คอลัมน์ “หนังช่างคิด”...Jiro Dreams of Sushi ความสำเร็จที่ไม่สำเร็จรูป ของเทพ "ซูชิ"ในหนังสือระดับเบสต์เซลเล่อร์อย่าง Outliers ผลงานของสื่อมวลชนหัวบรรเจิดนามว่า มัลคอล์ม แกลดเวลล์ ได้พูดถึงปัจจัยที่ทำให้คนเราประสบความสำเร็จด้วยมุมมองที่ "แปลกลิ้น" หากเทียบกับหนังสือฮาวทูทั่วไป
มีบทหนึ่งในหนังสือของเขาที่พูดถึง "กฏ 10,000 ชั่วโมง" ซึ่งแกลดเวลล์เล่าว่า ความสำเร็จของบุคคลหลายคน เบื้องหลังนั้นเกิดจากการทำงานของตนที่แสนซ้ำซาก เป็นเวลาที่แสนยาวนาน
อย่างเช่น โมสาร์ต อมตะคีตกวีตัวโน้ตสีชมพู แม้ว่าเขาจะแต่งเพลงได้ตั้งแต่ 6 ขวบ แต่กว่าจะมีผลงานซับซ้อนจนมืออาชีพยอมรับ ก็อายุ 21 ปีโน่น
วงดนตรีระดับโลกอย่าง เดอะ บีทเทิ่ลส์ ก่อนที่จะมีชื่อเสียง พวกเขาต้องไปเล่นดนตรีในคลับที่เยอรมัน วันละ 8 ชั่วโมง ตลอด 7 วันนานเป็นปีทีเดียว
ส่วนบิลล์ เกตส์ ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าพ่อไมโครซอฟต์และเศรษฐีพันล้านใจบุญอย่างทุกวันนี้ สมัยเรียนมัธยมฯ เขาแอบออกจากบ้านกลางดึกเพื่อฝึกเขียนโปรแกรมที่โรงเรียน
เมื่อแกลดเวลล์คำนวณเวลาที่คนพวกนี้ทำงานที่ตนสนใจแล้ว...
ปรากฏว่า ทุกคนมีชั่วโมงบินในงานที่ทำ นับได้ 10,000 ชั่วโมงกว่าขึ้นไป!
เห็นชั่วโมงบินของคนระดับตำนานเหล่านี้ ชวนให้นึกถึง ปรมาจารย์ด้านซูชิมือหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ตอนนี้อายุถึง 85 ปี นามว่า "จิโระ โอโนะ"
แม้ว่าจะตกสำรวจในงานเขียนของแกลดเวลล์ แต่ชายผู้นี้ ได้ปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์สารคดีสุดละเมียดชวนน้ำลายไหล ที่มีชื่อว่า Jiro Dreams of Sushi (2011) งานกำกับของ David Gelb
ภาพยนตร์เรื่องนี้ พาเราเดินทางไปดินแดนปลาดิบ ในตึกย่านกินซ่าที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อสำรวจร้านซูชิเจ้าดังที่มีชื่อว่า "สุกิบายาชิ จิโระ" ของคุณจิโระ โอโนะ
เรื่องราวหน้าเคาน์เตอร์ซูชิของร้านนี้ ที่มีความพิเศษโด่งดังไปทั่วโลกก็คือ
ร้านนี้มีเก้าอี้ให้นั่งเพียง 10 เก้าอี้...
หากอยากทาน ต้องจองล่วงหน้าเป็นเดือน...
ซูชิในร้าน จะต้องเป็นไปตามลำดับที่ทางร้านจัดไว้ ทั้งยังไม่มีเหล้าสาเกคอยแกล้มเวลาทาน เรียกได้ว่า แล้วแต่ปุ๊...
ค่าอาหาร เขาคิดคอร์สละ 30,000 เยน (ประมาณ 10,000 บาท ต่อหัว!) กับซูชิประมาณ 20 ชิ้น...
แม้ว่า รูปแบบการทานอาหารในร้านนี้ อาจจะดูหยุมหยิม เรื่องมาก และราคาแพงมากสำหรับมนุษย์เงินเดือนธรรมดา
แต่ "สุกิบายาชิ จิโระ" กลับกลายเป็นร้านอาหารที่ "มิชลิน" มอบดาวให้ถึง 3 ดาว ซึ่งหมายความว่า เป็นร้านอาหารที่แม้ว่าจะอยู่ที่ประเทศไหน ก็ควรค่าที่จะเดินทางไปทานสักครั้ง
นี่คือภาพตรงปลายสายที่เรามองเห็น "ความเนี้ยบ" ตรงหน้าเคาน์เตอร์ซูชิ
อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการทำงานของร้านนี้ ที่หนังเรื่องนี้จับจังหวะมาให้เห็น ต้องบอกว่า ทุกองค์ประกอบก่อนที่ร้านจะเปิด เต็มไปด้วยความละเอียดเพื่อที่จะเข้าถึง "ความสมบูรณ์แบบ" โดยการบัญชาการของเจ้าของร้านมือเก๋าโดยแท้
ใครที่เคยหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จนเก็บมาฝันถึง คงเข้าใจอารมณ์ของเจ้าของร้านซูชิผู้นี้
คงไม่ใช่การกล่าวเกินเลย หากจะบอกว่า ระดับการหลงใหลในข้าวปั้นที่เป็นรากเหง้าญี่ปุ่นของเขาผู้นี้ อยู่ในระดับที่ว่า...
ฝันเห็นซูชิเลยทีเดียว
ลองดูรายละเอียดในเส้นทางพ่อครัวซูชิของเขาสิ...
"ความสุดยอด เกิดจากการทำอะไรที่ซ้ำซาก พัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป และมองไปข้างหน้า" นี่คือปรัชญาการทำร้านซูชิของ จิโระ โอโนะ
ต้นแบบความสำเร็จของร้าน เริ่มต้นมาจากจริตที่แสนบากบั่นของเขาเอง ที่ออกมาสู้ชีวิตด้วยตัวเองตั้งแต่วัย 7 ขวบ โดยที่คุณพ่อของเขาบอกว่า หากหันหน้าออกไปสู่โลกกว้างแล้ว แกจะไม่มีบ้านให้กลับอีกต่อไป
เมื่อไม่มีบ้านให้กลับ สิ่งที่เขาต้องทำก็คือ การมองหา "บ้าน" หลังใหม่ของเขา
และโลกของ "ซูชิ" นั่นคือ คำตอบของคำว่า บ้าน...
"ซูชิ" ในรูปแบบที่จิโระทำ จึงก่อร่างสร้างตัวมาตั้งแต่ก่อนยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงยุคซิกซ์ตี้(ยุค 60s) ที่กระแสการทานซูชิเริ่มเผยแพร่ไปทั่วโลกที่แม้แต่ฝั่งทวีปอเมริกาก็ยังมีการคิดค้นซูชิแบบที่เรียกว่า "แคลิฟอร์เนีย โรล" และกระแสนี้รุกหนักต่อไปยังยุโรป
คนรอบข้างของจิโระ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เท่าที่รู้จักหมอนี่มา หมอนี่หมกมุ่นกับซูชิจนแทบไม่เคยหยุดงานเลย
เขาปั้นซูชิทุกวันด้วยความคลั่งไคล้ จนมีลักษณะของ "โชคุนิน" (ช่างศิลป์) มากกว่าที่จะเป็นพ่อครัวปั้นซูชิธรรมดา
แม้แต่คนที่ทำงานร่วมกับเขา อย่าง ลูกชายสองคน ก็ทำงานหนักเพื่อให้ตามรอยของพ่อให้เร็วที่สุด การทำกิจการร้านค้าแบบญี่ปุ่น หากครอบครัวนั้นมีร้านเองอยู่แล้ว กิจการมักจะส่งต่อไปยังรุ่นลูก คนรุ่นลูกของเจ้าของร้านเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนคาบช้อนทองมาเกิด เพื่อไม่ต้องตะบี้ตะบันเรียนเพื่อเข้าสู่ระบบมนุษย์เงินเดือนแบบชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆ พอจบการศึกษาภาคบังคับ ก็มีกิจการให้ทำเลย
แต่ลูกชายสองคนของบ้านนี้ กลับลำบากกว่าที่คิด เพราะพวกเขาถูกพ่อเคี่ยวกรำให้ทำงานในร้านอาหารอย่างหนัก ไม่แพ้ลูกจ้างคนอื่น
พูดถึงลูกจ้าง ขนาดเด็กฝึกงานของที่นี่ ยัง "เป๊ะ" อย่างที่สุด
ที่นี่รับฝึกงานฟรี แต่ส่วนใหญ่งานที่ได้ทำจะเป็นงานเตรียมวัตถุดิบ
จนเมื่อถึงอายุงาน 10 ปี จึงได้ทำอาหารจานแรก นั่นคือ การย่างไข่ม้วน หรือ "ทามาโกะยากิ" เพียงเท่านั้น
เรียกได้ว่า กว่าจะเจ๋งต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ส่วน วัตถุดิบนั้นเล่า ต้องบอกว่า ตั้งแต่ปลามากุโระ ยันข้าวสาร ร้าน "สุกิบายาชิ จิโระ" ต่างเลือกของที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในญี่ปุ่นตั้งแต่ท้องนาจนถึงตลาดปลาสึกิจิ โดยใช้สายสัมพันธ์เก่าแก่กับห้างร้านต่างๆ ในการเลือกวัตถุดิบ
ทางร้านที่ขายวัตถุดิบ ต่างก็ยินดี เพราะปลามากุโระ(ทูน่าครีบน้ำเงิน) กุ้ง ปลาหมึก ไข่หอยเม่น ผัก ข้าว และวัตถุดิบอีกมากมาย จะมีโอกาสขึ้นบนโต๊ะอาหารซูชิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
นี่คือส่วนหนึ่งส่วนเดียวของความละเมียดที่เกิดขึ้น "สุกิบายาชิ จิโระ" ที่ชมผ่าน Jiro Dreams of Sushi...
ตัวหนังเผยให้เห็นกระบวนการต่างๆ ในการทำซูชิที่แสนเพลิน พร้อมกับมีเสียงดนตรีคลาสสิคประกอบ ราวกับว่าร้านนี้เป็นวงออเคสตราเล็กๆ ที่มี "จิโระ โอโนะ" เป็นวาทยกรที่คอยควบคุมความสมบูรณ์แบบของโน้ตเพลงการปั้นซูชิ
จนในที่สุด ซูชิ 1 คำ ก็ถูกวางหน้าเคาน์เตอร์ เป็นซูชิที่เต็มไปด้วยวิถีคิดแบบตะวันออก
ถ้าหากมองว่า ซูชิที่เขาทำ มีความงามแบบ "เซน" คงเป็นปรัชญาเซน ที่มีราคาต่อคำสูงมาก
ก่อนที่จะใช้สายตาเชยชิมซูชิแต่ละคำในภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเรื่องชวนให้ชวนคิดว่า
สิ่งที่เรียนรู้จาก "เบื้องหน้า" ความสำเร็จของบุคคลที่เราเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า อัจฉริยะ อย่าง โมสาร์ต, เดอะ บีทเทิ่ล, บิลล์ เกตส์ มาจนถึง ร้าน จิโระ โอโนะ
พอมาเห็น "เบื้องหลัง" ของความสำเร็จ คงไม่ได้มาง่ายๆ แบบใช้เวลาชง 3 นาทีอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ไม่ได้ใช้เวลาปลูก 3-4 วัน แล้วเติบโตอย่างเพาะถั่วงอก และไม่ได้เปรี้ยงปร้างชั่วเวลา 2-3 เดือนอย่างรายการเรียลลิตี้ประกวดร้องเพลง
แต่มันเกิดจากสิ่งที่ เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ พูดผ่านหนังสือนิยายสืบสวนชื่อดังของเขาอย่างเชอร์ล็อก โฮลมส์ ว่า
"อัจฉริยะ เกิดจากการฝึกฝนตนเองที่ต่อเนื่อง และยาวนาน"
พอคิดตามแล้วสะอึก...
จนต้องกลับมาถามตัวเองว่า
หากไม่นับเรื่องเวลานอน อะไรคือสิ่งที่เราเคี่ยวกรำในตัว ที่นับนิ้วไปมาแล้วยาวนานถึง 10,000 ชั่วโมง?
จาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1325756391https://www.youtube.com/v/cXqpOPedfvM