ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนลับแห่งพุทธะ (๑) รากฐานของวัชรยาน (โดย กาลู รินโปเช)  (อ่าน 2349 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



กาลู รินโปเช เขียน / วิจักขณ์ แปล

จากหินยานสู่วัชรยาน

หินยาน

พาหนะเล็กสามารถสรุปหลักใหญ่ใจความอยู่ในสองประการด้วยกัน ได้แก่
- การรักษาศีล หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำร้ายผู้อื่น
- ความเข้าใจในความว่างของนาม(subject) หรือที่เรียกกันว่า "ไม่มีตัวตน" หรือ "ไม่มีฉัน" ของปัจเจกสภาวะที่แยกขาดจากสิ่งอื่น

ในแง่นี้ อารมณ์ขัดแย้งทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความปรารถนา ความโกรธ ความริษฉา ความทะนงตน และอื่นๆ ได้รับการยอมรับและปลดปล่อย เมื่อไม่ปรุงแต่งต่อ จิตใจก็ดำรงอยู่ในความว่างโดยสมบูรณ์

ผู้เข้าถึงสภาวะดังกล่าว เรียกว่า อรหันต์ หรือ "ผู้กำราบศัตรู" คำว่า "ศัตรู" ในที่นี้หมายถึงอารมณ์ขัดแย้งต่างๆ นั่นเอง นัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า สภาวะอรหันต์ คือการหลุดพ้น แต่ยังไม่ใช่สภาวะการรู้แจ้งที่สมบูรณ์

แม้ว่าผู้ปฏิบัติจะสามารถดำรงอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานหลายกัลป์ ทว่าสภาวะอรหันต์ไม่ใช่จุดสิ้นสุด วันหนึ่งเมื่อกายแห่งพุทธะส่องแสงสว่างมาสัมผัสอรหันต์ ปลุกให้พวกเขาตื่นขึ้นด้วยแรงดลใจในการก้าวเดินต่อบนพาหนะอันยิ่งใหญ่ สู่สภาวะรู้แจ้งโดยสมบูรณ์

จากหลักสองประการของพาหนะเล็กจะเห็นได้ว่า หินยานยังไม่ได้มองความเป็นไปได้ของการเป็นพุทธะโดยคุณธรรมและความงดงามแห่งพุทธะ หรือไม่ได้มองไปยังการเกิดขึ้นได้ของสังคมอารยะ ซึ่งเป็นหลักการที่พัฒนาในขั้นของพาหนะอันยิ่งใหญ่

มหายาน

พาหนะอันยิ่งใหญ่ ยังคงตั้งอยู่บนรากฐานสองประการของพาหนะเล็ก ทว่าเปิดสู่ความเป็นไปได้ที่มากขึ้น
- การรักษาศีล เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำร้ายผู้อื่น พัฒนาไปสู่เจตจำนงในการทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้อื่น
- ความเข้าใจในความว่างของนาม (subject) พัฒนาไปสู่ความเข้าใจในความว่างของรูป (object)  สรรพสิ่งทั้งปวงล้วนไม่มีตัวตน ซึ่งก็คือ "สภาวะไม่มีตัวตนของปรากฏการณ์" นั่นเอง

พาหนะอันยิ่งใหญ่สอนว่า ปรากฏการณ์ภายนอกทั้งปวงที่ถูกรับรู้โดยประสาทสัมผัสว่าเป็นวัตถุหรือรูปต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง เสียง กลิ่น รส หรือสัมผัส ล้วนไม่มีจริง ทั้งหมดล้วนมีธรรมชาติของความว่างอยูโดยพื้นฐาน สรุปว่าเมื่อจิตว่างจากภายใน ปรากฏการณ์ภายนอกทั้งหลายก็ว่างเช่นกัน การยึดมั่นในทวิลักษณ์ของนามรูปล้วนเป็นมายา (transcending subject-object dichotomy)

ยิ่งกว่านั้น ผู้ปฏิบัติแห่งพาหนะอันยิ่งใหญ่ ไม่เคยมองว่าความสุขของตัวเองคือจุดหมายอันพอเพียงโดยตัวมันเอง เมื่อเชื่อว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงล้วนเคยเกิดเป็นพ่อเป็นแม่ของตนมาแล้วไม่ชาติหนึ่งชาติใด ผู้ปฏิบัติปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งปวงได้พบกับความสุขแห่งการรู้แจ้ง แรงขับเคลื่อนแห่งการเดินทางภายในของผู้ปฏิบัตินั้นเปิดกว้างอย่างยิ่งยวด พวกเขาตระหนักว่าเมื่อสรรพสัตว์ไม่เข้าใจธรรมชาติของความว่าง พวกเขาก็ยึดถือใน "ตัวฉัน" หรือ "คนอื่น" ในขณะที่ไม่มีฉันและไม่มีคนอื่น ความเข้าใจผิดนั้นเองที่ทำให้พวกเขาท่องไปในวัฏจักรแห่งการเกิดตาย ผู้ปฏิบัติมหายานบ่มเพาะความกรุณาอันไม่มีขอบเขตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ ความกรุณานี้เองที่ดลใจให้ผู้ปฏิบัติรับเอาความทุกข์ และสิ่งปกคลุมใจของสรรพสัตว์ทั้งปวงเข้ามา แล้วมอบความสุขและความปรารนาดีให้พวกเขาไป พวกเขาฝึกตนในปารมิตาทั้งหก (บารมีหก) อันได้แก่ การให้ ศีล ความอดทน ความเพียร ความมุ่งมั่น และความเข้าใจ ผู้ปฏิบัติมหายานฝึกตนเป็นระยะเวลานานหลายกัลป์ ชะล้างจิตใจให้บริสุทธิ์และสั่งสมบุญกุศล จนกระทั่งพวกเขาเข้าสู่การรู้แจ้งอันสมบูรณ์แห่งพุทธภาวะ

วัชรยาน

พาหนะเพชร ตั้งอยู่บนรากฐานของพาหนะเล็กและพาหนะอันยิ่งใหญ่ การไม่ทำร้ายและช่วยเหลือผู้อื่น และความเข้าใจธรรมชาติความว่างของนามรูป วัชรยานใช้เทคนิควิธีการ (อุปายะ) อันเฉพาะเจาะจงและมีประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพของการรู้แจ้ง เรียกว่า สองขั้นตอนของการภาวนา ได้แก่ ขั้นสร้าง และขั้นสำเร็จ ในขั้นสร้าง การใช้อุบายต่างๆ เปรียบได้กับคันธนู ส่วนในขั้นสำเร็จ การใช้ปัญญาญาณเปรียบได้กับ ลูกศร คันธนูเพิ่มความเร็วให้ลูกศรเสียบพุ่งสู่เป้าหมาย การรู้แจ้งสามารถบรรลุได้ในชีวิตเดียว

อาจเปรียบเทียบอีกแบบหนึ่งว่า เมื่อใครสักคนต้องการเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง เขาอาจเดินเท้าไป ซึ่งก็จะต้องใช้เวลามาก หรือไปด้วยรถ ก็จะใช้เวลาน้อยลงหน่อย หรือเขาจะขึ้นเครื่องบิน ก็จะไปได้เร็วมาก การเดินเท้าเปรียบได้กับพาหนะเล็ก การไปด้วยรถเปรียบได้กับพาหนะอันยิ่งใหญ่ และการขึ้นเครื่องบินไปคือวัชรยาน

วัชรยานมองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีความบริสุทธิ์อยู่โดยพื้นฐาน สภาพชีวิตสามานย์เกิดขึ้นเพียงเพราะไม่อาจตระหนักถึงความบริสุทธิ์นั้น เมื่อสรรพสัตว์ทั้งหกภพภูมิตระหนักถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วในตัว พุทธภูมิทั้งหกก็ปรากฏตรงหน้า เมื่อจิตปรุงแต่ง สิ่งทั้งหลายก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังสารวัฏ และเมื่อจิตใสชัด นิพพานก็ปรากฏ เป้าหมายของวิธีการทั้งหลายในวัชรยาน คือการแปรเปลี่ยนความไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์ แปรเปลี่ยนกิเลสให้กลายเป็นพลังรู้แจ้ง แปรเปลี่ยนสังสารวัฏให้เป็นนิพพาน จนผู้ปฏิบัติตระหนักว่าทุกรายละเอียดของชีวิตมีคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง

จาก https://www.facebook.com/tilopahouse

คำสอนลับแห่งพุทธะ (๑) รากฐานของวัชรยาน (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9987.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๒): หลักการและวิธีการ (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9988.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๓): อำนาจแปรเปลี่ยนภายใน (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9989.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๔): ครูกับศิษย์ (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9990.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๕): วัชรยานในโลกทัศน์แบบไตรยาน http://www.tairomdham.net/index.php/topic,9991.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ(๖): วัชรยานในโลกทัศน์แบบไตรยาน (ต่อ) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11613.0.html
คำสอนลับแห่งพุทธะ (๗): ตันตระในธิเบต (โดย กาลู รินโปเช) http://www.tairomdham.net/index.php/topic,11614.0.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 06, 2016, 11:18:20 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...