รู้จักพุทธวัชรยาน (2)
ก่อนเราจะทำความรู้จักมรรควิถีตันตระและซกเช็น มีบางประเด็นเกี่ยวกับวิถีพระสูตรสำหรับนักบวชซึ่งได้กลายเป็นข้อสงสัยสำหรับผู้คนมากมาย หลายคนถามว่า ลามะทิเบตแต่งงานได้หรือไม่
คำว่า ลามะ ในคำถามนี้ไม่ได้หมายถึงพระอาจารย์ซึ่งเป็นความหมายที่แท้ของศัพท์นี้ แต่หมายถึงพระภิกษุธรรมดาซี่งชาวทิเบตจะไม่เรียกว่าลามะ คนไทยเรามักจะเรียกกันผิดเสมอ แม้จะได้รับคำอธิบาย ก็ยืนยันจะเรียกพระทิเบตทุกรูปว่าลามะ อาจเป็นเพราะทำให้เราแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างพระทิเบตกับพระไทยได้อย่างชัดเจน
คำตอบคือ พระทิเบตแต่งงานไม่ได้ ท่านถือศีลปาฏิโมกข์ 250 ข้อ (ของไทย 227 ข้อ) ซึ่งข้อสำคัญที่สุดข้อหนึ่งคือการถือพรหมจรรย์ อย่างไรก็ตาม วิถีการปฏิบัติและสืบพระธรรมของทิเบตมีความซับซ้อน พระอาจารย์โดยเฉพาะในสายยุงตรุงเพิน (พุทธเพิน) และสายญิงมาปะ หากสืบสายการปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ในอดีตที่เป็นโยคีโดยเฉพาะผู้เป็นเตรเตินปะ (พระอาจารย์ที่ค้นพบธรรมสมบัติเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์) สามารถมีครอบครัวได้ โดยปกติท่านเหล่านั้นมักจะนุ่งสบงและ/หรือครองจีวรแบบโยคี ด้วยผ้าขาว ไว้ผมยาว หรือนุ่งสบงสีขาว ครองจีวรสีแดง ซึ่งทำให้ท่านดูต่างจากพระภิกษุโดยทั่วไป และในโลกสมัยใหม่นี้ ท่านอาจแต่งตัวเหมือนบุคคลทั่วไปในสังคม
เนื่องจากท่านเหล่านั้นมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลวัดและปกครองลูกศิษย์ซึ่งเป็นพระธรรมดา ในปัจจุบัน เราจึงเห็นหลายท่านโกนผมและแต่งกายเหมือนพระภิกษุ แต่ขอให้รู้ว่าท่านไม่ได้กำลังผิดศีล แต่จริงๆ แล้ว ท่านเป็นโยคี เพียงแต่ลักษณะภายนอกท่านอาจดูเหมือนนักบวชทั่วไป ซึ่งประเด็นนี้พระอาจารย์ในนิกายที่ถือเพศบรรพชิตเป็นหลักก็มีวิพากย์วิจารณ์บ้าง อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ที่อยู่ในเพศบรรพชิตที่แอบมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งถือว่าผิดศีลปาราชิกเช่นเดียวกับฝ่ายไทยหากมีการจับได้
ประมุขของนิกายสาเกียปะ สมเด็จพระสังฆราชสาเกีย ทริซิน ตามประเพณีจะไม่ได้เป็นพระภิกษุ แต่เป็นโยคี ท่านอยู่ในลักษณะครองเรือน บุตรของท่านซึ่งเป็นโยคีเช่นเดียวกันมีหน้าที่ในการปกครองวัดและสืบทอดพระธรรม แต่พระภิกษุอื่นๆ ทั้งหมดในนิกายนี้ล้วนแต่ถือศีลปาฏิโมกข์ (และยังมีการถือศีลโพธิสัตว์รวมทั้งศีลตันตระด้วย) ซึ่งประเพณีได้มีการสืบต่อกันมาตั้งแต่กำเนิดนิกายสาเกียปะขึ้นในปี ค.ศ. 1073 โดยท่านเคิน โกนชก เกียลโป
พระทิเบตยังมีลักษณะสำคัญต่างจากพระไทยตรงที่ท่านเหล่านั้นมักจะตั้งปณิธานบวชตลอดชีวิต ทางวัดจึงไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียนระยะสั้นๆ หรือบวชเพื่อแก้บน ทำบุญให้ผู้ล่วงลับ ฯลฯ ในระดับพระอาจารย์ หากมีความจำเป็นต้องลาสิกขา เช่น ท่านเชียมเกียม ทรุงปะ ริมโปเช ซึ่งเป็นลามะชั้นสูงแห่งวัดเซอร์มังในแคว้นคามแห่งทิเบตตะวันออก ลูกศิษย์ก็จะไม่วิพากย์วิจารณ์ท่าน ยังคงเคารพรักท่านเหมือนเดิม เพราะคำว่า ลามะ อันหมายถึง มารดาผู้เหนือกว่ามารดาใดๆ (supreme mother) ไม่ได้ขึ้นกับการแต่งกายและรูปแบบภายนอก แต่เป็นตำแหน่งที่สืบทอดกันมาหลายภพหลายชาติ พวกเขาจะคิดเสมอว่า คุรุกับศิษย์ผูกพันกันจนถึงการตรัสรู้
อีกลักษณะหนึ่งที่เราจะเห็นจากพระทิเบตซึ่งทำให้คนไทยเราไม่เข้าใจ เช่น การที่ท่านจับมือผู้หญิงได้ หรือรับของจากมือผู้หญิงได้โดยตรง ท่านฉันอาหารมือเย็นได้ จริงๆ หากปฏิบัติตามศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จะทำไม่ได้ แต่สมเด็จองค์ดาไลลามะก็ได้ตรัสว่า ศีลก็ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน การที่พระทิเบตจับมือผู้หญิงก็ไม่ได้ต่างจากการจับมือผู้ชาย เพราะทั้งชายและหญิงก็ล้วนแต่เป็นสัตว์โลก การจับมือต้องเป็นไปด้วยความปรานีดุจดังพระโพธิสัตว์โปรดสัตว์โลก เราอย่าลืมว่าท่านถือศีลโพธิสัตว์ซึ่งเน้นการปฏิบัติต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน และในฝ่ายตันตระเองก็มีการกำหนดการมองสัตว์โลก ว่าทุกชีวิตคือสภาวะศักดิ์สิทธิ์ ต่างมีจิตพุทธะภายใน นั่นคือ มีศักยภาพในการหลุดพ้น
ส่วนในเรื่องอาหารเย็นก็เช่นกัน ในทิเบตที่มีอากาศหนาวเย็นและอาหารมีน้อยอยู่แล้ว การรับประทานอาหารเย็นไม่ถือว่าเป็นการผิดธรรมวินัย แต่การรับประทานนั้นก็ไม่ใช่เพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นการบำรุงกายเนื้ออันประเสริฐเพื่อให้กายนี้ได้รับใช้สรรพสัตว์และได้เป็นพาหนะสำหรับการพัฒนาจิตจนเข้าถึงการรู้แจ้ง รูปแบบการปฏิบัติธรรมบางอย่าง เช่น การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ เน้นพละกำลังเพื่อให้เราได้ใช้กายเนื้อเพื่อการภาวนาให้มากที่สุด กายเนื้อนี้จึงต้องการอาหารที่พอเพียง แต่ก็มีการปฏิบัติสมาธิที่เน้นการไม่รับประทานอาหาร (ต้องได้รับการควบคุมอย่างใกล้ชิดจากคุรุอาจารย์) ในระหว่างไม่ทานอาหารซึ่งอาจเป็น 1 วัน ไปจนถึง 7 วัน เราจะอยู่กับพลังจากจักรวาล อยู่กับพลังมนตราที่เป็นอาหารชั้นเยี่ยมของร่างกาย
ในตอนที่ผู้เขียนไปกราบอัษฎางคประดิษฐ์ในทิเบต พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช ลามะในนิกายสาเกียปะ ได้มาเยี่ยม พร้อมกับต้มเนื้อจามรีและนำนมเนยมาให้ผู้เขียน เป็นเหตุการณ์ที่ประทับใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยพระอาจารย์ท่านฉันมังสวิรัติ แต่ท่านต้มเนื้อจามรีมาให้ แล้วบอกว่า ขอให้รับประทานอาหารให้ดีที่สุด เพื่อให้กายนี้แข็งแรง มีกำลัง จะได้กราบได้มาก จะได้ลุล่วงเป้าหมายของการจาริกแสวงบุญ
พูดถึงอาหารมังสวิรัติ ผู้ปฏิบัติธรรมทิเบตส่วนใหญ่ต่างจากพระจีนและผู้นับถือพระแม่กวนอิมที่ไม่รับประทานเนื้อวัว พวกเขามักไม่ได้ละเว้นการกินเนื้อ แต่มักจะหลีกเลี่ยงการกินอาหารทะเล ด้วยเชื่อว่า ชีวิตเล็กๆ ของสัตว์ทะเลไม่สามารถทำให้เราอิ่มท้องได้ ทำให้ต้องเบียดเบียนสัตว์เป็นจำนวนมาก แต่สัตว์ใหญ่อย่างจามรี หนึ่งตัวเลี้ยงคนได้ทั้งหมู่บ้าน
การกล่าวว่าต้องมีการปรับปรุงศีลให้เหมาะกับยุคสมัยหรือสภาพแวดล้อม ไม่ได้แปลว่านักบวชจะทำอะไรก็ได้ ศีลข้อไหนอยากเก็บไว้ก็เก็บ ข้อไหนทำไม่ได้หรือไม่ต้องการก็ละทิ้งไป ผู้เป็นพระอาจารย์จึงมีหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่จะดูแลและกำหนดพฤติกรรมของศิษย์ วัดทิเบตจำนวนมากมีพระลูกศิษย์ถึง 300-400 รูป จึงเป็นสิ่งท้าทายที่จะให้ทุกคนได้ปฏิบัติภายใต้พระธรรมวินัย และโดยเฉพาะเมื่อพระส่วนใหญ่มาบวชเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ปกติตามวัดจะมี เกกู หรือพระผู้คุมกฎคอยดูแลสอดส่องความเป็นไปของพระลูกวัด ดังเช่นที่เราเห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Cup
มรรควิถีตันตระ (Transformation Way)
ตันตระเป็นชื่อคัมภีร์อีกชุดหนึ่งซึ่งเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ถ่ายทอดแต่ถ่ายทอดในลักษณะพิเศษระหว่างคุรุกับศิษย์ ไม่ได้ทำในที่สาธารณะ สำหรับนิกายยุงตรุงเพิน พระพุทธเจ้าองค์ผู้ถ่ายทอดอยู่ในลักษณะสัมโภคกาย ทรงไม่ได้ถ่ายทอดทางวาจา แต่ทางกระแสแห่งพร เรียกว่า โกงปา ถ่ายทอดมาเป็นลำดับขั้นจนถึงผู้ปฏิบัติธรรมที่เป็นมนุษย์ แล้วท่านสอนทางวาจาจนเราได้รับคำสอนนี้อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยคัมภีร์นี้ได้มีการรจนาเป็นลายลักษณ์อักษรและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ก่อนจะพูดถึงรายละเอียดของคัมภีร์ จะขอพูดถึงลักษณะการมองโลกของผู้ปฏิบัติตันตระก่อน
มรรควิถีนี้มีปรัชญาเพื่อการเปลี่ยนโลก เราจะไม่วิ่งหนีกิเลส ไม่ดูดายกับความเป็นไปของโลก แต่มุ่งเน้นเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น ให้รื่นรมย์ขึ้น เปลี่ยนจากความไม่บริสุทธิ์แห่งกิเลสห้าให้เป็นความบริสุทธิ์แห่งปัญญาห้า เปลี่ยนความโกรธให้เป็นความรัก เปลี่ยนความอิจฉาริษยาให้เป็นมุทิตา เปลี่ยนโลกที่เราอยู่ไม่ว่าจะน่าเกลียดน่ากลัวเพียงไร ให้เป็นพุทธเกษตร สวรรค์อันผ่องแผ้วของพระพุทธเจ้า มรรควิถีนี้จึงเน้นการมองโลกอย่างไม่ผลักไส สังสารวัฏกับนิพพานไม่แยกจากกัน ดุจดังหน้ากลองดามารุที่มีสองหน้าเพื่อสื่อถึงความจริงสองด้าน ต่างจากมรรควิถีพระสูตรซึ่งเน้นการมองว่าทุกสิ่งคือภาพลวงและการละความจริงระดับสมมุติไปสู่ความจริงในระดับสูงสุด
(ยังมีต่อ)
กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์
21 สิงหาคม 2556
หมายเหตุ : ข้อความที่เขียนในบทความนี้เขียนจากความเข้าใจ จากประสบการณ์การเดินทางในทิเบตและการเดินทางทางจิตใจของผู้เขียน ไม่ได้เขียนจากการค้นคว้า จากมุมมองของนักวิจัยที่จะต้องให้คลอบคลุมทุกประเด็น ทุกนิกาย และต้องมองสิ่งที่เขียนอย่างไม่มีความรู้สึกผูกพัน ผู้เขียนเบื่อหน่ายต่องานวิจัยและหนังสือจำนวนมากเกี่ยวกับวัชรยานที่เต็มไปด้วยอคติ ในระยะหลังจึงมุ่งอ่านเพียงบทสวดมนต์ คู่มือปฏิบัติ งานเขียนของคุรุอาจารย์ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาทิเบตและงานเขียนของคุรุในโลกปัจจุบันที่มีใจเปิดกว้าง ดังเช่น งานเขียนของสมเด็จองค์ดาไลลามะ