ผู้เขียน หัวข้อ: Cinderella ผลลัพธ์ของความเมตตา และ กล้าหาญ  (อ่าน 1062 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


<a href="https://www.youtube.com/v/_8uk0cdUiYs" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/_8uk0cdUiYs</a>


Cinderella ผลลัพธ์ของความเมตตาและกล้าหาญ

แม้ว่า “ซินเดอเรลล่า” เป็นเทพนิยายอมตะที่เคยออกฉายทั้งในรูปแบบแอนิเมชั่น หรือคนแสดงมาแล้วหลายครั้ง แต่ทว่าความสนุกสนาน แฝงแง่คิดของเทพนิยายเรื่องนี้ ก็ทำให้มีผู้นำกลับมาสร้างใหม่เรื่อยๆ ดังเวอร์ชั่นล่าสุดของวอลท์ ดิสนีย์ ที่เพิ่งออกฉายในปีนี้

เรื่องราวเริ่มต้นตามสูตรของเทพนิยายว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ดินแดนแห่งหนึ่ง มีครอบครัวแสนสุข ผู้เป็นพ่อมีอาชีพค้าขาย ส่วนผู้เป็นแม่ก็ทำหน้าที่แม่บ้าน ดูแลจัดการทุกอย่างภายในคฤหาสน์หลังโต ทั้งคู่มีลูกสาวแสนน่ารักนามว่า “เอลล่า” เด็กสาวเป็นที่รักของใครๆ เพราะเป็นคุณหนูเอลล่าที่แสนน่ารัก ใจดี ทำงานบ้านเก่ง

แต่แล้วความสุขก็ไม่จีรังยั่งยืน วันหนึ่งผู้เป็นแม่ล้มป่วย หมอบอกว่ายากเกินเยียวยา ทำให้เอลล่ากับพ่อต้องทำใจยอมรับความสูญเสีย โดยก่อนที่จะจากกันไปตลอดกาล แม่ได้ให้คติสอนใจบุตรสาวว่า “Have Courage And be Kind” (จงมีความกล้าหาญ และมีเมตตา)

กาลเวลาผ่านพ้นจนสาวน้อยเอลล่า เติบโตเป็นสาวรุ่นสวยสะพรั่ง พ่อจึงบอกเธอว่า ได้พบรักใหม่กับ “เลดี้ เทรเมน” หญิงหม้ายลูกติด ซึ่งสามีเพิ่งเสียชีวิตไป แต่เอลล่าก็มิได้คัดค้าน กลับแสดงความยินดีที่จะได้เห็นพ่อมีความสุขในชีวิตอีกครั้ง

แล้ววันที่คุณนายเทรเมน และลูกสาวอีกสองคน นามว่า “ดริสเซลล่า” กับ “อนาสทาเซีย” เดินทางมาถึงคฤหาสน์เก่าแก่ ทั้งสามก็พร่ำบ่นแต่เรื่องความเก่าแก่ของบ้าน และไม่ให้เกียรติเจ้าบ้านดั้งเดิมอย่างเอลล่า คุณนายเทรเมนได้สร้างสีสันให้คฤหาสน์ที่เคยเงียบเหงา ด้วยการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ยามค่ำคืนกับบรรดาพ่อค้านักธุรกิจ แต่มันแสนจะฟุ่มเพือย และไร้ประโยชน์

ในค่ำคืนหนึ่ง ขณะที่คุณนายเทรเมนจะเข้ามาชวนสามี ซึ่งอยู่ในห้องทำงาน ให้มาร่วมเฮฮาปาร์ตี้ ก็พบว่า เอลล่ากำลังคุยกับพ่อ ทั้งสองต่างรู้สึกคิดถึงแม่ จึงปลอบประโลมให้กำลังใจกันและกัน ทำให้คุณนายเทรเมนไม่สบอารมณ์ที่สามีใหม่ให้ความใส่ใจลูกสาวคนโปรด มากกว่าตนเองและลูกๆ

วันต่อมา พ่อของเอลล่าต้องออกเดินทางไปค้าขาย เขากล่าวคำอำลาทุกคน พร้อมถามว่า อยากได้ของฝากเป็นสิ่งใด ดริสเซลล่ากับอนาสทาเซีย บอกว่าอยากได้ร่มสวยๆ สินค้าประเภทแฟชั่น ตรงข้ามกับเอลล่า ที่ขอแค่ “กิ่งไม้กิ่งแรกที่แตะโดนตัวผู้เป็นพ่อในการเดินทาง” เพื่อให้เขาเก็บมันติดตัวเอาไว้ และใช้เป็นเครื่องเตือนใจให้คิดถึงกัน

ผู้เป็นพ่อทำตามสัญญาของบุตรสาว ด้วยการเก็บกิ่งไม้แรกไว้ แต่คำสัญญาดังกล่าว เหลือเพียงกิ่งไม้ที่ผู้อื่นนำกลับมามอบให้ เพราะเขาล้มป่วย และเสียชีวิตระหว่างเดินทาง

เมื่อครอบครัวขาดเสาหลัก สภาพเศรษฐกิจก็สั่นคลอน คุณนายเทรเมนกลายร่างเป็น “แม่เลี้ยงใจร้าย” เธอปลดคนงานในบ้านออกหมด เพื่อลดค่าใช้จ่าย ก่อนจะบังคับเอลล่าให้เป็นคนรับใช้ จนกระทั่งเนื้อตัวมอมแมมจากการทำงานบ้านคนเดียว ดริสเซลล่ากับอนาสทาเซีย จึงล้อเลียน และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า “ซินเดอเรลล่า” แปลว่า สาวน้อยในเถ้าถ่าน

เอลล่ายอมรับชะตากรรมชีวิตที่พลิกผัน แต่เธอก็ยังมองโลกในแง่ดี ไม่เคยตอบโต้ใดๆ สิ่งที่เธอเหลืออยู่เป็นเพื่อนคลายเหงาคือหนูบ้าน 3-4 ตัว และห่านคู่ใจที่อยู่กันมานาน แต่สิ่งสำคัญสุดที่อยู่ในใจเธอตลอดเวลาก็คือ “คำสอนของแม่”

แล้ววันหนึ่ง เมื่อความน้อยใจ ความเสียใจประดังเข้ามา ซินเดอเรลล่าจึงระบายความอัดอั้นใจด้วยการควบม้าออกไปในป่า กระทั่งไปเจอ “เจ้าชาย” ซึ่งกำลังไล่ล่ากวางป่าอยู่พอดี เธอคิดว่าเจ้าชายเป็นเพียงชายหนุ่มฐานะดีคนหนึ่ง กอปรกับเจ้าชายก็ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน จึงบอกว่าชื่อ “คิท” ทำงานเป็นลูกมือฝึกหัดอยู่ในวัง

ด้วยความที่ซินเดอเรลล่า ไม่สนใจเรื่องยศฐาบรรดาศักดิ์ ประกอบกับการขอร้องให้ไว้ชีวิตกวางป่า และมีทัศนคติการมองชีวิตที่ดี ทำให้เจ้าชายตกหลุมรักหญิงสาว จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเพณีบางอย่าง

ความเปลี่ยนแปลงนั้น คือ งานเลี้ยงเต้นรำ ที่ธรรมเนียมโบราณนั้นเป็นงานเลี้ยงของชนชั้นสูง หรือผู้ที่มีเชื้อสายราชวงศ์ มาพบปะสังสรรค์ เพื่อให้เจ้าชายได้ตัดสินใจเลือกคู่ครองที่เหมาะสม แต่ปีนี้เจ้าชายขอพระราชทานพระราชานุญาตต่อพระราชา เปิดโอกาสให้สามัญชนมีสิทธิ์เข้าร่วมงานเลี้ยงเต้นรำในค่ำคืนพิเศษนี้ได้ ซึ่งโดยเจตนาลึกๆแล้ว เจ้าชายต้องการให้ “หญิงชาวบ้านปริศนา” คนนั้น ได้เข้ามาร่วมงานนั่นเอง

ซินเดอเรลล่าได้ฟังประกาศจากทหารที่ตลาดในหมู่บ้าน ก็รีบนำความมาแจ้งแม่เลี้ยง แต่สิ่งที่เธอได้รับก็คือ ต้องนำเงินไปซื้อผ้าใหม่ เพื่อตัดเป็นชุดสวยให้คนทั้งสามไปร่วมงานเต้นรำ

ที่จริงซินเดอเรลล่าก็มีใจให้เจ้าหนุ่ม “คิท” อยู่เหมือนกัน แต่ทว่าความต้องการไปร่วมงานเต้นรำของเธอ ไม่เหมือนกับสาวคนอื่น ที่หมายปองว่า อาจจะทำให้เจ้าชายหลงรัก เพราะสาวน้อยเปื้อนฝุ่นต้องการเพียงแค่อยากเข้าวังไปทักทายเพื่อนหนุ่ม ที่เธอเข้าใจว่าทำงานเป็นลูกมือฝึกหัดอยู่ในวังนั่นเอง

แล้วค่ำคืนของงานสำคัญ ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ ขณะที่คุณนายเทรเมนกับลูกสาวทั้งสอง เพริศแพร้วในชุดราตรีสีสันสดใสใหม่เอี่ยม ซินเดอเรลล่ากลับแต่งตัวด้วยชุดเก่าของแม่ที่นำมาซ่อมแซม และจะขอเดินทางไปร่วมงานด้วย แม่เลี้ยงใจร้ายจึงเข้ามาฉีกเสื้อเธอ แล้วกำชับว่า อย่าได้ย่างกรายไปในวังเด็ดขาด

แม้ซินเดอเรลล่าจะเป็นคนที่มีความเข้มแข็ง และจิตใจดีงาม แต่เมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ก็ทำให้เธอเสียน้ำตา และเสียกำลังใจ แต่ทว่าความเสียใจจากเรื่องร้ายๆ ไม่ได้ลดทอน “ความเมตตา” ที่เธอมีให้ต่อ “หญิงชราแปลกหน้า” ซึ่งนั่งอยู่หน้าบ้าน และขอให้เธอช่วยสงเคราะห์นมอุ่นๆให้ดื่มสักถ้วย

หญิงชรารับนมไปดื่ม ก่อนจะกลายร่างที่แท้จริงว่าเป็น “นางฟ้าทูนหัว” หรือเทพผู้ปกป้องประจำตัวเด็กดีๆทั้งหลาย ตามความเชื่อแต่โบราณ นางฟ้าใจดีได้เนรมิตฟักทองให้กลายเป็นราชรถ หนู 4 ตัว กลายเป็นม้าขาวแสนสง่างาม กิ้งก่าสองตัวกลายเป็นทหารรับใช้ พร้อมเสกห่านคู่ใจให้กลายเป็นสารถีขับรถ ก่อนเปลี่ยนชุดเก่าๆให้เป็นชุดราตรีงดงาม พร้อมกับรองเท้าแก้วสุดแวววับ แล้วการเดินทางไปงานเต้นรำในค่ำคืนนั้น ก็กลายเป็นตำนานซินเดอเรลล่ากับรองเท้าแก้ว ที่เราคุ้นเคยกันดี



ภาพยนตร์ซินเดอเรลล่าเวอร์ชั่นนี้ เน้นหนักที่ข้อคิดเรื่อง “ความกล้าหาญ และความเมตตา” ซึ่งแทรกอยู่ในการกระทำต่างๆของสาวน้อย ความกล้าหาญของซินเดอเรลล่าที่เห็นได้ชัด คือ กล้าที่จะเอาชนะความขุ่นข้องหมองใจ หรือความไม่พอใจต่างๆ ที่ถาโถมมาจากแม่เลี้ยงและพี่สาวทั้งสอง ถือเป็นความกล้าหาญที่รู้จักอดทนอดกลั้น เอาชนะใจตน และเผชิญต่อปัญหาชีวิตได้อย่างเข้มแข็ง โดยหลักพุทธศาสนานั้นสามารถสร้างความกล้าหาญได้จาก “ศรัทธา” หรือ “ปัญญา” เป็นต้น

ศรัทธา คือ ความเชื่อมั่นในคุณงามความดี มั่นคงแน่วแน่ว่า การทำดีย่อมส่งผลให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งหากคนขาดความศรัทธา ก็มักเกิดคำถามที่ทำลายความเชื่อมั่น และยากที่จะกล้าเผชิญหน้ากับความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาเป็นบททดสอบ

ปัญญา คือ องค์ประกอบสำคัญ ที่จะสร้างให้ความกล้าหาญ เป็นไปอย่างถูกที่ถูกทางถูกกาลเทศะ เพราะปัญญาทำให้เราไม่งมงาย รู้ผิดรู้ชอบว่าอะไรควรหรือไม่ควร จึงเป็นกรอบในการใช้ความกล้าหาญให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่กล้าในเรื่องผิดๆ

ส่วน “ความเมตตา” หนึ่งในหลักธรรมของพรหมวิหาร 4 หมายถึง “ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข” ซึ่งหากพิจารณาชีวิตรันทดของซินเดอเรลล่าแล้ว สาวน้อยก็ยังมีเมตตาต่อทุกคน ไม้เว้นแม้กระทั่งแม่เลี้ยงกับพี่สาวที่ไม่เคยเป็นมิตรกับเธอ

แม้ภาพยนตร์เรื่องซินเดอเรลล่า จะเป็นแค่เทพนิยายแฟนตาซี แต่คติเรื่อง “ความกล้าหาญ กับ ความเมตตา” นั้น เราสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตได้เป็นอย่างดี แล้วผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็จะเป็นการตอกย้ำถึงความศรัทธาในการทำความดี ที่เป็นหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนานั่นเอง

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 173 พฤษภาคม 2558 โดย ชยวรรศ มานะศิริ)

จาก http://dhammapiwat.com/category/art-culture-entertain/page/2/
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...