ผู้เขียน หัวข้อ: กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ โยคีนี...ในโลกยุคใหม่  (อ่าน 1065 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


ศรัทธาไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา เธอเข้าไปใช้ชีวิตกับคนทิเบต และปฏิบัติภาวนาตามแนวทางพุทธวัชรยานในช่วงหลายสิบปี คำว่าศรัทธา จึงมีที่ีมาที่ไป


เหมือนเช่นที่กล่าวนำว่า “ศรัทธาไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วพริบตา” แต่เธอค่อยๆ เรียนรู้ จนเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับคนทิเบตและพุทธศาสนาสายวัชรยาน ทั้งในแง่การใช้ชีวิต การศึกษาคัมภีร์และการปฏิบัติธรรม จนในที่สุดปวารณาตัวเดินตามรอยเท้าครู ซึ่งหมายถึงพระอาจารย์หลายท่านในทิเบต ทำงานสอนผู้คนฝึกจิตภาวนา เพื่อบ่มเพาะปัญญาสู่สภาวะเดิมแท้ของจิตและธรรมชาติ และขอทำงานโดยไม่แบ่งแยกนิกาย

ย้อนไปเมื่อปีพ.ศ. 2550 รศ.ดร.กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เธอตัดสินใจเดินกราบแบบอัษฎางคประดิษฐ์ในทิเบต 18 วัน หลังจากนั้นลาออกจากราชการ เพื่อทำงานให้มูลนิธิพันดาราที่เธอก่อตั้งอย่างเต็มตัว ณ ศูนย์ขทิรวัน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ชีวิตที่ผ่านมา เธอไปทิเบตครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อช่วยหาทุนให้เด็กยากจนและสามเณรีเรียนหนังสือและปฏิบัติธรรม รวมถึงช่วยคนทิเบตเท่าที่จะทำได้ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาทิเบต เธอเคยพาคณะทั้งในภาครัฐและเอกชนจากเมืองไทยไปเรียนรู้ในทิเบตอยู่เรื่อยๆ เคยเดินภาวนาจาริกแสวงบุญ ณ เขาไกรลาศ และเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เดินทางเป็นครั้งที่สาม

ปัจจุบันอาจารย์กฤษดาวรรณ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการปฏิบัติภาวนาและสอนผู้คนที่สนใจที่ศูนย์ขทิรวัน ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่งดงาม และยังมีภาระกิจยิ่งใหญ่ในการระดมทุนสร้างพระศานติตารามมหาสถูปตามแบบศิลปะทิเบต ซึ่งเธอเปรียบเสมือนโรงพยาบาลทางใจให้ผู้คนทุกศาสนา และเป็นอีกงานที่เธอปวารณาเพื่อการนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ในคอร์สมรณานุสติ เตรียมตัวตายอย่างแบบมีสติ ที่เธอบรรยายและสอนภาวนา เพื่อผู้ป่วยและอาสาสมัครของมูลนิธิชีวันตารักษ์ จุดประกายมีโอกาสสนทนากับ อ.กฤษดาวรรณ หรือเกซัง ตาวา ที่เพื่อนๆ ชาวทิเบตเรียก

และนี่คือ เรื่องราวของครูบาอาจารย์ที่หันจากการสอนภาษาวิชาการมาสอนภาษาธรรม เพราะเธอได้รู้และเห็นแล้วว่า การเดินทางด้านในเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต ไม่ว่าการฝึกจิต เพื่อละตัวตนและมีความเมตตาโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ เหมือนเช่นที่คนทิเบตหยิบยื่นให้คนทั่วโลก

ตอนที่ลาออกจากราชการมาทำงานทางธรรม เป็นการตัดสินใจที่ยากไหม

ชีวิตการเป็นอาจารย์ เน้นทำวิจัยมาตลอด แล้วการเป็นอาจารย์ ก็ทำให้อัตตาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ไม่อยากให้ชีวิตของเราจบแค่เกษียณ ถ้าจะทำอะไร ค่อยทำหลังเกษียณ รู้สึกมันไม่ทัน อยากจะเตรียมชีวิตให้ดีที่สุด จริงๆ ก็คือ เตรียมตัวตาย แต่เป็นการเตรียมตัวตั้งแต่ยังมีกำลัง ก็เลยตั้งใจทำงานมูลนิธิพันดารา และอุทิศชีวิตที่เหลือให้กับการปฏิบัติธรรม ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่า เราเอาดีทางธรรม เพียงแต่ไม่ออกบวช ซึ่งการตัดสินใจทุกอย่างมีอิสรภาพเต็มร้อย คนที่เป็นห่วงคือ คุณพ่อ คุณแม่ แต่พวกเขาก็เข้าใจ อีกอย่างเราเข้าใจจุดหมายหลักของชีวิต ซึ่งต่างจากสมัยก่อนใฝ่ฝันอยากเป็นนักภาษาศาสตร์ที่เก่ง จริงๆ เป็นเป้าหมายเล็กๆ แต่เมื่อเปลี่ยนทัศนคติ ก็อยากทำให้ชีวิตเราทำประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อเราคนเดียว แต่เพื่อคนอื่นด้วย

อะไรทำให้อาจารย์เปลี่ยนความมุ่งมั่น

การที่ได้ซึมซับวิถีของทิเบต ทั้งๆ ที่ไม่ได้ตั้งใจ จากที่เราเรียนภาษาทิเบต วรรณกรรมทิเบต และธรรมะในสายทิเบต จนกระทั่งออกไปใช้ชีวิตอยู่กับชาวทิเบต ไปวัดอารามแบบทิเบต ความประทับใจไม่ได้เริ่มมาจากวัด แต่มาจากจิตใจผู้คน ทำให้อยากนำสิ่งดีๆ ที่ชาวทิเบตมีในสังคมของเขากลับมาเมืองไทย

จะยกตัวอย่างความประทับใจสักนิดได้ไหม

จริงๆ เรื่องเหล่านี้ก็อาจพบในสังคมไทย แต่เราใกล้ชิดกับครูบาอาจารย์ในสายทิเบต มีท่านหนึ่งไม่ได้มีสตางค์เลย แต่ท่านตัดสินใจสร้างโรงเรียนให้เด็กๆ เพราะเด็กๆ เดินมาเรียนไกลมาก แล้วทำไมเรามีความรู้เขียนภาษาอังกฤษได้เราไม่ช่วยท่าน ไม่ว่าเด็กชาติไหนก็ล้วนแต่เป็นบุคคลน่าช่วยเหลือ ความประทับใจส่วนหนึ่งมาจากตรงนี้ และการศึกษาเรื่องราวของทิเบต อย่างเรื่องเตรียมตัวตาย ในสายทิเบตมีธรรมะที่ลึกซึ้งมาก มันเปลี่ยนเราไปทีละเล็กละน้อยและน้ำใจคนทิเบตที่ให้เราพักในบ้านดูแลทุกข์สุข คนอาจมองว่านั่นเป็นวิถีชนบท แต่มันมากกว่านั้นในเรื่องน้ำใจที่ให้กับคนแปลกหน้า และน้ำใจแบบนี้ยังขาดในสังคมสมัยใหม่ ตอนนั้นพวกเขาต้มน้ำร้อน แล้วใส่ขวดแก้วให้เรานอนกอดตอนกลางคืนที่หนาวๆ หรือตอนตี 1 มาดูว่าห่มผ้าหลุดไหม ซึ่งเราก็อายุมากแล้ว เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เขาดูแล ทั้งๆ ที่เราไม่ได้สนิทสนมกัน ทำให้สนใจว่า พวกเขามีความเอื้อเฟื้อขนาดนี้เพราะอะไร มีการมองโลกทางบวกและการภาวนาตลอด ตอนตี 5 พวกเขาตื่นมาต้มน้ำ ระหว่างนั้นสวดมนตร์ตลอด ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือไม่ออก พวกเขามีศรัทธาที่เข้มข้น

อีกตัวอย่าง เมื่อสามปีที่แล้ว เคยไปช่วยผู้ประสบภัยทิเบตจากแผ่นดินไหว มีคนๆ หนึ่ง บ้านไม่เหลือแล้ว หลานและญาติตายไปสิบคน หลายคนย้ายไปอยู่เต้นท์ที่รัฐบาลจัดให้ ตอนที่เราไปเยี่ยมเขาไปต้มน้ำแล้วใส่ภาชนะให้เราล้างหน้าก่อน เสร็จแล้วเขาเอาไปล้างหน้าต่อ เพราะน้ำมีน้อย ตอนนั้นไม่มีไฟฟ้าและน้ำ มีครอบครัวหนึ่งที่เรารู้จักตอนไปทำวิจัย เคยมีบ้านใหญ่โต เมื่อเกิดภัยพิบัติ พวกเขาไม่เหลืออะไรเลย ตอนนั้นคนที่ร้องไห้มากๆ กลับเป็นเรา พวกเขาทำใจได้ ช่วงนั้นคนตายเป็นพันๆ ศพ แต่มีคนร้องไห้เสียงดังแค่คน สองคน นอกนั้นเป็นเสียงสวดมนตร์ภาวนา และก่อนกลับ เขาพูดกับเราว่า “เพราะเขายังสวดมนตร์ไม่พอ ดังนั้นชีวิตที่เหลือต้องทำดีมากกว่าเดิม”

เมื่อได้สัมผัสและอยู่กับคนทิเบต ทำให้อาจารย์ค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการมองโลก ?

ได้ฝึกละอัตตา ตอนนั้นได้ร่วมสวดมนตร์ส่งวิญญาณกับคนทิเบต ศพแล้วศพแล้วที่เราเห็น พวกเขาจะถอดเสื้อศพนำมารวมกัน ทำให้เรานึกถึงสภาวะความเป็นจริง เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นกับสังคมไหนก็ได้ ตอนนั้นเราก็ช่วยพวกเขาไม่ได้มาก ไปให้กำลังใจ และให้ทุน เพราะเราไม่ได้เตรียมตัว และการเดินทางไปลำบากมาก ถนนปิด ค่ารถแพงมาก และพวกเขาก็ไม่อยากให้เราอยู่ต่อ เพราะอากาศไม่ดีและตอนนั้นคิดว่า เราจะเป็นภาระ เพราะพวกเขาต้องหาของที่ดีที่สุดให้เราทานก่อน

และเมื่อสองปีที่แล้วกลับไปอีกครั้ง ร่วมกับเครือข่ายชีวิตสิกขา นำผ้าพันคอจากนักโทษเรือนจำไปมอบให้ ซึ่งยังมีชาวทิเบตพักอยู่ในเต้นท์ คุณแม่ของพระอาจารย์ท่านหนึ่ง เห็นเราก็ดีใจมากเข้ามากอด และ ไม่ได้สนใจข้าวของที่เรานำมาให้ เราได้คุยกัน แม้รัฐบาลจะสร้างบ้านให้ แต่เธอไม่เอา ขออยู่ในเต้นท์ เธอบอกว่า "อยากปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่อยากยึดติดกับสมบัติใดๆ ในโลกนี้"

การเดินกราบและจาริกแสวงบุญในทิเบตหลายครั้ง ตอบความสงสัยในใจอาจารย์ได้เพียงใด

ก่อนไปเดินภาวนาที่ทิเบต เราก็มีกิจกรรมสอนภาวนาตลอด แต่เพื่อเป็นการสลายบาปกรรม บำเพ็ญกุศล ครั้งแรกคือ การเดินกราบ 18 วันจากเมืองหนึ่งสู่อีกเมือง ครั้งที่สองเดิน 11 วันรอบภูเขาศักดิ์สิทธิ์ และปี 2552 ไปเดินจารึกแสวงบุญที่เขาไกรลาศ กลับมาก็ไปรับศีลกินมังสวิรัติตลอดชีวิต เราต้องการทำบุญให้จามรี 30 ตัวที่จะถูกนำไปโรงฆ่าสัตว์ แล้วเราไม่สามารถไถ่ชีวิตพวกเขาได้ ก็เลยขอไถ่ทางวาจา โดยให้พระอาจารย์เป็นผู้อนุโมทนา มีอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นประจักษ์พยาน

ตอนไปเขาไกรลาศครั้งแรก มีความยากลำบากในการเดิน เจอพายุลูกเห็บและหนาวมาก เท้าแชะ เปียกไปหมด เมื่อกลับจากเขาไกรลาศ ก็คิดว่าจะกลับมาอีก อยากกลับมาพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้น อยากให้จิตใจไม่หวั่นไหว เพราะเขาไกรลาศเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ความปรองดองของผู้คนหลายศาสนา ก็เลยตั้งใจว่าจะจัดจาริกแสวงบุญ เพื่อร่วมเดินทางกับตัวเอง ร่วมบุญสร้างพระสถูปด้วย ซึ่งจัดไปครั้งที่สอง และครั้งที่สาม

การเดินทางไปเขาไกรลาศครั้งที่สามในปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง

เดือนที่แล้วเราไปเขาไกรลาศกับคณะและอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เพื่อจาริกบุญรอบภูเขา วันแรกเดินค่อนข้างลำบาก เพราะไม่คุ้นกับอากาศหนาวในทิเบต วันนั้นเราเดินมาครบ 20 กิโลต้องเจอแอ่งน้ำ ถ้าจะข้ามไปได้ต้องถอดรองเท้า ไกด์ผู้หญิงชาวทิเบตจากเมืองลาซา เห็นอาจารย์ประมวลกำลังจะเดินข้ามน้ำ เธอรีบถอดรองเท้าเดินไปหาอาจารย์ เพื่อให้อาจารย์ขี่หลัง เพราะเธอกลัวว่าอาจารย์จะป่วย เนื่องจากน้ำเย็นมาก

พวกเรายืนมองน้ำตาซึม ผู้หญิงทิเบตตัวเล็กๆ กว่าอาจารย์ กุลีกุจอข้ามน้ำไปเพื่อให้อาจารย์ขี่หลัง อาจารย์ก็ยินดี ส่วนเราเองก็ได้รับการช่วยเหลือจากผู้หญิงอายุ 20 กว่าผอมๆ บางๆ เห็นเราจะข้ามน้ำก็ให้ขี่หลังเลย เราก็ให้เขาช่วย เพราะอยากให้เขารู้ว่า น้ำใจยิ่งใหญ่ บางทีเราอาจคิดว่าเขาลำบาก ในเมื่อเขารู้ว่า เขาทำได้ และนั่นเป็นของขวัญที่ดีที่สุด ทุกครั้งที่ไปเขาไกรลาศวันแรกๆ จะลำบาก แต่เป็นประสบการณ์ที่สำคัญในชีวิต

และเราได้คุยกันถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้น อาจารย์ประมวลบอกว่า พอลงจากหลังไกด์ชาวทิเบต อาจารย์ยกมือไหว้ อาจารย์บอกว่า ขณะนั้นอาจารย์ไม่ได้ถูกอุ้มให้ข้ามน้ำธรรมดา แต่มันมีความอบอุ่นมั่นคง เหมือนได้รับการโอบอุ้มให้ข้ามวัฎสงสาร และตอนนั้นไม่มีคำว่าพุทธไทยหรือพุทธทิเบต มันมีความรัก ความเกื้อกูล ความไว้วางใจ อาจารย์ให้เธอพาข้ามน้ำ โดยไม่มีความสงสัยว่าเธอจะอุ้มไหวหรือไม่ และในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ เราจะสรุปปรัชญาและประสบการณ์จากการเดินเขาไกรลาศ ในงาน "ประมวลธรรม ประมวลรัก เหตุเกิด ณ ไกรลาศ" ที่อาคารสถาบัน 3 (หลังศูนย์หนังสือจุฬาฯ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาไกรลาศมีความสำคัญในการจารึกแสวงบุญเพื่อการภาวนาอย่างไร

มีคนไทยพูดถึงเขาไกรลาศ แต่ไม่มีใครพูดถึงการภาวนา ซึ่งทำให้เราแกร่งขึ้นจากประสบการณ์นั้น และสอนให้เราไม่ประมาท ปีหน้าจะกลับไปอีกรอบ เพราะพระอาจารย์ไพศาล วิสาโลจะเดินทางไปด้วย และประสบการณ์ของเราคงช่วยท่านได้ ในการภาวนาที่เขาไกรลาส ที่นั่นชาวทิเบตเรียกว่า สถูปแก้วบนโลกมนุษย์ และในการที่เราจะสร้างพระสถูป แล้วเดินทางไปที่นี่ ถือเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่และเป็นกำลังใจ

กลับมาเรื่อง ศูนย์ขทิรวัน เห็นบอกว่า เกิดขึ้นโดยไม่ได้วางแผนเลย ?

เนื่องจากมีความผูกพันกับศิลปะและวัดวาอารามแบบทิเบต อยากให้มีสถานปฏิบัติธรรมที่เราได้ใช้วิถีแห่งทิเบตครบวงจร ตอนแรกคิดว่ามีแค่หนึ่งไร่ใกล้กรุงเทพฯ แต่อ.หัวหิน เป็นบ้านเกิด จึงซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นการงานที่ใหญ่มาก เพื่อพัฒนาจิตใจคน จนมีอาสาสมัครมาช่วย บางท่านก็คิดว่า ขอเป็นที่เตรียมจิตระยะสุดท้าย ที่นี่ไม่ได้เปลี่ยนชีวิตอาจารย์คนเดียว แต่เปลี่ยนอีกหลายคนที่เริ่มปฏิบัติ ตอนที่เราจัดกิจกรรมเตรียมตัวตายครั้งแรก เราก็ไม่มั่นใจว่า ผู้คนจะเข้าใจพุทธศาสนาสายทิเบตในเรื่องมรณานุสติ เพราะลึกๆ แล้วไม่อยากให้เรื่องของทิเบตเป็นอุปสรรค จริงๆ แล้วเราแสวงหาธรรมะของพระพุทธเจ้า แสวงหาแก่นธรรมที่อยู่ลึกๆ ในใจเรา ถ้าเราไปยึดเอาสายหรือภาษาหรือชื่อ มันจะทำให้เราหลุดจากแก่นธรรม

เพราะไม่มีใครบอกเราได้ว่า เราจะตายเมื่อไหร่ พระอาจารย์ของเราที่เป็นโยคี เคยเป็นมะเร็ง ในคำอธิบายทางทิเบตคือ ธาตุน้ำเสียสมดุล ตอนนั้นท่านป่วยมาก ขณะที่ท่านเป็นนักสวดมนตร์ ก็ไม่มีแรงสวดมนตร์ ท่านต้องนำรูปของพระพุทธเจ้าแปะไว้ที่ผนัง เพื่อให้จิตที่อ่อนล้าได้เห็นบทสวดมนตร์ หมอบอกว่า ท่านจะอยู่อีกไม่นาน แต่ท่านตั้งจิตอธิษฐานว่า หากชีวิตที่เหลือจะเป็นประโยชน์ต่อสรรพสัตว์ ขอให้ท่านหายป่วย เพราะท่านกำลังทำงานชำระพระไตรปิฎก ตอนนั้นท่านฝันว่า ถ้าท่านถวายดอกไม้สดเป็นประจำ จะช่วยต่ออายุท่านได้

หลังจากภาวนาประจำ ท่านดีวันดีคืน เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นเกือบ 20 ปี ตอนนี้ท่านอายุ 70 แข็งแรงดี แม้จะมีโรคประจำตัวบ้างแต่ไม่อันตราย เหมือนเช่นที่บอกว่าไม่มีใครกำหนดชีวิตเราได้ ไม่มีใครบอกเราได้ว่าจะอยู่อีกกี่เดือนกี่ปี ถ้าเรามีจิตเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้คนอื่น นั่นเป็นข้อต่อรองที่ยิ่งใหญ่ แต่ถ้าอยู่เพื่อเลี้ยงลูกยังเป็นข้อต่อรองที่เล็กกว่า ถ้าเรายังไม่ถึงอายุขัยจริงๆ ก็สามารถแก้ได้ หรืออย่างน้อยๆ ถ้าเราพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่หายป่วย ก็ไม่เป็นไร เราพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว

และนี่คือสิ่งที่เรานึกถึงคำสอนอาจารย์ของเรา และท่านก็ใช้ชีวิตคุ้มค่า เมื่อท่านหายป่วย ท่านชำระพระไตรปิฎกได้สำเร็จ คัมภัร์ของท่านถือว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งในวงการทิเบต ทำอย่างปราณีตรอบคอบ แม้จะมีลูกศิษย์ไม่กี่คนช่วย แต่ท่านใช้หัวใจทำ ท่านเพิ่งชำระคัมภีร์ชุดที่สองเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ส่วนตัวเราเอง ยังทำงานช้า และอีกงานที่ท่านไม่ได้ทำเอง แต่ให้แรงบันดาลใจในการสร้างพระสถูปที่มูลนิธิกำลังทำ

ทำไมต้องสร้างพระสถูปขนาดใหญ่ในเมืองไทย ?

ถ้าสร้างเป็นพระสถูปเล็กๆ รูปโดมองค์เดียว เราแทบจะไม่เห็นศิลปะของทิเบต เราคนเดียวก็ทำได้ แต่พระสถูปที่สร้างองค์นี้จะได้เห็นศิลปะทุกอย่างของทิเบต เป็นทั้งวิหารและสถานที่ปฏิบัติธรรม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของคุรุอาจารย์ รวมถึงพระพุทธรูป ซึ่งอยู่ในองค์โดมหลายระดับ หลายองค์ประกอบ มีเสาที่มีลวดลายแบบทิเบต เราคุยกับสถาปนิกว่า จะต้องทำเป็นหอศิลปะได้ด้วย คนที่ไม่เคยเห็นก็จะได้เรียนรู้ แรงบันดาลใจจะช่วยน้อมนำจิตใจให้งดงาม เพราะทิเบตมีชื่อเสียงในเรื่องศิลปะ และประเทศไทยเรายังไม่มี เมื่อมีตรงนี้ก็เป็นการอนุรักษ์มรดกของโลก ไม่ว่าจะวิถีใดก็ตาม

พระสถูปที่สร้างจะเป็นสถานปฏิบัติธรรมแบบทิเบตที่มีทุกอย่างของการปฏิบัติ ตั้งแต่การกราบแบบอัษฏางคประดิษฐ์ เป็นสถานที่ทำสมาธิชั้นสูง และสถานที่บำเพ็ญบุญกุศล อย่างเราทำพิธีให้ผู้ล่วงลับจะมีการถวายดวงประทีป ในอนาคตพระสถูปจะเป็นสถานที่สำคัญในการถวายดวงประทีป เหมือนพระสถูปที่เนปาล มีคนเดินภาวนาทั้งวัน นั่นคือสิ่งที่เราใฝ่ฝันอยากเห็น ให้ผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ปฏิบัติธรรมตลอดเวลา

แค่เห็นลวดลายเสาทิเบต ก็ตื่นเต้นแล้ว ซึ่งศิลปะเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือ การบำเพ็ญกุศลร่วมกัน เพราะเป็นการร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง ในตำนานการสร้างพระสถูปโพธินาถที่เนปาล ผู้ริเริ่มเป็นครอบครัวชาวนาจนๆ ที่มีศรัทธาสูงร่วมกันสร้าง โดยขออนุญาตจากกษัตริย์ พวกเขาแบกหินปูนกันเอง เมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นไม่อนุโมทนา จึงไปฟ้องพระมหากษัตริย์ที่ปล่อยให้ชาวบ้านครอบครัวนี้สร้างพุทธสถานขนาดใหญ่ พระมหากษัตริย์ก็ตรัสว่า อนุญาตไปแล้วไม่สามารถคืนคำ พระสถูปองค์นี้จึงได้ชื่อในภาษาทิเบตที่แปลออกมาว่า “ตรัสแล้ว ไม่คืนคำ” แม้จะเริ่มด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีศรัทธา ก็ได้รับการร่วมแรงร่วมใจหลายฝ่าย และในที่สุดก็สร้างสำเร็จ พระสถูปหลายแห่งในทิเบตเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจกัน ก็เหมือนการสร้างวัด เป็นอานิสงค์ที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ปรากฏอยู่ไม่สำคัญเท่ากับพื้นที่ในจิตใจของเรา

ตามวิถีภาวนาของชาวทิเบต พระสถูปมีความสำคัญอย่างไร

ตอนที่ทำวิจัยในเนปาล เคยพักอยู่ใกล้พระสถูปโพธินาถหนึ่งปี เดินภาวนาเวียนเทียนทุกวัน ในวันที่พระอาจารย์คนสำคัญของทิเบตมรณะภาพ ชาวทิเบตจุดดวงประทีปเป็นแสนดวง อัศจรรย์มาก พวกเราจึงตั้งใจว่า ถ้าพระสถูปสร้างเสร็จ เราจะเปิดกว้าง รองรับการปฏิบัติทุกรูปแบบ จะมานั่งสมาธิแบบไหนแนวไหนก็ได้ทั้งนั้น เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เรื่องการสร้างอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างสถูปในจิตใจผู้คนให้เขามีความรักความกรุณา และใช้เรื่องทิเบตเป็นสื่อ เพราะเป็นสิ่งที่เราถนัด แต่ถ้าเขามีความรักความกรุณาอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องสอน นอกจากสนใจแนวทางทิเบต

นั่นคือ ความศรัทธา ?

พอซื้อที่ดินทำสถานปฎิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ก็บอกว่า ถ้าจะทำก็ควรสร้างพระสถูปด้วย ไม่อยากให้ทำแค่สถานปฏิบัติธรรม เราก็เคยอยู่ใกล้พระสถูปโพธินาถ ก็เข้าใจทันที เราเองก็ไม่มีทุนและตอนแรกก็ไม่รู้จะสร้างอย่างไร จึงไปเดินกราบจาริกแสวงบุญ ต่อไปนี้จะทำประโยชน์ทางธรรม เหมือนบางคนออกบวช แต่เราใช้การกราบเป็นสัญลักษณ์ ไม่มีพระอาจารย์องค์ใดหรือใครบอกให้ทำ ปกติทุกวันก็กราบอยู่แล้ว เมื่อทำงานทางธรรม ก็ค่อยๆ มีอาสาสมัครมาช่วยกันคิดและสร้าง รวมถึงบริจาคเงินช่วยกัน

หัวใจหลักของพระสถูปคืออะไร

พระสถูปเป็นสัญลักษณ์แทนจิตตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เป็นเครื่องรองรับแทนกาย วาจา ใจ ในส่วนของกายคือ พระพุทธรูป วาจาคือ พระคัมภีร์ และใจคือ พระสถูป จึงมีความสำคัญมาก บางคนอาจจะบอกว่า มีสถานที่ทางพุทธศาสนาเยอะแล้ว แต่ถึงมีเยอะก็ยังไม่พอ เหมือนที่เราถามว่า ทำไมต้องสร้างโรงแรมมากมาย หรือสถานที่ไม่ดี เราอยากให้มีน้อยๆ อย่าง โรงฆ่าสัตว์ โรงงานผลิตอาวุธ แต่ในแง่พระสถูป ยิ่งเยอะยิ่งแพร่พลังบวก โดยเฉพาะพระสถูปที่เน้นการปฏิบัติทำให้ผู้คนมีที่พักใจ มีคำกล่าวว่า พระสถูปมีอานิสงค์ บางคนเพียงแค่เห็นพระสถูป ก็อาจจะเข้าถึงจิตเดิมแท้ และสามารถเปลี่ยนวิถีชีวิต บางคนโกรธคนมา เห็นยอดพระสถูปก็หายโกรธ บางคนอยากฆ่าตัวตาย เห็นพระสถูปก็อาจเปลี่ยนใจ อานิสงค์เกิดขึ้นมาเอง

แต่พระสถูปจะมีพลังมากๆ ต้องสร้างด้วยจิตใจบริสุทธิ์ มีศรัทธา มีความรักและความกรุณาต่อผู้อื่น เราเรียกว่าโพธิจิต ถือว่าเป็นฐานรากของการปฏิบัติ ขณะสร้างเราต้องทำจิตให้เป็นกุศล ทำทุกอย่างที่งดงาม ทำสมาธิ ไม่ปรุงแต่งจิต และเมื่อสร้างเสร็จ เราจะตั้งใจอุทิศให้สัตว์ทั้งหลายเข้าถึงการหลุดพ้น เพราะนั่นคือความหมายที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างพระสถูป นอกจากนี้เราจะสอนเรื่องการปฎิบัติภาวนา ไม่ว่าจิตอาสาหรือใครที่เข้ามาที่นี่ ซึ่งเป็นพื้นฐานหลัก เราสอนให้คนละอัตตามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ดำเนินการไปแค่ไหนแล้ว

ตอนนี้สร้างฐานราก จากนั้นจะสร้างเสาลวดลายทิเบต ค้ำพระสถูป ซึ่งการสร้างพระสถูปไม่ใช่การงานทางโลก แต่ไปพร้อมๆ การภาวนา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเราจะจากไปเมื่อไหร่ ขณะที่เรามีกำลังและปฎิภาณที่มั่นคงก็ทำให้ดีที่สุด เพราะการงานสำคัญที่สุดของมูลนิธิตอนนี้้คือ การสร้างพระสถูป แม้จะมีคนบริจาคบ้าง แต่ยังไม่พอ เพราะต้องใช้เงินกว่า 200 ล้านบาท นอกจากโครงสร้าง ยังมีเรื่องศิลปะ การหล่อพระ 17 องค์ ดำเนินการไปแล้ว 4 องค์โดยการจัดทอดพระป่าสามัคคี ซึ่งพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นประธาน ปีนี้ท่านจะช่วยเป็นประธานปีที่สอง และการภาวนาเราทำตลอด แม้ยังไม่เสร็จ ก็ใช้เป็นสถานที่ภาวนาไปด้วย

หลังจากปฏิบัติภาวนาอย่างต่อเนื่อง อะไรทำให้อาจารย์รู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว

เมื่อเราปฏิบัติจำศีล ภาวนา ก็มีสัญญาณบางอย่าง เรารู้สึกว่ามีความสุข บางครั้งเรื่องเดียวกัน ถ้าเป็นสมัยก่อนเราเครียด แต่เมื่อปฏิบัติแล้วเราไม่เครียด จิตใจเยือกเย็น เมตตากรุณามากขึ้น บางสิ่งบางอย่างที่เคยกลัว ก็ไม่กลัว

เปลี่ยนไปหมดทุกเรื่อง ทั้งความกลัวด้วย ?

เมื่อก่อน ขี้โมโห ต้องการทำอะไรให้ได้ผลดีอย่างรวดเร็ว เมื่อปฏิบัติก็เปลี่ยนไป ซึ่งเราก็ไม่ได้อยู่ในวิถีนักบวช เพราะพระอาจารย์ของเราเป็นโยคี ไม่ได้อยู่วัด เรามีครูบาอาจารย์หลายคนหลายสาย เพราะการฝึกที่ไม่ยึดติดกับสิ่งใดหรือรูปแบบใด หลักใหญ่คือ เน้นเรื่องการฝึกจิตให้อยู่ในสภาวะเดิมแท้ หากเราฝึกได้ดี เราอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ เราทำป่าให้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม มันมีความหมายกับชีวิต เราก็รักธรรมชาติ อยากอนุรักษ์บริเวณนี้ให้งดงาม และมีหลายช่วงที่อยู่คนเดียวที่ศูนย์ขทิรวัน เพื่อปฏิบัติ เพราะสายทิเบตเป้าหมายหลักคือ การบรรลุธรรม แต่จะบรรลุหรือไม่เป็นอีกเรื่อง


ถ้าพูดถึงเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างมีสติตามแบบทิเบต อาจารย์มีคำอธิบายอย่างไร

ศาสตร์ทิเบตเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย หลังจากสอนเรื่องการภาวนาเตรียมตัวตาย มีหลายคนอยากปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง จิตนี่สำคัญมาก เมื่อเราตาย กายเราทิ้งไป แต่จิตยังดำรงอยู่ เพียงแต่จิตต้องหากายใหม่ ที่สนใจเรื่องนี้ เพราะตอนพารายการทีวีไปถ่ายทำเพื่อดูการทำพิธีที่สุสานทิเบต และไปอยู่ที่วัด เราได้เห็นวิธีการต่างๆ เราก็คิดว่า คนไทยน่าจะได้เรียนรู้เป็นระบบขั้นตอน แม้เรื่องการเตรียมตัวตายจะมีในคัมภีร์ทิเบตและแปลเป็นภาษาไทย แต่อ่านเข้าใจยาก มีศัพท์เทคนิคมาก ต้องอาศัยการชี้แนะ และมูลนิธิของเราก็ทำเรื่องความตายเป็นระยะ แต่เป็นเชิงวิชาการ ไม่ได้โยงกับเรื่องภาวนา

หลังจากที่เราเห็นกระแสว่า ผู้คนสนใจ เราก็เลยมองว่า น่าจะทำเพื่อบริการสังคม เราก็ได้ทบทวนความรู้ในคัมภีร์และได้ปฏิบัติ เพราะก่อนหน้านี้เราปฏิบัติกับพระอาจารย์ตัวต่อตัว ไม่เคยเข้าคอร์สรีทรีตที่ไหน ตอนอยู่ต่างประเทศก็เรียนเป็นวิชาความรู้ทิเบต ไม่ได้เรียนภาวนา การภาวนาของเราทั้งหมดเป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้รับการชี้แนะฝึกฝนจากครูบาอาจารย์ทิเบต อยู่ที่ศูนย์ขทิรวันเจ็ดปี ถ้าไม่มีกิจธุระบรรยายธรรม ก็จำศีลภาวนาตลอด ส่วนใหญ่คอร์สภาวนาที่จัดขึ้นมาจากประสบการณ์การปฏิบัติภาวนาด้วยตัวเอง และครูบาอาจารย์แนะนำ รวมถึงการอ่านคัมภีร์ แปลเนื้อหาคัมภีร์ออกมาให้พวกเราเรียนรู้

ในสายทิเบตจะให้ความสำคัญกับการเดินตามรอยเท้าครูบาอาจารย์ค่อนข้างมาก ?

แม้ทิเบตจะเสียเอกราช แต่พระสูตรยังอยู่ครบถ้วนในอินเดีย ทั้งๆ ที่ตอนอพยพ คนทิเบตนำคัมภีร์ออกมาไม่ได้ แต่พวกเขาผลิตขึ้นใหม่เหมือนในทิเบต เพราะผู้คนท่องจำได้ พวกเขามีวิธีการส่งมอบและถ่ายทอดพระธรรมที่ครูมอบให้ เมื่อเขียนขึ้นใหม่จากคำพูด พวกเขาก็จะช่วยกันขัดเกลา จนกระทั่งคัมภีร์นี้ยังอยู่ เรื่องนี้ก็ให้ข้อคิดกับเรา เรื่องวิริยะอุตสาหะ

คนทิเบตเชื่อเรื่องความตายอย่างไรคะ

คนทิเบตมองว่า การตายเป็นสิ่งพื้นฐานของชีวิต เป็นส่วนต่อยอดจากการดำรงชีวิต ไม่ได้แยกความตายออกจากชีวิต ความตายไม่ใช่เรื่องโหดร้าย และไม่ใช่สิ่งน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องอัปมงคลที่สังคมควรจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ความตายเป็นสิ่งที่ต่อยอดการเกิดใหม่ เพราะดวงจิตยังเดินทางต่อ ความตายก็คือการเดินทางของจิตสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะ และในความตายเองก็มีวิถีแห่งการหลุดพ้น ซึ่งมีอยู่ในแนวทางของพุทธศาสนาในทิเบตเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนตาย

เราเคยคุยกับคนจีนว่า ความตายคืออะไร เธอบอกว่า ความตายก็เหมือนการดับไฟ เมื่อดับแล้ว ก็จบ ไม่มีอะไรต่อ นี่คือการมองแบบไม่ใช่พุทธ ถ้ามองอย่างชาวพุทธคือการเดินทางต่อ และทิเบตเน้นว่าต้องเดินทางต่ออย่างดี อย่างมีเป้าหมาย ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรม และการเตรียมตัวตายต้องทำตั้งแต่ตอนนี้ ทันทีที่เรารู้ว่าความตายเป็นสิ่งสำคัญ

....................................................
หมายเหตุ : ผู้สนใจคอร์สการปฏิบัติภาวนา หรือ อยากร่วมบุญสร้างพระสถูป ดูได้ที่ http://www.facebook.com/1000tara หรือโทร 08 7829 9387 ,08 3300 8119

จาก http://bit.ly/YcwTfR
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...