ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๗. สัมมาสติ)  (อ่าน 5646 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


                 

องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๗. สัมมาสติ)

คำจำกัดความ (สัมมาสติ)
สติในฐานะอัปปมาทธรรม
มีสติรักษาตัว เท่ากับช่วยรักษาสังคม
บทบาทของสติในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกำจัดอาสวกิเลส
สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ
สุขภาพกาย-สุขภาพใจ


คำจำกัดความ (สัมมาสติ)
สัมมาสติ เป็นองค์มรรคข้อที่ ๒ ในหมวดสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา มีคำจำกัดความแบบพระสูตร ดังนี้

 ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสติเป็นไฉน ? นี้เรียกว่าสัมมาสติ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
 ๑) พิจารณาเห็นกายในกาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
 ๒) พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
 ๓) พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
 ๔) พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

 คำจำกัดความอีกแบบหนึ่ง ที่ปรากฏในคัมภีร์อภิธรรม ว่าดังนี้
 สัมมาสติ เป็นไฉน? สติ คือ การคอยระลึกถึงอยู่เนืองๆ การหวนระลึก (ก็ดี) สติ คือ ภาวะที่ระลึกได้ ภาวะที่ทรงจำไว้ ภาวะที่ไม่เลือนหาย ภาวะที่ไม่ลืม (ก็ดี) สติ คือ สติที่เป็นอินทรีย์ สติที่เป็นพละ สัมมาสติ สติสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้เรียกว่า สัมมาสติ

 สัมมาสติ ตามคำจำกัดความแบบพระสูตรนั้น ก็คือหลักธรรมที่  เรียกว่า สติปัฏฐาน นั่นเอง หัวข้อทั้ง ๔ ของหลักธรรมหมวดนี้ มีชื่อเรียกสั้นๆ คือ
 ๑) กายานุปัสสนา  (การพิจารณากาย, การตามดูรู้ทันกาย)
 ๒) เวทนานุปัสสนา (การพิจารณาเวทนา, การตามดูรู้ทันเวทนา)
 ๓) จิตตานุปัสสนา (การพิจารณาจิต, การตามดูรู้ทันจิต)
 ๔) ธัมมานุปัสสนา (การพิจารณาธรรมต่างๆ, การตามดูรู้ทันธรรม)
ก่อนจะพิจารณาความหมายของสัมมาสติ ตามหลักสติปัฏฐาน ๔ นี้ เห็นว่าควรทำความเข้าใจทั่วๆ ไปเกี่ยวกับเรื่องสติไว้เป็นพื้นฐานก่อน


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2012, 06:36:31 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: สติในฐานะอัปปมาทธรรม (๗. สัมมาสติ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2012, 04:47:28 pm »


                     

สติในฐานะอัปปมาทธรรม
 “สติ” แปลกันง่ายๆ ว่า ความระลึกได้ เมื่อแปลอย่างนี้ ทำให้นึกเพ่งความหมายไปในแง่ของความจำ ซึ่งก็เป็นการถูกต้องในด้านหนึ่ง แต่อาจไม่เต็มตามความหมายหลัก ที่เป็นจุดมุ่งสำคัญก็ได้ เพราะถ้าพูดในแง่ปฏิเสธ สตินอกจากหมายถึงความไม่ลืม ซึ่งตรงกับความหมายข้างต้น ที่ว่าความระลึกได้แล้ว ยังหมายถึง ความไม่เผลอ ไม่เลินเล่อ ไม่ฟั่นเฟือนเลื่อนลอยด้วย

 ความหมายในแง่ปฏิเสธเหล่านี้ เล็งไปถึงความหมายในทางสำทับว่า ความระมัดระวัง ความตื่นตัวต่อหน้าที่ ภาวะที่พร้อมอยู่เสมอในอาการคอยรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และตระหนักว่าควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆ อย่างไร
 โดยเฉพาะในแง่จริยธรรม การทำหน้าที่ของสติมักถูกเปรียบเทียบเหมือนกับนายประตู ที่คอยระวังเฝ้าดูคนเข้าออกอยู่เสมอ และคอยกำกับการ โดยปล่อยคนที่ควรเข้าออกให้เข้าออกได้ และคอยกันห้ามคนที่ไม่ควรเข้า ไม่ให้เข้าไป  คนที่ไม่ควรออก ไม่ให้ออกไป

 สติจึงเป็นธรรมสำคัญในทางจริยธรรมเป็นอย่างมาก เพราะเป็นตัวควบคุมเร้าเตือนการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นตัวคอยป้องกันยับยั้งตนเอง ทั้งที่จะไม่ให้หลงเพลินไปตามความชั่ว และที่จะไม่ให้ความชั่วเล็ดลอดเข้ามาในจิตใจได้ พูดง่ายๆ ว่า ที่จะเตือนตนเองในการทำความดี และไม่เปิดโอกาสแก่ความชั่ว
พุทธธรรมเน้นความสำคัญของสติเป็นอย่างมาก ในการปฏิบัติจริย-ธรรมทุกขั้น การดำเนินชีวิต หรือการประพฤติปฏิบัติโดยมีสติกำกับอยู่เสมอนั้น มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า “อัปปมาท” คือ ความไม่ประมาท

 อัปปมาท นี้ เป็นหลักธรรมสำคัญยิ่ง สำหรับความก้าวหน้าในระบบ จริยธรรม มักให้ความหมายว่า การเป็นอยู่โดยไม่ขาดสติ ซึ่งขยายความได้ว่าการระมัดระวังอยู่เสมอ ไม่ยอมถลำลงไปในทางเสื่อม และไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความเจริญก้าวหน้า ตระหนักดีถึงสิ่งที่จะต้องทำ และต้องไม่ทำ ใส่ใจสำนึกอยู่เสมอในหน้าที่ ไม่ปล่อยปละละเลย กระทำการด้วยความจริงจัง และพยายามก้าวรุดหน้าอยู่ตลอดเวลา

 กล่าวได้ว่า อัปปมาทธรรมนี้ เป็นหลักความสำนึกรับผิดชอบ
ในแง่ความสำคัญ อัปปมาท จัดเป็นองค์ประกอบภายใน เช่นเดียวกับโยนิโสมนสิการ คู่กับหลักกัลยาณมิตร ที่เป็นองค์ประกอบภายนอก พุทธพจน์แสดงความสำคัญของอัปปมาทนี้ บางทีซ้ำกับโยนิโสมนสิการ เหตุผลก็คือธรรมทั้งสองอย่างนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ต่างแง่กัน
 โยนิโสมนสิการ เป็นองค์ประกอบฝ่ายปัญญา เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ทำการ (เพื่อสร้างปัญญา) ส่วนอัปปมาทเป็นองค์ประกอบฝ่ายสมาธิ เป็นตัวควบคุมและเร่งเร้าให้มีการใช้อุปกรณ์นั้น และก้าวหน้าต่อไปไม่หยุด

 ความสำคัญและขอบเขตการใช้อัปปมาทธรรม ในการปฏิบัติจริย-ธรรมขั้นต่างๆ จะเห็นได้จากพุทธพจน์ตัวอย่างต่อไปนี้
 ภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลายชนิดใดๆ ก็ตาม ย่อมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้าง เรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น โดยความใหญ่ ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย อย่างใดๆ ก็ตาม ย่อมมีความไม่ประมาทเป็นมูล ประชุมลงในความไม่ประมาทได้ทั้งหมด ความไม่ประมาท เรียกได้ว่าเป็นยอดของธรรมเหล่านั้น ฉันนั้น

 เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น หรือให้อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมไป เหมือนความไม่ประมาทเลย เมื่อไม่ประมาทแล้ว กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป


     เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่  ...ที่เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่อันตรธานแห่งสัทธรรม เหมือนความไม่ประมาทเลย
     โดยกำหนดว่าเป็นองค์ประกอบภายใน เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบอื่นแม้สักข้อหนึ่ง ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เหมือนความไม่ประมาทเลย

     เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุ ฉันนั้น ...ธรรมเอก ที่มีอุปการะมาก เพื่อการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค ก็คือความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท ...เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่าง ที่เป็นเหตุให้อริยอัษฎางคิกมรรค ซึ่งยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น หรืออริยอัษฎางคิกมรรคที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ เหมือนอย่างความถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทนี้เลย ภิกษุผู้ไม่ประมาทพึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ เธอจักเจริญ จักกระทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค

 แม้ปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นพระดำรัสในเรื่องอัปปมาทธรรม ดังนี้
สิ่งทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้น ย่อมมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ที่มุ่งหมายให้สำเร็จ ด้วยความไม่ประมาท

 พุทธพจน์เกี่ยวกับอัปปมาทธรรม มีตัวอย่างอีกมากมาย พึงดูต่อไป
 ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย ควรสร้างอัปปมาทโดยฐานะ ๔ คือ
 ๑. จงละกายทุจริต จงเจริญกายสุจริต และจงอย่าประมาท
     ในการ (ทั้งสอง) นั้น
 ๒. จงละวจีทุจริต จงเจริญวจีสุจริต และจงอย่าประมาท
     ในการ (ทั้งสอง) นั้น
 ๓. จงละมโนทุจริต จงเจริญมโนสุจริต และจงอย่าประมาท
     ในการ (ทั้งสอง) นั้น
 ๔. จงละมิจฉาทิฏฐิ จงเจริญสัมมาทิฏฐิ และจงอย่าประมาท
     ในการ (ทั้งสอง) นั้น
ในเมื่อภิกษุละกายทุจริต เจริญกายสุจริต ฯลฯ ละมิจฉาทิฏฐิ เจริญสัมมาทิฏฐิแล้ว เธอย่อมไม่หวาดกลัวต่อความตายที่จะมีข้างหน้า

 ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรสร้างอัปปมาท คือ การรักษาใจด้วยสติ โดยตนเอง ในฐานะ คือ
๑. ...จิตของเรา อย่าติดใจในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ
 ๒. ...จิตของเรา  อย่าขัดเคืองในธรรมที่ชวนให้เกิดความขัดเคือง
 ๓. ...จิตของเรา อย่าหลงในธรรมที่ชวนให้เกิดความหลง
 ๔. ...จิตของเรา  อย่ามัวเมาในธรรมที่ชวนให้เกิดความมัวเมา
เมื่อจิตของภิกษุ ไม่ติดใจในธรรมที่ชวนให้เกิดความติดใจ เพราะปราศจากราคะแล้ว ไม่ขัดเคือง...ไม่หลง...ไม่มัวเมาแล้ว เธอย่อมไม่หวาดเสียว ไม่หวั่นไหว ไม่ครั่นคร้าม ไม่สะดุ้ง และไม่(ต้อง)เชื่อถือ แม้แต่เพราะถ้อยคำของสมณะ


 ถาม : มีบ้างไหม ธรรมข้อเดียว ที่จะยึดเอาประโยชน์ไว้ได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์เฉพาะหน้า) และ สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์เบื้องหน้า หรือประโยชน์ชั้นสูงขึ้นไป)?
 ตอบ : มี
 ถาม : ธรรมนั้น คืออะไร ?
 ตอบ : ธรรมนั้น คือ ความไม่ประมาท
 ดูกรมหาบพิตร ธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้วนั้น สำหรับผู้มีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย มีกัลยาณชนเป็นที่คบหา หาใช่สำหรับผู้มีบาปมิตร ผู้มีบาปสหาย ผู้มีบาปชนเป็นที่คบหาไม่...ความมีกัลยาณมิตรนั้น เท่ากับเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว

 เพราะเหตุนั้นแล มหาบพิตร พระองค์พึงทรงสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้มีกัลยาณมิตร มีกัลยาณสหาย มีกัลยาณชนเป็นที่คบหา พระองค์ผู้ทรงมีกัลยาณมิตรนั้น จะต้องทรงดำเนินพระจริยาอาศัยธรรมข้อนี้อยู่ประการหนึ่ง คือ ความไม่ประมาทในกุศลธรรมทั้งหลาย

 เมื่อพระองค์ไม่ประมาท ดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่ประมาทอยู่ พวกฝ่ายใน...เหล่าขัตติยบริวาร...ปวงเสนาข้าทหาร...ตลอดจนชาวนิคมชนบท ก็จะพากันคิดว่า “พระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ไม่ประมาท ทรงดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่ประมาท ถึงพวกเราก็จะเป็นผู้ไม่ประมาท จะเป็นอยู่โดยอาศัยความไม่ประมาทด้วย

 ดูกรมหาบพิตร เมื่อพระองค์ทรงเป็นผู้ไม่ประมาท ทรงดำเนินพระจริยาอาศัยความไม่ประมาทอยู่ แม้ตัวพระองค์เอง ก็เป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา แม้พวกฝ่ายในก็เป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา (ตลอดจน) แม้เรือนคลัง ยุ้งฉาง ก็เป็นอันได้รับการคุ้มครองรักษา


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2012, 04:52:41 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๗. สัมมาสติ)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2012, 06:29:18 pm »


มีสติรักษาตัว เท่ากับช่วยรักษาสังคม 
 พุทธพจน์แสดงคุณค่าของสติ ในเสทกสูตรต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงให้เห็นความหมายและคุณค่าในทางปฏิบัติที่ใกล้ชิดกันของ อัปปมาท กับ สติ ช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมทั้งสองข้อนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

ในเวลาเดียวกัน พุทธพจน์นั้นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า พุทธธรรมมองชีวิตด้านในของบุคคล โดยสัมพันธ์กับคุณค่าด้านนอกคือทางสังคม และถือว่าคุณค่าทั้งสองด้านนี้เชื่อมโยงถึงกัน ไม่แยกจากกัน และสอดคล้องไปด้วยกัน
 ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นักกายกรรม ยกลำไม้ไผ่ขึ้นตั้งแล้ว เรียกศิษย์มาบอกว่า “มานี่แน่ะเธอ เจ้าไต่ไม้ไผ่ขึ้นไปแล้ว จง (เลี้ยงตัว) อยู่เหนือต้นคอของเรา” ศิษย์รับคำแล้วก็ไต่ลำไม้ไผ่ขึ้นไป ยืน(เลี้ยงตัว)อยู่บนต้นคอของอาจารย์

 คราวนั้น นักกายกรรมได้พูดกับศิษย์ว่า “นี่แน่ะเธอ เธอจงรักษาฉันนะ ฉันก็จะรักษาเธอ เราทั้งสองระวังรักษากันและกันไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย”

 ครั้นอาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว ศิษย์จึงกล่าวกับอาจารย์บ้างว่า    “ท่านอาจารย์ขอรับ จะทำอย่างนั้นไม่ได้ ท่านอาจารย์ (นั่นแหละ) จงรักษาตัวเองไว้ ผมก็จักรักษาตัวผมเอง เราทั้งสองต่างระวังรักษาตัวของตัวไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย”

 พระผู้มีพระภาคตรัสว่า: นั่นเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนั้น ดุจเดียวกับที่ศิษย์พูดกับอาจารย์ (นั่นเอง) เมื่อคิดว่า “เราจะรักษาตัวเอง” ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน (มีสติไว้) เมื่อคิดว่า “เราจะรักษาผู้อื่น” ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน (เหมือนกัน)

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย) เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตนด้วย
 เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น นั้นอย่างไร? ด้วยการหมั่นปฏิบัติ ด้วยการเจริญอบรม ด้วยการทำให้มาก อย่างนี้แล เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย)

 เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน นั้นอย่างไร? ด้วยขันติ ด้วย อวิหิงสา ด้วยความมีเมตตาจิต ด้วยความเอ็นดูกรุณา อย่างนี้แล เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)

 ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดว่า “เราจะรักษาตน” ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อคิดว่า “เราจะรักษาผู้อื่น” ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาคนอื่น (ด้วย) เมื่อรักษาคนอื่น ก็ชื่อว่ารักษาตนเอง (ด้วย )



บทบาทของสติในกระบวนการพัฒนาปัญญา และกำจัดอาสวกิเลส 
 อัปปมาท คือความไม่ประมาทนั้น หมายถึงการมีชีวิตอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือ การใช้สติอยู่เสมอในการครองชีวิต
 อัปปมาท เป็นตัวการทำให้ระมัดระวังตัว ป้องกันไม่ให้พลาดตกไปในทางชั่วหรือเสื่อม คอยยับยั้ง เตือนไม่ให้เพลิดเพลินมัวเมาลุ่มหลงสยบอยู่ คอยกระตุ้น ไม่ให้หยุดอยู่กับที่ และคอยเร่งเร้าให้ขะมักเขม้นที่จะก้าวเดินรุดหน้าอยู่เรื่อยไป ทำให้สำนึกในหน้าที่อยู่เสมอ โดยตระหนักถึงสิ่งควรทำ-ไม่ควรทำ ทำแล้วและยังมิได้ทำ และช่วยให้ทำการต่างๆ ด้วยความละเอียดรอบคอบ จึงเป็นองค์ธรรมสำคัญยิ่งในระบบจริยธรรมดังได้กล่าวแล้ว

 อย่างไรก็ดี ความสำคัญของอัปปมาทนั้น เห็นได้ว่าเป็นเรื่องจริย-ธรรมในวงกว้าง เกี่ยวกับความเป็นอยู่ประพฤติปฏิบัติทั่วๆ ไปของชีวิต กำหนดคร่าวๆ ตั้งแต่ระดับศีลถึงสมาธิ
 ในระดับนี้ สติทำหน้าที่กำกับตามดูแลพ่วงไปกับองค์ธรรมอื่นๆ ทั่วไปหมด โดยเฉพาะจะมีวายามะหรือความเพียรควบอยู่ด้วยเสมอ การทำงานของสติจึงปรากฏออกมาในภาพรวมของอัปปมาท คือความไม่ประมาท ที่เหมือนกับคอยวิ่งเต้นเร่งเร้าอยู่ในวงนอก

 ครั้นจำกัดขอบเขตการทำงานแคบเข้ามา และลึกละเอียดลงไปในขั้นการดำเนินของจิตในกระบวนการพัฒนาปัญญา หรือการใช้ปัญญาชำระล้างภายในดวงจิต ซึ่งเป็นเรื่องจำเพาะเข้ามาข้างในกระบวนการทำงานในจิตใจ และแยกแยะรายละเอียดซอยถี่ออกวิเคราะห์เป็นขณะๆ ในระดับนี้เอง ที่สติทำหน้าที่ของมันอย่างเต็มที่ และเด่นชัด กลายเป็นตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญ ที่เรียกโดยชื่อของมันเอง

 ความหมายที่แท้จำเพาะตัวของ “สติ” อาจเข้าใจได้จากการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของสติ ในกรณีที่มีบทบาทของมันเองแยกจากองค์ธรรมอื่นๆ อย่างเด่นชัด เช่น ในข้อปฏิบัติที่เรียกว่าสติปัฏฐาน

 ในกรณีเช่นนี้ พอจะสรุปการปฏิบัติหน้าที่ของ “สติ” ได้ดังนี้
 ลักษณะการทำงานโดยทั่วไปของ สติ นั้น คือ การไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ไม่ปล่อยอารมณ์ให้ผ่านเรื่อยเปื่อยไป หรือ ไม่ปล่อยให้ความนึกคิดฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ แต่คอยเฝ้าระวัง เหมือนจับตาดูอารมณ์ที่ผ่านมาแต่ละอย่าง มุ่งหน้าเข้าหาอารมณ์นั้นๆ เมื่อต้องการกำหนดอารมณ์ใด ก็เข้าจับดูติดๆ ไป ไม่ยอมให้คลาดหาย คือนึกถึงหรือระลึกไว้เสมอ ไม่ยอมให้หลงลืม

มีคำเปรียบเทียบว่า สติ เป็นเหมือนเสาหลัก เพราะปักแน่นในอารมณ์ หรือเหมือนนายประตู เพราะเฝ้าอายตนะต่างๆ ที่เป็นทางรับอารมณ์ ตรวจดูอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา
 ปทัฏฐาน หรือเหตุใกล้ชิดที่จะให้เกิดสติ ก็คือ สัญญา (การกำหนดหมาย) ที่ถนัดมั่น หรือสติปัฏฐานต่างๆ ที่จะกล่าวต่อไป
 พิจารณาในแง่จริยธรรม จะมองเห็นการปฏิบัติหน้าที่ของสติได้ ทั้งในแง่นิเสธ (negative) และในแง่นำหนุน (positive)

 ในแง่นิเสธ สติเป็นตัวป้องกัน ยับยั้งจิตไม่ให้ฟุ้งซ่าน ไม่ให้ก้าวพลาด ไม่ให้ถลำลงในธรรมที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ยอมให้ความชั่วได้โอกาสเกิดขึ้นในจิต และไม่ยอมให้ใช้ความคิดผิดทาง
 ในด้านนำหนุน สติเป็นตัวควบคุมตรวจตรากระแสการรับรู้ ความนึกคิด และพฤติกรรมทุกอย่าง ให้อยู่ในแนวทางที่ต้องการ คอยกำกับจิตไว้กับอารมณ์ที่ต้องการ และจึงเป็นเครื่องมือสำหรับยึดหรือเกาะกุมอารมณ์ใดๆ ก็ตาม ดุจเอาวางไว้ข้างหน้าจิต เพื่อพิจารณาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป

 ในทางปฏิบัติของพุทธธรรม เน้นความสำคัญของสติมาก อย่างที่กล่าวว่า สติจำปรารถนา (คือต้องนำมาใช้) ในกรณีทั้งปวง หรือ สติมีประโยชน์ในทุกกรณี และเปรียบสติเหมือนเกลือที่ต้องใช้ในกับข้าวทุกอย่าง และเหมือนนายกรัฐมนตรีเกี่ยวข้องในราชการทุกอย่าง เป็นทั้งตัวการเหนี่ยวรั้งปรามจิต และหนุนประคองจิต ตามควรแก่กรณี


 เมื่อนำลักษณะการทำหน้าที่ของสติที่กล่าวแล้วนั้นมาพิจารณาประกอบ จะมองเห็นประโยชน์ที่มุ่งหมายของการปฏิบัติฝึกฝนในเรื่องสติ ดังนี้ :-
 ๑. ควบคุมรักษาสภาพจิตให้อยู่ในภาวะที่ต้องการ โดยตรวจตรา
  กระบวนการรับรู้และกระแสความคิด เลือกรับสิ่งที่ต้องการ กัน
  ออกไปซึ่งสิ่งที่ไม่ต้องการ
ตรึงกระแสความคิดให้นิ่งเข้าที่ และทำ
  ให้จิตเป็นสมาธิได้ง่าย

 ๒. ทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง
  เพราะมีความโปร่งเบา ผ่อนคลาย เป็นสุขโดยสภาพของมันเอง
  พร้อมที่จะเผชิญความเป็นไปต่างๆ และจัดการกับสิ่งทั้งหลายใน
  โลกอย่างได้ผลดี

 ๓. ในภาวะจิตที่เป็นสมาธิ อาจใช้สติเหนี่ยวนำกระบวนการรับรู้ และ
  กระแสความคิด ทำขอบเขตการรับรู้และความคิดให้ขยายออก
  ไปโดยมิติต่างๆ หรือให้เป็นไปต่างๆ ได้

๔. โดยการยึดหรือจับเอาอารมณ์ที่เป็นวัตถุแห่งการพิจารณาวางไว้
  ต่อหน้า จึงทำให้การพิจารณาสืบค้นด้วยปัญญาดำเนินไปได้ชัด
  เจนเต็มที่ เท่ากับเป็นฐานในการสร้างเสริมปัญญาให้เจริญบริบูรณ์

 ๕. ชำระพฤติกรรมต่างๆ ทุกอย่าง (ทั้ง กายกรรม วจีกรรม
  มโนกรรม) ให้บริสุทธิ์ อิสระ ไม่เกลือกกลั้วหรือเป็นไปด้วย
  อำนาจตัณหาอุปาทาน และร่วมกับสัมปชัญญะ ทำให้พฤติกรรม
  เหล่านั้นเป็นไปด้วยปัญญา หรือเหตุผลบริสุทธิ์ ล้วนๆ


 ประโยชน์ข้อที่ ๔ และ ๕ นั้น นับว่าเป็นจุดหมายขั้นสูง จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีปฏิบัติที่กำหนดไว้เป็นพิเศษ ซึ่งตามคำจำกัดความในข้อสัมมาสตินี้ ก็ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๗. สัมมาสติ)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2012, 07:13:31 pm »


                     

สติปัฏฐานในฐานะสัมมาสติ
 สติปัฏฐาน แปลกันว่า ที่ตั้งของสติบ้าง การปรากฏของสติบ้าง ฯลฯ ถือเอาแต่ใจความง่ายๆ ก็คือ การใช้สติ หรือ วิธีปฏิบัติเพื่อใช้สติให้บังเกิดผลดีถึงที่สุด อย่างที่กล่าวถึงในพุทธพจน์ในมหาสติปัฏฐานสูตรว่า

ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นมรรคาเอก เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นโสกะและปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุโลกุตตรมรรค เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน นี้คือสติปัฏฐาน ๔

 การเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นวิธีปฏิบัติธรรมที่นิยมกันมา และยกย่องนับถือกันอย่างสูง ถือว่ามีพร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาในตัว
 ผู้ปฏิบัติอาจเจริญสมถะจนได้ฌาน อย่างที่จะกล่าวถึงในเรื่องสัมมาสมาธิ อันเป็นองค์มรรคข้อที่ ๘ ก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐานไปจนถึงที่สุดก็ได้ หรือจะอาศัยสมาธิเพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จำเป็นมาประกอบ เจริญแต่วิปัสสนาฝ่ายเดียวตามแนวสติปัฏฐานนี้ ไปจนถึงที่สุดก็ได้

 วิปัสสนา เป็นหลักปฏิบัติสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ได้ยินได้ฟังกันมาก พร้อมกับที่มีความเข้าใจไขว้เขวอยู่มากเช่นเดียวกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจตามสมควร จากการศึกษาคร่าวๆ ในเรื่องสติปัฏฐานต่อไปนี้ จะช่วยให้เกิดความเข้าใจในความหมายของวิปัสสนาดีขึ้น ทั้งในแง่สาระสำคัญ ขอบเขตความกว้างขวาง และความยืดหยุ่นในการปฏิบัติ ตลอดจนโอกาสที่จะฝึกฝนปฏิบัติ โดยสัมพันธ์กับการดำเนินชีวิตของคนทั่วไป ว่าเป็นไปได้และมีประโยชน์เพียงใด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ ไม่ได้มุ่งอธิบายเรื่องวิปัสสนาโดยตรง คงมุ่งเพียงให้เข้าใจวิปัสสนาเท่าที่มองเห็นได้จากสาระสำคัญของสติปัฏฐานเท่านั้น

) สติปัฏฐาน ๔ โดยสังเขป 
 สติปัฏฐาน มีใจความโดยสังเขป คือ:-
 ๑. กายานุปัสสนา การพิจารณากาย หรือตามดูรู้ทันกาย
 ๑.๑ อานาปานสติ คือ ไปในที่สงัด นั่งขัดสมาธิ ตั้งสติกำหนด  ลมหายใจเข้าออก โดยอาการต่างๆ
 ๑.๒ กำหนดอิริยาบถ คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกาย  อยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้นๆ
 ๑.๓ สัมปชัญญะ คือ มีสัมปชัญญะในการกระทำและความ  เคลื่อนไหวทุกอย่าง เช่น การก้าวเดิน การเหลียวมองการเหยียดมือ นุ่งห่มผ้า กิน ดื่ม เคี้ยว ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การตื่น การหลับ การพูด การนั่ง เป็นต้น
 ๑.๔  ปฏิกูลมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตนตั้งแต่ศีรษะจดปลายเท้า ซึ่งมีส่วนประกอบที่ไม่สะอาดต่างๆ มากมายมารวมๆ อยู่ด้วยกัน
 ๑.๕  ธาตุมนสิการ คือ พิจารณาร่างกายของตน โดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆ
 ๑.๖  นวสีวถิกา คือ มองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กัน โดยระยะเวลา ๙ ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงกระดูกผุแล้วในแต่ละกรณีนั้น ให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตน ว่า  ก็จะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

๒. เวทนานุปัสสนา การตามดูรู้ทันเวทนา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ทั้งที่เป็นชนิดสามิส และนิรามิส ก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

๓. จิตตานุปัสสนา การตามดูรู้ทันจิต คือ จิตของตนในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ หลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่มันเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

๔. ธัมมานุปัสสนา การตามดูรู้ทันธรรม คือ
 ๔.๑ นิวรณ์  คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า นิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ
 ๔.๒ ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่าง คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร
 ๔.๓  อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสัญโญชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่าสัญโญชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นได้อีกต่อไปอย่างไร
 ๔.๔ โพชฌงค์  คือ รู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไรที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร
 ๔.๕  อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ว่าคืออะไร เป็นอย่างไร

ในตอนท้ายของทุกข้อที่กล่าวนี้ มีข้อความอย่างเดียวกันว่า
 ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายภายใน (=ของตนเอง) อยู่บ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอก (=ของคนอื่น) อยู่บ้าง พิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในภายนอกอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมสิ้นไปในกายอยู่บ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นและความเสื่อมสิ้นไปในกายอยู่บ้าง ก็แล มีสติปรากฏชัดว่า “กายมีอยู่” เพียงพอเป็นความรู้ และพอสำหรับระลึกเท่านั้น แลเธอเป็นอยู่อย่างไม่อิงอาศัย และไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก

ข) สาระสำคัญของสติปัฏฐาน 
 จากใจความย่อของสติปัฏฐานที่แสดงไว้แล้วนั้น จะเห็นว่า สติปัฏฐาน (รวมทั้งวิปัสสนาด้วย) ไม่ใช่หลักการที่จำกัดว่าจะต้องปลีกตัวหลบลี้ไปนั่งปฏิบัติอยู่นอกสังคม หรือจำเพาะในกาลเวลาตอนใดตอนหนึ่ง โดยเหตุนี้ท่านผู้รู้จึงสนับสนุนให้นำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันทั่วไป

 จากข้อความในคำแสดงสติปัฏฐานแต่ละข้อข้างต้น จะเห็นได้ว่า ในเวลาปฏิบัตินั้น ไม่ใช่ใช้สติเพียงอย่างเดียว แต่มีธรรมข้ออื่นๆ ควบอยู่ด้วย ธรรมที่ไม่บ่งถึงไว้ ก็คือสมาธิ ซึ่งจะมีอยู่ด้วยอย่างน้อยในขั้นอ่อนๆ พอใช้สำหรับการนี้  ส่วนธรรมที่ระบุไว้ด้วย ได้แก่
  ๑. อาตาปี = มีความเพียร (ได้แก่องค์มรรคข้อ ๖ คือสัมมาวายามะ ซึ่งหมายถึงเพียรระวังป้องกันและละความชั่ว กับเพียรสร้างและรักษาความดี)
  ๒. สัมปชาโน = มีสัมปชัญญะ (คือตัวปัญญา ได้แก่สัมมาทิฏฐิ)
  ๓. สติมา = มีสติ (หมายถึงสติที่กำลังพูดถึงนี้ คือสัมมาสติ)


 ข้อน่าสังเกตคือ สัมปชาโน ซึ่งแปลว่ามีสัมปชัญญะ สัมปชัญญะนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นธรรมที่มักปรากฏควบคู่กับสติ สัมปชัญญะก็คือปัญญา ดังนั้น การฝึกฝนในเรื่องสตินี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญานั่นเอง

 สัมปชัญญะ หรือ ปัญญา ก็คือ ความรู้ความเข้าใจตระหนักชัดต่อสิ่งที่สติกำหนดไว้นั้น หรือต่อการกระทำในกรณีนั้นว่า มีความมุ่งหมายอย่างไร สิ่งที่ทำนั้นเป็นอย่างไร ปฏิบัติต่อมันอย่างไร และไม่เกิดความหลงหรือความเข้าใจผิดใดๆ ขึ้นมาในกรณีนั้นๆ

 ข้อความต่อไปที่ว่า “กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้” แสดงถึงท่าทีที่เป็นผลจากการมีสติสัมปชัญญะว่า เป็นกลาง เป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสผูกพัน ทั้งในแง่ติดใจอยากได้ และขัดเคืองเสียใจในกรณีนั้นๆ

 ข้อความต่อท้ายเหมือนๆ กันของทุกข้อที่ว่า “มองเห็นความเกิดความเสื่อมสิ้นไป” นั้น แสดงถึงการพิจารณาเข้าใจตามหลักไตรลักษณ์ จากนั้น จึงมีทัศนคติที่เป็นผลเกิดขึ้น คือการมองและรู้สึกต่อสิ่งเหล่านั้น ตามภาวะของมันเอง เช่นที่ว่า “กายมีอยู่” เป็นต้น ก็หมายถึงรับรู้ความจริงของสิ่งนั้นตามที่เป็นอย่างนั้นของมันเอง โดยไม่เอาความรู้สึกสมมติและยึดมั่นต่างๆ เข้าไปสวมใส่ให้มัน ว่าเป็นคน เป็นตัวตน เป็นเขา เป็นเรา หรือกายของเรา เป็นต้น

 ท่าทีอย่างนี้ก็คือท่าทีแห่งความเป็นอิสระ ไม่อิงอาศัย คือไม่ขึ้นต่อสิ่งนั้นสิ่งนี้ ที่เป็นปัจจัยภายนอก และไม่ยึดมั่นสิ่งต่างๆ ในโลกด้วยตัณหาอุปาทาน

 การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานนี้ นักศึกษาฝ่ายตะวันตกบางท่านนำไปเปรียบเทียบกับวิธีการแบบจิตวิเคราะห์ของจิตแพทย์ (psychiatrist) สมัยปัจจุบัน และประเมินคุณค่าว่าสติปัฏฐานได้ผลดีกว่า และใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางกว่า เพราะทุกคนสามารถปฏิบัติได้เอง และใช้ในยามปรกติเพื่อความมีสุขภาพจิตที่ดีได้ด้วย



 อย่างไรก็ตาม ในที่นี้จะไม่วิจารณ์ความเห็นนั้น แต่จะขอสรุปสาระสำคัญของการเจริญสติปัฏฐานใหม่อีกแนวหนึ่ง ดังนี้
ก. กระบวนการปฏิบัติ
 ๑. องค์ประกอบหรือสิ่งที่ร่วมอยู่ในกระบวนการปฏิบัตินี้ มี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ทำ (ตัวทำการ ที่คอยกำหนดหรือคอยสังเกตตามดูรู้ทัน) กับฝ่ายที่ถูกทำ (สิ่งที่ถูกกำหนด หรือถูกสังเกตตามดูรู้ทัน)
 ๒. องค์ประกอบฝ่ายที่ถูกทำ หรือถูกกำหนดตามดูรู้ทัน ก็คือ สิ่งธรรมดาสามัญที่มีอยู่กับตัวของทุกคนนั่นเอง เช่น ร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉพาะที่เป็นปัจจุบัน คือกำลังเกิดขึ้น เป็นไปอยู่ในขณะนั้นๆ

 ๓. องค์ประกอบฝ่ายที่ทำ  คือ คอยกำหนด  คอยตามดูรู้ทัน  เป็นองค์ธรรมหลักของสติปัฏฐาน ได้แก่ สติ กับ สัมปชัญญะ
 สติ เป็นตัวเกาะจับสิ่งที่จะพิจารณาเอาไว้ สัมปชัญญะ คือตัวปัญญา ที่รู้ชัดต่อสิ่งหรืออาการที่ถูกพิจารณานั้นโดยตระหนักว่า คืออะไร เป็นอย่างไร มีความมุ่งหมายอย่างไร เช่น เมื่อกำหนดพิจารณาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ขณะที่เดิน ก็รู้พร้อมอยู่กับตัวว่า กำลังเดิน ไปไหน เป็นต้น และเข้าใจสิ่งนั้นหรือการกระทำนั้นตามความเป็นจริง โดยไม่เอาความรู้สึกชอบใจหรือไม่ชอบใจเป็นต้นของตนเข้าไปปะปนหรือปรุงแต่ง

 ๔. อาการที่กำหนดและตามดูรู้ทันนั้น เป็นอย่างที่ว่า ให้รู้เห็นตามที่มันเป็นในขณะนั้น คือ ดู-เห็น-เข้าใจ ว่าอะไร กำลังเป็นอย่างไร ปรากฏผลอย่างไรเท่านั้น ไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ในใจ ไม่มีการคิดวิจารณ์ ไม่มีการวินิจฉัยว่า ดีชั่ว ถูกผิด เป็นต้น ไม่ใส่ความรู้สึก ความโน้มเอียงในใจ ความยึดมั่นต่างๆ ลงไปว่า ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ เพียงเห็นเข้าใจตามที่มันเป็น ของสิ่งนั้น อาการนั้น แง่นั้นๆ เองโดยเฉพาะ ไม่สร้างความคิดผนวกว่า ของเรา ของเขา ตัวเรา ตัวเขา นาย ก. นาย. ข. เป็นต้น

 ยกตัวอย่างเช่น  ตามดูเวทนาในใจของตนเอง ขณะนั้น มีทุกข์เกิดขึ้น มีความกังวลใจเกิดขึ้น ก็รู้ว่าทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์นั้นเกิดขึ้นอย่างไร กำลังจะหมดสิ้นไปอย่างไร กลายเป็นเหมือนกับสนุกไปกับการศึกษาพิจารณาวิเคราะห์ทุกข์ของตน และทุกข์นั้นจะไม่มีพิษสงอะไรแก่ตัวผู้พิจารณาเลย เพราะเป็นแต่ตัวทุกข์เองล้วนๆ ที่กำลังเกิดขึ้น กำลังดับไป ไม่มีทุกข์ของฉัน ฉันเป็นทุกข์ ฯลฯ

 แม้แต่ความดีความชั่วใดๆ ก็ตามที่มีอยู่ หรือปรากฏขึ้นในจิตใจขณะนั้นๆ ก็เข้าเผชิญหน้ามัน ไม่เลี่ยงหนี เข้ารับรู้ตามดูมันตามที่มันเป็นไป ตั้งแต่มันปรากฏตัวขึ้น จนมันหมดไปเองตามเหตุปัจจัย แล้วก็ตามดูสิ่งอื่นต่อไป

 ทั้งนี้ เป็นท่าทีที่เปรียบได้กับแพทย์ที่กำลังชำแหละตรวจดูศพ หรือนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังสังเกตดูวัตถุที่ตนกำลังศึกษา ไม่ใช่ท่าทีแบบผู้พิพากษาที่กำลังพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นการดูเห็นแบบสภาววิสัย (objective) ไม่ใช่สกวิสัย (subjective)

ข.  ผลของการปฏิบัติ
๑. ในแง่ความบริสุทธิ์ เมื่อสติจับอยู่กับสิ่งที่กำหนดอย่างเดียว และสัมปชัญญะรู้เข้าใจสิ่งนั้นตามที่มันเป็น ย่อมเป็นการควบคุมกระแสการรับรู้และความคิดไว้ให้บริสุทธิ์ ไม่มีช่องที่กิเลสต่างๆ จะเกิดขึ้นได้ และในเมื่อมองเห็นสิ่งเหล่านั้นเพียงแค่ตามที่มันเป็น ไม่ใส่ความรู้สึก ไม่สร้างความคิดคำนึงตามความโน้มเอียงและความใฝ่ใจต่างๆ ที่เป็นสกวิสัย (subjective) ลงไป ก็ย่อมไม่มีความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ ไม่มีช่องที่กิเลสทั้งหลายเช่นความโกรธจะเกิดขึ้นได้ เป็นการกำจัดอาสวะเก่า และป้องกันอาสวะใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น

 ๒. ในแง่ความเป็นอิสระ เมื่อมีสภาพจิตที่บริสุทธิ์อย่างในข้อ ๑. แล้ว ก็ย่อมมีความเป็นอิสระด้วย โดยจะไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เพราะอารมณ์เหล่านั้นถูกใช้เป็นวัตถุสำหรับศึกษาพิจารณาแบบสภาววิสัย (objective) ไปหมด เมื่อไม่ถูกแปลความหมายตามอำนาจอาสวะที่เป็นสกวิสัย (subjective) สิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีอิทธิพลตามสกวิสัยแก่บุคคลนั้น และพฤติกรรมต่างๆ ของเขา จะหลุดพ้นจากการถูกบังคับด้วยกิเลสที่เป็นแรงขับหรือแรงจูงใจไร้สำนึกต่างๆ (unconscious drives หรือ unconscious motivations) เขาจะเป็นอยู่อย่างที่เรียกว่า ไม่อิงอาศัย ไม่ยึดมั่นสิ่งใดในโลก

 ๓. ในแง่ปัญญา เมื่ออยู่ในกระบวนการทำงานของจิตเช่นนี้ ปัญญาย่อมทำหน้าที่ได้ผลดีที่สุด เพราะจะไม่ถูกเคลือบหรือหันเหไปด้วยความรู้สึก ความเอนเอียง และอคติต่างๆ ทำให้รู้เห็นตามที่มันเป็น คือ รู้ตามความจริง

 ๔. ในแง่ความพ้นทุกข์ เมื่อจิตอยู่ในภาวะตื่นตัว เข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็น และคอยรักษาท่าทีของจิตอยู่ได้เช่นนี้ ความรู้สึกเอนเอียงในทางบวกหรือลบต่อสิ่งนั้นๆ ที่มิใช่เป็นไปโดยเหตุผลบริสุทธิ์ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ จึงไม่มีความรู้สึกทั้งในด้านติดใคร่อยากได้ (อภิชฌา) และด้านขุ่นหมองขัดข้องใจ (โทมนัส) ปราศจากอาการกระวนกระวาย (anxiety) ต่างๆ เป็นภาวะจิตที่เรียกว่าพ้นทุกข์ มีความปลอดโปร่ง โล่งเบา ผ่องใส ผ่อนคลาย


 ผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ความจริงก็สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน เป็นแต่แยกกล่าวในแง่ต่างๆ
 เมื่อสรุปตามแนวปฏิจจสมุปบาทและไตรลักษณ์ ก็ได้ความว่า เดิมมนุษย์ไม่รู้ว่าตัวตนที่ยึดถือไว้ ไม่มีจริง เป็นเพียงกระแสของรูปธรรมนามธรรมส่วนย่อยจำนวนมากมายที่สัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยสืบต่อกัน กำลังเกิดขึ้นและเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา

 เมื่อไม่รู้เช่นนี้ จึงยึดถือเอาความรู้สึกนึกคิด ความปรารถนา ความเคยชิน ทัศนคติ ความเชื่อ ความเห็น การรับรู้ เป็นต้น ในขณะนั้นๆ ว่าเป็นตัวตนของตน แล้วตัวตนนั้นก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยไป รู้สึกว่าฉันเป็นนั่น ฉันเป็นนี่ ฉันรู้สึกอย่างนั้น ฉันรู้สึกอย่างนี้ ฯลฯ

 การรู้สึกว่าตัวฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็คือการถูกความรู้สึกนึกคิด เป็นต้น ที่เป็นนามธรรมส่วนย่อยในขณะนั้นๆ หลอกเอา หรือเอาสิ่งเหล่านั้นมาสร้างภาพหลอกขึ้นนั่นเอง เมื่ออยู่ในภาวะถูกหลอกเช่นนั้น ก็คือการตั้งต้นความคิดที่ผิดพลาด จึงถูกชักจูงบังคับให้คิดเห็นรู้สึกและทำการต่างๆ ไปตามอำนาจของสิ่งที่ตนยึดว่าเป็นตัวตนในขณะนั้นๆ

 ครั้นมาปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานแล้ว ก็มองเห็นรูปธรรมนามธรรมแต่ละอย่างที่เป็นส่วนประกอบของกระแสนั้น กำลังเกิดดับอยู่ตามสภาวะของมัน เมื่อวิเคราะห์ส่วนประกอบต่างๆ ในกระแส แยกแยะออกมองเห็นกระจายออกไปเป็นส่วนๆ เป็นขณะๆ มองเห็นอาการที่ดำเนินสืบต่อกันเป็นกระแสไปเรื่อยๆ แล้ว ย่อมไม่ถูกหลอกให้ยึดถือเอาสิ่งนั้นๆ เป็นตัวตนของตน และสิ่งเหล่านั้นก็หมดอำนาจบังคับให้บุคคลอยู่ใต้การชักจูงของมัน

 ถ้าการมองเห็นนี้เป็นไปอย่างลึกซึ้ง สว่างแจ่มชัดเต็มที่ ก็เป็นภาวะที่เรียกว่าความหลุดพ้น
ทำให้จิตตั้งต้นดำเนินในรูปใหม่ เป็นกระแสที่บริสุทธิ์โปร่งเบา เป็นอิสระ ไม่มีความเอนเอียงยึดติดเงื่อนปมต่างๆ ภายใน
เกิดเป็นบุคลิกภาพใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เป็นภาวะของจิตที่มีสุขภาพสมบูรณ์ ดุจร่างกายที่เรียกว่ามีสุขภาพสมบูรณ์ เพราะองค์อวัยวะทุกส่วนปฏิบัติหน้าที่ได้คล่องเต็มที่ตามปรกติของมัน ในเมื่อไม่มีโรคเป็นข้อบกพร่องอยู่เลย

 โดยนัยนี้ การปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐานจึงเป็นวิธีการชำระล้างอาการเป็นโรคต่างๆ ที่มีในจิต กำจัดสิ่งที่เป็นเงื่อนปมเป็นอุปสรรคถ่วงขัดขวางการทำงานของจิตให้หมดไป ทำให้ใจปลอดโปร่ง พร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ เผชิญและจัดการกับสิ่งทั้งหลายในโลกด้วยความเข้มแข็งและสดชื่นต่อไป


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2012, 08:32:04 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๗. สัมมาสติ)
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: ธันวาคม 25, 2012, 07:39:34 pm »


                     

สุขภาพกาย-สุขภาพใจ
เรื่องที่ได้อธิบายมา อาจสรุปด้วยพุทธพจน์ดังต่อไปนี้

 ภิกษุทั้งหลาย โรคมีอยู่ ๒ ชนิดดังนี้ คือ โรคทางกาย ๑ โรคทางใจ ๑ สัตว์ทั้งหลายที่ยืนยันได้ว่า ตนไม่มีโรคทางกายเลย ตลอดเวลาทั้งปี ก็มีปรากฏอยู่ ผู้ที่ยืนยันได้ว่า ตนไม่มีโรคทางกายเลย ตลอดเวลา ๒ ปี ... ๓ ปี ... ๔ ปี ... ๑๐ ปี ... ๒๐ ปี ... ๓๐ ปี ... ๔๐ ปี ... ๕๐ ปี ... ๑๐๐  ปี ... ก็มีปรากฏอยู่ แต่สัตว์ที่ยืนยันได้ว่า ตนไม่เป็นโรคทางใจเลย แม้ชั่วเวลาเพียงครู่หนึ่งนั้น หาได้ยากในโลก ยกเว้นแต่พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะแล้ว) ทั้งหลาย

 พระสารีบุตร: แน่ะท่านคฤหบดี อินทรีย์ของท่านผ่องใสนัก สีหน้า ของท่านก็สดใสเปล่งปลั่ง วันนี้ ท่านได้ฟังธรรมีกถาในที่เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วหรือ?
 คฤหบดีนกุลบิดา: พระคุณเจ้าผู้เจริญ ไฉนจะไม่เป็นเช่นนี้เล่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลั่งน้ำอมฤตรดข้าพเจ้าแล้ว ด้วยธรรมีกถา

 พระสารีบุตร: พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหลั่งอมฤตรดท่าน ด้วยธรรมี-กถาอย่างไร?
 คฤหบดี: พระคุณเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายอภิวาท นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลว่า :-
 พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ชราแล้ว เป็นคนแก่เฒ่า ล่วงกาลผ่านวัยมานาน ร่างกายก็มีโรคเร้ารุม เจ็บป่วยอยู่เนืองๆ อนึ่งเล่า  ข้าพระองค์มิได้(มีโอกาส)เห็นพระผู้มีพระภาค และพระภิกษุทั้งหลาย ผู้ช่วยให้เจริญใจอยู่เป็นนิตย์ ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดประทานโอวาทสั่งสอนข้าพระองค์ ในข้อธรรมที่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระองค์ ตลอดกาลนาน

 พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า: ถูกแล้ว ท่านคฤหบดี เป็นเช่นนั้น อันร่างกายนี้ ย่อมมีโรครุมเร้า ดุจดังว่าฟองไข่ ซึ่งผิวเปลือกห่อหุ้มไว้ ก็ผู้ใดที่บริหารร่างกายนี้อยู่ จะยืนยันว่าตนไม่มีโรคเลย แม้ชั่วครู่หนึ่ง จะมีอะไรเล่านอกจากความเขลา เพราะเหตุฉะนั้นแล ท่านคฤหบดี ท่านพึงฝึกใจว่า “ถึงกายของเราจะป่วยออดแอดไป แต่ใจของเราจะไม่ป่วยด้วยเลย
พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงหลั่งอมฤตรดข้าพเจ้า ด้วยธรรมีกถา ดั่งนี้แล



- http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8195/

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2012, 08:34:54 pm โดย ฐิตา »