ผู้เขียน หัวข้อ: สุดทางทุกข์ At Hell Gate : จากสงครามสู่สันติภาพ ของ “พระเซน” อดีตทหารผ่านศึก  (อ่าน 1269 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด




<a href="https://www.youtube.com/v/uUO0BhxZ69M" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/uUO0BhxZ69M</a>

(จากบางส่วนของคำนิยม โดย พระไพศาล วิสาโล)

ไม่มีสงครามใดที่เกิดขึ้นอย่างสง่างาม แม้จะอ้างอุดมการณ์อันสูงส่ง แต่ความเป็นจริงในสนามรบก็คือ การทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด แม้จะต้องฆ่าผู้บริสุทธิ์ก็ตาม เพียงเพราะมีเชื้อชาติ ผิวสี ศาสนา หรือภาษาเดียวกับฝ่ายตรงข้ามก็เป็นเหตุผลสมควรที่จะถูกสังหารแล้ว แต่ไม่เคยมีใครหนีผลแห่งการกระทำของตนพ้น แม้จะรอดชีวิตกลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่บาปกรรมที่ทำไว้ตลอดจนความเลวร้ายสยดสยองที่พานพบ ย่อมตามมารบกวนและรังความจิตใจจนหาความสงบสุขมิได้

*สุดทางทุกข์* เป็นเรื่องราวของทหารผ่านศึกชาวอเมริกันที่เข้าสู่สมรภูมิเวียดนามด้วยอารมณ์ที่ฮึกเหิม แต่กลับถึงบ้านด้วยหัวใจที่บอบช้ำเจ็บปวด และต้องทุกข์ทรมานอยู่กับความทรงจำอันเลวร้ายที่ไม่มีวันจางหาย กว่า 20 ปีที่ชีวิตเขาวนเวียนอยู่กับเหล้า ยาเสพติด เซ็กส์ เพื่อหนีจากฝันร้าย แต่กลับลงเอยด้วยความทุกข์ยิ่งกว่าเดิม เข้าออกสถานบำบัดผู้ติดยาและเรือนจำหลายครั้งหลายครา

แต่ชีวิตของเขาพลิกผันเมื่อได้พบธรรมะจากผู้ซึ่งเขาเคยถือว่าเป็น “ศัตรู” คือพระเวียดนาม ท่านติช นัท ฮันห์ และคณะนักบวชหมู่บ้านพลัมได้นำพาให้ คล้อด อันชิน ธอมัส(Claude AnShin Thomas) ค้นพบสัจธรรมว่า ความทุกข์มิใช่สิ่งที่ต้องหนี หากเป็นสิ่งที่ต้องทำความรู้จัก เมื่อรู้จักจนเข้าใจแล้ว เราก็สามารถอยู่กับความทุกข์ได้อย่างสันติ ...

หนังสือเล่มนี้พาผู้อ่านเข้าไปร่วมเดินทางกับคล้อด ธอมัส ในการแสวงหาทางออกจากทุกข์เพื่อเข้าถึงสันติสุข แต่สันติสุขดังกล่าวมิได้จำกัดที่ภาวะภายในจิตใจเท่านั้น หากยังรวมถึงสันติสุขในสังคมด้วย ในทัศนะของเขา สันติสุขทั้งสองมิติไม่อาจแยกจากกันได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อเขาหันมาบำเพ็ญชีวิตนักบวชเพื่อแสวงหาสันติสุขภายใน เขาก็ได้รณรงค์ให้เกิดสันติสุขในโลกไปพร้อมๆ กัน โดยมิได้มุ่งการเปลี่ยนแปลงภายในเท่านั้น หากยังพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมด้วย ...

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้จึงอยู่ที่การเชื่อมโยงมิติทางจิตวิญญาณเข้ากับมิติทางสังคม และประสานการปฏิบัติธรรมกับการทำงานทางสังคมเข้าด้วยกัน อันเป็นสิ่งที่มักถูกละเลยในหมู่ศาสนิกชนรวมทั้งชาวพุทธส่วนใหญ่ในเวลานี้

เส้นทางชีวิตที่พลิกผันของคล้อด ธอมัส จะว่าไปแล้ว น่าจะเป็นกระจกสะท้อนเส้นทางชีวิตของเราแต่ละคนได้ไม่น้อย แม้จะไม่เคยผ่านสงครามอย่างเขา แต่ดังที่เขาได้กล่าวย้ำ เราแต่ละคนมีสงครามของตนเองที่ยังไม่ยุติ ยังมีบาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยา ยังมีฝันร้ายที่คอยหลอกหลอน สงครามภายในนี้ไม่มีใครยุติได้นอกจากตัวเราเอง เป็นสงครามที่มิอาจหลบหนีได้ นอกจากเผชิญหน้าอย่างมีสติ หากคุณยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับสงครามภายในนี้ หนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยคุณได้

สุดทางทุกข์ At Hell’s Gate: A Soldier’s Journey from War to Peace
คล้อด อันชิน ธอมัส(Claude AnShin Thomas) เขียน
คำนิยมโดย พระไพศาล วิสาโล
รศ.ดร. อมร แสงมณี, อัฐพงศ์ เพลินพฤกษา แปล
สำนักพิมพ์ Oh My God Books

จาก https://www.facebook.com/174411215968900/photos/a.837255153017833.1073741846.174411215968900/841771385899543/?type=3&theater


สุดทางทุกข์ At HellGate(แนะนำ)





เคยคิดว่าเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะมาเล่าต่อ พอดีเจอบทความที่เขียนเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ที่อ่านดูแล้วน่าสนใจและเป็นประโยชน์ จึงนำเอามาเล่าแทนครับ
คอลัมน์เหะหะพาที โดย “ซูม” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2551

ชื่อตอน “สุดทางทุกข์”

ผมมีความจำเป็นบางประการที่จะต้องส่งต้นฉบับวันนี้ล่วงหน้า จึงไม่สามารถจะรอได้ว่าเหตุการณ์ “ตุลาอาถรรพณ์” ครั้งที่ 3 จะไปจบลงอย่างไร และต้องขออนุญาตเขียนเรื่องแห้งๆ ทิ้งไว้สักเรื่องนะครับ

ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์ คงจะจำได้ว่าเมื่อฉบับวันเสาร์ที่ผ่านมา...ผมได้เขียนสั้นๆ แนะนำหนังสือเล่มหนึ่งไว้ว่า

“หนังสือเรื่อง “สุดทางทุกข์” (At Hell's gate) โดย คล้อด อันชิน ธอมัส จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โอ้มายก้อด เป็นหนังสือที่ดีมาก”

ตั้งใจจะเขียนแนะนำเพียงเท่านี้จริงๆ เพราะปกติเวลาเขียนถึงหนังสือหนังหาก็มักจะเขียนสั้นๆ เนื่องจากหน้ากระดาษมีจำกัด แต่หนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งมาให้แนะนำในแต่ละสัปดาห์มีมากเหลือเกิน

พอดีได้จังหวะจะต้องส่งต้นฉบับก่อนกำหนด ก็เลยตัดสินใจหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านอีกครั้ง

เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าเนื้อหาสาระและบทเรียนสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ชี้แนะไว้... น่าจะเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในปัจจุบันอย่างดียิ่ง

สามารถนำข้อเสนอแนะมาใช้ปฏิบัติเพื่อที่จะฝ่าฟันสถานการณ์ที่ร้อนรุ่ม ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองไปได้โดยไม่บอบช้ำมากนัก

หรืออาจจะผ่านไปได้ด้วยดีเลยก็ได้ หากเราสามารถ “ปฏิบัติ” ตามข้อเสนอแนะที่สำคัญที่สุดของหนังสือด้วยความแน่วแน่และมั่นคง

เนื้อเรื่องโดยย่อมีอยู่ว่า คุณ คล้อด อันชิน ธอมัส ชาวอเมริกัน สมัครเป็นทหารเมื่ออายุ 17 ปี เพื่อเข้าสู้รบในสงครามเวียดนาม และรอดตายกลับไปพร้อมกับภาพหฤโหดต่างๆ ที่ติดตามหลอกหลอน นับแต่วันแรกที่เขาคืนสู่สหรัฐฯ บ้านเกิด

เขาต้องหาทางออกด้วยสุรา ยาเสพติด เซ็กซ์ และ ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นว่ายิ่งทุกข์มากขึ้นไปอีก

ชีวิตของเขาทำท่าจะหายนะเหมือนทหารผ่านศึกเวียดนามชาวอเมริกันคนอื่นๆ ที่กลับมาบ้าน แล้วประสบความผิดหวังจนต้องฆ่าตัวตายไปกว่า 1 แสนคน

ทั้งๆ ที่ทหารสหรัฐฯเสียชีวิตจริงๆ ในสมรภูมิเพียง 5 หมื่นกว่าคนเท่านั้น...

แสดงว่าสงครามชีวิตของทหารเหล่านี้เมื่อกลับบ้านโหดร้ายเสียยิ่งกว่า

คล้อดยังโชคดีที่วันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับพระภิกษุเวียดนาม ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถือเป็นศัตรู...ท่าน ติช นัท ฮันท์ แห่งหมู่บ้าน พลัม ที่มหานครปารีส

เขามีโอกาสได้เล่าเรียนธรรมะกับท่านฮันท์ และเข้าไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวชุมชนพลัม จนค้นพบสัจธรรมว่า “ความทุกข์ไม่ใช่สิ่งที่จะต้องหนี”

ในทางที่ถูกต้อง เราจะต้องทำความรู้จักกับมัน ทำความเข้าใจมัน เพื่อที่จะอยู่กับมันได้อย่างมีความสุข

เขาเขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “การพานพบพระพุทธศาสนาได้ชักนำฉันสู่การใช้ชีวิตอย่างมีสติ...การมีสติช่วยให้ฉันตื่นรู้ และถอยจากวงจรแห่งการทำลายและความทุกข์”

ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา และสามารถอยู่กับความทุกข์มาได้จนทุกวันนี้

คล้อดเขียนเล่าเรื่องอย่างง่ายๆ และผู้แปล (รศ.ดร.อมร แสงมณี และอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา) ก็แปลด้วยภาษาง่ายๆ ทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน แม้ในช่วงที่เกี่ยวกับธรรมะ

วิถีปฏิบัติของท่านติช นัท ฮันท์ เน้นไปที่การฝึกสมาธิและการเจริญ สติโดยจะมีการตีระฆังทุกๆ 15 นาที เพื่อให้ระลึกสติด้วยการพิจารณาลมหายใจเข้าออกของตัวเอง

ในภาคผนวก คล้อดนำวิธีการฝึกสมาธิขั้นต้น ทั้งวิธีนั่ง เดิน ระหว่างทำงาน และระหว่างรับประทานอาหารมาฝากด้วย

ผมอ่านดูแล้วก็คล้ายๆกับวิธีเจริญสติที่สอนกันอยู่ทั่วไปในบ้านเราโดยเฉพาะการกำหนดลมหายใจเพื่อฝึกสมาธิ

สรุป “สติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในคำสอนว่าด้วยมรรค 8 อันเป็นหนทางดับทุกข์ของพระพุทธองค์ คือข้อเสนอแนะที่สำคัญยิ่งของหนังสือเล่มนี้

สติ ทำให้เรารู้ตัว ทำให้เรายับยั้งชั่งใจ ทำให้เราใคร่ครวญ ทำให้เราลืมความคิดในทางชั่วร้าย หันมาคิดดีคิดชอบ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 24, 2016, 02:15:16 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



<a href="https://www.youtube.com/v/5IJSQPcb3Mc" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/5IJSQPcb3Mc</a>

<a href="https://www.youtube.com/v/-QqKdw0s4XQ" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/-QqKdw0s4XQ</a>

ธรรมะกับสุขภาพ : จากสงครามสู่สันติภาพ ของ “พระเซน” อดีตทหารผ่านศึก

ปัญหาสุขภาพจิตของคนในโลกปัจจุบัน ค่อนข้างสลับซับซ้อนและแก้ไขยากขึ้นทุกวัน ในสหรัฐอเมริกามีทหารผ่านศึกจำนวนมาก ตั้งแต่สงครามเวียดนาม สงครามอ่าวเปอร์เซีย สงครามในอิรัก ปากีสถาน อัฟกานิสถาน มีทหารอเมริกันเข้าร่วมรบจำนวนมาก
       
       ทหารผ่านศึกเหล่านี้มีสุขภาพจิตไม่สู้ดี ไม่สามารถดำเนินชีวิตตามปกติได้ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่ประเทศเขาพยายามแก้ไขกันอยู่
       
       จริงๆแล้วมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีจิตใจเปราะบาง ไม่สามารถทนต่อความสะเทือนใจในเหตุการณ์ต่างๆที่โหดร้ายรุนแรงได้ เช่น ภาวะสงคราม อุทกภัยร้ายแรง แผ่นดินไหว การก่อวินาศภัย ความรุนแรงในครอบครัว การถูกทำร้ายร่างกาย กรณีถูกข่มขืน เป็นต้น
       
       หลังจากผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ บางคนจะมีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง รู้สึกสิ้นหวัง คิดถึงเรื่องนั้นๆอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถลืมได้ ฝันร้ายทุกคืน นอนไม่หลับ ตกใจง่าย ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน บางครั้งก็ก้าวร้าวฉุนเฉียว บางครั้งก็ซึมเศร้า สมาธิและความจำแย่ลงมาก ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ จึงมักแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว และหลายคนจบลงด้วยการฆ่าตัวตาย!!
       
       ทหารผ่านศึกอ่าวเปอร์เซีย ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา มีอัตราฆ่าตัวตายเฉลี่ยวันละ 1 คน ทหารเวียดนามเสียชีวิตในสงคราม 58,000คน แต่หลังจากกลับบ้านแล้ว ทหารผ่านศึกเหล่านั้นฆ่าตัวตายไปแล้วกว่า 1 แสนราย มากกว่าตายในสงครามถึง 2 เท่า โรคนี้เรียกว่า Posttraumatic Stress Disorder หรือ PTSD ชื่อภาษาไทยยังไม่มี อาจจะเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “โรควิตกกังวลหลังเหตุการณ์รุนแรง” ก็ได้
       
       โรคนี้พบได้ในคนทั่วไปร้อยละ 8 แต่ในทหารผ่านศึกพบสูงถึงร้อยละ 30และคนเหล่านี้มีอาการเรื้อรังมากกว่า 3เดือนขึ้นไป บางคนเป็นอยู่นาน 10-20 ปี
       
       สำหรับการรักษา จิตแพทย์จะให้ยาคลายความวิตกกังวล ยาต้านอาการซึมเศร้า ยานอนหลับ และทำจิตบำบัด แต่ผลการรักษายังไม่ดีนัก
       
       มีงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า “การเจริญสติ” สามารถรักษาโรคนี้ให้อาการดีขึ้นได้ คนไข้สามารถลดความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า สามารถควบคุมอารมณ์ต่างๆได้ดีขึ้น ช่วยลดการกระตุ้นอารมณ์ในอดีต คนไข้อยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้น ลดความคิดถึงเหตุการณ์ในอดีตลงได้ การนอนหลับดีขึ้น
       
       การฝึกเจริญสติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะช่วยให้ผู้ป่วยหายเป็นปกติได้ สามารถหาข้อมูลได้ในเว็บไซต์ของสำนักงานทหารผ่านศึกสหรัฐอเมริกา (www.ptsd.va.gov)
       
       ผู้เขียนขอยกตัวอย่างพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ “คล้อด อันชิน โทมัส” (Claude Anshin Thomas) ซึ่งท่านใช้การเจริญสติช่วยให้หายจากโรคนี้ได้ และทำคุณประโยชน์แก่โลกอย่างมาก ท่านเป็นทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน ซึ่งต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาพุทธนิกายเซน ท่านได้เขียนเล่าเรื่องราวของตนเองไว้ในหนังสือชื่อ At The Hell’s Gateรื่องราวการเดินทางจากสงครามสู่สันติภาพ
       
       โทมัส เกิดปี 1947 ในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำอันรุนแรง เขาสมัครเข้ารับราชการทหารเมื่ออายุ 18 ปี ในช่วง 1966-1967 เขาทำงานเป็นพลสำรองประจำบนเฮลิคอปเตอร์ โดนยิงตก 5 ครั้ง และได้รับบาดเจ็บที่ร่างกายครั้งหนึ่ง
       
       ตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในสงคราม เขาได้ผ่านเหตุการณ์อันเลวร้าย แต่ก็รอดมาได้หลายครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่งเครื่องบินลงจอดในหมู่บ้านแห่งหนึ่งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง เขาพร้อมด้วยเพื่อนทหาร 6 คน เดินเข้าไปในหมู่บ้าน ผ่านชาย 2-3 คน ซึ่งดูเหมือนภิกษุในพุทธศาสนา
       
       เมื่อกลุ่มของโทมัสเดินคล้อยหลังไป 30-40 เมตร พวกนั้นก็หันมายิงกลุ่มทหารอเมริกัน 7 คน ด้วยปืนกล AK-47 ทำให้ทหารเสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 2 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขาต้องคอยระวังตัวตลอดเวลา เกิดความหวาดระแวง และไม่ไว้ใจใครอีกเลย


       
       เขาเล่าว่า “บางปฏิบัติการเราต้องให้การสนับสนุนกองร้อยซึ่งถูกโจมตี เราต้องออกบิน แบบปฏิบัติการด้วยอาวุธหนัก เปิดฉากยิงถล่มเข้าใส่หมู่บ้าน ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างอย่างบ้าคลั่ง ที่ตรงนั้นไม่มีสิ่งใดที่ไม่ใช่ศัตรู เราฆ่าทุกสิ่งที่เคลื่อนไหว ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก สัตว์เลี้ยง บ้าน รถ ทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยไม่รู้สึกใดๆเลย หน้าที่ของเราคือ การฆ่าคน ใน 2-3 เดือนแรกเราฆ่าคนไปหลายร้อยคน ใบหน้าคนเหล่านั้นยังลอยเด่นติดตาอยู่ตลอดเวลา”
       
       เขาได้รับเหรียญ Purple Heart หลายครั้ง กระทั่งปลดประจำการในปี 1968 หลังจากได้รับบาดเจ็บและกลับมารักษาตัวที่อเมริกาอีกครั้ง หลังจากรักษาตัวอยู่นาน 9 เดือน จึงได้ออกจากโรงพยาบาล แต่เขาก็ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและผู้คนรอบข้างได้ รู้สึกแปลกแยกเหมือนอยู่คนละโลก รวมทั้งสังคมรอบข้างยังหมางเมินทหารผ่านศึกเหล่านี้เหมือนคนไร้ค่า
       
      ภาพเหตุการณ์ในสงครามยังคุกรุ่นอยู่ในความคิดคำนึงของโทมัสตลอดเวลา ทำให้เขานอนไม่หลับ ต้องหันมาใช้ยาเสพติด บุหรี่ เหล้า เซ็กซ์ วนเวียนอยู่กับสิ่งเหล่านี้ เพื่อเยียวยาตนเอง กว่า 10ปีที่เขาต้องเข้ารับการบำบัดในสถานบำบัดคนติดยาเสพติด
       
       ในปึ 1983 เขาได้รับการแนะนำจากเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ ให้เข้าปฏิบัติธรรมในสถาบันโอเมก้า ที่นิวยอร์ค ตามแนวของท่านติช นัท ฮันห์ พระอาจารย์เซนชาวเวียดนาม รวมทั้งได้มีโอกาสเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัม ที่ฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
       
       การฝึกจิตภาวนาแบบเซนช่วยให้ชายหนุ่มรู้จักการเจริญสติให้อยู่กับปัจจุบัน ใจไม่ตกไปสู่การนึกคิดถึงเรื่องราวในอดีต ช่วยให้ท่านนอนหลับได้ ช่วยลดความเครียด ลดอาการซึมเศร้า และเกิดสันติสุขในใจ
       
       ต่อมาในปี 1995 โทมัสได้บวชเป็นพระภิกษุแบบโซโตะเซน กับท่านเบอร์นีย์ แกลสแมน พระอาจารย์เซน ประธานชุมชนเซนในนิวยอร์ค หลังจากนั้นท่านโทมัสก็เริ่มสอนสมาธิภาวนาแก่บรรดาทหารผ่านศึก และนักโทษในเรือนจำ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงในชีวิตในรูปแบบต่างๆ ท่านมักสอนเรื่องของการตามดูลมหายใจ หรืออานาปานสติ ท่านเห็นว่าวิธีการนี้ช่วยให้อยู่กับปัจจุบันได้ดี




       
       ท่านโทมัสและคณะได้เริ่มโครงการเดินธรรมจาริกเพื่อสันติภาพ จากค่ายกักกันเอาซวิทซ์ ในโปแลนด์ ผ่านไปยังออสเตรีย โครเอเชีย ฮังการี เซอร์เบีย โรมาเนีย บัลแกเรีย กรีซ เขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา อิสราเอล จอร์แดน อิรัก อินเดีย มาเลเซีย ไทย กัมพูชา จบลงที่ ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
       
       ขณะที่ตัวท่านเองได้แยกเดินไปเวียดนาม เพราะต้องการจะผ่านไปตามพื้นที่ที่เคยมีสงครามและความรุนแรง เพื่อเผชิญหน้ากับมันอย่างเปิดเผยและมีสติ ท่านได้พูดคุยกับผู้คนที่พบในระหว่างทาง เพื่อเล่าถึงสิ่งที่ท่านประสบมาในระหว่างสงคราม
       
       ท่านใช้ชีวิตแบบนักบวชผู้ปราศจากเรือน อาศัยการบิณฑบาตอาหาร ของจำเป็น ตั๋วรถ เรือเฟอร์รี่ รถไฟ เครื่องบิน การเดินทางลักษณะนี้ทำให้ท่านได้เรียนรู้เพื่อฝึกฝนตนเองในปัญหาต่างๆ ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในการเดินทาง การใช้ชีวิตข้างถนน ฝึกการใช้ชีวิตอย่างมีสติอยู่กับปัจจุบัน
       
       ท่านตั้งใจจะใช้ชีวิตแบบผู้ปราศจากเรือนตลอดไป โดยเดินทางไปทั่วโลก ปีละ 260 วัน เพื่อไปบรรยาย สอนจิตตภาวนา พูดคุยกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตามที่ต่างๆ ท่านต้องการทำความเข้าใจว่า เราสามารถจะเปลี่ยนบาดแผลที่เกิดจากความรุนแรงในใจไปสู่สันติสุขได้ โดยการฝึกจิตตภาวนา

       
       และท่านได้จัดตั้งมูลนิธิซัลโธ (www.zaltho.org) เพื่อสนับสนุนงานของท่าน ซึ่งสามารถจะศึกษาชีวิตของท่านโทมัสได้ในหนังสือ At Hell “s Gate รวมทั้งฟังคำบรรยายที่น่าสนใจได้ใน www.youtube.com/claude anshin Thomas
       
       (จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 168 ธันวาคม 2557 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)

จาก http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9570000137320
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


Claude Anshin Thomas : บันทึกจากสมรภูมิสู่สันติภาพ

โดย นงค์ลักษณ์ เหล่าวอ  nonglakspace@gmail.com

At Hell’s Gate  บันทึกความทรงจำซึ่งถ่ายทอดออกมาอย่างดิบเถื่อนและทำให้ผู้ที่ได้อ่านมองเห็นภาพของอดีตนายทหารผ่านศึกประจำเฮลิคอปเตอร์จู่โจมทางอากาศ  อันเป็นเวลาและห้วงชีวิตหนึ่งของ คล็อด  แอนชิน  โทมัส  (Claude Anshin Thomas) 

โทมัสอดีตทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน  ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างเร้าอารมณ์ผู้อ่านในช่วงที่เขารับใช้ประเทศบ้านเกิด  เพื่อต่อสู้กับทหารเวียดนาม  โดยหลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย  ปี  1955  โทมัสสมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพสหรัฐฯ  เมื่อผ่านกระบวนการฝึกฝนแล้ว  เขาจึงอาสาเข้าปฏิบัติหน้าที่ในเวียดนามในฐานะหัวหน้าทหารผ่านศึกประจำเฮลิคอปเตอร์  โดยเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่กันยายน  1966  ถึง  พฤศจิกายน  1967  ตอนที่เป็นทหารผ่านศึกในเวียดนาม  โทมัสมีอายุเพียง  18  ปีเท่านั้น  ช่วงที่เป็นทหารเขาถูกยิงได้รับบาดเจ็บรวมแล้วห้าครั้งด้วยกัน  เขาปลดประจำการจากกองทัพสหรัฐในเดือนสิงหาคม  1968

ด้วยวัยเพียง  18 ปี  กับชีวิตของการเป็นทหาร  โทมัสรู้ตัวว่าสงครามครั้งนั้นทำให้เขาแหลกสลายทางด้านความรู้สึก  ซึ่งเขาถ่ายทอดออกมาในงานเขียน  At  Hell’s Gate  ว่า เขาทำเช่นไรบ้างในการเยียวยาตัวเอง  เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ไปสู่หนทางแห่งสันติสุข-สันติภาพ  การที่เขาต้องเข่นฆ่าผู้คนมากมายในการรบ  เป็นประจักษ์พยานที่ประสบกับความป่าเถื่อนในสงคราม  ราวกับหมาจนตรอกเมื่อต้องหนีตายอย่างหัวซุกหันซุนในสงครามครั้งนั้น  เป็นภาคส่วนสำคัญในหนังสือเล่มนี้

พอกลับบ้านเกิดหลังจากที่ปลดประจำการแล้ว  โทมัสรู้ตัวว่าชีวิตของตัวเองตกอยู่ในสภาพของคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่กับสงคราม เขาติดกับดักความรู้สึกต่างๆ ที่แผ่ซึมเข้ามาสู่จิตใต้สำนึก จนยากเกินกว่าจะสลัดทิ้งไปได้  โทมัสถูกความรู้สึกผิด  ความกลัว  ความโกรธแค้น  ความหดหู่เข้าครอบงำจิตใจ  อันเป็นผลพวงมาจากสภาวะความตึงเครียดในสงคราม  เป็นเวลาหลายปีที่เขาต้องต่อสู้กับความเครียดนี้  เขาติดยาและติดสุรา  โดดเดี่ยวอ้างว้าง  ไม่มีที่พักพิง

ระหว่างนี้  เขาร่ำเรียนจนสำเร็จปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต  สาขาการศึกษาภาษาอังกฤษ  และเข้าอบรมการเขียนเชิงสร้างสรรค์  โดยเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสลิปเปอร์รี่ร็อค  รัฐเพนซิลวาเนียอันเป็นรัฐบ้านเกิดเมืองนอน  หลังสำเร็จการศึกษา  โทมัสเดินทางไปยังยุโรป  เอเชีย  และตะวันออกไกล  แล้วกลับมาประกอบอาชีพด้านดนตรีเป็นเวลาถึง  11  ปี  พร้อมกับออกอัลบั้ม  4  อัลบั้ม  เป็นเพลงร็อคแอนด์โรลที่ปลุกจิตสำนึกทางสังคม 

ช่วงชีวิตของโทมัสระหว่างนี้  เขาอุทิศตนเพื่อทำกิจกรรมทางการเมืองและสังคม  เพื่อยุติสงครามในเวียดนาม  ให้ความช่วยเหลือเพื่อนทหารผ่านศึกชาวอเมริกันซึ่งหลังจากเพื่อนๆ  ทหารผ่านศึกเหล่านั้นปลดประจำการ  ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเขา  ที่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยารักษาทางด้านจิตใจ

โทมัสให้ความสนใจและศึกษาศาสตร์ของการต่อสู้กำลังภายในอีกแขนง  นั่นคือกังฟูแบบเส้าหลิน  จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฮอบคิโดะ  จนมีลูกศิษย์ลูกหามากกว่า  500  คน  และเขายังศึกษาต่อระดับปริญญาโท  จนสำเร็จการศึกษาด้านการจัดการจากวิทยาลัยเลสลีย์ในเคมบริดจ์ 



การได้รู้จักกับท่านติช  นัท  ฮันห์  นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของโทมัส  การฝึกปฏิบัติธรรม  นั่งสมาธิที่หมู่บ้านพลัมในฝรั่งเศส  รับฟังหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา  ช่วยจรรโลงจิตใจอันบอบช้ำและเยียวยารักษาอดีตอันแสนเลวร้ายของโทมัส  จากการที่เขาต้องเผชิญกับความเครียดในสงคราม  ท่านติช  นัท  ฮันห์  ได้ทำให้จิตใจอันแหลกสลายและบอบช้ำของโทมัสฟื้นคืนมาสู่สันติสุขและสันติภาพภายในจิตใจ  หลังจากนั้นโทมัสจึงตัดสินใจบวชเป็นพระนิกายเซน  เป็นครูสอนศาสนา  เขาเริ่มเดินสายเพื่อเพรียกหาสันติภาพและยุติความรุนแรงในหลายพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่สงคราม อาทิ  บอสเนีย  ออสวิทซ์  อัฟกานิสถาน  เวียดนาม  ตะวันออกกลาง 

At  Hell’s Gate  จึงเป็นบันทึกจังหวะการย่างก้าวของโทมัส  ซึ่งไม่เป็นเพียงบันทึกความทรงจำของความรุนแรงในสมรภูมิรบ  ภาวะภายหลังสงครามของทหารผ่านศึก  ผลกระทบต่างๆ  ที่ตามมาเท่านั้น  แต่   At  Hell’s Gate  ยังอุดมไปด้วยการเดินทางจากสงครามสู่สันติภาพและสันติสุขภายในจิตใจของอดีตนายทหารผ่านศึกนาม  คล็อด  แอนชิน  โทมัส 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จุดประกายวรรณกรรม
คอลัมน์ เส้นทางนักเขียน วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
ขอบคุณ คุณนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บรรณาธิการเซคชั่นจุดประกายวรรณกรรม
ผู้จุดประกายโอกาสให้ได้รับผิดชอบคอลัมน์ดังกล่าว



จาก http://www.oknation.net/blog/nonglakspace/2014/02/26/entry-1

<a href="https://www.youtube.com/v/fkNnKMg6qJs" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/fkNnKMg6qJs</a>
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


วันนี้ฝนตกตั้งแต่เช้า..รวมทั้งช่วงหัวค่ำก็ยังมีฝนตกลงมาอีกซู่ใหญ่ แม่บอกว่างานเจดีย์ทีไรฝนตกทุกที (งานฉลองพระสมุทรเจดีย์ของจังหวัดสมุทรปราการ)ทั้งพ่อและแม่ซึ่งศรศิลป์ไม่กินกันมาตั้งแต่เราเข้าเรียนชั้นประถมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า..ลมหนาวกำลังจะมา

เห็นทีจะต้องเชื่อคำของผู้เฒ่าเพราะท่านผ่านโลกมามากกว่าเรา..เอาเป็นว่าหน้าหนาวกำลังจะมาเยือนแล้ว ยังไงอย่าลืมทำตัวเองให้อบอุ่นซะแต่เนิ่นๆ (ย้ำเตือนกะตัวเองด้วยคน)

คัดมาฝาก--สำหรับหนังสือสุดทางทุกข์ ค่ะ



------------------



บทที่ 1 เมล็ดพันธุ์แห่งสงคราม

ลองนึกถึงห้วงเวลาที่คุณยืนอยู่กลางสายฝนดูสิ เมื่อฝนเทลงมาคุณจะนึกถึงอะไรและรู้สึกอย่างไร

สำหรับฉัน ทุกครั้งที่ฝนตก ฉันจะกำลังเดินอยู่ในสนามรบ เพราะฉันผ่านการสู้รบอย่างหนักหน่วงถึง 2 วสันตฤดู และระหว่างฤดูมรสุมในเวียดนาม ฝนที่ตกลงมาในปริมาณมหาศาลก็ทำให้ทุกสิ่งเปียกโชกและเป็นโคลนตม ทุกวันนี้เมื่อฝนโปรยลงมา ฉันยังคงเดินอยู่ในสนามรบ สนามรบซึ่งเหล่าชายฉกรรจ์ส่งเสียงร้องโหยหวนและกำลังสิ้นชีวิต ฉันยังคงเห็นภาพแนวไม้ที่กระจุยด้วยฤทธิ์ของระเบิดนาปาล์ม ยังคงได้ยินเสียงบรรดาเด็กหนุ่มอายุ 17 ปีร้องไห้หาพ่อ แม่ และคนรัก เมื่อความทรงจำเหล่านั้นจางหายไป ฉันจึงรู้สึกตัวว่า ณ ขณะนี้มีเพียงสายฝนที่โปรยปรายลงมาเท่านั้นเอง

ฉันยังหาถ้อยคำที่ดีกว่านี้ไม่ได้ จึงขอเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นภาพอดีตที่หวนคืนไปพลางก็แล้วกัน มันคือประสบการณ์ที่ฟื้นคืนชีพซึ่งฉันเองยังหาวิธีจัดการไม่ได้ ฉันอาจอยู่ในร้านขายของชำกำลังเอื้อมมือหยิบกระป๋องผักจากชั้นวาง และวินาทีนั้นเองความกลัวก็จู่โจมขึ้นฉับพลันเพราะเกรงว่ากระป๋องนั่นอาจเป็นกับระเบิด เมื่อคิดตามหลักเหตุผลแล้วฉันรู้ว่า สิ่งที่รู้สึกนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่ 1 ปีเต็มในเวียดนาม ฉันต้องใช้ชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ความกลัวเช่นนี้ไม่ได้เกินเลยจากความเป็นจริงแม้แต่น้อย และจนถึงวันนี้ฉันก็ยังไม่สามารถสะสางประสบการณ์จากช่วงสงครามได้หมด

ทว่าเรื่องราวทำนองนี้ไม่ได้เกิดกับฉันคนเดียว หากยังเกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวันทั่วทั้งโลก แต่ละวันจะมีผู้ที่รู้สึกว่าเรื่องเลวร้ายที่เคยประสบได้หวนกลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวแห่งความรุนแรง เคราะห์กรรม หรือบาดแผลทางใจในวัยเยาว์

สิ่งที่ฉันเรียนรู้ในช่วงหลังมานี้คือ ก่อนจะเข้าถึงความสงบสุข เราต้องสัมผัสรู้ถึงความเจ็บปวดของตัวเองเสียก่อน ต้องยอมรับและประคองมันไว้ แต่หากเป็นหลายปีก่อนหน้านั้น สิ่งเดียวที่ฉันได้เรียนรู้ก็คือการก่อสงคราม

จาก http://solitaryanimal.blogspot.com/2008/10/at-hells-gate.html




<a href="https://www.youtube.com/v/GdLE9vjY44k" target="_blank" rel="noopener noreferrer" class="bbc_link bbc_flash_disabled new_win">https://www.youtube.com/v/GdLE9vjY44k</a>


บทเรียนที่ได้จากหนังสือ “สุดทางทุกข์”.....

. .ไม่มีการฆ่าใดที่ชอบธรรม ไม่มีความต่างระหว่างความรุนแรงฝ่ายดีกับความรุนแรงฝ่ายเลว และไม่มีสงครามใดที่มีคุณธรรม . . .

         หนังสือ “สุดทางทุกข์” หรือ “At Hell’s Gate” ที่ผมเพิ่งอ่านจบไป เป็นหนังสือที่ได้รับมาจากคุณอัฐพงศ์ เพลินพฤกษา สำนักพิมพ์ Oh My God เนื้อหาเป็นเรื่องราวของทหารอเมริกันที่ผ่าฟันเอาชีวิตรอดมาจากสงครามเวียตนามได้ หากแต่ว่าภายในกลับบอบช้ำๆ เหลือคณา ต้องผ่านการบำบัดรักษาต่างๆ นานา จนกระทั่งได้มาพบธรรมะในพระพุทธศาสนาที่สอนว่า “ให้เริ่มต้นด้วยการพิจารณาทุกข์ ไม่ใช่ให้วิ่งหนีมันไป”



   ในหน้า 64 มีข้อความตอนหนึ่งว่า . .
.
         “. . . ถ้าเราไม่ตระหนักถึงธรรมชาติอันละเอียดอ่อนซับซ้อนของความทุกข์ ไม่ว่าจะทุกข์กับอะไรก็ตาม ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการเยียวยาและการเปลี่ยนแปลงภายในขึ้น และเราจะยังคงสร้างเสริมเติมต่อความทุกข์นั้นไม่สิ้นสุด แล้วก็ส่งผ่านความทุกข์ต่อไปยังคนอื่นๆ 

         การเยียวยาที่ว่านี้ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการฟัง ดังที่กล่าวไว้ในหน้า 171 ว่า . . .

         “. . . ขอให้เรามารับฟังกันและกันเถิด รับฟังอย่างแท้จริงโดยไม่พยายามจะเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขสิ่งใด ขณะฟังขอให้เปิดใจและแสดงไมตรีจิตออกไป นี่คือการเริ่มต้นสู่ทางแห่งการเยียวยา แม้เราอาจคิดว่าตัวเองรู้แล้วว่าจะรับฟังอย่างไร แต่บ่อยครั้งยามคนอื่นพูด เราไม่ได้กำลังรับฟังอย่างแท้จริง หากแต่จะคอยตัดสินสิ่งที่อีกฝ่ายพูด หรือไม่ก็ปกป้องตัวเอง มีปฏิกิริยาตอบโต้ ให้คำชี้แนะ หรือหาทางควบคุมสถานการณ์ในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นการรับฟังอย่างมีวินัยจึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง”

         อีกข้อความหนึ่งที่ “โดนใจ” ผมค่อนข้างมาก ท่านผู้เขียน (คล้อด อันชิน ธอมัส) เขียนไว้ในตอนเกริ่นนำว่า . . .

         “ . . .ฉันพบว่าไม่มีการฆ่าใดที่ชอบธรรม ไม่มีความต่างระหว่างความรุนแรงฝ่ายดีกับความรุนแรงฝ่ายเลว และไม่มีสงครามใดที่มีคุณธรรม สงครามเป็นเพียงการระเบิดออกของความทุกข์ระทมเท่านั้น”

         หากมองสถานการณ์เมืองไทยที่กำลังเป็นไปในขณะนี้ ผมหวังว่าความทุกข์ระทมที่เรามีกันอยู่คงจะไม่ระเบิดออกมาเป็นอะไรที่รุนแรง เพราะอย่างที่ คล้อด อันชิน ธอมัส เตือนสติแล้วไว้แล้วว่า . . .

          “ . . .ไม่มีการฆ่าใดที่ชอบธรรม ไม่มีความต่างระหว่างความรุนแรงฝ่ายดีกับความรุนแรงฝ่ายเลว และไม่มีสงครามใดที่มีคุณธรรม . . .”

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/218870




        ท่านโทมัสและคณะได้เริ่มโครงการเดินธรรมจาริกเพื่อสันติภาพ จากค่ายกักกันเอาซวิทซ์ ในโปแลนด์ ผ่านไปยังออสเตรีย โครเอเชีย ฮังการี เซอร์เบีย โรมาเนีย บัลแกเรีย กรีซ เขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซา อิสราเอล จอร์แดน อิรัก อินเดีย มาเลเซีย ไทย กัมพูชา จบลงที่ ฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น
       
       ขณะที่ตัวท่านเองได้แยกเดินไปเวียดนาม เพราะต้องการจะผ่านไปตามพื้นที่ที่เคยมีสงครามและความรุนแรง เพื่อเผชิญหน้ากับมันอย่างเปิดเผยและมีสติ ท่านได้พูดคุยกับผู้คนที่พบในระหว่างทาง เพื่อเล่าถึงสิ่งที่ท่านประสบมาในระหว่างสงคราม

ภาพ หลวงพ่อ โทมัส ธรรมจาริก ทั่วโลก 



















































จาก http://www.zaltho.de/anshin_usa_99.html

http://www.zaltho.de/anshin_de_99.html

https://www.yumpu.com/de/document/view/30113615/claude-anshin-thomas-zaltho-sangha

http://www.buddhanetz.org/projekte/reise.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 24, 2016, 03:15:02 pm โดย มดเอ๊กซ »
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...