ธัมมะในลิขิตท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
ฉบับที่ ๓
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
๑ มิถุนายน ๒๔๙๙
เรื่องคุณโยมจวน
หากท่านอุตส่าห์พิจารณาค้นคว้าในกองขันธ์ ๕ เข้าให้มาก
ก็จะเห็นโทษคุณมากขึ้นทีเดียว
จุดใดปมใดซึ่งเป็นเครื่องขัดข้อง
ในเมื่อเราพิจารณาขันธ์ ๕ เข้าให้มากแล้ว
ต้องเห็นจุดเห็นปมนั้นแน่นอน
การพิจารณาขันธ์ ๕ นี้พิสดารมาก
ทั้งเป็นบ่อเกิดแห่งปัญญา วิชชาอันเป็นเครื่องถอดถอนกิเลส
"ด้วยคำว่าจุดว่าปม" นั้นก็คือตัวกิเลสนั่นเอง
เมื่อปัญญายังไม่ละเอียดพอๆ กับกิเลสชนิดนี้
ก็ยังมองไม่เห็น แก้ไม่ตก ถอนไม่ขึ้น
กิเลสชนิดที่มองไม่เห็นนี้
ก็เลยกลายเป็นภัยแก่ท่านเองอีกหลายภพหลายชาติ
ถ้าจะคิดไปหน้าเดียว ไม่พิจารณาด้วยปัญญาให้ทั่วถึง
ก็อาจสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็ได้
ซึ่งเหมือนหนทางเดินที่เราเข้าใจว่าเป็นทางเตียนโดยถ่ายเดียว
ก็ไม่ค่อยจะระวังอันตราย
แต่ว่าเสี้ยนหนามหรือเศษแก้วแตกอาจแทรกอยู่ในหนทางนั้นก็ได้
ในเมื่อเดินไปไม่ระวังก็ตำเท้าให้ได้รับความเจ็บปวดเดือดร้อนแก่ตัวเอง
นี่โทษเกิดขึ้นเพราะความตายใจเกินไป
ไม่มองด้วยสายตาให้ทั่วถึง
อนึ่งจิตนี้เมื่ออยู่ตามธรรมดาของตนก็เป็นของละเอียดอยู่แล้ว
เมื่อได้รับอบรมในทางที่ถูกยิ่งละเอียดขึ้นไป
ส่วนกิเลสเล่าก็ละเอียดไปตามกัน
อาศัยปัญญาเท่านั้น จะแก้กิเลสส่วนนี้ได้
ความสำคัญว่าอย่างนั้นอย่างนี้
อันนี้เป็นตัวสัญญา จะแก้กิเลสอย่างละเอียดไม่ได้
แก้ได้แต่ส่วนหยาบเท่านั้น
ดังนั้น ท่านจึงสอนให้อบรมปัญญา
การอบรมปัญญา ก็ได้แก่การค้นคิดในขันธ์ ๕
เอาขันธ์ ๕ เป็นหินลับ ปัญญาก็กล้าสามารถตัดกิเลสอย่างละเอียดได้
ก็พ้นทุกข์ได้ โดยไม่ต้องสำคัญตน
เมื่อพอแก่เหตุแก่ผลแล้ว
คำว่า "อมตํ หรือวิสุทธิธรรม" ก็เป็นขึ้นเอง
โดยไม่ต้องเสกสรรหรือสำคัญใดๆ
ใครๆ จะแต่งผลไม่ได้ แต่งได้แต่ตัวเหตุเท่านั้น
อนึ่ง การพิจารณาขันธ์ ๕ คือ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็คือการพิจารณาเรื่อง
ความเกิดความดับของขันธ์ ๕ นั้นเอง
ทั้งที่เป็นส่วนอดีต อนาคต และ ปัจจุบัน
มีความเกิดความดับเป็นอันเดียวกัน
พิจารณาให้เห็นเป็นของไม่น่าไว้ใจหรือนอนใจ
ซึ่งเรียกว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เหมือนกันหมด
ต่อจากนั้นก็ทวนเข้ามาพิจารณาจิต
ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งอารมณ์ทั้งหลายอีก
ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นมหาโจรผู้สั่งสมกิเลสไว้ในตัวอีกเหมือนกัน
จึงควรพิจารณาจิตผู้รู้
ซึ้งธรรมทั้งหลายให้เห็นเป็นความจริงเสมอกับธรรมทั้งหลายอีก
ไม่อย่างนั้นจิตก็จะสำคัญว่าตนฉลาดเพราะไปรู้ธรรมทั้งหลาย
เลยลืมทวนกระแสเข้ามาพิจารณาและรู้เท่าตัวของตัวเอง
ประการหนึ่ง เมื่อจิตยังเพลินไปรู้
หรือตำหนิติชมธรรมส่วนอื่นว่าดีว่าชั่วอยู่ตราบใด
พึงทราบเถิดว่าจิตนั้น
ยังเป็นอวิชชาอยู่ตราบนั้น จัดว่ายังไม่ฉลาดพอ
และจัดว่ายังพ้นทุกข์ไม่ได้ เพราะยังหลงตัวคือจิตอยู่
การพิจารณาที่จะให้รอบคอบในขันธ์ทั้งหลาย
ทั้งที่เป็นขันธ์นอกขันธ์ใน และจิตเรา
ซึ่งนอกจากขันธ์ทั้งสองประเภทนั้น เป็นของสำคัญไม่น้อย
จิตนี้จะใช้ให้พิจารณาธรรมประเภทใด ทั้งใกล้ทั้งไกล
ทั้งหยาบทั้งละเอียด ทั้งภายนอกภายใน
พอรู้ได้เห็นได้ไม่ยากนัก
แต่จะทวนเข้ามาพิจารณาจิตนี้ซิสำคัญยิ่ง
เมื่อกลับเข้ามาพิจารณาตรงนี้ได้แล้ว รู้ตรงนี้แล้ว
ว่าเป็นความจริงชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากความจริงใดๆ ทั้งหมด
พร้อมทั้งความไม่ยึดมั่นถือมั่นเสมอธรรมทั้งหลายแล้ว
นั่นแหละจึงจะหมดอวิชชาและอุปาทาน
จะปฏิญญาณตนว่าหลุดพ้นหรือไม่ก็หมดปัญหาในตัว
ดังนั้น ท่านผู้สิ้นจากความสำคัญไรๆ แล้ว
จึงเป็นเหมือนปิดปาก ไม่อยากพูดสุ่มสี่สุ่มห้า
ไม่อยากอวดตัวไม่อยากทดลอง
เมื่อปรากฏเฉพาะหน้าก็ดูไป ฟังไป ไม่อาลัยใน
ความอยากดูอยากฟังอีก
ในเมื่อรูปเสียงเป็นต้น ผ่านพ้นไป
หมดคำว่าตัวดี ตัวชั่ว อยู่กลางๆ ตามความจริง
เพราะคำว่าดีหรือชั่วเป็นเหมือนสีย้อม
เมื่อจิตบริสุทธิ์แล้ว หมดเรื่องเสกสรรเหมือนน้ำที่บริสุทธิ์แท้ไม่มีสีฉะนั้น เอวํ.
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
(รวบรวมโดย คุณเอี๋ยน ธัมมัญญู จ.จันทบุรี)