ผู้เขียน หัวข้อ: ศีลธรรมและสันติสุขจะกลับมาได้อย่างไร (๔) คำสอนเรื่องกาลามสูตร  (อ่าน 1011 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ศีลธรรมและสันติสุขจะกลับมาได้อย่างไร (๔) คำสอนเรื่องกาลามสูตร : วิปัสสนาบนหน้าข่าว โดยพระไพศาล วิสาโล

            การรักษาใจเรา ด้วยการมีสติ รู้ทันความโกรธและความเกลียดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก มันเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างศีลธรรม หรือพาศีลธรรมให้กลับมา โดยเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน เราต้องตระหนักว่า แม้เราเป็นคนธรรมะ ธัมโม แม้เข้าวัดปฏิบัติธรรม ก็มิอาจประมาทกิเลสในใจเรา อันได้แก่ตัณหา ทิฐิ มานะ ได้เลย ตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่ เพราะกิเลสเหล่านี้สามารถก่อความรุนแรงจากข้างใน แล้วนำไปสู่ความรุนแรงภายนอกได้เสมอ

            ท่านติช นัท ฮันห์ เคยเขียนไว้เมื่อ ๓๔ ปีที่แล้ว อาตมาคิดว่ายังเหมาะกับสมัยนี้ ซึ่งเป็นยุคที่มีระเบิดแผดก้องไปทั่ว ท่านเขียนว่า “มีระเบิดอีกมากมายที่ยังไม่ได้แผดก้อง มันยังคงนิ่งเงียบอยู่ในหัวใจคน ไม่รู้เมื่อไรจะประทุ ไม่รู้เมื่อไรจะหยามหมิ่นแผ่นดินเรา ไม่รู้เมื่อไรจะผลาญพร่าประชาชนของเรา”

            อย่าไปคิดว่า ผู้ก่อการร้ายเท่านั้นที่วางระเบิดได้ ใจเราก็มีระเบิดที่พร้อมจะประทุออกมาเช่นกัน มันอยู่ในใจของปุถุชนทุกคน และเมื่อมันประทุออกมา แม้ไม่มีอาวุธอะไรเลย ก็สามารถฆ่าคนได้ เหตุการณ์เมื่อ ๑๑ กันยา ๒๕๔๔ ผู้ก่อการร้ายที่ยึดเครื่องบิน ไม่มีอาวุธอะไรเลย แต่สามารถเอาเครื่องบินโดยสารมาเป็นจรวดแรงสูงทำลายตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์จนพังพินาศได้ นั่นเป็นเพราะในใจเขามีความโกรธ ความเกลียดอยู่

            ใจของเราแต่ละคนมีความโกรธ ความเกลียดที่สามารถระเบิดออกมาได้ เพราะฉะนั้นอย่าประมาท

            แม้เป็นคนใฝ่ธรรม เข้าวัดปฏิบัติธรรม ก็ยังวางใจตนเองไม่ได้ ตราบใดที่กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ ยังอยู่ แต่สิ่งที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้ไม่ประทุออกมา ทำให้มันกลายเป็นระเบิดที่ด้าน ก็คือ “สติ”

            เมื่อเรารับรู้ข้อมูลข่าวสาร จำเป็นมากที่จะต้องรักษาใจเอาไว้ให้ดี เพราะมีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่กระตุ้นให้เรามีความโกรธ ความเกลียดได้ง่าย ข้อมูลข่าวสารพวกนี้มักเป็นข้อมูลด้านเดียว ถ้าเราไม่มีสติ ไม่ตั้งสติให้ดี ไม่รู้จักวิเคราะห์แยกแยะ หรือศึกษาหาข้อมูลให้รอบด้าน เราก็จะหลงเชื่อได้ง่าย และทำให้ความโกรธ ความเกลียด และความกลัวครองใจเรา

            ตอนนี้อาตมาเชื่อว่า มีหลายคนที่มีความโกรธ ความเกลียด และความกลัวชาวมุสลิม เพราะเห็นว่า คนกลุ่มนี้เป็นพวกนิยมความรุนแรง นี่คือข้อมูลที่เราได้ยินได้ฟังมาจากโซเชียลมีเดีย จากเฟซบุ๊ก จากไลน์ จากสื่อมวลชน แต่มันเป็นข้อมูลด้านเดียว ที่จริงชาวมุสลิมส่วนใหญ่ เขาก็ไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อการร้าย

            มีข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อปีที่ ๒๕๕๗ มีคนตายเพราะการก่อการร้ายประมาณ ๓๐,๐๐๐ คน ทั่วโลก ทราบไหมว่า ๒ ใน ๓ ของคนเหล่านี้ตายเพราะการก่อการร้ายซึ่งเกิดขึ้นในประเทศมุสลิม เช่น ไนจีเรีย อิรัก ซีเรีย ซูดาน ปากีสถาน อัฟกานิสถาน

            นั่นหมายความว่า ๒ ใน ๓ ของเหยื่อการก่อการร้ายเป็นชาวมุสลิม พูดอีกอย่างคือผู้ที่เป็นเหยื่อของการก่อการร้ายส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม คนมุสลิมไม่ใช่เป็นผู้ก่อการร้ายไปทั้งหมด แท้จริงแล้วเขากลับเป็นเหยื่อของการก่อการร้ายด้วยซ้ำ

                การมองว่าชาวมุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายนั้นจึงเป็นการมองด้านเดียว หรือได้ข้อมูลด้านเดียว ข้อมูลอีกด้านคือ ชาวมุสลิมก็เป็นเหยื่อของการก่อการร้ายด้วย ยิ่งกว่านั้นมุสลิมกว่าสองหมื่นคนที่ตาย ครึ่งหนึ่งตายเพราะฝีมือของกลุ่มผู้ก่อการร้ายสองกลุ่ม คือ “โบโก ฮาราม” ที่ไนจีเรียและ “ไอเอส” ซึ่งประกาศตัวเองว่าเป็นมุสลิมทั้งสองกลุ่ม ผู้ก่อการร้ายสองกลุ่มนี้ก็เป็นปัญหาของชาวมุสลิมด้วย ไม่ได้เป็นปัญหาของชาวพุทธ หรือเป็นปัญหาของคนส่วนอื่นในโลกเท่านั้น

            นอกจากนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งผู้ก่อการร้ายและเหยื่อส่วนใหญ่เป็นมุสลิมก็แสดงว่า ทุกวันนี้คนมุสลิมเองต่อสู้กันเอง ทำร้ายกันเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ก็เพราะยึดติดถือมั่นในทิฏฐิหรือความเชื่อของตน รวมถึงการยึดติดถือมั่นในนิกายของตนด้วย

            ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้าน เราจะพบว่า การมองว่าชาวมุสลิมเป็นพวกก่อการร้าย เป็นการมองด้านเดียว ถ้ามองแบบนี้ เราก็จะเกิดความโกรธ ความเกลียด ความกลัวต่อชาวมุสลิม แต่ถ้าเรามีข้อมูลที่หลากหลาย หรือไม่ได้เชื่อข้อมูลที่เราได้ยินมาทันที เพียงเพราะว่ามันสอดคล้องกับความคิดเดิมของเรา ก็จะทำให้ความโกรธ ความเกลียด บรรเทาเบาบางลง

            คำสอนเรื่องกาลามสูตรจำเป็นมากสำหรับยุคนี้

            แม้ว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้เมื่อสองพันหกร้อยปีมาแล้ว แต่คำสอนนี้ยังสำคัญมาก โดยเฉพาะยุคนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพียงเพราะเป็นเสียงเล่าลือ อย่าเชื่อเพียงเพราะถือสืบๆ กันมา อย่าเชื่อเพียงเพราะเข้าได้กับทิฐิ ความเห็นของตัว ข้อหลังนี้สำคัญมาก เพราะข้อมูลบางอย่างถ้าเข้ากับความเห็นของเรา ไม่ว่าบวกหรือลบ เราก็เชื่อทันทีเลย

            สมมุติว่าเราเห็นว่านักการเมืองคนนี้เลว พอเราได้ข่าวเกี่ยวกับเขา แม้ว่าเป็นข่าวเท็จ หรือเติมแต่งสีสัน เราก็มักจะเชื่อทันที ไม่คิดจะตรวจสอบ เพราะมันสอดคล้องหรือสนับสนุนความคิดของเรา

            กาลามสูตร ยังบอกเราว่า อย่าเชื่อเพียงเพราะรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ อย่าเชื่อเพราะการอนุมาน นั่นหมายความว่าเราต้องตั้งสติให้ดีในการเสพรับข้อมูลข่าวสาร รู้จักพินิจพิจารณา จะช่วยให้ความหลง รวมทั้งความโกรธ ความเกลียด เข้ามาครอบงำจิตใจเราได้ยาก

            นอกจากนี้ เราต้องมีความใจกว้าง ไม่คับแคบ จะช่วยบรรเทาความยึดติดถือมั่นในความคิดซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน (ความยึดมั่นถือมั่นในทิฏฐิ คือ ยึดมั่นในความเห็น ความเชื่อ ความคิด หรือในทฤษฎีของตัวของตน จึงไม่เชื่อหรือต่อต้านสิ่ง ที่ขัดแย้งหรือไม่ลงรอยกับความคิดของตน)

            ความยึดติดถือมั่นเป็นที่มาของความทุกข์ และนำไปสู่การเบียดเบียน การยึดติดถือมั่นในความคิดจึงสามารถเป็นอันตรายได้ ทำให้เราโกรธ เกลียด คนที่คิดต่างจากเรา แม้เป็นคนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เช่น เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นเพื่อน เป็นคู่ครอง ไม่ใช่แค่นั้น ความโกรธเกลียดอาจถึงกับผลักไสให้เราลงมือทำร้ายเขาด้วย

            จริงอยู่ ความเห็นของเราอาจจะดี ความคิดของเราอาจจะดี แต่ถ้ายึดติดถือมั่นเมื่อไหร่ มันก็กลายเป็นโทษขึ้นมาได้ หลวงพ่อเฟื่อง โชติโก พูดไว้น่าคิดมากว่า"ถึงความเห็นของเราจะถูก แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้ มันก็ผิด" ความดี ถ้ายึดมั่นเมื่อไหร่ ก็กลายเป็นความเลวได้ง่าย

            พ่อคนหนึ่ง เป็นคนธรรมะธัมโม อยากให้ลูกมีระเบียบวินัย ตั้งใจเรียน แต่ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เที่ยวเล่นตามประสาวัยรุ่น พ่อมีปัญหากับลูกอยู่เนืองๆ วันหนึ่ง ลูกบอกพ่อว่า อยากจะขับรถไปหาเพื่อนตอนกลางคืน พ่อห้าม เพราะอยากจะให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือ ลูกไม่เชื่อ ลูกเอารถของพ่อขับไปหาเพื่อน พ่อโกรธมากที่ลูกขัดคำสั่ง จึงไปเรียกลูกกลับมา มาถึงบ้านก็ทะเลาะกันอย่างรุนแรง พ่อด่าลูก ลูกเถียงพ่อ พ่อโกรธ จึงมีการลงไม้ลงมือกัน สุดท้ายลูกเริ่มต่อสู้ขัดขืน พ่อห้ามใจไม่อยู่ บังเอิญมีปืนอยู่ใกล้ๆ จึงหยิบปืนมายิงลูกตาย พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พ่อทำใจไม่ได้ จึงยิงตัวตายตาม

            พ่อเป็นคนธรรมะธัมโม อยากจะให้ลูกเป็นคนดี มีระเบียบวินัย แต่พอลูกไม่ทำตามที่พ่อสั่ง ไม่ดีอย่างที่พ่อคาดหวัง ก็เสียใจ ผิดหวัง โกรธ แล้วก็เกลียด พอเกลียด ก็พร้อมที่จะทำร้ายลูกได้ พ่อเป็นคนถือศีลเคร่งครัด แต่ในที่สุดกลับฆ่าลูกตาย นี่เป็นตัวอย่างของคนที่ทำผิด เพราะยึดมั่นในความถูกต้อง

            เราต้องระวัง ความถูกต้องนั้นดี แต่ถ้ายึดมั่นเมื่อไหร่ มันสามารถนำไปสู่การทำผิดได้ มีความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นมากมายในนามของของความถูกต้อง ความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นในนามของความดี ในนามของศีลธรรม ในนามของพระเจ้า ในนามของการพิทักษ์ปกป้องศาสนา มันเกิดขึ้นมากมายในประวัติศาสตร์ แม้แต่กรณี ๖ ตุลา ๑๙ ที่มีการสังหารผู้คนกลางเมืองอย่างน่าสยดสยอง ก็เกิดจากความคิดที่จะปกป้องชาติ ศาสน์ กษัตริย์ จนเห็นนักศึกษาเป็นคนเลวร้ายที่ต้องฆ่าให้ตาย การปกป้องสิ่งดีงามนั้นเป็นสิ่งดี แต่ถ้าไม่ระวัง ก็อาจกลายเป็นการส่งเสริมความชั่วก็ได้

            ถ้าเรายึดมั่นความถูกต้อง หากพบเห็นความไม่ถูกต้อง เราอาจจะเผลอทำสิ่งที่ผิดได้

            เพราะเมื่อยึดมั่นในความถูกต้อง แล้วเห็นความไม่ถูกต้อง ก็จะเกิดความไม่พอใจ แล้วความไม่พอใจจะลุกลามกลายเป็นความโกรธ แล้วความโกรธก็กลายเป็นเกลียด จนลืมตัว พอลืมตัวก็ทำร้ายผู้อื่นได้

(ติดตามตอนต่อไปวันพระหน้า)

จาก http://www.komchadluek.net/news/amulets/220638
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...