ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมะเรื่อง กรรม (ใจทำ ใจรู้) - พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร  (อ่าน 8723 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



   เมื่อใจรู้แจ้งหลง อวิชชาดับ วิมุตติ ใจหลุดพ้น วิสุทธิ ใจหมดจดสะอาดปราศจากอวิชชา สันติ ใจสงบ นิพพาน นิพพาน นังปรมังสุขขัง ไม่ต้องไปถามใคร ปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะใจ ใจยังหลงอยู่หรือใจสิ้นจากความหลง มีญาณความรู้เกิดแล้วภายในใจ ใจหลงอยู่ก็มีภพมีชาติ ใจสิ้นจากความหลง ก็สิ้นภพสิ้นชาติอยู่จบพรหมจรรย์
   
   ปัญหา หัวใจอันเดียวนี้แหละ เป็นปัญหาที่คนเราเป็นอันมากแก้ไม่ตกเพราะไม่สนใจในการที่จะแก้กิเลสภายในใจ จริงๆ ไม่สนใจในอุบายที่จะละกิเลส สนใจแต่จะทำกิเลสเพิ่ม ใจเคยหลงมาแล้วก็ทำความหลงในสังขารเพิ่มขึ้นไป ใจเคยโลภมาแล้วก็ทำความโลภเพิ่มขึ้นไป ใจเคยโกรธมาแล้วก็ทำความโกรธพยาบาทอาฆาตจองเวรเพิ่มขึ้นไป ใจเคยยึดถือมาแล้วก็ทำความยึดถือเพิ่มขึ้นไป ใจเคยตระหนี่มาแล้วก็ตระหนี่ขี้เหนียวเพิ่มขึ้นไป
   
   กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ใจสร้างขึ้นใจทำขึ้นเพิ่มเติมจนหนาแน่น ใจไม่ละอายเลยใจไม่กลัวเลย ยกให้กรรม นี้ละหนอคนหนอ กรรมจริงๆ ไม่อายกรรม ไม่กลัวกรรม ใจคุณช่างกล้าเสียจริงๆ ใจคุณผู้ชายก็กล้า ใจคุณผู้หญิงก็กล้า กล้าหลงได้ทั้งๆ ที่เป็นธาตุเป็นอนัตตาก็หลงเสียว่าเป็นอัตตาตัวตนได้ หลงรูปร่างกายว่าเป็นตัวเป็นตน ทั้งๆ ที่มันตายแล้วก็เผาก็ฝังให้เห็นอยู่ หรือไม่เคยเห็น คนตายหรือสิ่งที่ตายมันตายนะ สิ่งที่ไม่ตายก็ไม่ตาย แต่สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็เพียงสักว่าเป็นธาตุ สังขารธาตุ ไม่มีเรา ไม่เป็นเรา ว่างเปล่าตัวตนเราเขา
   
   ใจรู้ไหม ถ้าใจรู้จริงรู้แจ้งใจคงว่างจากอวิชชาความหลง ขอให้ใจว่างจากความหลงเสียเถิด อย่าไปหลงว่ามีตัวตนเราเขาเลย เพราะหลงมันทำให้ใจเป็นทุกข์ ใจหลงว่ามีตัวตนเราเขาใจก็เป็นทุกข์ขึ้นมา เมื่อใจรู้แจ้งว่าเป็นธาตุเป็นอนัตตา ละหลงว่าเป็นอัตตาออกจากใจ ใจก็จะหลุดพ้น วิมุตติ เมื่อใจพ้นจากความหลงใจก็พ้นทุกข์
   
   ใจ พ้นทุกข์กับใจเป็นทุกข์ข้างไหนดีคุณว่า ความเป็นทุกข์ก็ใจทำเอา ความพ้นทุกข์ก็ใจทำเอา ใจหลงว่าใจเป็นตนใจก็เป็นทุกข์ขึ้นมา ใจรู้ว่าใจเป็นธาตุเป็นอนัตตา ละหลงว่าเป็นอัตตาออกจากใจ ใจก็สงบใจก็สุขสันติ นิพพาน พุทโธรู้ใจ พุทโธใจรู้ ทำให้มาก กำหนดให้มาก พิจารณาให้มาก จนใจรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจ ใจมีอยู่แต่ไม่รู้แจ้งเห็นจริงภายในใจ ใจมีอยู่แต่ไม่รู้แจ้งเห็นจริง วาจามีอยู่แต่ไม่รู้แจ้งเห็นจริง เหมือนหน้าทุกคนมีอยู่ ทั้งตาก็ดีแต่มองไม่เห็นหน้าตัวเองต้องอาศัยแว่นคือกระจกส่องจึงจะเห็นหน้า ตัวเองฉันใด ใจของคนเรามีอยู่ทั้งนั้นแต่ไม่รู้ว่าทำอกุศลกรรมคือย่างไร ใจทำกุศลกรรมคืออย่างไร ต้องอาศัยแว่นคือพระธรรมเป็นเครื่องส่อง เหมือนพระพุทธเจ้าตรัสว่า "ผู้ใดเห็นตนผู้นั้นเห็นธรรม" เห็นธรรมก็เห็นตน เห็นตนก็เห็นธรรม เหมือนคนสร้างแว่นขึ้นมาแล้วก็เอาแว่นมาส่องดูตน ใจสร้างอกุศลกรรมและกุศลกรรมขึ้นมา ก็เอากุศลกรรมนั้นแหละมาพิจารณา ละอกุศลกรรมภายในใจ เพื่อละถอนปล่อยวาง ใจหลงก็ทำวิชชาความรู้ขึ้นมาเพื่อละหลงออกจากใจหลง ใจว่าเป็นตนก็สอนใจให้รู้อนัตตาขึ้นมา เพื่อละหลงว่าเป็นอัตตาออกจากใจ ใจเคยหลงมามากมายต้องสอนใจให้นึกพุทโธรู้ใจ เป็นธาตุเป็นอนัตตาให้มากๆ จนกว่าจะรู้ได้ว่าละหลงสิ้นไปแล้วจากใจ มีแต่ธรรมชาติของใจคือธาตุรู้ ไม่หลงว่าสิ่งใดๆ เป็นตนเป็นของๆ ตน
   
   บทธรรม สวากขาโต นี้เป็นแว่นที่จะส่องดูตนได้เป็นอย่างดี ถ้าตาไม่บอดแล้วรับรองต้องเห็นแน่ ท่านทรงแสดงไว้ว่า "สวากฺขาโต ภคฺวตา ธมฺโม" ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วคือกุศลธรรมทุกประเภท เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ อย่างนี้ท่านว่าดี มีความสุขความสบาย คนหรือสัตวก็อยู่เป็นสุข ถ้าไปฆ่ากันเสียแล้วไม่ดีเป็นทุกข์ถึงตาย ถ้าใครว่าฆ่าสัตว์มันดีก็ลองให้เขาฆ่าคนนั้นดูซิว่าจะดีจริงไหม ไม่ดีแน่ อย่าว่าแต่คนเลยแม้สัตว์เดรัจฉานเขาก็ไม่ปรารถนา
   
   การ ลักขโมยไม่ดี การเสพกามไม่ดี การพูดปดไม่ดี การดื่มสุราไม่ดี การกินข้าวแลงไม่ดี การดูการฟังฟ้อนรำขับร้องดนตรีดีดสีตีเป่าไม่ดี การนอนเสื่อยัดด้วยนุ่นและสำลีไม่ดี ความยินดีในเงินและทองไม่ดี คนมีศีลท่านเรียกว่าคนดี คนที่ไม่มีศีลคือคนเวรห้า เวรแปด เวรสิบ ท่านเรียกว่าคนไม่ดีเป็นคนทุศีล เป็นคนชั่ว ให้พิจารณาเทียบกันดูซิว่าคนฆ่าสัตว์กับคนไม่ฆ่าสัต์ข้างไหนดี คนลักทรัพย์กับคนไม่ลักทรัพย์ข้างไหนดี คนดื่มเหล้ากับคนไม่ดื่มเหล้าข้างไหนดี คนกินข้าวแลงกับคนไม่กินข้าวแลงข้างไหนดี คนดูหนังดูละครฟังร้องรำทำเพลงเครื่องขับประโคมดนตรีดีดสีตีเป่า กับคนไม่ดูไม่ฟังข้างไหนดี คนประดับประดาตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ของหอมเครื่องย้อมเครื่องทาต่างๆ กับคนไม่ประดับประดาข้างไหนดี คนยินดีในเงินและทองกับคนไม่ยินดีข้างไหนดี ให้พิจารณาเทียบกันดูก็จะรู้ได้ว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลข้างไหนดีจริง
   
   เรา จะมองเห็นได้ว่าคนไม่มีศีลมันมากเหลือเกิน คนที่ไม่มีศีลเขาต้องการเป็นคนไม่ดีอย่างนั้นหรือ ศีลอันเป็นเครื่องวัดของคนดีท่านก็สอนไว้แล้ว แต่ไม่ชอบทำตาม ไม่ชอบปฏิบัติ ต้องการเป็นคนแดีแต่ไม่ทำดี จะได้ดีเป็นที่พึ่งอย่างไร ตัวเองเป็นคนทุศีลทำไม่ดีจึงทำให้ตัวเองและสัตว์อื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะกรรมชั่วกรรมไม่ดีที่ตนทำ
   
   เมื่อเราต้องการเป็นคนดีแล้วก็ต้องน้อมนำศีลมาเป็นข้อปฏิบัติ เมื่อเราปฏิบัติดีในศีลแล้วต่อไปก็ปฏิบัติดีในสมาธิ หาอุบายทำจิตให้ตั้งมั่น จะกำหนดลมหายใจเข้าออกหรือพิจารณาภายในอาการสามสิบสองโดยความเป็นของปฏิกูล กลับไปกลับมาเป็นอนุโลมปฏิโลมจนกว่าจะเกิดอุคคหนิมิตในกายส่วนใดส่วนหนึ่งจน รู้แน่วแน่มั่นคง จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
หรือจะกำหนดแต่ลมหายใจเข้าออกจนรู้แน่วแน่มั่นคง จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



   การทำสมาธิก็เป็นการละนิวรณ์ห้าคือ *กามราคะ ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา *(กำหนัด ขัดเคือง เซื่องซึม ฟุ้งซ่าน สงสัย)นิวรณ์ห้าเป็นฝ่ายอกุศลจิต ทำลายสมาธิ ใจตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่ได้ สมาธิดีแต่ใจทำไม่ได้เพราะใจไปทำชั่ว ทำไม่ดี ต้องดูใจทำให้ออก เมื่อใจมุ่งหวังสมาธิความตั้งมั่นจริงๆ ก็ต้องฉลาดในอุบาย ต้องเลือกเฟ้นอุบายต่างๆ ที่จะทำให้ใจตั้งมั่น เมื่อใจมี ฉันทะ ความพอใจในสมาธิแล้ว วิริยะ ความเพียรย่อมเป็นไป จิตก็ฝักใฝ่ในอุบายจะทำให้ใจตั้งมั่น วิมังสะ การตรวจตรองพิจารณาเหตุผลของการทำสมาธิ ก็ประพฤติเป็นไป ความตั้งมั่นแห่งจิต เมื่อมีอิทธิบาทธรรมเป็นเครื่องอุดหนุนแล้วย่อมสำเร็จ
   
   เมื่อ ใจปฏิบัติดีในสมาธิแล้วปัญญาวิปัสสนาก็เกิดขึ้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เขามีอยู่แล้วทั้งรูปธรรมและนามธรรม เมื่อใจมีปัญญาเกิดขึ้นก็เห็นได้เองเลยว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นธาตุ เป็นอนัตตา เมื่อใจเห็นใจรู้จะไปหลงอยู่ทำอะไรหนอ เมื่อใจรู้ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยงก็ละหลงว่าเที่ยงออกจากใจ ใจก็หลุดพ้น เมื่อใจรู้ว่าสังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ก็ละหลงว่าเป็นสุขออกจากใจ ใจก็หลุดพ้น เมื่อใจรู้ว่าธรรมทั้งเป็นเป็นธาตุเป็นอนัตตาก็ละหลงว่าเป็นอัตตาออกจากใจ ใจก็หลุดพ้น ใจหลุดพ้นจากความหลง ไม่หลงว่ามีตัวตนเราเขาในธาตุทั้งหลาย สังขตธาตุก็รู้ รู้ว่าเป็นธาตุ สูญเปล่าจากตัวตนเราเขา
   
   ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา วิชชา วิมุตติ จะมีขึ้นได้เพราะหิริโอตตัปปะ ถ้าใจไม่ละอายบาป ไม่กลัวบาปแล้ว โมหะความหลงก็ครอบงำ ใจมืดมนไม่รู้อะไรเป็นบุญ เมื่อใจไม่รู้จักบญก็ทำบุญยาก เมื่อไม่รู้จักบาปก็ละบาปยาก ทั้งๆ ที่ใจทำบาปอยู่ แต่ไม่รู้จะไปละยังไง ใจตระหนี่เหนียวแน่นในวัตถุข้าวของเงินทองอยู่ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นบาปอย่างไร เอาทรัพย์ไปฝังไว้ตายแล้วก้ไปเกิดเป็นผีเฝ้าทรัพย์ เพราะหลงในทรัพย์ว่าเป็นของเรา ก็เกิดความตระหนี่ขี้เหนียว ก็เลยต้องตายไปเกิดเป็นผีเฝ้าเหมือนปู่โสมเฝ้าทรัพย์นั้นเอง
   
   ความ ตระหนี่เป็นอันตรายต่อการให้ทาน เป็นมลทินเครื่องเศร้าหมองของใจ ไม่พอใจในการให้ การบริจาค บุญกุศลส่วนทานบารมีจะแก่กล้าเข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร นี้แหละใจหลง ใจตระหนี่ มีแต่บาปจะเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ใจทำบาปก็ไม่รู้ เพราะหลงตระหนี่ขี้เหนียว เป็นบาปก็ไม่รู้เพราะหลงว่าเป็นของๆ เรา เงินเราทองเรา วัตถุข้าวของๆ เรา
   
   อะไรเป็นธาตุไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันเป็นธาตุอะไร ก็ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนั้นเอง หลงว่าเป็นของๆ ตน กล้าตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหนจนตายไปเป็นผีเฝ้าทรัพย์ นี้แหละกรรม กรรมใครทำ ใจทำไม่ใช่หรือ ใจ หลง ใจตระหนี่ ใจยินดี ใจยินร้าย ใจยึดถือ จะให้ใครละ ใจต้องละจึงจะหลุดพ้น ใจจะละได้ต้องมีสติระลึกได้ ใจจึงจะเชื่อกรรมที่ใจทำ ความเพียรระวัง เพียรละ เพียรเจริญมรรคคือ ศีล สมาธิ ปัญญาอันเป็นเครื่องปหานกิเลส ก็จะประพฤติเป็นไป คำว่า ปหาน ละ เสีย ตัวนี้จะรวดเร็วเพราะคุณธรรมสามอย่างปรากฏภายในใจ คุณธรรมสามอย่างคืออะไร คือใจเห็นชอบ ใจรู้ชอบ ใจละ วิมุตติ ใจก็หลุดพ้น วิสุทธิ์ สันติ นิพพาน
   
   ใจต้องการความ หลุดพ้นแต่ละกิเลสไม่ได้ เพราะปัญญาสัมมาทิฏฐิอ่อนไป ให้เอาสัมมาทิฏฐิ เห็นชอบกับมิจฉาทิฏฐิเห็นผิดเทียบกัน ใจเห็นชอบใจเห็นผิด ใจเห็นอย่างไรเรียกว่าเห็นผิด ใจเห็นอย่างไรเรียกว่าเห็นชอบ ใจเห็นชอบ ใจละชอบ ใจรู้ชอบ ใจละชอบ วิมุตติใจหลุดพ้น ใจเห็นผิด ใจละผิด ใจรู้ผิด ใจละผิด คำว่าละผิดคือละกิเลสไม่ได้แต่เกิดความสำคัญว่าตนละได้ สำคัญว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ ใจยังมีมานะความสำคัญมั่นหมาย ใจยังไม่หลุดพ้นจากความสำคัญมั่นหมาย การละกิเลสออกจากใจนั้นมันง่ายสำหรับผู้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิแก่กล้า เป็นของยากยิ่งสำหรับคนที่มีกิเลสแก่กล้า จะพิจารณาเทียบกันแต่เพียงว่าคนมีศีลห้ากับคนไม่มีศีลห้า ข้างไหนมากกว่ากัน เทียบเท่านี้ก็พอจะรู้ได้
   
   ฉะนั้นเมื่อเราต้องการเป็น คนดีจริงๆ จงน้อมนำศีล สมาธิ ปัญญามาเป็นข้อปฏิบัติ ต้องทำจริงสอนใจให้รู้สอนใจให้ทำ เมื่อใจทำจริงของจริงย่อมปรากฏภายในใจ สิ่งที่จะทำให้ใจรวดเร็วในการบรรลุวิมุตติคือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบตามความเป็นจริงของสมมุตติและปรมัตถ์ สัมมาญาณ รู้ชอบตามความเป็นจริงของสมมุติและปรมัตถ์ สัมมาวิมุตติ ใจหลุดพ้นชอบจากความยึดมั่นถือมั่นว่าเรามีเราเป็น สัมมาทิฏฐิ คือ ปัญญาที่เห็นชอบตามความเป็นจริงในสมมุติที่สมมุติว่าเป็นตัวตนเราเขา ก็คือสมมุติธาตุ สมมตุติว่าเป็นใจเราใจเขาก็ธาตุรู้ สมมุติว่ากายเรากายเขาก็ธาตุสี่ สมมุติออกไปมากมายก่ายกองเป็นเรื่องของธาตุ สมมุติธาตุ ถ้าใจรู้เท่าทันสมมุติไม่หลงก็วิมุตติหลุดพ้น สมมุติว่าเป็นใจเราใจเขาก็ธาตุรู้ ธาตุรู้คือใจเป็นธาตุเป็นอนัตตา โดยปรมัตถ์ที่ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ ก็เพื่อจะให้รู้เท่าเป็นธาตุเป็นอนัตตา เพื่อละหลงว่าเป็นอัตตาตัวตนออกจากใจ ใจเห็นชอบ ใจละชอบ ละหลงออกจากใจ ใจก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นจากความหลงไม่หลงในสมมุติ ยินดี ยินร้าย ยึดถือ มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ใจละยึด ใจหลุดพ้น ใจละยินดี ใจหลุดพ้น ใจรู้จริงรู้แจ้งในสมมุติและปรมัตถ์ ละหลง ใจก็หลุดพ้น วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน รู้ได้เฉพาะใจเลย ไม่ต้องไปถามใคร



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



   สิ่งที่ทำให้ใจเนิ่นช้าในการบรรลุวิมุตติคือ มิจฉาทิฏฐิ เห็น ผิด รู้ผิด พ้นผิด จิตยังไม่หลุดพ้น แต่สำคัญว่าตนหลุดพ้น  ใจยังสำคัญว่ามีตัวตน สำคัญมียินดีก็มี เมื่อสำคัญมียินร้ายก็มี เมื่อยินดียินร้ายมีความเห็นว่ามีตัวตนมีเรามีเขาย่อมมี เมื่อเห็นว่ามีตัวตน เรา เขา มีความไม่รู้จริงในสมมุติและปรมัตถ์ก็ย่อมมี จุดเด่นที่สำคัญในคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านสอนว่าให้รู้เท่าสมมุติ อย่าไปหลงกับสมมุติ นี้แหละสอนเท่าไรก็หลงกับสมมุติว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขาอยู่อย่างนั้นแหละ
   
   ท่านสอนว่าใจก็ธาตุรู้นะ รูปก็ธาตุสี่นะ นามธรรมก็นามธาตุ เวทนาธาตุ สัญญาธาตุ สังขารธาตุ วิญญาณธาตุ ใจก็ธาตุรู้ เป็นธาตุ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ไม่เป็นเรา อย่าไปหลงธาตุว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา เมื่อใจรู้จริงรู้แจ้งไม่หลง ละหลงออกจากใจได้ใจก็หลุดพ้น เท่านั้นเอง
   
   ใจจะรู้แจ้งทั้งสมมตุติและปรมัตถ์นี้ต้องมีบุญบารมีที่ได้สร้างมาแก่กล้าสมควรจะรู้แจ้งเห็นจริงได้ ถ้าบารมีอ่อนกิเลสกล้าแล้วก็เป็นของยากยิ่งทีเดียว ทำไมบุญบารมีจึงอ่อนกิเลสบาปอกุศลจึงแก่กล้า เพราะใจคนชอบบาป พอใจทำบาป บาปมันจึงได้มาก จะให้ทานนิดหน่อยตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหนมากมาย รักษาศีลก็นิดหน่อย ยินดีในเวรห้า เวรแปด เวรสิบมากมาย ทำสมาธินิดหน่อย ทำนิวรณ์ห้าคือ กามราคะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉานั้นมากมาย เห็นสังขารว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตานั้นนิดหน่อย ความเห็นว่าสังขารเป็นสุขเป็นอัตตาตัวตนนั้นมากมาย ความรู้ว่าธรรมทั้งปวงเป็นธาตุเป็นอนัตตานั้นนิดหน่อย ความลุ่มหลงมัวเมาในธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่าเป็นอัตตาตัวตนเราเขานั้นมากมาย
   
   ฉะนั้น คนที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้จึงมีน้อยนักเพราะใจคนชอบทำบาปมากกว่าชอบทำบุญ ใจชอบโลภอยากได้ยินดีมากกว่าชอบให้ทาน ใจชอบโกรธพยาบาทอาฆาตจองเวรมากกว่าชอบรักษาศีลและเจริญเมตตา ใจชอบลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสกามและวัตถุกามมากกว่าชอบภาวนาเจริญสมถะและ วิปัสสนา
   
   ฉะนั้นเมื่อใจคนเราชอบทำกรรมชั่วมากกว่ากรรมดีแล้ว จึงเป็นของยากที่จะทำบุญให้แก่กล้าเข้มแข็งได้ จนพระพุทธเจ้าท้อใจว่าจะไม่สอนใคร ในคราวที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ เพราะท่านพิจารณาอวิชชาความไม่รู้ความหลงตัวนี้แหละ ว่าใจคนมันหลงมัวเมาในกิเลสกามและวัตถุกามมากจริงๆ ไปสอนก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจ จะเสียเวลาเหนื่อยเปล่าๆ จะไม่ได้ประโยชน์อะไร ต่อมามีพรหมมาอาราธนาขอให้แสดงธรรมโปรดว่าบุคคลผู้อาจรู้ธรรมได้มีอยู่ พระองค์ทรงพิจารณาแล้วรู้ว่าผู้ที่อาจรู้ธรรมได้มีอยู่จริงแต่น้อยนัก อาศัยเมตตาจึงทรงตกลงพระทัยเทศนาโปรด ซึ่งพระองค์หยิบยกเอาที่สุดสองอย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค ขึ้นชี้ว่าเป็นของไม่ควรเสพเพราะ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์แก่ผู้ทำ เป็นธรรมอันเลวทรามต่ำช้า เป็นเหตุให้ตั้งบ้านเรือน เป็นของคนมีกิเลสหนา ไม่ใช่ไปจากข้าศึกคือกิเลส เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ประกอบความเหน็ดเหนื่อยให้แก่ตนเปล่าๆ และชี้มรรคอันเป็นข้อปฏิบัติเพื่อละกาม และทรงแสดงถึงความรู้ความเห็นในอริยสัจคือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ว่าเป็นของจริง ความเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ทุกข์จริงๆ ทุกข์จนตายไม่ได้อะไร
   
   ตัณหาความอยากเป็นสมุทัยเหตุให้ทุกข์ เกิดขึ้นแก่ใจจริงๆ เพราะอยากได้กายอันเป็นทุกข์ ถ้าใจละตัณหาเสียได้ทุกข์ใจจึงจะดับไป ศีล สมาธิ ปัญญานี้เป็นมรรคหรือข้อปฏิบัติเพื่อละตัณหา เมื่อใจต้องการละตัณหาแล้วจงปฏิบัติตามมรรคคือศีล สมาธิ ปัญญา นั้นเถิด มรรคนี้ท่านได้รับรองเอาไว้แล้วว่าเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้จริง เพราะพระองค์ได้ทรงทำมาแล้ว ได้รู้แจ้งเห็นจริงภายในใจแล้ว เมื่อท่านต้องการรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว จงปฏิบัติให้จริงทำให้จริง ทุกข์จะรู้ได้จริงที่ใจ สมุทัยตัณหาจะรู้ได้จริงที่ใจ นิโรธจะรู้ได้จริงที่ใจ เมื่อใจละตัณหามรรคจะรู้ได้จริงที่ใจ เมื่อใจปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาจริงๆ ของจริงสี่อย่างนี้จะรู้แจ้งเห็นจริงภายในใจเอง ไม่ต้องลังเลสงสัยไปถามใคร มันอยู่ที่ใจทำจริงอะไร ถ้าใจทำสมุทัยตัณหาจริงผลที่ได้รับก็คือทุกข์ใจจริงๆ ถ้าใจทำมรรค ศีล สมาธิ ปัญญาจริงๆ แล้ว ผลที่ได้รับก็คือนิโรธ นิพพานต้องบรรลุได้จริง
   
   ฉะนั้นกรรมคือการกระทำมันอยู่ที่ใจ พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงไว้แล้วว่า "ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ" ฉะนั้นเมื่อเรามีใจกันทั้งนั้น ควรจะตั้งสติระลึกได้ภายในใจมากำหนดพิจารณาใจว่า ใจทำอะไร ถ้าใจทำบุญกุศลมรรคผลจริงๆ แล้วก็ต้องรู้ได้จริงภายในใจ ถ้าใจทำบาปอกุศลจริงก็ต้องรู้ได้จริงภายในใจ เพราะผู้รู้ก็คือใจ สิ่งที่ใจทำใจก็ต้องรู้ ถ้าใจทำบาปอกุศลก็ปรับปรุงแก้ไข เช่น ใจหลงก็สอนใจให้รู้ ใจเห็นผิดก็สอนใจให้เห็นถูก เมื่อใจเห็นถูก รู้ถูก ละถูก วิมุตติใจหลุดพ้นจากอาสวกิเลสก็รู้แจ้งเห็นจริงได้ภายในใจ
   
   ทำไมพระสาวก สาวิกาบางองค์ท่านรู้ได้เร็วนัก สามารถบรรลุมรรคผลได้เพียงฟังภาษิตข้อเดียว เช่น พระยสกุลบุตร บรรลุมรรคผลได้เพราะได้ฟังอริยสัจธรรมเพียงครั้งเดียว พระอุคคเสน ได้บรรลุมรรคผลเพียงได้ฟังภาษิตข้อเดียว สันติอำมาตย์ ได้บรรลุมรรคผลเพียงได้ฟังภาษิตข้อเดียว นางเขมา ได้บรรลุพระอรหันต์เพียงได้ฟังภาษิตข้อเดียว นางปฏาจารา ได้บรรลุพระอรหันต์เพราะได้ฟังภาษิตเพียงสองข้อ สังกิจจสามเณร เห็นผมตกเวลาปลงผมบรรลุพระอรหันต์ บัณฑิตสามเณร ใช้อุบายพิจารณาน้ำ พิจารณาคนถากไม้ คนดัดลูกศร น้อมมาเป็นอุบายฝึกใจ สอนใจ บรรลุพระอรหันต์
   
   อย่างบัณฑิตสามเณรนี้ท่านสอนใจตนเองไม่ให้คนอื่นสอน นี้แสดงให้เห็นว่าท่านมีปัญญาฝึกตนสอนตน ผู้ มีปัญญาแล้วสามารถจะพิจารณา รูปธรรมนามธรรมทุกประเภทมาเป็นอุบายสอนใจได้ทั้งนั้น เพราะรูปธรรมและนามธรรมเป็นอารมณ์ของสมถะและปัสสนาได้ทั้งนั้น ถ้าปัญญาอ่อน อินทรียอ่อน กิเลสกล้าแล้ว แม้ทุกข์และสมุทัยมีอยู่ที่กายที่ใจก็มองไม่เห็น เพราะมืดมน ไปด้วยอวิชชาปิดบัง
   
   ฉะนั้นจึงควรศึกษาให้รู้จักตนว่าเราเป็นคนประเภทใด เป็นคนประเภทอุคคติตัญญูอาจรู้ธรรมเมื่อท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง หรือเป็นประเภทวิปปจิตัญญูอาจรู้ธรรมในเมื่อท่านอธิบายเนื้อความของธรรมนั้นออกไปอีก หรือเป็นประเภทเนยยะ พอสั่งสอนให้รู้และเข้าใจไปทีละน้อย หรือเป็นประเภทปทปรมะ มีบาปอย่างยิ่งไม่ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้เพราะการฟัง คือใจมันหลงมามืดมนไปด้วยอวิชชา บาปก็ไม่รู้จัก บุญก็ไม่รู้จัก อริยสัจก็ไม่รู้จัก เมื่อใจไม่รู้จักบาปจะไปสอนให้ละบาปได้อย่างไร เมื่อใจไม่รู้จักบุญแล้วจะไปสอนให้รู้จักบุญได้อย่างไร เมื่อใจไม่รู้อริยสัจแล้วจะไปสอนให้รู้อริยสัจอย่างไร


ออฟไลน์ สายลมที่หวังดี

  • ทีมงานกัลยาณมิตร
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 840
  • พลังกัลยาณมิตร 319
    • ดูรายละเอียด
อนุโมทนา ขอบคุณนะค่ะพี่แป่ม :45:

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



   คนประเภทปทปรมะนี้มีมากเหลือเกิน ฉะนั้นเราควรรู้จักตนว่าเราเป็นคนประเภทไหน จะได้ปรับปรุงแก้ไขตนเอง เรา ช่วยเรา เราฝึกเรา เราสอนเรา เราพึ่งเรา ถ้าเราช่วยเราไม่ได้แล้วหมดทาง เพราะตนก็สอนตนไม่ได้ คนอื่นสอนมันจะเอาหรือ เมื่อตนไม่รักตนไม่เมตตาตนแล้วก็ต้องเป็นคนเปล่าจากบุญกุศล มรรคผลนิพพาน
   
   พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "บุคคลผู้รักตนก็ไม่ควรประกอบตนไว้กับกรรมชั่ว ผู้ทำกรรมชั่วได้ชื่อว่าเป็นผู้เบียดเบียนตน" ทำลายความดีของตนเสียเพราะทำกรรมชั่วก็จะได้รับแต่ผลชั่ว จะไปเอาดีที่ไหน เมื่อตนไม่ทำเอาดี ไม่ทำบุญจะเอาบุญที่ไหนเป็นที่พึ่ง ไม่ทำเอากุศลมรรคผล นิพพานจะไปเอากุศลมรรคผลนิพพานที่ไหนเป็นที่พึ่ง
   
   ประเทศไทย เป็นเมืองพุทธ มีวัดวาศาสนามีพระภิกษุสามเณร มีคำสอนของพุทธศาสนา แต่แล้วคุณดูซิคนที่ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาจริงๆ มีกี่คน คนที่พอใจในการให้ทาน รักษาศีล ภาวนาจริงๆ มีกี่คน เมื่อจะเอาเทียบกันแล้ว คนทำบุญจริงๆ มีน้อยมาก คนทำบาปมีมากมายทั้งๆ ที่เขาอ้างว่าตนนั้นนับถือพระพุทธศาสนา คนตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหนมากกว่าคนที่พอใจทาน คนที่ยินดีทำเวรห้า เวรแปด มากกว่าคนยินดีรักษาศีล คนที่จิตใจทำนิวรณ์ห้ามีมากกว่าคนที่ทำจิตใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ คนที่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในกิเลสกามมากกว่าผู้เจริญวิปัสสนา พิจารณาสังขารเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนที่รู้จริงรู้แจ้งใจละหลงเสียได้ ใจหลุดพ้นยิ่งจะมีน้อยมาก
   
   กรรมหนอกรรมจริงๆ ชอบทำแต่กรรมชั่ว ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ต้องการเป็นคนชั่วแต่พอใจทำ ฉะนั้น กรรมชั่วจึงให้ผลเป็นทุกข์แก่บุคคลที่ทำอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ฆ่ากัน ลักขโมย ปล้นจี้ ฉกชิงวิ่งราว ประพฤติในกาม พูดปดหลอกลวง ดื่มสุราเมรัย ทำเวรห้านี้ ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นเมื่อเรานับถือพุทธศาสนา ต้องพิจารณาตนเองว่า เราทำตามคำสอนของพระพุทธศาสนาแท้จริงไหม เมื่อพิจารณาตนรู้ตน เห็นตน กรรมที่ตนทำอยู่จะปรากฏ เมื่อตนทำกรรมชั่วกรรมไม่ดีก็จะเกิดความละอายแก่ใจว่าไม่น่าเลยหนอ เราต้องการเป็นคนดีไม่น่าจะไปทำกรรมชั่วกรรมไม่ดีเลย ใจก็จะคิดเลิกละกรรมชั่ว ใจก็จะพอใจในการทำกรรมดี เพราะการทำกรรมชั่วมันให้ผลเป็นทุกขให้เห็น กลัวต่อการทำกรรมชั่วใจก็จะพอใจในการทำกรรมดี พอใจในการให้ทานรักษาศีลภาวนาบำเพ็ญบุญบารมีให้แก่กล้า เข้มแข็ง เมื่อ ใจพอใจแล้ว วิริยะความเพียร บำเพ็ญบุญกิจประพฤติเป็นไป จิตก็จะฝักใฝ่ในบุญกุศล ปัญญาตริตรองพิจารณาเหตุผลในกรรมการกระทำ ก็จะเห็นได้ภายในใจ เป็นสันทิฏฐิโกใจเห็นได้เอง ใจก็จะเชื่อกรรมมั่นคงว่าเราทำกรรมดีได้ดี จะได้ดีมีความสุขเพราะเราทำเอาทั้งนั้น เมื่อใจเชื่อกรรม ใจเชื่อผลแห่งกรรม ใจก็เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าท่านตรัสรู้ของจริง ทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นของจริงทีเดียว เกิดมาแล้วต้องแก่จริง ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จริง ตายจริงเสียด้วย เบื้องปลายต้องทอดทิ้งร่างกายไว้ในพื้นแผ่นดินนี้
   
   ทุกข์จนตายมีขึ้นมาได้เพราะตัณหานี้เอง ใจอยากได้ทุกข์ ใจจึงมาเกิดในกายนี้ ได้กายใหม่มาก็เหมือนกายเก่านั้นแหละ เกิดมาแล้วก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย เหมือนกัน ไม่ได้อะไรในกาย เมื่อใจรู้ ใจเห็น ใจก็จะละตัณหา ความอยากออกจากใจ เมื่อใจละใจถอน ใจปล่อยวาง ตัณหาทุกข์ใจก็จะดับสิ้นไป นิโรธ นิพพานังก็จะปรากฏแจ่มแจ้งภายในใจ
   
   ฉะนั้นจงเชื่อกรรม การกระทำภายใน ใจเห็น ใจทำกรรม ทำ กรรมชั่วได้ชั่วก็สำเร็จแล้วด้วยใจ ทำกรรมดีได้ดีก้สำเร็จแล้วด้วยใจ ความรู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจธรรมก็สำเร็จแล้วด้วยใจ การบรรลุพระโสดาก็สำเร็จแล้วด้วยใจ การบรรลุพระสกิทาคาก็สำเร็จแล้วด้วยใจ การบรรลุพระอนาคาก็สำเร็จแล้วด้วยใจ การบรรลุพระอรหันต์ก็สำเร็จแล้วด้วยใจ จงทำเอา เมื่อใจต้องการมรรคผลจงทำเอา ได้แน่ ไม่ต้องสงสัย ทำบุญต้องได้บุญ ทำบาปต้องได้บาป เมื่อใจต้องการบุญกุศลมรรคผล นิพพานแล้ว ตั้งอิทธิบาทธรรมคือ ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ ความเพียร จิตตะ ฝักใฝ่ วิมังสะ หมั่นตรวจตรองพิจารณาเหตุผลของกรรมภายในใจแล้วต้องสำเร็จได้แน่นอนโดยไม่เหลือวิสัย
   
   ฉะนั้น ขอท่านผู้ปรารถนาบุญจงได้บุญ ปรารถนากุศลจงได้กุศล เป็นผู้รู้ผู้ฉลาด ท่านปรารถนามรรคผล นิพพาน ขอจงให้สำเร็จดังความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการเทอญ
   
   สพฺพทานํ ธมฺมมทานํ ชินาติ     ให้ธรรมเป็นทานย่อมชนะการให้ทั้งปวง
   
   สพฺพรสํ ธมฺมสโส ชินาติ          รสแห่งพระธรรมย่อมชนะซึ่งรสทั้งปวง
   
   สพฺพรติ ํ ธมฺมรติ ชินาติ           ความยินดีในพระธรรมย่อมชนะซึ่งความยินดีทั้งปวง


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 22, 2011, 11:29:30 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



   
   เย ราคารตฺตานุปตนฺติ โสตํ
   สยํ กตํ มกฺกฏโกว ชาลํ
   เอตมฺปิ เฉตฺวาน วชนฺติ ธีรา

   อนเปกฺขิโน สพฺพทุกฺขํ ปหาย

   
จิตของบุคคลที่ถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปสู่กระแสแห่งตัณหา
เหมือนดังแมลงมุมตกไปที่ใยของตนทำเองฉันนั้น
ผู้มีปัญญาตัดกระแสแห่งตัณหานั้นแล้ว เป็นผู้ไม่ใยดี
ย่อมละเว้น จากทุกข์ทั้งปวง

   
นางเขมาได้ฟังภาษิตนี้แล้วได้บรรลุพระอรหันต์
 
 
   
   โย จ วสฺสสตํ ชีเว อุปสฺสํ อุทฺทยพฺพยํ
   
   บุคคลพึงมีชีวิตเป็นอยู่ได้ร้อยปี แต่ไม่เห็นความคิดเกิดขึ้น
และความดับไปของสังขาร ความมีชีวิตเป็นอยู่
เพียงวันเดียวของท่านผู้เห็น
ความเกิดขึ้นและดับไป
ของสังขาร
ประเสริฐกว่า

   
นางปฏาจารา ได้ฟังภาษิตข้อนี้แล้วบรรลุพระอรหันต์
   

 
   พาหิยะ สิ่งใดเธอได้เห็นเพียงสักว่าได้เห็น
   สิ่งใดเธอได้ยินเพียงสักว่าได้ยิน
   สิงใดเธอทราบเพียงสักว่าได้ทราบ

   
   พาหิยะ ได้ฟังเท่านี้แล้วบรรลุพระอรหันต์




   นี่ แหละท่านที่บรรลุพระอรหันต์ได้รวดเร็วนี้ล้วนแต่เป็นผู้มีบารมีอินทรีย์อัน แก่กล้า สมควรจะบรรลุพระอรหันต์ได้จึงจะได้บรรลุ ถ้าบารมีอินทรีย์อ่อนแล้วก็บรรลุไม่ได้ ต้องสร้างบารมีเพิ่มเติมต่อไปอีก และอบรมบ่มอินทรีย์ต่อไปจนกว่าจะสมควรแก่การบรรลุมรรคผล
   
   ฉะนั้นผู้มุ่งหวังการบรรลุมรรคผลนิพพานต้องใช้วิริยะความเพียรบำเพ็ญไปเถิด ความสำเร็จต้องมีแน่นอน ความเพียรเป็นทั้งวิริยะบารมี ความเพียรเป็นทั้งองค์มรรค คือสัมมาวายาโม ความเพียรเป็นทั้งองค์อิทธิบาท ความเพียรเป็นทั้งพละ ความเพียรเป็นทั้งอินทรีย์ ความเพียรเป็นทั้งโพชฌงค์องค์ตรัสรู้
   
   วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลจะล่วงพ้นทุกข์ได้เพราะความเพียร ช้าหรือเร็วก็อยู่ในความเพียรนี้เอง ถ้าฉลาดในความเพียรก็อาจรวดเร็ว ถ้าไม่ฉลาดก็อาจช้าหน่อย ถ้าช้าก็มีทางเมื่อไม่ทอดทิ้งความเพียร พระพุทธเจ้าท่านรับรองเอาไว้แล้วในอิทธิบาทว่าเป็นเหตุแห่งความสำเร็จ หรือจะเพียรภาวนาพุทโธ พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ ทำให้มาก ใจรู้อะไร ใจรู้ทำอะไร เพียรพยายามภาวนาจนใจรู้จริง ใจรู้แจ้งละหลงออกจากใจได้ ใจหลุดพ้น วิสุทธิ สันติ นิพพาน ต้องรู้แจ้งเห็นจริงได้ภายในใจ
   
   สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเอาไว้ดีแล้ว
   พระองค์ตรัสเอาไว้ดีในเบื้องต้นได้แก่ศีล
   ตรัสไว้ดีแล้วในท่ามกลางได้แก่สมาธิ
   ตรัสไว้ดีแล้วในเบื้องปลาย
ได้แก่ ปัญญา วิชชา วิมุตติ
   
   สนฺทฏฐิโก  ธรรมนั้นเป็นของผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นได้เอง
   อกาลิโก  ธรรมนั้นให้ผลไม่อ้างกาลเวลา
   เอหิ ปสฺสิโก  ธรรมนั้นเป็นของที่ควรจะเรียกร้องผู้อื่นให้มาดูได้ ว่าท่านจงมาดูเถิด
   โอปนยิโก  ธรรมนั้นเป็นของที่ควรจะน้อมนำมาในตน น้อมธรรมนั้นมาสอนใจ
   ปจฺจตฺตํ เวทิตตฺโพ วิญฺญู หีติ  ธรรมนั้นเป็นของควรที่จะรู้ได้เฉพาะตน รู้ได้เฉพาะใจดังนี้ฯ
   
   บทธรรมสวากขาโต นี้เป็นธรรมเครื่องพิสูจน์ความจริงและเป็นธรรมเครื่องตัดสินได้ว่าดีจริง หรือไม่ดี เป็นของผู้ปฏิบัติรู้เห็นได้ด้วยใจตนเอง โดยไม่ต้องอ้างกาลเวลา ดูได้เลยที่กาย วาจา ใจ เป็นธรรมที่รู้ได้เฉพาะใจเสียด้วย จึงเป็นอันว่าไม่ต้องลังเลสงสัย จึงตัดสินกรรมคือการกระทำได้เฉพาะตนเองดังนี้ฯ
   
   
โยนิโส วิจิเน ธมฺเม   พึงเลือกเฟ้นธรรมโดยแยบคาย
จนฺทวโร ภิกฺขุ   หลวงพ่อบุญจันทร์
     
คัดลอกจากหนังสืออัตโนประวัติ พระอาจารย์บุญจันทร์ จนฺทวโร



http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=3085.0
นำมาแบ่งปันโดย.. baby@home
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ