พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ เพื่อการละขาดซึ่งภพ
สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือดร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า
ย่อมกล่าวซึ่งโรค (ความเสียดแทง) นั้น โดยความเป็นตัวเป็นตน
เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด แต่สิ่งนั้นย่อมเป็น (ตามที่เป็นจริง)
โดยประการอื่นจากที่เขาสำคัญนั้น สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ
ถูกภพบังหน้าแล้ว
มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น (จากที่มันเป็นอยู่จริง)
จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น.
เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นเป็นภัย (ที่เขาไม่รู้จัก) :
เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์.
พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ.
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความหลุดพ้นจากภพว่า
มีได้เพราะภพ ;
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ.
ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด กล่าวความออกไปได้จากภพว่า
มีได้เพราะวิภพ (ไม่มีภพ) :
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้.
ก็ทุกข์นี้มีขึ้น เพราะอาศัยซึ่งอุปธิทั้งปวง.
เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์จึงไม่มี.
ท่านจงดูโลกนี้เถิด (จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลายอัน
อวิชชา (ความไม่รู้) หนาแน่นบังหนาแล้ว ;
และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพอันเป็นแล้วนั้น ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้
ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง
เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง ;
ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา.
เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริงอย่างนี้อยู่ ;
เขาย่อม
ละ ภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น)ได้
และไม่เพลิดเพลิน
วิภวตัณหา (ความไม่อยาก) ด้วย.
ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ (แห่งภพทั้งหลาย)
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง นั้นคือนิพพาน.
ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น ผู้ดับเย็นสนิทแล้วเพราะไม่มีความยึดมั่น.
ภิกษุนั้น เป็นผู้ครอบงำมารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว
ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้วเป็นผู้คงที่ (คือไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป), ดังนี้ แล.
อุ.ขุ. ๒๕ / ๑๒๑ / ๘๔.
-http://www.facebook.com/pages/พระพุทธเจ้า/