ผู้เขียน หัวข้อ: พื้นดินหลังวิกฤตน้ำท่วม  (อ่าน 1188 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
พื้นดินหลังวิกฤตน้ำท่วม
« เมื่อ: ตุลาคม 13, 2012, 08:01:05 am »
พื้นดินหลังวิกฤตน้ำท่วม
-http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=407405-




น้ำท่วม เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำให้เกิดความสูญเสียในทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศมากหรือน้อยขึ้นกับขนาดของพื้นที่ และการใช้พื้น ทำเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม รวมทั้งความหนาแน่นของประชากร และอาคาร/บ้านเรือน

หลังจากน้ำท่วมใหญ่ ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๒๖ และ ๒๕๓๘  จึงเกิดการป้องกันพื้นที่ กทม. และขยายไปยังพื้นที่ราบภาคกลางและพื้นที่อื่นๆด้วย โดยสร้างถนน คันคลองชลประทาน ป้องกันน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร และคันกั้นน้ำ/กำแพงหรือถนนป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมือง รวมทั้งป้องกันพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้าอย่างมากจึงรุกล้ำลงไปในพื้นที่ทำนาซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วม โดยใช้วิธีถมดินให้สูงขึ้นและสร้างคันดินกั้นน้ำ

สภาพธรณีสัณฐานของประเทศไทย ภาคเหนือมีสภาพเป็นภูเขาสูงชันและที่ราบริมแม่น้ำ ประกอบด้วยแม่น้ำหลัก 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ และยังมีแม่น้ำสะแกกรังทางด้านตะวันตกไหลมารวมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดอุทัยธานี ทางด้านทิศตะวันออกมีแม่น้ำป่าสักไหลมารวมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดอยุธยา รวมพื้นที่รับน้ำประมาณ 145,000 ตร.กม. ถ้าเกิดฝนตกหนักหลายวันหลายวันต่อเนื่องทุกลุ่มน้ำดังกล่าว และฝนเคลื่อนตัวจากต้นน้ำไปท้ายน้ำ จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง ระดับน้ำท่วมจะแปรผันตามสภาพธรณีสัณฐานของพื้นที่ ถ้าไม่มีสิ่งก่อสร้างกีดขวางกระแสน้ำ พบว่าระดับน้ำท่วมพื้นที่ราบลุ่ม ที่ลุ่มต่ำ น้อยกว่า 3 เมตร และในพื้นที่ร่องน้ำแคบแบบคอขวดระดับน้ำท่วมจะน้อยกว่า 5 เมตร


สภาพธรณีสัณฐานของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จะประกอบด้วย ร่องน้ำ ตลิ่งที่เป็นคันดินธรรมชาติซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ราบลุ่มต่ำกว้างใหญ่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งใช้ทำนา อาจมีที่ดอนซึ่งเป็นคันดินธรรมชาติโบราณเป็นที่ตั้งของชุมชนกระจายอยู่ตามท้องทุ่ง ตามธรณีสัณฐานการไหลของน้ำหลากล้นตลิ่งแม่น้ำในพื้นที่ราบลุ่ม จะไม่สามารถไหลกลับลงแม่น้ำได้อีก แต่จะไหลไปตามแนวพื้นที่ลุ่มต่ำ ถ้ามีสิ่งกีดขวางการไหล เช่น ถนน คันกั้นน้ำ ประตูระบายน้ำและคันคลองชลประทาน จะทำให้ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้น พบว่าสูงกว่าสิ่งกีดขวางประมาณ 50-80 ซม. จึงจะไหลต่อเนื่องไปตามแนวพื้นที่ลุ่มต่ำต่อไปอย่างสะดวก

 
ในปี 2554 ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ 35 % ปริมาณน้ำจำนวนมากเกินความจุของอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง มวลน้ำเคลื่อนมาถูกที่ถูกเวลาส่งผลให้การระบายน้ำผิดพลาด ทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำและคันกั้นน้ำเกือบทุกแห่ง และเคลื่อนที่ไปตามแนว ซึ่งด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร โรจนะ บางหว้า นวนคร ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันมีระดับน้ำสูงระหว่าง 3-5 เมตร ซึ่งระดับน้ำสูงกว่าคันกั้นน้ำของนิคมประมาณ 50-80 ซม. ส่วนทางด้านทิศตะวันตกพื้นที่ลุ่มต่ำเป็นชุมชนและทุ่งนามีระดับน้ำท่วมระหว่าง 2.5-3.5 เมตร โดยมีระดับน้ำท่วมถนนที่อยู่ในแนวตะวันออก-ตะวันตกประมาณ 50-80 ซม.เช่นกัน ทั้งนี้บริเวณริมฝั่งด้านโค้งนอกของแม่น้ำ จะถูกกระแสน้ำกัดเซาะ หรือไหลล้นทำให้คันกั้นน้ำพัง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้พบว่าบริเวณที่มีคันกั้นน้ำ และระดับน้ำด้านนอกสูงมากกว่า 1.5 เมตรเป็นเวลานาน ชั้นดินจะมีแรงดันน้ำเพิ่มขึ้นจนทำให้น้ำซึมลอดใต้คันกั้นน้ำไปท่วมพื้นที่ด้านในหลังคันกั้นน้ำ (ปรากฏการณ์ Sand boil) ทำให้คันกั้นน้ำยุบตัวลงตามมา หรือเกิดน้ำผุดบริเวณพื้นดินด้านในคันกั้นน้ำ บางแห่งแรงน้ำดันทำให้พื้นระเบิดหรือน้ำดันคอห่านทำให้ห้องน้ำระเบิด จึงเกิดน้ำท่วมฉับพลันเกือบทุกพื้นที่ที่มีคันกั้นน้ำ

หลังเหตุการณ์มหาอุทุกภัย ผลจากน้ำท่วมทำให้คันกั้นน้ำบางแห่งพัง บางแห่งพบเพียงรอยแตกร้าว หรือยุบตัว และชั้นดินริมตลิ่งซึ่งเป็นชั้นทรายละเอียด ทรายปนดินเหนียว และดินเหนียวปนทราย เม็ดทรายละเอียด และเม็ดดินเหนียวถูกแรงดันน้ำพัดพาไป จากปรากฏการณ์ Sand boil ทำให้โครงสร้างชั้นดินเสียไป ประกอบกับระดับน้ำใต้ดินสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลิ่งเกิดการทรุดตัว เช่น จังหวัดอ่างทอง ถนนในพื้นที่ราบลุ่มและถนนเลียบริมแม่น้ำ ลำคลองเกิดการแตกร้าวและทรุดตัวหลายแห่ง พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม มีร่องรอยดินแยกและดินไหลจำนวนมาก ร่องห้วยเกือบทุกแห่งที่มีการใช้ทำการเกษตร มีร่องรอยการกัดเซาะตลิ่ง เนื่องจากไม่มีป่าไม้ริมลำน้ำ หรือไม่มีต้นไม้น้ำป้องกันตลิ่ง

การถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ยังคงใช้วิธีการแก้ไขแบบเดิม ได้แก่ สร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ เพื่อตัดยอดน้ำ ขุดลอกลำน้ำทุกแห่ง เพื่อให้น้ำระบายได้เร็วไม่ให้เกิดการท่วมขัง สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกหญ้าแฝก และสร้างคันกั้นน้ำถาวรให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น 5 ปีก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีโอกาส ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องของการขุดลอกลำน้ำในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม จะส่งผลกระทบทำให้เกิดการกัดเซาะตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ราบลุ่ม เนื่องจากการขุดลอกทำให้ตลิ่งมีความลาดชันมากขึ้นจนเสียสมดุลย์ และต้นไม้ริมตลิ่งถูกทำลาย ป่าไม้ริมลำธารหายไปทำให้น้ำไหลลงจากภูเขาอย่างรวดเร็วเกิดเป็นน้ำป่าและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมวลน้ำจะล้นอ่างเก็บน้ำอย่างรวดเร็วอีกด้วย ส่งผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ราบลุ่มทางด้านท้ายน้ำ หรืออาจเป็นสาเหตุทำให้น้ำท่วม กทม.และปริมณฑลได้ง่าย ถ้าปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย


จะเกิดอะไรต่อไป ตลอดปี 2555 มีการขุดลอกลำน้ำหลักเกือบทุกหมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มของภาคเหนือ  รวมทั้งสร้างฝายชะลอน้ำตามลำห้วยสาขาจำนวนมาก ซึ่งการขุดลอกในพื้นที่ภูเขาจะทำให้น้ำไหลลงจากภูเขาเร็วมาก และการสร้างฝายชะลอน้ำที่ไม่ถูกวิธีหรือไม่มีการสำรวจและศึกษาอย่างรอบด้าน จะเป็นการกีดขวางกระแสน้ำ ซึ่งถ้าฝายแข็งแรงจะเกิดการกัดเซาะหูฝาย ถ้าฝายไม่แข็งแรงจะทำให้ฝายพังเป็นต้นเหตุของการเกิดเป็นน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน เช่น ปี พ.ศ.2555 ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร ในเดือนกรกฏาคม สิงหาคม และกันยายน และน้ำท่วมจังหวัดปราจีนบุรี และสระแก้ว ในเดือนกันยายน

ในปีต่อๆไป ถ้าเกิดฝนตกหนัก และมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากกว่าหรือเท่าปกติ ผลของการขุดลอกและสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ยากต่อการบริหารจัดการในการระบายน้ำไม่ให้ล้นตลิ่ง แต่ในฤดูแล้ง เมื่อฝนหยุดตกระดับน้ำใต้ดินในภูเขาจะลดลงเร็วเกินไป ทำให้การไหลของน้ำในลำห้วยขาดเป็นห้วง จะเกิดความแห้งแล้งอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีการขุดลอกแม้ว่าจะมีผืนป่าสมบูรณ์ และพื้นที่ภูเขาที่มีร่องรอยดินไหล ดินแยก อาจเกิดดินไหล ดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ถ้าปริมาณน้ำฝนมากกว่า 180 มม./24 ชั่วโมง ในพื้นที่ราบลุ่มและริมฝั่งแม่น้ำ จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ง่าย จากโครงสร้างชั้นดินที่เสียไปทำให้น้ำซึมได้ง่าย จะเกิดตลิ่งพังเพื่อปรับสมดุลส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนริมตลิ่ง หรืออาจเกิดปรากฏการ sand boil ทั่วไปที่มีคั้นกั้นน้ำ พื้นที่การเกษตรบนภูเขาและผืนนาจะถูกกัดเซาะเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมกลับคืนมาได้ พื้นที่ชุมชนเมืองที่ทำคันกั้นน้ำ หรือกำแพงกันน้ำ จะเกิดน้ำท่วมขังได้ง่ายเมื่อเกิดฝนตกหนักมากกว่า 90 มิลลิเมตร

การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปรับปรุงโครงสร้างทุกระบบให้สอดคล้องกับการแก้ไขให้ประชากรไทยสามารถอยู่ในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขังได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม โดยภาพรวมแล้ว พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มหรือพื้นที่ภูเขา การก่อสร้างต้องไม่รบกวนชั้นดิน เช่น ตัดถนนต้องป้องกันดินไหลหรือเจาะอุโมงค์ลอดผ่านภูเขา ไม่ตัดไหล่เขาสร้างอาคารบ้านเรือนโดยไม่มีการป้องกันดินไหลที่ดีพอ การทำการเกษตรบนภูเขาต้องรักษาป่าไม้ริมน้ำ การปลูกป่า ควรเริ่มจากป่าไม้ริมน้ำ และส่งเสริมการขยายพันธ์ไม้น้ำ การรักษาแม่น้ำ ลำคลองที่ไหลผ่านพื้นที่เกษตรกรรมหรือที่ราบลุ่ม ควรปลูกต้นไม้ยึดตลิ่งป้องกันการกัดเซาะ การป้องกันน้ำท่วมต้องดำเนินการชะลอน้ำให้ไหลลงจากภูเขาอย่างช้าๆ การชะลอน้ำที่ดีและยั่งยืนที่สุดคือ การใช้ต้นไม้น้ำและไม้ริมตลิ่งช่วยปะทะความแรงและความเร็วของกระแสน้ำให้ลดลง รวมทั้งจะสร้างความชุ่มชื้นได้ดีในฤดูแล้ง อย่างไรก็ดีหินบางชนิด เช่นหินทราย ควอรตไซต์ หรือหินแปรบางชนิด ก็ไม่สามารถจะเก็บกักน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นได้ ในพื้นที่ราบลุ่มไม่ควรสร้างสิ่งกีดขวางการไหลของน้ำ เช่น ถนน หรือคันกั้นน้ำ ถ้าจำเป็นควรศึกษาสภาพธรณีสัณฐานอย่างละเอียด การสร้างถนนในพื้นที่ลุ่มต่ำควรเป็นถนนยกระดับแบบทางด่วน ประตูระบายน้ำของระบบชลประทานควรออกแบบให้สามารถระบายน้ำหลากได้ดีด้วย การสร้างบ้านเรือนในที่ลุ่มไม่ควรถมที่ให้สูงขึ้นแต่ควรสร้างบ้าน 2 ชั้นใต้ถุนสูง

การอยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงให้ปลอดภัยจากดินถล่ม ดินไหล น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขัง ควรนำเอาสภาพธรณีวิทยา ธรณีสัณฐาน มาใช้เป็นข้อมูลหรือองค์ประกอบในการตัดสินใจสร้างอาคารบ้านเรือน หรือการแก้ปัญหาสิ่งก่อสร้างไม่ให้เกิดผลกระทบอย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่สร้างบนชั้นดินชั้นหินควรศึกษาสภาพธรณีวิทยาและผลกระทบอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจดำเนินการ จะช่วยลดผลกระทบได้อย่างมากและยั่งยืน


สนับสนุนข้อมูลโดย
สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย                 


.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)