ผู้เขียน หัวข้อ: คำสอนว่าด้วยรัก :หนึ่งแง่งามในพระพุทธศาสนา  (อ่าน 1273 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


You Are Therefore I Am
คำสอนว่าด้วยรัก : หนึ่งแง่งามในพระพุทธศาสนา


พุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตโดยแยก "โลก" ออกจาก "ธรรม" ด้วยเข้าใจว่าเรื่องพระธรรมคำสอนเป็นกิจของสงฆ์ เป็นความดีงามในอุดมคติมากกว่าจะปฏิบัติได้จริง อีกทั้งรุงรังไปด้วยภาษาที่เข้าใจได้ยาก
ใครที่เคยมีความเข้าใจเช่นนี้ อาจจะต้องเปลี่ยนความคิด หากได้อ่านหนังสือชื่อ เมตตาภาวนา คำสอนว่าด้วยรัก ของ ติช นัท ฮันห์ พระเซ็นชาวเวียดนาม ผู้เป็นทั้งกวีและเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส

สกุล บุณยทัต อาจารย์-นักวิจารณ์ กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า
หนังสือเล่มนี้ เขียนขึ้นโดยอาศัย รากฐานมาจากแก่นของพุทธศาสนา

ติช นัท ฮันห์ อรรถาธิบายไว้ว่า พรหมวิหารสี่ คือ ความเมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา เป็นสภาวะที่แท้ของอริยบุคคล มีอยู่ในตัวของทุกคนและทุกๆ สิ่ง ถ้าฝึกปฏิบัติมันจะงอกงามขึ้นในตัวเราทุกๆ วัน เมื่อจิตใจท่วมท้นไปด้วยความรักความเมตตา มันจะแผ่ออกไปทุกทิศทาง สู่ทิศเบื้องบนและเบื้องล่าง แผ่กว้างและเพิ่มพูนออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด กระทั่งแผ่คลุมโลกทั้งมวลไว้

ไมตรี แปลได้ว่า ความรัก หรือ ความเมตตา คือความปรารถนาที่จะให้ผู้อื่นเบิกบาน ซึ่งจะต้องมองลึกลงไปให้เห็นและเข้าใจถึงความต้องการ และความทุกข์ทรมานของคนที่เรารักเพราะหากเป็นความรักที่ขาดความเข้าใจ นั่นย่อมไม่ใช่รักที่แท้

กรุณา หรือความตั้งใจอยากให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ คลายจากความเศร้าโศก ซึ่งติช นัท ฮันห์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า เราสามารถช่วยขจัดทุกข์ให้คนได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ด้วย ดังเช่นหมอสามารถช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของคนไข้ได้ โดยไม่ต้องป่วยเป็นโรคเดียวกัน

สมัยพุทธกาล โลกเต็มไปด้วยความทุกข์ แต่พระพุทธองค์ เข้าใจ
สงบนิ่ง และตั้งมั่น ความทุกข์จึงไม่สามารถครอบงำพระองค์

เราต้องรู้เท่าทันความทุกข์ โดยคงความเข้มแข็ง สงบ และพละกำลังของเราไว้ เพื่อพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้มีความกรุณาจะไม่จมจ่อมอยู่ในห้วงสมุทรแห่งหยาดน้ำตา

ความรักที่แท้นำความเบิกบานมาสู่ตัวเราและคนที่เรารักเสมอ สิ่งนี้คือ มุทิตา
มุทิตาเชื่อมโยงอยู่กับจิต การอยู่อย่างมีสติ จะทำให้เราได้สัมผัสกับสิ่งอันแช่มชื่น มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน โดยไม่ต้องรีบเร่งไปสู่อนาคต เพราะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ ณ ปัจจุบัน ความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดของมุทิตา คือความยินดีเบิกบานที่เจือไปด้วยความสงบและความพอเพียง ขณะที่ชื่นบานกับความสุขของผู้อื่น เราต้องชื่นบานไปกับความสุขของตนด้วย ความยินดีชื่นบานเป็นของทุกๆ คน

ส่วน อุเบกขา หมายถึงการไม่ยินดียินร้าย ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่วินิจฉัย การวางเฉย หรือปล่อยให้เป็นไป แต่ไม่ใช่การไม่สนใจไยดี ไม่ใช่ความเย็นชาและไม่รัก ด้วยสายตาแห่งอุเบกขา เราจะสามารถมองทุกคนได้อย่างเท่าเทียม ไม่แบ่งแยกตัวเองกับคนอื่น หากเราประเมินตนเองสูงกว่าคนอื่น หรือมองตัวเองต่างไปจากผู้อื่น อุเบกขาอันแท้จริงไม่มีทางเกิดขึ้น

หากปรารถนาที่จะเข้าใจและรักใครอย่างแท้จริงแล้วจะไม่มี "ตัวเรา" และ "ตัวเขา"
สายลมฤดูร้อนแช่มชื่น แต่ถ้าเราพยายามเอามันอัดใส่กระป๋องให้เป็นของเรา สายลมก็จะไม่มีชีวิต คนที่เรารักก็เช่นกัน เขาเป็นเหมือนเมฆหมอก สายลม ดอกไม้ หากนำเขาไปกักขังเขาก็จะตาย

ความรักที่แท้จะต้องให้ตัวเราและคนที่เรารักยังคงมีอิสรภาพ นั่นคืออุเบกขา
ติช นัท ฮันห์ ชี้ว่า เราทุกคนล้วนมีเมล็ดพันธุ์ของความรักอยู่ในตัว เราสามารถพัฒนาพลังอันน่าอัศจรรย์นี้ บ่มเพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้อะไรตอบแทนและให้รักนั้นก็ครอบคลุมไปตั้งแต่การรักตนเอง รักต่อคู่รัก ต่อบุพการี กระทั่งแผ่ออกไปยังคนรอบข้าง

บางบรรทัดในหนังสือเล่มนี้ได้ยกพุทธพจน์อันกินใจยิ่งมาแสดงไว้ อาทิ
          ไม่มีใครในโลกนี้ ที่จะรักตัวเรามากไปกว่าตัวเราเอง

   บางบทย้ำเตือนให้เราเฝ้ามอง พิจารณาตัวเองอย่างจริงจัง เพื่อได้พบตาน้ำแห่งความรัก จากนั้นความรักก็จะปรากฏสู่ภายนอก ดวงตาจะฉายแววของความสุข คนรอบข้างจะได้รับอานิสงส์จากการปรากฏตัวของเรา
   ในบทท้ายๆ ติช นัท ฮันห์ เชื่อมโยงให้เห็นว่าเราทุกคนล้วนเกี่ยวพันกัน เราตระหนักรู้ว่าบรรพบุรุษและลูกหลานทั้งหลายอยู่ในตัวเรา

รูปกาย ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ และเราไม่ได้ถูกจำกัดด้วยรูปกายนี้ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งในสายธารชีวิตของบรรพบุรุษ ซึ่งไหลเนื่องมานานนับพันปี จวบจนปัจจุบัน และสืบต่อไปในอนาคต การเสื่อมสลายของรูปกายไม่มีผลต่อตัวเรา ปัญญาญาณ ไม่ต้องพบกับการเกิดดับ อยู่เหนือความคิดว่าตัวเองคือรูปกาย ที่ถูกแบ่งแยกออกจากสรรพสิ่งอื่นๆ ด้วยมิติกาลเวลา

"โลก" กับ "ธรรม" ไม่ได้แยกจากกัน แม้แต่ "รัก" ก็ต้องมีธรรม !
" บ่มเพาะความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
ชนิดที่ไม่ต้องคาดหวังว่า จะได้อะไรตอบแทนและให้
รักนั้นก็ครอบคลุมไปตั้งแต่
การรักตนเอง รักต่อคู่รัก ต่อบุพการี กระทั่งแผ่ออกไปยังคนรอบข้าง " ...


วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง
เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาและสังคมไทย
ที่มา : http://www.carefor.org/content/view/101/153/
>>> F/B พระพุทธศาสนา นิกายเซ็น - Zen
        14 กุมภาพันธ์ 2558
: https://www.facebook.com/ZenTheWayOfLife?fref=ts