ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวประวัติ หลวงพ่อลี วัดอโศการาม  (อ่าน 2344 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ แก้มโขทัย

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 376
  • พลังกัลยาณมิตร 192
  • แก้มโขทัย
    • ดูรายละเอียด
    • สืบอย่างเซียน โดย พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์



ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อลี ธมฺมธโร

วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ

         หลวงพ่อลี ธมฺมธโร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ บ้านเกิดคือ บ้านหนองสองห้อง ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านนี้มีบ้านประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน แบ่งออกเป็น ๓ คุ้ม คือหมู่บ้านน้อยหนึ่ง หมู่บ้านในหนึ่ง และหมู่บ้านนอกหนึ่ง ที่หมู่บ้านนอกนี้มีวัดตั้งอยู่ พระอาจารย์ลีได้ เกิดในหมู่บ้านที่มีวัดตั้งอยู่ บ้านทั้ง ๓ คุ้มนี้มีหนองน้ำอยู่ตรงกลาง ๓ หนอง บริเวณรอบๆ หมู่บ้านมีต้นยางใหญ่ขึ้นอยู่ล้อมรอบนับเป็นสิบๆ ต้น ทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านมีเนินบ้าน เก่าๆ มีพระอุโบสถร้างๆ ๒ แห่ง ปรากฏว่าผีดุมาก บางคราวถึงกับมาพาเอาคนไปอยู่ที่ศาลเจ้า สังเกตดูรู้สึกว่าจะเป็นฝีมือของขอมเป็นผู้สร้างขึ้น

         นามเดิมของหลวงพ่อลีคือ นายชาลี นารีวงศ์ เป็นบุตรของนายปาว และนางพ่วย นารีวงศ์ ปู่ชื่อจันทารี ย่าชื่อนางสีดา ตาชื่อนันทะเสน ยายชื่อนางดี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน เป็นชาย ๕ คน หญิง ๔ คน เกิดมาได้ ๙ วัน เกิดมีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ เช่นร้องไห้เสมอๆ ถึงกับโยมบิดามารดาทั้งสองได้แตกจากกันไปหลายวัน เมื่อโยมผู้หญิงออกไฟได้ ๓ วัน ตัวเองเกิดโรคป่วยบนศีรษะ ไม่กิน ไม่นอนเป็นเวลาหลายวัน เลี้ยงยากที่สุด โยมบิดามารดาไม่มีใครสามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้

         ต่อมาอายุได้ ๑๑ ปี โยมมารดาถึงแก่กรรม ยังมีน้องเล็กๆ คนหนึ่งเป็นผู้หญิง ได้เลี้ยงดูกันมา ส่วนคนอื่นๆ เขาโตแล้วต่างคน ก็พากันไปทำมาหากิน ยังเหลืออีก ๒-๓ คน พ่อลูกพากันทำนาเป็นอาชีพ พออายุได้ราว ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออกเขียนได้ สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก ช่างมัน แต่จะเรียนไปจนหมดเวลา พอดีอายุ ๑๗ ปีจึงได้ออกจากโรงเรียน

         ต่อจากนั้นมาก็คิดหาแต่เงินเท่านั้น ในระหว่างนี้เกิดมีการขัดอกขัดใจกับโยมผู้ชายบ่อยๆ คือโยมต้องการให้เราทำการค้าขายของที่เราไม่ชอบ เช่น ไปหาซื้อหมูมาขาย ซื้อวัวมาขาย เป็นต้น ถึงเวลาอยากจะไปทำบุญก็คอยขัด การงานก็คอยขัดคอเสมอ บางทีต้องการไปทำบุญกับเขาก็หายอมให้ไปไม่ กลับบอกให้ไปทำไร่ทำนาเสีย บางวันน้อยใจนั่งร้องไห้อยู่คนเดียวกลางทุ่งนา นึกแต่ในใจว่าเราจักไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้ แต่ก็ต้องอดทนอยู่ไปก่อน ต่อมา โยมบิดาได้ภรรยาใหม่คนหนึ่งชื่อ แม่ทิพย์ ตอนนี้ค่อยสบายใจขึ้นหน่อย

         เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้ออกเดินทางจากบ้านลงมาหาพี่ชาย ซึ่งมาทำงานรับจ้างอยู่ที่ตลาดหนองแซง จ.สระบุรี ทราบว่าเขาทำงานได้เงินเดือน เพราะทางการชลประทานกำลังมีการก่อสร้างประตูน้ำ พอเดือน ๑๑ ก็ได้มาพักอยู่กับพี่ชายๆ ก็ไม่พอใจ เหตุที่จะไม่พอใจนั้นก็เพราะได้บอกกับเขาว่า พี่ควรขึ้นไปบ้านบ้างซี เขาก็ปฏิเสธ ไม่อยากจะไป เราจึงหนีออกเดินทางลงมาเที่ยวแสวงหาเงิน เพราะเห็นว่าเงินเป็นของคู่กับชีวิต ในระหว่างนี้กำลังตกอยู่ในวัยหนุ่มฉกรรจ์ แต่มีความรู้สึกว่าตนของตนเองยังเป็นเด็กอยู่เสมอ เช่นมีเพื่อนฝูงแนะนำชักจูงไปเที่ยวผู้หญิง ก็ไม่สนใจ เพราะเรื่องผัวๆ เมียๆ คิดว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องของเด็ก

         ชีวิตที่ผ่านมาแล้วนั้น มีความรู้สึกนึกแต่ในใจอยู่ว่า ถ้าเราอายุยังไม่ถึง ๓๐ ปี จักไม่ยอมแต่งงานข้อหนึ่ง ข้อสองถ้าเงินไม่ติดอยู่ในกำมือถึง ๕๐๐ บาท เราจักไม่ยอมแต่งงานกับใครๆ ตั้งใจว่าเราคนเดียวมีความสามารถและมีเงินที่จะเลี้ยงดูเขาได้อย่างน้อย ๓ คนขึ้นไป เราจึงจะยอมเกี่ยวข้องกับผู้หญิง ยังมีข้อร้งเกียจอยู่อีกข้อหนึ่งคือ เวลาเป็นเด็กเริ่มรู้เดียงสา ถ้าได้เห็นหญิงตั้งครรภ์จวนจะคลอดทำให้เกิดความรู้สึกทั้งเกลียดทั้งกลัว เพราะคนทางโน้นเวลาจะคลอดบุตร มักเอาเชือกผูกบนขื่อ มือจับปลายเชือกห้อยแขวนทำการคลอด บางคนถึงกับร้องเอะอะโวยวาย หน้าบิดคอเบี้ยว บางครั้งเผอิญไปเห็นเข้าต้องเอาปิดหูปิดตา นอนไม่หลับเพราะความทั้งเกลียดทั้งกลัว เรื่องเหล่านี้มีความรู้สึกติดตา ติดใจมาตั้งแต่เด็ก

         ต่อมาอายุผ่านเข้า ๑๙-๒๐ ปี ในระหว่างนี้พอจะมีความคิดนึกในทางบุญและทางบาป แต่ก็ไม่มีนิสัยในการทำบาป ตั้งแต่เกิดมาจนถึงอายุ ๒๐ ปี ได้เคยฆ่าสัตว์ใหญ่ตายครั้งเดียวคือสุนัข เหตุที่ฆ่าสุนัขนั้นจำได้ว่า วันหนึ่งกำลังนั่งกินข้าวอยู่แล้วเอาไข่ไปหมกไว้ในกองไฟ สุนัขก็มาคาบเอาไข่ไปกินเสีย ลุกขึ้นได้คว้าไม้ตีสุนัขตายคาที่ พอสุนัขตายก็นึกเสียใจว่าเราจะแก้บาปครั้งนี้โดยวิธีไหน จึงได้ค้นหาหนังสือเก่าๆ ท่องจำคาถากรวดน้ำได้ก็มาไหว้พระสวดมนต์อุทิศส่วนกุศลให้สุนัขตัวนั้น ใจก็ดีขึ้น แต่นิสัยใจคอระหว่างนั้นก็นึกอยู่ในใจว่าเราอยากจะบวช

         พอดีอายุครบ ๒๐ ปี ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๖๘ โยมมารดาเลี้ยงถึงแก่ความตาย วันนั้นได้ไปอยู่กับญาติที่อำเภอบางเลน จ.นครปฐม พอปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้กลับขึ้นไปบ้าน โยมบิดาก็แนะนำให้บวช ขณะนั้นมีเงินติดตัวอยู่ประมาณ ๑๖๐ บาท เมื่อไปถึงบ้านใหม่ๆ โยมพี่ชาย พี่เขย พี่สาว ฯลฯ ก็พากันมากลุ้มรุมเยี่ยมเยียนถามข่าวคราวต่างๆ แล้วขอกู้เงินยืมเงินไปซื้อควายบ้าง ซื้อนาบ้าง ค้าขายบ้าง ก็ยินยอมให้เงินเขาไปตามที่เขาต้องการ เพราะตัวเองคิดจะบวช ตกลงเงิน ๑๖๐ บาท ที่มีอยู่คงเหลือเพียง ๔๐ บาท

         ถึงเวลาเทศกาลบวชนาค โยมบิดาก็จัดแจงให้บวชจนสำเร็จ ได้ทำการบวชเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ มีเพื่อนๆ บวชด้วยกันในวันนั้นรวม ๙ องค์ ทุกวันนี้พวกที่บวชวันเดียวกันมรณภาพไปบ้าง ลาสิกขาบ้าง ยังคงเหลือที่เป็นพระภิกษุอยู่เพียง ๒ องค์ คือ เพื่อนหนึ่ง กับตัวเอง เมื่อบวชแล้วก็ได้เรียนสวดมนต์และพระธรรมวินัย แล้วตรวจดูภาวะของตนและพระภิกษุอื่นๆ ในสมัยนั้น เห็นว่าไม่ไหวแน่ เพราะแทนที่จะปฏิบัติสมณกิจ กลับมั่วสุมแต่การสนุกมากกว่า เป็นต้นว่า นั่งเล่นหมากรุกกันบ้าง เล่นมวยปล้ำกันบ้าง เล่นดึงหัวไม้ขีดไฟกับผู้หญิง (เวลามีงานเฮือนดี) บ้าง เล่นนกกันบ้าง เล่นชนไก่กันบ้าง บางทีถึงกับมีการฉันข้าวเย็น พูดถึงเรื่องฉันข้าวเย็นแม้แต่ตัวเองซึ่งรวมอยู่ในสังคมเช่นนั้น ในสมัยนั้นนึกได้ว่าเคยประพฤติรวม ๓ ครั้งคือ


ครั้งที่ ๑ วันหนึ่งรู้สึกหิวได้คว้าเอาข้าวที่บูชาไว้บนหิ้งพระมาฉันเวลากลางคืน

ครั้งที่ ๒ ได้รับนิมนต์ไปเทศน์มหาชาติในงานบุญมหาชาติที่วัดบ้านโนนแดง ต.ไผ่ใหญ่ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี พอดีกัณฑ์เทศน์ของตัวเองไปตรงกับเวลาเพล พอเทศน์จบก็หมดเวลาฉัน ขณะเดินทางกลับวัด มีลูกศิษย์สะพายย่ามใส่ข้าวสุก ข้าวต้มมัด และปลาย่าง เมื่อเดินเท้ามาระหว่างทางเวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. เศษ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยและหิว จึงเรียกให้ลูกศิษย์เอาของในย่ามมาดู อดใจไม่ไหวเลยนั่งลงฉันปลาย่างกับข้าวเหนียวที่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง เมื่อฉันเสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับวัด

ครั้งที่ ๓ เข้าป่าไปทำงานลากไม้มาสร้างศาลาการเปรียญ ตกเวลากลางคืนเกิดความหิว จึงได้ฉันข้าวเย็นอีกครั้งหนึ่ง

         เรื่องเหล่านี้มิได้ทำแต่ลำพังคนเดียว เพื่อนฝูงก็ทำกันมาก แต่พากันปิดบัง ในระหว่างที่บวชอยู่ในระยะเวลานั้น ที่รู้สึกเบื่อที่สุดคือการรับนิมนต์ไปสวดมนต์คนตาย เพราะรู้สึกรังเกียจมาก ตั้งแต่เกิดมาจนอายุ ๒๐ ปี ถ้าบ้านไหนเกิดมีคนตายจะไม่ยอมไปกินข้าวกินน้ำในบ้านนั้น แม้กระทั่งคนอยู่ที่บ้านเดียวกันออกไปช่วยงานศพ เมื่อเขากลับมาถึงบ้านก็คอยสังเกตดูว่า เขาจะกินน้ำกระบวยไหน กินข้าวกล่องไหน แล้วจดจำไว้แต่ไม่พูด แล้วตัวเองจะไม่ยอมกินข้าวกินน้ำร่วมภาชนะกับคนนั้น

เมื่อบวชแล้วนิสัยนี้ก็ยังติดอยู่

         ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงอายุ ๑๙ ปี ป่าช้าไม่เคยเหยียบ แม้ญาติหรือโยมมารดาจะตายก็ไม่ยอมไปเผา วันหนึ่งได้ยินเสียงร้องไห้โวยวายในหมู่บ้าน ก็ทราบว่ามีคนตาย พอดีเห็นคนเดินถือขันพร้อมดอกไม้ธูปเทียนมานิมนต์พระไปสวด พอคนมานิมนต์เดินเข้าห้องสมภาร ตัวเองก็รีบหนี พระบวชใหม่ๆ ที่เป็นลูกน้องก็พลอยหนีตาม หนีไปแล้วก็แยกย้ายกันไปละแห่ง ปีนขึ้นต้นมะม่วงคนละต้นแล้วต่างคนต่างนิ่งเงียบ สักครู่หนึ่งพระอุปัชฌาย์ท่านตามหาไม่พบ ได้ยินแต่เสียง ท่านเอ็ดอยู่บนกุฏิ นึกกลัวอยู่อย่างหนึ่งคือลูกกระสุน เพราะพระอุปัชฌาย์ท่านชอบยิงกระสุนไล่ค้างคาวตามต้นไม้ ในที่สุดท่านก็ใช้ให้สามเณรค้นหาจนพบ ต่างคนต่างต้องลงจากต้นมะม่วง เป็นอยู่อย่างนี้จนตลอดเวลา ๒ พรรษา จึงมาตรวจค้นดูพระวินัย ก็รู้สึกยุ่งยากลำยากใจเป็นอย่างยิ่ง นึกแต่ในใจว่า เราต้องสึก ถ้าไม่สึกเราต้องหนี พอล่วงถึงพรรษาที่ ๒ จึงตั้งใจอธิษฐานว่า “เวลานี้ข้าพเจ้ายังมุ่งดีหวังดีต่อพระศาสนาอยู่ในกาลต่อไปนี้ ขอจงให้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน”

เทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่

         ต่อมาเดือนพฤศจิกายนข้างแรม ได้ไปเทศน์มหาชาติที่วัดบ้านโนนรังใหญ่ ต.ยางโยภาพ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี พอดีไปพบพระกรรมฐานองค์หนึ่งกำลังเทศน์อยู่บนธรรมาสน์ รู้สึกเกิดแปลกประหลาดในจิตขึ้นโดยโวหารของธรรมะน่าเลื่อมใส จึงได้ไต่ถามญาติโยมว่าท่านองค์นั้นเป็นใคร มาจากไหน ได้รับตอบว่า “เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ชื่อพระอาจารย์บท” ท่านได้พักอยู่ในป่ายางใหญ่ใกล้บ้านราว ๒๐ เส้น พองานเทศน์มหาชาติแล้วเสร็จก็ได้ติดตามไปดู ได้เห็นปฏิปทาความประพฤติของท่านเป็นที่พอใจ จึงถามท่านว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน ท่านตอบว่า “พระอาจารย์มั่น พระอาจารย์เสาร์ เวลานี้พระอาจารย์มั่นได้ออกเดินทางจากจังหวัดสกลนครไปพักอยู่ที่วัดบูรพา จ.อุบลราชธานี” พอได้ความเช่นนั้นก็รีบเดินทางกลับบ้าน นึกแต่ในใจว่า “เราคงสมหวังแน่ๆ” อยู่มาไม่กี่วันจึงได้ลาโยมผู้ชาย ลาพระอุปัชฌาย์ ท่านทั้งสองนี้ก็พูดจาขัดขวางทุกด้านทุกมุม แต่ได้ตัดสินใจเด็ดขาดว่า “เราต้องไปจากบ้านนี้โดยเด็ดขาด จะให้สึกก็ต้องไป จะให้อยู่เป็นพระก็ต้องไป พระอุปัชฌาย์ และโยมผู้ชายไม่มีสิทธิ์ใดๆ ทั้งหมด ถ้าขืนก้าวก่ายสิทธิ์ในตัวเรานาทีใด ต้องลุกหนีไปนาทีนั้น” ได้พูดกับโยมผู้ชายอย่างนี้ ในที่สุดโยมผู้ชายและพระอุปัฌาย์ก็ยอม เดือนอ้ายข้างแรม เวลาเพลแล้ว ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ได้ออกเดินทางพร้อมด้วยบริขารโดยลำพังองค์เดียว

เดินทางมุ่งจังหวัดอุบลราชธานี

         โยมผู้ชายได้ติดตามออกไปส่งถึงกลางทุ่งนา เมื่อได้ร่ำลากันแล้วต่างคนก็ต่างไป วันนั้นเดินทางผ่านอำเภอม่วงสามสิบพุ่งไปสู่ จ.อุบลราชธานี ได้ทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่บ้านกุดลาด ต.กุดลาด อ.เมือง อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ ๑๐ กิโลเมตรเศษ พอดีพระบริคุตฯ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายอำเภอม่วงสามสิบถูกปลดอออกจากราชการ ขี่รถยนต์ผ่านมา พบเรากำลังเดินทางอยู่คนเดียว ท่านผู้นี้ได้นิมนต์ขึ้นรถขนย้ายครอบครัวของท่าน ไปส่งถึงสนามบินจังหวัดอุบลฯ ทางไปบ้านกุดลาด บัดนี้ก็ยังระลึกถึงบุญคุณของท่านผู้นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่รู้จักกันเลย ประมาณ ๕ โมงเย็นเดินทางถึงสำนักวัดป่าบ้านกุดลาดแต่ได้ทราบว่าพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กลับมาพักอยู่วัดบูรพา

รุ่งเช้าเมื่อฉันอาหารแล้ว

         ได้เดินทางกลับมาจังหวัดอุบลฯ ได้ไปนมัสการกราบเรียนความประสงค์ของตนต่อพระอาจารย์มั่น ท่านก็ได้ช่วยแนะนำสงเคราะห์เป็นที่พอใจ สอนคำภาวนาให้ว่า “พุทโธฯ” เพียงคำเดียวเท่านี้ พอดีท่านกำลังอาพาธ ท่านได้แนะนำให้ไปพักอยู่บ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี ที่นั่นมีพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล มีพระภิกษุสามเณรราว ๔๐ กว่าองค์พักอยู่ ได้เข้าไปฟังธรรมเทศนาของท่านทุกคืน รู้สึกว่ามีผลเกิดขึ้นในใจ ๒ อย่างคือ เมื่อนึกถึงเรื่องเก่าๆ ของตนที่เป็นมาก็ร้อนใจ เมื่อนึกถึงเรื่องใหม่ๆ ที่กำลังประสบอยู่ก็เย็นใจ ทั้ง ๒ อารมณ์นี้ติดตนอยู่เสมอ

ได้พบหลวงปู่มั่น

         พอดีได้พบเพื่อนที่หวังดี ๒ องค์ได้ร่วมอยู่ ร่วมฉัน ร่วมศึกษาสนทนากันตลอดมา เพื่อน ๒ องค์นั้นคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และพระอาจารย์สาม อกิญจโน ได้พากเพียรพยายามภาวนาอยู่เสมอทั้งกลางวันกลางคืน เมื่อได้พักอยู่พอสมควรแล้วก็ได้ชวนพระอาจารย์กงมาออกเดินทางไปเรื่อยๆ ไปพักตามศาลเจ้าผีปู่ตาของหมู่บ้านตำบลต่างๆ แล้วได้เดินทางกลับไปถึงบ้านเดิม เพื่อบอกข่าวกุศลให้โยมผู้ชายทราบว่าได้พบพระอาจารย์มั่นเป็นพอใจในชีวิตแล้ว อาตมาจักไม่กลับมาตายบ้านนี้ต่อไป คือได้นึกเป็นคติในใจอยู่ว่า “เราเกิดมาเป็นคน ต้องพยายามไต่ขึ้นอยู่บนหัวคน เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามให้อยู่บนหัวพระที่เราเคยพบผ่านมา” ตอนนี้รู้สึกว่าเกิดสมหวังในความคิด ฉะนั้น จึงกลับบอกเล่าให้โยมฟังว่า “ฉันลาไม่กลับ เงินทองข้าวของใช้ส่วนตัวมอบเสร็จ ทรัพย์สินเงินทองของโยมจักไม่เกี่ยวข้องตลอดชีวิต” แต่ยังไม่เคยตัดสินใจว่าเราบวชแล้วจะไม่ยอมสึก แต่ก็นึกในใจว่า “เราไม่ยอมจนในชีวิต” โยมป้าได้ทราบเรื่องก็มาพูดต่อว่า “ท่านจะเกินไปละกระมัง” จึงได้ตอบไปว่า “ถ้าฉันสึกมา ถ้าฉันมาขอข้าวป้ากิน ขอให้ป้าเรียกฉันว่าสุนัขก็แล้วกัน”

         เมื่อได้ตัดสินใจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ ก็ได้สั่งกับโยมผู้ชายว่า “โยมอย่าเป็นห่วงอาตมา จะบวชอยู่ได้ก็ตาม จะสึกออกมาก็ช่าง อาตมาพอใจแล้วที่ได้สมบัติจากโยม ได้ทรัพย์วิเศษแล้วจากโยม คือ ตา ๒ ข้าง หู ๒ ข้าง จมูก ปากครบอาการ ๓๒ จัดเป็นก้อนทรัพย์อย่างสำคัญ แม้โยมจะให้ทรัพย์อย่างอื่น อาตมาก็ไม่อิ่มใจ” เมื่อได้สั่งโยมผู้ชายเสร็จแล้ว ก็ลาโยมผู้ชายเดินทางกลับจังหวัดอุบลฯ เดินทางไปถึงหมู่บ้านวัดถ้ำ ก็ได้พบพระอาจารย์มั่นพักอยู่ในป่า จึงได้เขาไปพักอาศัยอบรมอยู่กับท่านเป็นเวลาหลายวัน

         ต่อจากนั้นได้ดำริว่า “เราต้องสวดญัตติใหม่ ล้างบาปเก่าเสียที” เมื่อได้หารือพระอาจารย์มั่นแล้วท่านเห็นดีเห็นชอบด้วย จึงได้ทำการหัดขานนาค เมื่อเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ได้ติดตามท่านไปเที่ยวในตำบลต่างๆ ได้รู้สึกมีความเสื่อมใสท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้รับความอัศจรรย์จากท่านหลายอย่าง อาทิเช่น บางเรื่องคิดอยู่ในใจของเราไม่เคยแสดงให้ท่านทราบเลย ท่านกลับทักทายถูกต้อง ยิ่งเพิ่มความเคารพเสื่อมใสยิ่งขึ้นทุกที การทำสมาธิก็หนักแน่นหมดความห่วงใยอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง ได้อบรมอยู่กับท่านเป็นเวลา ๔ เดือน ท่านก็ได้นัดหมายให้ไปสวดญัตติใหม่ที่วัดบูรพา จ.อุบลฯ มีพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู ฐิตปญฺโญ) วัดสระปทุม จ.พระนคร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์เพ็ง วัดใต้ จ.อุบลฯ เป็นกรรมวาจาจารย์, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นผู้บรรพชาให้เป็นสามเณร ได้อุปสมบทใหม่เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ อุปสมบทแล้ว ๑ วันก็ได้ถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดคือฉันมื้อเดียว ได้พักอยู่วัดบูรพาคืนเดียวก็ได้ออกไปอยู่ป่าบ้านท่าวังหินตามเคย

พระอาจารย์มั่นและพระปัญญาพิศาลเถระ

         เมื่อพระอาจารย์มั่นและพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู ฐิตปญฺโญ) ได้เดินทางกลับ จ.พระนคร เข้าจำพรรษาวัดสระปทุม ท่านได้มอบหมายให้ไปอยู่กับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ในระหว่างนี้ได้เดินทางเที่ยววิเวกไปในสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ก็ได้เที่ยวเทศนาอบรมศีลธรรมประชาชนโดยการขอร้องของพระยาตรังฯ เจ้าเมืองอุบลฯ เมื่อจวนเข้าพรรษาได้ไปพักจำพรรษาอยู่วัดบ้านหัวงัว อ.ยโสธร พอดีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะธรรมยุตในภาคอีสาน ได้เรียกตัวพระอาจารย์มหาปิ่นกลับ จ.อุบลฯ ตกลงจึงได้อยู่จำพรรษาในตำบลนั้น มีเพื่อนอยู่ด้วยกัน ๔-๕ องค์ ในพรรษานั้นได้พากเพียรทำสมาธิอย่างเข้มแข็ง บางคราวก็นึกเสียใจอยู่บ้าง เพราะอาจารย์ผู้ใหญ่หนีไปหมด จิตบางขณะก็นึกอยากจะลาเพศ แต่หากมักมีเหตุบังเอิญให้สำนึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ วันหนึ่งเวลากลางวันประมาณ ๑๗.๐๐ น. ขณะกำลังเดินจงกรม จิตกำลังแกว่งไปในทางโลก พอดีมีผู้หญิงคนหนึ่งเดินผ่านมาข้างๆ วัด เธอได้ร้องรำเป็นเพลงขึ้น โดยภาษาว่า “กูได้เล็งเห็นแล้ว หัวใจนกขึ้ถี่ (นกทึดทือ) ปากมันหัก ร้องทึดทึอ ใจเลี้ยวใส่ปู (นกชนิดนี้ชอบกินปู)” ก็ได้จำเพลงบทนี้มาบริกรรมเป็นนิจว่า เขาว่าใส่เรา คือเราเป็นพระกำลังก่อสร้างความดีอยู่ แต่ใจมันใส่ไปในอารมณ์ของโลก ก็นึกละอายใจตนเองเรื่อยๆ มา ว่าเราจะทำใจของเราให้อยู่กับภาวะของเรา จึงจะไม่สมกับที่ผู้หญิงคนนั้นมาพูดเช่นนั้น เรื่องเหล่านี้ได้กลายมาเป็นธรรมหมด

         เรื่องอื่นๆ ยังมีอยู่อีกมาก ล้วนเป็นคติเตือนใจ ครั้งหนึ่งในเวลากลางคืนเดือนหงายได้ตกลงนัดหมายกับเพื่อนว่า เรามาเดินจงกรมกัน อดนอนทำสมาธิกัน ในพรรษานั้นมีพระเพื่อนอยู่ด้วยกันรวม ๕ องค์ สามเณร ๑ องค์ เราตั้งใจว่าจะปฏิบัติให้อยู่เหนือพวกเหล่านี้ทุกองค์ เช่น เพื่อนฉันข้าวได้ ๑๐ คำ เราจะต้องฉันได้ ๘ คำ เพื่อนนั่งสมาธิได้ ๓ ชั่วโมง เราจะต้องนั่งได้ถึง ๕ ชั่วโมง เพื่อนเดินจงกรมได้ ๑ ชั่วโมง เราจะต้องเดินได้ ๒ ชั่วโมง ทุกสิ่งทุกอย่างต้องนึกอย่างนี้ แต่รู้สึกว่าทำได้อย่างที่นึก สิ่งนี้เป็นความลับในตนคนเดียว

         อยู่มาวันหนึ่งได้พูดกับเพื่อนว่า “เรามาทดลองกันดูว่าใครจะนั่งสมาธิและเดินจงกรมเก่งกว่ากัน” จึงได้ตกลงกับเพื่อนว่า “เวลาผมเดินจงกรมให้ท่านนั่งสมาธิ เวลาผมนั่งสมาธิให้ท่านเดินจงกรม ว่าใครจะอดทนได้นานมากกว่ากัน” ถึงวาระที่เราเดินจงกรม พระองค์นั้นได้ไปนั่งสมาธิอยู่ในกุฏิใกล้ทางเดินจงกรม สักครู่หนึ่งก็ได้ยินเสียงดังโครม จึงได้เปิดประตูหน้าต่างชะโงกหน้าออกไปดู ได้เห็นเพื่อนองค์นั้นนอนหงายขาชี้อยู่ สังเกตเหตุการณ์ว่าท่านคงนั่งสมาธิขัดสมาธิเพชรแล้วเกิดง่วงนอน เลยหงายหลังหลับไป ตัวเราเองก็ง่วงเต็มที แต่ต้องอดทนให้ชนะเพื่อนให้ได้ เมื่อได้เห็นอาการของเพื่อนเป็นอย่างนี้แล้ว ก็นึกละอายใจว่า ถ้าเราเป็นอย่างนี้บ้างคงแย่ แต่ก็ดีใจว่าเราได้ชนะเขา

ออกพรรษาแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไป

         เรื่องต่างๆ ที่เล่ามานี้รู้สึกว่าเป็นคติเตือนใจได้เสมอว่าคนที่ทำอะไรไม่จริง ต้องมีสภาพอย่างนี้ พอออกพรรษาแล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันไปพักอยู่ตามป่าช้าโดยลำพังองค์เดียว ในพรรษานี้รู้สึกตัวว่า ทำจิตทำสมาธิได้ดีมาก จิตสงบอย่างละเอียดประณีต มีสิ่งแปลกประหลาดเกิดขึ้นในใจอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมาแต่กาลก่อน คือเมื่อจิตสงบได้ดีแล้ว มีอะไรๆ ผุดขึ้นต่างๆ ภาษาบาลีซึ่งไม่เคยแปลออกก็แปลได้ เช่นบทสวดมนต์พุทธคุณ หรือ ๗ ตำนานที่สวดมาก็นึกแปลได้เป็นส่วนมาก พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ย่อที่เคยสวดมาแต่กาลก่อนแปลได้เกือบหมด รู้สึกว่ามีการแตกฉานขึ้นพอสมควรในเรื่องธรรม อยากรู้อะไร ทำใจนิ่งก็รู้ ไม่ต้องใช้ความนึกคิด เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังนี้จึงได้นำเรื่องไปเล่าถวายพระอาจารย์กงมา ท่านก็ชี้แจงว่า พระพุทธเจ้าของเราก็ไม่ได้เรียนรู้มาก่อนถึงเรื่องการเรียนหรือเทศน์ พระองค์ท่านได้ปฏิบัติรู้ในใจก่อนแล้วจึงได้บัญญัติไว้เป็นพระปริยัติธรรม ฉะนั้น การรู้ของเราเป็นการไม่ผิด เมื่อได้ทราบดังนี้ ก็มีจิตอิ่มเอิบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง

เเสวงหาความสงบวิเวก

         ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นี้ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในนามว่า “พระครูสุทธิธัมมาจารย์” เมื่อวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ๒๔๙๙ ซึ่งตนของตนไม่เคยคิดนึกและไม่รู้ตัว ต่อจากนั้น เมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้ขึ้นไปเยี่ยมจังหวัดลำปาง อยากไปสร้างพระเจดีย์สัก ๑ องค์ที่ถ้ำพระสบาย เมื่อได้ไปถึงจังหวัดลำปางก็ได้ทราบว่า ได้มีต้นโพธิ์เกิดขึ้นแล้ว๓ ต้น ที่หน้าถ้ำพระสบาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ บัดนี้ต้นโตสูงแล้วก็รู้สึกดีใจมาก ในที่สุดก็ได้สร้างพระเจดีย์ไว้องค์หนึ่งแล้วบรรจุพระบรมธาตุไว้ที่ถ้ำนั้น มีเจ้าแม่สุข ณ ลำปาง คุณนายกิมเหรียญ กิ่งเทียน แม่เลี้ยงเต่า จันทรวิโรจน์ และคณะอุบาสก อุบาสิกา ได้ช่วยร่วมมือกันเป็นผู้อุปการะ พร้อมคณะศิษย์ทั้งพระและฆราวาสช่วยกันจนสำเร็จสมความปรารถนา ได้นำต้นโพธิ์อินเดีย ๑ ต้นไปปลูกไว้ที่ถ้ำด้วย ต่อจากนั้น ได้เดินทางไปเชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ ลพบุรี เที่ยวจาริกสัญจรไปในระหว่างเวลาออกพรรษาทุกปี การทำเช่นนี้ ก็เพราะได้คิดเห็นว่า การที่จะอยู่ประจำวัดเฉยๆ ก็เปรียบเหมือนรถไฟที่จอดนิ่งอยู่ที่สถานีหัวลำโพง ประโยชน์ของรถไฟที่จอดนิ่งอยู่กับที่มีอะไรบ้าง ทุกคนคงตอบได้ ฉะนั้น ตัวเราเองจะมานั่งอยู่ที่เดียวนั้น เป็นไปไม่ได้จำเป็นจะต้องออกสัญจรอยู่อย่างนี้ตลอดชาติ ในภาวะที่ยังบวชอยู่

         การประพฤติเช่นนี้ บางครั้งหมู่คณะก็ตำหนิโทษ บางคราวก็ได้รับคำชมเชย แต่ตนเองเห็นว่าได้ผลทั้งนั้น เพราะได้รู้จักภูมิประเทศ เหตุการณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีของพระศาสนาในที่ต่างๆ บางอย่างบางชนิดเราอาจโง่กว่าเขา บางอย่าง บางหมู่คณะ บางสถานที่เขาอาจดีกว่าเรา ฉะนั้น การสัญจรไปจึงไม่ขาดทุน นั่งอยู่นิ่งๆ ในป่าก็ได้ประโยชน์ ถ้าถิ่นไหนเขาโง่กว่าเรา เราก็เป็นอาจารย์ให้เขา หมู่ไหนฉลาดกว่าเรา เราก็ยอมตนเป็นศิษย์เขา ฉะนั้น การสัญจรไปมาจึงไม่เสียประโยชน์ อีกประการหนึ่ง ที่เราชอบไปอยู่ตามป่าตามดงนั้นได้เกิดความคิดหลายอย่างคือ

๑. เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ประสูติในป่า ตรัสรู้ในป่า ดับขันธ์ปรินิพพานในป่า แต่ทำไมพระองค์จึงสามารถทำความดีไปฝังไว้กลางพระมหานครได้ เช่น ได้ไปทรงขยายกิจการ พระศาสนาให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งกรุงราชคฤห์ เป็นต้น

๒. พิจารณาเห็นว่าการหลบ ดีกว่าการสู้ เพราะเรายังไม่ได้เป็นผู้วิเศษ ตราบใดถ้าเราได้เป็นผู้มีหนังเหนียว สามารถทนทานต่อลูกปืน หอก ดาบได้แล้ว เราจึงควรอยู่ในที่ชุมนุมชน ฉะนั้น จึงคิดว่าหลบดีกว่าสู้ คนที่รู้จักหลบ เขาบอกว่า “รู้จักหลบเป็นปีก รู้จักหลีกเป็นหาง” แปลความหมายว่า ลูกไก่ออกมาจากไข่ตัวเล็กๆ ถ้ามันเข้าใจหลบ มันก็ไม่ตาย มีโอกาสได้เติบโตออกปีกออกขน สามารถช่วยตนเองในกาลข้างหน้าได้ รู้จักหลีกเป็นหาง เช่นหางเสือที่วิ่งในน้ำ ถ้าคนถือท้ายรู้จักงัดหรือกด ก็สามารถนำเรือนั้นวิ่งหลบการเกยตอและหาดได้อย่างดี เรือจะหลบได้ต้องอาศัยหางเสือ ตนของตนเองเมื่อคิดได้เช่นนี้ จึงมีนิสัยชอบอยู่ป่า

๓. มานึกถึงหลักธรรมชาติ ก็เป็นสถานที่ที่สงัดสงบ ได้สังเกตเหตุการณ์ในภาวะของภูมิประเทศ เช่น สัตว์ป่าบางเหล่าเวลานอนนอนผิดกับสัตว์ในบ้าน มันก็เป็นข้อเตือนใจได้ ตัวอย่างเช่น ไก่ป่า หูตาว่องไว หางกระดก ปีกแข็ง ขันสั้น วิ่งเร็ว บินไกล ลักษณะเหล่านี้เกิดจากไหน ได้นำมาเตือนใจแล้วเกิดความคิดว่า ไก่บ้าน ไก่ป่า เป็นสัตว์ตระกูลเดียวกันแต่ไก่บ้าน ปีกอ่อน ขันยาว หางตก งุ่มง่าม มีกิริยามารยาทต่างกัน ก็นึกได้ว่า เกิดจากความไม่ประมาท เพราะสถานที่นั้นมีภัยอันตรายรบกวน จะไปทำตนเหมือนไก่บ้านก็ต้องเสร็จงูเห่าและพังพอน ฉะนั้น เวลาจะกิน จะนอน ลืมตา หลับตา มารยาทของไก่ป่าต้องเข้มแข็ง จึงจะปลอดภัยอยู่ได้ ตัวเราฉันใดก็ฉันนั้น ถ้าขืนแช่อยู่ในหมู่คณะก็เหมือนมีดเหมือนจอบปักจมอยู่ในพื้นดิน ทำให้สึกหรอได้ง่าย ถ้าถูกหินถูกตะไบขัดถูอยู่เป็นนิจ สนิมก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ใจของเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ฉะนั้น จึงชอบอยู่ในป่าเสมอมา เป็นการได้ประโยชน์ ได้คติเตือนใจหลายอย่าง

สืบอย่างเซียน เปิดแฟ้มคดีดัง พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์

          http://peemza.siam2web.com/

ออฟไลน์ แก้มโขทัย

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นไม้เล็กพริ้วไหวดั่งสายลม
  • *
  • กระทู้: 376
  • พลังกัลยาณมิตร 192
  • แก้มโขทัย
    • ดูรายละเอียด
    • สืบอย่างเซียน โดย พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์
Re: ชีวประวัติ หลวงพ่อลี วัดอโศการาม
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2010, 06:50:03 pm »
๔. มาระลึกถึงคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในครั้งแรก ซึ่งเป็นประเพณีของสมณะเป็นคำสอนที่ชวนให้คิดอยู่มาก คือครั้งแรกพระองค์ทรงสอนธรรมะก่อนพระวินัย เช่นเวลาอุปสมบทได้สอนพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วก็สอนกรรมฐาน ทั้ง ๕ มีเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น ต่อจากนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่ผู้บรรพชาอุปสมบท มีใจความอยู่ ๔ อย่าง คือ
(๑) ให้ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร แสดงตนเป็นผู้ขอ แต่พระองค์ไม่ให้แสดงตนเป็นคนยากจน เช่น เขาให้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น

(๒) พระองค์ทรงสอนให้ไปอยู่ในที่สงัด ที่เรียกว่า “รุกขมูลเสนาสนะ” มีบ้านร้าง สูญญาคาร หิมมิยัง เงื้อมผา คูหาถ้ำ สถานที่ต่าง ๆ เหล่านี้ มีปัญหาว่าพระองค์ทรงเห็นประโยชน์อะไรหรือ จึงได้สอนเช่นนั้น แต่ตัวเองก็นึกเชื่อออยู่ในใจว่า ถ้าเรื่องเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ พระองค์คงไม่สอน ถึงกระนั้นก็ยังมีความรู้สึกลังเลใจอยู่ จนเป็นเหตุให้สนใจในเรื่องนี้

(๓) พระองค์สอนให้ถือผ้าบังสุกุลเป็นเครื่องใช้สอย ตลอดจนให้ถือเอาผ้าพันผีตายมาใช้นุ่งห่ม ก็เป็นเหตุให้ตัวเองนึกถึงเรื่องตายว่า การนุ่งห่มผ้าพันผีตายมีประโยชน์อะไรบ้าง ข้อนี้พอได้ความง่ายๆ คิดดูโดยหลักธรรมดาก็จะเห็นได้ว่า ของตายนั้นไม่มีใครต้องการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือของตายเป็นของไม่มีพิษไม่มีโทษ ในข้อนี้พอจะน้อมนึกตรึกตรองได้อยู่บ้าง ว่าพระองค์ได้สอนไม่ให้เป็นผู้ทะนงตัวในปัจจัยลาภ

(๔) พระองค์สอนให้บริโภคยารักษาโรคที่หาได้อย่างง่ายๆ เช่นให้ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า คำสอนต่างๆ ของพระองค์ดังกล่าวมาข้างต้นนี้ เมื่อเราได้รับฟังเข้าแล้วเป็นเหตุให้เกิดความสนใจ แต่เมื่อสรุปแล้ว จะได้รับผลหรือไม่ได้รับผลก็ตาม แต่เรามีความเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่าพระองค์ไม่ใช่บุคคลที่งมงาย เรื่องใดที่ไม่มีเหตุผลพระองค์คงไม่ทรงสั่งสอนเป็นอันขาด คนตายไม่มีใครต้องการ เราอยู่ในป่าเราก็ ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้น จึงได้มาระลึกนึกคิดว่า ถ้าเราไม่เชื่อในคำสอนของพระองค์ เราก็ควรยอมรับนับถือตามโอวาท หรือถ้าเราไม่เชื่อความสามารถของผู้สอนเรา เราก็ควรทำตามไปก่อนโดยฐานะที่ทดลองดูเพื่อเป็นการรักษาสังฆประเพณี ระเบียบแบบแผนของผู้ที่เราเคารพนับถือกราบไหว้เอาไว้ก่อน อีกประการหนึ่งได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งเป็นผู้ถือเคร่งครัดในธุดงค์ เช่น ถือการอยู่ป่า ฉันอาหารแต่มื้อเดียว ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ท่านได้ขอปฏิบัติตัวของท่านอย่างนี้ตลอดชีพ ในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงซักถามพระมหากัสสปะว่า “ท่านเป็นผู้สิ้นอาสวะแล้ว ท่านขวนขวายเพื่อเหตุอะไร” พระมหากัสสปะตอบว่า “ข้าพระองค์มุ่งประโยชน์ของกุลบุตรผู้จะเกิดตามมาสุดท้ายภายหลังไม่ได้มุ่งประโยชน์ส่วนตัว เมื่อข้าพระองค์ไม่ทำ จะเอาใครเป็นตัวอย่าง เพราะการสอนคนนั้นถ้ามีตัวอย่างสอนได้ง่าย เปรียบเสมือนการสอนภาษาหนังสือ เขาทำแบบหรือรูปภาพประกอบการสอน เป็นเหตุให้ผู้เรียน เรียนได้สะดวกขึ้นอีกมาก ถ้าพระองค์ประพฤติเช่นนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น”

         เมื่อได้ระลึกถึงคำพูดของพระมหากัสสปะ ซึ่งได้ทูลตอบพระบรมศาสดาเช่นนี้ ก็สงสารพระมหากัสสปะท่านอุตส่าห์ตรากตรำทรมาน ถ้าเปรียบในทางโลกท่านก็เป็นถึงมหาเศรษฐี ควรได้นอนที่นอนที่ดีๆ กินอาหารที่ประณีต ตรงกันข้าม ท่านกลับสู้อุตส่าห์มาทนลำบากนอนกลางดิน กินกลางหญ้า ฉันอาหารก็ไม่ประณีต เปรียบเทียบกับตัวเราเสมอเพียงแค่นี้ จะมาหาแต่ความสุขใส่ตัวแค่อามิส ก็บังเกิดความละอายใจ สำหรับพระมหากัสสปะเวลานั้นท่านจะบริโภคอาหาร นั่ง นอน ในที่สวยงามเท่าไรก็ตาม ย่อมไม่มีปัญหาใดๆ ที่จะเป็นไปเพื่ออาสวะกิเลสเสียแล้ว แต่ว่าเป็นของไม่แปลก ท่านกลับเห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่บรรดาสานุศิษย์ ฉะนั้น เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นข้อสะกิดใจเรามานับตั้งแต่เริ่มบวชในครั้งแรก

         เมื่อพูดถึงเรื่องการอยู่ป่า ก็เป็นของแปลกประหลาดเตือนใจเราอยู่มาก เช่น บางคราวได้มองเห็นความตายอย่างใกล้ชิด และได้รับคำเตือนใจหลายอย่าง บางคราวก็เกิดจากคนในป่า บางคราวก็เห็นพฤติการณ์ของสัตว์ในป่า สมัยหนึ่ง มีตาแก่ยายแก่สองคนผัวเมีย พากันไปตักน้ำมันยางในกลางดงใหญ่ เผอิญไปพบหมีใหญ่ตัวหนึ่ง ได้เกิดการต่อสู้กันขึ้น เมียหนีขึ้นต้นไม้ทัน แล้วร้องตะโกนบอกผัวว่า “ถ้าสู้มันไม่ไหว ให้ลงนอนหงายนิ่งๆ ทำเหมือนคนตาย อย่ากระดุกกระดิก” ฝ่ายผัวพอได้ยินเมียร้องบอกดังนั้นก็ได้สติ แกจึงแกล้งล้มลงนอนแผ่ลงกลางพื้นดิน และนอนนิ่งๆ ไม่ไหวตัว เมื่อหมีเห็นดังนั้นก็ขึ้นคร่อมตัวตาแก่ไว้ ปล่อยมือปล่อยตีน ไม่ตะปบตาแก่อีก เป็นแต่มองดูตาแก่ที่กำลังนอนหงายอยู่นั้น ตาแก่ก็ได้แต่นอนบริกรรมภาวนาได้คำเดียวว่า “พุทโธ พุทโธ” พร้อมทั้งนึกในใจว่า “เราไม่ตาย” หมีก็ดึงขา ดึงศีรษะแกแล้วใช้ปากดันตัวแกทางซ้ายทางขวา แกก็ทำเป็นนอนตัวอ่อนไปอ่อนมาไม่ยอมฟื้น หมีเห็นดังนั้นก็คิดว่าตาแก่คงตายแล้ว มันจึงหนีไป ต่อจากนั้นสักครู่หนึ่งแกก็ลุกขึ้น เดินกลับบ้านกับเมีย บาดแผลที่แกได้รับคือหัวถลอกปอกเปิกแต่ไม่ตาย แกก็สรุปให้ฟังว่า “สัตว์ป่าต้องเป็นอย่างนี้ ถ้าเราเห็นว่าจะสู้ไม่ไหว ต้องทำตัวเหมือนคนตาย”

         เมื่อเราได้ฟังแกเล่าแล้ว ก็ได้ความรู้ขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า คนตายไม่มีใครต้องการ เราอยู่ในป่าเราก็ควรทำตนเหมือนคนตาย ฉะนั้นใครจะว่าดีหรือชั่วประการใด เราต้องนิ่งสงบกาย วาจา ใจ จึงจะรอดตาย เป็นอุทาหรณ์เตือนใจได้อีกอย่างหนึ่งในทางธรรมะว่า “คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย” ก็เป็นมรณสติเตือนใจได้เป็นอย่างดี

         อีกครั้งหนึ่ง ได้ไปพักอยู่ในดงใหญ่แห่งหนึ่ง วันหนึ่งเวลาเช้าสางๆ ได้พาลูกศิษย์ออกบิณฑบาต พอเดินผ่านดงไปได้ยินเสียงแม่ไก่ร้อง “กะต๊ากๆ” ฟังเสียงดูเป็นเสียงไก่แม่ลูกอ่อน เพราะเมื่อส่งเสียงร้องแล้วไม่ยอมบิน จึงให้ลูกศิษย์วิ่งไปดู แม่ไก่ตกใจก็บินข้ามต้นไม้สูงหนีไป เห็นลูกไก่วิ่งอยู่หลายตัว มันพากันวิ่งหนีเข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในกองใบไม้ร่วง แล้วทุกตัวก็นิ่งเงียบ ไม่ยอมไหวตัวไม่ยอมกระดุกกระดิก แม้จะเอาไม้คุ้ยเขี่ยดู ก็ไม่ยอมกระดุกกระดิก เด็กลูกศิษย์ไปหาอยู่พักหนึ่ง ไม่ได้พบลูกไก่เลยแม้แต่ตัวเดียว แต่เรานึกในใจว่ามันไม่ได้หนีไปไหน แต่มันทำตัวเหมือนใบไม้ร่วง ในที่สุดลูกไก่ตัวนิดๆ จับไม่ได้สักตัวเดียว เรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้นึกถึงสัญชาตญาณการป้องกันภัยของสัตว์ ว่ามันก็มีวิธีการที่ฉลาด มันทำตัวของมันให้สงบ ไม่มีเสียงในกองใบไม้ร่วง จึงได้เกิดการนึกเปรียบเทียบขึ้นในใจตนเองว่า “ถ้าเราอยู่ในป่า ทำจิตให้สงบไม่ไหวตัวเช่นเดียวกับลูกไก่ เราก็ต้องได้รับความปลอดภัย พ้นความตายแน่นอน” ก็เป็นคติเตือนใจได้อีกเรื่องหนึ่ง

         นอกจากนี้ เมื่อนึกถึงธรรมชาติอื่นๆ เช่น ต้นไม้ เถาวัลย์ สัตว์ป่า แต่ละอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเครื่องปลุกใจได้เป็นอย่างดี เช่น เถาวัลย์บางชนิดพันต้นไม้ไม่มีเลี้ยวไปทิศทางอื่นต้องพันเลี้ยวไปทางทักษิณาวัตรเสมอ สังเกตเห็นเช่นนี้ก็มาระลึกถึงตัวหากเราจะทำจิตให้ก้าวไปสู่ความดีอันยิ่งยวด เราต้องเอาอย่างเถาวัลย์คือเดินทางทักษิณาวัตร เพราะพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงว่า “กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง ปทักขิณัง” ฉะนั้น เราต้องทักษิณาวัตรคือ เวียนไปทางทักษิณเสมอ นั่นคือเราต่อสู้ทำตนให้เหนือกิเลสที่จะลุกลามใจ มิฉะนั้น เราก็สู้เถาวัลย์ไม่ได้ ต้นไม้บางชนิดมันแสดงความสงบให้เราเห็นด้วยตา ที่เราเรียกกันว่า “ต้นไม้นอน” ถึงเวลากลางคืนมันหุบใบ หุบก้าน เมื่อเราไปนอนอยู่ใต้พุ่มไม้ต้นนั้น จะมองเห็นดาวเดือนอย่างถนัดในเวลากลางคืน แต่พอถึงเวลากลางวันแผ่ก้านแผ่ใบมืดทึบอย่างนี้ก็มี เรื่องเหล่านี้ก็ล้วนเป็นคติเตือนใจว่าขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว เหมือนต้นไม้นอนในเวลากลางคืน ซึ่งใบไม้ไม่ปิดตาเรา เมื่อระลึกนึกคิดได้อย่างนี้ ก็ได้แลเห็นประโยชน์ของการอยู่ป่า จิตใจก็เกิดความห้าวหาญ ธรรมะธรรมโมที่ได้เรียนมา หรือที่ยังไม่ได้เรียนรู้ ก็ได้ผุดมีขึ้นเพราะธรรมชาติเป็นผู้สอน จึงได้มานึกถึงหลักวิทยาศาสตร์ของโลก ที่ทุกประเทศพากันทำฤทธิ์ทำเดชต่างๆ นานา และทำได้อย่างสูงๆ น่ามหัศจรรย์ ล้วนแต่ไม่ปรากฏว่ามีตำราในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยมาแต่ก่อน นักวิทยาศาสตร์พากันคิดได้จากหลักธรรมชาติ ซึ่งปรากฏมีอยู่ในโลกนี้ทั้งสิ้น เรามาหวนคิดถึงธรรมะก็มีอยู่ตามธรรมชาติเหมือนวิทยาศาสตร์นั่นเอง เมื่อคิดได้อย่างนี้ก็หมดห่วงในเรื่องการเรียน แล้วมาระลึกถึงพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย ล้วนแต่ได้เรียนสำเร็จจากหลักธรรมชาติทั้งนั้นไม่ปรากฏว่าเคยมีตำรับตำรามาแต่ก่อน

         ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ตัวเราจึงยอมโง่ทางแบบและตำรา ต้นไม้บางชนิดมันนอนกลางคืน แต่ตื่นกลางวัน บางชนิดก็นอนกลางวันแต่ตื่นกลางคืน สัตว์ป่าก็เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังได้ความรู้จากพฤกษชาติ ซึ่งมันคลายรสในตัวของมันออก บางชนิดก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย บางชนิดก็เป็นโทษแก่ร่างกาย อาทิ เช่น บางคราวเราเป็นไข้ เมื่อเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการไข้ก็หายไป บางคราวเราสบายดี แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด ธาตุก็เกิดแปรปรวน บางคราวเราหิวข้าวหิวน้ำ แต่พอเข้าไปอยู่ใต้ต้นไม้บางชนิด อาการหิวเหล่านั้นก็หายไป การได้ความรู้ต่างๆ จากพฤกษชาติเช่นนี้ เป็นเหตุให้นึกถึงแพทย์แผนโบราณ ซึ่งนิยมสร้างรูปฤๅษีไว้เป็นที่เคารพบูชา ฤๅษีนั้นไม่เคยได้เรียนตำรายามาแต่ก่อน แต่มีความสามารถสอนแพทย์แผนโบราณให้รู้จักยารักษาโรคได้ โดยวิธีการเรียนธรรมชาติโดยทางจิตเหมือนอย่างตัวเรานี้เอง น้ำ พื้นแผ่นดินหรืออากาศธาตุก็เช่นเดียวกัน

          ฉะนั้น เมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ เราก็ไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องยารักษาโรค คือเห็นว่ามันมีอยู่ทั่วไป ส่วนที่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ อันนั้นเป็นเรื่องของตัวเราเอง นอกจากนั้นยังมีคุณความดี อย่างอื่นที่จะต้องบริหารตัวเอง นั่นคืออำนาจแห่งดวงจิตที่สามารถทำให้สงบระงับลงได้อย่างไร ก็ยิ่งมีคุณภาพสูงขึ้นไปยิ่งกว่านี้อีกหลายสิบเท่า ซึ่งเรียกว่า “ธรรมโอสถ” สรุปแล้ว คุณประโยชน์ที่ได้รับในการอยู่ป่าที่สงัดเพื่อปฏิบัติทางจิตนี้ เห็นจริงตัดข้อสงสัยในคำสอนของพระตถาคตได้เป็นข้อๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงยอมปฏิบัติตนเพื่อ “วิปัสสนาธุระ” ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเนื้อที่ในการที่ได้ปฏิบัติทางจิตนี้ ถ้าจะนำมาพรรณนาก็มีอยู่มากมาย แค่จะขอกล่าวแค่เพียงสั้นๆ เสมอเพียงเท่านี้

ปี พ.ศ. 2502 รู้สึกว่าอาการป่วยมารบกวน

         มาบัดนี้จึงได้เริ่มสร้างวัดอโศการาม เพื่อให้เป็นหลักแหล่งของกุลบุตรกุลธิดาสืบต่อไป ใน ระหว่างอยู่วัดอโศการามเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2500 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะขึ้นโดยไม่รู้ ตัวในนาม “พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีเมธาจารย์” จึงได้ตั้งใจอยู่จำพรรษาในวัดนี้เรื่อยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2499 มาถึงปี พ.ศ. 2502 ในพรรษาปี พ.ศ. 2502 รู้สึกว่าอาการป่วยมารบกวน เริ่มป่วยตั้งแต่กลางพรรษา มานึกถึงการเจ็บ ป่วยของตัวบางวันบางเวลาก็เกิดความท้อถอยในการที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป บางวันก็รู้สึกกว่าจิตใจขาดกระเด็นไปจากศิษย์ มุ่งไปแต่ลำพังตนคนเดียว มองเห็นที่วิเวกสงัดว่าเป็นบรมสุขอย่างเลิศในทางธรรมะ บางวันก็ป่วยตลอดคืนแต่พอทนได้ มีอาการปวดเสียดในกระเพาะ มีอาการจับไข้วันหนึ่งเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ฉะนั้นเมื่อออกพรรษาแล้วก็ได้มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าครั้งแรกไ
ด้มารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2502 จนถึงวันที่ 5 เดือนเดียวกันก็กลับไปวัดเมื่อกลับไปวัดแล้ว อาการอาพาธชักกำเริบ พอถึงวันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน 2502 ก็ได้กลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้าอีกครั้งหนึ่ง อาการป่วยก็ค่อยทุเลาเบาบาง

         อยู่มาวันหนึ่งมานอนนิ่งนึกอยู่คนเดียวว่า เราเกิดมาก็ต้องการให้เป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่น แม้เราจะเกิดอยู่ในโลกที่มีการเจ็บป่วย ก็มุ่งทำประโยชน์ให้แก่โลกและพระศาสนาตลอดชาติ ทีนี้เราเจ็บ ป่วยเราก็อยากได้ประโยชน์อันเกิดจากการเจ็บป่วยในส่วนตนและคนอื่น ฉะนั้น จึงได้เขียนหนังสือขึ้น ฉบับหนึ่ง มีใจความดังต่อไปนี้ คือ ห้องพิเศษ โรงพยาบาลบุคคทหารเรือ (โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

         เรื่องอาหารของท่านพ่อนั้นใคร ๆ อย่าได้ห่วงอาลัย ทางโรงพยาบาลมีทุกอย่างว่าจะต้องการอะไร ฉะนั้น ถ้าใคร ๆ หวังดีมีศรัทธาแล้ว ให้คิดค่ารถที่นำไปนั้นเสียคิดค่าอาหารที่พวกเราจ่ายไปนั้นเสียเอาเงิน จำนวนนั้น ๆ ไปทำบุญในทางอื่นจะดีกว่าเช่น หลวงพ่อใช้ยาของโรงพยาบาลไปเท่าไร เหลือจากท่านพ่อ แล้วยังเป็นประโยชน์กับคนอื่นอนาถาต่อไป ให้พากันคิดเช่นนั้นจะดีกว่ากระมัง และตึกที่ท่านพ่อพักอยู่ นั้นเป็นตึกพิเศษ ยังมิได้เปิดรับคนป่วยเลย นายแพทย์ ก็ให้เกียรติท่านพ่อเต็มที่ แม้มูลค่าบำรุง 1 สตางค์ ไม่เคยพูดกันสักคำ ฉะนั้น ผู้ใดหวังดีแก่ท่านพ่อ ควรนำไปคิดดูก็แล้วกัน ในที่สุดนี้ท่านพ่อจะสร้างเตียงไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย ใครมีศรัทธาติดต่อท่านพ่อได้ หรือผู้อำนวยการและผู้ช่วยอำนวยการ ที่โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ

(ลงนาม)
พระอาจารย์ลี

( หมายเหตุ โรงพยาบาลบุคคโล ทหารเรือ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงกลาโหมให้เปลี่ยนชื่อใหม่ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502 เป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า)

         หลังท่านพ่อเข้ามาพักรักษาตัว 1 วัน ทั้งๆ ที่ทางโรงพยาบาลได้ขอเปลี่ยนนี้ไปเป็นเวลานานแล้ว) เมื่อได้เขียนหนังสือดังกล่าว ได้นึกอยู่ในใจว่า อย่างน้อยควรได้มูลค่าปัจจัยในการช่วยเหลือโรง พยาบาลครั้งนี้ 3 หมื่นบาท จึงได้ออกประกาศแจ้งความจำนงแก่บรรดาสานุศิษย์ ต่างคนต่างมีศรัทธาบริจาคร่วมกันตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2502 มีคนจังหวัดสมุทรปราการมาเล่าให้ฟังที่โรงพยาบาล มีใจความ 2 อย่างคือ

1. ได้เกิดมีรถยนต์ชนกัน มีคนตายอีกแถวโค้งมรณะ บางปิ้ง
2. บางคนก็ว่ามีผีคอยหลอก แสดงให้ปรากฏต่างๆ นานา

         เมื่อได้ทราบดังนี้ จึงได้คิดดำริทำบุญอุทิศกุศลให้คนตายด้วยอุปัทวเหตุทางรถยนต์บนถนนสายนี้ จึงได้ไปปรึกษาปลัดจังหวัดสมุทรปราการ และคณะศิษย์ ก็ตกลงกันว่าต้องทำบุญ ได้กำหนดการทำบุญ กันขึ้นโดยเริ่มงานตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2502 มีการสวดมนต์เย็นที่ปะรำข้างถนนสุขุมวิท ใกล้ที่ทำงาน ของตอนทางการสมุทรปราการ จัดการผ้าป่า 50 กอง มีคณะศิษย์ไปร่วมอนุโมทนาคราวนี้ได้เงินสมทบ ทุนช่วยโรงพยาบาลจัวหวัดสมุทรปราการทั้งสิ้น 12,600 บาทถ้วน (หนึ่งหมื่นสองพันหกร้อยบาทถ้วน)

วันที่ 19 ธันวาคม 2502 ได้ถวายอาหารพระ 50 รูป ทอดผ้าป่า 50 กองเปลี่ยนชื่อโค้งใหม่ดังนี้

1. ที่เรียกว่าโค้งโพธิ์แต่เดิมนั้น ให้ชื่อใหม่ว่า “โค้งโพธิสัตว์”
2. ที่เรียกว่าโค้งมรณะแต่เดิมนั้นให้ชื่อใหม่ว่า “โค้งปลอดภัย”
3. ที่เรียกว่าโค้งมิโด้แต่เดิมนั้น ให้ชื่อใหม่ว่า “ โค้งชัยมงมล”

         เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กลับมาโรงพยาบาลตอนบ่ายวันที่ 19 ธันวาคม 2502 ก็ได้พักรักษาตัว อยู่เป็นเวลาหลายวัน นายแพทย์และจ่าพยาบาลได้เอาใจใส่รักษาและให้ความสะดวกเป็นอย่างดี เช่น พลเรือจัตวา สนิท โปษกฤษณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลได้เอาใจใส่มาก ทุกวันเวลาเช้ามืดได้นำเอาอา หารมาถวายเป็นนิจ คอยปฏิบัติดูแลเหมือนกับลูกศิษย์

เขียนหนังสือชื่อ “ คู่มือบรรเทาทุกข ์”

         ในระหว่างนี้ก็ได้คิดเขียนหนังสือขึ้นฉบับหนึ่ง ชื่อว่า “คู่มือบรรเทาทุกข์” เพื่อแจกเป็นธรรมทาน ในการสร้างหนังสือนี้เราก็ไม่ได้รับความลำบาก มีลูกศิษย์รับจัดพิมพ์ช่วย 2,000 เล่ม คือ คุณนายละมัย อำนวยสงคราม 1,000 เล่ม ร.ท. อยุธ บุณยฤทธิรักษา 1,000 เล่ม รู้สึกว่าการคิดนึกของตนก็ได้เป็นไปตามสมควร เช่น ต้องการเงินบำรุงโรงพยาบาลมาถึงวันที่ ได้ออกจาก โรงพยาบาล คือ วันที่ 10 มกราคม 2503 รวมเวลาอยู่ในโรงพยาบาล 45 วัน ก็มียอดเงินประ มาณ 31,535 บาท แสดงว่าเราเจ็บเราก็ได้ทำประโยชน์ แม้จะตายไปจากโลกนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าซากกเรวราก ที่เหลืออยู่ก็อยากให้เกิดประโยชน์แก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ตัวอย่างที่เคยเห็นมา เช่น ครูบาศรีวิชัย ซึ่งชาวเมืองเหนือเคารพนับถือ ท่านได้ดำริสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง แต่ยังไม่สำเร็จก็ตายเสียก่อน ต่อจากนั้นได้มี คนเอาศพของท่านไปตั้งไวใกล้ ๆ สะพาน ถ้าลูกศิษย์หรือพุทธบริษัทอื่น ๆ ต้องการจะช่วยทำการฌาปนกิจศพท่านก็ขอให้ช่วยกันสร้างสะพานให้สำเร็จเสียก่อน ในที่สุดครูบาศรีวิชัยก็นอนเน่าทำประโยชน์ให้แก่ ประชาชนได้

         ฉะนั้น ชีวิตความเป็นมาของตน ก็ได้คิดมุ่งอยู่อย่างนี้เรื่อยมานับตั้งแต่ได้ออกปฏิบัติในทางวิปัสสนา กรรมฐานมาแต่ พ.ศ. 2469 จนถึง พ.ศ. 2502 นี้ได้อบรมสั่งสอนหมู่คณะศานุศิษย์ในจังหวัดต่างๆ ได้สร้าง สำนักให้ความสะดวกแก่พุทธบริษัท เช่น จังหวัดจันทบุรี 11 สำนัก การสร้างสำนักนี้มีอยู่ 2 ทาง คือ

1. เมื่อลูกศิษย์ได้ก่อสร้างตัวขึ้น ยังไม่สมบูรณ์ก็ช่วยเป็นกำลังสนับสนุน
2. เมื่อเพื่อนฝูงได้ดำริสร้างขึ้นยังไม่สำเร็จ บางแห่งก็ขาดพระก็ได้ส่งพระที่เป็นศิษย์ไปอยู่ประจำต่อ ไปก็มี บางสำนักครูบาอาจารย์ได้ไปผ่านและสร้างขึ้นไว้แต่กาลก่อน ก็ได้เดินทางไปเยี่ยมและอบรมหมู่ คณะเรื่อยมา จนบัดนี้ จังหวัดจันทบุรีมี 11 แห่ง นครราชสีมามี สำนักปฏิบัติ 2-3 แห่ง ศรีสะเกษ 1 แห่ง สุรินทร์ก็มี เป็นเพื่อนกรรมฐานทั้งนั้น อุบลราชธานีมีหลายแห่ง นครพนม สกลนคร อุดรธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูม เพชรบูรณ์ ปราจีนบุรี ระยอง ตราด ลพบุรี ชัยนาท ตาก นครสวรรค์ พิษณุโลก เป็นวัดที่ผ่านไปอบรม ลำปาง เชียงใหม่ นครนายก นครปฐม ได้ผ่านไปอบรมชั่วคราว ยังไม่มีสำนัก ราชบุรีได้ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนักเพชรบุรี มีพระเณรเพื่อนฝูงตั้งสำนักไว้บ้าง ประจวบฯ ได้เริ่มสร้าง สำนักที่อำเภอหัวหิน ชุมพร มีสำนักอยู่ 2-3 แห่ง สุราษฎร์ธานี ผ่านไปอบรมชั่วคราว ไม่มีสำนัก นครศรีธรรมราช ก็ผ่านไปอบรมมีสำนักขึ้นก็รกร้างไป พัทลุง มีศิษย์ผ่านไปอบรมยังไม่มีสำนัก สงขลา มีสำนักที่วิเวกหลายแห่ง ยะลา มีศิษย์ไปเริ่มอบรมไว้เป็นพื้น และได้เคยไปอบรม 2 ครั้งระหว่างออกพรรษาได้สัญจรไปเยี่ยมศิษย์เก่าๆ ของครูบาอาจารย์ที่เคยไปพักผ่อนมาแล้ว ก็ได้ไปอยู่ เสมอมิได้ขาด

         บางคราวก็ได้หลบหลีกไปบำเพ็ญประโยชน์ส่วนตัวบ้าง นับตั้งแต่ได้อุปสมบทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2468 แต่มาสวดญัตติใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2470 จำเดิมแต่นั้นมา ปีแรกที่ได้สวดญัตติแล้วได้อยู่จำพรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานี 6 พรรษา มาจำพรรษาวัดสระปทุมพระนคร 3 พรรษาไปจำพรรษาอยู่ที่เชียงใหม่ 2 พรรษาที่จังหวัดนครราชสีมา 2 พรรษา จังหวัดปราจีนบุรี 1 พรรษา มาสร้างสำนักที่จันทบุรี จำพรรษา อยู่ 14 พรรษา ต่อจากนั้นไปจำพรรษาที่ประเทศอินเดีย 1 พรรษา กลับจากประเทศอินเดียผ่านประเทศ พม่า ไปจำพรรษาที่วัดควนมีด จังหวัดสงขลา 1 พรรษา จากนั้นได้จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส 3 พรรษา สมเด็จพระมหาวีรวงศ์(อ้วน) มรณภาพแล้วได้ออกไปจำพรรษาอยู่ที่วัดอโศการาม 4 พรรษา

พรรษาที่ 4 นี้ตรงกับปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อเริ่มอาพาธหนัก ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2502 กระทั่ง พ.ศ. 2504 ท่านจึงถึงแก่มรณภาพลง ในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2504 สิริอายุรวม 54 ปี 3 เดือน

หลวงพ่อลี ธมฺมธโร

ธรรมโอวาท

- คนที่จะพ้นตาย ต้องทำตนเหมือนคนตาย
- คนกลัวตายจะต้องตายอีก
- ผู้ที่จะพ้นจากภพก็ต้องเข้าไปอยู่ในภพ ผู้ที่จะพ้นจากชาติต้องรู้เรื่องของตัว จึงจะเป็นไปได้
- ถ้าทุกคนมีความคิดเห็นถูกต้อง การปฏิบัตินั้นเป็นเหตุไม่เหลือวิสัย
- ขณะเรานั่งสมาธิหลับตาภาวนานั้น ก็ให้หลับแต่ตา ส่วนใจเราต้องให้สว่างไสว

         ผู้จะต้องถึงมรรคผลนิพพานได้นั้น จะต้องทำทางใจ ถ้าไม่ทำทางนี้แล้ว จะทำการกุศลสักเท่าไร ก็ถึงมรรคผลนิพพานไม่ได้ นิพพานนี้จะต้องถึงด้วยข้อปฏิบัติทางใจเท่านั้น ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลเป็นเหตุแห่งสมาธิ สมาธิเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาเป็นเหตุแห่งวิมุตติ สมาธิเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาและญาณ อันเป็นองค์สำคัญของมรรค แต่จะขาดสมาธิไม่ได้ถ้าขาดแล้วก็ได้แต่จะคิดๆ นึกๆ เอา ฟุ้งซ่านไปต่างๆ ปราศจากหลักฐานสำคัญ สมาธิเปรียบเหมือนตะปู ปัญญาเปรียบเหมือนค้อนที่ตอกตะปู ถ้าตะปูเอียงไปค้อนก็ตีผิดๆ ถูกๆ ตะปูนั้นก็ไม่ทะลุกระดานนี้ฉันใด ใจเราจะบรรจุธรรมชั้นสูงทะลุโลกได้จะต้องมีสมาธิเป็นหลักก่อน แล้วจึงเกิดญาณ ญาณนี้จะได้แต่คนทำสมาธิเท่านั้น ส่วนปัญญาย่อมมีอยู่ทั่วไปแก่คนทั้งหลาย แต่ไม่พ้นจากโลกได้เพราะขาดญาณ ฉะนั้นท่านทั้งหลายควรสนใจ อันเป็นทางพ้นทุกข์ถึงสุขอันไพบูลย์

สืบอย่างเซียน เปิดแฟ้มคดีดัง พล.ต.ต.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์

          http://peemza.siam2web.com/

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ชีวประวัติ หลวงพ่อลี วัดอโศการาม
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 12, 2010, 09:09:22 pm »
 :13: อนุโมทนาครับผม ขอบคุณครับพี่กบ
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~