(แปลและเรียบเรียงจาก Sakyong Mipham Rinpoche . The Nine Stages of Training the Mind, Sakyong Mipham Rinpoche, Shambhala Sun, March 2003. )
ซักยอง มิพาม รินโปเช นำเสนอคำอธิบายกระบวนการฝึกสมาธิ จากจิตที่มีความสับสนวุ่นวาย ไปสู่ภาวะจิตอุเบกขาอย่างสมบูรณ์ ทั้ง 9 ขั้นตอน ซึ่งผู้ฝึกปฏิบัติสมาธิจะพบปรากฏการณ์แบบเดียวกัน จนเข้าสู่ ธรรมชาติภายในที่มี เสถียรภาพ ( stability) ความใสกระจ่าง (clarity) และ กำลังของจิต (strength) ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะมีคุณลักษณะเฉพาะ แนวทางการฝึกสมถกรรมฐานนี้จึงมีประโยชน์เพราะจิตใจนั้นเป็นสิ่งที่กว้างใหญ่มาก หากปล่อยให้เป็นไปตามความนึกคดิของตัวเองแล้ว ก็คือการหลงไปในห้วงความนึกคิดโดยไม่รู้ตัว ขั้นตอนทั้ง 9 นี้จึงเป็นเสมือนแผนที่การเดินทางได้เป็นอย่างดี
ใน 4 ขั้นแรก จิตตสถาปนะ (Placement), สัมสถาปนะ (Continual Placement), อวสถาปนะ (Repeated Placement) และอุปสถาปนะ (Close Placement) เพื่อการพัฒนาให้เกิดเสถียรภาพของจิต ในขั้นที่ 5 ดามานะ (Taming) และขั้นที่ 6 สมณะ (Pacifying) เพื่อพัฒนาความใสกระจ่างของจิต และใน 3 ขั้นสุดท้าย วยุปสมณะ (Thoroughly Pacifying), เอโกติกรณะ (One-Pointed), สมาทานะ (Equanimity ) คือการสร้างกำลังให้กับจิต
สมาธิขั้นที่ 1: จิตตสถาปนะ (Placement) การวางจิตไว้ที่ลมหายใจ เป็นสิ่งแรกที่เราทำในการฝึกสมาธิ ขณะของการวางจิตนี้เปรียบเหมือนการขึ้นขี่ม้า เริ่มจากการวางเท้าไว้ที่แป้นเหยียบ ดึงตัวขึ้นไปบนอาน และพยายามนั่งลงไปให้ถูกตำแหน่ง
จิตตสถาปนะ เริ่มเมื่อเราแยกจิตใจออกจากการยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ ปัญหาต่างๆ ความคิด และอารมณ์ นำให้จิตที่เคยยุ่งเหยิงวุ่นวายกลับมาอยู่ที่ลมหายใจ แม้ว่าจะเป็นการกระทำทางจิต แต่ก็เปรียบให้เป็นรูปธรรมได้ เหมือนกับการวางก้อนหินทับลงบนใบไม้
เพื่อทำ จิตตสถาปนะ ให้สำเร็จ ต้องกำหนดจิตที่จะปล่อยวางความคิด อารมณ์ อื่นๆและตั้งใจบอกกับตัวเองว่า “ จากนี้ไป ฉันจะกำหนดจิตไว้ที่ลมหายใจ ” ในขณะนั้นเองที่การยึดติดถูกถอดถอนออก ถ้าเรากำหนดเช่นนี้ได้ ความคิดฟุ้งซ่านก็จะลดลงไปอย่างมากๆ ในเวลาเดียวกัน จิตใจที่กระจายออกไปก็จะถูกรวบรวมกลับเข้ามา
สำหรับผู้เริ่มฝึกใหม่ ขั้นที่ 1 นี้ เราจะได้เรียนรู้การสร้างดุลยภาพของ การจดจ่อลมหายใจ การระลึกรู้ความคิด การคงท่าทางการนั่งไว้ จึงเป็นช่วงเวลามีค่าที่จะสร้างนิสัยของการทำสมาธิที่ดี เมื่อปฏิบัติในครั้งต่อไป จิตตสถาปนะ ก็จะเป็นขั้นแรกของการฝึกเสมอไปทุกครั้ง และเป็นทัศนคติต่อเนื่องไปตลอดช่วงเวลาที่ฝึก จึงเป็นขั้นที่มีความสำคัญที่สุด จิตตสถาปนะช่วยให้สมาธิจิตมีความคมชัด ถ้าเราเริ่มอย่างคลุมเครือการทำสมาธิในครั้งนั้นก็จะเป็นไปอย่างคลุมเครือ เปรียบเหมือนการวางตัวโดมิโน การให้ความระมัดระวังใส่ใจตั้งแต่ต้น จะมีผลต่อการพัฒนาในขั้นต่อไป
ต่อจากนั้น ทุกครั้งที่คุณระลึกและรู้ได้ว่ามีความคิดเกิด และจิตกลับมาที่ลมหายใจ ก็คือการทำ จิตตสถาปนะ มันดูเหมือนเป็นการกระทำเล็กๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่กล้าหาญมาก เมื่อคุณระลึกรู้และหลุดออกจากความคิดได้ คุณสามารถภูมิใจในตนเอง คุณได้เอาชนะความเกียจคร้าน คุณจดจำคำสอนของครูได้ คุณมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กับลมหายใจ ไม่ต้องกังวลว่าคุณจะต้องทำเช่นนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก คุณอาจต้องทำเช่นนี้นับพันๆครั้ง นี้ถึงเรียกได้ว่าการฝึกฝน
ทุกครั้งที่คุณกำหนดจิตกับลมหายใจได้ แปลว่าคุณก้าวหน้าขึ้นๆ เพียงด้วยการปล่อยความคิดไป คุณได้แยกตัวเองออกจาก กรอบแนวคิด อารมณ์ทางลบ และความสับสนวุ่นวายใจ คุณได้ปล่อยวางความปรารถนาที่จะหาความสนุกสนานและการบริโภคสิ่งภายนอก คุณต้องทำเช่นนี้ทำแล้วทำอีก ทำทีละลมหายใจ ทำทีละความนึกคิด ทุกครั้งที่กลับมาที่ลมหายใจได้ ก็คือคุณยิ่งออกห่างจากการเสพติดความคิดและความกลัว ก้าวหน้าไปหนึ่งก้าวบนเส้นทางสู่การรู้แจ้ง เป็นการเริ่มต้นพัฒนาความกรุณาต่อตัวเองด้วย คือการช่วยให้ตนเองพ้นทุกข์
ฉันรักกอล์ฟ จะเล่นทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ไม่ว่าเกมส์นั้นจะเป็นอย่างไร ฉันจะตีได้เพียง 1 ลูกกอล์ฟในครั้งหนึ่ง ลูกกอล์ฟนั้นจึงเป็นลูกเดียวที่จะถูกตี จิตของฉันสดใหม่เสมอ ถ้าฉันคิดไปถึงลูกกอล์ฟที่ตีไปก่อนหน้าและที่จะตีในคราวต่อไป ฉันจะไม่ได้ตีลูกกอล์ฟในครั้งนี้อย่างแท้จริง และยังฝังนิสัยไม่ดีลงไปอีกด้วย ซึ่งเป็นแบบเดียวกับ จิตตสถาปนะ หากจิตคุณไม่คมชัด ไม่สดใหม่ ในการระลึกและรู้ที่จะปล่อยความคิด คุณก็ไม่ได้ทำสมาธิอย่างแท้จริง คุณได้ปลูกฝังความเลินเล่อ ความคิดเหล่านั้นจะยิ่งมีพลัง และในที่สุดคุณก็ไม่ได้ทำสมาธิเลย ที่คุณทำก็เป็นแค่หลับตานั่งคิดเท่านั้น
การระลึก รู้ และปล่อยความคิดเปรียบเหมือนกับความสำเร็จเมื่อไปถึงยอดเขา น้ำตาของผู้พิชิตยอดเขาได้นั้นมีค่ามาก เราจึงควรต้องเฉลิมฉลอง เพราะเราได้ละทิ้งเสียซึ่งความเพ้อฝันซึ่งมักมาขโมยชีวิตของเราไป เอาไว้เบื้องหลัง โดยมีแรงจูงใจ มุมมองที่ถูกต้อง ความเพียร ความไว้วางใจต่อเส้นทาง สติสัมปชัญญะ คือสิ่งสนับสนุนแก่เรา
ยิ่งเราสามารถรวบรวมความใส่ใจ การจดจ่อได้มาก จิตใจก็ยิ่งมีพลัง สภาวะยิ่งมีพลังและผลการฝึกก้าวหน้าขึ้น เราจะรู้ได้ว่าวางจิตได้แล้ว ก็เมื่อสามารถจดจ่ออยู่กับลมหายใจต่อเนื่องได้ประมาณ 21 รอบการหายใจโดยจิตใจไม่วอกแวกมากนัก
สมาธิขั้นที่ 2 : สัมสถาปนะ (Continual Placement) การวางจิตที่ลมหายใจในตอนนี้เป็นไปอย่างง่ายดาย จากที่ได้เรียนรู้การขึ้นขี่ม้าและรู้สึกสุขสบายที่นั่งบนอานม้าแล้วควบคุมให้ม้าเดินไปตามเส้นทาง เป็นประสบการณ์รับรู้ต่อลมหายใจอย่างต่อเนื่องว่าเป็นเช่นไร เมื่อความนึกคิดวอกแวกอื่นนำให้เราหลุดออกจากเส้นทาง เราก็ยังสามารถกลับมาที่ลมหายใจได้ เพราะว่า สัมสถาปนะ ช่วยให้เรามีสติและความรู้ตัว ไม่เกียจคร้านและระลึกถึงการปฏิบัติอยู่เนืองๆ
นอกจากนี้ การที่เราวางจิตกับลมหายใจได้สำเร็จนี้ เกิดจากความเชื่อมั่นในเหตุผลของการฝึก คือมีศรัทธา ว่าการฝึกนี้มีคุณค่านำให้จิตเกิดความสงบได้ เราจึงทำได้อย่างมุ่งมั่นตั้งใจ เราเห็นความไร้ประโยชน์จากความคิดนึกถึงสิ่งภายนอก ความเพ้อฝัน และอารมณ์ที่มารบกวน เราจึงเต็มใจที่จะหยุดมันไว้ ในช่วงของการฝึกสมาธิ สัมสถาปนะ จึงเป็นสิ่งที่สมควรกระทำในเวลานี้
เมื่อได้พักจิตไว้กับลมหายใจ และจัดการความคิดที่แวบเข้ามาได้อย่างง่ายดาย คือความสำเร็จของสัมสถาปนะ เกณฑ์ตัดสินในขั้นตอนนี้ คือสามารถคงจิตต่อเนื่องได้ประมาณ 108 รอบของการหายใจโดยไม่วอกแวกออกไป จิตยังคงระลึกอยู่กับลมหายใจเข้าและออก แม้ว่าอาจจะมีความคิดวอกแวกเข้ามาบ้าง ความคิดนั้นก็ไม่ได้รบกวนอะไร ไม่สามารถทำให้ขาดสติและลืมกำหนดลมหายใจได้
ในขั้นนี้สติและความตั้งมั่นดำรงอยู่ยาวนาน ก็ยังมีหลุดไปสู่ความนึกคิด แต่จุดหลักของการปฏิบัติคือ สามารถอยู่กับลมหายใจได้ 108 รอบ แม้จะมีการแกว่งไปมาบ้าง ยังไม่หยุดนิ่งหรือวอกแวกไปเสียทีเดียว นี้คือการผ่านขั้นตอนที่ 2 แล้ว เข้าสู่ขั้นที่ 3
สมาธิ ขั้นที่ 3 : อวสถาปนะ (Repeated Placement) เราอาจรู้สึกเหมือนว่าได้ทำ อวสถาปนะ มาตั้งแต่ตอนแรก แต่ภูมิทัศน์ของการทำสมาธินั้นกว้างใหญ่มาก และขั้นตอนที่จะละเอียดละออขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ของเรานั้นจะประณีตขึ้นๆ ในภาษาทิเบตใช้คำว่า “ เล็น” ซึ่งหมายถึง การรับมา นำกลับมา การฝึกจิตก็คือการรวบรวมจิตให้กลับเข้ามา ที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้การวางจิตอย่างไร และฝึกวางจิตอย่างไรให้ได้ต่อเนื่อง แต่แล้วในบางครั้งความคิดก็ยังพุ่งทะยานเหมือนม้าป่าที่วิ่งออกไปในทุ่งหญ้า ซึ่งใน 2 ขั้นแรก จะเกิดเช่นนี้เรื่อยๆ แต่ในขั้นที่ 3 นี้จะเกิดขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว
ในระหว่างขั้นที่ 2 เหมือนเราเรียนรู้การขี่ม้า เรายินดีที่สามารถนั่งบนอานม้า สนุกกับทัศนียภาพรอบตัว ในขั้นที่ 3 เราจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ม้านั้นจู่ๆก็ยังมีการตกใจ และไม่ยอมเชื่อง บางทีก็มีดีด ดิ้น ออกจากเส้นทาง เราต้องคอยคุมไว้และนำกลับมา เป็นครั้งคราวตลอดช่วงขั้นที่ 3 นี้ จนถึงในตอนท้ายก็จะเป็นเช่นนั้นน้อยลงๆ สติของเราได้เติบโตเข้าสู่ความมีเสถียรภาพ
เราสามารถจดจ่อกับลมหายใจในปัจจุบัน แต่เมื่อจิตหลุดออกจากทาง มักจะวิ่งไปสู่ความเพ้อฝันกับเรื่องสนุกสนาน ความสุขสบาย อาหาร การเดินทาง คนในครอบครัว เพื่อนและกิจกรรมนัดหมายต่างๆ มันจึงน่าสนใจว่าในขณะที่เรายึดลมหายใจไว้อย่างแนบแน่น จิตก็ยังหลุดออกนอกทางได้ แต่เมื่อกระบวนการฝึกก้าวหน้าไป ความสามารถที่จะดึงกลับมานั้นจะรวดเร็วมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากเปรียบเทียบกับช่วงแรกที่จิตยังว้าวุ่นวิ่งไปมา การพยายามดึงจิตออกจากความคิดเหมือนการตกลงไปในหลุมทรายดูด ที่ยิ่งพยายามยิ่งจมลึกลงไป จนมาถึงตอนนี้สติที่มีกำลังมากขึ้น จึงสามารถดึงจิตกลับมาได้อย่างแม่นยำ เข้าถึงความเป็นสมถะ คือความสงบและมีเสถียรภาพ สติมีพลังมากจนสามารถยึดตรึงจิตไว้กับลมหายใจ และสัมปชัญญะแยกแยะความคิดที่ผลุดขึ้นมาท่ามกลางได้ดี เราเริ่มที่จะดักทันความคิดก่อนที่จะเกิดเสียอีก
สมาธิในขั้นตอนนี้ทำให้รู้สึกถึงความสงบจากเสถียรภาพที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความใสกระจ่างอย่างที่จะเป็นได้ จิตแนบแน่นตลอดช่วงของการฝึกอย่างเป็นที่น่าพอใจ ในทิเบต เทียบได้กับนกแร้งที่บินสูงบนท้องฟ้าจ้องมองลงมายังซากสัตว์เบื้องล่าง สายตานกจะจับจ้องอยู่กับอาหารของมัน มันอาจเหลือบมองไปทางซ้ายและขวาเล็กน้อย แต่ก็ไม่คลาดสายตาไปจากอาหารเลย เช่นเดียวกับจิตใจที่อาจหันเหไปเล็กน้อยแต่ก็ไม่หนีหายไปจากลมหายใจ
มาถึงช่วงสุดท้ายของขั้นที่ 3 จิตใจจะแนบแน่นอยู่กับสมาธิการฝึกตลอดเวลา มันไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราทุบศีรษะตัวเองด้วยเทคนิคสมาธิง่ายๆ แต่เราทำได้สำเร็จด้วย การฝึกซ้ำๆ คงเส้นคงวา มีมุมมองทัศนคติที่ถูกต้อง ความตั้งใจแน่วแน่ ท่าทางการนั่งที่มั่นคงและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
สมาธิขั้นที่ 4 : อุปสถาปนะ (Close Placement) จุดเริ่มต้นของขั้นที่ 4 อุปสถาปนะ คือจิตที่ไม่วอกแวก เราตระหนักว่าจิตดำรงอยู่กับลมหายใจเหมือนก้าวเข้าสู่เขตแดนใหม่ของจิต เป็นเสถียรภาพที่รู้ว่าแม้ม้าจะหันหัวไปมา แต่ก็จะไม่วิ่งออกนอกเส้นทางแล้ว
การทำสมาธิระยะนี้ เรามีท่าทีที่ต่างไปจากเดิม ก่อนหน้านี้คอยห่วงว่าเราจะหลุดไปจากลมหายใจไหม แล้วถูกดูดกลับเข้าไปสู่เรื่องราวปัญหาประจำวันอีก จิตจะเข้มแข็งพอที่ะดึงจิตกลับมาที่ลมหายใจได้หรือไม่ แต่ตอนนี้ดูจะผ่อนคลายลง มั่นใจว่าอยู่กับลมหายใจได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปกังวลกับสิ่งรบกวนภายนอกอีก เพราะสิ่งรบกวนนั้นไม่มีอิทธิพลอีกแล้ว ความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น ถึงจุดนี้เราหันมาใส่ใจกับคุณภาพของสมาธิมากกว่า คุณลักษณะและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร เหมือนจากที่เคยห่วงว่าจะได้ดื่มกาแฟไหม ตอนนี้เราสนใจว่าจะได้กาแฟมอคค่า หรือคาปูชิโน่หรือไม่ เราจะทำให้จิตใจมีพลัง และกระจ่างคมชัดได้อย่างไร จึงมาเป็นลำดับความสำคัญใหม่ในตอนนี้
เราได้ข้ามผ่านอุปสรรคความเกียจคร้าน และการหลงลืมข้อปฏิบัติ ในช่วงสิ้นสุดขั้นที่ 3 เข้าสู่ขั้นที่ 4 เราต้องจัดการกับความลิงโลดและความเฉื่อยชา เป็นสุดโต่งของสองความรู้สึกที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามจนถึงเวลานี้เรายังคงอยู่กับการปฏิบัติสมาธิ สองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นโจทย์ปัญหาที่ดีในการฝึกปฏิบัติ
ในทิเบต เราได้รับการเตือนว่า ในขั้นที่ 4 นี้ อาจหลงเข้าใจไปว่า เราไปถึงการตรัสรู้ หรือการรู้แจ้งขั้นสูงแล้ว เพราะว่าจิตมีกำลัง มั่นคง และรู้สึกดี การต่อสู้กับจิตใจนั้นลดลงไปอย่างมาก มีลักษณะของความเบิกบานใจและง่ายดาย ซึ่งถ้าเราติดสุขไปกับอาการนี้ก็จะทำให้จิตผ่อนคลายเกินไป ไม่สามารถไปสู่ขั้นต่อไปได้ นี้จึงเรียกว่าอุปสรรคจากความเฉื่อยชา เพราะจิตในขั้นนี้แม้ว่าจะมั่นคงแต่ก็ยังไม่ใสกระจ่าง ดังนกแร้งที่เฝ้าแต่บินวนเวียน ไม่สามารถลงมายังอาหารเนื้อเบื้องล่างได้ ตัวรู้ต้องมีความแหลมคม รู้ให้ชัด ให้จิตทำงานให้แน่นขึ้น
สมาธิขั้นที่ 5 : ดามานะ (Taming) แม้ว่าการบรรลุถึงขั้นที่ 3 และ 4 แล้ว จะนับเป็นความสำเร็จของผู้กล้าแล้ว แต่ก็ยังต้องไปอีกไกล ในขั้นที่ 5 เราจะทำสมาธิให้แนบแน่นขึ้นโดยให้มีความใสกระจ่างมากขึ้น ขั้นนี้ถูกเรียกว่า “ ทำให้เชื่อง” เพราะเราจะเริ่มรับรู้ผลแท้จริงของจิตที่เชื่องแล้ว เป็นสิ่งที่เราเพียรพยายามมาตั้งแต่ขั้นที่ 1 การทำให้เชื่องในที่นี้คือประสบการณ์ที่เรียกว่า “เลสุ รังวา ” คือ เป็นจิตที่ควรแก่งาน ในขั้นที่ 4 เรายังรู้สึกดีเยี่ยมจากที่ม้าซึ่งเชื่องแล้ว แต่ตอนนี้ ในขั้นที่ 5 จิตที่เข้มแข็ง มั่นคงและใสกระจ่างเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แม้จะยังไม่นิ่งอย่างสมบูรณ์ เพราะยังอาจมีความคิดวอกแวกได้ แต่เรารับรู้ถึงความสอดประสานไปกับม้า เป็นภราดรภาพ โดยไม่ต้องฝึกฝืนต่อสู้กันอีก
ภราดรภาพและความสอดประสานทำให้เกิดความเบิกบานใจ เปรียบได้กับความยินดีของผึ้งที่กำลังดูดน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ สมาธิมีรสชาติที่ดี สนุกสนาน จากชีวิตที่เคยมีความหนักยุ่งยากใจ มาสู่ความรู้สึกที่เหมือนได้ยกแรงกดดันนั้นออกไป เป็นทั้งความปีติยินดีและอิสรภาพที่เกิดขึ้น
สมาธิขั้นที่ 6 : สมณะ (Pacifying) ในขั้นที่ 6 คือการทำให้สงบ เราได้รับชัยชนะในสมรภูมิที่ยิ่งใหญ่แล้ว เรานั่งบนหลังม้าและสำรวจไปรอบๆ รับรู้ถึงชัยชนะที่เกิดขึ้น มีความรู้สึกสงบผ่อนคลาย และมีความสุขเหมือนทุ่งหญ้าเขียวขจีหลังพายุฝน ทุกสรรพสิ่งได้รับน้ำฝนชุ่มเย็นหล่อเลี้ยง มีความใสกระจ่างของจิตอย่างมากๆ
เรายังคงทำงานทางจิตที่ซึ่งบางครั้งตึงบางครั้งหย่อน ในทางปฏิบัติเรายังต้องคอยปรับเล็กน้อย และในการปรับนี้เป็นไปอย่างละมุนละม่อมค่อยๆทำ ในอดีตเราเคยสงสัยว่าจิตนั้นเป็นเพื่อนกับเราหรือไม่ แต่มาบัดนี้จิตที่สงบนั้นได้เป็นเพื่อนที่ดีของเราแล้ว สมาธิเป็นสิ่งที่นำพาความหฤหรรษ์และสดใส เราเริ่มที่จะรับรู้ไม่ใช่เพียงความสอดประสานกลมกลืน แต่จะรู้ถึงพลังในจิตด้วย
ในระยะนี้เราจะรู้สึกปีติลิงโลด ถึงศักยภาพที่เกิดจากจิตที่เชื่องแล้ว ก่อนหน้านี้ จิตเคยเป็นภาระให้เราต้องคอยรับรู้แก้ไข แต่ตอนนี้จิตเป็นเพื่อน ที่จะช่วยก่อเกิดทุกความเป็นไปได้ ด้วยพลังของจิตซึ่งเชื่องแล้ว
สมาธิขั้นที่ 7 : วยุปสมณะ (Thoroughly Pacifying) สงครามสิ้นสุดลงแล้ว แต่ยังมีทหารของศัตรูอีกเล็กน้อยที่ยังวิ่งไปมา คือความคิดที่ละเอียดประณีต ในลักษณะของความพึงพอใจ เราอาจไปยึดความรู้สึกดีของการทำสมาธินี้อยู่เล็กน้อย ซึ่งนับเป็นความคิดคำนึงแบบทวิลักษณ์ คือ ดี-ไม่ดี แม้ว่าเราจะรู้ว่ามันจะไม่ขัดขวางการทำสมาธิ ในขั้นวยุปสมณะ คือการทำให้สงบราบคาบ เราจะไม่ขับไล่ความคิดเหมือนในระยะที่ 4 เราจะใช้จิตเพียงรับรู้ความคิดละเอียดนั้นและกำลังของจิตเองจะสลายความคิดนั้นไป เหมือนการโยนก้อนหิมะเข้าไปในกองไฟ ก้อนหิมะจะสลายไปเองตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ
ในระยะเริ่มแรกของการทำสมาธิ ความคิดมากมายราวกับน้ำตกที่โหมกระหน่ำลงมา แต่ในตอนนี้กลายสภาพเป็นทะเลสาบที่สงบ มีเพียงระลอกคลื่นเล็กๆบ้าง
สมาธิขั้นที่ 8 : เอโกติกรณะ (One-Pointed) ในขั้นที่ 8 เรียกว่า เอโกติกรณะ หรือ เอกกัคคตา ความคิดวอกแวกที่เหลือตกค้างได้สูญหายไปหมดแล้ว เรานั่งสมาธิด้วยความตื่นรู้อย่างสมบูรณ์ มีความใสกระจ่างและรู้ชัดเจน เพราะไม่มีความคิดอื่นใดมาทำให้วอกแวกได้อีก เราได้พบคุณลักษณะของจิตที่สมบูรณ์เช่นเดียวกับขั้นที่ 9 สิ่งที่แตกต่างคือเรายังมีความพยายามอีกเล็กน้อยในการจดจ่อที่ลมหายใจ
สมาธิขั้นที่ 9 : สมาทานะ (Equanimity ) สมาธินั้นได้มาถึงความสมบูรณ์ เมื่อเรานั่งเฝ้าดูลมหายใจที่เป็นไปอย่างลื่นไหล เป็นไปเอง จิตมีกำลังเข้มแข็ง ใสกระจ่าง และเป็นสุข เรารู้สึกถึงชัยชนะที่สมบูรณ์แบบ เหมือนว่าสามารถทำสมาธิแบบนี้ได้ตลอดกาลนาน แม้ในเบื้องหลังของจิตก็ไม่มีความคิดใดกระเพื่อมเกิดขึ้นได้อีก เราเป็นหนึ่งเดียวกับปัจจุบันขณะ จิตมีความสงบและมีพลังดังขุนเขา ปราศจากความหวั่นไหวใดๆนี้จึงเรียกว่า อุเบกขา
เป็นความสมบูรณ์ เหมือนม้าแข่งที่ถูกฝึกมาเป็นอย่างดี จิตใจปราศจากการเคลื่อนไหวแต่มีพลัง มีชีวิตชีวา เป็นจิตที่เติบโตขึ้น รับรู้ถึงความสูงส่งที่ขยายออกไปอย่างไร้ขอบเขต เกิดความเชื่อมั่นว่าเป็นจิตที่พร้อมที่ควรแก่งานใดๆก็ได้ นี้เป็นผลของการทำสมถภาวนาที่สมบูรณ์แล้ว
จาก
http://www.anamcarathai.com/