ผู้เขียน หัวข้อ: เลี้ยงลูกนอกบ้าน เรื่องเล่า.. จากงานวันเกิด+พ่อแม่ 10 แบบ  (อ่าน 2133 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


เลี้ยงลูกนอกบ้าน
เรื่องเล่า...จากงานวันเกิด

หมอไปงานวันเกิดลูกของเพื่อนสนิทมาค่ะ เพื่อนมีลูกสองคน
วันนี้เป็นวันเกิดของลูกชายคนโตอายุ 6 ปี   เรื่องมีอยู่ว่า...
หลังจากแกะของขวัญ ลูกชายคนเล็กที่อายุ 3 ขวบกว่าๆ ก็มาเลยค่ะ
ร้องโวยวายว่าทำไมไม่มีของขวัญของเค้ามั่ง
และเริ่มเข้าไปแย่งรถยนต์คันใหญ่ของขวัญวันเกิดของพี่
หมอเลยได้แอบเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วยความสนใจ

พ่อ...ผู้ช่วยคนแรก พอเห็นน้องร้องก็มาด้วยประโยคคลาสสิค
"แบ่งให้น้องหน่อย เราเป็นพี่นะ ของขวัญมีตั้งหลายชิ้น"
น้องก็เลยได้ใจเดินไปหยิบของพี่ พี่เลยเกิดโมโห ตะโกนลั่นแย่งของกลับมา ชุลมุนชุลเก ไม่ยอมให้

ผู้ช่วยคนที่สองก็โผล่มาค่ะ... น้าของเด็กๆ...
"เอ้านี่ ไม่ต้องแย่งกัน น้าซื้อของขวัญมาให้เด็กๆ ทุกคนเลย" แล้วน้าก็หยิบของขวัญ 2 ชิ้นมาให้เด็กๆ ทั้งสองคน พร้อมบอกว่า "ดีนะเนี่ย กะแล้วว่าอีกคนจะเสียใจ เลยซื้อมาให้ด้วย" น้องคนเล็กก็แกะของขวัญออก พอพบว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็เดินกลับไปแย่งของพี่

ผู้ช่วยคนที่สามก็ตามมา... คุณปู่ของเด็กๆ
"เนี่ยเห็นมั้ยน้องร้อง ให้น้องไปก่อน เดี๋ยวพรุ่งนี้ปู่ซื้ออันใหม่ให้ เอาให้ใหญ่กว่าเดิมอีก"
คุณปู่เข้ามาติดสินบนด้วยข้อเสนอเย้ายวนใจ กะว่าจะได้หยุดปัญหาหลานคนเล็กร้อง แต่..ก็ไม่ได้รับการตอบรับจากหลานคนโต

เด็กชายเจ้าของวันเกิดยังคนโวยวาย "ไม่ให้ๆๆๆ" และเริ่มเอามือผลักอกน้องคนเล็กให้ออกไป
เมื่อดูจะหมดหนทาง ทุกคนก็หันมาหาผู้ช่วยคนที่สี่ "หมอ" T-T T-T

หมอเอาเหตุการณ์จริงนี้มาเล่าให้ฟัง เพราะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ต่างต้องเคยเล่นบทบาทใดบาทบาทหนึ่งของผู้ช่วยทั้งสี่มาก่อนแน่ๆ

ซึ่งถ้าได้อ่านเรื่อง "เรื่องเล่าจากบ้านบอล" คุณพ่อคุณแม่คงนึกออกนะคะ
ว่าสิ่งที่เป็นปัญหาคือ "การพยายามละเมิดสิทธิของคนพี่"
เพื่อแก้ปัญหาเสียงร้องของคนน้อง      "ด้วยการตามใจ"

ประโยคที่คุณพ่อพูดว่า "แบ่งให้น้อง เราเป็นพี่" นี่เป็นประโยคคลาสสิคที่ทำร้ายจิตใจพี่ๆทุกคน และหลายครั้งเป็นต้นเหตุของปัญหา "พี่ไม่ชอบขี้หน้าน้อง"

การเอาของมาแจกทุกคนของคุณน้าเท่าๆกัน เพราะคิดว่าจะแก้ปัญหา...หมอมองว่าเรากำลังสอนเด็ก... "ถ้าได้ต้องได้เหมือนกัน" ซึ่งนั่นจะยิ่งนำมาซึ่งปัญหาในการเลี้ยงดู
เพราะในความเป็นจริง พี่น้องไม่ควรต้องได้ของทุกอย่างเหมือนกันทุกครั้ง

การขายฝันติดสินบนของปู่ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้พ้นๆ ยิ่งทำให้เกิดเงื่อนไข "ต่อไปของๆใครชั้นก็จะไปแย่ง" "ก็ซื้ออันใหม่ให้เค้าไปซี้"

จริงๆปัญหานี้แก้ง่ายนิดเดียวค่ะ...
"ทำในสิ่งที่ถูกต้อง"
"ใครไม่พอใจก็มีหน้าที่เรียนรู้และฝึกจัดการกับอารมณ์ของตนเอง"

หมอเข้าไปหาน้องค่ะ แล้วบอกสั้นๆว่า
"วันนี้วันเกิดของพี่ ของขวัญเป็นของพี่นะครับ ไม่ใช่ของเรา"
"ถ้าอยากจะได้ต้องขอและต้องรอให้พี่อนุญาตก่อน"

น้องก็หันไปขอค่ะ พี่ที่อารมณ์เสียอยู่ก็ไม่ยอมให้ แหม...มาถึงจุดนี้ละ อารมณ์มันขึ้นนนน แพ้ไม่ได้ 5555
น้องก็โวยวายร้องจะเอาให้ได้

หมอเลยจับน้องแยกออกมาให้นั่งสงบตรงบันได (คล้าย timeout เล็กๆ)
แล้วบอกว่า "น้ารู้ว่าหนูเสียใจ หนูร้องไห้ได้ครับ แต่ไปแย่งของพี่ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ของเรา"
"หนูนั่งให้ตัวเองสงบตรงนี้ก่อน หนูหยุดร้องไห้เมื่อไหร่เดี๋ยวเราค่อยไปเล่นกันนะลูก"
เด็กชายก็แหกปากตะเบ็งเสียงกว่าเดิมค่ะ
หมอส่งสายตาบอกทุกคนว่าห้ามขยับให้เฉยๆไว้ อดทนๆๆไว้ค่ะ
"ใครอดทนกว่ากัน คนนั้นชนะ!"

หมอกอดเค้าบอกว่า "น้ารู้ว่าหนูคุยรู้เรื่อง หนูเก่งแล้ว ตอนนี้หนูแค่อารมณ์ไม่ดี หนูอารมณ์ดีหยุดร้องไห้แล้วเดี๋ยวเราค่อยไปเล่นกัน"
"ถ้าอยากจะเล่นรถ ลองไปขอ"เล่นกับพี่" เค้าอีกทีก็ได้ แต่ต้องหยุดร้องไห้ก่อนครับ"
แล้วหมอก็นิ่งๆอยู่ตรงนั้น เด็กชายคนนั้นก็ร้องไห้อีกพักนึงค่ะ แต่พอรู้ว่า"ร้องไปก็เท่านั้น" ไม่ได้อะไร ก็เริ่มหยุดในเวลาอีกไม่นาน

หมอชมเค้าว่าเก่งมาก และชวนไปเล่นอย่างอื่น พออารมณ์ดี ก็พาเค้าไปขอพี่ดีๆ ซึ่งคราวนี้พี่ก็ยอมให้ ด้วยความเต็มใจที่ดีกว่าเดิม

หมอเอาเรื่องนี้มาเล่า เพื่ออยากจะบอกว่า
1. อย่าละเมิดสิทธิเด็กอีกคน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กอีกคนให้พ้นๆไป เพราะเรากำลังจะสร้างปัญหาใหม่ "ให้กับเด็กทั้งสองคน"
2. อย่าเลี้ยงพี่น้อง ให้มีเงื่อนไข "ต้องได้เหมือนกัน" เพราะนั่นไม่ใช่โลกแห่งความเป็นจริง
3. เด็กที่เอาแต่ใจแล้วโวยวาย "มีหน้าที่จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง"
4. อย่ากลัวเสียงร้องไห้ เด็กร้องไห้ ไม่ใช่ปัญหา แต่ "ร้องแล้วได้" จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยิ่งแก้ยาก
5. ให้รู้ว่าทุกครั้งที่ปล่อยลูกร้องไห้ แต่ลูกได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่ถูกต้อง "นั่นคือการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีมากแล้ว"

ยาวไปหน่อย แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะคะ ^^

‪#‎หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน‬
ผู้เชื่อว่าปัญหาของเด็กหลายครั้ง...มาจากการพยายามแก้ปัญหาของผู้ใหญ่ (ซึ่งไม่ว่ากันค่ะ ก็เราเคยเรียนมาซะที่ไหน.. หมอเองยังลองผิดลองถูกอยู่บ่อยๆ^^)
ป.ล. เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์จริงที่มีการเปลี่ยนบริบทตัวละครเล็กน้อยเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับเจ้าของเรื่องค่ะ^^

เลี้ยงลูกนอกบ้าน
เรื่องเล่า...จากงานวันเกิด >> G+narasak sudram



"พ่อแม่ 10 แบบ ที่ทำให้ลูกไม่มีความสุข..
แบบที่ 1..
.
พ่อแม่ตามใจเกินไป ไม่มีระเบียบ เด็กอยากได้อะไรก็ได้ตั้งแต่เล็ก ไม่รู้จักการรอคอย ไม่เคยถูกขัดใจ อีกหน่อยพอโตขึ้นเห็นเพื่อนมีอะไร ก็อยากมีบ้าง แต่เมื่อเด็กยิ่งโตของที่อยากได้พ่อแม่ก็หามาให้ยากมากขึ้น เช่น อยากได้คนนี้เป็นแฟน ถ้าไม่ได้ก็ผิดหวังเสียใจมาก เด็กที่เอาแต่ใจมาตั้งแต่เล็ก จะไม่ชอบความผิดหวัง แต่ทนไม่ได้ที่จะไม่ได้อะไรอย่างที่ต้องการ

แบบที่ 2..
.
พ่อแม่ยอมเด็กทุกเรื่อง เด็กเป็นใหญ่ในบ้าน พ่อแม่ไม่สามารถจัดการพฤติกรรมลูกได้ เด็กไม่รู้จักควบคุมตัวเอง ออกไปอยู่ในสังคมก็ไม่มีใครยอมรับ

แบบที่3..
.
พ่อแม่ขาดความใกล้ชิดกับลูก มีความห่างเหิน ไม่รู้ว่าลูกกำลังคิดอะไร รู้สึกอะไร ทำงานหนัก ไม่มีเวลาให้ลูก ถ้าพอมีเงินก็จะให้เงินทดแทนเวลาที่ไม่ได้ใหกับลูก เด็กอาจจะมีเงินใช้ แต่ขาดความอบอุ่น ไม่มีใครให้ปรึกษา เวลาเครียดก็มีแนวโน้มไปหาเพื่อน เพื่อนดีก็โชคดีไป ถ้าเพื่อนชวนไปทำอะไรไม่ดี ก็อาจจะทำตาม

แบบที่4..
.
พ่อแม่ที่ลงโทษลูกรุนแรงเวลาที่ลูกทำผิด ไม่ค่อยพูดดีๆ แต่จะดุว่าด้วยคำพูดรุนแรง เสียดสี ประชดประชัน บางทีมีการทำร้ายร่างกาย ตีด้วยวัสดุต่างๆ เด็กจะได้รับผลกระทบทางใจ รู้สึกไม่เข้าใจพ่อแม่ เครียด ซึมเศร้า และบางคนถูกชักจูงไปเข้ากับกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้ง่าย

แบบที่5..
.
พ่อแม่ที่ทะเลาะกันตลอดเวลา หรือมีคนในบ้านที่ทะเลาะกันรุนแรง ทำให้เด็กรู้สึกบ้านไม่น่าอยู่ จึงหาทางออกด้วยการออกไปนอกบ้าน อาจจะถูกชักจูงให้ทำอะไรไม่มี ส่งผลกระทบกับตัวเองได้

แบบที่6..
.
พ่อแม่ที่ไม่เป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก เช่น พ่อแม่เองก็มีนิสัยชอบเอาเปรียบ เบียดเบียน สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง เด็กๆเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น ก็จะมีแนวโน้มมีพฤติกรรมเหมือนๆพ่อแม่ อยากทำอะไรก็ทำ ไม่คิดว่าใครจะเดือดร้อนบ้าง

แบบที่7..
.
พ่อแม่ที่ไม่เคยชมเชยลูก มีแต่ดุว่าด่าทอ เด็กที่ไม่เคยได้รับการชื่นชมอย่างเหมาะสม ก็จะรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีอะไรดี จึงไม่สนใจที่จะดูแลตัวเองให้ดี อยากทำอะไรก็ทำแม้จะเป็นเรื่องอันตราย ไม่คิดถึงผลเสียที่ตามมา

แบบที่8..
.
พ่อแม่ที่เวลาลูกทำผิด ไม่เคยให้ลูกรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง อันนี้ก็จะคล้ายๆพ่อแม่ที่ตามใจมากเกินไป ลูกทำอะไรเป็นถูกไปหมด ดีไปทุกอย่าง เด็กเมื่อไม่เคยถูกสั่งสอนว่าทำอะไรผิดต้องรับผิด ต้องจัดการแก้ไข เช่นเรื่องเล็กๆน้อยๆ อย่างถ้าเล่นของเล่นเลอะเทอะ ตรงนี้เด็กต้องเรียนรู้ว่าทำเลอะเทอะก็ต้องรับผิดชอบทำให้สะอาด ไม่ใช่ว่ามีพ่อแม่มาตามล้างตามเช็ดตลอด

แบบที่9..
.
พ่อแม่ที่ขัดแย้งกับลูกรุนแรง เมื่อความสัมพันธ์ไม่ดี เวลาเด็กมีเรื่องไม่สบายใจ ก็ไม่ปรึกษาพ่อแม่ จะไปหาเพื่อนแทน ถ้าเพื่อนชวนไปทำอะไรไม่ดี ก็มีแนวโน้มทำตาม เพราะไม่แคร์ ไม่สนใจพ่อแม่ อาจจะคิดว่า ก็พ่อแม่ไม่สนใจเค้าอยู่แล้ว

แบบที่10..
.
พ่อแม่ที่ขาดความสม่ำเสมอในการเลี้ยงดู เช่นเวลาอารมณ์ดีก็ตามใจมาก ไม่มีหลักเกณฑ์เหตุผล เวลาอารมณ์หงุดหงิดก็ไปลงกับลูก มีการใช้คำพูดรุนแรง บางทีก็ทำร้ายร่างกาย เช่น ตีรุนแรง ลูกคาดเดาอารมณ์พ่อแม่ไม่ได้ เกิดเป็นความกลัว ความต่อต้าน สุดท้ายก็อาจจะไปมีปัญหาพฤติกรรมได้

-------------------------------------

จริงอยู่ว่า พ่อแม่คงไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ลูกกลายเป็นเด็กมีปัญหา ไม่มีความสุข แต่พ่อแม่ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

เพียงเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูก ชีวิตเด็กคนหนึ่งที่กำลังจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ก็เปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตได้

ความสุขเริ่มต้นได้ก็จากที่บ้าน หมอว่าเป็นสัจธรรมที่ใช้ได้ทุกยุคสมัย...

- หมอมินบานเย็น -"
>>G+Mermaid's Thailand God Bless you


"เลี้ยงลูกให้เป็นทรพี (โดยไม่เจตนา)
โดย ศ.นพ. วิทยา นาควัชระ

เรื่องที่จะเล่านี้เป็นเรื่องจริง
ตั้งใจจะยกให้ดูเป็นตัวอย่าง ไม่อยากจะโทษใคร เพราะตัวละครแต่ละคนในเรื่องก็เจ็บปวดอยู่แล้ว ถือว่าเป็นกรณีศึกษา และเป็นตัวอย่างประกอบก็แล้วกัน

ตัวอย่างที่ 1 พ่อมีการศึกษาจบปริญญาเอก แม่จบปริญญาโท ทั้งพ่อและแม่มีการงานทำดีมาก การเงินก็ดี แต่ก็ทำงานหนักทั้งคู่ ทั้งสามีภรรยามีลูกชาย 2 คน คนโตอายุ 14 ปี คนเล็กอายุ 9 ปี ลูกทั้งคู่ แลดูน่ารักตลอดมา การเรียนไม่เก่ง แต่การสังคมเก่ง พูดเก่ง กีฬาเก่ง กำลังเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อมากแห่งหนึ่ง

พ่อแม่เริ่มปวดหัวที่ลูกไม่เชื่อฟังคำสั่งสอน ลูกคนโตเริ่มก้าวร้าว พ่อแม่ว่าอะไรก็เถียง หรือไม่สนใจ ครั้งล่าสุดนี้ ลูกฃายพูดจายอกย้อนพ่อ เถียงพ่อ จนพ่อทนไม่ได้ เอามือไปตีลูกชายเข้า 1 ที ลูกชายลุกขึ้นเตะพ่อ 1 ที แล้วผลักพ่อกระเด็น แถมเดินหนีออกจากบ้านไป

พ่อมาเล่าให้ผมฟังด้วยหัวใจปวดร้าว ผมถามว่าแล้วทำอย่างไรต่อ...

เขาบอกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่เคยลงโทษลูกมาก่อนเลย เพราะคิดว่าจะเลี้ยงลูกด้วยการไม่ลงโทษเลย ครั้นโตแล้วจึงเห็นว่าลูกทำผิดเรื่อยๆ ไม่อยู่ในโอวาท ถ้าจะลงโทษตอนนี้ ลูกก็ไม่ยอมรับ แถมสู้ และหนีไปเฉยๆ จะสู้กับลูกก็สู้ไม่ได้ อายเขาด้วย เขาถามผมว่า ""ทำไงดี…หมอครับ?""

ตัวอย่างที่ 2 พ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แม่เป็นหมอ ก็ทำงานหนักทั้งคู่ ลูกชายคนโตอายุ 13 ปี ไม่เชื่อฟังพ่อแม่

ครั้งล่าสุดนี้ แม่เผลอไปเอ็ดลูกเข้ามากๆ ลูกชายเลยเอาไม้ตีหัวแม่แตก และหนีออกจากบ้านไป พ่อแม่ก็ไม่รู้จะทำอะไร ทั้งคู่ไม่เคยลงโทษลูก แม่โทรศัพท์มาหาและบอกว่า ไม่กล้าเล่าให้ใครฟัง กลัวเขาจะหาว่าเป็นลูกทรพี เธอถามผมว่า ""หมอ…ทำไงดี?…อยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว!!!""

จากทั้งสองกรณีนี้ แสดงให้เห็นว่าเด็กเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่ได้สร้างวินัยให้แก่เด็กตั้งแต่เล็กๆ เด็กจึงเติบโตขึ้นมา มีร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง สังคมดี พูดเก่ง กีฬาเก่ง อาจจะเรียนเก่งด้วยก็ได้ แต่ขาดวินัยกับตัวเอง ไม่มีการยอมรับกติกาของสังคม ของครอบครัว ของพ่อแม่ ซึ่งถ้าเติบโตต่อไปก็จะไม่ยอมรับกติกาของสถาบันการศึกษา ของที่ทำงาน และแม้แต่กฏหมายบ้านเมือง เรียกว่าเติบโตต่อไป ทำงานก็ยาก อยู่ก็ยาก มีครอบครัวก็ยาก มีลูกก็ยาก…ยากไปหมดทุกอย่าง แม้แต่อยู่คนเดียวก็ยาก เผลอๆ ก็ทำผิดกฏหมายบ่อยๆ โดยอ้างว่า…ไม่เจตนาๆๆๆๆๆ

ก็เป็นเพราะพ่อแม่ไม่ลงโทษ เมื่อเด็กทำผิดตั้งแต่เล็กๆ และไม่ชมเชย หรือให้รางวัลเมื่อเขาทำความดี

ผมจำได้แม่นว่า เมื่อ 10 กว่าปีมาแล้ว มีการเชื่อกันมากเรื่องการเลี้ยงลูกโดยไม่มีการลงโทษทางกาย ซึ่งก็คือการตีลูกนั่นเอง พวกมีความรู้ระดับปริญญาโทขึ้นไป ครูบาอาจารย์ แพทย์ เชื่อถือกันมากและเลี้ยงลูกโดยไม่ลงโทษโดยการตีเลย แต่จะบอกให้เด็กคิดเอง ให้เด็กมีอิสระในการแสดงออก ซึ่งแลดูก็น่ารักดีหรอกในตอนเด็กๆ

ในช่วงนั้นๆ ผมเคยถูกเชิญไปบรรยายพิเศษให้สมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนสาธิตที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งฟัง และผมก็ถูกถามเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ตอบในที่ประชุมเลยว่า ผมไม่เห็นด้วยหรอกที่ไม่มีการลงโทษเด็กทางฝ่ายกายเมื่อทำผิด ถ้าเป็นผม ผมจะตีเด็ก ใช้มือตีก้นเขาจะดีที่สุด ผมถูกหาว่า…แหมหมอเหี้ยมจัง

แต่ผมเชื่อว่า การถูกตี หรือการถูกลงโทษทางฝ่ายกายตั้งแต่เด็กๆ นั้น เด็กจะตระหนักและรับรู้ถึงบทบาทของการลงโทษได้ดีกว่าและเร็วกว่าการลงโทษทางจิตใจและทางสังคม เพราะเด็กนั้นเล็กเกินไปที่จะเข้าใจ และจะได้ใจด้วย ผมยังพูดอีกด้วยว่า…""จำไว้ ถ้าคุณไม่ลงโทษลูกของคุณเมื่อทำผิด สักวันหนึ่งสังคมจะลงโทษลูกของคุณ ซึ่งจะเจ็บยิ่งกว่าที่คุณลงโทษเขาเสียอีก"" สิบกว่าปีผ่านไป เด็กๆ ยุคนั้นก็คงเติบโตเป็นวัยรุ่นกันในขณะนี้พอดี

ปัญหาเรื่องลูกวัยรุ่นนี้ ทำความปวดหัวมาให้กับพ่อแม่มาก มีพ่อแม่นำลูกวัยรุ่นมาปรึกษาผมที่คลินิกมากมาย ท้้งที่เจ้าตัวยอมมาหาเอง และจ้างกันมา

มีวัยรุ่นรายหนึ่งมาจากเยอรมัน พ่อแม่ต้องจ้างให้มาหาผมด้วยการซื้อเสื้อผ้าให้ 30 ชุด ซึ่งหลังจากมาหาพูดคุยกับผมแล้ว เขาบอกว่า ไม่ต้องจ้างก็ได้เพราะมาหาแล้วคุยกับผมได้สนุกดี อยากมาคุยบ่อยๆ

โดยส่วนตัวผมเองแล้ว ผมสนใจเรื่องของวัยรุ่นและกิจกรรมวัยรุ่นตลอดมาในทุกๆ รูปแบบ และต้องเข้าใจหรือตามให้ทันอยู่เสมอๆ สมัยที่รับราชการอยู่ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ผมก็เป็นผู้ริเริ่มตั้งแผนกจิตเวชวัยรุ่นขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพราะมองเห็นความสำคัญของบุคคลในวัยนี้ ที่จะต้องได้รับการดูแล ช่วยเหลือแนะนำหรือแก้ไขโดยจิตแพทย์ หรือบุคลากรที่พร้อมจะเข้าใจจิตใจของพวกเขาโดยแท้จริง และต้องทันสมัย ทันเหตุการณ์ด้วย

ในอเมริกาก็จะมีแผนกจิตเวชวัยรุ่นนี้อยู่ตามโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ ที่ผมเคยได้ไปศึกษามา วัยรุ่นที่มีปัญหาหลายๆ ราย ก็ช่วยเหลือได้ทั้งในแง่เกเร ไม่เรียนหนังสือ ชอบหนีเที่ยว ติดยา สำส่อนทางเพศ แปรปรวนทางเพศ ก้าวร้าว แยกตัว ขาดความเชื่อมั่นตัวเอง กังวล ฯลฯ

บางรายก็ช่วยเหลือได้ยากมาก เพราะเขาไม่อยากให้แพทย์ช่วย และที่แน่นอนคือ พ่อแม่ต้องให้ความร่วมมือด้วย แต่ไม่อยากจะรอให้ถึงขั้นนี้หรอก จะเจ็บด้วยกันทั้ง พ่อ แม่ ลูก

จงมาตั้งใจอบรมลูกให้มีวินัยตั้งแต่เด็กๆดีกว่าครับ จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจว่า เลี้ยงลูกผิด

ซึ่งถือว่าเป็นบาปบริสุทธิ์ชนิดหนึ่งก็ได้ หรือ อย่างที่ชาวบ้านเขาเรียกกันว่า เป็นการเลี้ยงลูกให้เป็นทรพีโดยไม่เจตนาก็ได้

ผมหนาวในหัวใจจังครับ...

ขอขอบคุณที่มา : PAG Design"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 18, 2017, 07:50:34 am โดย ฐิตา »