ผู้เขียน หัวข้อ: "ธรรมชาติคือศาสนาของฉัน จักรวาลแห่งนี้คือวัดวาอาราม" บทที่ ๒๗  (อ่าน 1118 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


หนังสือ "ธรรมชาติคือศาสนาของฉัน จักรวาลแห่งนี้คือวัดวาอาราม"
ราเชนทร์ สิมะสุนทร
บทที่ ๒๗ การปฏิบัติธรรมตามสติปัฏฐาน

การพิจารณาธรรมเพื่อขจัดความทุกข์ซึ่งคือภาวะธรรมปรุงแต่งทั้งปวงเพื่อดำเนินไปสู่ความเป็นปกติของธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนซึ่งเรียกว่าการปฏิบัติธรรมตามหลักสติปัฏฐานทั้งสี่นั้นมีดังต่อไปนี้

๑. ก็เพราะทุกสรรพสิ่งนั้นย่อมไม่สามารถคงอยู่ในคุณสมบัติหรือคุณลักษณะแบบเดิมๆของมันได้อยู่ตลอดเวลามันมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอไม่สามารถคงตัวอยู่ในสภาพเดิมๆซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของมันทั้งหมดเท่าที่ปรากฏในขณะที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นและเข้าใจว่ามันคือสิ่งนี้ๆและเป็นแบบนี้ๆ ทุกสรรพสิ่งจึง "อนิจจัง" มีความแปรผันไม่เที่ยงแท้แน่นอนอยู่ตลอดเวลา

๒.เมื่อทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอนในความเป็นสิ่งๆนั้นของมัน ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนของสิ่งๆนั้นจึงย่อมไม่เป็นจริงตามนั้นและไม่มีอยู่จริง เพราะฉะนั้นทุกสรรพสิ่งจึงย่อมเป็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว

๓.เมื่อทราบถึงความเป็นจริงแห่งธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นที่มันเป็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้นอยู่แล้ว เราก็ควรนำหลักธรรมดังกล่าวข้างต้นมาพิจารณาเปรียบเทียบในความเป็นเราที่มีพฤติกรรมทางจิตที่ชอบปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นจนกลายเป็นจิตต่างๆและมันก็คือความทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็ความเป็นเรานั้นแท้จริงมันหามีตัวตนไม่ ก็เพราะความเป็นเรานั้นมันเป็นสิ่งที่เพียงแค่ประกอบขึ้นมาด้วยความเป็น ขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ และขันธ์ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นสิ่งๆหนึ่งเช่นกันที่มีความแปรผันอยู่ตลอดเวลาขันธ์ทั้งห้าเหล่านี้ย่อมคือความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนอยู่อย่างนั้น ถึงแม้เราจะมีอวิชชาคือความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าจนกลายเป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมา จิตต่างๆที่เกิดขึ้นเพราะเหตุและปัจจัยแห่งความที่เข้าไปยึดนั้นมันก็ย่อมคงอยู่ในความเป็นของมันเองแบบนั้นไม่ได้ เมื่อแท้ที่จริงจิตของเราย่อมแปรผันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจิตนั้นจึงหาเป็นจิตที่มีความหมายแห่งอัตตาตัวตนของมันอยู่อย่างนั้นไม่ จิตต่างๆที่เราปรุงแต่งขึ้นเพราะความเข้าไปยึดขันธ์ทั้งห้าจึงย่อมเป็นเพียงธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตนของมันอยู่อย่างนั้นเช่นกัน มันจึงเป็นการพิจารณาเพื่อให้ได้ความเป็นจริงของสิ่งทั้งปวงว่า "ทุกสรรพสิ่งซึ่งรวมทั้งความเป็นจิตความเป็นขันธ์ทั้งห้าของเรานั้นมันย่อมเป็นแต่ธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนอยู่อย่างนั้น"

๔.สติปัฏฐานธรรมเป็นธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงธรรมอันคือธรรมชาติที่แท้จริงที่มันเป็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น เป็นการตรัสธรรมเพื่อให้พิจารณาถึงความเป็นอัตตาตัวตนแห่งเราและขจัดเสียซึ่งความเป็นอัตตาเหล่านี้ด้วยการพิจารณาถึงความไม่เที่ยงแท้ เมื่อเข้าใจความเป็นจริงเช่นนี้แล้วธรรมชาติที่แท้จริงจึงย่อมปรากฏตามความเข้าใจแห่งเราในขณะนั้นด้วย พระพุทธองค์ได้ตรัสธรรมอันคือสติปัฏฐานไว้ถึงสี่หมวดคือ กาย เวทนา จิต ธรรม นั้นเป็นการตรัสธรรมไว้ตรงต่อจริตต่างๆของนักปฏิบัติธรรมทั้งหลายเพื่อให้พิจารณาถึงความแปรผันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของธรรมทั้งปวงเหล่านี้

 ก็เป็นธรรมดาที่ความเป็นเราทั้งหลายย่อมเคยสั่งสมอนุสัยซึ่งคือพฤติกรรมทางจิตแตกต่างกันไปก็ในเมื่อชอบปรุงแต่งเป็นจิตไปอย่างไรในความหมายใดเมื่อเรามีความเข้าใจในความหมายแห่งธรรมทั้งปวงแล้วเราก็ย่อมเห็นจิตและย่อมเห็นความไม่เที่ยงแท้ของความเป็นจิตชนิดนั้นก่อนซึ่งเป็นจริตของนักปฏิบัติคนนั้นที่ชอบปรุงแต่งจิตไปในลักษณะนั้นๆนั่นเอง การตรัสธรรมไว้ทั้งสี่หมวดจึงมิใช่การตรัสไว้เพื่อให้เราเข้าไปพิจารณาธรรมให้ครบทั้งหมดทั้งสี่หมวดและเรียกสิ่งนี้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องครบถ้วน เพราะความเป็นจริงการที่เรามีความเข้าใจแล้วว่าทุกสรรพสิ่งนั้นย่อมไม่เที่ยงหาความมีตัวตนที่แท้จริงไม่และทุกสรรพสิ่งนั้นย่อมคือความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนและการที่เราพิจารณาเห็นจิตที่เราปรุงแต่งขึ้นไปในทางใดทางหนึ่งตามจริตที่เราชอบปรุงอยู่อย่างนั้นในขณะนั้นแห่งการเริ่มต้นปฏิบัติธรรมและเราย่อมเห็นจิตชนิดนี้ก่อนจิตอื่นๆ (ไม่ว่าจะเป็นจิตที่ชอบปรุงแต่งไปในทางความเป็นตัวตนแห่งกายเราอันคือหมวด กาย

 ไม่ว่าจะเป็นจิตที่ชอบปรุงแต่งไปในทุกๆทางที่เกิดและจิตนั้นเป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นด้วยเวทนาความรู้สึกต่างๆอันคือหมวดเวทนา ไม่ว่าจะเป็นจิตที่ชอบปรุงแต่งไปกลายเป็นจิตต่างๆอันคือหมวดจิต และไม่ว่าจะเป็นจิตที่ชอบปรุงแต่งไปในภาวะธรรมต่างๆอันคือหมวดธรรม) มันก็ย่อมทำให้เรารู้ว่า
 จิตชนิดนี้เป็นจิตที่เราปรุงแต่งขึ้นตามจริตนิสัยแห่งเราเพราะความที่เราเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้งห้าคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้น และเราก็ย่อมพิจารณาได้เช่นกันว่าจิตที่ปรุงแต่งขึ้นดังกล่าวและขันธ์ทั้งห้านั้นย่อมไม่เที่ยงแท้แน่นอนมีความแปรผันไปหาความเป็นอัตตาตัวตนเป็นสิ่งๆนั้นได้อย่างแท้จริงไม่ เมื่อพิจารณาเห็นความเป็นจริงเหล่านี้มันจึงย่อมมีความหมายถึงจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาและขันธ์ทั้งห้ารวมถึงทุกสรรพสิ่งนั้นมันย่อมคือธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วไปในตัวด้วยเช่นกัน

๕.การพิจารณาถึงความแปรผันไม่เที่ยงแท้แน่นอนของจิตของขันธ์ทั้งห้าของเราก็เป็นการพิจารณาเพื่อขจัดความไม่เข้าใจต่อความเป็นจริงว่าจิตที่เราปรุงแต่งขึ้นและขันธ์ทั้งห้านั้นสิ่งทั้งหมดเหล่านี้ย่อมหาใช่ความเป็นตัวตนที่แท้จริงได้ ความเป็นจริงสิ่งเหล่านี้ย่อมว่างเปล่าและทุกสรรพสิ่งทั้งภายในและภายนอกแห่งเราก็ย่อมล้วนแต่คือความว่างเปล่าด้วยเช่นกัน การพิจารณาอย่างนี้เพื่อให้ได้ความเป็นจริงตรงกับความเป็นธรรมชาติที่มันมีอยู่แล้วคือทุกสรรพสิ่งย่อมคือธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนอยู่อย่างนั้นมันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น การพิจารณาว่าจิตของตนและขันธ์ทั้งห้าแห่งตนเป็นของไม่เที่ยงนั้นจึงเป็นการพิจารณาเพียงเพื่อให้ตรงต่อความเป็นจริงเท่านั้นที่ว่า "ความเป็นจริงของทุกสรรพสิ่งนั้นคือธรรมชาติของทุกสรรพสิ่งที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นอัตตาตัวตนของมันอยู่แล้ว" มันจึงเป็นการพิจารณา "เพื่อให้ตรงต่อ" ความหมายแห่งธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นแต่เพียงเท่านั้น แต่มิใช่การพิจารณาเพื่อให้ธรรมชาตินี้ "มันเกิดขึ้นเป็นสภาวะธรรม" เพราะเหตุแห่งการพิจารณานี้แต่อย่างไร เพราะฉะนั้นธรรมชาติที่มันว่างเปล่าและมันเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้นมันจึงมิได้เกิดขึ้นมาเพราะใครมาทำให้มันเกิดขึ้นได้ ธรรมชาติที่มันเป็นของมันเองอยู่แล้วมันเป็นธรรมชาติแห่งความเป็นจริงที่เป็นความบริบูรณ์พร้อมอยู่แล้วในความเป็นธรรมชาตินั้นเองโดยไม่มีส่วนพร่องไปในความหมายอื่นได้อีก

 เพราะฉะนั้นการเข้าใจผิดด้วยการหมั่นหยิบยกธรรมทั้งหมดเท่าที่ตนเองจะพึงทำได้ขึ้นมาพิจารณาแล้วยังเข้าใจไปอีกว่าการกระทำเช่นนี้จะยังให้ธรรมชาติเกิดขึ้นและเป็นการปฏิบัติไปบนความเพียรของตนเองเช่นนี้ไปเรื่อยๆแล้วมันจะมีผลทำให้ธรรมชาตินั้นมันบริบูรณ์ขึ้นมาในสักวันหนึ่งเพราะการปฏิบัติธรรมในลักษณะเช่นนี้เรื่อยไป การที่เราเข้าใจผิดเช่นนี้มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติที่ตรงต่อพุทธประสงค์ที่พระองค์ได้ตรัสธรรมอันคือสติปัฏฐานทั้งสี่ไว้

แต่มันเป็นเพียง "จิตที่เราปรุงแต่งไปในการปฏิบัติธรรมผิดๆของเราเท่านั้น" การพิจารณาธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงต่อความเป็นจริงของธรรมชาติที่มันว่างเปล่าเป็นการพิจารณาเพื่อให้เราเกิดความเข้าใจในสภาพความเป็นจริงแห่งธรรมชาติที่มันว่างเปล่าอยู่อย่างนั้นอยู่แล้วโดยตัวมันเอง เมื่อเกิดความเข้าใจและรู้จักความเป็นจริงของธรรมชาตินี้แล้วโดยหมดความลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวงและไม่หลงไปในทิศทางอื่นๆอีก มันจึงเป็นธรรมชาติที่แท้จริงที่ทำให้สามารถระลึกถึงความเป็นธรรมชาติแห่งมันได้อยู่ทุกขณะเป็นการระลึกชอบที่ทำให้สามารถเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความเป็นธรรมชาติที่มันบริบูรณ์พร้อมในความว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตนของมันอยู่อย่างนั้น

 ความที่เป็นหนึ่งเดียวได้แล้วกับความเป็นปกติในธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง
ที่ว่างเปล่าไร้ความหมายแห่งความเป็นตัวตน
ที่มันเป็นความบริบูรณ์ในสภาพแห่งมันนั้นอยู่แล้ว
ถือได้ว่าเป็นการระลึกที่ถูกต้องตามหลักแห่งสติปัฏฐาน
ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้แล้วทุกประการ

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ”
“การให้ธรรม ย่อมชนะการให้ทั้งปวง”

ราเชนทร์ สิมะสุนทร
หนังสือ "ธรรมชาติคือศาสนาของฉัน จักรวาลแห่งนี้คือวัดวาอาราม"
>>> F/B เถรวาท สติปัฏฐานทั้งสี่
        22 เมษายน เวลา 12:52 น.
: https://www.facebook.com/profile.php?id=100003001500398&fref=nf&pnref=story