วิถีธรรม > ไหว้พระหน้าคอม

ตำนานพระปริตร : สิ บ ส อ ง ตำ น า น

(1/3) > >>

ฐิตา:
ตำ น า น พ ร ะ ป ริ ต ร
ตำนานพระปริตร : สิ บ ส อ ง ตำ น า น

~ชุ ม นุ ม เ ท ว ด า~
ขอเชิญบรรดาเทพเจ้า ผู้สถิตในสรวงสวรรค์ ชั้นกามาวจร รูปภพ
และเป็นผู้สถิตเหนือยอดเขาและหุบเขา และวิมานอันมีอยู่ในอากาศ
ทั้งที่สถิตบนเกาะในแว่นแคว้น ที่แดนบ้าน และบนต้นไม้
ในป่าโปร่ง และป่าทึบ ที่เรือน ที่เรือกสวนไร่นา

อีกทั้งบรรดายักษ์ คนธรรพ์ และนาคผู้เป็นมิตร เป็นกัลยาณชน
ที่สถิตอยู่ในน้ำ และบนบก ในที่ลุ่ม ที่ดอน

ขอจงมาประชุมกันในที่นี้ เพื่อฟังคำของพระมุนีอันประเสริฐ
ซึ่งข้าพเจ้าจักสวดต่อไป ณ บัดนี้

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย กาลบัดนี้ถึงกาลฟังธรรมแล้ว
..
..

~คำ บู ช า พ ร ะ บ ร ม ศ า ส ด า~
มีเรื่องเล่าว่า ณ แดนหิมวันต์ประเทศ
มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน
เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา
อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์
มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ

สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา
จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า “นะโม”
หมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา
พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง

กล่าวฝ่าย อสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา
ก็มีจิตปรารถนา ที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง
แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลน พระบรมศาสดา ว่า

มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่
พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลก
จนทำให้อสุรินทราหูอดรนทนอยู่มิได้

จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย
เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม

แต่พอมาถึงที่ประทับ
อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า
เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา

พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม
ชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของ อสุรินทราหู
ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า ตัสสะ
แปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ

เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก
มีชื่อเรียกว่า ชั้น กามาวจร มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ
พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา
พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา
แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร
จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร

ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า ภะคะวะโต
แปลว่า พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญ ของท้าวสักกะเทวราช
เจ้าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหา แด่พระผู้มีพระภาค
พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา
จนทำให้ท้าวสักกะเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม
บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า “อะระหะโต”
แปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง

สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญของท้าวมหาพรหม
หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ
จึงเปล่งคำสาธุการ “สัมมาสัมพุทธัสสะ”
หมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด

รวมเป็นบทเดียวว่า
“นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ”
แปลโดยรวมว่า
ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาค อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น
(มีต่อ)
..
..

~ม ง ค ล สู ต ร~
บทขัดมงคล
มวลหมู่มนุษย์และเทพยดาทั้งหลาย พากันขบคิดหามงคลใด
สิ้นเวลาไป ๑๒ ปี ก็หาได้รู้ถึงมงคลที่แท้ไม่ ความโกลาหล
ด้วยเรื่องมงคลเกิดไปทั่วหมื่นจักรวาล กระทั่งถึงพรหมโลก
ตลอดกาลนาน ด้วยเรื่องมงคล

สมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้า ทรงแสดงมงคลนั้น
อันเป็นเหตุยังบาปทั้ง ปวงให้เสื่อมหายไปนรชนมีจำนวน
แม้ตนสุดท้ายก็จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะฟังมงคลนั้น

ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดสาธยายมงคลนั้น
ซึ่งปรากฏผลให้พ้นทุกข์ดังกล่าว มาให้ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สดับด้วยเทอญ

ตำนาน
ในมงคลสูตรนี้ มีเนื้อความเริ่มต้นว่า

หมู่มนุษย์ทั้งหลาย ในชมพูทวีป มาประชุมกันที่ประตูเมือง
แล้วต่างก็พากันพูดคุยกันว่า สิ่งที่ตนนับถือเป็นมงคล
ต่างฝ่ายต่างก็พากันถกเถียงกัน ในความเป็นมงคลของสรณะแห่งตน
จนบังเกิดโกลาหล หาข้อยุติไม่ได้

พวกภุมเทวดา และเทพารักษ์ เมื่อได้ฟังพวกมนุษย์คิดและถกเถียงกัน
ในข้อที่เป็นมงคล ก็พากันถกเถียงกันบ้าง
จนเกิดโกลาหลรุกรามขึ้นไปจนถึงชั้นพรหม
สิ้นเวลาไปจนถึง ๑๒ ปี ก็ยังไม่มีผู้ใดชี้เด็ดขาดลงไปได้ว่า สิ่งใดเป็นมงคล

จนร้อนถึง ท้าวสุทธาวาส มหาพรหม
จึงได้ประกาศ แก่หมู่เทพและมนุษย์ทั้งหลายว่า
นับแต่นี้ไปอีก ๑๒ ปี องค์พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า
จักทรงตรัสแสดงมงคลทั้งหลาย
ให้เราทั้งหลายฟัง ณ เชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี

เมื่อกาลล่วงเลยมา สิ้นเวลาได้ ๑๒ ปี
พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จอุบัติในโลกนี้แล้ว
พวกเทวดาก็ต่างพากันไปถามปัญหาว่าอะไรเป็นมงคลแก่องค์อินทร์
องค์อินทร์ก็ไม่สามารถตอบปัญหาได้

จึงชวนกันไปเฝ้า พระบรมศาสดา เพื่อทูลถามปัญหา
แล้วก็มอบหน้าที่ให้เทพยดาองค์หนึ่งเป็นผู้ถามปัญหา

เมื่อความรู้ไปถึง เทพทุกชั้นฟ้า ต่างก็พากันเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
เพื่อสดับมงคลคาถา รวมเป็นมีจำนวนถึง ๑๐,๐๐๐ จักรวาล
(มีต่อ)

ฐิตา:
~ร ต น สู ต ร~
บทขัดรตนสูตร
หมู่เทวดาในแสนโกฏิจักรวาล
ยอมรับเอาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระปริตรใด พระปริตรหนึ่ง
พระปริตรใดยังภัยทั้ง ๓ คือ โรคภัย อมนุษย์ภัย ทุพภิกขภัย
ในเมืองเวสาลี ให้อันตรธานไปเร็วพลัน

ท่านทั้งหลาย จงตั้งจิตการุญ สวดพระปริตรนั้น
ดุจดังท่านพระอานนท์เถระเจ้า หวนคำนึง
นึกหน่วงถึงพระพุทธคุณทั้งปวงของพระตถาคตเจ้า

จำเดิมแต่ปรารถนา พุทธภูมิมา คือการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐
อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓
แล้วเสด็จลงสู่คัพโภทรภพสุดท้าย

ทรงประสูติ เสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์
ทรงบำเพ็ญความเพียร ณ โพธิบัลลังก์
ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิ์ญาณ และโลกุตตรธรรม ๙ เหล่านี้
แล้วทรงกระทำ ปริตรตลอดราตรี ทั้ง ๓ ยาม
ภายในกำแพง ๓ ชั้น ณ เมืองเวสาลี ฉะนี้เทอญ

ตำนาน
ครั้งหนึ่ง ณ พระนครไพสาลี อันไพบูลย์ไปด้วยขัตติยะตระกูล
มีพระยาลิจฉวีเป็นประธาน ได้บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงฝนแล้ง
พืชพันธุ์ธัญชาติ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายหมด
หมู่คนยากจนทั้งหลาย พากันอดยาก ล้มตายลงเป็นอันมาก
หมู่ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พากันเอาศพไปทิ้งไว้นอกพระนคร
กลิ่นซากศพนั้น เหม็นตลอดไปทั่วพระนคร

กาลนั้น หมู่อมนุษย์ทั้งหลาย ก็เข้ามากินซากศพ
แล้วตรงเข้าไปสู่พระนคร เป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนคร
ติดอหิวาตกโรค และโรคนานา จนผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก
สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองสกปรก ปฏิกูลไปด้วย เฬวรากซากศพ จากคนและสัตว์

ขณะนั้นกล่าวได้ว่า นครไพสาลี มีภัยเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ
๑. ทุพภิกขภัย ข้าวแพง มนุษย์ล้มตายลงเพราะอดอาหาร
๒. อมนุษย์ภัยเบียดเบียน ตายด้วยภัยของอมนุษย์
๓. โรคภัย ผู้คนล้มตายด้วยโรคภัยต่างๆ มีอหิวาตกโรค เป็นต้น

ขณะนั้น ผู้คนในพระนคร ต่างได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า
จึงชวนกันเข้าไปเฝ้า สภากษัตริย์ลิจฉวี แล้วทูลว่า

แต่ก่อนแต่ไรมา ภัยอย่างนี้มิได้เคยมี เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้
หรือว่า จะมาจากเหตุ ราชะสภามิได้ตั้งอยู่ในธรรม
หรือว่าผู้คนมหาชนทั้งหลาย ในไพสาลีนคร
หมกมุ่นมัวเมาประมาทขาดสติ มิมีธรรมะ

หรือว่า จะมาจากเหตุ นักบวช สมณะ สงฆ์
มิได้ทรงศีลสิกขา จึงเป็นเหตุให้เกิดกาลกิณี แก่ปวงประชา

ฝ่ายสภากษัตริย์ หมู่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มิอาจจับต้นชนปลาย
หรือจะรู้สาเหตุก็หาไม่ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมา
ได้แต่ทำตาลอกแลกแล้วส่ายหน้า

จนมี ท้าวพระยาลิจฉวี พระองค์หนึ่ง ลุกขึ้นตรัสว่า
เห็นทีภัยร้ายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก
มิอาจจะระงับได้ด้วย กำลังทหาร กำลังทรัพย์ หรือกำลังปัญญา

คงต้องอาศัยกำลังของพระโพธิบวร
แห่งองค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จมาโปรด ชาวไพสาลีให้พ้นภัยพิบัติครั้งนี้คงจะได้

ในที่สุดประชุมราชสภา ต่างเห็นพ้องต้องกัน
จึงมอบให้พระยาลิจฉวี ๒ พระองค์พร้อมไพร่พลนำเครื่องบรรณาการ
ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาต
ให้เชิญเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังนครไพสาลี

กล่าวฝ่ายพระราชาพิมพิสาร
เมื่อได้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครไพสาลี
และวัตถุประสงค์ของพระยาลิจฉวี
จึงทรงอนุญาตชาวนครไพสาลีไปทูลอาราธนา
องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตามประสงค์

องค์พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุบริษัทอีก ๕๐๐ รูป
ได้เสด็จพระดำเนิน ไปสู่นครไพสารี
ในเวลาที่เสด็จนั้น พระราชาลิจฉวี หมู่มุขมนตรี ชาวพระนคร
องค์อินทรเทวะพรหมินทร์ทั้งหลาย
ได้พากันเฝ้ารับเสด็จระหว่างทาง

ด้วยการโปรยทราย ดอกไม้ของหอม
พร้อมยกฉัตรกางกั้น แสงพระสุริยะฉาย
จัดตั้งราชวัตรฉัตรธง จตุรงค์เสนาขุนทหารทั้งหลาย
ต่างพากัน ยืนแถวถวายพระเกียรตินานาประการ

ในขณะเดินทาง ทรงหยุดพักระหว่างทางวิถี
พระราชาและหมู่ชนต่างพากันจัดสรรสรรพผลาหารอันเลิศ ประเสริฐรส
นำมาถวายแด่พระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์

ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึง ริมฝั่งคงคา พระยานาคราช ผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำคงคา
ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะ แล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่
แล้วทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ที่เนรมิตถวาย
พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ส่วนหมู่มนุษย์พระยาลิจฉวี
และชาวพระนคร ก็ให้ขึ้นเรือแพ ที่จัดเตรียมมา

แล้วเรือนาคา ก็บ่ายหน้าแล่นตรงไป ยังนครไพสาลี
สิ้นระยะทาง ๘ โยชน์ กินเวลา ๘ วัน
ระหว่างทางองค์นาคราช และบริวารได้ถวายอภิบาลพระบรมศาสดา และหมู่สงฆ์
มิให้สะดุ้ง สะเทือนระหว่างทาง ไม่ว่าคลื่นจะซัด ลมจะพัด น้ำจะแรง
เรือนาคราชนั้นก็บรรเทาผ่อนแรง บดบังลมแดดแรงเป็นอันดี
ประดุจดัง ทางประทับ อยู่บนยอดขุนเขาคีรีษี มิได้มีหวั่นไหวฉะนั้น

ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค
เสด็จพระดำเนินถึงเขตนครไพสาลี
เมฆฝนก็ตั้งเค้า ลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า
เหนือนครไพสาลี ครั้นสมเด็จพระชินศรี
ทรงย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินไพสาลี เม็ดฝนก็ตกลงมาในทันที

องค์สมเด็จพระชินศรี เมื่อเสด็จประทับภายในพระนครไพสาลี เป็นอันดีแล้ว
ฝนที่มิได้เคยตกมาเจ็ดปี ก็พลูไหลริน
จนท่วมภาคพื้นปฐพี กระแสน้ำได้พัดพาเอาซากอสุภ
และสิ่งปฏิกูลทั้งปวง ไหลลงไปสู่แม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น

ครั้นเม็ดฝนหยดสุดท้ายหมดสิ้น
หมู่อมรนิกรเทพพรหมินทร์ และอินทรราช
ก็เข้าเฝ้ากราบเบื้องยุคลบาทพระผู้มีพระภาค

ฝ่ายฝูงอมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นเห็นหมู่มหาเทพ
ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้า
ต่างตนต่างก็เกรงกลัวเดช กลัวจะเกิดอาเพศ
จึงพากันหลีกลี้หนีไปเป็นอันมาก

พระผู้มีพระภาค จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ เธอจงเรียนมนต์รัตนสูตรนี้
แล้วจงถือเอาเครื่องพลีกรรม
เที่ยวไปในระหว่างแห่งกำแพงทั้งสามชั้นของพระนคร
แล้วจงสาธยาย มนต์รัตนสูตร เวียนเป็นประทักษิณให้ครบ ๓ รอบ

แล้วนำบาตรของเราตถาคต ใส่น้ำที่สำเร็จด้วยมนต์รัตนสูตร
สาดรดไปทั้งพระนคร อมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมิได้หนี จักได้พากันหนีไปสิ้น
ประชาชนผู้คนในพระนคร จักได้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

ครานั้น พระบรมสุคตเจ้า ได้ทรงแสดง รัตนสูตร
โปรดหมู่อมรนิกรพรหมินทร์ อินทราธิราชทั้งหลาย
กาลเมื่อทรงแสดงธรรมจบสิ้น

ความสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ก็บังเกิดแก่ชาวไพสาลีทั้งปวง
อุปัททวภัยทั้งหลายก็ระงับสิ้น
หมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย มีประมาณแปดหมื่นสี่พัน
ได้บังเกิดธรรมจักษุ ต่างพากันรู้ทั่วถึงธรรมนั้น
ตามแต่อุปนิสัย วาสนาบารมีธรรมของตนที่สั่งสมมา

เมื่อหมู่อมรเทพนิกร พรหมินทร์ อินทรา เสด็จกลับไปแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงธรรมเทศนา รัตนสูตร
โปรดชาวพระนครไพสาลีอยู่อีก ๖ วัน
รวมสิ้นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ภายในพระนครไพสาลี
สิ้นเวลา ๑๕ วัน จึงเสด็จ

ระหว่างทางขณะเสด็จมาถึงริมแม่น้ำคงคา
พญานาคาและเหล่าบริวาร ผู้เฝ้ารอคอยเสด็จกลับ
ก็ได้เนรมิตกาย ให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐

ระหว่างทางได้ทรงแสดงธรรม
โปรดพญานาคและบริวาร จนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
หมู่ชนชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระราชาพิมพิสาร
ต่างรอคอยถวายเครื่องสักการะต้อนรับ ยิ่งกว่าตอนเสด็จไป
(มีต่อ)

ฐิตา:
~ก ร ณี ย เ ม ต ต สู ต ร~
บทขัดกรณียเมตตสูตร
เหล่าเทพยาดาทั้งหลาย ย่อมไม่แสดงอาการอันน่าสะพรึงกลัว
เพราะอานุภาพแห่งพระปริตรนี้
อนึ่งบุคคลไม่เกียจคร้าน สาธยายอยู่เนืองๆ ซึ่งพระปริตรนี้
ทั้งในกลางวันและกลางคืนย่อมหลับเป็นสุข ขณะหลับย่อมไม่ฝันร้าย
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย จงสวดพระปริตร อันประกอบไปด้วยคุณดังกล่าวมาดังนี้เทอญ

ตำนาน
เริ่มเรื่องที่ พวกพระภิกษุ ๕๐๐ รูป ในนครสาวัตถี
ครั้นได้เรียนกัมมัฏฐานในสำนัก สมเด็จพระบรมศาสดา แล้ว
หลีกไปหาที่สงัดเงียบ สำหรับเจริญวิปัสสนา
เดินทางไปได้สิ้นระยะทางประมาณ ๑๐๐ โยชน์

ถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นพระภิกษุ
มีความยินดี นิมนต์ให้นั่ง บนอาสนะอันสมควร
แล้วอังคาสด้วยข้าวยาคู เป็นต้น
พร้อมทั้งถามว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้ง หลายจะไป ณ ที่แห่งใด

ภิกษุทั้งหลายจึงกล่าวว่า
เราจะไปแสวงหาสถานที่สบาย สำหรับปฏิบัติธรรมตลอดไตรมาส

ชาวบ้านเหล่านั้นจึงกล่าวว่า
จากนี้ไปไม่ไกลนัก มีป่าชัฏเป็นที่สงัดเงียบเป็นที่รื่นรมย์
ขอนิมนต์พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
โปรดจงเจริญสมณธรรม ในที่นั้น ตลอดไตรมาสเถิด

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ
และรักษาศีลในสำนักของพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย
พระภิกษุทั้งหลายรับนิมนต์แล้วก็ออกเดินทางเข้าไปสู่ป่าชัฏ
เพื่อเจริญสมณธรรม

ฝ่ายพวกรุกขเทวดาที่สิงสถิตอยู่บนต้นไม้ในป่านั้น
ต่างพากันคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้ง หลายมาอาศัยอยู่ที่โคนต้นไม้ของเรา
ตัวเราและบุตรภรรยาขึ้นอยู่บนต้นไม้นี้
จักไม่เป็นการบังควร ดูว่าจะไม่เคารพ

พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย จึงพากันลงจากต้นไม้ มานั่งอยู่เหนือพื้นดิน
ได้รับความลำบากมิใช่น้อย
พวกรุกขเทวดาผู้ใหญ่ ได้พูดปลอบใจเทวดาผู้น้อยว่า

ไม่เป็นไรหรอกชาวเราเอ๋ย...
พระผู้เป็นเจ้าเหล่านี้คงจะอยู่ ณ ที่นี้ไม่นาน
รุ่งขึ้นท่านก็คงจะจาริกไปที่อื่น
ชาวเราทั้งหลาย จักได้กลับขึ้นไปอยู่บนวิมานของเราเหมือนเดิม

รุ่งสาง พระสุริยะก็ฉายแสงส่องลงมายังภาคพื้นปฐพี
เหล่าภิกษุทั้งหลาย ก็พากัน ออกเที่ยวบิณฑบาตภายในหมู่บ้าน
ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากป่านั้นนัก

พวกเทวดาต่างพากันคิดว่า
ดีหละ พระเป็นเจ้าทั้งหลายคงจะย้ายที่อยู่กันสิ้นแล้ว
จึงพากันขึ้นไปสถิตยังต้นไม้ของตนตามเดิม

เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ล่วงเวลาไปครึ่งเดือน
พวกรุกขเทวดาจึงพากันคิดว่า

ชะรอยพระเป็นเจ้าคงจะอยู่ ณ ที่นี้ถ้วนไตรมาสเป็นแน่
เห็นทีชาวเราคงจะต้องลำบากไปตลอดไตรมาสด้วย
เห็นทีชาวเราทั้งหลายจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้ท่านไปเสียจากที่นี่

เมื่อคิดดังนั้นแล้ว รุกขเทวดาต่างก็พากันแสดงตน
ให้ปรากฏต่อประสาทสัมผัสของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ด้วยอาการ กิริยา อันน่าสะพรึงกลัวต่างๆ เช่น

ทำให้เกิดลมพายุพัด ทำให้เกิดฝนตกเฉพาะภาคพื้นนั้น
ทำให้ดูประหนึ่งแผ่นดินไหวสะเทือนเลื่อนลั่น
ทำให้เกิดเสียงร้องโหยหวนดังเสียงของเปรต
หรือสัตว์นรกผู้กำลังได้รับทุกขเวทนาจากการโดนลงทัณฑ์
แม้ที่สุดกระทำให้ภิกษุทั้งหลายได้เห็นภาพอันน่าสะพรึงกลัวต่างๆ
พวกภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปนั้นก็หาได้หนีจากที่นั้นไปไม่

รุกขเทวดาผู้ใหญ่ เลยออกอุบาย
ให้บริวารช่วยกันบันดาลให้เกิดโรค แก่ภิกษุเหล่านั้น
มีอาการป่วยต่างๆ กัน เช่น โรคไอ โรคจาม โรคหอบ โรคนอนกรน โรคฝันร้าย

โรคเหล่านี้ ทำให้กายของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
มีร่างกายซูบซีด ผอมแห้ง ได้รับทุกขเวทนา จนทนอยู่ ณ ที่นั้นมิได้
จึงพากันเดินทางหลีกหนี ออกจากป่าชัฏนั้น
แล้วชวนกันไปเฝ้าพระบรมศาสดา
ทูลเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้ประสบมา ให้พระบรมศาสดาทรงทราบ

พระผู้มีพระภาค เมื่อได้ทรงสดับ การที่ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้ประสบมา
จึงทรงมีพุทธประสงค์ให้ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป กลับไปเจริญสมณธรรมในที่เดิม

จึงทรงประทาน เมตตาสูตร
ให้แก่พระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปได้เรียน
เพื่อใช้ป้องกันภัย จากภูต และเทวดา ยักษ์ มาร ทั้งปวง
โดยมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสาธยายพระสูตรนี้
ตั้งแต่ชายป่า จนถึงภายนอก และภายในที่พัก
เช่นนี้ ความสวัสดีจะมีแก่เธอทั้งหลาย

ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ได้เรียนพระพุทธมนต์ จนขึ้นใจแล้ว
จึงพากันเดินทางกลับไปยังป่าชัฏดังเดิม
ครั้นถึงชายป่าชัฏ ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ก็สาธยายพระพุทธมนต์ บทเมตตาสูตร จนเดินถึงที่พัก

พวกรุกขเทวดาทั้งหลาย
เมื่อได้สดับเสียงเจริญ เมตตาสูตร จากปากพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป
ก็มีจิตเมตตา รักใคร่ พากันมาต้อนรับปฏิสันถาร รับบาตรจีวร ปัดกวาด
หาน้ำใช้ น้ำฉัน แล้วคอยรับใช้ อภิบาลรักษาอยู่ตามแนวป่า
มิให้มนุษย์ อมนุษย์ และสัตว์ร้ายใดๆ
มารบกวน ทำร้ายพระเป็นเจ้าของตน

ภิกษุเหล่านั้น เมื่อได้อยู่เป็นที่สงบสุขแล้ว
ก็หมั่นตั้งจิตบำเพ็ญ วิปัสสนา กัมมัฏฐาน ตลอดกลางวันและกลางคืน
จนจิตหยั่งลงสู่วิปัสสนาญาณ
เห็นความเสื่อมในร่างกายของตน
ว่าอัตภาพนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
ประดุจภาชนะดินเผา ที่เปราะบางแตกทำลายลงง่าย ไม่คงทนถาวร
ขณะที่เป็นอยู่ก็เป็นภาระ ที่ต้องประคับประคองรักษา
แม้ที่สุดก็หาได้มีตัวตนที่แท้จริงไม่

องค์สมเด็จพระชินศรีบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะทรงประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎี ทรงทราบสภาวะธรรม
ที่เกิดขึ้นในจิตของพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูป ด้วยพระญาณ
จึงทรงเปล่งพระรัศมีให้ปรากฏเฉพาะหน้า แก่ภิกษุเหล่านั้น
ดุจดังว่าเสด็จมาเองเฉพาะภิกษุแต่ละองค์ และทรงตรัสพระคาถาว่า

ภิกษุทั้งหลาย
กายนี้เปรียบเหมือนหม้อดิน จิตนี้เปรียบเหมือนนคร
ที่มีข้าศึกคอยจ้องรุกรานโจมตีคือกิเลส
อาวุธที่จะใช้กำราบกิเลส ก็คือปัญญา
ขณะที่เรากำลังรุกรบกับข้าศึกคือกิเลส
ก็ต้องระวังดูแลรักษาหม้อดิน คือกายนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

กายนี้เป็นภาระอย่างยิ่ง และเหตุแห่งการเกิดกายนี้
ก็คือกรรม อวิชชาความไม่รู้ ความรู้วิชา ทำให้รุ่งเรืองปัญญา

ดับเหตุแห่งอกุศลกรรมเสียได้
ย่อมไม่พัวพันต่อชาติภพ ย่อมมีชัยชนะในโลก

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว
ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปก็ได้บรรลุอรหัตผล
พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ด้วยประการฉะนี้
(มีต่อ)

ฐิตา:
~ขั น ธ ป ริ ต ร~
บทขัดขันธปริตร
พระปริตรใด ยังพิษอันร้ายแรงแห่งอสรพิษ
และสัตว์พิษทุกชนิดให้หายไปประดุจดัง มนต์ทิพย์ และยาทิพย์อันวิเศษ

อนึ่งพระปริตรใดย่อม ที่สามารถห้ามกันอันตราย ของสัตว์ร้ายให้สิ้น
ในเขต แห่งอำนาจแห่งพระปริตรทุกสถานในกาลทุกเมื่อ โดยประการทั้งปวง
ขอท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดจงสาธยายพระปริตรนั้นเทอญ

ตำนาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวนาราม ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้น พระภิกษุรูปหนึ่งนั่งสีไฟอยู่ ณ เรือนไฟ
งูตัวหนึ่ง ออกจากต้นไม้ผุ ได้กัดนิ้วเท้าแห่งพระภิกษุนั้น
พระภิกษุนั้นทนพิษงูมิได้ ก็ได้มรณภาพลงในที่สุด

ภิกษุทั้งหลาย ต่างก็พากันไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
กราบทูลถึงเรื่องภิกษุที่ถูกงูกัดตายนั้นให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคจึงทรงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ชะรอยภิกษุนั้นจะไม่ได้เจริญเมตตาจิตต่อตระกูลแห่งพญางูทั้ง ๔

หากว่าพระภิกษุรูปนั้นได้เจริญเมตตาจิต ให้แก่ตระกูลพญางูทั้ง ๔ แล้ว
งูจะไม่กัดพระภิกษุนั้นเลย และถึงแม้จะโดนกัด ก็หาได้ตายไม่

แต่ปางก่อน ดาบสฤาษีทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต
ได้เจริญเมตตาจิต ให้ตระกูลพญางูทั้ง ๔ ก็พากันรอดพ้นจากภัยแห่งงูทั้งหลาย
แล้วทรงเล่าเรื่องในอดีต มาแสดงว่า

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตต์ครองราชสมบัติ ณ เมืองพาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ณ กาสิกรัฐ
ครั้นเจริญวัยแล้วได้ทรงสละราชสมบัติ ออกบรรพชาเป็นฤาษี ในป่าหิมวันต์
บำเพ็ญเพียรจนได้บรรลุอภิญญา ๔ และสมาบัติ ๘ ตามลำดับ

แล้วได้เนรมิตอาศรมอยู่ ณ คุ้งน้ำแห่งหนึ่ง ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ชายป่าหิมพานต์
อีกทั้งได้เป็นอาจารย์สั่งสอนฤาษีจำนวนมากด้วย

ในเวลานั้นได้มีงูปรากฏขึ้น
พร้อมทั้งไล่กัดพวกฤาษีทั้งหลาย ถึงแก่ความตายเป็นอันมาก
พวกฤาษีทั้งหลาย ก็ได้นำความทั้งปวง
เข้าไปแจ้งแก่ฤาษีผู้เป็นอาจารย์ของตนให้ทราบ

ฤาษีพระโพธิสัตว์ ครั้นได้ฟัง จึงสั่งให้ประชุมฤาษีผู้เป็นศิษย์ทั้งปวง

แล้วสอนให้ฤาษีเหล่านั้นเจริญเมตตาจิตต่อตระกูลพญางูใหญ่ทั้ง ๔
อีกทั้งยังสอนให้ศิษย์ เจริญเมตตาจิตให้แก่สรรพสัตว์จำพวกอื่นเป็นลำดับ
ตั้งแต่สัตว์ไม่มีเท้า จนถึงสัตว์ที่มีเท่ามากว่า

ขอสัตว์ทั้งปวงเหล่านั้นอย่าได้มีเวร อย่าได้พยาบาท
อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
จนถึงซึ่งความสุข ปราศจากทุกข์ทั้งปวงเถิด

แล้วสั่ง สอนให้ฤาษีผู้เป็นศิษย์
ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า
ว่ามีประมาณมากด้วยคุณธรรม

สัตว์ทั้งหลายมีคุณธรรมไม่มากเท่า
คุณธรรมของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า
มีมากเหลือประมาณ ได้ป้องกันเราให้ห่างจากสัตว์ เหล่านั้น
ทั้งกลางวันและกลางคืน

ความรักษาอันเรากระทำแล้ว ด้วยพระคุณอันประเสริฐ
ความป้องกันอันเรากระทำแล้วด้วยคุณอันบริสุทธิ์
ขอสัตว์ทั้งหลายจงหลีกไปเสีย อย่าได้มาเบียดเบียนเราเลย

เรากำลังกระทำความนอบน้อม
ต่อพระผู้มีพระภาคอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่

เมื่อฤาษีพระโพธิสัตว์ ได้ผูกมนต์พระปริตร สอนแก่ศิษย์ทั้งหลายแล้ว
เหล่าฤาษีนั้น ก็ได้พากันเจริญเมตตา
และระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอารมณ์
งูและสัตว์ร้ายทั้งหลายก็หลีกไปมิได้มากล้ำกรายบีฑาอีกต่อไป
(มีต่อ)

ฐิตา:
~ธ ชั ค ค ป ริ ต ร~
บทขัดธชัคคปริตร
เออแน่ะ สัตว์ทั้งหลายแม้อยู่ในอากาศ ย่อมได้ที่พึ่ง ทำให้หายหวาดกลัว
ดุจเดียวกันกับสัตว์ในแผ่นดิน
สัตว์ทั้งหลาย ผู้รอดพ้นจากข่าย คือ สรรพอุปัทวะ
อันเกิด แต่ยักษ์และโจร มีจำนวนเหลือคณนานับ
ด้วยการระลึกถึงพระปริตรใด ท่านทั้งหลาย จงสาธยายพระปริตรนั้นเทอญ

ตำนาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จประทับอยู่ ณ นครเวสาลี
ได้ทรงแสดงที่มาของท้าวสักกะเทวราชให้แก่เจ้าลิจฉวี นามว่ามหาลี
ได้สดับความว่า

มีมานพผู้หนึ่งชื่อ มะฆะ อยู่ในอะจะละคาม แคว้นมคธรัฐ
ได้จัดทำสถานที่ชายป่าไกลบ้านให้เป็นที่ร่มรื่นรมณียสถาน
แล้วพักนั่งเล่น นอนเล่นอยู่ ณ สถานที่นั้น

ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งเดินทางผ่านมา เห็นชานป่าแห่งนั้น
เป็นที่รมณียสถานก็ตรงเข้าไปแวะพักแลเห็น
มะฆะมานพนั่งพักอยู่ก่อนแล้ว ชายผู้นั้นก็ไม่พอใจ

กล่าวตู่ขึ้นว่า
เอ่ะ เจ้านี้มายังไงนะ บังอาจมานั่งบนที่ของข้าได้
ไป...ไปเสียให้พ้น อากาศยิ่งร้อนๆ อยู่
เดี๋ยวพ่อก็แพ่นกระบาลเสียด้วยไม้เท้านี้หรอก

มะฆะมานพ พอได้ฟังดังนั้นแทนที่จะโกรธ
กลับคิดว่า เออ...ดีนะ รมณียสถานแห่งนี้
เราเป็นผู้สร้างขึ้นคนทั้งหลายชอบตำหนิว่าไม่มีประโยชน์
มาบัดนี้มีผู้เห็นประโยชน์ในสิ่งที่เราสร้างขึ้นแล้ว
ดีหละ..เราจักสร้างสถานที่เช่นนี้ต่อไป

มะฆะมานพได้เดินออกจากชายป่านั้นโดยดี มิได้ถือโกรธเลย
พร้อมทั้งยัง ได้ไปสร้างที่รื่นรมย์ยังที่อื่นๆ ต่อไป

แล้วเหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม
สร้างเสร็จก็มีผู้มาอ้างสิทธิ์จับจองเป็นเจ้าของ
แทนที่มะฆะมานพจะโกรธกลับคิดว่า
การที่เราสร้าง สามารถทำให้ผู้อื่นมีความสุข
เราย่อมได้รับบุญ บุญนั้นย่อมทำให้เรามีความสุขไปด้วย

กาลต่อมา แม้ในขณะเดินทาง
มะฆะมานพจะต้องนำเอามีดหรือจอบติดมือไปด้วยเสมอ
เมื่อเห็นว่าหนทางไม่ราบเรียบมีหญ้าขึ้นปกคลุมรก ทางมีหลุมเป็นบ่อ
ระหว่างทางมีกิ่งไม้ระเกะระกะรุงรัง

มะฆะมานพนั้น ก็จะเอาจอบถาก มีดหวด
ทำให้ตลอดทางเป็นที่ร่มรื่น สะดวกสบายแก่ผู้สัญจรไปมา

เมื่อนายมะฆะมานพทำเช่นนี้เป็นอาจิณ
ผู้คนชนทั้งหลายที่สัญจรไปมาก็พากันเข้าไปถามว่า
สหายท่านกำลังทำอะไรอยู่

มะฆะมานพก็ตอบว่า
เรากำลังทำทางไปสวรรค์ ชนเหล่านั้นก็ขอร่วมทำด้วย
จนมีสมัครพรรคพวกเป็นเพื่อนถึง ๓๓ คน มะฆะมานพ
จึงพาทำทางได้ระยะไกลถึง ๒ โยชน์ หมู่ชนทั้งหลาย

เมื่อเดินทางได้รับความสะดวกสบาย
ต่างก็พากันสรรเสริญมะฆะมานพและบริวารเป็นอันมาก

ฝ่ายนายบ้าน ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น
เห็นฝูงชนยกย่องสรรเสริญมะฆะมานพและบริวาร
ก็บังเกิดความริษยา จึงหาเรื่องเข้ามาว่ากล่าวว่า

เจ้าทั้งหลายกระทำอะไรไร้ประโยชน์
ทำไมไม่ใช้เวลาและแรงที่มีไปหาเนื้อหาปลามาเป็นอาหาร
วัยฉกรรจ์อย่างพวกเจ้าควรที่จะไปเที่ยวเล่น ดื่มสุรา
เที่ยวดูการละเล่นยังจะสนุกเพลิดเพลินเสียกว่า
อย่ามามัวเหนื่อยเปล่ากับ เรื่องไม่เป็นประโยชน์เหล่านี้อยู่เลย

มะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คน ก็หาได้เชื่อฟังคำของนายบ้านไม่
นายบ้านจึงผูกใจโกรธ นำเรื่องไปเท็จทูลพระราชาว่า
มะฆะมานพและบริวาร เป็นคนเกเรไม่ทำมาหากิน
คอยดักปล้นสะดมผู้คนที่เดินทาง

พระราชา พอได้ฟังคำเท็จทูลของนายบ้านก็หลงเชื่อ
มีรับสั่งให้พนัก งานไปจับตัวมะฆะมานพและบริวารทั้ง ๓๓ คนมาลงโทษ
ด้วยการให้นอนลงกับพื้นแล้วต้อนช้างพลายผู้ดุร้ายให้ไปเหยียบ

ขณะที่ช้างพลายที่ดุร้ายจะมาเหยียบนั้น
มะฆะมานพได้สั่งให้บริวารทั้ง ๓๓ คน
เจริญเมตตาไว้ในใจ อย่าผูกโกรธ เคืองแค้นต่อนายบ้าน
แผ่เมตตาให้แก่พระราชาและช้างพลายที่จะตรงมาเหยียบ

ด้วยอานุภาพแห่งเมตตาของมะฆะและบริวาร
ช้างพลายที่ดุร้ายนั้นพลัน ก็ยืนสงบนิ่ง
ไม่ยอมที่จะก้าวเดินไปเหยียบมะฆะและบริวาร

ข้างพระราชาทรงประทับทอดพระเนตรการลงทันต์อยู่
ทรงเห็นว่าช้างไม่ยินยอมที่จะย่างเหยียบคนทั้ง ๓๓
ก็ให้พนักงานนำเอาเสื่อลำแพนมาปกคลุมร่างของคนทั้ง ๓๓ คนเสีย
ด้วยคิดว่าช้างอาจจะเห็นเป็นคน เลยมิกล้าที่จะเดินเหยียบได้

เมื่อชาวพนักงานนำเสื่อลำแพนมาคลุมร่างมะฆะมานพและบริวารมิดชิดแล้ว
จึงให้ควาญช้างไสช้างพลายนั้นให้ก้าวเหยียบไปบนเสื่อลำแพน
มิใยที่ควาญช้างจะโขกสับ บังคับไสช้างพลายนั้นให้เดินสักปานใด
ช้างนั้นก็ยืนสงบนิ่ง มิขยับ เขยื่อนเลื่อนไปแม้แต่ก้าวเดียว

พระราชาครั้นได้ทรงทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงดำริว่า
เอ...นี่มันเกิดอาเภทเหตุอัศจรรย์ใดกันหนอ
ทำไมชนทั้ง ๓๓ คนนี้ จึงมิได้มีอันตรายใดๆ

จากการลงทันต์ในครานี้เลย
ชะรอยเราต้องเรียกมาไตร่สวนดูให้รู้ความจริง
และแล้วจึงทรงมีพระดำรัสเรียกมะฆะมานพและบริวารเข้าเฝ้า

เมื่อมะฆะมานพและบริวารได้เข้าเฝ้าเบื้องหน้าพระพักตร์แล้ว
พระราชาจึงทรงมีพระดำรัสตรัสถามขึ้นว่า
อาชีพที่สุจริตในแผ่นดินนี้มีออกมากมาย
เหตุใดพวกเจ้าจึงพากันเป็นโจร ประกอบทุจริต

มะฆะมานพครั้นได้ฟังพระราชาทรงตรัสตำหนิถามดังนั้น จึงกราบทูลว่า
ข้าแต่องค์ราชะผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าและสหาย
มิได้เป็นผู้ทำอาชีพทุจริตผิดกฎหมาย
พวกข้าพระพุทธเจ้าเป็นสุจริตชน
สิ่งที่ข้าพระพุทธเจ้าทำ คือทางไปสวรรค์
แต่กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นโจร เหตุเพราะนายบ้านมีความริษยา
ผูกโกรธคิดกลั่นแกล้งใส่ความพวกข้าพระพุทธเจ้า
ถ้าพระองค์ไม่เชื่อ ขอได้ทรงโปรดให้ขุนทหาร
ไปเรียกชาวบ้านมาไตร่ถาม ความจริงก็จะปรากฏ

พระราชาจึงส่งขุนทหาร ไปเกณฑ์ชาวบ้านมาไตร่ถาม
จึงได้ทรงทราบความจริงว่า
มะฆะมานพ และบริวารได้ชวนกันทำงาน ไปสวรรค์จริงๆ

จึงทรงปราโมทย์ยินดี ทรงพระราชทานช้างพลายตัวนั้น
ให้แก่มะฆะมานพ และบริวาร อีกทั้งยังทรงมีรับสั่งให้
นายบ้านผู้มีจิตริษยานั้น ตกเป็นทาสของมะฆะมานพด้วย

ช้างมะฆะมานพและสหาย
เมื่อได้เห็นอานิสงส์ผลบุญ ที่พวกตนได้ร่วมกันกระทำ
ปรากฏให้เป็นที่ประจักษ์
จิตโสมนัส ศรัทธาในการบำเพ็ญบุญนั้นมากยิ่งขึ้น

ซึ่งนอกจากทำทาง ทำสถานที่ร่มรื่นให้ผู้คนและสัตว์
ที่กำลังเดินทางได้หยุดพักแล้ว
ยัง ได้ช่วยกันทำศาลาพักผ่อน ขุดสระ
ทำปลูกพืชผักผลไม้เอาไว้ให้ผู้คนที่หิวกระหายได้ตักดื่ม เก็บกิน
จนเป็นที่สำราญของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ณ ตำบลบ้านนี้

นอกจากมะฆะมานพ จะเป็นผู้ชอบบำเพ็ญบุญดังกล่าวมาแล้ว
ยังจะเป็นผู้ปฏิบัติ ข้อวัตตะบท ๗ ประการ โดยบริบูรณ์ คือ

- ปฏิบัติเลี้ยงดูรักษาบิดามารดา
- อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล
- กล่าวความสัตย์ ไม่โกหก
- ไม่พูดหยาบคาย
- มีวาจาที่สุภาพ เรียบร้อย ระรื่นหูแก่ผู้ได้สดับ ไม่ส่อเสียดยุยง
- ไม่ตระหนี่ ยินดีในการให้
- เป็นผู้ที่มีปกติไม่โกรธ

ครั้นเมื่อถึงกาลมรณะสมัย มะฆะมานพและสหายได้ทำกาลกิริยาลง
ด้วยสิ้นอายุขัย ผลบุญที่ตนได้ทำเอาไว้ ส่งผลให้มะฆะมานพ
ไปบังเกิดเป็น พระอินทร์

ในเทพพิภพ พร้อมด้วยสหายอีก ๓๒ องค์
จึงรวมเป็นเหล่าเทพ ๓๓ องค์ เทพนครแห่งนั้น
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ตาวะตึงสะ หรือ ดาวดึงส์สวรรค์ ซึ่งแปลว่า ๓๓

ส่วนเทพยดา ที่สถิตในเทพนครนี้อยู่เดิม
เห็นเทพบุตรเกิดขึ้นใหม่ มีวรกายสง่างาม รัศมีกายเรืองรอง
จึงใคร่ผูกสมัครมิตรไมตรี พากันจรลี
ไปจัดสรรคัดหาโภชนาหารอันเลิศรส พร้อมกับเหล้าหอม
ชื่อคันธบาน แล้วชวนกันนำไปเลี้ยงแก่บรรดาเทพบุตรทั้ง ๓๓ องค์ที่บังเกิดใหม่

พระอินทร์ จึงแอบกระซิบแก่เทพบริวารทั้ง ๓๒ ว่า
อย่าดื่มน้ำคันธบานนั้น แต่ให้แสร้งทำประหนึ่งว่า
ได้ดื่มน้ำเหล้านั้นเข้าไปด้วย

ฝ่ายเทพดาที่สถิตอยู่ในเทพพิภพเดิม ก็มิได้คิดระแวงอันใด
จึงพากันดื่มเหล้าหอมนั้นเข้าไป จนเมามายหมดสติ มิอาจทรงกายอยู่ได้
จึงลงนอนและหลับไปในที่สุด ฤทธิ์แห่งเหล้าหอมนั้น
ทำให้เทพดาเก่าหลับไปนานถึง ๔ เดือน

พระอินทร์จึงกล่าวแก่เทพบริวารว่า
พวกเทพเหล่านี้ มัวเมา ประมาท จนขาดสติ
นอนได้แม้ในที่ที่มิมีใครนอน
แถมส่งเสียงเอะอะละเมอเหมือนกับคนบ้า ผ้าผ่อนภูษาก็หลุดลุ่ย

ขืนให้อยู่บนเทพพิภพรังแต่จะทำให้ เทพนครเสื่อมเสีย
มาเถิดสหายทั้ง ๓๒ เอ๋ย มาช่วยกันจับเทพขี้เมาเหล่านี้โยนลงสู่มหาสมุทรกันเถิด

เมื่อเทพขี้เมาเหล่านั้น โดนจับโยนลงมหาสมุทร
ร่างกระทบภาคพื้นพิภพใต้มหาสมุทร
เทพวิมานที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ของเทพขี้เมาเหล่านั้นก็ปรากฏขึ้น
มีสภาพดุจดัง เทพนครบนสวรรค์มิได้ผิด
จะต่างก็ตรงต้นปาริจฉัตตกะ ซึ่งมีอยู่บนเทพนครชั้นดาวดึงส์
แต่ในเทพพิภพมีแต่ต้นแคฝอย
ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ต้นจิตตปาตลี

เทพขี้เมาทั้งหลาย เมื่อฟื้นคืนสติขึ้นมา
จึงได้รู้ว่าพวกตนถูกเทพบุตรใหม่ทั้ง ๓๓ องค์
จับโยนลงมาอยู่ในมหาสมุทร ก็ให้นึกละอาย แล้วก็พากันดำริขึ้นว่า

นี่คงเป็นเพราะชาวเราทั้งหลายมัวเมาประมาท
กินเหล้าจนขาดสติหลับไป
จึงโดนเทพใหม่เหล่านั้นกลั่นแกล้งให้ได้อาย
เป็นเพราะน้ำเหล้าหอมนั้นเชียว

เราทั้ง หลายเอ๋ย ต่อนี้ไปจงอย่ากินเหล้าอีกเลย
ด้วยว่าดำริเช่นนี้
เทพขี้เมาเหล่านี้ ก็เลยเป็นเทพที่ไม่ยอมเมาอีกต่อไป
จนได้ชื่อว่า อสูร

อสูรนั้น ได้พักอาศัยอยู่ใน อสูรพิภพ
ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเทพนครทุกอย่าง
ซึ่งทุกอย่างก็สำเร็จได้ด้วยบุญฤทธิ์ของตน ของตน
ต่างตนต่างก็อยู่อย่างเป็นสุข สถิตสถาพร
และมีหัวหน้าที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ ชื่อว่า ท้าวเวปจิตติอสูร

กาลต่อมา ลุถึงฤดูต้นแคฝอยออกดอก
เหล่าอสูรทั้งหลายต่างพากันหวนคำนึงนึกถึง เทพนครสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ซึ่งเป็นที่สถิตของต้นปาริจฉัตตกะ มีดอกใหญ่สีสวยกลิ่นหอม
เมื่อถึงคราวฤดูออกดอกก็ส่งกลิ่นทำให้เทพนครหอมอบอวนเป็นที่รื่นรมณ์ยิ่งนัก

เหล่าอสูรทั้งหลาย ก็พากันหวนคำนึงระลึกถึง เทพนครสวรรค์
เวปจิตติอสูร ผู้เป็นหัวหน้า จึงชักชวนพลโยธา จัดเตรียมเป็นกองทัพ
เพื่อไปชิงเอาเทพนครสวรรค์กลับมาเป็นของตน
พร้อมทั้งยกทัพ ขึ้นไปท้ารบกับพระอินทร์

องค์อินทราชจึงมีเทวบัญชา
ให้ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ แต่งกองทัพเทวดาลงไปรักษาเชิงเขาพระสุเมรุในทิศทั้ง ๔
คอยสู้รบ รุกรับ ขับไล่ต่อกรกับพวกอสูร
ซึ่งบางครั้งก็มีชัย บางครั้งก็พ่ายแพ้

คราใดที่ท้าวจาตุมทั้ง ๔ พ่าย
ก็พาทัพเทวดาถอยร่นขึ้นไปจนถึงประตูสวรรค์
องค์อินทร์ก็ต้องคุมทัพออกมารุกไล่รบแก่ทัพอสูรด้วยพระองค์เอง
และก่อนที่จะออกรบ องค์อินทรธิราช
ได้ทรงตรัสสั่งแก่บรรดา พลเทวดาว่า

ถ้าพลเทวดา หวาดกลัว สะดุ้ง และมีขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้น
ก็ให้แลดูชายธงที่ปลิวไสวอยู่บนราชรถศึกของพระองค์
หรือไม่ก็แลดูชายธงขององค์เทวะชื่อ ปชาบดี ของพระวรุณเทวราช
หรือพระอีสานเทวราชเพื่อเป็นกำลังใจว่า ผู้นำ
ผู้เป็นที่พึ่งของเรายังสถิตอยู่กับเรา

เหล่าบรรดาพลทหารเทวดาทั้งหลาย
เมื่อได้แลเห็นชายธงของมหาเทวะทั้งหลายที่กล่าวนามมาแล้ว
จึงมีกำลังมีใจที่ฮึกเหิม ทำสงครามอย่างเกรียงไกร มีชัย
ในที่สุดอีกทั้งยังสามารถจับตัวท้าวโพจิตราสูร หัวหน้าของอสูร ทั้งปวงได้

ท้าวโพจิตราสูร เมื่อโดนจับก็ยิ่งผูกโกรธ
กล่าวคำหยาบช้า ด่าว่าพระอินทร์และเทพที่เกิดใหม่ทั้ง ๓๓ องค์ นานาประการ
แต่หมู่เทพและองค์อินทร์ก็หาได้โกรธไม่
อีกทั้งยังให้อภัย ปล่อยท้าวโพจิตราสูรให้เป็นอิสระ
สงครามระหว่างเทวะกับอสูรก็สงบลง แต่นั้นเป็นต้นมา

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อไปว่า
เช่นนั้นแลภิกษุทั้งหลาย คราใดที่เธอทั้งหลายไปอยู่ในป่าก็ตาม
อยู่ใต้โคนไม้ก็ตาม อยู่ในเรือนว่างก็ตาม อยู่ในที่รกชัฏก็ตาม

ความหวาดกลัว ความสะดุ้งผวา ขนพองสยองเกล้าบังเกิดขึ้นแก่เธอ
เธอทั้งหลายพึงชนะความกลัวเหล่านั้น

ด้วยการระลึกถึงเรา ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้ด้วยพระองค์เอง
เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก
เป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ถ้าเธอทั้งหลายไม่ระลึกถึงเรา เพื่อจะชนะความหวาดกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระธรรมว่า
พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงเห็นรู้ได้ด้วยตนเอง
ไม่จำกัดกาลเวลาสามารถเรียกให้ผู้อื่นมาดูได้ด้วย
เป็นสิ่งที่บุคคลพึงน้อมเข้ามาใส่ตน เป็นคุณสมบัติของผู้รู้ทั้งหลาย ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้เธอทั้งหลายมิพึงระลึกถึงพระธรรม
เพื่อจะครอบงำความกลัว
เธอทั้งหลายพึงระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ว่า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ปฏิบัติธรรม เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ซึ่งมีอยู่ ๔ คู่ ๘ พวก
พระสงฆ์สาวกเหล่านี้ เป็นผู้คงแก่การบูชา
เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ เป็นผู้คู่ควรแก่การรับทาน
เป็นผู้ควรแก่การกราบไหว้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
เมื่อเธอทั้งหลาย พากันมาระลึกถึง
คุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมเจ้า คุณของพระสงฆ์เจ้า
เห็นปานนี้ ความสะดุ้งกลัว หวาดผวา
ขนพองสยองเกล้า จักมิอาจครอบงำเธอ ดังนี้แล
(มีต่อ)

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version