปรากฏต่อไปในภายหน้า แล้วจึงนำศีรษะของอสูรนั้นมาแทนพระเศียรเดิมของพระกุมาร พระกุมารจึงมีเศียรเป็นช้าง และสามารถปราบยักษ์ตนนั้นลงได้ในที่สุด
ส่วนใน อินโดนีเซีย พระพิฆเณศเคยเป็นที่นับถือกันมากในอดีต โดยเฉพาะในชวาภาคตะวันออกตั้งแต่พุทธศตวรรพี่ 15-21 ซึ่งเป็นยุคของ ราชวงศ์สิงหส่าหรี และ ราชวงศ์มัชปาหิต และรวมถึงบางสมัยในชวาภาคกลางด้วย
พระพิฆเณศของชวามักจะทรงมีเทวลักษณะที่สงบเสงี่ยมอย่างเห็นได้ชัด ไม่เคลื่อนไหวหรือทรงพลังอำนาจอย่างรุนแรงแบบอินเดีย องค์ที่สำคัญก็เช่นพระพิฆเณศจากบารา เมืองบลิตาร์ (BIitar) สร้างใน พ.ศ 1782 สมัยราชวงศ์สิงหส่าหรี เป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามมากที่สุดในโลกองค์หนึ่ง พระพิฆเณศองค์นี้ประทับนั่งแยกพระชงฆ์แต่หันฝ่าพระบาทเข้าหากัน ทรงถือกปาละไว้ในพระหัตถ์หนึ่ง ที่ฐานด้านหน้าก็มีกะโหลกศีรษะมนุษย์ประดับอยู่
ลักษณะการนั่งและการประดับหัวกะโหลกตามเครื่องพัสตราภรณ์และที่ฐานนี้จะเป็นลักษณะเด่นของเทวรูปพระพิฆเณศแบบชวา ซึ่งได้มีอิทธิพลต่อมาในเมืองไทยของเรา ดังเทวรูปจากจัณฑิสิงหส่าหรีที่สร้างเมื่อพุทธศตวรรพี่ 19 นั้น มีหัวกะโหลกประดับรอบฐานเลยทีเดียว!!
เหตุใดพระพิฆเณศของชวาจึงต้องมีการประดับหัวกะโหลกอย่างน่าสะพรึงกลัวเช่นนั้น? คำตอบก็คือ เพราะเขานิยมนับถือพระองค์ในฐานะ คณปติ คือทรงเป็นหัวหน้าบริวารแห่งพระศิวะ หรือเรียกอีกอย่างได้ว่าทรงเป็นผู้อยู่เหนือภูตผีปิศาจต่างๆ ดังนั้นการสร้างเทวรูปดังกล่าวจึงแสดงถึงเทวานุภาพในการขจัดสิ่งชั่วร้าย มนต์ดำ รวมทั้งอัปมงคลและโรคภัยต่างๆ นั่นเอง
ส่วนที่ บาหลี ในปัจจุบันนี้ สถานที่สำคัญสำหรับพระพิฆเนศวรมีอยู่ที่ เคาคชาห์ (Goa Gajah) ใกล้กับ เปเชง (pejeng) ราชธานีในอดีตของบาหลี เป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีการแกะสลักอย่างเลื่องชื่อ ภายในนั้นมีเทวรูปพระพิฆเนศวรสันนิษฐานว่าคงสร้างในราวๆ พุทธศตวรรษที่ 16 เทวรูปพระพิฆเนศวรที่มีชื่อเสียงยังมีอีกแห่งหนึ่งที่ เยห์ปุลูห์ (Yeh puluh) ซึ่งอยู่ไม่ห่างไปจากเคาคชาห์มากนัก ที่นั่นมีการแกะสลักหินรูปนูนสูงเป็นภาพปริศนาขนาดยาวถึง 25 เมตร ปลายสุดของภาพเป็นเทวรูปพระพิฆเนศวรซึ่งสร้างตามแบบศิลปะชวาโบราณ สันนิษฐานว่าภาพทั้งหมดทำขึ้นในพุทธศตวรรพี่ 19
ใน ญี่ปุ่น ก็มีคติการนับถือพระพิฆเนศวรอยู่บ้างเหมือนกัน โดยทรงมีพระนามว่า โชเทน (Joten) หรือ ไดโช คังคิเทน (Daljo-Kangklten) เข้าใจว่าชาวญี่ปุ่นคงได้รับไปจากจีนในราวๆ พุทธศตวรรษที่ 14 แต่คงจะรับไปในรูปแบบของพระสิทธิธาดามากกว่ามาร เพราะยังนับถือว่าพระองค์จะทรงบันดาลให้เกิดอุปสรรค หรือนำข้ามพ้นอุปสรรคก็ได้ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้นำทางไปสู่ความสว่าง...
เพิ่มเติม - พระพิฆเนศในศาสนาอื่น ในศาสนาเชน พระพิฆเณศทรงปรากฏในวรรณคดียุคหลังๆ โดยวรรณคดีเชนที่เก่าที่สุดซึ่งกล่าวถึงพระพิฆเณศ คือ อภิทาน-จินดามณี ของเหมจันทร์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 และทรงได้รับความนิยมในฐานะยักษะ มีพระนามว่า ปารศวยักษ์ (Parsvayaksa) หรือ ธรรมเมนทร์ (Dharmendra) โดยเทวรูปจะประทับบนหลังเต่า และนาคปรก ถือเป็นเทพองค์หนึ่งในศาสนาเชน
สำหรับพุทธศาสนาคติมหายานนั้น ทางหนึ่งยอมรับนับถือพระพิฆเณศในฐานะของสิทธิธาดา หรือผู้ประทานความสำเร็จ ดังมีบทสวดบูชาพระพิฆเณศในมนตราลึกลับบทหนึ่ง เรียกว่า คณปติหฤทัย (Ganapati Harudya) ชาวพุทธกลุ่มหนึ่งนับถือพระพิฆเณศทั้งในการทำลายและคุณวิเศษ ประติมากรรมทางพุทธศาสนาสมัยคุปตะตอนปลายที่สารนาถมีรูปพระพิฆเณศปรากฏอยู่ร่วมกับเทพอื่นๆ ในภาพตอนพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน แต่พระพิฆเณศในลักษณะนี้มิได้มีฐานะเป็นเทพเจ้า
ในคติมหายานฝ่ายจีนและทิเบต มีการกำหนดเทพเจ้าใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก และเหยียดหยามทวยเทพในศาสนาฮินดูว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้าย พระพิฆเณศก็พลอยถูกเหยียดหยามไปด้วย โดยมีคัมภีร์กล่าวว่า พระองค์ทรงเป็นตัวแทนของอุปสรรคและทรงพ่ายแพ้แก่เทพในทางมหายาน เช่น เทพีพรรณศวรี (Parnasabari) เทพีอัปราชิตา (Aprajita) และเทพวิฆนานตกะ (Vighnantaka) นอกจากนี้ ก็มีเทพมหากาล (Maha Gala) และพระโพธิสัตว์มัญชุศรี (Manjusri Bhodisatva) โดยปรากฏพระองค์ในลักษณะที่ถูกเทพทางมหายานเหล่านี้เหยียบ หรือถ้าอธิบายถึงพระองค์เดี่ยวๆ ก็ระบายสีไปในทางชั่วร้าย เช่น ทรงถือกปาละ (Kapala) ที่เปื้อนเลือด หรือไม่ก็มีเศษเนื้อมนุษย์แห้งกรังติดอยู่
จากหนังสือ "คเณศปกรณ์" สำนักพิมพ์เมืองโบราณ (ผู้เขียนคนเดียวกัน)
-http://www.siamganesh.com/ganeshasia.html