ผู้เขียน หัวข้อ: ความอยากมีอยากได้ความร่ำรวยขัดกับพุทธศาสตร์ไหม  (อ่าน 1045 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ sithiphong

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7544
  • พลังกัลยาณมิตร 2681
  • พระวังหน้าที่หลวงปู่เทพโลกอุดรเสก
    • ดูรายละเอียด
 ความอยากมีอยากได้ความร่ำรวยขัดกับพุทธศาสตร์ไหม
 : ปุจฉา-วิสัชนากับพระไพศาล วิสาโล


-http://www.komchadluek.net/detail/20140810/189826.html-


               ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์ครับ ผมมีข้อข้องใจเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคือ law of attraction หรือกฎแรงดึงดูดที่ได้เรียนรู้จากตะวันตก ผมไม่ทราบว่าสิ่งนี้จะขัดกับหลักทางพุทธศาสตร์หรือไม่ คือ law of attraction นี้เน้นให้ผู้ฝึกคิดบวกต่อตัวเองแล้วระบบประสาทในสมองจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เพราะการที่คนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น เป็นลูกจ้างก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดชีวิต ไม่สามารถเป็นเถ้าแก่ได้เลย มันมาจากการที่ระบบประสาทในสมองของคนนั้นเป็นแบบนั้นมานาน และไม่เคยคิดบวกกับตนเองเลย ดังนั้นระบบประสาทก็เลยโปรแกรมให้เราทำแบบนั้น เป็นแบบนั้นอย่างไม่มีการพัฒนาเสียที

               ศาสตร์นี้ยังมีการให้ผู้ฝึกนึกภาพที่ตนต้องการไม่ว่าจะเป็นเงิน ความรัก ความสำเร็จหรือสิ่งต่างๆ ที่ปรารถนา แล้วเราจะได้สิ่งนั้นในที่สุด หรือคิดพูดดีๆ กับตนเองเพื่อสร้างพลังบวกให้ตนเอง หรือดึงศักยภาพสูงสุดจากตนเองออกมา หรือที่เรียกว่า (Neuro linguistic programming) ตัวผมเองเคยได้รับการอบรมแบบดังกล่าวมาครับในช่วงที่ชีวิตหมดพลัง ซึ่งผมก็เห็นว่ามันมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนปุถุชน แต่ถ้าได้ตามที่ต้องการแล้ว โดยเฉพาะเงินและอำนาจ คนเราซึ่งมีกิเลสอยู่แล้วอาจจะถลำลึกยึดติดกับมันก็ได้ใช่ไหมครับ และนี่ก็คือช่วงที่ธรรมะมามีบทบาทตรงที่ไม่ทำให้เราถลำลึกไปกับความสำเร็จ และสิ่งนอกกายที่มีมากเกินไป

               ไม่ทราบว่าผมคิดถูกหรือไม่ และพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสห้ามไม่ให้เรารวยใช่ไหมครับ เราจะรวยก็รวยได้ ดังนั้น ความรวยกับพุทธศาสตร์ก็มิใช่ขั้วตรงข้ามกัน แต่รวยแล้วก็ต้องรู้จักพอและให้สมดุลกับงานการขัดเกลาจิตใจควบคู่กันไป กระผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ

               สันโดษ หรือพอเพียงไม่ได้แปลว่าเราต้องจน หรือไม่มี แต่แปลว่าเราทำเต็มที่ในหน้าที่แล้วก็พอใจที่ได้ทำเต็มที่แล้ว จะรวยก็รวยได้แต่ต้องมีจุดที่สมดุลกับงานอื่นเช่นการขัดเกลาจิตใจ และการให้ผู้อื่น ไม่ทราบว่าผมเข้าใจถูกหรือไม่ครับ กราบนมัสการครับ

               วิสัชนา : อาตมาเห็นด้วยว่า การคิดบวกนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในสมองและส่งต่อมาถึงพฤติกรรมของผู้คน ทำให้เกิดความพากเพียรพยายาม สามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของผู้คนนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง การคิดบวก หรือความขยันหมั่นเพียร เป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แม้เป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะประสบความสำเร็จทุกครั้งที่คิดบวกและขยันหมั่นเพียร ต้องมีปัจจัยอื่นด้วยทั้งภายนอกและภายใน (ในส่วนปัจจัยภายใน พระพุทธองค์แนะว่า จะสำเร็จได้ต้องมี อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา หรือมีพละ ๕ คือ ศรัทธา ปัญญา สมาธิ วิริยะ และสติ)

               ในทำนองเดียวกัน การจะได้สิ่งที่ต้องการนั้น ลำพังแค่นึกถึงสิ่งนั้นบ่อยๆ ย่อมไม่เพียงพอ แต่ต้องลงมือทำด้วยการสร้างเหตุปัจจัยให้ถึงพร้อม สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักก็คือ เมื่อเรานึกอยากได้อะไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดควบคู่กันคือ ความกลัวหรือกังวลว่าจะไม่ได้สิ่งที่อยาก จึงเกิดความทุกข์อยู่ลึกๆ ดังนั้นยิ่งอยากมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น หากทำงานด้วยการตั้งจิตเช่นนั้น ย่อมมีความทุกข์แฝงอยู่ลึกๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

               มองในมุมของพุทธศาสนา ท่าทีที่พึงมีได้แก่ การทำงานด้วยใจที่ปล่อยวาง คือ ปล่อยวางอดีต อนาคต รวมทั้งผลที่จะเกิดขึ้น แต่ให้อยู่กับปัจจุบัน และทำอย่างเต็มที่ด้วยความพากเพียรพยายาม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ประกอบเหตุให้เต็มที่ ถ้าทำถูกและครบถ้วนแล้ว ผลย่อมออกมาเอง แม้ใจจะไม่ปรารถนาก็ตาม

               พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธทรัพย์หรือความร่ำรวย เพราะทรงเห็นว่ามีประโยชน์ ข้อสำคัญก็คือ ต้องได้ทรัพย์นั้นมาด้วยวิธีการที่ชอบธรรม และเมื่อได้มา ก็ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น (ไม่ใช่เอาแต่เก็บสะสมอย่างเดียว) อีกทั้งยังมีจิตที่เป็นอิสระจากมัน ไม่ยึดติดในทรัพย์ หมายความว่า นอกจากจะไม่โลภ หรือรู้จักพอแล้ว เมื่อเสียทรัพย์หรือเสื่อมจากความมั่งมี อันเป็นธรรมดาโลก ใจก็ไม่เป็นทุกข์ พูดง่ายๆ คือ เป็นนายของทรัพย์ ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็นนายเรา แต่ถ้าใจยังครุ่นคิดถึงมันอยู่เสมอ นึกอยากได้ทุกเวลานาที มันก็จะกลายมาเป็นนายเราในที่สุด ข้อนี้เป็นสิ่งที่พึงระวังอย่างยิ่ง
คณะหลวงปู่บรมครูเทพโลกอุดร 1.หลวงปู่พระอุตรเถระเจ้า 2.หลวงปู่พระโสณเถระเจ้า 3.หลวงปู่พระมูนียะเถระเจ้า(หลวงปู่อิเกสาโร)4.หลวงปู่พระฌาณียะเถระเจ้า(หลวงปู่ขรัวขี้เถ้า) 5.หลวงปู่พระภูริยะเถระเจ้า(หลวงปู่หน้าปาน)