แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น
ซิมเก็ง
ฐิตา:
คำถามต่อมา ทำไมจึงเกิดขึ้นหรือทำไมเราต้องเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร เนื่องจากมิจฉาทิฐิ ความสับสน อันเกิดจากอวิชชา อวิชชาทำให้เรามองโลกตามโลกียะวิสัย และยึดถือว่าสิ่งเหล่า นั้นเป็นตัวตน เป็นความจริงจัง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนความฝัน เป็น อนิจจัง เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เวลาเราฝันดี เราก็มีสุข อารมณ์ของเราก็คล้อยตามสิ่งที่เราฝัน ถ้าเราฝันร้ายเราก็จะเกิดความกลัวหรือกังวล เราได้ให้ความรู้สึกนั้นในภาคความฝัน แต่เมื่อ เราตื่นขึ้นมา เราก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นจริง วัฏฏะสงสารก็เหมือนกับตัวเราอยู่ในภาคฝัน สำหรับสรรพสัตว์ที่มีปัญญาอยู่ในโลกียะวิสัยจึงยังคงต้องเวียนว่ายอยู่ในกง ล้อของวัฏฏะต่อไป เพราะยังคงยึดถือความฝันว่าเป็นจริงอยู่ นั้นคือหลงอยู่ในมิจฉาทิฐิ ไม่ว่าภาคของ ความฝัน หรือ ภาคของการตื่นนั้นเกิดขึ้นที่จิต
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่พยายามปลุกจิตให้ตื่นนั่นเอง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ใจเป็นเอก ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ธาตุของพ่อ และธาตุของ แม่ผสมกันเป็นช่วงที่จิตกำลังจะเข้าสู่กาย เริ่มประกอบธาตุรวมกัน จิตของทารกยังเฉยอยู่ และต่อมาจิตก็เริ่มสั่งการให้มีการเคลื่อนไหว นั่นคือจิตได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ของมันแล้ว กาย วาจา ใจ แม้จะต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ กาย วาจา จะไม่สามารถทำการใดๆได้ถ้าใจไม่สั่ง กายกรรม วจีกรรมจะไม่เกิดถ้ามโนกรรมไม่เกิด ดังนั้นสภาพและภพภูมิต่างๆ จึงเกิดขึ้นจาก ปริมาณอวิชชา ของจิต โดยธรรมชาติแล้ว จิตทุกดวงมีความเป็นพุทธะอยู่ แต่พุทธะในจิตไมส ามารถส่องแสงเปล่งประกายออกมาได้เนื่องด้วยเจ้าของ ดวงจิตยังคงไม่เห็นถึงธรรมชาต ิแท้ของอวิชชา เมื่อใดที่สามารถเห็นถึงธรรมชาติแท้ของอวิชชาว่าว่างเปล่า เมื่อนั้นประกาย แสงแห่งพุทธะก็ส่องสว่างออกมาทันที บทความของ Heinrich Dumoulin ในชื่อ Buddhism in the World ที่นิวยอร์ค เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้กล่าวไว้ว่า
การเป็นพุทธะหมายถึงการดำรงอยู่ที่ใดก็ได้ด้วยชีวิตที่รื่นเริง เบิกบาน นับตั้งแต่ชั่วโมงเช้าที่คุณตื่นขึ้น จนถึงชั่วโมงสุดท้ายที่เข้านอน แต่การจะเรียกชีวิตที่รื่นเริงยินดีในขณะที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ไม่มีเงินจะใช้ หรือมีความเจ็บป่วยในบ้านเรือน และเจ้าหนี้มาเคาะประตูบ้านทวงหนี้ เป็นสิ่งที่ไร้สาระ
โดยความเห็นของข้าพเจ้าแล้วพุทธภาวะหมายถึงการดำรงอยู่ที่ใดก็ได้ด้วยชีวิต ที่รื่นเริง เบิกบานตลอดเวลา แต่เพิ่มคำว่า โดยปราศจากทุกข์ การไม่ใส่เสื้อผ้าเพราะ ไม่ยอมใส่ หรือ ไม่หามาใส่ หรือไม่มีทางหามาใส่ มันเป็นประเด็นที่ต่างกัน การไม่มีเงินใช้ก็เช่นกัน หาไม่ได้กับ ไม่ได้หา หรือหาได้น้อยแต่ใช้มาก มันสัมพันธ์กับการที่เจ้าหนี้มาทวงหนี้ การเป็นหนี้เป็นทุกข์ ในโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เป็นหนี้อยู่แน่นอนพุทธะภาวะไม่เกิด และเช่นกันสภาวะการเป็น หนี้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตัวเกินพอดี พุทธภาวะเกิดขึ้นได้ในสภาพที่กายเจ็บป่วย กายป่วยจิต จิตป่วยไปด้วยพุทธะภาวะย่อมไม่บังเกิด
แต่ถ้ากายป่วยจิตไม่ป่วยพุทธะภาวะก็บังเกิด การมีหรือ ไม่มีของเสื้อผ้า เงินทอง ไม่ได้แตกต่างกันเลยในพุทธภาวะ พระพุทธเจ้าอยู่ในพุทธะภาวะ ตลอดเวลาแต่พระพุทธเจ้าก็อยู่ในเพศภิกขาจารตลอดเวลาเช่นกัน เมื่ออวิชชาว่างเปล่า หนทางแห่งความสิ้นอวิชชาก็ว่างเปล่าด้วย เมื่ออวิชชาว่างเปล่าเราก็อยู่เหนือความเป็นไป ของวงล้อแห่งวัฏฏะสงสาร เมื่อเราอยู่เหนือวงล้อแห่งวัฏฏะสงสาร ความแก่ ความตายก็ไม่มี และไม่จำเป็นต้องมีหนทางแห่งความสิ้นไปของความแก่ ความตาย เพราะเมื่อพุทธะจิตบังเกิด อวิชชาว่าง การเกิดก็ว่าง การแก่ การตายก็ว่าง
ไม่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีฌาน ไม่มีการบรรลุ เพราะไม่มีอะไรให้บรรลุ
ฐิตา:
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัจจวัคคีย์ ที่เรียกว่าธรรมจักรกัปปวัตนสูตร คือได้แสดงธรรมชาติแท้ของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อได้เห็นธรรมชาติแท้ของอริยสัจ 4 แล้ว ปัจจวัคคีย์ ก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ อริยสัจข้อแรก
ทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็น ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใดก็หนีไม่พ้นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นภูมิที่ต่ำ เป็นสัตว์ใน นรกภูมิ ต้องทนทุกข์กับสภาพร้อนหนาว เปรตต้องทุกข์ที่มีการหิวโหยอยู่ตลอดเวลา สัตว์ เดรัจฉานมีแต่การเอารัดเอาตัวรอดมีความโง่เป็นหลัก ในอีก3ภูมิที่เป็นภูมิที่สูง ก็ยังคงไม่พ้น จากทุกข์ เทพแม้จะไม่ต้องรับรู้ถึงความหิวโหย เจ็บปวด การแก่ แต่เทพก็ยังคงมีทุกข์ ถึงการ หมดอายุขัยของเทพ เมื่อบุญกุศลของเทพหมดก็จะตายจากภูมิของความเป็นเทพไปเกิดใหม่ ถึงแม้เทพท่านจะรู้หรือไม่รู้ว่าจะต้องไปเกิดใหม่ที่ไหนเวลาใด แต่ก็ไม่สามารถควบคุม หรือหยุดสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้นั่นคือ ทุกข์ของเทพ
อสูร ก็มีทุกข์ มีความอิจฉาริษยา กร้าวร้าว การใช้ความรุนแรง ส่วนทุกข์ของมนุษย์ เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การได้ยศเสื่อมยศ การเกิดเป็นมนุษย์โดยมีอาการครบ 32 ประการถือเป็นโชคดี เพราะมีแต่มนุษย์ เท่านั้นที่มี โอกาสปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้นได้ สวรรค์สะดวกสบายทุกประการ หลงติดจึงไม่แสวงหา ทางหลุดพ้น อสูร เอาแต่รบราฆ่าฟัน วางแผนการรบจนไม่มีเวลานึกถึงความหลุดพ้น เดรัจฉาน โง่จนไม่มีความคิดใดๆ เปรต ดิ้นรนหาแต่กินไม่นึกถึงเรื่องการหลุดพ้น นรก ทุกข์ทรมานมาก เกินไปจนไม่นึกถึงการหลุดพ้นเช่นกัน ถ้าแบ่งประเภททุกข์แล้วจะได้ประเภทใหญ่ๆ 3 ประเภท คือ
1 ทุกข์เกิดจากทุกข์ ดังตัวอย่างทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บปวด ความเจ็บปวดเป็นทุกข์อยู่แล้ว ความกระวนกระวาย ความกังวล ความเศร้าโศก ความกลัว เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเนื่อง จากความ เจ็บปวดเป็น ทุกข์ในทุกข์
2 ทุกข์เกิดจากความไม่เที่ยงแท้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทุกคนยินดีปรีดา เป็น สุขอย่างมากมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยกัน ตามแต่ตัวเองพอใจ แต่มาในปีนี้เงินทอง ทรัพย์สิน ที่เคยมีได้อันตรธานหายไปหมด ความเสียใจ ความเศร้าโศก ความทุกข์ได้เกิดขึ้น เหตุการณ์ เช่นนี้มิใช่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่นานเป็นปี แต่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ในวันหนึ่งๆ เกิดขึ้นได้นับ ครั้งไม่ถ้วน
3 ทุกข์จากผลแห่งกรรม ปลูกถั่วได้ถั่ว ปลูกงาได้งา ปลูกถั่วเป็นกรรม ผลของกรรม คือ ถั่ว เช่นกันสภาพความเสื่อมของร่างกายก่อนเวลาอันควร เป็นผลของกรรม ที่เราได้รับ มลพิษทั้งหลาย กรรมคือเราสร้างมลพิษให้ร่างกาย ผลคือร่างกายเสื่อมก่อนเวลา
สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ 1 ความอยากได้ 2 ความอยากเป็น 3 ความไม่อยากได้ อยากเป็น 4 ความอิจฉาริษยา 5 ความเย่อหยิ่งถือตัว
นิโรธ ผลของการดับทุกข์ คือ พระนิพพาน อันเป็น ผลของการปฏิบัติ
อริยสัจข้อที่ 4 มรรค วิธีดับทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนวิธีดับทุกข์ ไว้ถึง 84000 วิธี หรือ 84000 พระธรรมขันธ์ พระพุทธองค์มิใช่ให้พุทธสาวกทั้งหลายปฏิบัติทั้ง 84000 วิธีในคนเดียว แต่ให้เลือกวิธีที่เหมาะสำหรับตนเองที่สุดแม้เพียงวิธีเดียวก็รู้แจ้งเห็น จริง
ดังเช่นพระอรหันต์จุลปาฎก ก่อนการบรรลุท่านเป็นผู้ที่มีความจำน้อยที่สุด ท่านไม่สามารถ จำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เลยแม้แต่ข้อเดียว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กราบ ทูลต่อพระพุทธองค์ว่าท่านนั้นโง่มากจำคำสอนของพระองค์ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า คนที่รู้ว่าตนเองโง่ไม่ใช่คนโง่ แต่คำสอนทั้งหลายไม่เหมาะต่อท่าน พระพุทธเจ้าได้ให้ท่าน ปฏิบัติเพียงอย่างเดียวให้ท่านกวาดบริเวณอาราม ในขณะที่กวาดก็ให้ท่องว่ากวาดขยะออกให้ หมด ท่านได้เพียรปฏิบัติตามคำสอนเพียงข้อเดียว จนในที่สุดความรู้แจ้งก็บังเกิด กวาดขยะ ออกจากจิตจนหมด จิตท่านก็ว่างเปล่า ความสว่างในจิตก็เกิด ท่านได้เป็นพุทธสาวกที่สำคัญ ในการเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าได้ยกย่องพระอรหันต์จุลปาฎกอย่างมาก ที่รู้ตนเองว่าโง่ความจำไม่ดี)
คนโง่ที่รู้ตัวเองว่าโง่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม แต่คนที่ฉลาด และยกตัวเองว่าฉลาดตลอดเวลานั้นเป็นพิษเป็นภัยอย่างมหันต์ต่อสังคมโลก คนฉลาดที่ เย่อหยิ่งจะไม่พอใจต่อทุกสิ่งและต้องการได้ในทุกสิ่ง ส่วนคนโง่ที่อวดฉลาด เป็นอันตราย ต่อตนเองและคนรอบข้าง ด้วยคนโง่แต่อวดฉลาดต้องการกระทำในทุกสิ่ง ดังที่อดีตเจ้าคณะ ใหญ่สงฆ์จีนนิกายรูปที่ 6 พระมหาคณาจารย์ธรรมสมาธิวัตรฯพระอาจารย์ ของข้าพเจ้า ได้สอนข้าพเจ้าไว้ว่า เจ็กฮวบทง บ้วนฮวบทง แจ้งธรรมหนึ่ง ธรรมทั้งหมื่นก็แจ้ง พระอริยสัจ 4 ประการสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปสู่ความหลุดพ้น และเช่นกัน ธรรมชาติแท้อันว่างเปล่าของ สรรพสิ่ง ไม่ยกเว้น แม้ความหลุดพ้นก็ว่างเปล่า ดังนั้นพระอริยสัจ 4 ก็ว่างเปล่า เมื่อเห็นใน ความว่างเปล่าของอริยสัจแล้วยังจะมีอะไรให้บรรลุอีก
ฐิตา:
พระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุดำเนินตาม “ปรัชญาปารามิตา” จิตย่อมไม่สับสนมืดมัว เพราะจิตไม่สับสนมืดมัว จึงไม่มีความกลัว อยู่เหนือความ หลอกลวง มีพระนิพพานเป็นที่สุด
พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ทรงไว้ซึ่ง มหาเมตตากรุณา ในวิมลเกรียติสูตรได้กล่าวไว้ว่า”โรคของสัตว์โลกเกิดจากกิเลส โรคของ พระโพธิสัตว์เกิดจากมหาเมตตา” พระโพธิสัตว์มุ่งรักษาโรคทั้งหลายทั้งปวง ทั้งทางกาย และใจแก่สรรพสัตว์ เหตุใดเราจึงเรียกพ่อแม่ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ของลูก เมื่อลูกเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยของลูกคือความเจ็บป่วยของพ่อแม่ และถ้าพ่อแม่ลูกเจ็บป่วยพร้อมกัน พ่อแม่จะ ไม่รักษาตนเองก่อนที่จะรักษาลูก ความเจ็บป่วยของพระโพธิสัตว์เกิดจากต้องการช่วยสัตว์โลก ต้องการให้สัตว์โลกได้รับความสุข พระโพธิสัตว์อยู่เหนือความทุกข์ทั้งมวล ที่เป็นทุกข์อยู่ ไม่ใช่ ทุกข์ของตนแต่เป็นทุกข์ของสัตว์โลก เพราะสัตว์โลกเจ็บป่วย ตนจึงเจ็บป่วย
ในบรรดาธรรม ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนแก่ชาวโลก ศาสตร์แห่งการแพทย์ถือว่าเป็นสุดยอด ศาสตร์แห่งการ แพทย์ คือศาสตร์ที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงใช้อยู่ตลอดเวลา ทศบารมี 10 ประการ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา อุบาย ปณิธาน พละ ฌาน เกิดขึ้นพร้อมกันทันที่ เมื่อได้มีการ ปฏิบัติศาสตร์แห่งการแพทย์ ดังนั้นบุคคลที่มุ่งบำบัดทุกข์ทั้งทางกาย และใจของชาวโลกโดย หวังสิ่งตอบแทน เพียงความสุขของชาวโลกบุคคลนั้นจึงเป็นพระโพธิสัตว์ที่จริงแท้ พระโพธิสัตว์ที่ปฏิบัติตนเช่นนั้นได้ ก็ด้วยเห็นแจ้งถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เป็นความว่างเปล่า
แพทย์ในโลกียะวิสัยเมื่อเจ็บป่วยต้องรักษาตนเองให้หายก่อนจึงจะรักษาผู้อื่น ต่อไป แต่แพทย์ โพธิสัตว์ถึงแม้ตนจะเจ็บป่วยอยู่ก็จะรักษาผู้อื่นไปเรื่อยๆ เพราะท่านทรงเห็นแจ้งในธรรมชาติ ความว่างเปล่า ของความเจ็บป่วยนั้น และด้วยมหาเมตตาที่ท่านมีอยู่ โดยปรกติแล้ว คนทั่วโลก กลัวความมืด ในความมืดไม่สามารถเห็นสิ่งใด ใจก็คอยระแวงว่าจะมีภัยอันตรายอย่างนี้ อย่างนั้นเกิดขึ้น คนที่ไม่กลัวความมืดคือคนที่นอนหลับในช่วงที่นอนหลับคือช่วงที่ใจว่างที่สุด จึงไม่กลัวความมืด เช่นกัน เมื่อใจว่างแม้อยู่ในที่มืดใจก็สว่าง พระโพธิสัตว์ จิตของท่านว่าง เปล่า ท่านจึงไม่มีความมืด ความสว่าง จิตของพระโพธิสัตว์ว่างเปล่า ท่านจึงไม่มีสิ่งใด ต้องกลัว
อยู่เหนือความหลอกลวง ความหวาดระแวง มายาภาพเกิดจากการปรุงแต่งของจิต นั่นคือเท็จและจริงเกี่ยวพันกันอยู่ตลอดเวลา และนั่นก็คือธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่งอันว่างเปล่า ดังในประวัติปรมาจารย์นิกายเซ็นองค์ที่ 6 ของประเทศจีน ท่านฮุ่ยเล้ง มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า ร่างกายคือต้นโพธิ์ จิตใจคือกระจกเงา ต้องหมั่นเช็ดถูทุกเวลา อย่าให้ฝุ่นละออง มาเกาะติด นั่นคืออภิญญาจิตแต่มิใช่สุดยอดแห่งนิพพาน ท่านฮุ่ยเล้งได้แก้บทข้างบนว่า
ต้นโพธิ์นั้นมิใช่โพธิ์ อีกทั้งกระจกเงาก็ไม่มี จะต้องเช็ดถูอะไร มีอะไรให้ฝุ่นละอองเกาะ พระนิพพานบังเกิดขึ้นในจิตนี้ ท่านฮุ่ยเล้งได้บรรลุเห็นแจ้ง และได้เป็นปรมาจารย์ นิกายเซ็น องค์ที่ 6 ได้ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาอย่างมากมาย พระนิพพาน มีผู้นำไปแปลความ หมายว่า การดับสูญ เป็นความเข้าใจความหมายที่แคบเกินไป การดับสูญกิเลสของปัจเจก บุคคลเป็นพระนิพพานในความหมายนี้ การสูญสิ้นของกิเลสพร้อมกับ การจรรโลงโลก ธรรมชาติ สังคม ให้คงอยู่ เพื่อสรรพสัตว์ได้พบบรมสุข อยู่ในสันติภาพอันนิรันดร์ มีโอกาสเข้า สู่พุทธเกษตร นั่นจึงเป็นพระนิพพานอันแท้จริง
ฐิตา:
พระพุทธเจ้าทั้ง 3 กาลด้วยเหตุดำเนินตาม ปรัชญาปารามิตา จึงได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน
พระพุทธเจ้าทั้ง 3 กาล ด้วยความหมายตามตัวอักษร 3 กาลคือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ความหมาย ในทางพระสูตรนี้ หมายถึงกาลไม่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าในความหมาย นี้มิใช่ หมายถึง พระศากยะมุนี พุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ในจำนวนสัตว์โลกที่นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ ก่อนมีประวัติศาสตร์นานนับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าก็ได้บังเกิดขึ้นมานับไม่ถ้วนแล้วเช่นกัน ด้วยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่และเคยมีอยู่ในโลกนี้ล้วนมีความเป็นพุทธะ อยู่ในตัว และพร้อม ที่จะบรรลุมรรคผลได้ตลอดเวลา พระทีปังกรพุทธเจ้าในอดีต พระศากยะมุนีพุทธเจ้าในปัจจุบัน และศรีอริยเมตตรัยพุทธเจ้าในอนาคต พระอรหันต์ทั้งปวง พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกมากมาย มนุษย์โลกในปัจจุบันในจำนวนหลายพันล้านคนย่อมมี ผู้สำเร็จมรรคผลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการปฏิบัติตนของชาวพุทธทั้งหลายควรวางตนให้ถูกต้องเหมาะสม และมีทัศนะคติที่ ถูกต้องต่อชาวโลก ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังผู้อื่นเป็นพุทธะ และปฏิบัติต่อตนเอง ดังตนเองเป็น พุทธะเช่นเดียวกัน เราเชื่อมั่นในพระธรรมเช่นไรเราก็เชื่อมั่นว่าชาวโลก ทุกผู้คนเป็นผู้ให้ธรรมะ แก่เราเช่นกัน อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือความรู้แจ้งอันสูงสุด ไม่มีความรู้ใดสูงกว่า พระ พุทธเจ้าท่านหยิบก็ขึ้น ปล่อยก็วาง ไม่มีสิ่งใดสัมผัสไม่ได้ และก็ไม่มีสิ่งใดยึดติดได้ พร้อมทั้งมอบหนทางความเป็นพุทธะให้ชาวโลกทั้งหลาย จึงสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จึงทราบว่า “ปรัชญาปารามิตา”เป็นมหาศักดาธารณี เป็นมหาวิทยาธารณี เป็นอนุตรธารณี เป็นอสมธารณี สามารถดับสรรพทุกข์
ธารณีหรือมนตร์หรือคาถา คือ คำศักดิ์สิทธิ์ คำสวด คำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกคำถือเป็น คำศักดิ์สิทธิ์ มหาศักดาธารณี คือคำศักดิ์สิทธิ์ทรงฤทธิ์อำนาจในการทำลายอวิชชาทั้งมวล เข้าสู่สภาวะสูงสุด คือพระนิพพาน มหาวิทยาธารณี คือ วิชาการอันจริงแท้แน่นอน ไม่มี กาลเวลา เพราะทันสมัยอยู่เสมอไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่ดาวอังคารแล้ว วิทยาการนี้ ก็ยังคงเป็นยานพาหนะสำคัญนำพาเราไปสู่ฝั่งนิพพานตลอดเวลาตลอดกาล ไม่เคยเสื่อม สภาพหรือชำรุดใช้การไม่ได้ อนุตรธารณี คือ ธารณีนี้ทรงความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไม่มีธารณี ใดสูงกว่า อสมธารณี คือ ไม่มีธารณีใดเทียบเท่า
สัจจะธรรมไม่ผิดพลาด ฉะนั้นจึงประกาศ “ปรัชญาปารามิตาธารณี”ดังนี้
ตายาถา โอม คะเต คะเต ปารา คะเต ปารา สัง คะเต โบ ธิ โซ ฮา
คำสวดนี้เป็น คาถาหัวใจของปรัชญาปารามิตาสูตร เลียนคำมาจากสันสฤตโบราณ ฉะนั้นจึง ไม่ขอแปลความหมาย บทธารณีในภาษาจีนได้จบเพียงเท่านี้ แต่ในสันสฤตได้มีอีกประโยคว่า ได้กล่าวปรัชญาปารามิตาสูตรจบแล้ว ในภาษาธิเบตมีการบรรยายที่มาของพระสูตร และ บท สรุปของพระสูตรนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า “ดูกรกัจจนะโลกนี้ติด อยู่กับสิ่งสองประการ คือ “ความมี”และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย ในโลกตามความเป็นจริงและดัวยปัญญา “ความไม่มี”อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น ดูก่อนกัจจนะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น”
เมื่อพระอัสสชิ ได้รับคำขอร้องจากพระสารีบุตรให้ย่อคำสอน ของพระพุทธเจ้าลงในคาถาเดียว ท่านไม่กล่าวถึง อริยสัจ 4 หรือ มรรคมีองค์ 8 แต่ท่านกล่าว ถึงความว่างเปล่าของปฎิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้งที่สุดเช่นกันท่านนา คารชุนโพธิสัตว์ ก็ได้ใช้ธรรมนี้ฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้น มาอีกครั้งหลังจากถูกศาสนา อื่นโจมตีจนแทบสูญสลาย ไปจากโลก การรู้ศูนยตาเป็นปัญญาสูงสุด การบรรลุศูนยตานี้ คือ ตรัสรู้ ปัญญา คือ พ่อ เมตตากรุณา คือ แม่ โดยความรักของพ่อและแม่ บุคคลก็จะบรรลุความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์ ปัญญาที่ปราศจากความศรัทธา ความรู้ที่ปราศจากความรัก เหตุผลที่ปราศจากความกรุณา นำไปสู่ความสูญเปล่า
ศรัทธาที่ปราศจากเหตุผล ความรักที่ปราศจากความรู้ ความกรุณา ที่ปราศจากปัญญา นำไปสู่ความยุ่งยาก เสื่อมสลาย แต่ในที่ใดที่ปัญญา กรุณา และความรัก อันลึกซึ้งรวมตัวกัน ในที่นั้นย่อมมีความสมบูรณ์และบรรลุความตรัสรู้อันสูงสุด การบำเพ็ญ เพียรตามปรัชญาปารามิตานี้ มิใช่ให้แกล้ง เห็นธรรมชาติแท้คือความว่างเปล่า เพื่อเป็นข้ออ้าง ให้ไม่ทำอะไรเลย เกียจคร้านต่อหน้าที่ การงาน โดยคิดว่าเมื่อว่างแล้ว จะต้องทำอะไรอีก ทำไปทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างว่างหมด
การคิดเช่นนั้นผิดอย่างมหันต์ การรู้แจ้งในปรัชญา ปารามิตา เพื่อให้เกิดปัญญารู้สภาพที่แท้จริงของสรรพสิ่ง เมื่อเรารู้ธาตุแท้ของเพื่อนเรา ย่อม ยินดี รักใคร่ สุขใจ ในความเป็นเพื่อนกันและเต็มใจที่จะกระทำการเพื่อเพื่อน เช่นกันการรู้แจ้ง ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพื่อให้เกิดความรักต่อสรรพสิ่ง ยินดีและเต็มใจประกอบการใดๆ เพื่อสรรพสิ่งให้ยืนยงคงอยู่ สรรพสิ่งอยู่ที่ใจ ความรู้แจ้งอยู่ที่ใจ การทำการงานด้วยใจที่รู้แจ้ง ความเบื่อหน่าย ความรู้สึกถูกบังคับให้ทำย่อมไม่เกิดขึ้น เราจะทำงานด้วยความเป็นสุข
พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้วก็ทำงานของพระองค์อย่างขยันขันแข็ง ไม่ยอมหยุดจน ถึงวาระสุดท้ายก่อนปรินิพพานก็ยังปฏิบัติงานอยู่โดยสอนบรรดาสาวกที่ชุมนุม กันอยู่ว่า
“ความเสื่อมมีอยู่ในสังขารทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
แล้วจึงเข้าสู่ปรินิพพานการ หลอกตัวเองว่าได้เห็นแจ้งในความว่างเปล่าแล้วไม่ทำอะไรเลยนั่นเป็น เดรัจฉานจิต อยู่รอความตาย มิใช่รู้แจ้งในนิพพานจิต ศูนยตาสภาวะ หรือ สภาวะแห่งความว่าง เปล่าจึงเป็นสภาวะแห่งเอกภาพของสังคมโลก สันติภาพอันนิรันดร บรมสุขของมนุษย์ ในสภาพ ที่จิตและกายยังคงยึดเหนี่ยวกันอยู่ และเป็นผู้ควบคุมวงล้อแห่งวัฏฏะของตน เมื่อจิต และกาย แยกจากกันแล้ว
จากคำสอนพระมหาคณาจารย์โพธิ์แจ้งและมหาวัชราจารย์
โซนัมรินโปเช่
หนังสือการพ้นทุกข์ของมหายาน หนังสือพุทธประวัติระหว่าง2500ปี
หนังสือพุทธสันติวิธีทฤษฎีเชิงโครงสร้าง
โดย คุณมดเอ็กซ์
:13: http://www.sookjai.com/index.php?topic=3445.0
กระตุกหางแมว:
ยาวจัีง...ตาลาย :42: :40:
อนุโมทนาครับพี่แป๋ม :13:
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version