ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติศาสตร์ ศิลปและวัฒนธรรม  (อ่าน 1216 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
กระทู้รวบรวมเรื่องราวในอดีต

ประวัติศาสตร์ , ศิลปกรรม และ วัฒนธรรม

.
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติศาสตร์ ศิลปและวัฒนธรรม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2013, 10:46:18 am »
พระจริยวัตรอันงดงามของ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373524135&grpid=03&catid=&subcatid=-



สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม ๒๕๕๖

 

 

 

“---จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยคนนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้น ที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า---”


เป็นพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ตรัสกับหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ที่เรียกกันในครอบครัวว่าหญิงเหลือ พระธิดาซึ่งมีหน้าที่บริหารเงินค่าใช้จ่ายที่บ้านซินนามอลฮอลล์ ปีนัง ครั้งที่มีพระประสงค์จะซื้อหนังสือเล่มหนึ่งในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวกำลังขัดสน

 

ภาวะขัดสนทางเศรษฐกิจของหัวหน้าราชสกุลดิศกุล เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงพาครอบครัวส่วนหนึ่งไปประทับที่ปีนังหลังจากที่คณะราษฎรยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้พยายามปราบปรามผู้ที่คาดว่าจะเป็นอันตรายกับรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีทั้งพระบารมีและผู้คนให้ความเคารพนับถือ จึงเป็นที่หวาดระแวงของรัฐบาลขณะนั้น ซึ่งได้พยายามบีบคั้นกดดันให้พระองค์พ้นจากราชการ แม้จะเป็นหน้าที่ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองแต่เป็นงานที่ทรงรักและผูกพัน คือ เสนาบดีกระทรวงมุรธาธรและนายกราชบัณฑิตยสภา เมื่อทรงพ้นจากราชการแล้วก็ยังทรงถูกตัดเบี้ยบำนาญซึ่งทรงเคยรับอยู่เดือนละ ๓,๖๐๐ บาท เหลือเพียง ๑,๕๐๐ บาท เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยากทั้งปวงดังที่ตรัสกับพระธิดาถึงพระดำริในการเสด็จไปประทับที่ปีนังว่า


 “---พ่อยังมีลูกศิษย์และเพื่อนฝูงทั่วพระราชอาณาจักร เขาไม่มาหาก็ดูเป็นอกตัญญู ถ้ามาก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเจ้า เราให้สุขเขาไม่ได้ก็อย่าให้ทุกข์เขา ไปเสียให้พ้นดีกว่า เราก็สบายเขาก็สบาย---”


ที่ปีนังทรงดำรงพระชนมชีพอย่างประหยัดมัธยัสถ์ตามภาวะเศรษฐกิจของครอบครัวซึ่งค่อนข้างฝืดเคือง เพราะตลอดพระชนมชีพไม่ทรงเคยประกอบกิจการอื่นนอกจากรับราชการ เบี้ยบำนาญก็ถูกปรับลดลงครั้งแล้วครั้งเล่าจนเหลือเพียงเดือนละ ๙๖๐ บาท เงินปีอันเป็นเงินพระราชทานปีละ ๖,๐๐๐ บาท เบี้ยหวัดของพระธิดาองค์ละ ๘๐ บาทต่อปี เฉลี่ยแล้วทั้งครอบครัวมีรายได้ตกเดือนละ ๑,๔๘๐ บาท ประมาณ ๖๔๐ เหรียญ จากเงินจำนวนนี้เองที่ต้องทรงดำเนินพระชนมชีพในแต่ละเดือน มีค่าเช่าบ้านซินนามอนฮอลล์เดือนละ ๑๑๐ เหรียญ นอกนั้นเป็นค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูสมาชิกในบ้าน ๑๗ คน คือ พระองค์ ๑ พระธิดา ๓ พระองค์ที่ทรงติดตามไปรับใช้ใกล้ชิด คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย หม่อมเจ้าหญิงพิลัยเลขา และหม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุ ผู้ตามเสด็จอีก ๕ คน คนรับใช้หญิง ๓ คน ชาย ๒ คน คนขับรถและคนทำสวนอีกอย่างละ ๑ คน


หม่อมเจ้าหญิงพัฒนายุทรงรับหน้าที่บริหารเงินค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว การใช้จ่ายเป็นไปอย่างประหยัดและรู้คุณค่าของเงินทุกบาททุกสตางค์ด้วยการปรับค่าใช้จ่ายที่จะทำให้สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น เช่น เปลี่ยนโคมไฟฟ้าให้เล็กลง บอกเลิกโทรศัพท์และเตาไฟฟ้า เป็นต้น ในส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า “---คิดดูค่ากินอยู่ปีนังถูกกว่าอยู่หัวหินเสียอีก และหาอะไรกินก็ไม่ยาก---” จึงสามารถที่จะทรงดำรงพระชนมชีพได้อย่างสบายและสมพระเกียรติ

 

 

ในส่วนพระองค์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงดำเนินพระชนมชีพอย่างสงบและสมถะ จะไม่ทรงพบปะกับคนไทยที่เดินทางมาปีนังแม้จะเป็นคนรู้จักมักคุ้น แต่จะทรงต้อนรับหากผู้ใดจะเสด็จหรือมาหาพระองค์ยังที่ประทับ ทั้งนี้เพราะทรงตระหนักพระทัยดีว่ารัฐบาลไทยขณะนั้นยังคงระแวงพระองค์อยู่ จึงไม่ทรงปรารถนาจะนำความเดือดร้อนไปให้แก่ผู้ใด แม้จะทรงขัดสนปานใดก็มีพระขัตติยะมานะ ครั้งหนึ่งมีผู้หวังดีล่วงรู้ถึงความลำบากขัดสนเรื่องค่าใช้จ่ายในการครองชีพและพระสุขภาพพลานามัย จึงจะพยายามช่วยเหลือให้ได้เสด็จกลับเมืองไทย แต่ทรงปฏิเสธความช่วยเหลือ ตรัสถึงเหตุผลว่า

 

 

“---ฉันมีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย อายุถึงปูนนี้แล้ว เหตุใดจะเอาวันเหลือข้างหน้าอีก ๒-๓ วัน มาลบวันข้างหลังที่ได้ทำมาแล้ว---”


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในซินนามอนฮอลล์อ่านเขียนหนังสือบันทึกนิพนธ์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ทรงสนพระทัย ทรงมีความสุขกับการส่งพระหัตถเลขาโต้ตอบกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระอนุชาร่วมพระชนกซึ่งมีพระชนมายุไล่เลี่ยสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เพราะทรงสนพระทัยและพอพระทัยในเรื่องเดียวกันสิ่งเดียวกัน พระหัตถเลขาที่ทั้ง ๒ พระองค์ทรงมีโต้ตอบกันไปมา เป็นเสมือนการได้พูดคุยกันในสิ่งที่ทรงพอพระทัยมีความสุขทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งทรงถือเป็นกิจวัตรที่ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอไม่เคยขาดเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๙ ปี


พระหัตถเลขาโต้ตอบดังกล่าวมีเรื่องราวต่างๆ ทั้งความคิดเห็นส่วนพระองค์ที่เกิดจากประสบการณ์ในพระชนมชีพและค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ ในทุกๆ ด้าน เช่น ด้านศิลปะ วรรณคดี อักษรศาสตร์ สถาปัตยกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รัฐประศาสนศาสตร์ ตลอดจนโบราณคดีและประวัติศาสตร์


พระหัตถเลขาโต้ตอบที่ทรงนี้ ต่อมาได้กลายเป็นหนังสือวิชาการที่ทรงคุณค่า ซึ่งนักวิชาการปัจจุบันใช้เป็นหนังสือค้นคว้าอ้างอิงได้อย่างมั่นใจว่าถูกต้องแน่นอน ในนามของหนังสือชื่อ “สาส์นสมเด็จ”

 

ในการที่ทรงพระนิพนธ์สาส์นสมเด็จนั้น บางครั้งต้องทรงค้นคว้าอ้างอิงจากหนังสือและเอกสารต่างๆ ทรงใช้ทั้งหนังสือที่ทรงนำไปจากเมืองไทยและหนังสือที่พระโอรสธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ พระญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งทราบถึงความโปรดปรานของพระองค์ พากันส่งหนังสือทั้งเก่าและใหม่มาถวายมาให้ทรงมิได้ขาด ด้วยเหตุนี้จึงไม่ทรงมีรายจ่ายเกี่ยวกับการซื้อหนังสือต่างๆ แต่อย่างไร


เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นต้นเหตุแห่งพระดำรัสข้างต้นนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย พระธิดา ทรงเล่าไว้ว่า “---วันหนึ่งเด็จพ่อท่านเสด็จไปพบหนังสือขายที่ร้านขายหนังสือเล่มหนึ่ง ราคา ๘ เหรียญ ท่านอยากทรง แต่เห็นว่าแพงเกินกำลัง ก็ยืนเปิดๆ ทอดพระเนตร แขกผู้ขายเข้าใจทูลว่า ‘เอาไปก่อนเถอะ จะใช้เงินเมื่อไรก็ได้’ ท่านก็เอามาตรัสบอกหญิงเหลือผู้เก็บเงินว่า ‘แขกมันเชื่อพ่อ เธอเอาไปใช้มันเสียทีนะ’ เวลานั้นกำลังจะสิ้นเดือน หญิงเหลือก็หัวเสียบ่นออกไปว่า ‘ดี ไม่กินละข้าว กินหนังสือแทน’ ท่านทำเป็นไม่ได้ยิน แล้วเสด็จออกไปจากห้อง สักครู่ใหญ่ๆ เสด็จกลับเข้ามา ตรัสว่า ‘จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยคนนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้น ที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า---’ เรานิ่ง ท่านก็ออกไปเขียนหนังสือต่อ---”


 

เมื่อพระธิดา ๓ พระองค์หายตกตะลึงแล้ว “---หญิงเหลือเขาลุกขึ้นคว้าเงินในลิ้นชักได้อีก ๑๒ เหรียญ เขาก็เอาออกไปส่งถวาย ว่ายังมีซื้อได้อีกเล่มหนึ่ง ท่านก็ทรงพระสรวลไม่ว่าอะไร ตามธรรมดาไม่ทรงเก็บเงินเอง ขอมีติดกระเป๋าเพียง ๑ เหรียญ เผื่อรถเสียจะได้กลับบ้าน---”


พระดำรัสดังกล่าวของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แสดงอย่างชัดเจนถึงพระจริยวัตรอันงดงาม ซึ่งตลอดพระชนมชีพของพระองค์ทรงทุ่มเทให้กับการสนองพระเดชพระคุณพระมหากษัตริย์ไทยถึง ๓ รัชสมัย จงรักภักดีต่อผืนแผ่นดินไทย แม้เมื่อทรงมีอันต้องเสด็จไปประทับในต่างแดนอย่างลำบากยากแค้น แต่พระจริยวัตรอันงดงามของพระองค์ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ทรงรักษาพระเกียรติยศและทุ่มเทพระสติปัญญาให้กับงานที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์จนตลอดพระชนมชีพ


คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติศาสตร์ ศิลปและวัฒนธรรม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 14, 2013, 10:47:23 am »
เล่าเรื่อง พระเพทราชา ตกกระไดพลอยโจน
-http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373427780&grpid=03&catid=&subcatid=-



ส.สีมา ศิลปวัฒนธรรม

 

 

 

 

ชื่อ “เพทราชา” เป็นชื่อที่ผู้เขียนคุ้นเคยอย่างมาก มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมต้น ด้วยเป็นชื่อถนนที่อยู่หน้าโรงเรียน และพวกเราก็เดินบนถนนนี้แทบทุกวัน คือ ถนนพระเพทราชา เป็นถนนเล็กๆ แคบและสั้น ทอดยาวตลอดกำแพงวังด้านใต้ของพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ทางตะวันออกจรดถนนสรศักดิ์และทางตะวันตกจรดถนนพระราม ความยาวของถนนเท่ากับความยาวของกำแพงวัง ประมาณ ๑๘๐ เมตรเท่านั้น พื้นถนนลาดยางดูไม่สู้เรียบร้อย ข้างถนนด้านกำแพงวังมีเพิงพิงกำแพงมีหลังคาคลุม เป็นคอกม้ายาวไปตามกำแพง สลับกับเป็นโกดังรกรุงรัง เก็บฟืนและกระสอบถ่าน ส่วนของถนนอีกด้านเป็นบ้านเรือนเลียบมาจนจรดปากประตูโรงเรียน


ผู้เขียนในขณะนั้น ไม่ทราบที่มาที่ไปของชื่อนี้มากนัก รู้แต่เพียงว่าเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง ผู้เป็นต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง คือ พระเพทราชา หรือพระมหาบุรุษ และรู้สึกต่อมาว่า ถนนเล็กๆ หลังวังสายนี้ ไม่สมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ระดับต้นราชวงศ์ ผู้ทรงเคยกระทำการรัฐประหาร ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (๒๒๓๑) ไม่เช่นนั้นสยาม (อยุธยา) อาจถูกยึดครองโดยฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปีนั้นเลยก็เป็นได้ บางทีจะมีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะถนนในเมืองอีกสายหนึ่ง จากประตูวังด้านตะวันออก (ประตูพยัคฆา) ทอดผ่านวัดราชา (สวนราชานุสรณ์) ไปจรดถนนหน้าพระธาตุ ยังใช้ชื่อเจ้าเมือง คือ ถนนพระยากำจัดฯ (พ.ต.อ. พระยากำจัดโสณฑ์ทุจริต ๒๔๖๖-๖๙) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นชื่อถนนสายสำคัญสายนั้นได้ ให้ความรู้สึกลึกๆ ถึงความแตกต่างบางประการ ชวนให้ค้นหา
สมเด็จพระเพทราชา ได้ราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระมหากษัตริย์ต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวงและอยู่ในราชสมบัตินาน ๑๕ ปี เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนมายุได้ ๕๑ พรรษา


เมื่อได้ราชสมบัติใหม่ๆ ทรงเจริญพระราชกรณียกิจตามประเพณี คือทำนุบำรุงพระศาสนา และสร้างวัดเป็นอันมาก เช่น วัดพญาแมน วัดบ้านป่าตอง และวัดบรมพุทธาราม เป็นต้น

 

ส่วนพระราชกรณียกิจทางการเมืองที่สำคัญมากน่าจะมี ๓ กรณี อย่างแรกเป็นกรณีสำคัญก่อนได้ราชสมบัติ ครั้งยังเป็นพระเพทราชา จางวางกรมช้าง หรือเจ้ากรมช้างในฐานะรักษาการสมุหกลาโหม กับอีก ๒ กรณีหลัง คือ การปราบกบฏธรรมเถียรและยุติการต่อต้านของสองเมืองใหญ่ คือ นครราชสีมากับนครศรีธรรมราช ส่วนกรณีสุดท้ายคือกรณีขับไล่กองทหารฝรั่งเศสจากป้อมบางกอกให้พ้นจากสยาม

 

กรณีการเมือง (ก่อนได้ราชสมบัติ) ก็คือการจับตาวิไชยเยนทร์ เมื่อเขานำทหารฝรั่งเศสพร้อมอาวุธทันสมัยเข้ามาประจำการที่ป้อมบางกอก ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย เพราะอาวุธเหล่านั้นมีอานุภาพเหนือกว่าทางอยุธยามาก แม้มีทหารเพียงกองร้อย ก็สามารถเอาชนะทหารไทยในระกับกองทัพได้ พระเพทราชาเคยติงเรื่องนี้ในที่ประชุมขุนนางต่อหน้าพระพักตร์เรื่องการคบหากับต่างชาติที่ต้องระมัดระวัง สมเด็จพระนารายณ์ในเวลานั้นทรงชื่นชอบพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และโปรดวิไชยเยนทร์เป็นพิเศษ และทรงโกรธการติงของพระเพทราชา แต่ก็ระงับไว้ได้ ถ้าเป็นขุนนางผู้อื่นอาจถูกโบยได้ แต่นี่เป็นพระเพทราชาที่มีฐานะเป็นทั้งพระญาติสนิท เพราะแม่จริงของพระเพทราชา คือแม่นมของพระนารายณ์ นั่นคือเจ้าแม่วัดดุสิต นอกจากนั้นยังเป็นศิษย์พระอาจารย์องค์เดียวกัน (พระอาจารย์พรหม) ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ พระเพทราชาเป็นคนลุ่มลึกเยือกเย็นองอาจกล้าหาญ และเฉลียวฉลาด ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้จักดีมานานแล้ว


พระเพทราชาเวลานั้น ดำรงตำแหน่งรักษาการสมุหกลาโหมอีกตำแหน่งหนึ่ง     มาตั้งแต่ปี ๒๒๑๙ เป็นตำแหน่งที่ต้องรับผิดชอบดูแลความมั่นคงของบ้านเมือง จึงจำเป็นต้องจับตาดูการเคลื่อนไหวของวิไชยเยนทร์อย่างเป็นพิเศษ ความจริงก็คือ วิไชยเยนทร์จะใช้กองกำลังทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอกทำการรัฐประหารยึดอำนาจ กองทหารนั้นควบคุมโดยนายพลเดส์ฟาร์จ ทั้งนี้จะใช้กองกำลังเพียง ๖๐-๘๐ คน ก็สามารถดำเนินการได้เพราะมีอาวุธที่ดีกว่ามาก
พระเพทราชามีทหารน้อยกว่า และรู้ดีถึงสมรรถภาพของทหารฝ่ายตนดี


นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งชี้ว่า พระเพทราชาฉลาดพอที่จะอาศัยพระสงฆ์ตามวัดต่างๆ ในเขตเมืองลพบุรีและปริมณฑล ทั้งนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากพระสังฆราชเมืองลพบุรี ณ วัดราชา ทั้งในเรื่องการสอดแนมการเคลื่อนไหวต่างๆ การก่อม็อบและอาจใช้เป็นกำลังรบถ้าจำเป็น การอาศัยกำลังจากพระสงฆ์ในกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น เป็นวิธีที่แนบเนียน ซึ่งวิไชยเยนทร์ไม่เข้าใจ เขารู้แต่เพียงว่า พระเพทราชาไม่มีกำลังรบที่ดีๆ อยู่ในมือเลย กว่าจะระดมคนได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน กระนั้นก็ตามวิไชยเยนทร์ก็มิได้ตายใจ เร่งกระชับสัญญาและเอาอกเอาใจนายพลเดส์ฟาร์จมากขึ้น มีการพบปะ เลี้ยงดูกันบ่อยครั้งขึ้น


 

 

เมื่อถึงเดือนเมษายน ๒๒๓๑ จึงเป็นเดือนของการชิงไหวชิงพริบกันอย่างมากระหว่างพระเพทราชากับวิไชยเยนทร์ บรรยากาศการเมืองในเวลานั้นจึงสับสนอึมครึมอย่างมาก ดังบรรยายไว้ในจดหมายของบาทหลวงผู้หนึ่ง ชื่อบาทหลวงมาติโน ที่ฉายให้เห็นภาพความวุ่นวาย ปั่นป่วนของข่าวลือต่างๆ ที่ล้วนเขย่าขวัญคณะบาทหลวงให้หวาดหวั่นอย่างที่สุด


ย้อนกลับไปเดือนมีนาคม ก่อนหน้านั้นพระเพทราชาได้ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงอยู่ในฐานะได้เปรียบกว่าในการสั่งการต่างๆ โดยอ้างพระราชโองการ แต่ก็เต็มไปด้วยความระมัดระวังในการใช้อำนาจสั่งการนั้นอย่างยิ่ง วิไชยเยนทร์เองก็เชื่อมั่นในกองทหารฝรั่งเศสของนายพลเดส์ฟาร์จ อย่างเต็มที่


ราวๆ ต้นเดือนพฤษภาคม พระอาการประชวรก็ทรุดลงอย่างหนักด้วยโรคไอหืด (asthmatic cough) นั่นย่อมเป็นโอกาสส่งให้พระเพทราชาชิงกระทำการรัฐประหารโดยทันที ในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๒๓๑ โดยมีหลวงสรศักดิ์หรือพระยาศรีสรศักดิ์ เป็นกำลังสำคัญ เสริมด้วยม็อบชาวบ้านและชาววัดในเขตเมืองและปริมณฑลเป็นตัวช่วย


 

 

วิไชยเยนทร์เอง ก็อยู่ในวิสัยและเวลาเดียวกันที่จะกระทำการรัฐประหาร แต่ก็เกิดการขัดข้องขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนายพลเดส์ฟาร์จเกิดลังเลใจไม่ยอมยกกองทหารฝรั่งเศสขึ้นมาลพบุรีตามสัญญานัดหมาย และนี่ก็คือจุดจบของวิไชยเยนทร์อย่างไม่มีข้อสงสัย เขาถูกจับและถูกขังอยู่ระยะหนึ่งเพื่อสอบสวนที่ซ่อนทรัพย์ และเพื่อการถูกทรมานก่อนจะนำไปประหารชีวิตที่วัดซาก ทางเหนือนอกกำแพงเมืองลพบุรี เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๒๓๑ เวลาบ่ายสี่โมงเย็น


 

 

สำหรับพระปีย์    ราชบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ ผู้ซึ่งเคยถูกคาดหมายว่าจะได้รับราชสมบัติโดยการสนับสนุนของวิไชยเยนทร์ก็ถูกลอบสังหารก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ณ ริมกำแพงแก้ว พระที่นั่งสุทธาสวรรค์ เมืองลพบุรี โดยศพถูกนำไปฝังที่วัดซากเช่นเดียวกัน เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงรู้เรื่อง ก็ทรงทุกข์โศกอย่างหนัก และออกพระโอษฐ์สาปแช่งต่างๆ    กระนั้นก็ตามแม้พระอาการโรคจะทรุดลงอย่างรวดเร็วก็ทรงมีพระสติดี โดยให้นิมนต์พระสงฆ์จำนวนหนึ่งเข้ามาในเขตพระราชฐานชั้นกลาง และพระราชทานพระที่นั่งดุสิตฯ ให้เป็นพระอุโบสถกระทำพิธีบวชขุนนางและข้าราชการฝ่ายในที่จงรักภักดีเหล่านั้นประมาณ ๖๐ คน เพื่อพ้นภัยรัฐประหาร

 

 

 

พระที่นั่งดุสิตฯ ได้กลับคืนความเป็นพระที่นั่งเดิมอีกครั้งหนึ่งโดยพิธีผาติกรรม ถ่ายโอนความเป็นพระอุโบสถไปยังวัดขวิด (วัดกระหวิด วัดกรวิท หรือวัดกวิศรารามราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นวัดเก่าริมวังด้านทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นี่เอง ทิ้งช่วงเวลาไว้นานกว่า ๒๐๐ ปี


 

 

จนถึงเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จสวรรคต พระศพคืนกลับไปยังอยุธยา ก่อนหน้านี้เจ้าฟ้าอภัยทศและเจ้าฟ้าน้อยพระอนุชา ซึ่งมีสิทธิ์โดยประเพณีที่จะได้พระราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนารายณ์ และสมเด็จพระเพทราชาปรารถนาจะให้เป็นเช่นนั้น แต่เจ้าฟ้าทั้งคู่ก็ถูกลอบปลงพระชนม์อย่างลึกลับ นัยว่าเป็นบัญชาของหลวงสรศักดิ์


ในที่สุดพระเพทราชาก็จำได้ราชสมบัติ แบบตกกระไดพลอยโจน หรือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแบบเลยตามเลย


 

 

เมื่อได้ราชสมบัติแบบไม่ทรงตั้งใจเช่นนั้น ไม่นานนักก็จำต้องปราบกบฏจากอ้ายธรรมเถียร ที่สำคัญตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ และปราบเจ้านครใหญ่ ๒ นคร คือ เจ้านครราชสีมาและเจ้านครศรีธรรมราช และการปราบปรามได้เสร็จสิ้นลงโดยไม่ช้า


 

 

ส่วนกรณีหลังได้ราชสมบัติอีกกรณีหนึ่ง คือ กรณีขับไล่ทหารฝรั่งเศสที่ป้อมบางกอก ที่อยู่ในความควบคุมของนายพลเดส์ฟาร์จ และที่ป้อมเมืองมะริด ในความควบคุมของนายพลดูบรูอัง เฉพาะที่ป้อมบางกอกค่อนข้างใช้เวลาและมีการสูญเสียของทั้ง ๒ ฝ่าย ครั้นทำท่าจะสงบศึกกันได้ แต่เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ทำให้กลายเป็นศึกยืดเยื้อโดยไม่จำเป็น ในที่สุดสงครามก็ยุติลงโดยไทยได้ตัวประกัน ๔ คนคืนมา   (ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ๒ คน ล่ามและทหารรับใช้) กับได้สมบัติฝรั่งเศส และได้กักกันนักบวชจำนวน ๗๐ คน ไว้ระยะหนึ่งก่อนจะให้อิสรภาพ โดยเฉพาะบุตรชาย ๒ คน ของนายพลเดส์ฟาร์จ ซึ่งเป็นตัวประกัน ซึ่งท่านนายพลก็โหดเหี้ยมพอที่จะยอมเสียบุตรชายทดแทนกับการกระทำขัดคำสั่งของพระเพทราชา อย่างไรก็ดีทรงมีเมตตาให้อิสรภาพแก่บุคคลเหล่านั้นทั้งหมด รวมทั้ง มารี กีมาร์ ภรรยาและบุตรของฟอลคอนอีกคนหนึ่ง โดยฝ่ายอยุธยายอมสูญเรือสินค้า ๒ ลำ ที่ท่านนายพลขอยืมไป คือเรือชื่อสยามและละโว้ กับเงินอีก ๓๐๐ ชั่ง

 

 

สมเด็จพระเพทราชา หรือพระมหาบุรุษ อยู่ในราชสมบัตินาน ๑๕ ปี จึงสวรรคตเมื่อลุศักราช ๑๐๖๕ ปีมะแม เบญจศก

 

 

กล่าวกันว่าสมเด็จพระเพทราชา เป็นกษัตริย์ที่มีพื้นฐานคนบ้านนอก บ้านเดิมอยู่บ้านกร่าง หรือบ้านพลูหลวง ชานเมืองสุพรรณบุรี แต่ได้ดิบได้ดีเพราะมีมารดาเป็นแม่นมสมเด็จพระนารายณ์ พระเพทราชาบังอาจกระทำการรัฐประหาร เป็นกบฏชิงราชสมบัติ กับสังหารวิไชยเยนทร์ ผู้เสมือนเป็นกำลังสำคัญทางการต่างประเทศและเศรษฐกิจ กับช่วยนำพาสยามให้พ้นภัยจากฮอลันดา ประกอบกับมีคุณูปการแก่บ้านเมืองอีกมาก ข้อมูลที่ค่อนข้างจะคลาดเคลื่อนไม่สมบูรณ์ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง กับการด่วนสรุปของนักประวัติศาสตร์บางคนและผู้ปกครองยุคหนึ่งนั้น ทำให้ภาพของสมเด็จพระเพทราชาที่สง่างาม บูดเบี้ยวไปอย่างน่าอนาถใจ นี่น่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ถนนพระเพทราชาตามพระนามนั้น เป็นถนนแคบสั้น สกปรกรกรุงรัง ขาดความสวยงาม แม้ในปัจจุบันจะดูดีขึ้นมากแล้วก็ตาม และหรือว่าเพราะได้ราชสมบัติแบบตกกระไดพลอนโจน?

 

 

 

ผู้เขียนและผู้ร่วมเดินทางเข้าไปถึงบ้านกร่าง บ้านพลูหลวง ซอย ๙ ชานเมืองสุพรรณบุรี ได้รับการต้อนรับดีจากพี่ ส.ว. (สูงวัย) ผู้หนึ่งผู้มีเมตตาพร้อมภรรยาของท่าน (น.อ. สำอาง กลิ่นคำหอม ร.น.) ที่ตรงซอยนั้นสุดซอยเป็นศาลเจ้าพ่อขุนเณร อดีตนักรบเลือดสุพรรณผู้กล้าแกร่ง ย่านนี้เป็นชาวบ้านพลูหลวงทั้งหมด ดูสงบร่มรื่น น่าจะหลายๆ เจนเนอเรชั่น ถัดมาจากสมเด็จพระเพทราชา ได้ถูกบอกเล่าให้รับรู้กันเงียบๆ ปากต่อปากมาจนถึงปัจจุบัน คุณพี่ผู้การทหารเก่าย้ำว่า ผู้ที่รู้เรื่องราชวงศ์บ้านพลูหลวงดีมาก มีอยู่ ๒ ท่าน ท่านหนึ่งคือ คุณมนัส โอภากุล (เสียชีวิตแล้ว) และคุณน้าเจ้าของร้านสังฆภัณฑ์ในตลาดสุพรรณบุรีอีกท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนจะต้องติดตามไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สักวันหนึ่งให้จงได้

 

 

 

อันความเป็นไปของสมเด็จพระเพทราชา กรณีก่อการรัฐประหาร ต่อต้านวิไชยเยนทร์ มีรายละเอียดที่น่าสนใจอีกมาก อันแสดงให้เห็นถึงปัญญาอันลึกซึ้งในการวางแผนการรัฐประหารอย่างระมัดระวังและรอบคอบเป็นที่สุด เพราะหากว่าผิดพลาดเมื่อไร ก็ย่อมถึงตายเมื่อนั้น ส่วนกรณีหลังคือขับไล่ทหารฝรั่งเศสออกจากป้อมบางกอก แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตาที่น่านับถือเป็นอย่างยิ่ง
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)