เปิด 10 วิธีปฏิบัติตัวเมื่อพบช้างป่าบนถนน
-http://hilight.kapook.com/view/114003-
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Patarapol Lotter Maneeorn
เผยวิธีปฏิบัติตัวเมื่อพบช้างป่าบนถนน หลังจากเกิดเหตุการณ์ช้างป่าเหยียบรถนักท่องเที่ยวจนพังที่เขาใหญ่
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกโซเชียลได้มีการแชร์ข้อความจาก เฟซบุ๊ก Patarapol Lotter Maneeorn เป็นจำนวนมากกว่า 2,500 แชร์แล้ว โดยเนื้อหาเป็นเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อพบช้างป่าบนถนน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ช้างป่าได้เหยียบรถนักท่องเที่ยวจนพังที่ อ.เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวถูกโพสต์เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ส่วนข้อมูลของคนโพสต์ ระบุไว้ว่า ทำงานอยู่ที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
สำหรับข้อความทั้งหมด มีดังนี้
Lotter: Khao yai Only. บ้านใครบ้านมัน เข้าใจตรงกันนะ
วิธีปฏิบัติเมื่อพบช้างป่าบนถนน ในพื้นที่ อช.เขาใหญ่ ขอย้ำครับ ช้างป่าเขาใหญ่เท่านั้น เพราะช้างป่าพฤติกรรมหรือปฎิกิริยาตอบสนองต่อรถที่สัญจรไปมาในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นที่เขาอ่างฤาไน หรือป่าละอู ต้องทำอีกอย่าง มาทำความเข้าใจกันนะครับ....
ทำไมถึงมักเจอช้างบนถนนของเขาใหญ่
- ในอดีตตอนยังไม่มีการสร้างถนนเส้นนี้ ช้างป่าได้ใช้เส้นทางบางส่วนของพื้นที่เป็นเส้นทางเดินหากิน หรือเราเรียกว่า "ด่านช้าง" ซึ่งบรรพบุรุษของช้างได้สอนลูกหลานต่อ ๆ กันมาว่านี้คือเส้นทางหากินของเรา อยู่มาวันหนึ่งมีการสร้างถนนขึ้นมาและบังเอิญไปทับซ้อนกับด่านช้าง ทำให้บางส่วนของถนนนั้นเกิดการใช้ร่วมกันระหว่างช้างและรถยนต์
- ช้างป่าเขาใหญ่ในแต่ละฝูง มีการตกลูกทุก ๆ ปี นั่นหมายถึงว่าในฝูงมีลูกน้อย การเดินหากินในป่าที่รกทึบ หญ้าสูง หรือเขาที่ชัน ของลูกช้างมักมีความยากลำบาก หลายพื้นที่มีลูกช้างป่าพลัดหลงฝูงจากการตกภูเขา และฝูงก็จะห่วงลูกช้างมาก การเดินบนถนนก็เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยสำหรับลูกช้าง เดินสะดวก และฝูงช้างป่าจะหวงลูกมาก ๆ
- พื้นถนนในตอนกลางคืนจะอุ่น เนื่องจากความร้อนสะสมในตอนกลางวัน ในช่วงฤดูหนาว ช้างจะเดินออกมาบนถนนถี่ขึ้น บางครั้งจะเห็นช้างป่านอนหลับบนถนนในช่วงหน้าหนาว นอนบนดินโป่งในช่วงหน้าร้อน
- บริเวณข้างทางของถนน มักมีต้นหญ้าและพื้นขนาดเล็กที่เป็นอาหารของช้าง ช้างสามารถกินได้ง่าย
- เป้าหมายของการใช้ถนนของช้าง คือ การมุ่งหน้าไปยังพื้นที่แหล่งอาหารต่าง ๆ ด้วยความปลอดภัยและรวดเร็ว เช่น แหล่งดินโป่ง หรือแหล่งน้ำ
1. หยุดรถให้ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร หากช้างเดินเข้าหา ให้เคลื่อนรถหนีด้วยการถอยหลังอย่างมีสติ รอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป
2. อย่าใช้แตรรถ หรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธ และตรงเข้ามาหาเราได้ เนื่องจากช้างป่า ประสาทหูจะดีมาก เสียงแตรแหลม ๆ จะทำให้ช้างตกใจและโกรธ
3. งดการใช้แฟลชถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจ ตรงเข้ามาทำร้ายได้ และทำให้ช้างเกิดการสนใจ เดินเข้ามาหา ช้างตกใจแล้ว ตกใจเลย หายยาก
4. ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที และเสียงเครื่องยนต์รถที่ติดเครื่องดังทุ้ม ๆ จะไม่ทำให้ช้างนั้นตกใจ ไม่เครียด และคุ้นเคย เพราะได้ยินเสียงและรู้ว่านี่คือรถยนต์ เรารู้จักแล้ว ไม่สน กินดีกว่า 55555
5. หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก ห้ามเปิดกระพริบ เพราะแสงจะเข้าตา และดึงดูดให้ช้างเกิดความสนใจ เดินเข้ามาหา
6. ประสาทสัมผัสของช้างที่ดีที่สุดคือ หู จมูก และตา ถ้าดับเครื่องยนต์ ช้างจะเข้าใกล้เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น นั่นคือการดม ดู และสัมผัส ซึ่งนั่นหมายถึง ช้างเข้ามาหาคุณแย้ววววว เค้าแค่แตะๆ แต่ด้วยกำลังมหาศาล รถคุณก็บาดเจ็บได้
7. เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืน ให้ใช้ไฟต่ำ และอย่าเปิดกระพริบ แล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์ และปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อย ๆ เคลื่อนรถ ให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งมากที่สุด
ปล. ไฟสูงเปิดได้ ในกรณีที่เราอยู่ห่างจากช้างป่ามากกว่า 50 เมตรขึ้นไป เพราะจะทำให้ช้างรู้ตัวว่ามีรถมา ไม่ตกใจ และเดินหลบเข้าข้างทาง ถ้าเปิดไฟสูงระยะใกล้กว่านี้แสงจะแยงตา ช้างตกใจได้
8. ไม่ควรจอดรถดูช้าง เพราะอาจมีรถคันอื่นตามมา แล้วรถของคุณกีดขวางรถผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ถูกทำร้ายแทนรถของคุณได้ คนตามหลังซวยเลยครับ
9. สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อรถจอดเรียงกันบนถนน ความสามัคคีจะต้องเกิดขึ้น ไม่ว่าคันที่อยู่ใกล้ช้างหรืออยู่ไกลช้างก็ล้วนเป็นผู้ประสบเหตุทั้งสิ้น ดังนั้นหากรถคันหน้าเปิดไปถอยรถ คันข้างหลังถัดไปก็กรุณาถอยรถอย่างมีสติด้วยนะครับ โดนด้วยกันรอดก็ต้องรอดด้วยกัน
10. ไม่ควรจอดรถแล้วลงไปถ่ายรูปช้างในระยะใกล้ เพราะอาจทำให้คุณวิ่งหนีขึ้นรถไม่ทัน ควรระลึกอยู่เสมอๆว่า โดยทั่วไปช้างมักจะอยู่รวมกันเป็นครอบครัวหรือฝูง ขณะที่คุณเจอช้างเพียงตัวเดียว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีช้างตัวอื่น ๆ อยู่ในบริเวณนั้น ฝูงช้างอาจจะกระจายกันหากินอยู่ในบริเวณป่าข้าง ๆ ทางนั้นก็เป็นได้ และวินาทีที่เค้าจะเข้ามาหานั้น เร็วมาก
วิธีสังเกตุอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ
- เมื่ออารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หางจะแกว่งและใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา
- เมื่ออารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัดหาง หางชี้ งวงจะนิ่งแข็ง แตะอยู่ที่พื้น หรือใช้งวงตีพื้น และอยู่นิ่งจ้องมองมาทางเรา...
ปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้น ๆ เพียง 2 3 ครั้ง หากวิ่งตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง ช้างเมื่ออารมณ์ดี สังเกตจากการแกว่งหู และสะบัดหางไปมา จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้ามาใกล้ก็ตาม
แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้ใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงพึงสังเกตอารมณ์ และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยครับ
ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเกิดเหตุที่รถติดเป็นจำนวนมาก หรือช้างเกิดความเครียด จากการสังเกตุตามข้อแนะนำข้างต้น ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ จะมาทำการอารักขา ขอย้ำครับว่า"อารักขาช้างป่า" ไม่ใช่ไล่ช้าง
"เพราะเวลาที่ช้างป่ามาเดินเที่ยวสวนจตุจักร เค้าก็เจอแต่คนเยอะแยะมากมายเช่นกัน"
http://hilight.kapook.com/view/114003.