http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl011.htmข้อเตือนใจนักบวช
อภิณหปัจจเวกขณธรรมสูตร (พระไตรปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต)
ธรรมที่บรรพชิตพึงพิจารณาเนืองๆ 10 ประการ
เราเป็นผู้มีเพศต่างจากคฤหัสถ์
การเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น
อากัปกิริยาอย่างอื่น อันเราควรทำมีอยู่
เราย่อมติเตียนตนเองได้โดยศีล หรือไม่
เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายผู้เป็นวิญญูชนพิจารณาแล้ว ติเตียนเราได้โดยศีล หรือไม่
เราจะต้องพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน ...... เราจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น
วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้ เราทำอะไรอยู่
เราย่อมยินดีในเรือนว่างเปล่า หรือไม่
ญาณทัสสนะวิเศษ อันสามารถกำจัดกิเลส เป็นอริยะ คืออุตตริมนุสสธรรมอันเราได้บรรลุแล้ว มีอยู่หรือหนอ.
นิรยวรรค ที่ 22 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ ก้อนเหล็กอันร้อนประหนึ่งเปลวไฟ ภิกษุบริโภคยังดีกว่า
ภิกษุผู้ทุศีล ไม่สำรวม บริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้นจะประเสริฐอะไร.
@ หญ้าคาที่บุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด
คุณเครื่องเป็นสมณะที่บุคคลลูบคลำไม่ดี
(หมายถึงนักบวชที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม - ธัมมโชติ)
ย่อมคร่าเขาไปนรก ฉันนั้น.
นีตเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)
@ คนโง่เขลา มัวแต่นอนหลับตลอดทั้งคืน
และคลุกคลีอยู่ในหมู่ชน ตลอดวันยังค่ำ
เมื่อไรจักทำที่สุดแห่งทุกข์ (พระนิพพาน - ธัมมโชติ) ได้เล่า.
ยโสชเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)
ภิกษุอยู่รูปเดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม
อยู่สองรูปเหมือนเทวดา
อยู่สามรูปเหมือนชาวบ้าน
อยู่ด้วยกันมากกว่านั้น ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น.....
อรรถกถา ที่ 3 (ธัมมัฏฐวรรค ที่ 19 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เรียกผู้เรียนมากหรือพูดมาก ว่า"เป็นผู้ทรงธรรม"
ส่วนผู้ใด เรียนคาถาแม้คาถาเดียว แล้วแทงตลอดสัจจะทั้งหลาย (บรรลุมรรคผล - ธัมมโชติ)
ผู้นั้นชื่อว่าผู้ทรงธรรม.
บัณฑิตวรรค ที่ 6 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ บุคคลพึงเห็นผู้มีปัญญาใด ซึ่งเป็นผู้กล่าวนิคคหะชี้โทษ
ว่าเป็นเหมือนผู้บอกขุมทรัพย์ให้ พึงคบผู้มีปัญญาเช่นนั้น ซึ่งเป็นบัณฑิต
เพราะว่าเมื่อคบท่านผู้เช่นนั้น มีแต่คุณอย่างประเสริฐ ไม่มีโทษที่ลามก.
อรรถกถาที่ 8 (มลวรรค ที่ 20 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ ความเพียรเครื่องเผากิเลสควรทำในวันนี้ ทีเดียว
ใครพึงรู้ว่าความตายจะมีในวันพรุ่งนี้
เพราะว่าความผัดเพี้ยนด้วยความตาย ซึ่งมีเสนาใหญ่นั้น ไม่มีเลย
มุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนั้น
มีความเพียร ไม่เกียจคร้าน ตลอดกลางวันและกลางคืน
นั้นแล ว่าผู้มีราตรีเดียวเจริญ.
สัพพกามเถรคาถา (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา)
@ เบญจกามคุณอันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ที่มีปรากฏอยู่ในรูปร่างหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก
เหมือนพรานเนื้อแอบดักเนื้อด้วยเครื่องดัก
พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด
บุคคลจับวานรด้วยตัง ฉะนั้น.
ตัณหาวรรค ที่ 24 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ ตัณหาดุจเถาย่านทราย ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประมาท
เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่ ดังวานรปรารถนาผลไม้ เร่ร่อนไปในป่า ฉะนั้น.
@ หมู่สัตว์อันตัณหาผู้ทำความดิ้นรนล้อมไว้แล้ว
ย่อมกระเสือกกระสน เหมือนกระต่ายที่นายพรานดักได้แล้ว ฉะนั้น.
สุขวรรค ที่ 15 (พระไตรปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ ไฟเสมอด้วยราคะไม่มี โทษเสมอด้วยโทสะย่อมไม่มี
ทุกข์ทั้งหลายเสมอด้วยขันธ์ย่อมไม่มี สุขอื่นจากความสงบย่อมไม่มี.
อรรถกถาที่ 8 (นาควรรค ที่ 23 ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)
@ บรรพต พึงเป็นของล้วนด้วยทองคำที่สุกปลั่ง
แม้ความที่บรรพตนั้น (ทวีขึ้น) เป็นสองเท่า
ก็ยังไม่เพียงพอแก่ (ความต้องการของ) บุคคล (เพียง) คนหนึ่ง
บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติแต่พอสม.
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
17 พฤศจิกายน 2544
http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl012.htmวิธีพิจารณาศีลอย่างง่าย
พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม 2 ทีฆนิกาย
มหาวรรค สักกปัญหสูตร
[๒๕๘] ท้าวสักกะจอมเทพทรงชื่นชม อนุโมทนาภาษิตของพระผู้มีพระภาค ในปัญหาพยากรณ์ข้อนี้ ดังนี้แล้ว จึงได้ทูลถามปัญหากะพระผู้มีพระภาคยิ่งขึ้นไปว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมในปาติโมกข์ ฯ (ปาติโมกข์คือศีลสำหรับภิกษุ แต่ก็สามารถพิจารณาเทียบเคียงกับศีลสำหรับคนทั่วไป ได้ในทำนองเดียวกัน - ธัมมโชติ)
(พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า) ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจาร (ความประพฤติทางกาย - ธัมมโชติ) โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
วจีสมาจาร (ความประพฤติทางวาจา - ธัมมโชติ) ก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี
และการแสวงหาก็แยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฯ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในกายสมาจารทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบกายสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม กายสมาจารเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บุคคลพึงทราบกายสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพกายสมาจารนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น กายสมาจารเห็นปานนี้ควรเสพ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวกายสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงกายสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงวจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในวจีสมาจารทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบวจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม วจีสมาจารเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บุคคลพึงทราบวจีสมาจารอันใดว่า เมื่อเราเสพวจีสมาจารนี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น วจีสมาจารเห็นปานนี้ควรเสพ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าววจีสมาจารโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงวจีสมาจารดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ก็ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยอะไร ในการแสวงหาทั้ง ๒ นั้น บุคคลพึงทราบการแสวงหาอันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวงหานี้ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม การแสวงหาเห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
บุคคลพึงทราบการแสวงหาอันใดว่า เมื่อเราเสพการแสวงหานี้ อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น การแสวงหาเห็นปานนี้ควรเสพ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวการแสวงหาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฉะนี้แล ที่กล่าวถึงการแสวงหาดังนี้ กล่าวเพราะอาศัยข้อนี้ ฯ
ภิกษุผู้ปฏิบัติอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อสำรวมในปาติโมกข์ ฯ
[๒๕๙] ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็ภิกษุปฏิบัติอย่างไร จึงจะชื่อว่าปฏิบัติแล้วเพื่อความสำรวมอินทรีย์ ฯ
ดูกรจอมเทพ อาตมภาพกล่าวรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตาโดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวกลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี กล่าวธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ โดยแยกเป็น ๒ คือ ที่ควรเสพก็มี ที่ไม่ควรเสพก็มี ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท้าวสักกะจอมเทพ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมทราบเนื้อความแห่งภาษิต ที่ตรัสโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เห็นปานใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพรูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตา เห็นปานใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยนัยน์ตาเห็นปานนี้ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพเสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยหู เห็นปานใด ...
เมื่อบุคคลเสพกลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก เห็นปานใด ...
เมื่อบุคคลเสพรสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น เห็นปานใด ...
เมื่อบุคคลเสพโผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยกาย เห็นปานใด ...
เมื่อบุคคลเสพธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานใด อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อม ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานนี้ไม่ควรเสพ
เมื่อบุคคลเสพธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจ เห็นปานใด อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญขึ้น ธรรมที่จะพึงรู้แจ้งด้วยใจเห็นปานนี้ควรเสพ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบเนื้อความแห่งภาษิตที่ตรัสโดยย่อนี้ ได้โดยพิสดารอย่างนี้ ในข้อนี้ ข้าพระองค์ข้ามความสงสัยแล้ว ปราศจากถ้อยคำที่จะพูดว่าอย่างไรแล้ว เพราะได้ฟังการพยากรณ์ปัญหาของพระผู้มีพระภาค ฯ
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
10 กุมภาพันธ์ 2545
http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl013.htmการสมาทานกับการรักษาศีล
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
ต้องขออภัยด้วยนะครับที่บางข้ออาจจะโป๊ไปบ้าง แต่ก็คิดว่าอาจจะมีประโยชน์กับผู้สนใจบางท่าน และคิดว่าผู้ถามก็ถามอย่างบริสุทธิ์ใจจริงๆ เลยนำมาลงไว้ด้วย
--------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
Sent: Friday, February 08, 2002 12:21 AM
Subject: Dhamma Question
สวัสดีครับ
1. .....
2. .....
3. การบำบัดความใคร่ด้วยตัวเอง ถือว่าผิดศีล 5 หรือไม่ครับ
4. การสมาทานศีล กับการระวังตัวไม่ให้ผิดศีล มีค่าเท่ากันหรือไม่ครับ
ขอบพระคุณมากครับ
--------------------------------------------------------------------------------
ตอบ
สวัสดีครับ ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
.....
.....
ไม่ผิดศีล 5 แต่ผิดศีล 8 ครับ
การสมาทานศีลเป็นเจตนาในขั้นต้น ส่วนการระวังตัวไม่ให้ผิดศีลเป็นเจตนาในขั้นปลาย ถ้าสมาทานโดยไม่ได้คิดว่าจะรักษาจริงๆ เพียงแค่ทำตามธรรมเนียมก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แต่ถ้าตั้งใจจริงก็ได้ประโยชน์ อย่างน้อยจิตก็ผ่องใสขึ้นมาในช่วงนั้น แต่จะได้ประโยชน์อย่างเต็มที่แท้จริงก็ในขณะที่มีการระวังตัวไม่ให้ผิดศีลนั่นเองครับ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญกว่า
ความจริงเพียงแค่ตั้งใจว่าจะระวังตัวไม่ให้ผิดศีล ก็ถือได้ว่าเป็นการสมาทานศีลแล้วครับ ถ้าตั้งใจจริงก็ดีกว่าไปสมาทานจากพระด้วยซ้ำไป (กรณีที่สมาทานกันพอเป็นพิธีเท่านั้น)
ในสมัยพุทธกาลนั้น แม้แต่การสมาทานศีล 8 ก็เพียงแค่บ้วนปาก (คงเพื่อไม่ให้มีเศษอาหารติดค้างอยู่ในปาก จะได้ไม่เป็นวิกาลโภชนา หรืออาจเพื่อให้ปากสะอาดเพื่อให้เกียรติแก่ศีล) แล้วก็ตั้งใจอธิษฐานเอาเองที่บ้านก็เป็นอันเสร็จพิธีแล้ว ไม่ต้องไปวัดให้ยุ่งยากเหมือนสมัยนี้ (เขารักษาศีล 8 กันเองที่บ้าน)
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ
ธัมมโชติ
17 กุมภาพันธ์ 2545
http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl014.htmอินทรียสังวร
พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฏก เล่ม ๑ ทีฆนิกาย
สีลขันธวรรค สามัญญผลสูตร
(ความจริงอินทรียสังวรนี้จัดเป็นขั้นที่สูงกว่าศีลอีก 1 ขั้น หรือจะกล่าวว่าเป็นศีลในระดับจิตใจ หรือเป็นศีลขั้นสูงก็ว่าได้ อินทรียสังวรนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นเป็นอย่างมาก - ธัมมโชติ)
อินทรียสังวร
[๑๒๒] ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย?
(พระพุทธเจ้าตรัสโปรดพระเจ้าอชาตศัตรูเวเทหีบุตร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร - ธัมมโชติ)
ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ (คือไม่ยินดียินร้าย ไม่ฝักใฝ่ผูกพัน คือเห็นก็สักว่าเห็น ไม่ถูกกิเลสครอบงำ - ธัมมโชติ) เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการมองเห็น คือตานั่นเอง - ธัมมโชติ) ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌา (ความเพ่งเล็งอยากได้ - ธัมมโชติ) และโทมนัส (ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ - ธัมมโชติ) ครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์
ภิกษุฟังเสียงด้วยโสต ...
ดมกลิ่นด้วยฆานะ ...
ลิ้มรสด้วยชิวหา ...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...
รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ไม่ถือนิมิต ไม่ถืออนุพยัญชนะ เธอย่อมปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ (สิ่งที่เป็นใหญ่ในการคิด คือใจหรือจิตนั่นเอง - ธัมมโชติ) ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ภิกษุประกอบด้วยอินทรีย์สังวรอันเป็นอริยะเช่นนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันไม่ระคนด้วยกิเลสในภายใน
ดูกรมหาบพิตร ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
30 มิถุนายน 2545
http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl015.htmศีลหนึ่ง
(รักษาศีลเพียงข้อเดียวพ้นทุกข์ได้)
อรรถกถาธรรมบท จิตตวรรควรรณนา
เรื่องอุกกัณฐิตภิกษุ
พระเถระแนะอุบายพ้นทุกข์แก่เศรษฐีบุตร
ดังได้สดับมา เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี บุตรเศรษฐีผู้หนึ่งเข้าไปหาพระเถระผู้เป็นชีต้น (ภิกษุที่คุ้นเคย ซึ่งเขาเคารพนับถือเป็นอาจารย์ เป็นที่ปรึกษา เรียกอีกอย่างว่ากุลุปกะ - ธัมมโชติ) ของตน เรียนว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมใคร่จะพ้นจากทุกข์, ขอท่านโปรดบอกอาการสำหรับพ้นจากทุกข์แก่กระผมสักอย่างหนึ่ง."
พระเถระกล่าวว่า "ดีละ ผู้มีอายุ ถ้าเธอใคร่จะพ้นจากทุกข์ไซร้, เธอจงถวายสลากภัต (อาหารที่ทายกถวายตามสลาก คือผู้ประสงค์จะทำบุญแต่ละคนจะจับสลาก ว่าตนจะได้ถวายอาหารแก่ภิกษุรูปใด - ธัมมโชติ) ถวายปักขิกภัต (ภัตที่ทายกถวายในวันปักษ์ คือทุก 15 วัน - ธัมมโชติ) ถวายวัสสาวาสิกภัต (ภัตที่ทายกถวายแก่ภิกษุผู้จำพรรษา) ถวายปัจจัยทั้งหลายมีจีวรเป็นต้น, แบ่งทรัพย์สมบัติของตนให้เป็น ๓ ส่วน ประกอบการงานด้วยทรัพย์ส่วน ๑ เลี้ยงบุตรและภรรยาด้วยทรัพย์ส่วน ๑ ถวายทรัพย์ส่วน ๑ ไว้ในพระพุทธศาสนา."
เขารับว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วทำกิจทุกอย่าง ตามลำดับแห่งกิจที่พระเถระบอก แล้วเรียนถามพระเถระอีกว่า "กระผมจะทำบุญอะไรอย่างอื่น ที่ยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกเล่า ? ขอรับ."
พระเถระตอบว่า "ผู้มีอายุ เธอจงรับไตรสรณะ (คือยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง - ธัมมโชติ) (และ) ศีล ๕." เขารับไตรสรณะและศีล ๕ แม้เหล่านั้นแล้ว จึงเรียนถามถึงบุญกรรมที่ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น.
พระเถระก็แนะว่า "ถ้ากระนั้น เธอจงรับศีล ๑๐." เขากล่าวว่า "ดีละ ขอรับ" แล้วก็รับ (ศีล ๑๐). เพราะเหตุที่เขาทำบุญกรรมอย่างนั้นโดยลำดับ เขาจึงมีนามว่า อนุปุพพเศรษฐีบุตร.
เขาเรียนถามอีกว่า "บุญอันกระผมพึงทำ แม้ยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ยังมีอยู่หรือ ? ขอรับ" เมื่อพระเถระกล่าวว่า "ถ้ากระนั้นเธอจงบวช," จึงออกบวชแล้ว.
ภิกษุผู้ทรงพระอภิธรรมรูปหนึ่งได้เป็นอาจารย์ของเธอ, ภิกษุผู้ทรงพระวินัยรูปหนึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์, ในเวลาที่ภิกษุนั้นได้อุปสมบทแล้วมาสู่สำนักของ (อาจารย์ของ) ตน อาจารย์กล่าวปัญหาในพระอภิธรรมว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำกิจนี้จึงควร, ทำกิจนี้ไม่ควร."
ฝ่ายพระอุปัชฌาย์ก็กล่าวปัญหาในพระวินัย ในเวลาที่ภิกษุนั้นมาสู่สำนักของตนว่า "ชื่อว่าในพระพุทธศาสนา ภิกษุทำสิ่งนี้ควร, ทำสิ่งนี้ไม่ควร; สิ่งนี้เหมาะ สิ่งนี้ไม่เหมาะ."
อยากสึกจนซูบผอม
ท่านคิดว่า "โอ ! กรรมนี้หนัก; เราใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงบวช, แต่ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่ปรากฏ, (คือมีข้อห้ามและข้อปฏิบัติมากมายเต็มไปหมด จนแทบทำอะไรตามความพอใจไม่ได้เลย - ธัมมโชติ) เราดำรงอยู่ในเรือนก็อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้ เราควรเป็นคฤหัสถ์ (ดีกว่า)."
ตั้งแต่นั้น ท่านกระสัน (จะสึก) หมดยินดี (ในพรหมจรรย์) ไม่ทำการสาธยายในอาการ ๓๒, (การพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ ของร่างกาย 32 อย่าง เพื่อคลายความยึดมั่น - ธัมมโชติ) ไม่เรียนอุเทศ (หัวข้อธรรม บางครั้งหมายถึงปาฏิโมกข์ คือศีล 227 ข้อ - ธัมมโชติ) ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ถูกความเกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย.
ลำดับนั้น พวกภิกษุหนุ่มและสามเณรถามท่านว่า "ผู้มีอายุ ทำไม ? ท่านจึงยืนแฉะอยู่ในที่ยืนแล้ว นั่งแฉะในที่นั่งแล้ว ถูกโรคผอมเหลืองครอบงำ ผอม ซูบซีด มีตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น ถูกความ เกียจคร้านครอบงำ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยหิดเปื่อย, ท่านทำกรรมอะไรเล่า ?"
ภิกษุ. (นั้นตอบว่า) ผู้มีอายุ ผมเป็นผู้กระสัน.
ภิกษุหนุ่มและสามเณร. (ถามว่า) เพราะเหตุไร ?
ภิกษุนั้นบอกพฤติการณ์นั้นแล้ว, ภิกษุหนุ่มและสามเณรเหล่านั้นบอกแก่พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ของท่านแล้ว. พระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ได้พากันไปยังสำนักพระศาสดา.
รักษาจิตอย่างเดียวอาจพ้นทุกข์ได้
(คำว่าอาจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายว่า 1. กล้า, ห้าวหาญ 2. มีคุณสมบัติเหมาะแก่การจัดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 3. คำช่วยกริยาบอกการคาดคะเน ในที่นี้น่าจะเป็นความหมายที่ 2. มากกว่าความหมายอื่น - ธัมมโชติ)
พระศาสดาตรัสถามว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาทำไมกัน ?"
อาจารย์และอุปัชฌาย์. (ทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุรูปนี้กระสันในศาสนาของพระองค์.
พระศาสดา. ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ ? ภิกษุ.
ภิกษุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เพราะเหตุไร ?
ภิกษุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เพราะ) ข้าพระองค์ใคร่จะพ้นจากทุกข์จึงได้บวช, พระอาจารย์ของข้าพระองค์นั้นกล่าวอภิธรรมกถา, พระอุปัชฌาย์กล่าววินัยกถา. ข้าพระองค์นั้นได้ทำความตกลงใจว่า 'ในพระพุทธศาสนานี้ สถานเป็นที่เหยียดมือของเราไม่มีเลย, เราเป็นคฤหัสถ์ก็อาจพ้นจากทุกข์ได้, เราจักเป็นคฤหัสถ์' ดังนี้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ภิกษุ ถ้าเธอจักสามารถรักษาได้เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น, กิจคือการรักษาสิ่งทั้งหลายที่เหลือ ย่อมไม่มี.
ภิกษุ. อะไร ? พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. เธอจักอาจรักษาเฉพาะจิตของเธอ ได้ไหม ?
ภิกษุ. อาจรักษาได้ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาประทานพระโอวาทนี้ว่า " ถ้ากระนั้น เธอจงรักษาเฉพาะจิตของตนไว้, เธออาจพ้นจากทุกข์ได้" ดังนี้เเล้ว จึงตรัสพระคาถานี้
สุทุทฺทสํ สุนิปุณํ ยตฺถ กามนิปาตินํ
จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี จิตฺตํ คุตฺตํ สุขาวหํ.
"ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต ที่เห็นได้แสนยาก
ละเอียดยิ่งนัก มันตกไปในอารมณ์ตามความใคร่,
(เพราะว่า) จิตที่คุ้มครองไว้ได้ เป็นเหตุนำสุขมาให้."
(ในที่สุดภิกษุรูปนี้ก็บรรลุเป็นโสดาบัน สำหรับมรรคผลขั้นสูงกว่านี้ไม่ได้กล่าวถึงเอาไว้ในเรื่องนี้ - ธัมมโชติ)
ผู้รวบรวม
ธัมมโชติ
20 กรกฎาคม 2545
http://www.geocities.com/tmchote/Thumma/Sila/sl016.htmศีล 227 กับคฤหัสถ์
ผู้สนใจท่านหนึ่งได้ถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้
--------------------------------------------------------------------------------
คำถาม
เรียน webmaster
การให้ชาวบ้านเรียนรู้ถึงศีลของพระ (๒๒๗) โดยไม่ลึกซึ้งทำให้ชาวบ้านเพ่งโทษพระ อยากทราบความเห็นของท่านทั้งด้านดีและด้านเสีย เพื่อจะได้ตอบคำถามเมื่อมีผู้วิจารณ์การทำตัวของพระ (ขออภัยถ้าใช้สรรพนามพระไม่ถูกต้อง)
ขอบคุณและอนุโมทนาที่ได้รักษาเว็บนี้ให้มีคุณค่าตลอดมา
เขียนเมื่อวันที่: 6 กรกฎาคม 2545 เวลา: 21:57
--------------------------------------------------------------------------------
ตอบ
เรียน คุณ .....
ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจเว็บไซต์ ธัมมโชติ
ขอแสดงความเห็นดังนี้ครับ
ข้อดี
ทำให้พระระวังตัวมากขึ้น เพราะคนทั่วไปรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร ซึ่งก็จะเป็นผลดีทั้งต่อตัวท่านเอง (ทำให้ศีลบริสุทธิ์ขึ้น) และต่อศาสนา
คนทั่วไปจะได้ปฏิบัติต่อพระได้ถูกต้อง เหมาะสมยิ่งขึ้น จะได้ไม่ถวายสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้พระ รวมทั้งไม่วางตัวอย่างไม่เหมาะสมด้วย ซึ่งก็จะทำให้สิ่งยั่วกิเลสของพระลดน้อยลงไป ก็จะทำให้พระรักษาศีลได้ง่ายขึ้นด้วย
ถ้าเป็นคนที่รู้จักแยกแยะ เมื่อเห็นพระทำผิดศีล ก็จะได้รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียน ไม่ทรงสรรเสริญ เพราะฉะนั้น ถ้าจะตำหนิ ก็ควรจะแยกแยะได้ว่าพระรูปนั้นน่าตำหนิ ไม่ใช่ไปตำหนิศาสนา เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้นั้น ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ปฏิบัติได้ประโยชน์ และน่าเลื่อมใสทั้งสิ้น
เมื่อมีคนคอยสอดส่องกันมากขึ้น ภิกษุที่ทำตัวไม่ดีก็จะอยู่ไม่ได้ไปเอง เพราะขาดคนสนับสนุนเกื้อกูล (ถ้าคนส่วนใหญ่รู้จักแยกแยะตามข้อ 3.)
คนที่มีศรัทธาคิดจะบวชจะได้เตรียมตัวเตรียมใจเอาไว้ก่อน เมื่อบวชแล้วจะได้ปรับตัวได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสผิดพลาดน้อยลง
คนที่พิจารณาตนเองแล้ว คิดว่าไม่สามารถทำตัวให้เหมาะสมได้ ก็จะได้ไม่เข้ามาบวชแล้วทำให้ศาสนามัวหมอง
ข้อเสีย
ในสมัยพุทธกาลมีกรณีเกิดขึ้น คือมีชายคนหนึ่งกำลังจะบวช แล้วพระบอกอนุศาสน์ 8 ก่อนบวช (คือ นิสสัย 4 และ อกรณียกิจ 4, นิสสัย คือ ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต มี 4 อย่าง ได้แก่ 1. การบิณฑบาตเลี้ยงชีพ 2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล 3. อยู่โคนไม้ 4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า (น้ำปัสสาวะ) เป็นยารักษาโรค - ปัจจุบันยารักษาโรคหาได้ง่าย จึงไม่จำเป็นต้องฉันน้ำมูตรเน่าแล้ว อกรณียกิจ คือ กิจที่ไม่ควรทำ มี 4 อย่างได้แก่ 1. เสพเมถุน 2. ลักขโมย 3. ฆ่าสัตว์ 4. พูดอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน)
พอชายคนนั้นได้ฟังแล้ว เลยเปลี่ยนใจไม่บวช และกล่าวว่าถ้าบวชแล้วจึงได้ฟังเรื่องนี้ก็คงจะพยายามปฏิบัติตาม แต่นี่ยังไม่ได้บวชก็ขอเปลี่ยนใจดีกว่า
พระพุทธเจ้าก็เลยทรงห้ามให้อนุศาสน์ก่อนบวช เรื่องนี้ก็คงเป็นตัวอย่างได้ว่า สำหรับคนที่ศรัทธาไม่แน่วแน่นั้น เมื่อรู้ระเบียบวินัยต่างๆ มากเกินไป ก็อาจท้อ และไม่อยากบวช ทั้งๆ ที่ถ้าเขาได้บวช ได้ศึกษาศาสนาอย่างจริงจัง เขาก็อาจจะได้ประโยชน์อย่างมากเลยก็ได้
มีภิกษุอยู่ไม่น้อยที่รักษาศีลได้อย่างกระท่อนกระแท่น เมื่อคนที่รู้เรื่องศีลมาก แต่ไม่รู้จักแยกแยะให้ดีไปพบเห็นภิกษุเหล่านั้นเข้า ก็อาจพลอยรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อศาสนาไปทั้งหมดเลยก็ได้ ซึ่งก็จะเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ที่เสื่อมศรัทธานั้นเอง (ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากศาสนาอย่างที่ควรจะเป็น และอาจถึงขั้นไปชักจูงให้คนอื่นๆ เสื่อมศรัทธาไปด้วยก็ได้) และต่อศาสนาอีกด้วย
เป็นช่องทางให้ผู้ไม่ประสงค์ดีใช้ในการโจมตีศาสนา
ความเห็นเพิ่มเติม
เมื่อมีการให้ความรู้เรื่องศีลแก่คนทั่วไป ก็คงจะต้องพิจารณาผู้ฟังด้วยนะครับ ว่ามีลักษณะอย่างไร แล้วให้ความรู้ตามความเหมาะสม เช่น
ควรรู้ศีลข้อไหนบ้าง (ศีลมีหลายประเภท ทั้งที่เกี่ยวข้องกับคฤหัสถ์ และไม่เกี่ยวข้อง ทั้งที่มีผลต่อตัวผู้ปฏิบัติเอง มีผลต่อสงฆ์ และมีผลกระทบต่อคฤหัสถ์)
ควรรู้ลึกซึ้งแค่ไหน
ควรชี้แนะให้เขารู้จักแยกแยะมากน้อยแค่ไหน
ฯลฯ
ถ้ายังไม่กระจ่าง หรือมีข้อสงสัยอะไรอีก ก็เชิญถามมาได้ใหม่นะครับ ไม่ต้องเกรงใจ
ธัมมโชติ
21 กรกฎาคม 2545