พุทธตันตระ - วัชรยาน ตอนที่ Iภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา แปลจาก The Essense of Jung's Psychology and Tibetan Buddhismพุทธตันตระหรือพุทธวัชรยานเป็นยานลำที่สาม ถึงแม้นพุทธตันตระจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักมหายานแต่พุทธตันตระก็ทำให้พุทธธิเบต พัฒนาถึงจุดสูงสุดและงามสง่าที่สุด เมื่อดำเนินไปตามทางลัดของตันตระหรือยานเพชร ผู้ฝึกอาจบรรลุนิพพานได้ในชั่วชีวิตเดียว ทั้งที่พระพุทธศาสนาสอนว่าการเดินทางสู่พุทธภูมิโดยเส้นทางอันซ้อนหลั่น อื่นๆนั้นกินเวลายาวนานสุดจะหยั่ง “ชั่วกัปป์ชั่วกัลป์”
พุทธตันตระมีพื้นฐานมาจากปรัชญามาธยมิกะ ซึ่งมีแก่นคือทางสายกลาง กล่าวคือ ตรงกลางระหว่างความเห็นสุดโต่งสองทางที่เชื่อว่าว่า
๑) อัตตาและโลกเที่ยงแท้คงทนอยู่เป็นนิรันดร์ (eternalism) หรือ
๒) ตายแล้วสูญ (nihilism)
พุทธ ตันตระไม่สนใจการการใคร่ครวญเชิงทฤษฏีหรือเชิงอภิปรัชญา และไม่สนใจการทรมานตนอย่างสำนักอื่นๆ พุทธตันตระเน้นอุปายะอันซับซ้อน ซึ่งผู้ที่ยังไม่ได้รับการอภิเษกไม่อาจเข้าใจได้ อุปายะเหล่านี้ มีเค้ามาจากการถือโชคลางของคนโบราณและอิทธิฤทธิ์ของเหล่าชามาน อย่างไร ก็ดี โดยแก่นแท้แล้ว สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นอะไรนอกเสียจาก อุปายะอันหลากหลายเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ กล่าวคือ วิถีการแปรเปลี่ยนทุกแง่มุมของชีวิตในสังสารวัฏ ทั้งแง่บวก แง่ลบ หรือกลางๆ ไปสู่ปัญญาแห่งการหลุดพ้น อุปสรรคทั้งหลาย เช่น ราคะ ถูกแปรเป็นพาหนะสู่การรู้แจ้ง ก้าวข้ามความดีและความชั่ว และไหลคืนสู่แก่นแท้แห่งจิตวิญญาณอันพิสุทธ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติเดิมแท้แห่งจักรวาล
นี่คือทางตรงและลัดสั้น สู่การปลดปล่อย เป็นสิ่งซึ่งทรงพลังยิ่งและนำมาซึ่งขีดสุดของวิวัฒนาการแห่งจิตสำนึก แต่ทว่า ทางตรงลัดนี้ไม่ใช่ทางง่ายและยังเต็มไปด้วยอันตราย มันเป็นทางที่ไกลเกินกว่าสิ่งพื้นพื้นอันดิบหยาบ และเป็นอุปายะอันซับซ้อนแห่งการเติบโตและเปลี่ยนแปลงทางจิตวิญญาณ
จุดหมายปลายทางของสำนักพุทธ คือความรู้แจ้งเหมือนกันหมด นั่นคือ ความรู้แจ้ง ณ ที่นี่และเดี๋ยวนี้ และไม่ใช่อนาคตอันไม่อาจหยั่งถึง ความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงคือจุดหมายปลายทาง และเป็นสิ่งเดียวที่พระพุทธองค์ใส่ใจ ดังที่ตรัสไว้ในปฐมเทศนาแห่งอริยสัจสี่ นอกจากนี้ จุดหมายอีกอย่างหนึ่งคือ
การเดินไปตามความศรัทธาอันแรงกล้าที่ว่า ยังมีทางออกจากความทุกข์ของชีวิตทางโลก
อนึ่ง ก่อนที่ผู้ฝึกจะเข้าฝึกตันตระ ผู้ฝึกจะต้องคุ้นเคยกับการฝึกเบื้องต้นของหินยานและมหายาน
ความอดทนอดกลั้น สติ การฝึกจิต ความกรุณา และความพร้อมด้วยปัญญา เหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้ฝึกต้องฝึกมาก่อนจะล่วงเข้าสู่เส้นทางแห่ง เพชร
อันที่จริงแล้ว ท่านอติสะ ซึ่งเป็นอาจารย์ตันตระ ใน ศตวรรษที่ ๑๑ สอนจากพื้นความคิดว่า
“เราไม่อาจกล่าวถึง หินยาน มหายาน วัชรยาน ได้อย่างแยกส่วน แต่ต้องมองว่ายานทั้งสามนี้ เป็นแง่มุมต่าง ๆ ของเส้นทางหนึ่งเดียว” เมื่อเรามองยานทั้งสามรวมกัน ก็จะเห็นได้ว่ายานทั้งสามเป็นวิวัฒนาการอันมีระบบและเป็นธรรมชาติ ตามหลักปริยัติและปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
ตันตระ มีนัยยะถึง ความต่อเนื่อง กล่าวคือ ความต่อเนื่องของความเคลื่อนไหวและการเติบโตภายในของชีวิตหนึ่งๆ ในการฝึกจิตวิญญาณ การฝึกฝนนี้จะนำมาซึ่งความเข้าใจถึงความโยงใยแห่งปรากฏการณ์ทั้งปวง ความสัมพันธ์ของโครงสร้างเล็กและโครงสร้างใหญ่ จิตและจักรวาล สสารและจิตวิญญาณ และกรอบความคิดเช่นนี้ก็คล้ายกันอย่างมากกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ อาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายของพุทธตันตระ คือ การทะลวง หรือการควบคุมและการแปรพลังพลวัตแห่งจักรวาล ซึ่งไม่ต่างจากพลังจิต แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ผ่านการคิดหรือผ่านทฤษฏีเชิงนามธรรม
มี การโต้แย้งและปราศจากความเห็นพ้องอันชัดเจน ในความเหมือนและความต่างระหว่างฮินดูตันตระและพุทธตันตระ รวมถึงต้นกำเนิดของตันตระด้วย นักประพันธ์ท่านหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งทำให้ตันตระเป็นส่วนหนึ่งของพุทธศาสนา ในกาลเวลาอันจำเพาะเจาะจง แต่ทว่า ตันตระค่อยๆหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ผ่านกาลเวลาหลายศตวรรษ และไม่มีความต่างที่สำคัญระหว่างฮินดูตันตระและพุทธตันตระ
อย่างไร ก็ดี นักวิชาการท่านอื่น อย่างเช่น ท่าน ลามะ โควินทร์ และ Benoytosh ยืนยันว่า ถึงแม้พุทธตันตระและฮินดูตันตระจะมีรูปแบบภายนอกที่เหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วก็มีส่วนต่างที่สำคัญอยู่ ท่านโควินทร์กล่าวว่า พุทธตันตระไม่มีกรอบความคิดเกี่ยวกับศักติ หรือแง่มุมแห่งความเป็นหญิงอันสร้างสรรค์ของมหาเทพศิวะ และต่อมาแนวคิดเรื่องพลังแห่งศักติ ก็ไม่ใช่แนวคิดหลัก แต่แนวคิดหลักได้กลายเป็นเรื่อง ปัญญา
ความคิดหลักของวัชรยาน คือ หลักการเกี่ยวกับขั้วทั้งสองของชายและหญิง และการหลอมรวมของขั้วแห่งชายหญิงเป็นเป้าหมายของการฝึกตันตระ การหลอมรวมของสิ่งตรงข้ามจักก้าวข้ามทวิภาวะไปสู่เอกภาพสมบูรณ์ และนี่คือความเป็นจริงแห่งจิตวิญญาณอันสูงสุดในเส้นทางแห่งความรู้แจ้ง
แท้จริงแล้วสภาวะนี้แหละ คือ ความรู้แจ้ง
ใน ประติมานวิทยา (Iconography) ภาพทวยเทพซึ่งสวมกอดคู่ของท่านอย่างรักใคร่และพากันเสวยความสุขสำราญสุดยอด ได้แสดงให้เห็นถึงหลักการแห่งการหลอมรวม
สำนักทุกสำนักของตันตระกล่าวว่า ความสุขสำราญเป็นธรรมชาติแห่งความสมบูรณ์ เราตระหนักรู้ความสมบูรณ์ เมื่ิอตระหนักตนในความสำราญอันบริบูรณ์ ในประสบการณ์แห่งความสุขสำราญธรรมดาๆนี้เองที่ เราแวบรู้ถึงความสุขสำราญอย่างเดียวกับในธรรมชาติเดิมแท้ของเรา แต่ทว่า ประสบการณ์แห่งความสุขสำราญเหล่านี้ เป็นประสบการณ์อันจำกัดและแปดเปื้อน ดังนั้นจึงถ่วงเราไว้ในภพที่ต่ำกว่า แทนที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าในการตระหนักรู้ตนเอง
ความสุขสำราญ นิพพาน และความรู้แจ้ง กลายเป็น คำพ้องความหมายในพุทธตันตระ การจ่อมจมในธรรมชาติเดิมแท้ของอัตตาและอนัตตาในความเป็นหนึ่งแห่งความสุขสำราญอันบริบูรณ์ การฝึกฝนทางจิตวิญญาณภายใต้การร่วมเพศตามหลักโยคะ หรือความเร้นลับแห่งกาม ซึ่งก็คือ ความสุขแห่งเพศรสอันแปรเป็นความสุขอันศักดิ์สิทธิ์ และเป็นเครื่องมือสำหรับความบริบูรณ์ทางจิตวิญญาณ
พุทธตันตระ มีหลักว่ากายของมนุษย์เป็นโครงสร้างเล็ก (microcosm) ซึ่งเป็นรูปธรรมของความจริงอันเป็นนามธรรมแห่งโครงสร้างใหญ่ (macrocosm) ความจริงอันสมบูรณ์โอบล้อมทวิภาวะทั้งปวง
นิพพาน - สังสารวัฏ, ปัญญา (ธาตุหญิง) - อุปายะ (วิธีการสู่การได้มาซึ่งปัญญา อันเป็นธาตุชาย),
สุญญตา (ความว่าง) - กรุณา
สาวก แห่งตันตระหลอมรวมทวิภาวะเข้าในกายเนื้อของเขาเอง กล่าวคือปฐมเอกภาพ ซึ่งสกัดกั้นการแบ่งแยกและรวบรวมความต่างทั้งปวง กล่าวอีกนัยหนึ่ง สาวกเห็นตันตระใช้ร่างของตนเป็นสื่อในการก้าวข้ามปรากฏการณ์ทางโลก และเป็นสื่อของประสบการณ์ในอทวิภาวะ, ความบริบูรณ์อันมีอยู่ก่อนสรรพสิ่ง, และความสุขสำราญสุดยอด
การฝึกของตันตระ พิธีกรรมของตันตระ และจิตภาวนาแบบตันตระ หรือที่เรียกกันว่า สาธนา มีเป้าหมายคือการตระหนักรู้ดั่งว่านี้ นี่คือ พลวัตแห่งขั้วตรงข้าม คือแก่นแห่งปรัชญามาธยมิกะหรือทางสายกลาง ซึ่งโอบล้อมและสวมกอดทุกสิ่งไว้
ณ ห้วงขณะที่ความกรุณาอันยิ่งใหญ่บังเกิด
ความว่างอันเปลือยเปล่า เจิดจ้าและยิ่งใหญ่ ก็ผุดขึ้น
ขอทางแห่ง สองในหนึ่ง นี้ปรากฏแก่ข้าเสมอ
และได้ฝึกมันทั้งในทิวาแลราตรีจาก
http://venusbuddha.blogspot.com/2011/07/i_9915.html