ผู้เขียน หัวข้อ: The Boy and the Beast ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเราแล้วเราจะเหมือนใคร  (อ่าน 1091 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




<a href="https://www.youtube.com/v/uifJLWoWv8c" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/uifJLWoWv8c</a>

ถ้าพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเราแล้วเราจะเหมือนใคร



ผู้เขียน   วินิทรา นวลละออง
ที่มา   คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน มติชนรายวัน

นานๆ ครั้งจะมีบางครอบครัวที่มาปรึกษาจิตแพทย์ด้วยปัญหาสุขภาพจิตและพ่วงท้ายด้วยปัญหาการเลี้ยงดูค่ะเพราะส่วนใหญ่ปัญหาในกลุ่มนี้จะตกอยู่กับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมากกว่า เท่าที่สังเกตดูพบว่ามีคนที่เชื่อในพลังของพันธุกรรมซึ่งถ่ายทอดมาจากพ่อแม่โดยตรงและคนที่เชื่อในพลังของการเลี้ยงดูคือมองว่าเด็กโตมาขึ้นกับสภาพแวดล้อมและการเรียนรู้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับในปัจจุบันว่ามีหลายปัจจัยที่ก่อร่างสร้างบุคลิกภาพของคนขึ้นมา ไม่ใช่แค่ DNA หรือการเลี้ยงดูอย่างใดอย่างหนึ่งค่ะ

คุณพ่อและแม่ของนักศึกษาคนหนึ่งพาลูกมาปรึกษาเพราะลูกทะเลาะกับรูมเมตที่หอจนกระทั่งจะขอย้ายห้องออกไปอยู่คนเดียว ที่จริงทางบ้านไม่มีปัญหาเงินทองแต่กลัวว่าถ้าตามใจลูกมากเกินไปก็จะเสียนิสัย

“ตอนเด็กแม่ไม่เคยตามใจเขาเลยเขาก็ไม่ดื้ออะไรนะคะ แต่ไม่รู้ทำไมโตแล้วขี้หงุดหงิดมาก พอไม่ตามใจก็โกรธหาว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจแต่ถ้าตามใจก็กลัวเสียนิสัย แม่ว่าเขากังวลเกินกว่าเหตุเพราะเพื่อนคนนี้ก็อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่มัธยมไม่เคยมีปัญหาอะไร อาจจะเรียนเครียดก็เลยทะเลาะกันนิดหน่อยเท่านั้นเองแต่แม่ก็กังวลแทนเขามากเลยค่ะ หรือเขาจะขี้กังวลเหมือนแม่ก็ไม่รู้”

นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ตัดตอนมาสั้นๆ ค่ะ ที่จริงคุณแม่กังวลมากกว่านี้แต่คุณแม่ไม่รู้ตัว แม้จะมีหลายปัจจัยแต่ความสามารถในการสู้รบและรับมือกับความเครียดรวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวหลังจากเผชิญความเครียด (resilience) ของบุคคลนั้นอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดซึ่งก่อกำเนิดเป็นบุคลิกภาพและสิ่งนี้ต้องซึมซับกันแต่เด็กแล้ว

“The Boy and the Beast” (Bakemono no Ko) เป็นแอนิเมชั่นฉายในโรงภาพยนตร์ในญี่ปุ่นเมื่อกรกฎาคม 2558 ถือเป็นแอนิเมชั่นที่ได้ทั้งเงินและกล่องอย่างท่วมท้นเลยค่ะ โดยทำรายได้รวมเป็นอันดับ 2 ของการ์ตูนฉายโรงในญี่ปุ่นประจำปี 2015 รวมถึงมีการฉายในหลายประเทศทั่วโลก เรื่องนี้เป็นการกล่าวถึงพัฒนาการของเด็กสู่ผู้ใหญ่ของเด็กตัวจริงกับผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จักโตอีกคนหนึ่งค่ะ

“เร็น” เด็กชายวัย 9 ขวบที่เพิ่งเสียคุณแม่ไปตัดสินใจหนีออกจากบ้านไม่ยอมไปอยู่กับญาติ เขาหลงทางไปยังโลกของสัตว์ซึ่งผู้แข็งแกร่งและขึ้นเป็นประมุขจะมีสิทธิเลือกเกิดใหม่เป็นเทพเจ้าได้ “คุมะเท็ตสึ” หมียักษ์ที่โตมาด้วยตัวเอง ไม่มีใครเลี้ยงดู ไม่มีใครสอน สุดท้ายเขาก็ขึ้นเป็นยอดฝีมือเทียบเท่ากับ “อิโอเซ็น” ชายหนุ่มวัยเดียวกันที่โตมาในครอบครัวดีและได้อาจารย์ดีมาตลอด

ทั้งสองคนอยู่ระหว่างรอชิงตำแหน่งประมุขคนต่อไปโดยมีข้อแม้ว่าคุมะเท็ตสึต้องหาลูกศิษย์ให้ได้เสียก่อน เขาเลือกเร็นซึ่งหลงทางเข้าไปค่ะ เร็นอยากเป็นนักสู้ที่เข้มแข็งให้ได้จึงพยายามเลียนแบบคุมะเท็ตสึทุกอย่างและนี่คือส่วนที่สวยงามที่สุดของหนังเรื่องนี้ เราพบว่าเด็กโข่งอย่างคุมะเท็ตสึทำตัวเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเมื่อต้องเลี้ยงดูเร็น เขารับผิดชอบชีวิตของตัวเองและเร็นมากขึ้น พยายามสอนเร็นทั้งที่เดิมไม่เคยสอนใครและไม่เคยเรียนจากใคร รู้จักเสียสละทั้งที่เดิมคิดว่าทุกอย่างเขาสร้างเองไม่ต้องแบ่งปันใคร เขาดีใจที่มีคนเลียนแบบเขานะคะ

ส่วนเร็นเองเริ่มเลียนแบบเพราะไม่รู้จะซึมซับวิชาของคุมะเท็ตสึอย่างไรดีจึงได้แต่เลียนแบบท่าทางเหมือนลูกนกทำตามแม่นก สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวของเร็นไม่ใช่แค่วรยุทธ์ เขาได้รับความมั่นใจเพราะรู้ว่าต่อให้เขาดื้อแค่ไหนคุมะเท็ตสึก็จะไม่ทิ้งเขาเหมือนที่แม่และพ่อทิ้งเขาไป กระบวนการนี้ทำให้เราเติบโตได้เพราะเราย้ายพ่อแม่เข้าไปอยู่ในใจตลอดเวลาแม้ว่าตัวจะอยู่ห่างกันค่ะ เราจึงไม่ต้องตัวติดกับพ่อแม่ตลอดเวลาเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย

จะเห็นว่าต่างคนต่างเลียนแบบซึ่งกันและกันแต่สุดท้ายไม่ได้เหมือนกันทุกอย่าง ทั้งที่เลียนแบบท่าทางแต่สิ่งที่เหมือนกลับกลายเป็นของที่อยู่ในตัวซึ่งจับต้องไม่ได้ เช่น ความผูกพัน ความมั่นใจ ความรัก ดูแบบนี้แล้วกระทั่งเลียนแบบก็ต้องใช้ความพยายามเพราะไม่ใช่คุณสมบัติติดตัวมาแต่เกิดค่ะ งานวิจัยล่าสุดก็บอกแบบนั้นเหมือนกัน

การศึกษาที่ตีพิมพ์ใน Current Biology พบว่าทารกไม่ได้เลียนแบบสีหน้าท่าทางเป็นมาตั้งแต่เกิด การเลียนแบบน่าจะเป็นทักษะจากการเรียนรู้ภายหลังมากกว่า เขาศึกษาทารก 106 คน โดยทำการทดสอบการเลียนแบบท่าทางต่างๆ 11 แบบ เช่น แลบลิ้น อ้าปาก ชี้นิ้ว ฯลฯ เมื่ออายุ 1, 2, 6 และ 9 สัปดาห์ ผลพบว่าเวลาพ่อแม่หยอกล้อ ทารกไม่ได้เลียนแบบพ่อแม่แต่จะพยายามทำท่าทางเหมือนที่เพิ่งทำไปเมื่อครู่มากกว่า แต่พ่อแม่หยอกล้อก็มีความสำคัญเพราะทำให้เด็กสนใจและพยายามสื่อสารด้วย ในทางกลับกันพ่อแม่ต่างหากที่พยายามจะเลียนแบบท่าทางของลูกเวลาหยอกล้อค่ะ ผลการศึกษานี้จึงบอกว่าพ่อแม่ที่เล่นกับทารกแล้วทารกไม่เลียนแบบก็อย่าเสียใจไป กว่าจะเลียนแบบได้ต้องอายุ 6-8 เดือนค่ะ

เปรียบเทียบแล้วเด็กโข่งคุมะเท็ตสึคงเหมือนทารกที่คิดเองทำเองไม่เลียนแบบใคร แต่เมื่อเร็นพยายามเลียนแบบเขาเหมือนพ่อแม่พยายามเล่นกับลูก บางอย่างในตัวคุมะเท็ตสึกลับเติบโตขึ้นภายใน เกิดการเรียนรู้และสามารถอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้นโดยไม่รู้ตัวค่ะ

ดูเหมือนต่อให้ไม่เลียนแบบหรือไม่ทำตาม การเรียนรู้ก็เกิดขึ้นภายในโดยไม่รู้ตัวอยู่ดี ถ้าคุณแม่เป็นคนขี้กังวลมากๆ ต่อให้ลูกไม่เลียนแบบและไม่ทำตามแต่อาจเกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในตัวลูกและกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพที่ซับซ้อนได้อยู่ดีค่ะ

 
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...