การขออนุญาตก่อสร้าง ช่องทางโดยมิชอบ (1)
-http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFkyOHlOekkzTVRBMU5RPT0=§ionid=TURNd05RPT0=&day=TWpBeE1pMHhNQzB5Tnc9PQ==-
คอลัมน์ เลาะรั้ว
นายช่าง
ความขัดแย้งในสังคมโดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองนั้น มีส่วนที่มาจากกระบวนความคิดโดยเฉพาะกระบวนความคิดที่คิดถึงความสำคัญ
คิดถึงความยิ่งใหญ่ของตน อันนำไปสู่ความคิดที่จะควบคุม สั่งการให้ผู้อื่นกระทำตามความคิดความเห็นของตนเองด้วย
รวมทั้งการมองผู้อื่นในทางร้าย ไม่ไว้วางใจผู้อื่น คิดว่าผู้อื่นมีความประสงค์ร้าย หาประโยชน์ใส่ตนโดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น
ความคิดเช่นนี้นำไปสู่วิถีทางของการปฏิบัติที่เรียกว่า "อำนาจนิยม?
แล้วผลแห่งอำนาจนิยมในเรื่องนี้ ที่เป็นที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ จนเป็นที่รู้กันและเรียกกันแบบประชดว่า "ค่าธรรมเนียมวิชาชีพของการอนุญาตก่อสร้างอาคาร?
เรื่องนี้ค่อนข้างแปลกแต่ก็ธรรมดาก็คือ การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ดังนั้นผู้คนจึงมักจะไม่พูดถึงกันมากนักและดูจะยอมรับกันเสียด้วย โดยไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ชอบธรรม ได้แต่บ่นกันในวงแคบๆ
แต่ข้อเท็จจริงในจำนวนเงินแต่ละปีที่ต้องเสียให้กับค่าธรรมเนียมวิชาชีพในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร น่าจะเกินกว่าค่าจ้างออกแบบและควบคุมงานที่ทางราชการจ้างเอกชนทำ
เรื่องของความล่าช้า ยุ่งยาก ในการขออนุญาตก่อสร้างที่เรียกกันว่า ONE STOP SERVICE ซึ่งจริงๆ กลายเป็น NONE STOP SERVICE ส่งผลให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดย มิชอบอย่างไรนั้น พิจารณาจากลำดับขั้นตอนของงานขออนุญาตก่อสร้างทั่วๆ ไป ประกอบความเข้าใจก่อน
ความยุ่งยากในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากหน่วยงานของรัฐไม่ว่าหน่วยไหนก็ตาม นับอดีตจนแม้ในปัจจุบัน ไม่ว่าอาคารที่ขออนุญาตก่อสร้างนั้นจะเป็นอาคารประเภทใด ชนิด ขนาดใด ก็ยังยุ่งยากเช่นเดิม และเพิ่มพูนทวียิ่งขึ้นราวกับว่า ผู้ประกอบการ เจ้าของโครงการ เจ้าของอาคาร ผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารนั้นเป็นผู้ร้าย เป็นผู้หาประโยชน์ส่วนตนจนไม่คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น
ข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการพิจารณาออกใบอนุญาตการก่อสร้าง
1.การพิจารณาคำขออนุญาตหรือเอกสารการขออนุญาตที่มีลักษณะสำคัญของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
2.ต้องผ่านหน่วยงานหลายหน่วยงาน พิจารณาเรื่องงาน ซ้ำซ้อน
2.1 การเคร่งครัด หยุมหยิม จนเกินควรในบางเรื่อง บางส่วน ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เกิดประโยชน์ หรือไม่เป็นโทษให้เกิดความเสียหายใดๆ ทั้งต่ออาคารที่จะก่อสร้างหรือขัดต่อกฎเกณฑ์ทางกฎหมายใดๆ
2.2 การใช้วิจารณญาณหรือความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือใช้ความเห็นส่วนตนในการตีความข้อบังคับหรือข้อกำหนดในกฎระเบียบ ที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการควบคุมการบังคับใช้ หรืออ้างข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่มีกฎระเบียบใดๆ รองรับความถูกต้องชอบธรรม เพื่อสร้างเงื่อนไขในข้อขัดข้องในการออกใบอนุญาต ทำให้งานขออนุญาตล่าช้า เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการเรียกร้องผลประโยชน์โดยมิชอบ
จากประสบการณ์ที่เคยขออนุญาตก่อสร้างโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง แถวถนนตากสิน ได้รับคำสั่งความเห็นจากเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขเอกสารการขออนุญาตในเรื่องที่ไม่เป็นสาระ แบบแปลนก่อสร้างที่เจ้าหน้าที่ตีความข้อกำหนดกฎหมายเอาตามอำเภอใจ ราวกับว่ามูลนิธิที่ดูแลเรื่องโรงเรียนแห่งนี้เป็นผู้ร้ายใจทมิฬ
ตอนนั้นต้องท้วงติงว่า "ที่ขออนุญาตนั้นขออนุญาตทำดี ทำประโยชน์นะครับ ไม่ใช่ขออนุญาตทำชั่ว ขออนุญาตไปสร้างโรงเรียนให้เด็ก ให้เยาวชนของชาติ มีสถานที่ศึกษาที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อสุขภาพกายสุขภาพใจของอนาคตของชาติ?
กว่าจะได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างใช้เวลาในการขออนุญาตเกินกว่า 1 ปี มากกว่าเวลาก่อสร้างอาคารเสียอีก
นี่คือตัวอย่างที่เป็นจริง ในการขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐหน่วยงานเดียว เพราะหลังจากงานก่อสร้างโรงเรียนนี้แล้วเสร็จ ก็ต้องขออนุญาตใช้อาคารจากหน่วยงานนี้อีก แล้วก็ต้องไปขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการ ขอย้ายโรงเรียนก็ต้องมีการตรวจสอบอาคารจากกรุงเทพมหานครและกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง นี่ขนาดขออนุญาตทำดียังวุ่ยวายขนาดนี้
นี่แค่ตัวอย่างอาคารเล็กๆ ธรรมดา แต่พอเป็นอาคารขนาดใหญ่ เช่น อาคารชุด สำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงงาน โดยเฉพาะอาคารที่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความยุ่งยากในการขออนุญาตตั้งแต่ก่อสร้างอาคารไปจนถึงขั้นเปิดใช้อาคารจะยุ่งยากขนาดไหน
โปรดติดตามตอนต่อไป.
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFkyOHlOekkzTVRBMU5RPT0=§ionid=TURNd05RPT0=&day=TWpBeE1pMHhNQzB5Tnc9PQ==.