ทศพลญาณ (ตถาคตพลญาณ ๑๐ ประการ)
ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
ดูกรอานนท์ ความทุกข์ในนรกและความสุขในสวรรค์ และพระนิพพานนั้นใครจะช่วยใครไม่ได้ เมื่อใครชอบอย่างใดก็ทำอย่างนั้น แม้เราตถาคตก็ช่วยใครให้พ้นทุกข์ และช่วยใครให้ได้สวรรค์และพระนิพพานไม่ได้ ได้แต่เพียงสั่งสอนชี้แจงให้รู้สุขรู้ทุกข์ ให้รู้สวรรค์ ให้รู้พระนิพพานด้วยวาจาเท่านั้น อันกองทุกข์โทษบาปกรรมทั้วปวงนั้น ก็คือตัวกิเลสตัณหา ครั้งดับกิเลสตัณหาได้แล้วก็ไม่ต้องตกนรก ถ้าดับกิเลสตัณหาได้มาก ก็ขึ้นไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ ถ้าดับกิเลสตัณหาได้สิ้นเชิงหาเศษมิได้แล้ว ก็ได้เสวยสุขในพระนิพพานทีเดียว เราตถาคตบอกให้รู้แต่ทางไปเท่านั้น ถ้าผู้รู้ทางแห่งความสุขแล้วประพฤติปฏิบัติตามได้ก็ประสพสุขสมประสงค์ อย่าว่าแต่เราตถาคตเลย แม้พระพุทธเจ้า ทั้งหลายที่ล่วงไปแล้วนับไม่ถ้วนก็ดี และจักมาตรัสรู้ในกาลเป็นภายหลังก็ดี จักมาช่วยพาเอาสัตว์ทั้งหลายไปให้พ้นจากทุกข์ แล้วให้ได้เสวยสุขเช่นนั้นไม่มี มีแต่มาแนะนำสั่งสอนให้รู้สุขรู้ทุกข์ รู้สวรรค์ และพระนิพพานอย่างเดียวกับเราตถาคตนี้ พระพุทธเจ้า ทั้งหลายก็ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณ มีอาการเหมือนอย่างเราตถาคตนี้ทุกๆ องค์
บุคคลจำพวกใดเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าต่างกัน ด้วยศีล ด้วยฌาณ ด้วยญาณ ด้วยอิทธิ บุคคลจำพวกนั้นเป็นคนหลง ผู้ที่ได้นามว่าพระพุทธเจ้านั้น ต้องมีทศพลญาณสำหรับขับขี่เข้าสู่พระนิพพานด้วยกันทุกองค์ จะได้เป็นพระพุทธเจ้าแต่เราพระองค์เดียวนั้นหามิได้ ผู้ใดมีทศพลญาณ ผู้นั้นได้ชื่อว่า พระพุทธเจ้าด้วยกันทุกองค์ ไม่ควรจะมีความสงสัย ญาน ๑๐ ประการ นั้น เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีญาณ ๑๐ ประการ แล้ว จะรู้ดี มีอิทธิดำดินบินบนได้อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ถ้ามีญาณ ๑๐ ประการ แล้ว จะไม่มีอิทธาศักดานุภาพอย่างไรก็ตาม ก็ให้เรียกท่านผู้นั้นว่าพระพุทธเจ้า เพราะทศพลญาณ ๑๐ ประการ เป็นเครื่องหมายของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่มีเครื่องหมายอย่างนี้ผู้ใดมีฤทธิ์มีเดชขึ้น ก็จักตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเต็มบ้านเต็มเมือง ก็จะเป็นทางแห่งความเสียหายวายโลกเท่านั้น
ดูกรอานนท์ ทศพลญาณ ๑๐ ประการนั้น เป็นของสำคัญอยู่สำหรับโลก ไม่มีผู้ใดแต่ง ตั้งขึ้น เป็นแต่เราตถาคตเป็นผู้รู้ผู้เห็นก่อน แล้วยกออกตีแผ่ให้โลกเห็น พระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญญาณ ๑๐ ประการได้แล้ว ก็ขับขี่เข้าสู่พระนิพพาน เมื่อถึงพระนิพพานแล้ว ก็ปล่อยวางญาณนั้นไว้ให้แก่โลกตามเดิม หาได้เอาตัวตนจิตใจเข้าสู่พระนิพพานด้วยไม่ เอาจิตใจไปได้เพียงนรก และสวรรค์ และพรหมโลกเท่านั้น ส่วนพระนิพพาน นั้น ถ้าดับจิตใจ(จิตปุถุชน)ไม่ได้แล้วก็ไปไม่ได้ ถ้าเข้าใจว่าจักเอาจิตไปเป็นสุขในพระนิพพานแล้วต้องหลงขึ้นไปเป็นอรูปพรหมเป็นแน่
ดูกรอานนท์ การตกนรกและขึ้นสวรรค์ จะเอาตัวไปไม่ได้ เอาแต่จิตไป จิตนั้นใครจับต้องรูปคลำไม่ได้ เป็นแต่ลมเท่านั้น เพราะจิตเป็นของละเอียด ใครจะจับถือไม่ได้ เมื่อจิตไปตกนรก ใครจะไปช่วยยกขึ้นได้ ถ้าจิตนั้นเป็นตัวเป็นตนก็พอจะช่วยกันได้
บุคคลจำพวกใดคอยท่าให้ผู้อื่นมาช่วยยกตัวให้พ้นจากทุกข์ นำตัวไปให้ได้เสวยสุข บุคคลจำพวกนั้นเป็นคนโง่เขลาหาปัญญามิได้ แต่เราตถาคตรู้นรกสวรรค์ทุกข์สุขอยู่แล้ว และหาอุบายที่จะพ้นจากทุกข์ให้ได้เสวยสุข ก็เป็นการแสนยากแสนลำบาก จะไปพาจิตใจของท่านผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ได้อย่างไร ถึงแม้พระพุทธเจ้าองค์ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้าก็เหมือนกัน มีแต่แนะนำสั่งสอนให้รู้สุขทุกข์ สวรรค์และพระนิพพานเท่านั้น ผู้ที่จะต้องการสุขทุกข์อย่างใดนั้น แล้วแต่อัธยาศัย แต่ว่าต้องศึกษาให้รู้แท้แน่นอนแก่ใจเสียก่อนว่า ทุกข์ในนรกเป็นอย่างนั้น สุขในสวรรค์เป็นอย่างนั้น สุขในพระนิพพานเป็นอย่างนั้น เมื่อรู้แล้วจึงจักยังมีทางได้ถึงบ้าง คงจักไม่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสารเนิ่นนานเท่าไรนัก ถ้าไม่รู้แจ้งแต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่อาจจักพ้นได้เลย และได้ชื่อว่าเป็น ผู้เกิดมาเสียชาติเป็นมนุษย์ เสียความปรารถนาเดิมซึ่งหมายว่าจะเป็นผู้เกิดมาเพื่อความสุข
ครั้นเกิดมาแล้วก็พลอยไม่ให้ตนได้รับความสุข ซ้ำยังตนให้จมอยู่ในนรก ทำให้เสียสัตย์ ความปรารถนาแห่งตน น่าสังเวชสลดใจยิ่งนัก ข้าฯแต่พระมหากัสสปะผู้ มีอายุ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้แล ข้าฯแต่พระอริยเจ้า ทั้งหลาย มีพระมหากัสสปะเป็นประธาน อันว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ สืบต่อไปว่า
ดูกรอานนท์ อันว่าความทุกข์และความสุขนั้น ก็มีอยู่แต่นรกและสวรรค์เท่านั้น ส่วนพระนิพพานมีอยู่นอกสวรรค์และนรกต่างหาก บัดนี้ จักแสดงทุกข์และสุขในนรกและสวรรค์ให้แจ้งก่อนฯ จิตใจของเรานี้ เมื่อมีทุกข์หรือมีสุขแล้ว ใครจะสามารถมาช่วยยกออกจากจิตใจของเราได้ อย่าว่าแต่ตัวเราเลย แม้ท่านผู้อื่นเราก็ไม่สามารถจะช่วยยกออกได้ มีอาการเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ทุกตัวตนสัตว์บุคคล อนึ่ง เมื่อท่านมีทุกข์แล้ว จะนำทุกข์ของท่านมาให้เราก็ไม่ได้ เรามีทุกข์แล้วจะนำทุกข์ไปให้ท่านผู้อื่นก็ไม่ได้ แม้ความสุขก็มีอาการเช่นกัน สุขและทุกข์ไมมีใครจะช่วยกันได้ สิ่งที่จะช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้มีแต่อำนาจแห่งกุศลผลบุญ มีการให้ทานและรักษาศีลเป็นต้น เท่านั้น ที่จะเป็นผู้ช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ มนุษย์ และเทวดา อินทร์ พรหม และใครๆ จะมาช่วยให้พ้นทุกข์และให้ได้เสวยสุขนั้นไม่ได้ ที่สุดแม้เราตถาคตผู้ทรงไว้ซึ่งทศพลญาณเห็นปานนี้ก็ไม่อาจช่วยใครได้
ได้แต่เป็นผู้ช่วยแนะนำตักเตือนให้รู้สุขทุกข์และสวรรค์นรกเท่านั้น ตัวต้องยกตัวเอง ถ้ารู้ว่านรกและสวรรค์อยู่ที่ตัว แล้วยกตัวให้ขึ้นสวรรค์ไม่ได้ ก็ชื่อว่าเกิดมาเสียชาติและเสียเวลาที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา น่าเสียดายชาติที่ได้เกิดเป็นรูปร่างกาย มีอวัยวะพรักพร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง ทั้งได้พบพระพุทธศาสนาด้วย สมควรจะได้สวรรค์และพระนิพพานโดยแท้ เหตุไฉนจึงเหยียบย่ำตัวเองให้จมอยู่ในนรกเช่นนั้น น่าสังเวชยิ่งนัก
ดูกรอานนท์ สุขทุกข์นั้นให้หมายเอาที่จิต จิตสุขเป็นสวรรค์ จิตทุกข์เป็นนรก จะเข้าใจว่านรกและสวรรค์มีอยู่นอกจิตนอกใจเช่นนั้น ได้ชื่อว่าเป็นคนหลง นรก และสวรรค์ บาปบุญ คุณโทษ ย่อมมีอยู่ในอกในใจทั้งสิ้น อยากพ้นทุกข์ ก็ให้รักษาจิตใจจากสิ่งที่เป็นบาปเป็นทุกข์เสีย ถ้าต้องการสวรรค์ก็ทำการงานที่หาโทษมิได้ เพราะการบุญการกุศลนั้น เมื่อทำก็ไม่เดือดร้อน และเมื่อทำแล้วระลึกถึง ก็ให้เกิดความสุขสำราญเบิกบานใจทุกเมื่อ เช่นนี้ชื่อว่า เราได้ขึ้นสวรรค์ และถ้าอยากได้สุขในพระนิพพาน ก็ให้วางเสียซึ่งสุขและทุกข์ คือวางจิตใจอย่าถือว่าเป็นของของตน ก็ชื่อว่าได้ถึงพระนิพพาน เพราะว่าใจเป็นใหญ่ เป็นประธาน สุขทุกข์ทั้งสวรรค์และพระนิพพานสำเร็จแล้วด้วยใจ คือว่ามีอยู่ที่จิตที่ใจของเราทั้งสิ้น บุคคลจำพวกใดไม่รู้ว่าของเหล่านี้ มีในตน แล้วไปเที่ยวค้นคว้าหาในที่อื่นบุคคลจำพวกนั้น ชื่อว่าเป็นคนหลงคนเมา เป็นผู้หนาอยู่ด้วยกิเลสตัณหา มืดมนอยู่ด้วยมลทินแห่งนรก
ดูกรอานนท์ สัตว์ที่ตกอยู่ในนรกมากมายนับมิได้ แน่นอัดยัดเยียดกันอยู่ในนรก ดังข้าวสารหรือเมล็ดถั่วเมล็ดงาในกระสอบ แต่ก็ไม่เห็นกันได้ ด้วยเขาไม่รู้ไม่เห็นซึ่งนรก ไม่รู้สุขทุกข์บาปบุญคุณโทษ ไม่รู้ว่าจิตของตนเป็นทุกข์เป็นสุข มีแต่มัวเมาอยู่ด้วยตัณหากามาราคาทิกิเลส จึงชื่อว่าตกอยู่ในนรก ยัดเยียดกันดังข้าวสารหรือเมล็ดถั่วเมล็ดงาในกระสอบ ร้องเรียกหากันไม่เห็นกัน คือไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นสุขแห่งกันและกันเท่านั้นเอง
ดูกรอานนท์ จิตใจนั้น ใครไม่แลเห็นของกันและกันได้ ผู้ที่รู้เห็นจิตใจของผู้อื่นได้นั้น มีแต่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์เท่านั้น พระพุทธเจ้าที่จะรู้เห็นจิตใจของผู้อื่นได้ ก็ด้วยญาณแห่งพระอรหันต์ ถ้าละกิเลสตัวร้ายมิได้ คุณความเป็นแห่งพระอรหันต์ก็ไม่มาตั้ง อยู่ในสันดาน จึงไม่อาจหยั่งรู้วาระจิตของสัตว์ทั้งปวงได้ แม้พระตถาคตจะหยั่งรู้วาระจิตของสัตว์ทั้งปวงได้ ก็เพราะปราศจากกิเลส คือความเป็นไปแห่งพระอรหันต์ บุคคลผู้ที่ไม่พ้นกิเลส คือไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ แล้วจะมาปฏิญญาว่ารู้เห็นจิตแห่งบุคคลอื่น จะควรเชื่อฟังได้ด้วยเหตุใด ถึงแม้จะรู้ได้ด้วยวิชาคุณอย่างอื่น รู้ด้วยสมาธิคุณเป็นต้น ก็รู้ไปไม่ถึงไหน แม้จะรู้ก็รู้ผิดๆ ถูกๆ ไปอย่างนั้น จะรู้จริงแจ้งชัดดังที่รู้ด้วยอรหัตคุณนั้นไม่ได้ ถ้าบุคคลที่ยังไม่พ้นกิเลส มีความรู้ดียิ่งกว่าเราตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์แล้ว การที่เราตถาคตสละบุตรภรรยาทรัพย์สมบัติ อันเป็นเครื่องเจริญแห่งความสุขออกบวชนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่โง่เขลากว่าบุคคลจำพวกนั้น เพราะเขายังจมอยู่ในกิเลส แต่มีความรู้ดียิ่งกว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลจากกิเลส ข้อที่ละกิเลสไม่ได้ คือไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์แล้วจะมีปัญญารู้จิตใจแห่งสัตว์ทั้งหลายยิ่งกว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์หรือจะมีปัญญารู้เสมอกันนั้นไม่มีเลย ผู้ที่ยังละกิเลสไม่ได้คือยังไม่ได้สำเร็จพระอรหันต์ มากล่าวว่า ตนรู้เห็นจิตใจของสัตว์ทั้งหลายนั้น กล่าวอวดเปล่าๆ ความรู้เพียงนั้นยังพ้นนรกไม่ได้ ไม่ควรจะเชื่อถือ
ถ้าใครเชื่อถือ ก็ชื่อว่าเป็นนอกพระศาสนา ไม่ใช่ลูกศิษย์ของเราตถาคตแท้ที่จริง
หากเอาศาสนธรรมอันวิเศษของเรานี้ บังหน้าไว้สำหรับหลอกลวงโลกเท่านั้น
บุคคลจำพวกนี้ แม้ จะทำบุญกุศลเท่าไร ก็ไม่พ้นนรก
แม้ ผู้ที่มาเชื่อถือ บุคคลจำพวกนี้ ก็มีทุคติเป็นที่ไป ในเบื้องหน้าเหมือนกัน
แล้วจึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
อานนฺท ดูกรอานนท์ บุคคลผู้มีปัญญาพึงคิดถึงตน แล้วปราบใจของตนให้พ้นจากทุกข์และความลำบาก และให้ออกจากบ่วงแห่งกิเลสมารให้ได้เถิด ถ้าไม่คิดอย่างนี้ แม้จะมีปัญญาก็มีเสียเปล่า ไม่นับเข้าในจำนวนที่มีปัญญา กิริยาที่พ้นทุกข์พ้นยากและพ้นออกจากบ่วงแห่งกิเลสมารได้ก็คือพ้นจากกิเลสตัณหาของเรา เมื่อพ้นจากกิเลสตัณหาได้เช่นนั้น ก็ได้ชื่อว่าพ้นจากความทุกข์ความยากโดยสิ้นเชิง ถ้ายังไม่พ้น ก็ได้ชื่อว่ายังไม่พ้นจากความทุกข์ความยาก เมื่อตนยังไม่หลุดไม่พ้นก็ไม่ควรสั่งสอนผู้อื่นเพราะตัวยังไม่พ้น จะสั่งสอนผู้อื่นให้พ้นได้ด้วยอาการอย่างไร เปรียบเหมือนบุคคลจะข้ามแม่น้ำ ถ้าตัวของเราข้ามไปถึงฝั่งฟากโน้นแล้ว จึงร้องบอกให้ท่านผู้อื่นข้ามมาตามตน เช่นนี้สมควรแท้ เมื่อเราร้องบอกเขา แล้วเขาพอใจจะไปหรือหาไม่ ก็แล้วแต่ใจเขา ส่วนตัวของเราข้ามไปได้สมประสงค์แล้ว ข้ออุปมานี้ฉันใด ผู้ที่เป็นครูเป็นอาจารย์สอนให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์ ก็ต้องทำตัวให้พ้นทุกข์เสียก่อน จึงสมควรจะสอนคนอื่น มีอุปไมยเหมือนผู้ที่จะพาข้ามแม่น้ำฉันนั้น บุคคลที่เปลื้องตัวให้พ้นออกจากกองกิเลสยังไม่ได้ แล้วจะไปเปลื้องปลดสัตว์ในป่าช้า ผีทั้งหลายเขาจะหัวเราเยาะเย้นว่า อะโห โอหนอ! ตัวของท่านก็ยังไม่พ้นทุกข์ แล้วจะมาพาเอาพวกข้าพเจ้าออกจากทุกข์ได้อย่างไร ตัวของท่านและพวกข้าพเจ้าก็ยังไม่พ้นนรกอยู่เหมือนกัน จะมาพาพวกข้าพเจ้าให้พ้นจากนรกได้ด้วยอาการอย่างไรฯ
ดูกรอานนท์ บุคคลจำพวกใดที่ให้ผีในป่าช้าหัวเราเยาะเย้ยเล่น เช่นนี้ บุคคลจำพวกนั้น ถ้ามีขึ้นก็เป็นเหตุให้เกิดโรภภัยไข้เจ็บอันตรายต่างๆ หาความสุขความเจริญมิได้ฯ
ดูกรอานนท์ คฤหัสถ์ก็ดี นักบวชก็ดี มากล่าวว่าตัวรู้ตัวเห็นและได้พูดจากับผีดังนี้ ก็พึงให้รู้ว่าคนจำพวกนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์ของเราตถาคต เป็นพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกพระศาสนา ไม่ควรเชื่อถือเอาเป็นครูเป็นอาจารย์ เพราะเขาเป็นคนอุบายเจ้าเล่ห์เจ้ากลเท่านั้น ที่มีความรู้จริงเห็นจริงพูดจาสนทนากับผีได้ มีแต่พระพุทธเจ้ากับพระอรหันต์เท่านั้น นอกนั้นไม่มีใครรู้จริงเห็นจริง เป็นคนอุตริทั้งนั้นฯ
ดูกรอานนท์ เราจะทำนายไว้ให้เห็นในอนาคตกาลเบื้องหน้า จักเกิดมีพวกมิจฉาทิฏฐิภายนอกศาสนา อวดอ้างว่าตัวรู้ตัวเห็นผีได้ พูดจากับผีได้ ครั้นบุคคลพวกนั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็จักเบียดเบียนพระศาสนาของเรา ให้เสื่อมถอยลงไปด้วยวาทะถ้อยคำเสียดสีต่างๆ พระสงฆ์สามเณรก็จักเกิดความระส่ำระสายหาความสบายมิได้ เขาจักสอนทิฏฐิวัตรอย่างเคร่งครัด ถืออรัญญิกธุดงค์อย่างพระเทวทัตต์ ภายหลังก็จักเกิดพระบ้านพระป่ากันขึ้นแล้วก็จักแตกกันออกเป็นพวกๆ ไม่สามัคคีกัน ต่างพวก็ถือแต่ตัวดีศาสนาของเราจักเสื่อมถอยลงไปเพราะพวกมิจฉาทิฏฐิ เห็นแก่ลาภและยศหาความสุขมิได้ มรรคผลธรรมวิเศษก็จักไม่เกิดขึ้นแก่เขา เขาจักเรียนเอาแต่วิชาศีลธรรมอันพวกมิจฉาทิฏฐิสอนให้ รู้อะไรกันขึ้นเล็กน้อยก็อวดดีกันไป แท้ที่จริงความรู้เหล่านั้นล้วนแต่รู้ดีสำหรับไปสู่นรก เขาจักไม่พ้นจตุราบายได้เลยฯ
ดูกรอานนท์ ในอนาคตกาลภายหน้าจักมีอย่างนี้ไม่ต้องสงสัย ถ้าผู้ใดรู้ลัทธิทิฏฐิอย่างนี้ไว้แล้ว เมื่อได้เห็นก็จงเพียงพยายามละเว้น ก็จักได้ประสบความสุข การที่จะระงับดับกิเลส ก็ให้ระงับบริโภค ๑ ประการให้เบาบางลง บริโภค ๒ นั้นคือ จีวรปัจจัย และเสนาสนะ ปัจจัย ๒ อย่างนี้ชื่อว่าบริโภคภายนอก นับเป็นอย่างหนึ่ง บิณฑบาตปัจจัยและคิลานปัจจัย ๒ อย่างนี้ชื่อว่าปัจจัยภายใน นับเป็นอย่างหนึ่ง บริโภคทั้ง ๒ นี้เป็นตัวกิเลส ตัวทุกข์ ตัวสุขสิ้นทั้งนั้น ถ้าบริโภค ๒ นี้มากขึ้นเท่าใด ทุกข์ก็มากขึ้นไปตามเท่านั้น ถ้าบริโภค ๒ นี้น้อยลง ทุกข์ ก็น้อยลง ความสุขก็มากขึ้น คือว่าบาปน้อยลงเท่าใด บุญกุศลก็มากขึ้นเท่านั้น อันบุญกุศลก็มีอยู่ที่ตัวบุคคลทั้งสิ้น ผู้ที่ละบริโภค ๒ นั้นได้แล้ว นรกก็พ้น สวรรค์และพระนิพพานสิ่งใดๆ ก็ได้ในที่นั้นฯ
ดูกรอานนท์ บุคคลที่บวชเข้าแล้ว ไม่รู้จักระงับดับกิเลส คือบริโภค ๒ ให้เบาบาง เข้าใจว่าบวชรักษาศีลถือครองวัตรเอาบุญ ไม่หาอุบายระงับดับกิเลสและบริโภค ๒ จะได้บุญได้ความสุขมาแต่ที่ไหน ถ้าคิดอย่างนั้น แม้จะรักษาศีลตลอดพระปาติโมกข์และธุดงควัตร ก็หากเป็นอันรักษาเปล่า รักษาให้เหนื่อยยากลำบากกายเปล่า ไม่อาจเป็นบุญกุศลได้ พระปาติโมกข์ธุดงควัตรทั้งกลานที่ทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้นั้น ก็เพื่อให้เป็นเครื่องระงับดับกิเลสตัณหาคือบริโภคทั้ง ๒ ถ้าระงับไม่ได้ก็ไม่เป็นบุญเป็นกุศล ผู้ที่ทำความเข้าใจว่าพระปาติโมกข์และ ธุดงควัตร จะช่วยยกตัวให้ขึ้นไปสวรรค์และพระนิพพานเช่นนี้ เป็นความเห็นของคนที่โง่เขลาเบาปัญญา จักไม่พ้นทุกข์เลย บริโภคทั้ง ๒ นั้นได้ชื่อว่าปลิโพธ ๒ ที่แปลว่าความกังวล การรักษาพระปาติโมกข์และธุดงควัตร ก็เพื่อจะตัดปลิโพธความกังวลให้เบาบางลงได้เท่าใด ก็เป็นบุญเป็นกุศล เป็นสวรรค์และพระนิพพานขึ้นไปเท่านั้น พระพุทธเจ้าย่นโอวาทคำสั่งสอนลงสู่ปลิโพธ ๒ ว่าเป็นที่สุดโดยสิ้นเชิง คือว่า นรก สวรรค์ และพระนิพพาน มีอยู่ที่ปลิโพธ ๒ ครบบริบูรณ์ ผู้ศึกษาเล่าเรียนจะรู้มากรู้น้อยเท่าไรไม่นิยม รู้มากหรือรู้น้อย ถ้าระงับปลิโพธนั้นได้ก็เป็นดี จะอยู่วัดบ้านหรือวัดป่าประการใดก็ตาม ถ้าระงับปลิโพธ ๒ นั้นได้ ย่อมเป็นความดีความชอบทั้งสิ้น ถ้าระงับปลิโพธ ๒ นั้นไม่ได้ แม้จะรู้มากมายและอยู่วัดบ้านวัดป่าประการใด ย่อมไม่ดีทั้งสิ้นฯ พระพุทธเจ้าทรงตรัสเทศนาเป็นใจความอย่างนี้ฯ
ลำดับนั้น จึงตรัสเทศนาต่อไปอีกว่า
อานนฺท ดูกาอานนท์ ธรรมนี้ชื่อว่าพระยาธรรมิกราช เพราะเป็นใหญ่กว่าธรรมทั้งหลาย ข้อที่เราตถาคตได้ตรัสไว้แล้วในธรรมหมวดนี้คือได้ชี้นรก สวรรค์ พระนิพพาน กิเลสตัณหา โดยจะแจ้งสิ้นเชิง เมื่อผู้ใดได้ฟังแล้วปรารถนาสุขทุกข์ประการใด ก็จงเลือกประพฤติตามความปรารถนา เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสฉะนี้แล้ว จึงซ้ำตรัสอนุญาตปัจฉิมบรรพชาไว้แก่ข้าฯ อานนท์ ว่า
อานนฺท ดูกรอานนท์ แม้ในปัจฉิมกาล เมื่อหาพระสงฆ์ครบคณะบรรพชาไม่ได้ โดยที่สุดแม้พระสงฆ์องค์เดียว เมื่อกุลบุตรมีศรัทธาเลื่อมใสในคุณแห่งเราตถาคต อยากจะบวชเป็นภิกษุในสำนักแห่งภิกษุองค์เดียวก็จงบวชเถิด โดยที่สุดลงไปอีก แม้จักหาภิกษุสักองค์เดียวไม่ได้ กุลบุตรผู้มีศรัทธาใคร่จะบวชสืบศาสนาแห่งเราตถาคต ก็ให้ศึกษาจตุตถปาราชิกและบริโภค ๒ นั้นให้เข้าใจ แล้วเข้าสู่เฉพาะพระพุทธรูป หรือพระสถูป หรือพระเจดีย์ หรือแม้หาที่ควรเคารพเช่นนั้นไม่ได้ ก็ให้ระลึกถึงเราตถาคตแล้วบวชเป็นภิกษุเถิด ให้ตั้งใจสมาทานว่า อิมํ ปพฺพชฺชํ สมาทิยามิ ทุติยมฺปิ ตติยมฺปิ อิมํ ปพฺพชฺชํ สมาทิยามิ แล้วให้สมาทานจตุตถปาราชิกว่า ปฐมํ ปาราชิกํ สมาทิยามิ ทุติยํ จตุตฺถํ ปราราชิกํ สมาทิยามิ แล้วบวชเป็นภิกษุเถิด ถ้าหากพระสงฆ์ยังมีอยู่อย่างน้อยเพียงองค์เดียวแล้ว จะบวชโดยลำพังไม่ได้ ถ้าขืนบวช ชื่อว่าดูหมิ่นพระศาสนาเป็นบาปยิ่งนัก อย่าทำเลย เมื่อบวชโดยวิธีนี้ ผู้ใดคัดค้านว่าไม่ควร จักเป็นบาปเป็นกรรมยิ่งนัก เราอนุญาตไว้สำหรับคราวอันตรธานต่างหาก ข้าแต่พระมหากัสสปะ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาแก่ข้าฯ อานนท์ ดังนี้ฯ
ขอพระอริยสงฆ์ทั้งหลายจงทราบด้วยพลญาณของตน โดยนัยดังข้าพเจ้า อานนท์ แสดงมานี้เทอญ แล้วพระองค์ก็หยุด ไม่ทรงตรัสเทศนาอีกต่อไป ข้าพเจ้ากราบถวามบังคมแล้วก็กลับไปสู่สำนักท่านคิริมานนท์ แสดงสัญญาทั้ง ๒ ประการ คือรูปสัญญา นามสัญญา ให้พระผู้เป็นเจ้าฟังโดยพุทธบริหารทุกประการ ท่านคิริมานนนท์กำหนดตามพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุพระอรหันต์ผลในขณะที่วางธุระในรูปในนาม โรคภัยของท่านที่เจ็บปวดก็อันตรธานหายไปในขณะนั้นฯ
ข้าแต่พระมหากัสสปะผู้มีอายุ พระสูตรนี้จะได้ชื่อว่า พระยาธรรมิกราชสูตรตามรับสั่งนั้น จักเสียนิมิตไป เพราะอาศัยพระผู้เป็นเจ้าคิริมานนท์เป็นนิมิต
พระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาที่วัดเชตวนาราม ปรารภพระคิริมานนท์เกิดอาพาธให้เป็นเหตุ จึงได้ชื่อว่า คิริมานนทสูตร มีเนื้อความดังแสดงมานี้แลฯ
หมายเหตุ คิริมานนทสูตร กับ อาพาธสูตร เป็นพระสูตรเดียวกัน โดยคิริมานนทสูตรเป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว่า อาพาธสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรฝ่ายเถรวาท
- http://medsai.net/webboard/index.php/topic,3266.0.html***********************************************************
หมายเหตุ คิริมานนทสูตร กับ อาพาธสูตร เป็นพระสูตรเดียวกัน โดยคิริมานนทสูตรเป็นพระสูตรฝ่ายมหายาน ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมกว่า อาพาธสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรฝ่ายเถรวาท แต่ อาพาธสูตร แยกสัญญา ๒ ประการ คือ รูปสัญญา และนามสัญญา ที่แสดงในคิริมานนทสูตร ออกเป็นสัญญา ๑๐ ประการ ให้เห็นไว้ชัดเจน โดยแสดงอานาปานสติ ๑๖ ขั้น (สมถและวิปัสสนา) ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการตรัสรู้ ใช้เป็นวิหารธรรมอยู่หลังตรัสรู้ และทรงเสด็จอยู่จนถึงดับขันธปรินิพพาน ไว้ด้วย
สัญญา ๑๐ ประการ คือ
อนิจจสัญญา ๑ อนัตตสัญญา ๑ อสุภสัญญา ๑ อาทีนวสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ นิโรธสัญญา ๑ สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ๑ สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ๑ และ อานาปานัสสติ ๑อนิจจสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง ในอุปาทาน ขันธ์ ๕ เหล่านี้
อนัตตสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียง เป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา พิจารณาเห็นโดย ความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการ เหล่านี้
อสุภสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า กายนี้แลเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเต็มด้วยของไม่สะอาด ในกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง น้ำดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้
อาทีนวสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า กายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก อาพาธต่าง ๆ เกิด ขึ้นในกายนี้ คือ โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ในหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีพิการ โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธมีไข้สันนิบาต อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความ กระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ พิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้
ปหานสัญญา ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่ง กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก อันเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป ย่อมทำให้ถึงความไม่มี ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้น และเกิดขึ้นแล้ว (วิหิงสา คือ ความเบียดเบียนทำร้าย)
วิราคสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิ(กิเลส)ทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
นิโรธสัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า ธรรมชาตินั้นสงบ ธรรมชาตินั้นประณีต คือ ธรรมเป็น ที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิ(กิเลส)ทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์
สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ละอุบาย (ตัณหาทิฐิ) และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และอนุสัย(กิเลสอย่างละเอียด)แห่งจิต ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น
สัพพสังขาเรสุ อนิจจสัญญา ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง แต่สังขารทั้งปวง
อานาปานัสสติ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เป็นผู้มีสติ หายใจเข้า เป็นผู้มีสติ หายใจออก (จิตสงบได้ถึงปัญจมฌาน หรือ ฌาน ๕)
หายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ชัดว่าหายใจออกยาว
หายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจออกสั้น
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นกำหนดรู้แจ้งกาย(ลมหายใจ)ทั้งปวง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร(ลมหายใจ) หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งสุข หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งจิตสังขาร(เวทนา) หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตสังขาร หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้แจ้งจิต หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต(ปล่อยจิต) หายใจเข้า-หายใจออก(อุเบกขา)
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจเข้า-หายใจออก
ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจเข้า-หายใจออก
ตถาคตพลญาณ ๑๐ ประการ หรือ ทศพลญาณ คือ
๑. ทรงหยั่งรู้สิ่งที่เป็นไปได้ และ เป็นไปไม่ได้
๒. ทรงหยั่งรู้ผลแห่งการกระทำทั้ง อดีต ปัจจุบัน อนาคต
๓. ทรงหยั่งรู้ข้อปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่คติทั้งปวง (คติ-ทางที่จะไปในอนาคต)
๔. ทรงหยั่งรู้สภาวของโลก อันประกอบด้วยธาตุต่างๆ
๕. ทรงหยั่งรู้ความโน้มเอียง และความถนัดแห่งบุคคล
๖. ทรงหยั่งรู้ความยิ่งและความหย่อน แห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย
๗. ทรงหยั่งรู้ความเศร้าหมอง ความผ่องแผ้ว การออกแห่งญาณ สมาธิ และ สมาบัติ
๘. ทรงหยั่งรู้ชาติก่อนๆในอดีต
๙. ทรงหยั่งรู้จุติ และอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๑๐. ทรงหยั่งรู้ความสิ้นไป แห่งอาสวะทั้งหลาย อนุสัย ได้แก่ กามราคะ(ความกำหนัดในกาม), ปฏิฆะ(ความขัดใจ), ทิฏฐิ(ความเห็นผิด) วิจิกิจฉา(ความลังเลสงสัย), มานะ(ความถือตัว), ภวราคะ(ความกำหนัดในภพ), อวิชชา(ความไม่รู้แจ้ง)
[C-137]- http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=145