'โรคฉี่หนู' ภัยที่คนกรุงมองข้าม
"หน้าฝน" ทีไร สาธารณสุขจังหวัดต่างๆ ก็เร่งออกเตือนเกษตรกรในพื้นที่ให้ ระวัง "โรคฉี่หนู" เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ มักจะเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่ต้องลุยน้ำ หรือโคลน เพื่อทำการเพาะปลูก ทำให้คนเมืองอย่างเราประมาทกับโรคชนิดนี้...
นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ อายุรวัฒน์นานาชาติ ให้ข้อมูลว่า "โรคฉี่หนู" หรือ "โรคเลปโตสไปโรซีส" เป็นโรคประเภทที่ติดต่อจากสัตว์มาสู่มนุษย์ชนิดหนึ่ง ซึ่งพาหะของโรคนั้น ไม่ได้พบเฉพาะใน "หนู" เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพบได้ในสัตว์อีกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น กระรอก วัว ควาย หมา แมว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ฯลฯ แต่เพราะเชื้อนี้ถูกพบมากในหนู และฉี่ของหนู จึงเป็นที่มาของชื่อ "ฉี่หนู" ไปโดยปริยาย สัตว์เหล่านี้จะเก็บเชื้อโรคไว้ในไต และปล่อยเชื้อออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งภาวะการระบาดของเชื้อ จะมีมากในช่วงหน้าฝน แต่ก็สามารถพบได้ประปรายตลอดปี
โรคฉี่หนู "ใครๆ ก็เป็นได้"
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหล่านี้ และหนู ไม่ใช่ "น้องหนู" ฉะนั้น มันจึงไม่รู้ว่าควรปัสสาวะในห้องน้ำ แต่มันจะปัสสาวะโดยไม่เลือกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่จุดที่มีป้าย "ห้ามฉี่" ถ้าจะถามว่าใครเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้บ้าง ก็ต้องบอกว่า "ทุกคน" เข้าข่าย "กลุ่มเสี่ยง" ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสาวออฟฟิศ หนุ่มแบงก์ เศรษฐีพันล้าน นักกีฬา เกษตรกร นักท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะเชื้อชนิดนี้จะพบได้ตามแหล่งน้ำ พื้นที่เกษตรกรรม ถนน ตรอก ซอยที่มีน้ำท่วมขัง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายเมื่อสัมผัสกับน้ำที่มีเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ ยิ่งถ้ามีบาดแผลเชื้อเหล่านี้ก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น
เชื้อ "เลปโตสไปโรซีส" จะมีลักษณะเป็นเหมือนสว่าน ชอนไชได้ง่ายผ่านบริเวณที่เป็นเยื่อเมือก อย่างโพรงจมูก เยื่อบุตา ทวารหนัก บาดแผลตามร่างกาย บาดแผลภายในปาก และเมื่อตัวเปื่อย เพราะแช่น้ำเป็นเวลานาน
อาการหลังได้รับเชื้อ
ผู้ร้าย จะเผยตัวเมื่อใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันในร่างกาย หากร่างกายอ่อนแอ หรือมีภาวะเป็นโรค อย่าง เบาหวาน เอดส์ อาการของโรคก็อาจแสดงให้เห็นได้เร็ว แต่โดยปกติแล้ว เชื้อนี้จะมีระยะฟักตัวประมาณ 10 วัน
อาการที่ปรากฏจะคล้ายกับบุคคล ที่ได้รับเชื้อหวัด 2009 โดยจะมีไข้สูง เป็นหวัด ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ในบางรายอาจมีอาการคล้ายคนเป็นดีซ่าน ตาเหลือง ตัวเหลือง
แล้วจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราเป็นโรคฉี่หนู หรือว่า หวัด 2009 กันแน่
มีวิธีทดสอบเบื้องต้นง่ายๆ คือ ให้บีบเบาๆ บริเวณน่องขา หรือว่าเอ็นร้อยหวายที่ข้อเท้า หากบีบเบาๆ แต่เจ็บจี๊ดขึ้นสมอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า คุณเป็นโรคฉี่หนูแล้ว ขั้นต่อไป คือต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากเชื้อของโรคฉี่หนูลามขึ้นสมอง หรือว่าวิ่งไปสู่ไตแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
หลีกเลี่ยงอย่างไร
เรา ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า เชื้อเลปโตสไปโรซีสปะปนอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง ดังนั้น การป้องกันเบื้องต้น หากต้องลงไปในแหล่งน้ำ หรือย่ำโคลน ก็ควรสวมรองเท้าบู๊ททุกครั้ง ที่สำคัญหากมีบาดแผลตามร่างกายไม่ควรลงแช่น้ำขัง หรือบริเวณน้ำนิ่งโดยเด็ดขาด และเมื่อร่างกายเปียกฝน ควรรีบเช็ดให้แห้งโดยเร็ว
สำหรับคนที่ชอบว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจ ควรสังเกตลักษณะของสระน้ำที่จะลงว่าย โดยต้องเป็นสระที่ทำการเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ สะอาด ไม่มีตะใคร่น้ำ เป็นสระที่มีการหมุนเวียนของน้ำตลอดเวลา และไม่ควรที่จะลงเล่นน้ำนานเกินไป
ทาน อาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นอาหารให้ร้อนก่อนรับประทาน เมื่อต้องเก็บอาหารไว้ทานในมื้อต่อไป ควรมีภาชนะฝาครอบมิดชิด จัดที่พักอาศัยให้สะอาดเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเมื่อเห็นว่าที่พักอาศัยของเรากำลังจะถูกหนูบุกรุก ต้องรีบกำจัด เพื่อความปลอดภัย
เมื่อรู้ว่า "ใครก็เป็นได้" เห็นที่ว่า "คนกรุง" อย่างเรา คงต้องตื่นตัวกับโรคนี้มากขึ้นซะแล้ว...
ขอบ คุณข้อมูลจาก : นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.ศูนย์เวชศาสตร์ อายุรวัฒน์นานาชาติ
ที่มา ไทยรัฐ