ที่นี่มีความงาม มีธรรมชาติ และผู้คนศรัทธาพุทธศาสนา และไม่น่าเชื่อว่า ยังมีดินแดนแบบนี้หลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้มีคนถามฉันว่า "ไปภูฏานมา...รู้สึกอย่างไรบ้าง"...
แม้จะตอบไปหลายครั้งว่า “เรียบง่าย น่าอยู่ ธรรมชาติงดงาม“ แต่ในความรู้สึกลึกๆแล้ว มันมากกว่านั้น
บางทีดินแดนแห่งเทพนิยายที่นึกฝันอาจมีอยู่จริง แม้บางแห่งจะถูกย่ำยีอย่างไร้เยื่อใย แต่บางแห่งผู้คนก็พร้อมจะเก็บรักษาสิ่งสวยงามในดินแดนของพวกเขาเอาไว้ เพียงแต่จะเก็บรักษาไว้ได้นานแค่ไหน คงไม่มีใครตอบได้
ผู้บริหารการท่องเที่ยวในภูฎานที่เราไปคุยด้วย บอกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาไม่ได้ต่อต้านความเจริญ แต่อยากเก็บธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้ให้นานที่สุด และสิ่งที่เราเห็นในภูฎาน ก็ไม่ได้ทำให้ภาพสวรรค์ภูฎานที่คิดฝันไว้ต่างไปจากความเป็นจริง
ครั้งนี้ด้วยการประสานงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้พวกเรานำเรื่องดีๆ มาบอกเล่า เพราะผู้บริหารการท่องเที่ยวภูฏานเห็นว่า นักท่องเที่ยวไทยมาเที่ยวภูฎานน้อยเกินไป จึงพยายามทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างสองประเทศในเรื่องการท่องเที่ยว และภูฎานก็พร้อมรับนักท่องเที่ยวไทย
1.
เวลาใครพูดถึงภูฎาน ก็มักจะพูดถึงเมืองที่มีธรรมชาติ ผู้คนดูเป็นมิตร อากาศบริสุทธิ์
สิ่งเหล่านี้ยังคงมีอยู่ในภูฎานครบถ้วน แม้ในอนาคตภูฏานจะไม่อาจต้านความเจริญ แต่พวกเขาก็ยังยืนหยัดรักษาธรรมชาติและวัฒนธรรมไว้อย่างเข้มแข็ง
หลังจากฉันละเลียดชมป้อมปราการ วัดวาอาราม และธรรมชาติตามไหล่เขา เนินเขา ในเมืองทิมพู และหมู่บ้านนกกระเรียนกลางหุบเขาอันหนาวเย็น ก็มีโอกาสเดินทางกลับมาที่เมืองพาโร ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งสนามบินแห่งเดียวในประเทศนี้ และสถานที่ที่พลาดไม่ได้ในเมืองนี้ ก็คือ วัดตั๊กซัง บนชะง่อนหิน
ที่บอกว่า ละเลียดชม เพราะคนขับรถชาวภูฏานจะค่อยๆ ไต่ระดับช้าๆ จึงเป็นห้วงเวลาที่ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างเนิบช้า สมกับการเดินทางในดินแดนแห่งความสุข โดยมีธรรมชาติป่าเขาและวัฒนธรรมเป็นอาหารตา ดังนั้นคนที่ชอบเที่ยวกลางคืนและชอบความเจริญ คงไม่ปลื้มนักหากต้องอยู่ภูฎานเกินไป
นอกจากนี้ ถ้าใครนึกไม่ออกว่า ภูฎานมีขนาดแค่ไหน ลองนึกถึงสวิตเซอร์แลนด์ ภูฎานเป็นประเทศตั้งอยู่กลางหุบเขา และอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก
ก่อนเดินทางไปวัดตั๊กซังในช่วงหนาวเย็น(เดือนธันวาคมที่ผ่านมา) พวกเราพักที่โรงแรมของคนไทยแห่งเดียวในภูฎาน ซึ่งตั้งอยู่ที่พาโร ไม่ไกลจากทิมพูมากนัก อยู่ทางภูฎานตะวันตก ที่นั่นสภาพอากาศหนาวเย็นกว่าเมืองอื่นๆ และความกดอากาศต่ำในที่สูง ทำให้บางคนในทริปป่วย เมื่อต้องนั่งรถเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา
ต้องยอมรับเมืองพาโรอยู่ท่ามกลางหุบเขาที่งดงามมาก เหมือนเช่นที่เล่าไว้ตอนแรกว่า ถนนตัดเรียบลำธาร มีต้นไม้เขียวขจีและโขดหิน แม้กระทั่งบ้านเรือนที่มีรั้วหินที่เรียงซ้อนกัน ก็เป็นศิลปะที่น่าทึ่ง
พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระราชินีอาชิ โดร์จี วังโม วังชุก ในหนังสือภาพสวรรค์ภูฎาน สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ในอดีตกาล พาโรเคยเป็นพื้นดินที่มีความร่ำรวยที่สุดในประเทศนี้ เพราะความสมบูรณ์และมั่งคั่ง เมืองแห่งนี้จึงมีวัดและมหาวิหารกว่า 155 แห่ง
นอกจากนี้คนภูฏานยังมีประเพณีการจาริกแสวงบุญ โดยใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์เดินทางจากวัดแห่งหนึ่งไปอีกวัด พระองค์ก็ใช้เวลาเช่นนั้นเหมือนกัน เพื่อเดินทางจาริกแสวงบุญไปวัดต่างๆ ให้มากที่สุดในพาโร เนื่องจากดินแดนแถบนี้เป็นแห่งแรกที่รับพุทธศาสนาเข้ามา โดยมีหลักฐานยืนยันไว้ที่วัดคีชูและวัดตั๊กซัง
ดังนั้นการเดินขึ้นเขา เพื่อไปวัดตั๊กซัง สถานที่ศักดิ์สิทธิของเมืองพาโร จึงเป็นวิถีปฎิบัติแห่งการจาริกแสวงบุญที่คนภูฎานพึ่งกระทำ และคนชาติอื่นก็นิยมมาท่องเที่ยวสถานที่แห่งนี้
2.
ถ้ามองจากเบื้องล่าง วัดตั๊กซังบนชะง่อนหินที่แลเห็นอยู่ลิบๆ และนึกไม่ออกว่าจะเดินขึ้่นไปได้อย่างไร คนภูฎานบอกว่า ต้องใช้เวลาเกือบค่อนวัน ทั้งไปและกลับ และการเดินขึ้นวัดตั๊กซัง ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวไปด้วยความศรัทธาต่อพุทธศาสนา ระหว่างทางจึงมีทั้งคนตะวันตกและคนภูฎาน
ชะง่อนหินผาสีดำเป็นที่ตั้งของวัดตั๊กซัง อยู่ที่ความสูง 2,950 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีความสูง 800 เมตรเหนือหุบเขา และไม่น่าเชื่อว่าจะมีวัดแบบนี้บนผาหินขนาดใหญ่ จะเรียกว่า งดงาม กลมกลืน ท้าทาย และมหัศจรรย์ ก็คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลย
เมื่อออกเดินจากจุดเริ่มต้น ณ ตีนเขาที่ช่วงนั้นอากาศหนาวเย็นมาก จนอดคิดไม่ได้ว่า จะเอาตัวรอดไหมเนี่ย ! เพราะต้องใช้เวลาเดินขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงท่ามกลางความกดอากาศต่ำในที่สูง
ค่อยๆ หายใจยาวๆ หยุดเป็นระยะ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการขึ้นตั๊กซัง แม้จะมีตัวช่วยให้บริการบนหลังม้า เพื่อไต่ระดับบนเขา แต่การเดินน่าจะเป็นทางเลือกที่ชวนให้เข้าสู่วิถีการจาริกแสวงบุญและชื่นชมธรรมชาติได้ดีที่สุด
ระหว่างการเดิน ร่างกายก็ค่อยๆ ปรับตัวให้เคยชินกับความกดอากาศบนที่สูง แม้ช่วงแรกๆ จะเหนื่อยหอบ เพราะต้องไต่เขาสูงชัน ชวนให้หวั่นไหวอยู่บ้าง แต่การเดินแบบเชื่องช้า ก็เป็นสิ่งที่หลายคนกระทำ และมันก็เป็นเช่นนั้น ระหว่างทางในบางช่วง เมื่อได้ยินเสียงม้าที่มาพร้อมฝุ่นตลบ ก็ต้องหลบเป็นระยะ แต่สองเท้าก็ย่ำเดินต่อไป และนึกกลายๆ ว่า หากมีโอกาสจาริกแสวงบุญเหมือนคนภูฏานสัก 7 วัน ก็คงจะได้เห็นวิถีคนภูฏานมากกว่านี้
3.
ทุกครั้งที่เดินบนที่สูงหรือออกเดินทางในแดนไกล สิ่งที่ฉันต้องย้ำเตือนตัวเองเสมอท คือ การพกพาสิ่งของเท่าที่จำเป็น เพื่อให้เดินได้สบายที่สุด เพราะมีเพื่อนร่วมทางบางคนปวดหลัง เนื่องจากมีสิ่งของจำเป็นในชีวิตมากเกินไป ตลอดเส้นทาง นอกจากธงแห่งมนตราเป็นทิวแถว ยังมีป่าโอ๊ค และไม้ใหญ่ในช่วงฤดูหนาว ทำให้รู้สึกสดชื่นกับการซึมซับธรรมชาติ
เพราะเส้นทางสู่วัดตั๊กซัง ได้ถูกวางไว้อย่างรัดกุม มีร้านน้ำชา สถานที่เรียบง่ายอีกแห่งให้นั่งจิบชาอุ่นๆ เหมาะกับการนั่งชิลล์ๆ ชมทิวทัศน์เบื้องหน้า พักกายให้หายเหนื่อยจากการเดินไต่ระดับบนไหล่เขา เพราะห้วงเวลาที่เราเหนื่อยล้า มักจะไม่มีบทสนทนาระหว่างทาง มีเพียงลมหายใจแรงๆ เป็นเพื่อน
ถ้าบอกว่านี่คือ การจาริกแสวงบุญก็คงไม่ผิด เพื่อทำให้ตระหนักรู้ ทุกฤดูกาลเปลี่ยนไป เหมือนชีวิตที่ผันแปรตามวิถีธรรมชาติ
และแล้ว สิ่งที่นึกไม่ถึงก็ทำให้เราได้รู้ว่า ไม่ได้ยากเกินไปที่จะขึ้นมานั่งชมวิว และก้มกราบพระในวัดตั๊กซัง สถานที่แห่งนี้เคยถูกไฟไหม้เมื่อปี คศ. 1998 ทำให้สมบัติทางพุทธศาสนาหลายชิ้นของคนภูฎานวอดไปกับกองเพลิง ทั้งภาพวาด ประติมากรรม สถาปัตยกรรมบางส่วน แต่ในที่สุดประชาชนชาวภูฎานก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง
หากถามว่าทำไมเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า ตั๊๊กซัง ซึ่งหมายถึงรังเสือ คนภูฎานก็มีตำนานเล่าสู่กันฟังเหมือนกัน
เมื่อมีการสร้างวัดครั้งแรกเมื่อศตวรรษที่ 8 คุรุรินโปเช ขี่เสือตัวหนึ่งเหาะมาจากเมืองเค็นปาจงในแคว้นกูร์เตมายังตั๊กซัง ซึ่งชาวภูฎานเชื่อว่า เสือตัวนั้นคือ คุรุรินโปเชแปลงกายมา เพื่อบำเพ็ญเพียรในถ้ำ แล้วเทศนาสั่งสอนผู้คนในหุบเขา ทำให้ผู้คนศรัทธาในพุทธศาสนา นอกจากนี้ในวัดตั๊กซังยังมีถ้ำที่ลามะชั้นสูงหลายองค์มาบำเพ็ญเพียรเจริญสมาธิ
ถ้ำในวัดตั๊กซังจึงมีความสำคัญมาก ปกติจะเปิดให้ชมปีละครั้งเท่านั้น
สำหรับคนภูฎานแล้ว สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม ป้อมปราการ จะไม่ให้มีการถ่ายรูป และพวกเขาเชื่อว่า บนภูเขาสูงเป็นที่อยู่ของพระเจ้า ที่นี่จึงไม่เปิดท่องเที่ยวปีนเขาเหมือนใน
เนปาล เพราะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต้องให้ความเคารพ
เมื่อไปถึงจุดหมายปลายทางที่วัดตั๊กซัง นั่นก็คือ การเข้าถึงพุทธศาสนาในวิถีชาวภูฎาน
แม้ที่นั่นจะมีรูปเคารพของเทพเจ้าและพระพุทธรูป ไม่ต่างจากวัดวาอารามที่อื่นๆ แต่บรรยากาศกลับแตกต่าง อาจเป็นเพราะเส้นทางการจาริกแสวงบุญต้องใช้ความเพียรพยายาม ไม่เช่นนั้นอาจมาไม่ถึง ดังนั้นการทำบุญเล็กๆ น้อยๆ ตามศรัทธา เป็นสิ่้งที่ชาวภูฎานถือปฎิบัติมาช้านาน เพราะรากที่หยั่งลึกของประเทศนี้มาจากพุทธศาสนา ในอดีตกาลก็มีองค์กรสงฆ์ส่วนกลางที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคณะผู้บริหารประเทศ เพราะรากฐานของภูฎานมาจากการปกครองของลามะ
ลามะที่นับถือนิกาย ดรุ๊กปะ เป็นผู้รวบรวมภูฎานให้เป็นปึกแผ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 จนเรียกดินแดนแถบนี้ว่า แผ่นดินมังกรสายฟ้า ส่วนคนที่วางรากฐานในด้านกฎหมายและการปกครองให้ภูฎาน ก็ยังให้ความสำคัญกับองค์กรสงฆ์ส่วนกลาง เพราะทุกครั้งที่มีพิธีใหญ่ๆ จะขาดส่วนนี้ไม่ได้เลย
พุทธศาสนาจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และนี่คือแง่งามของภูฏาน
.......................
การเดินทาง
เนื่องจากภูฏานเป็นประเทศที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติ การท่องเที่ยวในประเทศนี้ จึงไม่สามารถทำวีซ่าเองแล้วแบกเป้หรือลากกระเป๋าเข้าไปได้เลย ยกเว้นเป็นแขกของรัฐบาลภูฏาน
การท่องเที่ยวในประเทศนี้ ต้องติดต่อผ่านบริษัทท่องเที่ยวในภูฏานเท่านั้น เพื่อให้ดำเนินการขอวีซ่า นักท่องเที่ยวต้องจ่ายวันละ 200 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่รัฐบาลภูฏานกำหนด โดยรวมตั้งแต่ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าพาหนะ และค่าไกด์ท้องถิ่น
ถ้าเดินทางน้อยกว่า 3 คน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่ม ยกเว้นมีวีซ่านักเรียน นักศึกษา ก็จะได้ลดค่าธรรมเนียมเป็นกรณีพิเศษ
หากนักท่องเที่ยวได้รับการอนุมัติวีซ่าเข้าภูฏานแล้ว เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ตรวจสอบเอกสารเสร็จ ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมอีกคนละ 20 เหรียญสหรัฐฯ
ปกติแล้วการเดินทางไปภูฏาน มีสายการบินเดียวที่บินไปกลับระหว่างกรุงเทพฯและภูฏาน คือ สายการบินดรุกแอร์ มีบริการทุกวัน ดูได้ที่เว็บไซต์
www.drukair.com.bt หรือ 0 2535 1960 และสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งภูฏาน ในเมืองทิมพูที่เบอร์ (975-2) 323 251 หรือดูที่เว็บไซต์
www.tourism.gov.btจาก
http://bit.ly/Yc93Rm