• ศาสนาในภูฏาน พุทธศาสนาตันตรยาน
• พุทธศาสนาตันตรยาน• ภูฏานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยอมรับนับถือพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ เป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ นิกายตันตรยานหรือวัชรยานถือกำเนิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพัฒนาการอันยาวนานของพุทธศาสนา ชื่อตันตรยานมาจากคำว่าตันตระ ในภาษาอินเดีย เป็นชื่อคัมภีร์ลึกลับที่รู้กันในวงจำกัด และปรากฎขึ้นในราวช่วงศตวรรษที่ 3-10 โดยแบ่งออกได้เป็นสี่กลุ่ม จากคำสอนที่ง่ายที่สุดจนไปถึงคำสอนที่ซับซ้อนที่สุด ได้แก่ คัมภีร์กริยาตันตระ คัมภีร์จรรยาตันตระ คัมภีร์โยคตันตระ และ คัมภีร์อนุตตรโยคตันตระ
• พุทธศาสนาตันตรายานสูญหายไปจากอินเดียซึ่งเป็นดินแดนต้นกำเนิดในช่วงที่พวกมุสลิมยกมารุกรานในต้นศตวรรษที่ 13 และไปรุ่งเรืองอยู่ในทิเบต ลาดัคห์ สิกขิม มองโกเลีย ภาคเหนือของเนปาล ภูฏาน จีน และญี่ปุ่นแทน
• แนวคิดพื้นฐาน• พุทธศาสนาตันตรยานมีความเชื่อพื้นฐานเหมือนกับพุทธศาสนานิกายอื่น คือเชื่อว่า กรรมในอดีตชาติเป็นตัวกำหนดชาติภพและชีวิตในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้สรรพชีวิตต้องเวียนว่ายตายเกิดเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด บุคคลจึงควรทุ่มเทความพยายามมุ่งไปให้ถึงพระนิพพานซึ่งจะช่วยปลดปล่อยตนให้พ้นจากสังสารวัฏและกิเลสกองทุกข์ทั้งปวงได้
• การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นต้นกำเนิดของแนวคิดเรื่องสุญญตาหรือความว่าง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างการมีอยู่หรือมไม่มีอยู่ซึ่งตัวตน เพราะความจริงแล้วสรรพสิ่งในโลกแห่งผัสสะล้วนแล้วแต่ไม่จีรั่งยั่งยืน และเป็นจริงในขั้นสมมุติสัจจจะเท่านั้น แม้มายาภาพที่บังเกิดจะทำให้มนุษย์ยึดติด แต่โดยเนื้อแท้แล้วหามีตัวตนอยู่ในความจิรงขั้นปรมัตถ์ไม่
• กระนั้น พุทธศาสนาสายมหายานและสายตันตรยานก็ยอมรับนับถือเทพเจ้าและเหล่าพระโพธิสัตว์ โดยเชื่อมั่นว่า ท่านเหล่านี้เป็นผู้บรรลุธรรมแล้ว แต่ยังไม่ยอมก้าวล่วงเข้าสู่พระนิพพาน โดยยินดีที่จะเวียนว่ายอยู่ในห้วงสังขารวัฏนี้ต่อไปจนกว่าจะช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นห้วงทุกข์ไปได้ทั้งหมดก่อน
• พุทธศาสนาตันตรยานได้พัฒนาขึ้นมาจนมีเอกลักษณ์อันโดดเด่น พระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไม่เพียงมีปรากฎอยู่ในพระสูตรและพระวินัยเท่านั้น แต่ยังมีบันทึกอยู่ในคัมภีร์ของฝ่ายตันตระด้วย คัมภีร์ดังกล่าว เป็นคัมภีร์ลี้ลับและต้องให้พระลามะผู้ทรงภูมิธรรมขั้นสูงเป็นผู้ถ่ายทอดและอธิบายให้ฟัง จึงจะสามารถเข้าใจความหมายในคำสอนเหล่านั้นได้
• มรรควิธีในการเข้าถึงสุญญตาของทางตันตระมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การไม่สะกดหรือข่มกลั้นอารมณ์ต่างๆ เอาไว้ แต่ระเบิดออกมาเพื่อใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้ธรรม การสร้างรูปสัญลักษณ์ขึ้นมาแทนตัวแทนเทพเจ้าเพื่อสะท้อนแนวคิดที่ไม่เป็นรูปธรรม การปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรมต่างๆ ทั้งการสวดมนต์ การร่ายคาถาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง การกราบไหว้บูชาและการเพ่งมณฑลเพื่อเจริญสมาธิ เป็นต้น ทั้งนี้ การถ่ายทอดธรรมแบบปากต่อปากจากอาจารย์สู่ศิษย์นับเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
• ในประเทศภูฏานและทิเบต พุทธศาสนาตันตรยาน ได้พัฒนาไปในทิศทางเดียวจนกลายเป็นพุทธศาสนานิกายลามะหรือพุทธศาสนาแบบทิเบตอย่างที่ทางตะวันตกนิยมเรียกกัน โดยรวมเอาศรัทธาในยุคก่อนการยอมรับนับถือศาสนาพุทธ ลัทธิถือผี รวมถึงการบูชาภูเขา ทะเลสาบ และเทพเจ้าประจำท้องถิ่นเข้ามาไว้ด้วยกัน การผสมกลมกลืนนี้สามารถเห็นได้ชัดในพิธีธรรมทางศาสนาและคติพื้นบ้านต่างๆ
• คนภูฏานเชื่อว่า มนุษย์เรามีองค์ประกอบสี่อย่าง ได้แก่ ลา (เจตสิก) ซก (แก่นชีวิต) เสะ(อายุขัย ) และ นัมเซ (สัญญา) โดยสามอย่างแรกนั้นรับมาจากศรัทธาความเชื่อในยุคก่อนการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามา ซึ่งสามอย่างนี้จะสูญสลายไปเมื่อคนเราเสียชีวิตลง ส่วนนัมเซรับมาจากพุทธศาสนาโดยตรง และจะเปลี่ยนถ่ายไปสู่ชีวิตในชาติภาพใหม่หลังกายเนื้อตายไป
• ภาคดุร้ายเป็นภาคสำแดงหนึ่งของเหล่าเทพเจ้าฝ่ายตันตระ สำแดงขึ้นเพื่อกำราบปราบปรามวิญญาณชั่วร้ายที่เป็นปฏิปักษ์กับพุทธศาสนาและเพื่อขับไล่อวิชชา ดังที่ท่านคุรุรินโปเซเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ใช้ไม้อ่อนไม่ได้ ก็ต้องใช้ไม้แข็ง”
• รูปเทพเจ้าที่ไร้ซึ่งภูษาอาภรณ์นั้น ทางตันตระใช้สื่อความหมายว่าจารีตธรรมเนียมในทางโลกไม่มีความสำคัญในภพภูมิที่สูงกว่า ศาสตราวุธและสิ่งของนานาที่ถือไว้ในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์แทนธรรมชาติต่างๆ มนุษย์หรือปิศาสจที่ถูกเหยียบไว้ใต้บาท สื่อถึงบรรดาปฏิปักษ์ของพุทธศาสนาและแนวคิดฝ่ายมิจฉาทิฐิ ไม่ว่าจะเป็นอวิชชา โทสะหรือความริษยาก็ตาม
• นอกจากนี้ ยังมีรูปเคารพอีกมากมายที่สวมกอดศักติ หรือ เทวี ของท่านไว้ พุทธศาสนาตันตระถือว่า ปริสภาวะของเทพเจ้าเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้หรือมรรควิธีเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย ในขณะที่อิตถีภาวะเป็นสัญลักษณ์แทนปัญญา ถ้าปราศจากซึ่งปัญญา ความรู้ก็พาไปไม่ถึงไหน และถ้าไร้ซึ่งความรู้ ปัญญาก็ไม่อาจพาไปถึงพระนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดได้ มีแต่การรวมปัญญากับความรู้เข้าด้วยกัน ดังนี้ บุคคลจึงจะบรรลุถึงความรู้แจ้งได้
• พิธีกรรมของพุทธศาสนาตันตรยาน• พิธีกรรมมักกระทำกันเพื่อปัดเป่าสิ่งเลวร้ายออกไปและชักนำสิ่งดีๆ มาให้ และเพื่อให้บุคคลบรรลุถึงสภาวะที่สามารถนำความผาสุกสวัสดีมาสู่ทุกสรรพชีวิตได้ พิธีกรรมในภูฏานแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ พิธีกรรมที่มีท่วงท่าอากัปกิริยาจำเพาะเข้ามาประกอบ พิธีบูชาเทพยดาที่ไม่ใช่เทพของทางตันตระ และพิธีบูชาเทพ ยิดัมของทางตันตระ (ยิดัม คือครูผู้ถ่ายทอดธรรม อาจเป็นมนุษย์ เทพเจ้า หรือพระธยานิพุทธองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้)
• พิธีกรรมในภูฏานทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญเทพยดา ตามมาด้วยการสารภาพความผิดหรือบาปกรรมที่ได้กระทำ จากนั้นจึงถวายของเซ่นไหว้บวงสรวงและสวดบูชาให้เทพดลบันดาลให้ตนสมปรารถนา ตบท้ายด้วยการร่ายมนต์อัญเชิญเทพยดาให้กลับไปยังที่สถิตซึ่งอาจเป็นรูปเคารพ ภาพเขียน หรือมณฑล
• เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาตันตรยาน• โดร์จี (วัชระ) โดร์จี มีลักษณะคล้ายดัมเบลเล็กๆ มีแฉกแยกออกมาจากตรงกึ่งกลางสี่หรือแปดแฉก แต่ส่วนปลายแฉกจะบรรจบเข้าหากันเสมอ วัชระ แปลว่า เพชรหรือสายฟ้า สื่อความหมายถึงความบริสุทธิ์และความแข็งแกร่งที่ไม่มีสิ่งใดจะทำลายลงได้ เฉกเช่นเดียวกับจิตวิญญาณแห่งความเป็นพุทธะ นอกจากนี้ สายฟ้ายังเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้ที่จำเป็นต่อการบรรลุธรรม จึงหมายถึง ปุริสภาวะอีกโสหนึ่งด้วย การประกอบพิธีกรรมมักใช้วัชระคู่กับระฆัง (ดริลบู) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนปัญญาและอิตถีภาวะเของเทพเจ้า
• พุรปา คือ กริช อันเป็นที่สถิตของเทพ โดร์จี พุรปา และเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมของลัทธิตันตระในอินเดียมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7-8 ใบมีดมีรูปทรงสัณฐานเป็นสามเหลี่ยม ส่วนด้ามทำเป็นรูปหัวสัตว์หรือเศียรเทพเจ้า ใช้แทงปิศาจบูชาเทพเจ้า เป็นการช่วยปลดปล่อยวิญญาณให้ได้ไปเกิดใหม่ในชาติภาพที่ดีกว่า นอกจากนี้ ยังใช้ในพิธีชำระมณทิล สร้างความบริสุทธิ์และปกปักรักษาสถานที่ต่างๆ ด้วย
• ตอร์มา หรือ ต้ม เป็นเครื่องประกอบพิธีพุทธของทางทิเบต และภูฏานโดยเฉพาะ ทำขึ้นจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลีผสมเนยย้อมเป็นสีต่างๆ แล้วนำไปอัดใส่พิมพ์ ทำเป็นรูปทรงและลวดลายต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลากหลายมาก งานพิธีทุกงานเป็นเวลาแห่งการทำต้ม เทพเจ้าแต่ละองค์ พิธีกรรมแต่ละพิธีจะมีต้มในรูปแบบของตนโดยเฉพาะ ต้มจะถูกนำไปวางตั้งไว้บนแท่นเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาแทนมนุษย์และสัตว์ที่เคยใช้กันตั้งแต่ครั้งที่ยังไม่ได้รับเอาศาสนาพุทธเข้ามา
• เดอ มักพบอยู่ตามข้างถนนทางและสี่แยก ลักษณะเป็นเชือกสีที่ฟั่นขึ้นบูชาภูติผีปิศาจและวิญญาณร้ายให้ใช้เป็นที่สิงสถิต จะได้ไม่เที่ยวไปสิงผู้คนหรือสัตว์เลี้ยงให้เจ็บป่วยล้มตายกันอีก
• แท่นบูชาตามวัดวาและบ้านเรือนจะมีถ้วยน้ำวางอยู่เจ็ดใบ ซึ่งจะต้องเปลี่ยนน้ำทุกเช้า เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องบูชาเจ็ดอย่างที่ต้องถวายแด่พระพุทธเจ้าและเทพยดาทั้งหลาย ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม น้ำสรง ดอกไม้หอก กำยานหอม ตะเกียงน้ำมันเนย และน้ำหอม
• สามสัญลักษณ์หมู่ศาสนาในภูฏาน • สัญลักษณ์ทางศาสนาในภูฏานที่ปรากฎให้เห็นเป็นหมู่เหล่ามีอยู่ 3 กลุ่มที่สำคัญได้แก่
• มงคล 8 (ตาชิตาเก)
• สิ่งที่ชาวภูกานถือเป็นสัญลักษณืแห่งความมงคล 8 ประการ ของชีวิตตามความเชื่อและความศรัทธา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักจะปรากฎเป็นรูปเคารพตามโบราณสถาน ตลอดจนในบ้านเรือง มีดังนี้
1. กลสะ หรือ แจกันสมบัติ (Treasure Vase หรือ bumpa) เป็นที่บรรจุหรือเก็บสมบัติ หมายถึง พระธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา อันนับเป็น “อริยทรัพย์” สำหรับชาวพุทธทั้งปวง รูปร่างแจกันเป็นภูฏานคล้ายกับหม้อน้ำ (ปุณณฆฏะ คือ หม้อเต็มด้วยน้ำ) ซึ่งถือเป็นมงคล 1 ใน 108 อย่าง ชาวศรีลังกาจะนิยมถือปุณณฆฏะนี้เดินเวียนต้นโพธิ์ หรือ โบสถ์วิหาร แทนดอกไม้ธูปเทียน
2. ปมอนันตะ หรือ ลายประแจจีน (Endless Knot หรือ pay-yap, drami) คล้ายกับ เฉลว ของไทย ลักษณะเป็นเส้นตอกเอามาขัดกัน หรือเขียนบนผืนผ้าก็ได้ เป็นสัญลักษณ์แทนความรักอันบริสุทธิ์ไม่มีที่สิ้นสุด เส้นตอกที่ขัดกันนั้นเป็นระเบียบสวยงาม ประดุจความรักที่บริสุทธิ์ ย่อมทำให้ชีวิตสวยงาม แต่ถ้าขัดกันไม่เป็นระบบระเบียบ ชีวิตรักก็จะยุ่งเหยิง
3. ธวัช หรือ ธงชัย (Victorious Banner หรือ gyaltshen) เป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระพุทธศาสนาต่อความชั่วร้ายและผีสางทั้งปวง ธงชัยเป็นการประกาศชัยชนะในการเข้ามาของพระพุทธศาสนา ณ ภูมิภาคแถบนี้ ที่ต้องต่อสู้เอาชนะภูติผีปิศาจจำนวนมาก จนสามารถกลับใจปิศาจเหล่านั้นให้หันมายอมรับนับถือและรับใช้พระพุทธศาสนาได้
4. ธรรมจักร หรือ กงล้อธรรม (Wheel of law หรือ khorlo) สัญลักษณ์สากลของชาวพุทธทุกนิกาย ธรรมจักร หมายถึง หลักคำสอนของพุทธศาสนาและเป็นคำสอนที่ “ไม่หยุดนิ่ง” คำว่าไม่หยุดนิ่งนี้ อาจหมายถึงการเคลื่อนไหว หรือปรับตัวให้ทันยุคสมัย และเหมาะแก่ท้องถิ่น เพราะเหตุดังนี้ ศาสนาพุทธในทิเบตและภูฏานจึงมีการปรับให้เหมาะสมกับลัทธิความเชื่อและวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
5. ฉัตรทองคำ (Golden Parasol) หรือ ser dhug ซึ่งเปรียบว่า ใช้บังแดด พระพุทธศาสนาเป็นเสมือนฉัตรทองที่ปิดกั้นภยันตรายแก่ผู้ที่นับถือและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา
6. มัสยา หรือ ปลาทอง (Golden Fish หรือ serge nya) ชาวภูฏานมีความเชื่อว่า ปลาเป็นสัตว์ที่ลืมตาอยู่เสมอทั้งที่อยู่ในน้ำ ตาทั้งสองข้างที่เปิดกว้าง ช่วยให้สามารถมองเห็นอุปสรรคและสิ่งที่กีดขวางทั้งหลายทั้งปวง ตาหนึ่งคือ สติ (ความระลึกได้ ความยับยั้งชั่งใจได้) อีกตาหนึ่งคือสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว พร้อมปัญญารู้ทันปรากฎการณ์) เป็นการระมัดระวังมิให้ความชั่วที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น และเพื่อละเว้นความชั่วที่เผลอทำลงไป
7. สังข์ขาว (White Conch หรือ dung kar) สังข์ที่ขัดจนขาวแล้ว เป็นเครื่องหมายแทนพระธรรมอันบริสุทธิ์ สังข์เป็นสัญลักษณ์ของการเผยแพร่หรือโฆษณา สังข์ขาวจึงเป็นเสมือนการประกาศพระศาสนา
8. ปัทมะ หรือ ดอกบัว (Lotus หรือ meto pema) ดอกบัวมีความหมายเหมือนสังข์ขาว ดอกบัวถือเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ดังพุทธวัจนะที่ว่า “ดอกบัวเกิดแต่โคลนตมในนน้ำ แต่ไม่เปียกน้ำ พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน เกิดในโลก แต่ไม่เปรอะเปื้อนด้วยมลทินของโลกฉันนั้น”
• สมบัติทั้ง 7 ของพระมหาจักรพรรดิราชในพุทธศาสนา 1. จักรรัตนะ คือ จักรแก้วอันเป็นพระราชยานนำพระมหาจักรพรรดิราชเสด็จไปยังที่ต่างๆ ได้รวดเร็วดังใจนึก สามารถปราบปรามปัจจามิตรได้ทั่วทิศ
2. มณีรัตนะ คือ ดวงแก้วอันมีรัศมีสุกใส อันเมื่อพระมหาจักรรพรรดิราชและอาณาประชาราษฎร์มากราบไหว้ขอสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้นสมดังปรารถนา
3. อิตถีรัตนะ คือ นางแก้วผู้เพียบพร้อมด้วยคุณความดี ควรคู่แต่กับพระมหาจักรพรรดิราชเพียงผู้เดียว
4. คหปติรัตนะ คือ ขุนคลังแก้ว ผู้จงรักภักดี รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อสัตย์ ยังบ้านเมืองให้ไพบูลย์พูนสุขทุกประการ
5. หัตถีรัตนะ คือ ช้างแก้ว คู่บูญในการทำศึกสงคราม มีกำลังเทียบได้กับพญาคชสารนับพันเชือก
6. อัศวรรัตนะ คือ ม้าแก้ว ที่สามารถเหาะไปในนภากาศ พาพระมหาจักรพรรดิราชเสด็จไปรอบจักรวาลได้ถึงวันละสามรอบ
7. ปริณายกรัตนะ คือ ลูกแก้ว ผู้ช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจ มิให้ต้องอนาทรร้อนใจ ทำให้บ้านเองเรืองรุ่ง อาณาประชาราฏร์อยู่เย็นเป็นสุขกันโดยถ้วนทั่ว
• พระอัฏฐเจดีย์ เหตุการณ์สำคัญ 8 ตอนในพุทธประวัติ (โชร์เต็นเดกี)• พระอัฏฐเจดีย์สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ 8 ตอนในพุทธประวัติ โดยเจดีย์แต่ละองค์จะมีลักษรณะรูปทรงต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
1. เดเช็กโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการประสูติของพระพุทธองค์ที่ลุมพินีวัน
2. ชังชุบโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ที่พุทธคยา
3. โชโกร์โชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการแสดงปฐมเทศนาของพระพุทธองค์ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองสารนาถ
4. โชตรุลโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงโอกาสที่พระพุทธองค์ทรงมีชัยชนะเหนือพวกเดียรถีย์ที่เมือสาวัตถี
5. ฮาบับโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงโอกาสที่พระพุทธองค์เสด็จกลับลงมาจากการไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
6. เยนดุมโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงโอกาสที่พระพุทธองค์ทรงระงับการแตกแยกของหมู่พระสงฆจากการยุแยงของพระเทวทัตเมืองราชคฤห์
7. นัมเกลโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ที่เมืองเวสาลี
8. เนนเดโชร์เต็น สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธองค์ที่เองกุสินารา
• คุรุรินโปเซ หรือ คุรุปัทมสัมภวะ• คุรุปัทมสัมภวะเป็นพระอริยบุคคลที่ได้รับการเคารพเทิดทูนจากชาวภูฏานและทิเบตประหนึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง ท่านไม่เพียงเป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแพร่ยังทิเบตและเขตหิมาลัย แต่ยังเป็นเกจิอาจารย์ด้านเวทมนตร์คาถาที่เก่งกาจอย่างยากที่จะหาใครเทียบได้ เรื่องราวของท่านเป็นตำนานที่เต็มไปด้วยสีสัน ชาวภูฏานนิยมเรียกขานพระนามว่า คุรุรินโปเซ หมายถึง อาจารย์ผู้ล้ำเลิศ
• ตำนานของทางภูฏานและทิเบตเล่าว่า ช่วงศตวรรษที่ 8 มีพระราชาพระนามว่าอินทรโพธิ ปกครองแคว้นอุททิยานะอยู ณ เบื้องทิศพายัพของชมพูทวีป เวลานั้นบ้านเมืองเกิดภัยแล้ง ราษฏรอดอยากยากแค้น พระราชาไร้โอรสจะสืบราชสมบัติ ทำให้พระองค์ทรงปริวิตกนัก จึงโปรดฯ ให้ประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลขึ้นในวันเพ็ญเดือนห้าของคิมหันตฤดู ทรงสังวาทยายพระธรรมเมนเมฆสูตรบูชาพระรัตนตรัย ขอให้บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และขอให้พระองค์มีโอรสสืบราชสมบัติโดยเร็ว และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสดับคำอ้อนวอนแล้วก็ให้มีพระทัยเมตตานัก จึงไปทูลขอต่อพระอมิตาภพุทธเจ้าให้ส่งพระปัทมสัมภวะลงไปเกิด เพื่อช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหลาย พระผู้มีแสงอันโอภาสจึงอ้าพระโอษฐ์ เปล่งลำแสงส่องตรงลงสู่ทะเลสาบธนโกษา (ตรงพรมแดนอัฟกานิสถานและปากีสถานในปัจจุบัน) บังเกิดเป็นดอกบัวดอกมหึมาผุดพ้นขึ้นเหนือผิวน้ำ กลางดอกบัวมีกุมารน้อยวัดแปดขวบนั่งอยู่
• เมื่อพระเจ้าอินทรโพธิทรงทราบข่าวก็เสด็จไปหาด้วยพระองค์เอง และตรัสถามว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร อยู่ในวรรณะใด กุมานั้นทูลตอบมาว่า บิดาของเราคือพระสมันตภัทร์ผู้ไวโรจน์ มารดาคือพระสมันตภัทรีผู้เป็นตัวแทนสัจจะอันเที่ยงแท้ เรามีธรรมธาตและปัญญาญาณเป็นวรรณะ และปัทมสัมภวะ (ผู้กำเนิดจากดอกบัว) คือนามของเรา พระเจ้าอินทรโพธิได้ฟังดังนั้นก็ให้อัศจรรย์ใจนัก ทรงเชื่ออย่างไม่มีข้อกังขาว่า กุมารนั้นจะต้องเป้นนิรมาณกายของเทพองค์ใดองค์หนึ่งเป็นแน่ จึงทรงรับพระกุมารมาเลี้ยงไว้ในฐานพระโอรส
• หลังได้พระปัทมสัมภวะ บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ทรงจัดการให้พระโอรสได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโฉมงามและยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมือง นามว่า พระปัทมราชา แต่ยิ่งนานวัน พระปัทมสัมภวะ ก็ยิ่งตระหนักว่าชีวิตนี้เป็นทุกข์ จนมีดำริจะละทางโลกเข้าสู่ทางธรรม แต่ทรงรู้ดีว่าพระบิดาและชายาคงจะไม่ปลอ่ยพระองค์ไปง่ายๆ จึงทรงใช้เวทมนตร์สังหารบุตรชายของขุนนางชั่วร้ายผู้หนึ่งด้วยพระทัยอันการุณ บุตรชายขุนนางชั่วนี้ความจริงตอ้งไปเกิดในภพภูมิชั้นต่ำมาก เพราะเคยทำบาปกรรมเอาไว้มาก แต่การเสียชีวิตในเงื้อมหัตถ์ของพระปัทมสัมภวะทำให้จิตวิญญาณของเขารวมเข้ากับธรรมธาตุจนได้ไปเกิดในสวรรค์ ณ แดนพุทธเกษตร ในขณะที่พระปัทมสัมภวะต้องโทษถูกเนรเทศจากราชอาณาจักร ต้องไปอาศัยอยู่ยังป่าช้าสิตวนา นันทนวัน ทานภูมิทวีป และ ปารุสักวัน ฯลฯ ที่ซึ่งพระองค์ได้ศึกษาคำสอนในแนวทางลี้ลับของวัชรยาน (โยคี) ตามหลุมศพเกจิอาจารย์ต่างๆ จนเชี่ยวชาญและมีอำนาจวิเศษมากมาย ว่ากันว่าในระหว่างนั้น พระองค์ได้กลายร่างเป็นรากษสที่ดุร้าย ปราบปิศาจและนางฑากินีผู้มีมิจฉาทิฎฐิจนยอมกลับใจ ปาวารณาตัวเป็นพระธรรมบาลในพระพุทธศาสนา ทำให้พระองค์ได้รับฉายาว่า โรทระวัชรกาล หมายถึง วัชระผู้โกรธเกรี้ยว
• ต่อมาทรงพบกับพระอริยเจ้าปราหภัสติ ทรงเรียนธรรมและหลักโยคตันตระจากท่า และเพียงได้สดับพระสูตรต่างๆ เพียงครั้งเดียวก็ทรงเป็นเทพทั้ง 37 องค์ของทางโยคตันตระเสด็จมาสำแดงตนโดยพระองค์ไม่ต้องเข้าฌานก่อนเลย การรู้ธรรมได้ในเร็วพลันเช่นนี้ทำให้ผู้คนพากันขานพระนามพระองค์ว่า 'ศากยะสิงห์' อีกพระนามหนึ่ง จากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปฝากตัวเป็นศิษย์พระอริยบุคคลและนางฑากินีอีกหลายท่าน ทั้งที่พุทธคยาและสถานที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง จนสุดท้ายก็รอบรู้พระไตรปิฏก ทั้งในส่วนของพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม อีกทั้งยังเจนจบในเวทมนตร์คาถาและคำสอนที่ลี้ลับที่สุดของนิกายตันตระ ทรงเพ่งมณฑลจนบรรลุถึงความรู้แจ้งเป็นที่หนึ่งเดียวกับพระชินพุทธทั้งหลายในมณฑลนั้น ทำให้ทรงหลุดพ้นจากห้วงสังสารวัฏ ในที่สุดความใฝ่ใจในการศึกษาธรรมทำให้ผู้คนยกย่องพระองค์ให้เป็นคุรุธิมานวารุจี หมายถึง พระผู้มีพระทัย ใฝ่รู้ในปัญญาญาณ
• หลังบรรลุธรรม คุรุปัทมสัมภวะได้เสด็จไปยังแคว้นไพธะและทรงแสดงธรรมสั่งสอนบรรดานางฑากินีอยู่นานถึงห้าปี ทำให้แสงธรรมสาดส่องลงไปในใต้หล้า ประดุจแสงอาทิตย์ฉายฉาน จึงทรงได้รับยกย่องให้เป็นเยียมา เออเซร์ หรือ สูรยประภาอีกพระนามหนึ่ง แล้วเสด็จไปยังแคว้นซาโอร์เพื่อแสดงธรรมโปรดนางมันธารวะ ธิดาของพระเจ้าศาลตราธร และทรงรับนางเป็นศักติด้วย ครั้นพระราชาทรงทราบเรื่องก็กริ้วนักหนา รับสั่งให้จับทั้งสองไปเผาทั้งเป็น แต่คุรุปัทสัมภวะใช้อาคมเปลี่ยนเชิงตะกอนท่อนฟืนให้กลายเป็นบึงน้ำใหญ่ ตัวพระองค์กับนางมันธารวะประทับอยู่กลางดอกบัวดอกมหึมา พระราชาจึงคลายทิฐิ ยอมรับนับถือและยอมให้พระธิดาติดตามพระปัทมสัมภวะไปเผยแพร่ธรรมตามที่ต่างๆ ในที่สุด
• เรื่องราวการเสด็จไปยังทิเบตและเขตหิมาลัยของพระองค์นั้นมีตำนานเล่าขานกลับไปถึงเมื่อครั้งที่พระอมิตาภพุทธเจ้าทรงมอบภาระให้พระอวโลกิเตศวรนำแสงธรรมไปสู่ทิเบต พระมหาโพธิสัตว์ทรงเล็งทิพยเนตรลงมาเห็นอนารยชนผู้เต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิเหล่านี้แล้วก็ให้สงสารนัก ถึงกับหลั่งน้ำพระเนตรบังเกิดเป็นเทพธิดาสององค์ คือนางกังกากับนางกังจุงมา วันหนึ่งนางกังจุงมาไปเห็นดอกไม้ทิพย์เข้า เกิดพอใจจึงขโมยดอกไม้นั้นมา ความปิดบาปครั้งนี้ทำให้นางต้องลงมาจุติเป็นธิดาพ่อค้าในโลกมนุษย์มีชือ่ว่านางเดโชะมา
• ด้วยเหตุที่ถือกำเนิดมากจากน้ำพระเนตรของพระอวโลกิเตศวรมาแต่เดิม นางเดโชะมาจึงมีศรัทธาอันแก่กล้าในพระศาสนา และได้บริจาคเงินสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ขึ้นในเนปาล แต่สร้างยังไม่ทันเสร็จ นางก็เสียชีวิตลงก่อน บุตรชายทั้งสี่จึงสร้่างเจดีย์ต่อจนแล้วเสร็จ และอธิษฐานขอพรต่างๆ กันไป คนแรกขอไปเกิดเป็นธรรมราชา คนที่สองขอเป็นพระสังฆราชา คนที่สามขอเป็นพระอริยบุคคลฝ่ายตันตระ ส่วนคนที่สี่ขอไปเกิดเป็นคนเดินสารเพื่อนำสามคนแรกมาพบกัน ฝ่ายลาที่่ช่วยขนอิฐขนปูนในการสร้างพระเจดีย์มาโดยตลอดได้ฟังดังนั้นก็โกรธนัก นึกขึ้นมาว่ "ดูทีหรือ ตัวเราก็ช่วยงานเหนื่อยยากแสนสาหัส จะคิดถึงเราสักนิดก็ไม่มี ดีละ ถ้าเช่นนั้น เราขอสาบานว่าจะตามไปเกิดไปทำลายสิ่งที่คนทั้งสี่เพียรสร้างขึ้นให้พินาศฉิบหายไปให้จงได้"
• ภายหลังบุตรชายคนแรกได้มาเกิดเป็นพระเจ้าทิชง เด็ตเซ็น องค์นิรมาณของพระมัญชุศรีและกษัตริย์องค์ที่ 38 แห่งทิเบต ในขณะที่คนสุดท้องได้มาเกิดเป็นคนเดินสาร รับหน้าที่ไปอัญเชิญพระสังฆราชาศาสนรักษิตกับคุรุปัมสัมภวะมาจากอินเดีย คุรุสปัทมสัมภวะทรงรำลึกชาติได้จึงรับนิมนต์ เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังทิเบต แต่ก็เต็มไปด้วยอุปสรรค มีภูติผีปิศาจคอยขัดขวางมากมาย คุรุปัทมะสัมภวะต้องใช้คาถาอาคมกำราบและสำแดงร่างทั้งในภาคดีและภาคร้ายเข้าจัดการ ทำให้ได้รับฉายานามมากมาย อาทิ สีหนาท ปัทมวัชระ และคุรุโดร์จีน โดรเล เป็นต้น
• หลังจากนั้น จึงร่วมมือกับพระเจ้าทิชงเด็ตเซ็นและพระศานตรักษิตสร้างอารามซัมเมขึ้นเป็นวัดในพุทธศาสนาแห่งแรกในทิเบต นอกจากนี้ ยังทำพิธีอุปสมบทให้กับพระสงฆ์เจ็ดรูปแรกของทิเบต ควบคุมดูแลแปลพระสูตรและคัมภีร์พุทธสายตันตระจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาทิเบต วางรากฐานการศึกษาพระธรรมและการเจริญวิปัสนาสมาธิให้เป็นระบบระเบียบ ทำให้แสงธรรมสาดส่องลงไปทั่วทิเบตประหนึ่งแสงพระสูรยเทพที่ส่องสว่างไปทั่วหล้า ฝ่ายเจ้าที่ผูกใจเจ็บนั้น ภายหลังได้กลับชาติมาเกิดเป็นพระเจ้าลังดามา กษัตริย์องค์ที่ 41 ของทิเบต ทรงชิงังรังเกียจและกระทำย่ำยีพุทธศาสนาจนแทบสูญหายไปจากทิเบตดังคำสาบานที่ได้กล่าวไว้ในชาติก่อน
• ขณะที่คุรุปัทมสัมภวะประทับอยู่ในทิเบต ทรงรับนางเยเช โชเก็ล ชายาองค์หนึ่งของพระเจ้าทิชง เด็ตเซ็นเป็นศักติ และได้เดินทางท่องไปตามดินแดนต่างๆทั่วทิเบต ขุนเขาลำธารและเถื่อนถ้ำที่เคยเสด็จไปประทับ กลายเป็นสถานที่ศักดิ์ิสิทธิ์ นอกจากนี้ ยังทรงซุกซ่อนสมบัติล้ำค่าทางศาสนาเอาไว้ตามที่ต่างๆ และกล่าวพยากรณ์ว่า จะมีใครมาพบในยุคสมัยใดอีกด้วย
• คุรุปัทมสัมภวะทรงมีพระนามเรียกขานตามภาคสำแดงต่างๆ มากมาย แต่ภาคสำแดงหลักนั้นมีอยู่แปดภาค ได้แก่ ปัทมสัมภวะ ปัทมราชา ปัทมวัชระ คุรุโดร์จี โดรเล สูรยประภา ศากยสิงห์ สีหนาท และคุรุธิมานวารุจี แต่ละภาคล้วนสะท้อนถึงพระประวัติ การกำราบภูติผีปิศาจร้าย และการเผยแพร่ธรรมของพระองค์ทั้งสิ้น
• พระสงฆ์ในภูฏาน• ปัจจุบัน ภูฏานมีพระสงฆ์ในความอุปถัมภ์ของทางการอยู่ราว 8,000 รูป โดยทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การปกครองของ เจเค็มโป (สมเด็จพระสังฆราช) ผู้เป็นประมุขขององค์กรสงฆ์ดราซังเฮ็นซก เจเค็มโปทรงมี โลเป็น ชั้นสูง เป็นผู้ช่วยอยู่สี่ท่าน ได้แก่ โดร์จีโลเป็น (รับผิดชอบดูแลหลักคำสอนทางศาสนาทั้งหมด) ดราเปโลเป็น (พระครูด้านไวยากรณ์ ดูแลการศึกษาด้านอักษรศาสตร์) ยังปีโลเป็น (พระครูด้านดนตรีและพิธีสวดมนต์) และ เซนยีโลเป็น (พระครูด้านปรัชญา) ส่วนผู้ช่วยระดับรองลงมานั้นจะมีอยู่สองท่าน คือ คิลโลร์โลเป็น (พระครูด้านศิลปะ) และ ซีปีโลเป็น (พระครูด้านโหราศาสตร์) นอกจากนี้อารามแต่ละแห่งยังมี อุมเซ (อาจารย์คุมการร้องประสานเสียง) และ คูดุน (อาจารย์คุมวินัย) ประจำอยู่ด้วย โดยท่านหลังจะถือสายประคำงากับแส้ติดมืออยู่ตลอดเวลา
• ปัจจัยขั้นพื้นฐานนั้น ทางการจะเป็นผู้จัดหามาไว้ให้ ส่วนเงินที่ได้มาจากการประกอบพิธีถือเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของพระ พระเหล่านี้มีหน้าที่ประกอบวัตรปฏิบัติประจำวันและทำพิธีสำคัญที่มีมาเพิ่มมาเป็นพิเศษตามกำหนดของป้อมและวัดวาอารามแต่ละแห่ง รวมทั้งรับนิมนต์ไปประกอบพิธีต่างๆ ตามวัดหรือตามบ้านเรือนของศาสนิกชนด้วย
• ผู้ที่เข้าร่วมกาสาวพัสตร์นั้น มีทั้งเณรและพระ ซึ่งต้องครองเพศพรหมจรรย์ ต้องละเว้นจากการสูบบุหรี่และดื่มน้ำเมา แต่ยังฉันเนื้อสัตว์ได้ พระภูฏานนั้นฉันได้กระทั่งมื้อเย็นต่างจากพระแถบเอเซียอาคเนย์ที่ต้องงดมื้อเย็นอย่างเด็ดขาด พระที่เพิ่งมาบวชเอาตอนรุ่นหนุ่มก็พอมีอยู่บ้าง แต่ต้องนับว่าน้อยมาก พระสามารถสึกออกไปมีครอบครัวได้ทุกเมื่อ (แต่จะต้องเสียค่าปรับ) คนจะเรียกพระที่สึกออกว่า กีเตร การสึกออกไปครองเรือนนี้ สังคมไม่ตำหนิหรือถือว่าเป็นตราบาปแต่อย่างใด
• พระส่วนใหญ่ในภูฏานเป็นพระในนิกายดรุ๊กปะ แต่พระในกิกายญิงมาปะก็มีอยู่เช่นกัน พระที่ไม่ได้อยู่ในอุมถัมภ์ของทางการ แต่มีชาวบ้านเป็นอุปัฏฐากแทน มีอยู่ราว 3,000 รูป
• พระที่ผ่านพิธีอุปสมบทมาเรียบร้อยแล้ว เรียกว่า เก-ลง จะใช้ชีวิตอยู่ในซอง (ป้อม) หรือวัด ครองผ้าสีแดงเข้มในแบบฉบับอันเป็นเอกลักษณ์ และมักถูกส่งตัวมาอยู่วัดตั้งแต่อายุ 5-6 ขวบ เพื่อเป็นหน้าเป็นตาและเป็นการสร้างกุศลให้กับครอบครัว พระเหล่านี้จะได้เล่าเรียนเขียนอ่านวิชาความรู้พื้นฐานอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนา (เป็นการศึกษารูปแบบเดียวที่จะหาได้ในสมัยโบราณ) หลังผ่านไปได้สามสี่ปีก็จะเปลี่ยนมาศึกษาเฉพาะสาขาตามความสามารถหรือความถนัดของแต่ละบุคคล โดยอาจเป็นวิชาศาสนวิทยาขั้นสูง หรือศาสนศิลป์แขนงใดแขนงหนึ่ง (นาฏศิลป์ คีตศิลป์ จิตรกรรม หรือการตัดเย็บ ฯลฯ)
• ตรุลกู หรือ รินโปเซ คือนิมาณกายของพระอริยสงฆ์องค์สำคัญๆ ผู้กลับชาติมาเกิดหลายครั้งจนกลายเป็นสายวงศ์ให้สืบย้อนไปได้เหมือนลำดับวงศ์ตระกูลกระนั้น นิรมาณกายทุกรุ่นจะใช้ชื่อเดียวกันหมดไล่ลงมาเป็นรุ่นๆ คนทั่วไปจะเรียกพวกท่านว่า ตรุลกู หมายถึง “ร่งที่แบ่งภาคมาเกิด” แต่เวลาสนทนากับท่านจะยกย่องด้วยการเรียกขานว่า รินโปเซ แปลว่า “อาจารย์ผู้ที่เป็นที่เคารพและเทิดทูนยิ่ง” ตรุลกูบางท่านเป็นพระที่ผ่านพิธีอุปสมบทครองสมณเพศและละเว้นประเวณีตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด บางท่านก็แต่งงานครองเรือนเยี่องฆราวาสทั่วไป แต่ก็ยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ที่สำคัญเมื่อได้รับการประกาศให้เป็นตรุลกูก็จะเป็นไปชั่วชีวิต ถึงแม้จะใช้ชีวิตข้องเกี่ยวกับโลกียวิสัยแทนการมุ่งสู่เส้นทางธรรมก็ตาม การเป็นตรุลกูจะสืบทอดเรื่อยไปในทุกๆชาติ เหมือนหนึ่งเป็นลักษณะทางพันธุกรรมกระนั้น ชาวภูฏานจะนิยมไปสักการะขอพรจากตรุลกูองค์สำคัญๆ ที่ได้ศึกษาหลักธรรมคำสอนทางศาสนาอย่างเข้มงวดจริงจัง และมีศักดิ์ฐานอันสูงส่งในศาสนาจักรมาตั้งแต่ยังเยาว์วัยกันเป็นพิเศษ
• กมเซ็น (พระบ้าน) เป็นองค์ประกอบทางศาสนาที่ค่อนข้างพิเศษ คือเป็นฆราวาสที่ทำหน้าที่แทนพระ สังกัดอยู่ในกิกายญงมาปะ กมเซ็นจะอาศัยอยู่กับบ้าน แต่งงานมีครอบครัว และมีงานมีการทำเป็นอาชีพ ไล่ตั้งแต่การทำงานทำไร่ไปจนถึงงานราชการ กมเซ็นได้รับการศึกษาทางศาสนาจนสามารถประกอบพิธีต่างๆ ให้ชาวบ้านได้ กมเซ็นจะสวมชุดโกเหมือนฆราวาสทั่วไป แต่จะยาวกว่าปกติ บางครั้งจะรวบผมขมวดไปเป็นหางม้าและใช้ กับเนะ สีแดงเข้มคล้ายจีวรพระ กมเซ็นมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่งในหมู่บ้านอันรกร้างห่างไกล เพราะเป็นผู้ประกอบพิธีที่จำเป็นแทนพระได้ทั้งหมด
• ลามะ คำว่าลามะ แปลว่า “อาจารย์ทางศาสนา” ลามะอาจเป็นได้ทั้งพระที่ผ่านพิธีอุปสมบทมาโดยสมบูรณ์แล้วหรืออาจเป็นฆราวาสที่ครองเรือนอยู่ จะเป็นเก-ลง หรือ กมเซ็น หรือตรุลกูได้ทั้งนั้น โดยสองอย่างหลังนี้จะแต่งงานหรือไม่แต่งงานก็ได้เช่นกัน คำว่า “ลามะ” เป็นเครื่องสะท้อนสถานะทางศาสนาของบุคคล เป็นคำเรียกหาเพื่อยกย่องบุคคลที่มีสติปัญญาและความรอบรู้ในเรื่องทางศาสนามากกว่าฐานะทางสังคม และส่วนใหญ่จะมีการสืบทอดจากพ่อสู่ลูก
• อานิ (แม่ชี) ภูฏานมีแม่ชีอยู่น้อยมาก เพระวัฒนธรรมภูฏานถือว่าชีวิตในวัดวาอารามเป็นโลกของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สำนักชีทุกแห่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของทางวัดและสำนักสงฆ์เสมอ สำนักชีที่ให้บริการการศึกษาด้านพิธีกรรมและหลักคำสอนพื้นฐานแก่แม่ชีที่เข้ามาบวชตั้งแต่ในวัยเยาว์นั้น มีอยู่ไม่มากนัก และส่วนใหญ่ก็ตั้งอยู่ในเขตรกร้างห่างไกล เมื่อมีลามะชั้นสูงแวะมาเยือน พวกแม่ชีจะพากันมารับฟังคำสอนและรับการประสาทพรจากท่านเสมอ
จาก
http://www.oceansmile.com/Bhutan/TantricBuddhism.htm