หลักสำคัญของนิกายเซ็น(ฌาน) โดย
เสถียร โพธินันทะ ปาฐกถาเรื่องนื้ ท่านผู้ปาฐกถาเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในนิกายนี้โดยเฉพาะ ท่านเป็นกรรมการทำการเผยแพร่พุทธธรรมของสมาคมพุทธบริษัท สยาม-จีนประชา ในปาฐกถาเรื่องนี้ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลเป็นภาษาไทย ก็ใคร่จะแสดงความเห็นและความรู้สึกบางประการไว้บ้าง ดังต่อไปนี้
1 เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่แปลกมากซึ่งไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเชื้อชาติไหนก็ตาม เมื่อมีทรรศนะทางใจถูกตรงกันแล้ว ปัญหาเรื่องเชื้อชาติก็หมดสิ้นไป กลับมาปรากฏคล้ายกับว่า เราเป็นพี่น้องกันฉะนั้น
เช่นในพุทธศาสนาของเรา ซึ่งมีหมุ่ชนหลายชาติหลายภาษานับถือ ถึงแม้ว่า บางสมัยหมู่ชนชาตินั้นๆ จะได้เคยเป็นศัตรูคู่อริกัน ก็เป็นเพียงแต่ปัญหาทางชาติหรืออื่นๆ แต่พอมาถึงเรื่องของศาสนาแล้ว ความรู้สึกในด้านไม่ถูกกันนั้น ก็จักพลันดับสูญมิมีเหลือ และความรู้สึกใหม่อีกชนิดหนึ่งจะเกิดขึ้นแทน มันเป็นความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจ, ความเมตตากรุณา, ความอยากจะช่วยเหลือ, ความมีตนเสมอดุจดังได้เคยเป็นภารดรกันมา, เขาทั้งหลายล้วนแต่เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน และเป็นพี่น้องกันได้เอง โดยความรู้สึกทางจิตใจอย่างแท้จริง ในระหว่างการสงคราม จีน-ญี่ปุ่น เป็นคู่อาฆาตแก่กันเพียงไรนั้น เราทั้งหลายก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงปัญหาศาสนา พุทธศาสนิกชนจีนกับญีปุ่นกลับร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ในการที่จะเผยแผ่พุทธธรรมให้แพร่หลาย เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาของเรานั้น มีอิทธิพลเพียงไร ในการที่จะสามารถเปลี่ยนใจของบุคคลมาให้เป็นผู้สมัครสมานรักใคร่กัน และถ้าเราไม่ลืมว่า ในพระสุตตันตปิฎกมีพุทธพจน์อยู่ตอนหนึ่งที่น่าจับใจ และควรที่เราทั้งหลายจะประพฤติตาม
มีปรากฎใน
อัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะดังนี้ "ดูก่อนวาเสฏฐะ พวกเธอแล มีชาติต่างๆกัน มีนามต่างๆกัน มีโคตรต่างๆกัน มีสกุลต่างๆกัน ออกบวชละจากคฤหสถานแล้ว ถูกเขาถามว่า "พวกท่านเป็นใคร" ดังนี้ จงตอบว่า "เป็นสมณศากยบุตร" ดังนี้เถิด. วาเสฏฐะเอ๋ย ก็ผู้ใดมีความเชื่อมั่นฝังลงแล้วตั้งใจไว้แล้วอย่งแน่นหนา อันพราหมณ์ หรือเทพยดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆในโลกพึงนำไปไม่ได้, ผู้นั้นควรกล่าวอย่างนี้ว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตร เป็นโอรส ประสูติแล้วจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีธรรมเป็นธงชัย อันธรรมสร้างแล้วเป็นทายาทแห่งธรรม" พุทธวจนะนี้ถึงแม้กล่าวแก่ผู้เป็นสมณะ แต่แม้พวกเราผู้เป็นพุทธบริษัททั้งหลายก็อาจสงเคราะห์รวมลงไปได้ และด้วยอมตพจน์อันงดงามนี้เอง ที่ได้ก่อให้เกิดมีมหาสามัคคีขึ้นในระหว่างพุทธมามะกะทั้งหลาย และข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าโลกทั้งหมดจะถือเอาคติจากพระพุทธพจน์นี้แล้ว ศานติอันชาวโลกปรารถนานักนั้น ก็จักมีมาเอง.
2 หลักธรรมะในนิกายเซ็น(ฌาน) ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือสำคัญมาก ในจำนวนนิกายทั้งหมดของมหายาน นิกายนี้นับว่าเป็นนิกายหนึ่งที่ทรงอิทธิพลมาก เป็นนิกายฝ่ายวิปัสสนาโดยเฉพาะ ในส่วนธรรมะนั้นก็ดูเหมือนว่าไม่มีความแตกต่างอะไรมากนักกับพุทธศาสนาฝ่ายไทยของเรา เช่นในข้อที่ว่า พุทธภาวะมีอยู่ในสรรพสัตว์ เมื่อรู้ก็เป็นพุทธะ เมื่อยังโง่ก็เป็นสัตว์ ฝ่ายเราก็มีกล่าวว่า เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้ ก็เป็นผู้ตรัสรู้เท่ากันหมด และที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็เพราะอวิชชาความหลงผิด วิธีปฏิบัติซึ่งทางนิกายเซ็นกล่าวว่าเป็นแนวพิเศษที่สามารถจะทำให้ได้ตรัสรู้อย่างฉับพลับ เป็นพุทธะในปัจจุบันทันด่วนไม่ต้องรีรอนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าธรรมปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่มีแต่ในนิกายเซ็นเท่านั้น
แท้จริงเป็นหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า ธรรมปฏิบัติเพื่อจะทำบุคคลให้ได้บรรลุเป็นพุทธะในปัจจุบันนี้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกสอนจากสมเด็จพระบรมครูผู้ให้กำเนิดแก่พระพุทธศาสนา จึงนับได้ว่า เป็นหลักพระพุทธศาสนาทั่วไป ไม่ใช่เป็นหลักนิกายใดนิกายหนึ่ง หลักของพระศาสนาก็มีสำคัญในการที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันชาตินี้ โดยไม่ต้องไปรอความหลุดพ้นต่อเมื่อชาติหน้าหรือชาติไหนๆ เพราะว่าชาตินี้ ก็เป็นโอกาสอันเหมาะอย่างยิ่งที่เราจะทำความหลุดพ้นไห้แก่ตัวเอง ฉะนั้น จึงมีคำสรรเสริญว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นของประเสริฐที่สุดเพราะเป็นเหตุให้ได้มีโอกาสทำความพ้นทุกข์ได้ในชาตินั้นๆ แม้บรรดาพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ก็มิใช่ว่าท่านจะต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วจึงจะได้บรรลุก็หามิได้ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะไม่เห็นพระอรหันต์กันก็ได้ เพราะท่านต้องไปรอเอาตรัสรู้กันในชาติต่อๆไป
และที่ว่านิกายเซ็นเป็นนิกายย่นทางตรัสรู้ให้เร็วขึ้น คือไม่ต้องรักษาศีลก่อนแล้วจึงค่อยหัดทำสมาธิ แล้วจึงไปขื้นปัญหานั้น ถ้าจะดูตามหลักฐานต่างๆในปรกรณ์ฝ่ายไทยของเรา ก็จะพบว่า ได้มีพระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ฝ่านการรักษาศีล หรือการทำสมาธิอย่างชนิดสูงๆ แต่ว่าได้ตรัสรู้กันในขณะฟังธรรมบรรยายของพระศาสดา เช่นพระยศและเหล่ามิตรสหายเป็นต้น ท่านเหล่านี้มิใช่พวกตรัสรู้อย่างฉับพลับหรือไร? พระอรหันต์ผุ้ตรัสรู้เล่า ทางพุทธศานา(ไม่เป็นของนิกายใดนิกายหนึ่ง) ก็ได้วางแนวไว้สองทาง
ทางหนึ่งได้แก่พวกที่ได้ตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางศีล แล้วเลื่อนขึ้นมาบำเพ็ญเพียรทางสมาธิ หนักในทางจิตจนสามารถบรลุฌานต่างๆทั้งรูปฌาน อรูปฌาน เมื่อจิตถูกอบรมฝึกฝนจนมีอำนาจแข็งแกร่งแล้ว ก็ใช้อำนาจแห่งจิตนั้น ทำลายอวิชชาเสียได้ เรียกกันว่า พวก "
เจโตวิมุติ" แปลว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจจิต พระอริยะเจ้าเหล่านี้ เพราะเหตุที่บรรลุฌานมาก่อน จึงสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆได้ อีกทางหนึ่งได้แก่ท่านที่ใช้อำนาจปัญญา
พิจารณาสภาวะธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง จนสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องได้ฌานสมาบัติ เพียงแต่มีสมาธิขั้นต่ำๆ คือขณิกแล้วยกจิตขึ้นสู่ปัญญาเท่านั้น เรียกว่าพวก "
ปัญญาวิมุติ" แปละว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา แสดงอิทธิปราฏิหาริย์อะไรไม่ได้
พระอริยเจ้าทั้งสองพวกนี้ ถ้าเราจะพิจารณาดูกันแล้ว หลักธรรมในนิกายเซ็น ก็คือการปฏิบัติเอาทางปัญญากันโดยเฉพาะ อันได้แก่พวกหลังนี้เอง คำสอนทางฝ่ายเรา ก็มีกล่าวเป็นไปอย่างทำนองนี้หลายแห่ง เช่นพุทธภาษิตใน
ติลักขณาทิคาถา ว่า
"เมื่อใดมาเห็นสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน, เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด" ในพุทธภาษิตนี้ไม่ได้บอกว่า ต้องรักษาศีลแล้วทำสมาธิจึงจะเกิดมีปัญญาหลุดพ้นทุกข์ได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์แล้ว
ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ นี่เป็นการแสดงถึงความสำคัญของปัญญาไปในตัว เพราะเหตุว่า
ขณะใดมีปัญญา ขณะนั้นก็มีสมาธิและศีลไปในตัว ,ขณะใดมีสมาธิ ขณะนั้นก็มีศีล. พระเถระผู้ทรงคุณธรรมของฝ่ายเรา ก็เคยเทศนาย้ำกล่าวเสมอ เช่น ท่านเจ้าคุณอุบาลี(สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กล่าวว่า "ศีลใดบรรลุเป็นพุทธะแล้วเหตุที่ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ หรือไม่มีคุณลักษณะอย่างพระศาสดานั้นก็เป็นอันเฉลยด้วย คือว่าพวก
ปัญญาวิมุตินั้น แสดงฤทธิ์ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ไม่ใช่เป็นสัมมาสัมพุทธะ แต่เป็นเพียงสุตพุทธะ หรืออนุพุทธะเท่านั้น จึงไม่มีมหาปุริสลักษณะอย่างพระบรมครู นี้เป็นความเห็นของข้าพเจ้า
3 เมื่อเรารู้ว่า นิกายเซ็น ก็คือ
นิกายแห่งปัญญาวิมุติเช่นนี้แล้วก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ข้อปฏิบัติต้องหนักไปในทางปัญญา เพราะฉะนั้น จึงเกิดมี
ปริศนาธรรม หรือกงอันไว้สำหรับให้ขบคิด วิธีปฏิบัติและกงอัน นอกจากจะดำเนินตามคำสอนของพระศาสดาแล้ว ยังมีวิธีการปฏิบัติและกงอันที่ถูกตั้งขึ้น โดยท่านสมาธยาจารย์แห่งนิกายเซ็นอีกด้วย เรียกว่า "จู่ซือสัน" คือ "แบบสมาธิของท่านบูรพาจารย์" ซึ่งมีอยู่มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการปฏิบัติและกงอันเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งชวนขบคิดทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจักอธิบายกงอันบางอันตามมติของตนเอง พอเป็นเครื่องชี้แนะให้เห็นความลึกซึ้งของนิกายเซ็น
กงอันที่สมเด็จพระภควาตรัสแก่พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ และท่านมัญชูศรีได้ทูลตอบว่า "ข้าพระองค์ไม่เห็นธรรม แม้หนึ่ง อยู่ภายนอกประตู, เหตุไรจึงทรงสอนให้ข้าพระองค์เข้าประตูเล่า"? ตอนนี้แสดงให้รู้ถึงธรรมชาติหนึ่ง อันเรียกว่า "พระนิพพาน" พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆไปไม่จำกัดที่ทาง ไม่มีการเข้า-การออก เพราะนิพพานภาวะเป็นของคงที่ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าจะต้องออก เพราะนิพพานภาวะมีอยู่ทั่วไปทุกซอกทุกมุม หรืออีกนัยหนึ่ง คือว่า พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ได้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว ไม่มีการที่จะต้องกลับกลาย เช่นเข้า-ออกต่อธรรมอีก เพราะธรรมทั้งหลาย ท่านละวางได้ขาดแล้วมีปัญญาอันไพบูลย์เห็นสรรพสิ่งมีภาวะว่างเปล่านั่นเอง และที่พระพุทธองค์ทรงนิ่งไม่ตอบพาหิรชน ก็เพราะพระองค์ ต้องการแสดงนิพพานภาวะอันลึกซึ้งให้เห็น พาหิรชนผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญาได้รู้แจ้งจึงเลื่อมใส และที่ว่าพระสังฆปรินายกองค์ที่สองหาจิตไม่พบนั้น เพราะเหตุที่จิตนี้เกิดดับอยู่เป็นนิตย์ไม่มีตัวตนอันใด
ข้อที่ธรรมาจารย์ผู้หนึ่งว่าขี่โคไปหาโคนั้น อธิบายว่าตัวเรานั้นก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว ยังจะไปหาพุทธะที่ไหน คือหมายว่า พุทธะก็อยู่ที่เราๆจะไปค้นหาพุทธะข้างนอกนั้นไม่พบหรอก เพราะเหตุที่พุทธะนั้น ก็คือ
ภาวะในตัวเรานี้เอง อนึ่ง ข้อที่ให้คอยระวังโคนั้น ความตรงนี้ดูจะมีความหมายกระไรชอบกลอยู่ คือ ถ้าหากว่าเราสามารถค้นพบและเห็นแจ้งพุทธภาวะในตัวเราแล้ว ก็หมายความว่าเราได้ตรัสรู้พระนิพพานแล้ว เหตุไรจึงยังต้องคอยระวังรักษาอีกเล่า? เพราะฉะนั้น ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่า ที่กล่าวมาแต่เบื้องแรกว่าผู้ได้ตรัสรู้ (อันข้าพเจ้าแปลตรงกับความหมายทางภาษาจีน) แล้วยังต้องคอยทะนุถนอมภาวะอันนั้นอยู่ หมายความว่าการได้ผลจากการเห็นแจ้งในธรรมะที่ยังเป็นขั้นต่ำๆ ชนิดยังเป็นสังขตะอยู่ เช่นการได้สมาธิจิตเป็นต้น ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่นำพา สมาธิจิตก็อาจจะเสื่อมได้ แม้พวกฌานชั้นสูงๆ เช่น อรูปฌาน ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงสรุปความได้ว่า ความหมาย ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายเอาว่า ได้ พระนิพพาน แต่หมายเอาว่า เริ่มที่จะได้สูดกลิ่นไอน้อยๆของพระนิพพาน เช่น การที่จิตใจสงบจากกิเลสขั่วคราวอะไรเหล่านี้
4
ลังการวตารสูตร หรือจีนเรียกว่า "ลางเจียงจิง" เป็นสูตรชนิดหัวใจของนิกายเซ็น พระภควาแสดงสูตรนี้ ณ ภูเขาบนเกาะลังกาแก่ท่านพระมหาปัญญาโพธิสัตว์ ภายในกล่าวถึงข้อธรรมอันลึกซึ้ง อันเป็นอภิปรัชญาของพุทธธรรมมีข้อธรรมที่ชวนให้ขบคิดมาก (พระพุทธศาสนาไทยเราก็มาจากเกาะลังกา)
ศูรางคมสมาธิสูตรนั้น เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอานนท์ กล่าวถึงอายตนะภายในภายนอก และการปฏิบัติธรรม มีการทำสมาธิไว้อย่างพิศดาร พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานนับถือสูตรนี้มาก กล่าวกันว่า ถ้าผู้ใดได้รู้แจ้งหรือได้อ่านพระสูตรนี้แล้ว เวลาทำสมาธิจักไม่เกิดนิมิตอันจะชวนให้ใจเขว หรือหวั่นไหวเลย เพราะในพระสูตรนั้นสอนให้รู้เท่าถึงนิมิตต่างๆ และพระสูตรนี้ปรากฏตามตำนานว่าเป็นสูตรสำคัญของพุทธศาสนามมหายาน และเป็นกุญแจสำคัญของนิกายเซ็นด้วย
วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นสูตรสำคัญในการปฏิบัติธรรมอีกสูตรหนึ่ง ปกติจัดเป็นสูตรสำหรับสวดเหมือนทำวัตรของเรา พุทธศาสนิกชนฝ่ายเหนือ รู้จักสูตรนี้ดีมา และสวดกันอย่างแพร่หลาย ในนั้นกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ล้วนๆแก่ท่านสุภูติมหาเถระ,ปฏิเสธขันธ์ 5 ว่าไม่เป็นตัวตน และปฏิเสธความเป็นอยู่แห่งอาตมัน ผู้ที่ได้อ่านย่อมได้ปัญญาความรู้แจ้ง มีเรื่องเล่าว่า ในประเทศจีนสมัยราชวงหมิง มีศิษย์ผู้หนึ่งของท่านธรรมาจารย์ เหลียนฉือ ได้บำเพ็ญสมาธิปรากฏเห็นนิมิตต่างๆ จึงได้มีจดหมายมาถามท่านธรรมาจารย์, ธรรมาจารย์องค์นั้นมีจดหมายตอบโต้ไปโดยยกอาข้อความในวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรมาอ้างว่า "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรกล่าวว่า
สิ่งที่มีลักษณะทั้งหลายล้วนแต่เป็นของว่างเปล่า และมายา," ศิษย์ผู้นั้นได้รับจดหมายนั้นแล้ว ก็เห็นแจ้ง
อนึ่ง ที่ทางฝ่ายเหนือถือว่าท้าวมหาราชมีอยู่ 5 พระองค์นั้น คือนอกจากที่ประจำทิศทั้ง 4 อันเรียกว่า จาตุมหาราชแล้ว ยังมีตรงกลางอีกองค์หนึ่งรวมกันเป็น 5 องค์
เสถียร โพธินันทะ6 กันยายน 2490
http://www.mahayana.in.th/บทความ/บทความมหายาน/หลักสำคัญของเซ็น.htm