ทีวีดิจิตอลแบบไหนดีกว่ากัน: พลาสม่า แอลซีดี หรือแอลอีดี ?
-http://panarkom.blogspot.com/2013/06/blog-post_19.html-
วันนี้ใครไปที่ร้านขายโทรทัศน์หรือห้างแบบ Power Buy, Home Pro จะเห็นมีโทรทัศน์วางขายอยู่เรียงรายหลายแบบ แม้บางแบบหน้าตาคล้ายกัน แต่ราคาและเทคโนโลยีก็มีชื่อต่างกัน ผู้ซื้อจำนวนไม่น้อยต้องงงกลับไป ถามพนักงานก็มักได้คำอธิบายที่ฟังไม่สมเหตุผล ไม่รู้ว่ารายละเอียดมันมากไปหรืออะไร รู้สึกเหมือนตัวเองมีสติปัญญาเบาๆ...พลาสม่า แอลซีดี แอลอีดี ?
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านโทรทัศน์และเครื่องเสียงระดับ Consumer electronic มีพัฒนาการไปมาก จนผู้ผลิตเองก็มักจะไม่ได้ให้รายละเอียดทางเทคโนโลยีหรือสเป๊กในการขาย แต่พยายามใช้อารมณ์ ความงาม และคุณสมบัติเชิงนามธรรมของสินค้าในการโน้มน้าวขาย ผลักภาระการอธิบายไปที่พนักงานขายที่ไม่มีพื้นฐานเพียงพอ
ในส่วนพนักงานขาย ประสบการณ์ตรงที่เคยเจอเอง บอกได้ว่าทุกที่มีพนักงานขายที่ไม่มีคุณภาพ มุ่งขายของโดยเน้นประโยชน์ของคนขายเอง คือเชียร์ขายอย่างเดียวเพื่อเอาค่าคอม ยิ่งยี่ห้อไหนมีอัดฉีดพิเศษ พนักงานก็จะพยายามยัดเยียดเชียร์ ถ้าเป็นพนักงานขายของบริษัทส่งมา ก็มักจะเชียร์ไปทางยี่ห้อของตัว เผลอๆก็ให้ข้อมูลลบกับยี่ห้อคู่แข่ง ...แต่ไม่ว่าพนักงานห้างหรือพนักงานบริษัท ต่างก็ไม่พยายามดูที่ความต้องการของผู้บริโภค ไม่ได้ช่วยในการตัดสินใจ ความรู้สึกของคนซื้อบางครั้งจึงรู้สึกเหมือนสินค้าเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมในการตบทรัพย์
ทีวีที่ไม่ควรซื้อแล้ว
อย่างหนึ่งที่วันนี้เห็น คือโทรทัศน์อนาล็อคแบบ CRT หรือทีวีหลอดภาพแบบเดิมแทบไม่มีให้เห็นแล้ว และถึงมีก็ควรถือว่าเป็นสุดทางของเทคโนโลยีชนิดนั้นแล้ว หากไม่มีเหตุจำเป็นอะไรอื่นก็ไม่ควรซื้อมาใช้ ส่วนโทรทัศน์จอแบนที่เห็นอยู่ นั่นจะเป็นเทคโนโลยีอนาคตต่อไป
ดังเคยบอกแล้ว ว่าโทรทัศน์ดิจิตอลที่จะออกขายต่อไปอีกไม่นานนัก จะต้องมีเครื่องหมายบอกชัดเจนว่าเป็นเครื่องรับทีวีดิจิตอล หรือ Digital Ready และกสทช.ได้เตรียมโลโก้ไว้ให้แล้ว ส่วนที่ขายๆอยู่นั้น แทบทั้งหมดเป็นทีวีในระบบอนาล็อค แม้ในข้อเท็จจริง พื้นฐานเทคโนโลยีของจอภาพจะเป็นแบบดิจิตอล แต่ภาครับของเครื่องเป็นแบบอนาล็อค ต่อไปถ้ามีการแพร่ภาพทีวีเป็นดิจิตอล เครื่องรับพวกนี้ก็จะต้องพ่วงกล่องดำทั้งสิ้น ถ้าจะให้แนะนำ ก็อยากบอกว่าถ้าไม่จำเป็นก็รอไปก่อน อย่ารีบซื้อตอนนี้
ทีวีระดับความคมชัดสูงหรือ HDTV
สำหรับโทรทัศน์ความคมชัดสูง บอกได้ว่าวันนี้เท่าที่เดินดู ก็เห็นแต่โทรทัศน์ความชมชัดสูงวางขายอยู่แทบทั้งสิ้น คาดว่าในอนาคต คงจะไม่มีใครทำโทรทัศน์ที่ไม่สามารถรับทีวีความคมชัดสูงได้ เนื่องจากนโยบายของ กสทช. ที่กำหนดให้มีโทรทัศน์ความคมชัดสูงถึง 7 ช่อง น่าจะกระตุ้นให้ผู้ชมหาเครื่องรับที่สามารถรับความคมชัดขนาดนั้นได้
ภาพจาก :
http://bit.ly/13Pz9ZdPlasma: โทรทัศน์จอแบนรุ่นแรกๆ เป็นโทรทัศน์ที่ใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าพลาสม่า (Plasma) หลักการแสดงภาพของเทคโนโลยีนี้เทียบเคียงให้เข้าใจง่ายก็คือคล้ายกับหลอดไฟนีออน คือในแต่ละช่องพิกเซลจะมีก๊าซอยู่ข้างใน เมื่อผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไปก๊าซก็จะปล่อยแสงออกมา (จึงเรีนกว่า Plasma) ในแต่ละ Pixel ยังแบ่งออกเป็นสามช่องย่อยสำหรับแม่สีสามสีโดยใช้สารเคลือบที่ต่างกัน การแปรความเข้มของกระแสไฟจะกระตุ้นสีที่แตกต่าง ส่วนความเข้มของภาพที่แสดงในแต่ละเซล จะควบคุมโดยเวลาที่ใช้ให้แสง (กระพริบนับเป็น 1000 ครั้งต่อวินาที) เทคโนโลยีนี้เป็นที่นิยมมากเมื่อราวสัก 10 ปีก่อนเนื่องจากในยุคนั้นโทรทัศน์ในระบบ LCD ยังไม่สามารถทำให้มีขนาดใหญ่ได้ (ขนาดใหญ่คือประมาณ 25 นิ้วเท่านั้น) โทรทัศน์ชนิดนี้มีข้อเสียที่กำจัดแสงสะท้อนได้น้อย หน้าจอจึงสะท้อนแสงจากหน้าต่างหรือหลอดไฟได้ง่าย และแม้มีจอแบน แต่จะมีน้ำหนักมาก และจะหนากว่าทีวีจอแบนชนิดอื่น นอกจากนี้หน้าจออาจเกิดการ Burned in ได้ คือมีเงาภาพถาวรที่จอหากเปิดภาพนิ่งทิ้งไว้นานๆ ทีวีพลาสม่าจะกินไฟมากกว่า LCD และ LED แต่ก็มีข้อดีที่ราคาย่อมเยากว่า อนาคตของทีวีที่ใช้เทคโนโลยีนี้ มองว่าคงไปอีกไม่นาน เพราะเทคโนโลยีใหม่กว่าดูจะให้คุณภาพการรับชมและมีคุณสมบัติอื่นที่ดีกว่า
ภาพจาก:
http://bit.ly/13RTixDLCD: LCD (Liquid Crystal Display) เทคโนโลยีชนิดนี้ใช้ผลึกของเหลวทึบแสงที่ถูกประกบอยู่ระหว่างแผ่นฟิล์ม ทำหน้าที่คล้ายม่านเปิดปิดให้แสงสว่างที่ฉายจากฉากหลังผ่านออกหน้าจอ เมื่อบังคับด้วยกระแสไฟฟ้า ผลึกจะมีคุณสมบัติในการเรียงตัวที่ทำให้สามารถเป็นตัวปรับแสงเพื่อแสดงภาพได้ และเพื่อให้จอภาพแสดงสีได้ ในแต่ละ Pixel ของจอจะซอยแบ่งแยกย่อยออกเป็นช่องขนาดเล็กๆ สามช่องสำหรับแม่สีแต่ละสี ช่องเหล่านั้นแต่ละช่องมีขนาดเล็กมากจนแสงที่ผ่านออกมาจากแต่ละ Pixel เมื่อมองด้วยตาเปล่า จะเห็นสีเบลอผสมกันเป็นสีธรรมชาติ การควบคุมภาพทำโดยควบคุมปริมาณแสงที่ยอมให้ผ่านออกมาในแต่ละ Pixel สามารถให้ภาพละเอียดสูงระดับ HD ได้ (1920 x 1080 Pixels) LCD เป็นเทคโนโลยีโทรทัศน์ที่เป็นที่นิยม เมื่อครั้งออกตลาดใหม่ๆ LCD มีปัญหาเรื่องขนาดของหน้าจอที่ไม่สามารถมีขนาดใหญ่มากๆ ได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาและได้ข้ามพ้นข้อจำกัดนี้ไปแล้ว จุดอ่อนของโทรทัศน์แอลซีดีคือสีดำไม่ดำสนิทเนื่องจากมีสีข้างหลังที่บังไม่ได้สมบูรณ์ สีไม่ตัดกันเข้ม และสูญเสียความคมชัดเมื่อรายการมีภาพเคลื่อนที่เร็ว เช่นฉากแอคชั่น ปัจจุบันมีการพัฒนาให้ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังเป็นรองเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นโอแอลอีดีที่ให้ภาพ Contrast ดีกว่าและไม่มีปัญหาเรื่องภาพเบลอเมื่อชมรายการกีฬาหรือแอคชั่น เทคโนโลยีแอลซีดีเมื่อเกิดใหม่ๆ กินไฟมาก แต่ปัจจุบันได้พัฒนาให้ดีขึ้นมากแล้ว แต่ก็ยังกินไฟมากกว่าจอในระบบ OLED อย่างไรก็ตามปัจจุบันจอภาพชนิดนี้เป็นจอภาพที่ขายดีที่สุด และยังมีการพัฒนาให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา
LED: LED TV เป็นเทคโนโลยีน้องใหม่ในสามเทคโนโลยีที่คุยถึงในวันนี้ แต่ก่อนจะคุยในรายละเอียด ต้องบอกก่อนว่าเรากำลังพูดถึงเทคโนโลยีใหม่ที่ซับซ้อน และยังมีพัฒนาการต่อเนื่องอยู่ อย่างน้อยวันนี้เราจะพูดถึงทีวีชนิด LED (light emitting diodes) และ OLED (organic light emitting diode)
โทรทัศน์ที่เรียกว่า LED นั้น แท้จริงแล้วก็คือโทรทัศน์แบบ LCD นั้นเอง แต่ระบบ LCD ปกติ ระบบการให้แสงจากด้านหลังเป็นไฟนีออน (Fluorescence)ที่ให้แสงสว่างทั่วทั้งฉากหลัง โดยมีผลึกเหลวที่บังแสงอยู่ด้านหน้า แต่ในระบบของ LED ไฟที่ให้แสงด้านหลังจะเป็น LED ซึ่งเปรียบคล้ายหลอดไฟเล็กๆ กระจายตัวให้แสงอยู่ด้านหลัง และสามารถควบคุมให้เร่งหรือหรี่แสงได้ ภาพที่ออกมาจึงสดใสกว่า LCD เดิม สีดำๆ จริง และสีสว่างก็สว่างกว่า โทรทัศน์ระบบนี้สามารถทำให้จอบางกว่า LCD ปกติ
ภาพจาก:
http://bit.ly/1aroEyOอีกเทคโนโลยีของโทรทัศน์ LED คือ OLED หลักการของเทคโนโลยีนี้ก็คือใช้แผ่นฟิล์มออร์แกนิคที่ประกบอยู่ระหว่างวัสดุตัวนำที่เป็นขั้วบวกและลบ โมเลกุลของแผ่นฟิล์มออแกนิคนี้มีคุณสมบัติเป็นตัวนำที่แปรค่าเปล่งแสงได้ ดังนั้นจึงมีธรรมชาติที่คล้ายเซมิคอนดัคเตอร์หรือสารกึ่งตัวนำ ที่สามารถทำหน้าที่เหมือนสวิชได้ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ทำงานโดยไม่ต้องใช้แสงเป็นฉากหลัง ดังนั้นสีดำจึงดูดำกว่า และเนื่องจากมีแสงในตัวเอง Pixel ของ OLED จึงให้ภาพที่สว่างกว่า และคอนทราสดีกว่า โทรทัศน์แบบแอลซีดี OLED ยังมีมุมรับชมที่กว้างกว่า ทำให้นั่งดูทีวีจากมุมเฉียงได้ดีกว่า และไม่มีแสงสะท้อนหน้าจอ ในแง่พลังงาน OLED ทำงานได้มีประสิทธิภาพจึงกินไฟน้อย ในด้ายกายภาพ ก็สามารถมีขนาดที่บางกว่าและเบากว่าทีวีแบบอื่น แต่โทรทัศน์ OLED ก็มีปัญหาของตัวมันเองเหมือนกัน เนื่องจากใช้แผ่นฟิล์มที่ทำจากวัสดุที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต (Organic) จึงทำให้มีอายุใช้งานที่จำกัด ความสดใสและสว่างของจอจะลดลงไปตามอายุการใช้งาน ซึ่งประมาณกันว่าจะมีอายุใช้งานได้ประมาณ 5-7 ปี อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นการคุยกันในที่นี้จึงต้องตระหนักว่ากำลังคุยถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่นิ่ง แต่หากพยายามมองไปในอนาคต เทคโนโลยี OLED มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในระยะยาว แต่ทั้งนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไป
พนา ทองมีอาคม
19-6-56