มีรัศมีพระอาทิตย์ เป็นรูปเปลวเพลิงอยู่โดยรอบ
นักบวชอินคา อาจสวมหน้ากากนี้
ระหว่างทำพิธีบูชาองค์สุริยเทพ อินติ
ช่างทองชาวอินคานั้นมีฝีมือเชี่ยวชาญ
ทำให้ทรัพย์สมบัติอันล้ำค่าของชาวอินคา
เป็นที่เย้ายวนให้ผู้พิชิตชาวสเปน
แผ่อิทธิพลมาสู่ ดินแดนนี้
อนิจจา.. หนทางอันทุรกันดารและห่างไกลทำให้ค่าไถ่จำนวนมหาศาลเดินทางมาไม่ทันกำหนด ผู้พิชิตชาวสเปนจึงปลงพระชนม์เชลยบรรดาศักดิ์เสีย เพราะคิดว่าชาวอินคาคงเบี้ยวแน่ ๆ แล้ว พอชาวอินคารู้ว่าจักรพรรดิของตนถูกสังหารเสียแล้ว จึงนำทองคำค่าไถ่ไปซุกซ่อนในที่เร้นลับในป่าดงดิบนั่นเอง ชาวสเปนที่ทราบเรื่องในภายหลังก็พยายามจะค้นหาทองค่าไถ่นี้อย่างบ้าคลั่ง แต่ก็ไม่เคยพบ (คนที่คลั่งมากกว่าใคร คงเป็นปิซาร์โร ผู้ไม่เคยได้ยินสำนวนไทย ๆ ว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม) ตำนานทองคำค่าไถ่ของชาวอินคาเป็นอันจบไปตรงนี้
กลับมาเข้าเรื่องของตำนานนครทองเอลโดรา โด้กันต่อ เบลาลกาซาร์นำเอาข้อเท็จจริงมาผูกกับตำนานของชาวอินเดียนแดง แล้วก็สรุปว่า ดินแดนลึกลับที่ชาวอินคาไปขนทองมานั้น ต้องเป็นดินแดนเดียวกับที่อินเดียนแดงชราเล่าเป็นแน่แท้ แม้ค่าไถ่จำนวนมหาศาลนั้นจะยั่วน้ำลายน่าค้นหาเพียงใด แต่ตามวิสัยบุรุษผู้มองการณ์ไกล เบลาลกาซาร์ยอมทิ้งเศษทองข้างทาง เพื่อค้นหาต้นตอของทองคำมหาศาล นั่นก็คือ นครในตำนาน เอลโดราโด้ นั่นเอง
แต่เบลาลกาซาร์ยังไม่ทันได้ออกเดินทางไป ค้นหาก็มีเรื่องอื่นมาขัดขวางเสียก่อน คณะนักล่าทองคำคณะอื่นจึงออกค้นหาแทน คือในปี ค.ศ.1536 กอนซะโล เจเมเนส จากโคลอมเบีย บุกขึ้นทางเหนือ ในขณะที่เกวซาดาข้าราชการชาวสเปนนำทหารบุกลงใต้ และเกวซาดานี่เองไปได้หลักฐานเพิ่มเติมจากอินเดียนแดงเผ่าชิบช่า ที่มีฐานะความเป็นอยู่ร่ำรวยอย่างน่าพิศวง ในวิหารใจกลางเมืองชิบช่ามีมัมมี่ของกษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วนับสิบ ๆ องค์นอนเรียงรายอยู่ แล้วที่ไม่ธรรมดาคือ ทุกพระองค์ถูกประดับประดาด้วยเครื่องทองล้นหลามมากมาย ส่วนเทวรูปที่อยู่ในวิหารนั้นมีพระเนตรที่ฝังด้วยมรกตเม็ดเท่าไข่ไก่ทั้งสอง ข้าง
ชาวชิบช่าบอกกับเกวซาดาว่า ทองและมรกตเหล่านี้ พวกเขาได้มากจากการค้าขายกับชนเผ่าลึกลับที่อยู่ลึกเข้าไปใจกลางป่าดิบ ซึ่งชาวเมืองนั้นจะมีแต่ทองคำกับเพชรพลอยเท่านั้นที่มาแลกเปลี่ยน แต่สิ่งที่เกวซาดาค้นพบตามข้อมูลของชาวอินเดียนแดงชิบช่า ก็มีแค่ทะเลสาบกัวตาวิตา ที่เป็นทะเลสาบในตำนานที่องค์ราชาแห่งนครทองเสด็จมาทำพิธีบูชาสุริยเทพเท่า นั้น ไม่ได้เห็นแม้แต่เศษทอง หรือชาวเมืองลับแลแม้แต่น้อย
คณะสำรวจอื่น ๆ อีกมากมายที่ออกค้นหาขุมทองแห่งเอลโดราโด้ แต่ทุกคณะล้วนประสบแต่ความล้มเหลว แม้ว่าบางคณะจะได้พบเครื่องทองรูปร่างแปลก ๆ อายุเก่าแก่มากจากชาวอินเดียนเผ่าต่าง ๆ ของอเมริกาใต้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเชื่อว่าดินแดนที่พบนั้นเป็นขุมทองเอลโดราโด้จริง แต่สิ่งที่กระตุ้นความปรารถนาให้ลุกโชนขึ้นมาก็เพราะว่าชาวอินเดียนเจ้าของ เครื่องทองเหล่านั้นล้วนเอ่ยอ้างแบบเดียวกันว่า ปู่ย่าตายายได้มาจากเมืองลับแลที่เต็มไปด้วยทองนั่นเอง
แต่การค้นหานครทองในตำนานก็ทำให้เรา ได้รู้จักกับนักรบสาวจอมโหดชนเผ่าอเมซอน ที่เข้าโจมตีคณะค้นหาของออเรลลาน่า จนถอยร่นแทบไม่ทัน ออเรลลาน่าเป็นคนมีความรู้ในวรรณคดีกรีก จึงตั้งชื่อแม่น้ำใหญ่ที่เขาเดินทางไปพบชนเผ่าที่น่าทึ่งนี้ว่า “เอมซอนน่า” (Amazonna) ตามชื่อของนักรบสตรีที่ปรากฎอยู่ในตำนานกรีกโบราณ ก็เป็นเกร็ดความรู้เล็ก ๆ ที่แทรกขึ้นมาระหว่างการค้นหาเอลโดราโด้
แม้จะผ่านมานานกว่าร้อยปี เรื่องราวของขุมทองเอลโดราโด้ก็ยังคงเย้ายวนใจคนอยากรวยอยู่เสมอ เช่นในปี ค.ศ. 1912 คณะนักสำรวจชาวอังกฤษ ถูกว่าจ้างโดยบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ขนเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยเพื่อใช้ในการค้นหาขุมทองนี้ แต่ทองที่พบนั้นกลับมีค่าน้อยกว่าเครื่องมือที่นำไปขุดหามันเสียอีก สรุปว่า รายการนี้เจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับตำนานนี้เสื่อมคลายลง
แต่ทว่า ในปี 1969 ความเชื่อเกี่ยวกับเมืองลับแลนี้ก็ทำท่าว่าจะเป็นจริงขึ้นมา เนื่องจากการขุดพบเครื่องทองอันลือชื่อริมฝั่งทะเลสาบเชียช่า ในโคลอมเบีย เครื่องทองนั้นทำด้วยทองคำธรรมชาติโซลิดโกลด์เป็นรูปสลักฝีมือประณีตของ บุรุษผู้ซึ่งคงเป็นกษัตริย์ ทรงประทับอยู่บนพระแท่นกลางแพใหญ่ แวดล้อมไปด้วยคณะนักบวชและเครื่องสักการะต่าง ๆ แน่นอนว่ามันต้องเป็นรูปสลักของกษัตริย์แห่งเอลโดราโด้ขณะประทับบนแพทองคำ เพื่อไปถวายเครื่องสักการะแด่สุริยเทพตามตำนานแน่นอน
แต่ก็แค่นั้น การค้นพบนี้อาจจะยืนยันการมีอยู่จริงของนครเอลโดราโด้ในตำนาน แต่การค้นหาตำแหน่งที่แน่นอนของนครแห่งนี้ ก็ยังคงความลึกลับให้นักสำรวจได้มีงานทำกันต่อไป อย่างไรก็ดี การค้นหาของนักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาในอเมริกาใต้ ก็พบสิ่งที่มีค่าไม่แพ้ทองคำเช่นกัน มันก็คือบ่อน้ำมันนั่นเอง ที่ขณะนี้มีค่าไม่ต่างจากทองเลยจริง ๆ