ซกเช็น วิถีแห่งการตื่นรู้
โดย พระอาจารย์ลาตรี เคนโป เกเช ญีมา ทรักปา ริมโปเช
Dzogchen, The Path of Self-Liberation
Latri Khenpo Geshe Nyima Dakpa Rinpoche
กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล ขยายความและถ่ายทอดจากภาษาอังกฤษ
นพ. ภิญโญ ศรีวีระชัย และ วลีพร ธนาธิคม บรรณาธิการ
สงวนลิขสิทธิ์ มูลนิธิพันดารา ๒๕๕๗
(1)
การสอนพระธรรมในวัชรยานโดยปกติมีสามหนทาง หนทางแรกคือ “พระสูตร” (Sutra) เน้นการศึกษาพระสูตรซึ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในทิเบตผู้ที่ศึกษาสายนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักบวชซึ่งไม่เพียงแต่อ่านพระสูตรแต่ยังท่องจำเนื้อความในพระสูตร คนทั่วไปไม่ค่อยได้มีโอกาสศึกษาพระสูตรเท่าไรนัก ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติตามแนวนี้จะเน้นการละโลก (renunciation) ดังนั้นหนทางนี้จึงเป็นแนวหลักในการปฏิบัติธรรมของนักบวช
แล้วทำไมเราถึงต้องไปบวช นั่นเป็นเพราะเราไม่ต้องการยึดติดกับโลก ไม่ต้องการยึดติดกับครอบครัว ปัจจุบันวัดในทิเบตทำหน้าที่สองอย่าง อย่างแรกคือเป็นสถานที่ให้ผู้คนปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงการหลุดพ้น สามารถละโลกได้ อย่างที่สองคือเป็นสถานที่เพื่อการศึกษาเล่าเรียน บางคนมาอยู่วัดเพียงเพื่อมาบวชเรียนเท่านั้น ไม่ได้มีปณิธานเพื่อการหลุดพ้น แต่ไม่ว่าจะด้วยปณิธานใด นักบวชจะต้องศึกษาพระสูตรเป็นสำคัญ
หนทางในการศึกษาพระธรรมแบบที่สองเรียกว่า “ตันตระ” (Tantra) เป็นการตั้งปณิธานที่จะดำรงอยู่ในโลก ไม่ละโลก ตั้งใจเปลี่ยนโลกให้เป็นพุทธเกษตรซึ่งเป็นสวรรค์ของพระพุทธเจ้า อากาศร้อนก็งดงาม อากาศเย็นก็เป็นสิ่งที่งดงาม ทุกอย่างเป็นลักษณะของพระพุทธเจ้าที่เราปฏิบัติบูชา เมื่อเราเห็นภูเขา เราก็คิดว่าภูเขานั้นเป็นพุทธเกษตรของพระองค์ การปฏิบัติในสายนี้จะเน้นการสวดมนตรา เน้นการบริกรรมภาวนาเพื่อเปลี่ยนจิตของเราให้เป็นเสมือนจิตของพระพุทธเจ้า นั่นคือ เน้นการเปลี่ยนโลก (transformation) ผู้ที่ปฏิบัติในทิเบตจริงๆ แล้วจะปฏิบัติแนวนี้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือนักบวชก็ตาม
หนทางในการศึกษาพระธรรมแบบสุดท้ายคือ “ซกเช็น” (Dzogchen) เป็นหนทางพิเศษที่สอนเฉพาะบุคคล ไม่เปิดให้คนทั่วไปได้ปฏิบัติ ในอดีตแทบจะไม่มีใครได้ฝึกฝนหรือศึกษาหนทางนี้เลย นอกจากผู้ที่ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของคุรุทางด้านซกเช็นแล้วคุรุมอบคำสอนนี้ให้ ทุกวันนี้ถ้าเราไปถามคนทิเบตเกี่ยวกับซกเช็น พวกเขาส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้
แต่หลังจากที่ทิเบตเสียเอกราช พระอาจารย์หลายท่านได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกตะวันตก ท่านคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสอนพุทธวัชรยานในทุกแง่มุม เพราะนักวิชาการทั่วไปในโลกตะวันตกมีความต้องการที่จะเข้าใจ ถ้าไม่สอน พวกเขาก็ไปศึกษาเอง แต่การศึกษาเองมีโอกาสที่จะเข้าใจผิดได้ง่าย ดังนั้นพระอาจารย์ในปัจจุบันจึงเริ่มสอนซกเช็นกันและมีการเขียนหนังสือออกมาด้วย
หนทางซกเช็นนี้ เราพบเฉพาะในสองนิกายเท่านั้น คือนิกายเพิน พุทธเพิน หรือยุงตรุงเพิน (Yungdrung Bon) และนิกายญิงมาปะ (Nyingmapa) ซึ่งเป็นนิกายโบราณทั้งคู่ โดยเพินมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่ประมาณ ๑๘,๐๐๐ ปีก่อน ตั้งแต่สมัยพุทธกาลของพระพุทธเจ้าเติมปา เชนรับ ส่วนญิงมาปะมีประวัติความเป็นมาเมื่อประมาณ ๑,๒๐๐ ปี เริ่มก่อตั้งโดยพระคุรุปัทมสัมภวะ ในศตวรรษที่ ๘ ที่มีการเผยแผ่พระธรรมจากอินเดียมาสู่ทิเบต
ยุงตรุงเพินเป็นนิกายที่ถูกทำร้ายมาตลอดด้วยอคติที่ฝังรากลึก ซึ่งกำเนิดมาด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่ถ้าเราจะสรุปสั้นๆ คือเพินเป็นศาสนาที่มีมาตั้งแต่โบราณกาลและได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของชาวทิเบต ทุกวันนี้ประเพณีต่างๆ ของทิเบตได้นำมาจากพระพุทธศาสนานิกายนี้ทั้งสิ้น เช่น การมอบผ้าคาตัก การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ การปั้นตอร์มา การกำจัดศพด้วยการบริจาคเป็นทานแก่แร้ง ซึ่งล้วนเป็นประเพณีดั้งเดิมที่ไม่เคยมีมาก่อนในอินเดีย แต่มีอยู่แล้วในทิเบตก่อนศตวรรษที่ ๗
ในนิกายยุงตรุงเพินและญิงมาปะ คำสอนซกเช็นเป็นคำสอนสูงสุดในบรรดาเก้าขั้นตอนของการศึกษาและปฏิบัติธรรม กิจกรรมภาวนาในครั้งนี้เน้นซกเช็น การศึกษาของเราจึงเป็นการข้ามขั้น ซึ่งที่จริงแล้วในอดีตเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ที่เราฝึกได้เป็นเพราะเราอยู่ในโลกสมัยใหม่ สังคมสมัยใหม่มีความซับซ้อนและมีปัญหามาก ดังนั้นการฝึกซกเช็นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะทำ ขณะนี้สังคมกำลังแตกแยกโลกกำลังเสื่อมโทรม ถ้าเราไม่เปลี่ยนทัศนคติ เราจะไม่สามารถไปรอดได้
อย่างไรก็ตาม ถึงเรามาเริ่มฝึกซกเช็นกันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะขึ้นไปที่ขั้นที่เก้าเลย เราต้องเริ่มด้วยการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับเปลี่ยนจิตใจของเราก่อน เราอาจจะเป็นพุทธเถรวาทหรือเราอาจไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นพุทธ แต่เราสามารถรับคำสอนนี้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ทำให้จิตใจของเราใหญ่ขึ้น และทำให้เรามีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับธรรมชาติ รวมถึงจิตของเราเอง
จาก fb :
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.678236615593469.1073742067.159287580821711&type=3https://www.facebook.com/1000tara/