ผู้เขียน หัวข้อ: อยู่กับงูเห่า :หลวงพ่อชา  (อ่าน 1899 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
อยู่กับงูเห่า :หลวงพ่อชา
« เมื่อ: พฤษภาคม 14, 2013, 03:17:39 pm »



อยู่กับงูเห่า
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556
โดย พระโพธิญาณเถร
(หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)

ขอให้คำขวัญแก่โยมทั้งหลาย และลูกศิษย์ใหม่ที่เดินทางจากลอนดอน
มาพักอยู่ที่วัดหนองป่าพง ขอให้ทำความเข้าใจ
ในธรรมะที่ได้ศึกษาแล้วที่วัดหนองป่าพงนี้โดยย่อก็คือ

ขอให้โยมจำไว้ในใจว่า อารมณ์ทั้งหลายนั้น
จะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตาม
อารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ มันเหมือนงูเห่า
งูเห่ามันมีพิษมาก ถ้ามันฉกคนแล้วก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้

อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น
อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมาก อารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก
มันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี
ทำให้จิตใจไขว้เขวจากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

วันนี้จึงขอให้โอวาทย่อๆ แก่โยม ขอให้เป็นผู้มีสติอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน
จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ให้นอนด้วยสติ นั่งด้วยสติ เดินด้วยสติ
ยืนด้วยสติ จะพูดก็พูดด้วยสติ จะทำอะไรๆ ก็ให้มีสติอยู่ด้วยทั้งนั้น

เมื่อมีสติแล้ว สัมปชัญญะความรู้ตัวมันก็จะเกิดขึ้นมา สติกับสัมปชัญญะเป็นของคู่กัน
เมื่อทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ก็จะนำปัญญาให้เกิดตาม
ทีนี้เมื่อมีทั้งสติ สัมปชัญญะปัญญาแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนั้น ไม่ใช่ธรรมะที่เพื่อฟังเฉยๆ หรือรู้เฉยๆ
แต่เป็นธรรมะที่ต้องปฏิบัติ ต้องทำให้เกิดขึ้น ต้องทำให้มีขึ้นในใจของเราให้ได้
จะไปที่ไหนก็ให้มีธรรมะ จะพูดก็ให้มีธรรมะ
จะเดินก็ให้มีธรรมะ จะนอนก็ให้มีธรรมะ จะทำอะไรๆ ก็ให้มีธรรมะทั้งนั้น

คำว่า "มีธรรมะ" นี้ก็คือ จะทำอะไรก็ตาม จะพูดอะไรก็ตาม ให้ทำด้วยปัญญา
ให้พูดด้วยปัญญา ให้นึกคิดด้วยปัญญา ผู้ใดมีสติ สัมปชัญญะ
ควบกับปัญญาอยู่ตลอดเวลาแล้ว ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้พระพุทธเจ้าทุกเมื่อ

ดังนั้น แม้เมื่อโยมจากวัดหนองป่าพงนี้ไปแล้ว
ก็จงเป็นผู้ปฏิบัติ ให้ธรรมะทั้งหลายมารวมอยู่ที่ใจ มองลงไปที่ใจ
ให้เห็นสติ ให้เห็นสัมปชัญญะ ให้มีปัญญา
เมื่อมีทั้งสามอย่างนี้แล้ว มันจะมีการปล่อยวาง
รู้จักเกิดแล้วมันก็ดับ ดับแล้วมันก็เกิด เกิดแล้วมันก็ดับ

ที่เรียกว่า "เกิดๆ ดับๆ" นี้คืออะไร คืออารมณ์ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป
ดับแล้วมันก็เกิดขึ้นมา ในทางธรรมะเรียกว่าการเกิดดับ มันก็มีเท่านี้
ทุกข์มันเกิดขึ้นแล้ว ทุกข์มันก็ดับไป ทุกข์ดับไปแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นมา
นอกเหนือจากนี้ไป ก็ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์เกิด แล้วทุกข์ก็ดับไป มีเท่านี้

เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว จิตของเราก็จะเห็นแต่การเกิด-ดับอยู่เสมอ
เมื่อเห็นการเกิด-ดับอยู่เสมอ ทุกวันทุกเวลา
ตลอดทั้งกลางวัน ตลอดทั้งกลางคืน ตลอดทั้งการยืน เดิน นั่ง นอน
ก็จะเห็นได้ว่ามันไม่มีอะไรจริงๆ
มีแต่เกิด-ดับอยู่เท่านี้เอง แล้วทุกอย่างมันก็จบอยู่ตรงนี้

เมื่อเห็นอารมณ์เกิด-ดับอย่างนี้อยู่เสมอไปแล้ว จิตใจก็จะเกิดความเบื่อหน่าย
เพราะเมื่อคิดไปแล้ว ก็ไม่มีอะไรมากมาย
มันมีแต่การเกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ มันมีอยู่เท่านี้

ฉะนั้น เมื่อคิดแล้วก็ไม่รู้จะไปเอาอะไรกับมัน พอคิดได้เช่นนี้
จิตก็จะปล่อยวาง ปล่อยวางอยู่กับธรรมชาติ มันเกิดเราก็รู้ มันดับเราก็รู้
มันสุขเราก็รู้ มันทุกข์เราก็รู้ รู้แล้วไม่ใช่ว่าเราจะไปเป็นเจ้าของสุขนะ
หรือเมื่อทุกข์ขึ้นมา เราก็ไม่เป็นเจ้าของทุกข์เหมือนกัน

เมื่อไม่เป็นเจ้าของสุข ไม่เป็นเจ้าของทุกข์ มันก็มีแต่การเกิด-ดับอยู่เท่านั้น
ก็ปล่อยไปตามธรรมชาติของมันอย่างนั้นแหละ เพราะมันไม่มีอะไร

อารมณ์ทั้งหลายที่ว่ามานี้ เหมือนกันกับงูเห่าที่มีพิษร้าย ถ้าไม่มีอะไรมาขวาง
มันก็เลื้อยไปตามธรรมชาติของมัน แม้พิษของมันจะมีอยู่ มันก็ไม่แสดงออก ไม่ได้ทำอันตรายเรา
เพราะเราไม่ได้เข้าไปใกล้มัน งูเห่าก็เป็นไปตามเรื่องของงูเห่า มันก็อยู่อย่างนั้น

ดังนี้ ถ้าหากเป็นคนที่ฉลาดแล้ว ก็จะปล่อยหมด สิ่งที่ดีก็ปล่อยมันไป
สิ่งที่ชั่วก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ชอบใจก็ปล่อยมันไป สิ่งที่ไม่ชอบก็ปล่อยมันไป
เหมือนอย่างเราปล่อยงูเห่าตัวที่มีพิษร้ายนั้น
ปล่อยให้มันเลื้อยของมันไป มันก็เลื้อยไปทั้งพิษที่มีอยู่ในตัวมันนั่นเอง



ฉะนั้น คนที่ฉลาดแล้ว เมื่อปล่อยอารมณ์ก็ปล่อยอย่างนั้น
ดีก็ปล่อยมันไป แต่ปล่อยอย่างรู้เท่าทัน
ชั่วก็ปล่อยมันไป ปล่อยไปตามเรื่องของมันอย่างนั้นแหละ

อย่าไปจับ อย่าไปต้องมัน เพราะเราไม่ต้องการอะไร
ชั่วก็ไม่ต้องการ ดีก็ไม่ต้องการ หนักก็ไม่ต้องการ เบาก็ไม่ต้องการ
สุขก็ไม่ต้องการ ทุกข์ก็ไม่ต้องการ
มันก็หมดเท่านั้นเอง ทีนี้ความสงบก็ตั้งอยู่เท่านั้นแหละ

เมื่อความสงบตั้งอยู่แล้ว เราก็ดูความสงบนั้นแหละ
เพราะมันไม่มีอะไรแล้ว เมื่อความสงบเกิดขึ้นความวุ่นวายก็ดับ
พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านตรัสว่า นิพพานคือความดับ
ดับที่ตรงไหน? ก็เหมือนไฟเรานั่นแหละ
มันลุกตรงไหน มันร้อนตรงไหน?
มันก็ดับที่ตรงนั้น มันร้อนที่ไหนก็ให้มันเย็นตรงนั้น

ก็เหมือนกับนิพพานก็อยู่กับวัฏสงสาร วัฏสงสารก็อยู่กับนิพพาน
เหมือนกันกับความร้อนกับความเย็น มันก็อยู่ที่เดียวกันนั่นเอง
ความร้อนก็อยู่ที่มันเย็น ความเย็นก็อยู่ที่มันร้อน
เมื่อมันร้อนขึ้น มันก็หมดเย็น เมื่อมันหมดเย็น มันก็ร้อน

วัฏสงสารกับนิพพานนี้ก็เหมือนกัน ท่านให้ดับวัฏสงสารคือความวุ่น
การดับความวุ่นวายก็คือการดับความร้อน
ไฟทางนอกก็คือไฟธรรมดา มันร้อน เมื่อมันดับแล้วมันก็เย็น
แต่ความร้อนภายในคือ ราคะ โทสะ โมหะ ก็เป็นไฟเหมือนกัน

ลองคิดดู...เมื่อราคะ ความกำหนัดเกิดขึ้น มันร้อนไหม?
โทสะเกิดขึ้นมันก็ร้อน โมหะเกิดขึ้นมันก็ร้อน
ความร้อนนี่แหละที่ท่านเรียกว่าไฟ เมื่อไฟมันเกิดขึ้น มันก็ร้อน
เมื่อมันดับ มันก็เย็น ความดับนี่แหละคือนิพพาน
นิพพานคือสภาวะที่เข้าไปดับซึ่งความร้อน ท่านเรียกว่าสงบ คือดับซึ่งวัฏสงสาร
วัฏสงสารคือความเวียนว่ายตายเกิดอยู่อย่างนั้น
เมื่อถึงนิพพานแล้ว ก็คือการเข้าไปดับซึ่งความหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
อันนั้น เรียกว่าการดับราคะ ดับโทสะ ดับโมหะ
ก็ดับที่ใจของเรานั่นแหละ คือใจถึงความสงบ ในความสงบนั้น สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มี

แต่มนุษย์เรานั่นแหละจะอดสุขไม่ได้ เพราะเห็นว่าความสุขเป็นยอดของชีวิตแล้ว
แม้พระนิพพานก็ยังมาว่าเป็นความสุขอยู่
เพราะความคุ้นเคย ความเป็นจริงแล้ว เลิกสิ่งทั้ง ๒ อย่างนี้ก็เป็นความสงบ


(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 148 เมษายน 2556
โดย พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี)
- http://www.pranippan.com/new/board/index.php?act=ST&f=2&t=1773